xs
xsm
sm
md
lg

"แผ่นดินไหว" จิตใจยังไม่ไหว... สมองสั่ง-กระทบใจ ต้องเช็ก "อุปาทานหมู่" ระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รู้สึกว่า “ตึกสั่นจริงๆ” เลยคิดว่า “แผ่นดินไหว” ปรากฏการณ์ “อุปาทานหมู่” ที่ไม่ใช่แค่คิดไปเอง แต่สมองมันบอกว่า “จริง” ภาวะทางจิตที่ “อันตราย” หากเกิดในเหตุภัยพิบัติ บางราย “กระทบจิตใจเรื้อรัง” แนะพบจิตแพทย์ หาทางเยียวยา

** มันเกิดขึ้นจริง “สมอง” บอกแบบนั้น **

เจาะเหตุผลทำไมหลายคนยังได้รับผลกระทบเรื่องแรงสั่นสะเทือน หลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ ส่งให้ก่อนหน้านี้มีความวุ่นวายเกิดขึ้นถึง 2 รอบ

คือที่ “ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ” เมื่อพนักงานด้านใน “อาคาร A” ได้ยินเสียงดัง “แกร๊ก” ทำให้ต้องอพยพกันยกใหญ่ หลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบก็พบ “เสาปูนแตก” แต่ยืนยัน “ไม่กระทบโครงสร้าง”

และไม่กี่วันต่อมา พนักงานก็ “ได้ยินเสียง” พร้อม “รู้สึกว่าตึกสั่นไหว” จึงกลายเป็นภาพการวิ่งหนีออกตึกอย่าง อลม่านอีกครั้ง ภายหลังมีการยืนยันแล้วว่า เป็นเพียง “อุปาทานหมู่” เท่านั้น ตึกไม่ได้ไหวจริง



อะไรทำให้หลายคน “เชื่อ” ไปว่า “ตึกสั่นไหวจริงๆ” เพื่อตอบคำถามนี้ ทีมข่าวได้ติดต่อไปยัง “ผศ.ดร.ทิพย์นภา หวนสุริยา” จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จนได้คำตอบว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติของ “มนุษย์” ที่จะได้รับ “อิทธิพล” จากคนรอบๆ ตัว ไม่ว่าจะสนิทกับคนเหล่านั้นหรือไม่ก็ตาม

“ปกติมันเกิดขึ้นอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เช่น เราไปร้านอาหารที่เราไม่เคยไป มันสั่งตรงไหนนะ เราก็จะชำเลืองคนข้างๆ ว่าเขาทำยังไง แล้วเราก็ทำตาม”

และพฤติกรรมของคนรอบข้าง จะส่งผลกับเรามากที่สุด ในสถานการณ์ที่ “เราไม่มั่นใจ” ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และ “ไม่รู้ว่า ต้องทำตัวแบบไหน” การมองรอบๆ ว่าคนอื่นรับมือยังไง เขาวิ่ง เราก็วิ่ง นี่เป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์



ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมถึงรู้สึกว่า “ตึกสั่นไหว”นั้นคำตอบทางจิตวิทยาคือ “สมอง”คนเราต้องการ “หาเหตุผล”เพื่อ “อธิบาย” กับทุกอย่างที่เกิดขึ้น

“ดร.ทิพย์นภา” ยกตัวอย่าง วินาทีแรกที่เกิดแผ่นดินไหว “ไม่มีใครคิดว่า แผ่นดินไหว”แต่คนส่วนใหญ่คิดเหมือนกันว่า “ฉันจะเป็นลมแน่ๆ”



หรือคิดว่านอนน้อย น้ำตาลในเลือดต่ำ ที่เป็นแบบนี้ เพราะเราไม่เคยเจอแผ่นดินไหว แต่เราเคยเจอ เคยเห็น อาการป่วยแบบนี้ มันเลยกลายเป็น “ความคิดแรก” ที่สมองหยิบมาอธิบาย

กลับกัน เมื่อตอนหลังเรารู้แล้วว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “แผ่นดินไหว”บวกกับ “รู้สึกไม่ปลอดภัย”ในสถานที่ที่เราอยู่ เมื่อเกิด “อาการเวียนหัวจริงๆ” แทนที่สมองจะอธิบายว่ามันเป็น “อาการป่วย”

สมองกลับไปเอา “ภาพตึกถล่ม” กับ “แผ่นดินไหว” มาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นแทน นี่คือเหตุผลที่ทำให้คนรู้สึกว่าตึกสั่น ทั้งที่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น



“เหมือนคำอธิบายแรก ที่มันผุดขึ้นมาในหัวได้ไว เพราะมันเป็นเหตุการณ์ที่ติดตา-ติดใจมาก”

เมื่อรวมกับคนในอาคาร เคยผ่านเหตุแบบนี้มาแล้ว รู้สึกอยู่แล้วว่า อาคารที่อยู่ไม่ปลอดภัย เมื่อมีคนนึงเชื่อว่า แผ่นดินไหว ความกลัวจึงเสริมให้ความเชื่อนี้ กระจายไปหาคนรอบๆ จนกลายเป็น “อุปาทานหมู่” อย่างที่เห็น


                                           {“ผศ.ดร.ทิพย์นภา”คณะจิตวิทยา จุฬาฯ}

** แยกยังไง “เรื่องจริง” หรือ “อุปาทาน” **

“อุปาทาน” คือการเชื่อว่า สิ่งที่เกิดตรงนี้คือเรื่องจริง เพราะสมองเราบอกแบบนั้น และพอมันกลายเป็น “อุปาทานหมู่” มันก็อันตรายมากๆ โดยเฉพาะใน “เหตุฉุกเฉิน” หรือ “ภัยพิบัติ”

อาจารย์ด้านจิตวิทยารายเดิมบอกว่า เมื่อความ “Panic” จากคนหนึ่งคน กระจายไปสู่คนรอบข้าง ก็จะเกิดภาพความโกลาหล วิ่งหนี คนเกิดเหตุเหยียบกันตาย หรืออุบัติเหตุอื่น อย่างที่เราเห็นกันเป็นประจำ



คำถามคือจะแยกแยะได้ยังไงว่า “นี่คือเรื่องจริง หรืออุปาทานหมู่”คำตอบคือ “แยกยาก”เพราะขึ้นอยู่กับ “สถานการณ์”และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งอาการแบบนี้มักเกิดในเสี้ยววิ แต่หากเป็นเรื่อง “ภัยพิบัติ”ก็พอจะเช็กได้อยู่

“สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ อันที่ 1 เรามีอะไรที่สามารถเช็กได้เร็ว สามารถเช็กข่าวได้ไวเนอะ”

เพราะอย่างที่บอก “มนุษย์ต้องการคำอธิบายกับสิ่งที่เกิดขึ้น” ดังนั้น เรื่อง “SMS เตือนภัย” เลยสำคัญ หรืออาจต้องมีระบบที่สามารถโทร.ไปถามข้อมูลได้โดยตรงเลยว่า เกิดแผ่นดินไหวจริงหรือเปล่า เพื่อลดความตื่นตระหนก

แต่ก็เป็นการแก้ระยะสั้น ประเด็นหลักๆ ที่ทำให้เกิด “อุปาทานแผ่นไหว” เป็นเพราะ “เราไม่มีความรู้” ทั้งเรื่อง “การรับมือ” และ “ความเข้าใจในสถานการณ์” หากมองญี่ปุ่นที่ผู้คนไม่ตระหนก ก็เพราะเขามี “การสอน” และ “ซ้อม”อยู่เสมอ

“ถ้าเราทำให้คนส่วนใหญ่เนี่ย รับรู้ได้ว่าเหตุการณ์เป็นแบบนี้ สถานการณ์จะเป็นแบบนี้ เวลาความจริงมันจะเกิดอย่างนี้นะ ก็น่าจะแตกตื่นน้อยลง”



อีกเรื่องเราต้อง “ป้องกัน” ให้คนที่ผ่านเหตุสะเทือนขวัญแบบนี้ เกิดอุปาทานจากความหวาดระแวง ด้วย “การเยียวยาสภาพจิตใจ” เพราะคนที่ยังอยู่ใน “อาการวิตก” อาจเกิดอุปาทานอีกครั้งได้ หากเจอสถานการณ์อะไรที่คล้ายๆ กับวันเกิดเหตุ

โดยวิธีเยียวยา ก็ต้องแยกระดับความรุนแรงเป็นเคสๆ ไป ในคนที่ “จิตใจเข้มแข็ง” การใช้วิธีระบายกับใครสักคน นั่นก็อาจเพียงพอแล้ว

 
 “การเยียวยาอย่างแรกคือ การที่เรามีคนที่เราพูดคุยด้วยได้ คุยระบายแบบเล่าเหตุการณ์ ให้ฉันรู้สึกว่ามีคนร่วมชะตากรรมเดียวกัน”

แต่ในคนที่ “ขวัญอ่อน” “อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ” หรือ “ผู้ประสบภัย” จากเหตุตึกถล่ม อาจควรไปพบ “จิตแพทย์” เพื่อประเมินสุขภาพจิตว่า มันมีผลกระทบอะไรหรือเปล่า

ไม่ว่าจะเป็นอาการ “เครียดสะสม” “นอนไม่หลับ” “เห็นภาพหลอน” หรือไปจนถึง “Post-traumatic Stress Disorder (PTSD)” ซึ่งหมายถึง “โรคเครียดหลังต้องเผชิญกับภัยอันตราย”นั่นเอง



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น