xs
xsm
sm
md
lg

ออกแบบจนเครียด!! วางเมาส์-จับเสียม สร้างธุรกิจ "ดอกไม้กินได้" [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ กราฟิกดีไซน์เนอร์สาว วางเม้าส์แล้วหันมาจับเสียม ปลูก “ดอกไม้กินได้” ส่งขายคาเฟ่ รายได้เสริมจากสวนเล็กๆ หน้าบ้าน ลดความเครียด ทำเงินได้เกือบครึ่งแสนต่อเดือน



ปัญหาวิ่งเข้าใส่ ให้ดอกไม้ช่วยเยียวยา

“ถ้าเราทำจากความรัก เราจะทำมันได้ดี ต่อให้ต้นตายไปหรือว่ามันไม่งอก เราก็พร้อมที่จะดูแล แต่ถ้าเราทำแบบหวังกำไร บางทีอะไรที่มันเป็นธุรกิจเกินไป เราจะคำนึงถึงต้นทุน เราจะไม่กล้าผิดพลาด ไม่กล้าลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น เมว่ามันเติบโตยาก

เราต้องหาจุดที่เราชอบ ไม่จำเป็นต้องทำดอกไม้กินได้ก็ได้ สมมติคุณชอบปลูกผัก คุณปลูกผักก็ได้ หรือคุณชอบขายของสักอย่างนึง คุณศึกษาเรื่องราวของมันให้เต็มที่ การศึกษาสำคัญสุดเมว่านะคะ ก่อนที่จะลงมือทำ”

“เม - เมชญา นาควิสุทธิ์” บอกกับเราพร้อมรอยยิ้มสดใส ท่ามกลางดอกไม้สารพัดสีสันที่รายล้อมตัวเธอ



ดอกไม้ที่เห็นนี้ ไม่ใช่แค่สวยงามเพียงอย่างเดียว เพราะนี่คือ “ดอกไม้กินได้” ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่ร้านอาหาร ร้านเบเกอรี่ และคาเฟ่ต่างๆ นำไปตกแต่ง เพิ่มความสดใสให้กับเมนูของตัวเอง

สาวนครสวรรค์คนนี้ ใช้พื้นที่ราว 30 ตารางวาหน้าบ้าน เนรมิตสวนดอกไม้กินได้ขึ้นมา นอกจากจะเป็นงานอดิเรก ที่เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้บ้านแล้ว ยังสร้างรายได้ให้เธอถึงเกือบครึ่งแสนต่อเดือน

แต่ก่อนที่จะมาปลูกดอกไม้กินได้นั้น เม มีอาชีพเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ ที่คลุกคลีในวงการมาอย่างยาวนาน แต่ด้วยเนื้องานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ แถมต้องมาเจอสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แน่นอนว่าเกิดความเครียดตามมา เธอจึงมองหาวิธีพาตัวเองออกจากหน้าจอ ซึ่งการออกไปอยู่กับธรรมชาติ คือตัวเลือกอันดับแรก



“ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดค่ะ แล้ว Facebook เมอยู่บนโลกออนไลน์มานาน 10 กว่าปี เราก็จะเป็นคนทำ ads โฆษณาให้กับลูกค้า เหมือนลูกค้าก็มีความเครียดเพราะว่ายอดตก ออกบูธ ออกนอกสถานที่ไม่ได้ เราต้องเป็นคนคิดคอนเทนต์ ทำ ads ต่างๆ ให้การยิงโฆษณามันเข้าถึงดี ก็เริ่มมีความเครียด ลูกค้าไม่มียอด เราก็เริ่มคิดไม่ออก โดนกดดัน ก็เลยได้เริ่มมาปลูกต้นไม้

ต้นไม้ต้นแรกที่แม่ให้มา มันเป็นดอกไม้สีม่วง หลายปีแล้วค่ะ เมซื้อบ้านใหม่ๆ ที่ได้มาตอนนั้น มากาเร็ตม่วงชั้นเดียว มันขยายง่ายค่ะ เป็นต้นแรกที่เมเริ่มปลูก เหมือนเมไม่ได้ลงทุนเลย เพราะว่าต้นนี้แม่ให้มา จะเป็นดอกไม้กินได้ต้นแรกที่ได้ค่ะ

เมกับแม่ชอบสีม่วงเหมือนกัน ชอบปลูกต้นไม้เหมือนกัน มาเสิร์ชหาข้อมูล ก็เลยเพิ่งรู้จักว่ามันมีดอกไม้กินได้ด้วยเหรอ ข้อมูลเรื่องดอกไม้กินได้ เมก็ยังไม่รู้เรื่องเลยค่ะ ได้มารู้ช่วงโควิด ก็เลยได้ลองศึกษา แล้วก็ปลูกหลายอย่าง

เริ่มปลูก เริ่มศึกษาดอกไม้กินได้ แล้วประมาณกุมภาฯปีที่แล้ว เมปลูกเก๊กฮวยแล้วดอกเขาออกเยอะมาก เมก็เลยลองเก็บขาย ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้เลยว่าดอกไหนกินได้บ้างไม่ได้บ้าง เริ่มศึกษาจริงจัง มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เมสนใจ

เป็นคนชอบเที่ยวตามธรรมชาติอยู่แล้วค่ะ ภูเขา หมอก แม่น้ำอะไรแบบนี้ รู้สึกว่าบ้านเราอยากให้มันสวยๆ ร่มรื่น เพราะมันมีเรื่องของ PM(2.5) โลกร้อน ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ที่ปลูกในบ้าน มันก็น่าจะช่วยให้บรรยากาศโลกดีขึ้นได้บ้าง”



ความเครียดที่เจอหนักกว่าที่คาด จนถึงขั้นที่ต้องขอคำปรึกษากับจิตแพทย์ และอาศัยการทำสวนเพื่อเยียวยาตัวเอง

“คิดไว้เฉยๆ ว่าก็อยากเกษียณตัวเองจากงานออกแบบเหมือนกัน มันเครียด เราก็ไม่ได้คลุกคลีกับในวงการต้นไม้ แค่เป็นคนที่ชอบซื้อต้นกุหลาบ แต่เราก็ไม่ได้รู้ว่ามันจะต้องขายอะไรยังไง ยังไม่ได้ศึกษาจริงจัง ก็เริ่มแค่ว่าให้บ้านตัวเองมีสวนดอกไม้ก่อนค่ะ เพราะว่ามันเครียดจากการทำงาน

พอเมเครียดใช่ไหมคะ ลูกค้าออกแบบของเม เขาก็จะรู้เลยว่าถ้าคิดงานไม่ออก ไปปลูกต้นไม้ก่อนก็ได้ จะได้หายเครียด เพราะว่าเหมือนเมเคยอ่านมา หลักจิตวิทยาเขาบอกว่าสีเขียวมันทำให้เราผ่อนคลาย ลดความเครียด

เมออกมาทำสวน เหมือนใจมันก็จดจ่อ ตัดแต่งกิ่ง เก็บดอกไม้ ถอนหญ้า เราก็ลืมเรื่องที่เรากังวล พอหายเครียดเราก็กลับไปทำงาน มันก็ฮีลใจ ลดความเครียดได้ดีค่ะ

เคยพบจิตแพทย์เลยค่ะ เพราะว่าตอนที่เมทำงานออกแบบ เราทำการตลาดได้ แล้วเราก็รู้จักโรงงานรับผลิต เขาก็มอบโอกาสให้เม ในการที่เมจะเป็นเจ้าของแบรนด์ แต่เมมีความเครียด รู้สึกว่าเราชอบอยู่เซฟโซน ชอบอยู่เบื้องหลัง แล้วก็เครียดคิดงานไม่ออก ก็เลยไปพบจิตแพทย์เลย กลัวตัวเองจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือเป็นโรคเครียด

ผ่านจุดนั้นมาได้ ก็คือเลือกทำในสิ่งที่ชอบ ก็ขอบคุณคุณหมอนะคะ เหมือนเรารู้ว่าลิมิตตัวเองมันอยู่แค่ไหน ถ้ายังฝืนทำต่อไป เราอาจเป็นคนที่จัดการความเครียดไม่ได้ เวลาเราเครียดมากๆ มันก็ทำให้ปัญหาในครอบครัวก็เกิดขึ้นด้วยค่ะ”

โอกาสมาต้องรีบคว้า วิ่งเข้าหาทุกความเป็นไปได้

หลังจากดอกเก๊กฮวยที่ปลูกไว้ เริ่มผลิดอกออกใบจำนวนมาก เมจึงคิดที่จะลองเก็บขาย โดยหาลูกค้าจากกลุ่ม Facebook ในจังหวัดของตัวเอง ทว่า ในตอนที่เริ่มต้น เส้นทางนี้ไม่ได้สวยงามเหมือนโรยด้วยกลีบดอกไม้เอาเสียเลย

“ตอนนั้นเมเริ่มศึกษา แล้วเมก็ไปเที่ยวตามคาเฟ่ ไปดูว่าเขาใช้ตกแต่งไหมแบบนี้ ในนครสวรรค์ก็เห็นเขาเริ่มใช้กัน แต่ว่าสภาพดอกมันไม่ค่อยสวย เหมือนมันเหี่ยว มันเดินทางมาจากที่อื่น เมก็เลยเริ่มคิดว่าถ้าจะลองเก็บขาย มันจะขายได้ไหมนะ

เมแค่ตั้งเป้าว่าขอให้ขายได้สักวันละ 1 กล่อง 2 กล่องก็ยังดี แล้วเราก็ไม่ได้รู้สึกว่าการปลูกต้นไม้ของเรามันสูญเปล่า เพราะบางทีก็มีคนบอกว่ามันสิ้นเปลืองเงิน เราก็อยากพิสูจน์ให้เขาเห็น ว่ามันสามารถสร้างรายได้ให้เราได้ค่ะ



นครสวรรค์เขาจะมีกลุ่ม ‘ธุรกิจนครสวรรค์’ เหมือนว่าใครทำอะไรขาย อาหารการกิน หรืออยากจะพรีเซนต์ร้านตัวเองที่มีหน้าร้าน ก็สามารถเข้าไปโพสต์ได้เลย

มีพี่ที่รู้จัก เขาทำพวกเบเกอรี่ เขาบอกเมว่าเมลองเก็บขายสิ เปิดเป็นพรีออเดอร์ก่อนก็ได้ เขาก็แนะนำว่าดอกไหนกินได้ กินไม่ได้ เพราะว่าพี่เขาก็ใช้อยู่ เมก็เลยไปเปิดพรีออเดอร์ก่อน แล้วก็มีเพื่อนๆ ใน Facebook ช่วยแชร์ช่วยอะไรอย่างนี้

กล่องแรกที่ขายได้ ก็พี่คนที่แนะนำนี่แหละ เขาเปิดบิลให้ ใน Facebook เพื่อนเมก็น้อยด้วย ตอนนั้นมีแค่ 300 - 400 คน มีแต่คนรู้จัก ไม่มีใครเขาซื้อไปใช้แบบนี้ค่ะ มันก็ท้อนะคะ เมก็สร้างเพจขึ้นมา โพสต์อยู่หลายเดือนเหมือนกันที่มันไม่มีออเดอร์ แต่เราก็แค่รู้สึกว่าเป็นบันทึกรักของเรา เก็บไว้ดู จนพี่เขาเริ่มแต่งเค้ก แล้วเราก็เริ่มได้เก็บรีวิวจากพี่คนแรกที่สั่งซื้อ

เราก็ไปเปิดรับออร์เดอร์ในนครสวรรค์ มีพร้อมส่งเลย แล้วก็มีไปเสนอตามร้านที่เป็นร้านดังๆ ในนครสวรรค์ค่ะ ก็ทักไปหาเขา เขาก็เริ่มลองสั่งเรา แต่แรกๆ เราก็ให้เขาฟรี ไปทดลองว่าเขาจะชอบดอกไม้ของเราไหม เสร็จแล้วเขาชอบ มันก็เลยได้มีออร์เดอร์ แล้วก็ได้เป็นลูกค้าประจำทุกวันนี้ค่ะ ก็เกือบ 1 ปีแล้วที่เขาอุดหนุนเมมา”



แต่ก่อนที่จะตัดสินใจปลูกดอกไม้กินได้อย่างเต็มตัว เมได้ศึกษาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชนิดของดอกไม้ และความทนต่อสภาพอากาศในบ้านเรา ซึ่งการขายดอกไม้สด จะจำกัดอยู่แค่ในตัวเมืองนครสวรรค์ เพื่อให้ดอกมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด

“ช่วงแรกๆ มันก็มีที่เมไม่รู้ว่ามันเป็นดอกไม้กินได้หรือกินไม่ได้ ก็ต้องศึกษาละเอียด ของบ้านและสวนเขาจะมีหนังสือขายค่ะ ศึกษาจากคนที่เขาทำมาก่อนเรา แล้วก็หาข้อมูลเองโดยการใช้ AI ช่วย แล้วก็หาหนังสือจากของต่างประเทศมาค่ะ

ศึกษาให้มันชัวร์ ดอกไหนที่เราไม่ชัวร์ เมก็เลี่ยงโดยการไม่ขายไปเลย ก็จะขายที่ทนร้อน ปลูกได้ในนครสวรรค์ แล้วก็ดอกเก็บได้นานค่ะ ถ้าเทียบกับอย่างเมเลี้ยงมาหลายอย่างนะ ไม้บอน กุหลาบ ต้นไม้ ไม้มงคลอะไรแบบนี้

เมรู้สึกว่าเขา(ดอกไม้กินได้) ไม่ได้เลี้ยงยากนะคะ ศัตรูพืชเขาน้อยกว่าพวกผักด้วยซ้ำ แต่การดูแลการใจใส่อาจจะต้องเยอะหน่อย อาจจะต้องให้ปุ๋ยถี่ อาทิตย์ละ 1 ครั้ง เพราะว่าไม้ดอก เขาใช้พลังงานในการออกดอกเยอะ ก็จะใส่ปุ๋ยบ่อย

ที่บ้านก็จะเป็นดอกไม้กินได้เป็นส่วนใหญ่เลย ต้นไหนที่มันไม่ใช่ดอกไม้กินได้ ตอนนี้ก็คือเอาออก ปลูกแต่ที่เป็นดอกไม้กินได้เลยค่ะ เพราะว่าเมต่อยอดเก็บเมล็ด ขายทำต้นกล้าขาย ทำต้นขายพวกนี้ด้วย ขายทางออนไลน์

เมยังไม่มีส่งต่างจังหวัดนะคะ เมส่งแค่ในตัวเมืองนครสวรรค์ ด้วยข้อจำกัดคือพื้นที่เมน้อย แค่ในนครสวรรค์ ดอกก็จะไม่พอแล้วค่ะ ถ้าช่วงเทศกาล ทุกร้านเขาก็จะขายดี ก็จะใช้กันหมดค่ะ นอกจากจะมีลูกค้าขับรถผ่านมา แล้วเขาอยากขอซื้อ ก็มีเก็บให้เขาบ้าง แต่ก็ต้องนัดวันกัน เพราะว่าของมีเมจะเก็บสดใหม่ทุกวัน ดอกมันจะได้ใช้งานได้จริง ไม่ค่อยเน่าเสียค่ะ”


[ ฟีดแบกสุดใจฟูจากลูกค้า ]

สำหรับต้นทุนในการปลูกดอกไม้กินได้ เจ้าของสวนหน้าบ้านคนนี้มองว่าใช้ทุนไม่เยอะ เพราะเธอใช้การขยายพันธุ์จากต้นเดิม และการบริหารจัดการดอกไม้ ในพื้นที่ประมาณ 30 ตารางวาได้อย่างลงตัว

“ต้นทุนเมมองว่าไม่เยอะนะคะ เพราะว่าก่อนที่เมจะปลูก เมจะเลือกว่าเขาขยายพันธุ์ก่อนค่ะ ทีนี้พอเรารู้วิธีการขยายพันธุ์เขา เราเอาต้นแม่เขามาขยาย มันก็เลยทำให้ต้นทุนของเมมันไม่ได้เยอะ

อย่างของแม่ก็ได้มาฟรี ตอนนี้ก็มี 40 ต้น กำลังเก็บเมล็ดเทสต์ให้คนอื่น แจกให้เขาไปลองปลูก แล้วก็ชำต้นกล้าขาย มันก็ไม่ได้มีต้นทุนอะไร ก็มีแค่ค่าน้ำค่าอะไร ซึ่งเมก็ทำสวนอยู่แล้ว มันเสียอยู่แล้ว

อย่างต้นนี้ เดซี่ไข่ดาว เมซื้อตอนเมเริ่มปลูกปีแรก แล้วเมล็ดเขาร่วงตามพื้น เมก็เก็บกล้าเขาขึ้นมาปลูก มันก็เลยลงทุนแค่ต้นละ 10 บาท มันไม่ได้ลงทุนเยอะ แต่ว่ามันจะเสียเวลาใช้เวลาในการดูแล แล้วก็ค่อยสังเกตมากกว่าตรงนี้

แรกๆ เมปลูกอย่างละเท่าๆ กันก่อน แล้วตลาดของเม ดอกสดในนครสวรรค์ ลูกค้าจะบอกอยู่ว่าชอบดอกนี้ ไม่ชอบดอกนี้ อัตราการปลูกของเมก็เลยจะปรับไปเรื่อยๆ ตามการใช้งานของลูกค้า

ตอนนี้ที่มีเยอะก็จะเป็น ผีเสื้อ เพราะว่าทุกร้านชอบใช้ แล้วดอกเขาแข็งแรง ผีเสื้อแสนสวย จันทร์ฉาย ที่ดอกเขาทนๆ เมก็ดูจากจำนวนที่ลูกค้าสั่ง แล้วก็เพิ่มจำนวนเอาค่ะ ต้นไหนที่ใช้น้อยก็จะลดจำนวนลง

แต่เราก็ต้องดูด้วย อย่างอัญชันเมื่อก่อนเมไม่ปลูกเลย แต่เมทำออนไลน์ด้วย ขายพวกเมล็ด มันกลายเป็นว่าต้นกล้าอัญชันหรือเมล็ดของเขามันขายดี เมก็ขยายเพิ่มขึ้นค่ะ บ้านเมน่าจะมีประมาณ 40 กว่าๆ แล้วค่ะ รวมพวกใบสมุนไพรฝรั่งด้วย

สวนดอกไม้เล็กๆ ที่ทำเงินเกือบครึ่งแสน

เดิมทีสาวนักออกแบบกราฟิกคนนี้ มีประสบการณ์ในการปลูกต้นไม้มาบ้าง จึงนำความรู้ตรงนั้นมาประยุกต์ใช้กับการปลูกดอกไม้กินได้ แถมแต่ละต้นก็เป็นการปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีอีกด้วย

“ถ้าเราปลูกเขาจากเมล็ดก็ประมาณ 3 เดือน ถึงออกดอกเลย แต่ถ้าเราใช้วิธีชำ อย่างต้นที่แม่ให้ มากาเร็ตม่วงชั้นเดียว แยกหน่อสักประมาณ 2 เดือนก็ออกแล้ว บางอย่างเราปักชำได้ กระดุมส้ม มันก็ใช้เวลาประมาณ 1 - 2 เดือน ดอกก็ออกแล้ว แต่ช่วงแรกๆ เราต้องคอยสลับกันทำ เพิ่มจำนวนเรื่อยๆ เพราะบางต้นอายุเขาหมดไป เราต้องคอยทำเพิ่มมาเรื่อยๆ

เก็บได้ทุกวันเลยค่ะถ้ามีออเดอร์ หรือว่าบางทีเมทำคอนเทนต์ เมก็เก็บมาทำออเดอร์ ทำเรื่องราว มันจะออกดอกตลอด ยิ่งตัดดอกเขายิ่งดกค่ะ ถ้าไม้ดอกนะคะ แต่ถ้าเราปล่อยเขาแห้งคาต้น ช่อใหม่เขาจะไม่ออก เพราะว่าเหมือนเขาก็เลี้ยงดอกเก่าอยู่ค่ะ มันก็มีรายละเอียดเรื่องการเลี้ยงดู ว่าเราต้องดูแลยังไงให้ดอกออกบ่อยๆ ค่ะ

ปัญหาของคนส่วนใหญ่ที่เลี้ยง ก็คือดอกไม่ออก รอบดอกน้อย แต่เมไม่เจอปัญหาพวกนี้ อาจจะโชคดีว่าเมเคยเลี้ยงต้นไม้มาหลายอย่าง นำวิธีการเลี้ยงของหลายๆ อย่าง มาปรับใช้กับดอกไม้กินได้ค่ะ

ไม่ได้ใช้เคมีค่ะ เมก็ใช้วนอยู่แค่พวกชีวพันธุ์ ใช้พวกจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ทำเอง ขยายเอง ต่อยอดมาทำขาย มีคนสนใจ แล้วก็มูลไส้เดือน ตอนแรกอันนี้เมคิดว่าเมจะเลี้ยง ด้วยความที่บ้านเมเนื้อที่น้อย เมก็เลยหาสวนของคนแถวบ้านที่เขาทำขายอยู่แล้ว แต่เหมือนเขาทำการตลาด ส่งของไม่เป็น เมก็รับเขามาขาย แบ่งกำไรกันนิดหน่อย ก็ช่วยลูกสวน ช่วยเขาไป

จุดเริ่มต้นมาจากดอกสดนี่แหละค่ะ แต่มันทำให้เมสามารถแตกแขนง กลายเป็นธุรกิจเลี้ยงตัวเองได้ มันเป็นแพตเทิร์นที่เคยคิดไว้ว่าอยากเป็นแบบนี้ แต่ไม่ได้คิดว่ามันจะมาถึงได้ค่ะ เรามีความฝัน แต่เราก็ไม่ได้คิดว่าเราจะไปถึงค่ะ”



สำหรับรายได้ก็ไม่ธรรมดา เพราะสวนดอกไม้ย่อมๆ หน้าบ้าน สามารถทำเงินได้หลายหมื่นต่อเดือนเลยทีเดียว

“ดอกสด 90 ดอก 100 บาทค่ะ แล้วก็ไม้ใบ พวกสมุนไพรก็ 80 ใบ 60 บาท ดอกสดเมก็จะได้ประมาณ 12,000 - 15,000 ไม่เกินนี้ เพราะว่าเมยังไม่รับลูกค้าเพิ่ม แล้วก็ไม่ได้มีส่งต่างจังหวัด รับแค่ร้านประจำค่ะ แล้วก็ขายพวกปุ๋ย เมล็ด ที่ขายเป็นออนไลน์ผ่านเพจ ก็จะได้อยู่ประมาณ 30,000 ขึ้นไป อยู่ที่ความขยัน เกี่ยวกับการที่เราทำคอนเทนต์ด้วยค่ะ

เมไม่ได้รับลูกค้าเพิ่มเท่าไหร่นะคะ รายใหญ่น่าจะมีสัก 3 ร้านค่ะ แล้วก็รายย่อยมีประมาณ 8 คนได้ค่ะ ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่มก็มีเดี๋ยวนี้ เหมือนว่าเขาติดตามเพจเรา แล้วเขารู้สึกว่าเขาอยากให้ร้านเขามันมีจุดเด่น เขาก็เลยซื้อดอกไม้

จริงๆ มันก็เป็นการเพิ่มต้นทุนเขา แต่เขาบอกว่ามันช่วยให้เขาขายง่ายขึ้น เหมือนถ่ายรูปแล้วมันสวย เพราะว่าสาวๆ เขาก็จะชอบ คาเฟ่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสาวๆ ไป มันเพิ่มมูลค่าให้ร้านเขา ให้อาหารเขา

เท่าที่ได้คุยกับลูกค้าที่ชอบเที่ยวคาเฟ่ เขาก็ไม่เคยกินนะคะ แต่จริงๆ ดอกไม้ที่จะแต่งบนอาหารได้ ก็คือดอกไม้ที่กินได้ เพราะว่าดอกไม้มันมีดอกไม้ที่มีพิษด้วย ถ้ายางเขาร่วงลงไปในจานอาหาร แล้วใครเกิดการแพ้ มันก็ส่งผลเสียกับสุขภาพได้ค่ะ”


[ บรรดาดอกไม้กินได้ ผลผลิตจากสวน ]

เธอแนะนำดอกไม้ 5 ชนิดที่คนนิยม ส่วนมากจะเป็นดอกที่เลี้ยงง่ายในสภาพอากาศบ้านเรา ซึ่งเสน่ห์ของดอกไม้กินได้ นอกจากความน่ารักในตัวเองแล้ว พวกมันยังช่วยเรียกเหล่าแมลง มาช่วยเติมความสดใสให้กับสวนหน้าบ้านอีกด้วย

“ของเมก็จะเป็น ผีเสื้อแสนสวย, ผีเสื้อ แล้วก็ จันทร์ฉาย 3 อย่างนี้ สามารถชำได้ ปักชำ ขยายได้ เหมือนว่าเราซื้อไปทีเดียว เราก็ไปทำจำนวนเพิ่มขึ้นได้ เลี้ยงง่าย ทนอากาศร้อน แล้วก็มีดอกออกทั้งปี ก็จะมีบางสายพันธุ์ช่วงหน้าหนาวดอกอาจจะน้อยบ้าง แต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าโรคกวนค่อนข้างน้อย

ที่เมอยากแนะนำก็คือ เดซี่ญี่ปุ่น เป็นต้นที่ขายดีที่สุดอันดับ 1 เลย เหมือนว่าปักชำง่าย แล้วก็ดอกเขาน่ารัก เวลาส่งตามร้าน ร้านเขาจะชอบ ไม่ว่าจะเป็นร้านน้ำ เบเกอรี่ ร้านอาหารอะไรแบบนี้ ใช้หมดเลย อีกอย่างนึง เมหลงรัก อัญชัน เพราะถ้าเราปลูกในบ้าน ทั้งเก็บเมล็ดขายได้ เอามากินแทนผักได้ แล้วก็ยังสามารถเอามาทำต้มน้ำได้ด้วยค่ะ ก็ต้นโปรดต้นใหม่ตอนนี้

เสน่ห์ของดอกไม้ เมว่ามันเพิ่มความสดใสมีชีวิตชีวาค่ะ เมเคยปลูกต้นไม้มาหลายชนิด ทั้งไม้ใบ กุหลาบ หรืออะไรอย่างนี้ สมมติเราปลูกกุหลาบ มันก็จะได้รูปทรงที่คล้ายกัน มันจะแค่แตกต่างกันที่สี หรือว่าไม้ใบ มันก็จะมีใบไม่ได้มีดอก

การที่เมมาปลูกดอกไม้กินได้ ถึงสายพันธุ์มันจะใกล้เคียงกัน อย่าง เดซี่ มันมีหลายสีมากเลย แต่ว่าแต่ละสีเขาน่ารักต่างกัน แล้วเขาก็มีหลายสายพันธุ์ รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ แล้วมันก็เรียกพวกผึ้ง พวกผีเสื้อมาได้เยอะค่ะในสวน

บ้านเราก็สวย ถ่ายรูปก็สวย มันก็เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่น พื้นที่เราถึงจะน้อย แต่มันทำให้เราไม่ต้องไปคาเฟ่ไกล แค่เลือกปลูกไม้ดอกที่มันเหมาะกับสภาพอากาศบ้านเรา แค่นี้บ้านเราก็สวยได้แล้ว ไม่ได้ลงทุนเยอะ ไม่ได้ดูแลยากมากค่ะ”


[ วัสดุปลูกก็มีขาย ]

เมเล่าต่อถึงภาพที่อนาคตที่อยากให้เป็น ที่ไม่ใช่แค่สวนดอกไม้หน้าบ้าน แต่เป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้คนที่สนใจเข้ามาศึกษา และนำไปต่อยอดสร้างรายได้ได้อีกทาง

“เมมีแผนจะขยายไปทำที่บ้านแม่ค่ะ เมมีที่เล็กๆ อยู่หน้าเขา ที่ปู่ย่าเขาสร้างไว้ให้ อนาคตถ้าเมสามารถไปถึงได้ เมอยากทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ แบ่งปันให้คนอื่น เพราะว่าหลายๆ คนที่เมได้พูดคุยกับเขา เขาเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เขาเป็นผู้สูงอายุ เขาเป็นคนชอบเที่ยวสวนดอกไม้ เขาอยากมาหาเม อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ เมก็อยากเปิดให้เขามาค่ะ

แต่ตอนนี้ด้วยความจำกัดของเนื้อที่ แล้วมันเป็นหมู่บ้านจัดสรร เราก็เกรงใจเพื่อนบ้าน อนาคตเราก็อยากเปิด อยากขายต้นกล้า เพิ่มจำนวนขึ้น เพื่อจะหารายได้ให้คนในชุมชน เพราะว่าตอนนี้เมก็เริ่มให้เขาช่วยเมเพาะต้นกล้าอยู่ค่ะ เหมือนว่าแถวบ้านมีเขาทำนาทำไร่ แล้วเขาไม่ได้เล่นโซเชียลฯ เขาไม่รู้หรอกว่ามันสามารถขายได้จริง ตอนที่เมทำให้เขาเห็น

แรกๆ มันไม่ค่อยมีใครเชื่อ แต่ตอนนี้เมเดินทางผ่านมา 1 ปี มีออเดอร์ แล้วเขาก็ดูข่าว ดู TV เขาเห็นว่าเมได้ออก เขาก็เลยมีความเชื่อมั่นมากขึ้น มันทำได้จริงนะ ถึงเมจะไม่ใช่เกษตรกรแต่กำเนิด แต่ว่าเมเอามาประยุกต์ใช้จากสิ่งที่เคยเรียนรู้จากพ่อแม่ แล้วก็สิ่งที่เราเรียนมา เอามาสร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเมเอง เพื่อจะมีคนที่คอยซัพพอร์ตเรา”

อยู่หน้าจอให้น้อย อยู่กับดอกไม้ให้มาก

อย่างที่เราได้เห็นกัน เกษตรกรในบ้านเรา หันมาใช้ช่องทางโซเชียลฯ ในการทำการตลาดและแบ่งปันความรู้กันแทบทั้งสิ้น แน่นอนว่าการสร้างตัวตนให้แตกต่างและเป็นที่จดจำ ย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญ

เธอคนนี้ก็มีแฟนเพจ บันทึกรักของเมชญา Flawless by may ดอกไม้กินได้ เป็นพื้นที่บันทึกเรื่องราวการทำสวนดอกไม้ และแบ่งปันความรู้ให้กับคนที่สนใจ ผ่านการพรีเซนต์ในสไตล์ของตัวเอง

“กุมภาฯ นี้ครบปีพอดีที่เริ่มเก็บเก๊กฮวย ก็ครบปีที่สร้างเพจนี้ขึ้นมาค่ะ จริงๆ เพจนี้มันเป็นเพจเสื้อผ้ามาก่อนค่ะ เป็นคนชอบขายของอยู่แล้ว แล้วก็พึ่งมาเปลี่ยนเป็นเพจดอกไม้กินได้ เมื่อกุมภาปีที่แล้วค่ะ ส่วนใหญ่เมจะเน้นแบ่งปันความรู้ที่เมมี บางอย่างมันก็อาจจะถูกบ้างไม่ถูกบ้าง อันไหนที่ไม่ถูก ก็จะมีเพื่อนเขาช่วยแบ่งปันว่าใช้วิธีนี้ดีกว่า

เล่าเรื่องราวการเดินทางของบันทึกรักของเมชญา เมอยากแบ่งปันว่าบางทีคุณเห็นว่ามันสวย จริงๆ มันมีอะไรมากมาย คนที่เขาติดตามเมส่วนนึงก็น่าจะชอบเรื่องราวที่เราเล่าไป ว่ามันช่วยให้เขามีแรงบันดาลใจ มันสามารถไปถึงฝันได้



เราเล่าเรื่องราวที่มันเป็นพื้นฐานของผู้หญิง เราชอบดอกไม้ เราชอบแต่งตัวสวย เราชอบทำเล็บ หรือเราชอบอะไรที่มันสวยงามฟรุ้งฟริ้ง เราไม่จำเป็นจะต้องเป็นเกษตรกรที่ใส่งอบ โพกหน้า หรืออะไรอย่างนี้ เราสามารถเลือกช่วงเวลาในการทำสวนได้ เราแต่งตัวสวยๆ ได้ในสวนของเรา เราไม่จำเป็นต้องเป็นเกษตรกรแล้วเราต้องโทรม

เมเคยอยู่ในกลุ่มกลุ่มนึง เขาชอบมาเล่าประมาณว่า ตอนทำงานประจำเขาดูดี ดูหล่อ ดูสวย แต่พอเขาเป็นเกษตรกรเขาดูโทรม ดูไม่ดี นี่รู้สึกว่ามันไม่ใช่ เกษตรกรยุคใหม่แบบเราต้องทำสวนไปด้วย แล้วเราต้องสวยไปด้วยแบบนี้ค่ะ

มันน่าจะสร้างความสนุกสนานให้คนที่เขาติดตามเม วันนี้เธอจะใส่ชุดอะไร เธอจะทำสวนยังไง มันก็น่าจะเป็นจุดแข็งจุดนึงที่เล่าเรื่องราวให้มันดูสวยงาม เหมือนเจ้าหญิงอยู่ในสวนดอกไม้อะไรอย่างนี้ เมจะเล่าเรื่องประมาณนี้ค่ะ

เมเรียนออกแบบนิเทศ เราจะได้เรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ ตัดต่อ ถ่ายรูป เมื่อก่อนเราทำให้คนอื่นมันตามใจคนอื่น แต่อันนี้เราทำให้ตัวเอง สร้างมูลค่าให้ตัวเอง รู้สึกว่ามีความสุข เหมือนเราได้ทำในสิ่งที่รัก ไม่ว่าจะตอนเรียนหรือตอนที่ทำงานค่ะ”



ในส่วนของการดูแลโซเชียลฯ และสวนดอกไม้ ก็ได้มีการแบ่งความรับผิดอย่างชัดเจน ระหว่างตัวเธอเองและสามี

“ทำกันเองกับแฟน 2 คนค่ะ ระบบหลังบ้าน แฟนเป็นคนดูแลให้ แล้วก็มีคนช่วยแพ็กของ 1 คน อย่างเมจะเป็นฝ่ายที่ทำคอนเทนต์ ถ่ายรูป ถ่ายคลิป เขียนสตอรี่ลงเพจ ส่วนการดูแลสวน ให้ปุ๋ย รดน้ำ จะเป็นแฟนเมคือเกมจะดูแลทั้งหมดเลยค่ะ

แต่ถ้าพวกพรวนดิน ตัดแต่งกิ่งอะไรแบบนี้ เมก็จะมาทำเอง เมจะรู้ละเอียดเยอะกว่าเขาในแต่ละสายพันธุ์ งานมันก็เลยไม่ได้เครียดมาก แล้วเสาร์-อาทิตย์ เราก็หยุดให้เวลาลูก ไปเที่ยว นอนพักผ่อน ดูซีรีส์อะไรแบบนี้ค่ะ

เมจะเลือกใน 1 อาทิตย์ ถ่ายคอนเทนท์วันเดียวถ่าย 5 คลิปไปเลย หรือถ้าเมทำได้มากกว่านั้น เมก็ทำไปเลย ตอนนี้เมก็มีสต็อกคลิปไว้ใช้ประมาณเกือบ 10 คลิปค่ะ ถ่ายๆ ตัดเสร็จ วันไหนที่เราอารมณ์ดีๆ เราค่อยมานั่งไล่พากย์เสียงทีหลังค่ะ

จริงๆ เมเขียนแผนเลย เขียนแผน เขียนโรงเรือน เขียนที่ เขียนทาง แต่คิดว่ามันคงไม่ได้สำเร็จเร็วๆ นี้ โซเชียลฯ มันแรงก็จริง แต่ว่าคู่แข่งมันก็เยอะ คนทำคอนเทนต์มันก็เยอะ การมองเห็นมันก็น้อย เมก็ไม่ได้คิดว่ามันจะสำเร็จได้เร็ว

เมก็ต้องขอบคุณร้านอาหารในนครสวรรค์ ที่เขาเลือกที่จะให้โอกาส คนที่ไม่ได้มีชื่อเสียงตัวเล็กๆ คนนึง Facebook มีคนติดตามแค่นิดหน่อย แล้วไม่เคยขายของในธุรกิจนครสวรรค์เลย ครั้งแรกคือไปขายดอกไม้เลย ก็ขอบคุณเขา ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็ก ร้านใหญ่ ที่เขาให้โอกาส มีเขาที่มาอุดหนุนเราในวันนั้น เมก็เลยเติบโตมาได้ในวันนี้ค่ะ”



อีกเรื่องที่คนทำการตลาดออนไลน์ต้องเจอ นั่นก็คือการที่แพลตฟอร์มถูกปิดกั้นการเข้าถึง และความเครียดที่เกิดจากการเสพติดยอดไลก์ ยอดแชร์ เป็นปัญหาที่ทำเอาเจ้าตัวไขว้เขวไปสักพักเลยทีเดียว

“การที่เราเป็นครีเอเตอร์ เขามีรายได้ให้เราใช่ไหมคะ เราไม่ได้มีการซื้อโฆษณา การเข้าถึงมันจะน้อย เวลาเราสร้างเพจแรกๆ เขาจะมองว่าเราเป็นครีเอเตอร์มือใหม่ มันจะสร้างง่าย มันจะดันยอดวิวเยอะ เพจมันเลยเติบโตง่าย ใครที่เป็นครีเอเตอร์มือใหม่ ช่วงแรกต้องขยันทำคอนเทนต์ เล่าเรื่องราว มันจะเปิดการมองเห็น

แต่พอสักพักนึง สวนเมมันเริ่มมีรายได้ เมเริ่มขายของใช่ไหมคะ เขาจะจัดเราอยู่ในหมวดหมู่ขายของ ทีนี้มันจะเริ่มปิดการมองเห็น แล้วเขาก็จะไปดันคนที่เป็นครีเอเตอร์มือใหม่ ต้องเป็นคนที่ติดตามเราจริงๆ ถึงจะเด้งขึ้นมา มันก็มีปัญหาตลอด

ก่อนหน้านี้สร้างตัวตนโดยไม่ได้มีการยิง ads แต่ว่ามันเหมือนว่าเราเป็นชุมชนที่มีคนสนใจเยอะ แล้วเมก็สร้างรายได้ได้ ช่วงนี้มันมีรายได้จากการทำคอนเทนต์ใช่ไหมคะ ของเมมีเรื่องของการขายของ เขาแจ้งมาว่าให้เรายิง ads มันจะช่วยเปิดการมองเห็นเพจค่ะ เราก็เข้าใจเขานะคะ เพราะเหมือนเราใช้พื้นที่เขา เมก็เพิ่งเริ่มยิงค่ะ

ช่วงที่เครียด ก็คือมาทำสวนนี่แหละค่ะ (หัวเราะ) เพราะว่าถ้าเราอยู่ติดกับโลกออนไลน์เกินไปเราจะเครียด ช่วงที่เรามีชื่อเสียงใหม่ๆ เราจะเสพติดยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดวิวคนดู รู้สึกว่าตัวเองก็ไม่ได้มีความสุขกับการทำคอนเทนต์เดินไปเดินมา เพราะชอบทำงานเบื้องหลังมากกว่า ชอบเขียนเล่า

ก็เลยหาข้อสรุปให้ตัวเอง ใช้เวลานานประมาณสัก 4 เดือนเลยค่ะ เมรู้สึกว่าหลงทางเหมือนกัน รู้สึกว่ามันไม่ใช่ความสุขทั้งหมด เพราะว่าการที่จะเป็นครีเอเตอร์ ถ้าเราเอาใจไปผูกติดแบบว่า… เสพติดยอดไลก์ เราจะเครียด”



เมได้หยิบเอาสิ่งที่เจอมาเป็นบทเรียน และบาลานซ์การชีวิต ระหว่างหน้าจอกับโลกแห่งความจริง ให้พอดีกับตนเอง

“ทุกวันนี้เมใช้ชีวิตเลือกทำที่เมชอบและมีความสุข แบ่งปันในส่วนที่เรารู้ เราก็ตอบคำถามที่เพื่อนๆ ถามเท่าที่เราจะทำได้ เราอยู่ในจุดนี้มันจะมีทั้งคนรักและคนเกลียด เราจะทำยังไงให้มันอยู่กึ่งกลาง และไม่เอาตัวยึดติดกับมันมากเกินไป

โซเชียลฯ ของเม มันก็สักประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ เมไม่ได้ให้ทั้งหมดกับชีวิตอยู่ในโซเชียลฯ จนเกินไป ไม่งั้นมันเครียดค่ะ เปรียบเทียบกับคนอื่นด้วย ยอดวิวตกเราก็รู้สึกเครียด ต้องจัดการความรู้สึกตัวเอง อย่าเสพติดเยอะเกินไปค่ะ

มันเหมือนว่าสุดท้าย ความสุขของเราจริงๆ ก็คือคนใกล้ตัวรอบข้าง และงานที่เราทำ เพื่อนๆ ในเพจ เรารู้จักเขา เขารู้จักเรา แต่มันเป็นแค่ในส่วนที่เขาเห็นเรา แล้วเราก็สร้างให้เขาเห็น นึกออกไหมคะ

เมพยายามสร้างสังคมออนไลน์ที่รู้สึกว่ามันไม่ toxic ต่อกัน เราจะมีกฎว่าเราคุยกันน่ารักๆ นะ สอบถามเราได้ อันไหนที่เมบอกได้เมก็จะบอก ไม่ได้ลงรายละเอียดชีวิตเราเยอะเกินไป เพราะบางคนเขาไม่ได้อยากรู้ชีวิตเรา เขาอยากรู้เรื่องดอกไม้

การทำคอนเทนท์แรกๆ เราต้องจับให้ได้ว่าเขาชอบอะไรในตัวเรา ชอบอะไรในเพจเรา ชอบเรื่องราวอะไร เมก็หลงทางนะตอนทำแรกๆ กว่าจะมาถึงวันนี้ทำมาหลายอย่างเหมือนกัน คอนเทนท์น่ะค่ะ”

ฝังกลบคำสบประมาท เกษตรกรรุ่นใหม่ก็สำเร็จได้

แต่กว่าที่เมจะมาถึงวันนี้ได้ นอกจากการลองผิดลองถูกปลูกดอกไม้แล้ว เธอยังเจอกับถ้อยคำบั่นทอนกำลังใจมากมาย แต่ในที่สุด สาวกราฟิกดีไซน์คนนี้ก็พิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนเห็นแล้วว่า เธอก็ประสบความสำเร็จได้ในฐานะเกษตรกร

อันดับ 1 เลยที่เมรู้สึก เขาบอกปลูกต้นไม้เป็นภาระ เสียเงิน อันนี้เมรู้สึกแบบ… มันไม่ถูกจริตเราเลย ความชอบของคนเรามันไม่เหมือนกัน อย่างเม เมไม่ได้ฟุ่มเฟือยกับสิ่งอื่น แต่เมจะหมดไปกับการซื้อต้นไม้อะไรแบบนี้ เมก็เลยรู้สึกว่าอยากพิสูจน์ตัวเองให้คนอื่นเห็น ว่าสวนดอกไม้เรามันต้องสร้างรายได้ให้เราได้สิวะ อะไรแบบนี้ค่ะ

ข้อ 2 พอเมเริ่มเก็บขาย จะมีคำพูดประมาณว่า จะไปพอกินอะไร เพราะกล่องนึงมันแค่ร้อยเดียว นึกออกไหมคะ แต่ว่าเมก็ไม่ค่อยได้เถียงเขา เมก็ฟังและเอาสิ่งที่เขาพูดกลับมาคิด เหมือนเป็นโจทย์ให้เรา ว่าเราจะทำยังไงให้มันได้เยอะกว่านั้น

3 ก็คือ เรียนจบปริญญาตรีแต่มาทำเกษตร อันนี้จะโดนบ่อย สังคมต่างจังหวัดเขาจะรู้สึกมาก แล้วเมเคยเปิดบริษัท ออกแบบให้เจ้าของแบรนด์หลายๆ คน ความมีหน้ามีตาทางสังคมมันต่างกัน การเป็นที่ยอมรับมันก็เลยพลิก



คนก็เลยรู้สึกเอ๊ะ… ว่ามันจะสำเร็จได้เหรอ กับแค่ดอกไม้กินได้ พื้นที่เล็กๆ ในบ้านด้วย อะไรแบบนี้ค่ะ ก็เป็น 3 อย่างที่รู้สึกว่ามันเป็นแรงผลักดัน ที่ทำให้เราขยันที่จะโพสต์ ทำคอนเทนต์ต่างๆ อยากให้เขาเห็นว่ามันทำได้ค่ะ

เมว่าเมอาจจะได้เปรียบ เพราะว่ามีสะสมประสบการณ์เรื่องการทำตลาดออนไลน์มาเยอะ แล้วก็ความโชคดีอย่างนึง น่าจะเป็นเราเป็นคนทำงานเบื้องหลัง พวกพี่นักข่าวที่เขาเคยเข้ามา เขาจะมีความรู้สึกเดียวกับเรา ว่าเขาชอบอยู่เบื้องหลัง

ส่วนนึงก็ต้องขอบคุณพวกพี่นักข่าวทั้งหลาย เหมือนเขาอยากผลักดันเรา อยากให้เราใช้ศักยภาพที่เรามีให้มันเต็มความสามารถ เขาอยากรู้ว่าเราจะเดินไปได้ถึงขนาดไหน เราจะลบคำพูดของคนอื่นได้ไหม เราจะชนะใจตัวเองได้หรือเปล่า

ก็ต้องขอบคุณสื่อที่เข้ามาช่วย ทำให้เมกล้ามีตัวตน จริงๆ แรกๆ เมพูดเมจะสั่นตลอดเลยนะคะ (หัวเราะ) เพราะมันตื่นเต้น เป็นเกษตรกรยุคใหม่แล้วกันค่ะ ภูมิใจค่ะ (ยิ้ม)”


[ ผักสดๆ เดินไม่กี่ก้าวก็เก็บมากินได้ ]

ถามถึงงานด้านการออกแบบที่เคยทำ เมบอกว่ายังรับอยู่บ้างตามโอกาส แต่ภาพในอนาคตที่วางไว้ ก็ค่อนข้างจริงจังว่าจะมาทำสวนดอกไม้กินได้แบบเต็มตัว

“มีพี่ที่เราสนิทกัน มันเกินคำว่าลูกค้า เป็นมิตรภาพดีๆ ดอกไม้กินได้ของเม ส่วนนึงที่เมสำเร็จได้เพราะพี่คนนี้เขาเป็นคนผลักดันค่ะ คือเขาให้คำปรึกษามาตั้งแต่แรก ถึงเขาจะไม่ได้รู้เรื่องสวน เรื่องต้นไม้ แต่เขาก็เป็นคนนึงที่ให้เมกู้เงินมาลงทุนทำ

แล้วก็เหมือนว่าเมอยากทำศูนย์การเรียนรู้ พี่เขาก็พร้อมที่จะซัพพอร์ตเมค่ะ เมก็เลยซัพพอร์ตเขาในส่วนของการดูแลแฟนเพจให้เขา ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เขา ออกแบบ ads โฆษณาให้เขาอยู่ ยิง ads ให้เขาด้วยค่ะ

มีโอกาสได้คุยกับพี่คนนี้ เขาก็สนใจอยากจะทำสวนการเรียนรู้ เขาก็มีแนวคิดเหมือนกัน มันน่าจะเกิดขึ้นได้แล้วมันก็น่าจะทำได้ดี เพราะว่าเราถนัดเรื่องโซเชียลฯ การถ่ายภาพ การเล่าเรื่อง แล้วตัวพี่เขาก็มี connection ค่อนข้างเยอะ ดูแล้วการเติบโตมันไปได้ เกษตรกรถ้าเราทำดีๆ มันต่อยอดได้หลายทาง

เมรู้ว่าอันนี้แหละที่จะเป็นธุรกิจ ที่เมต่อยอดเลี้ยงตัวเมไปได้ยันแก่ อย่างงานออกแบบ เมทำไม่ได้ยันแก่ค่ะ เพราะเหมือนเราอายุเยอะแล้วสมองมันช้าลง มันมีเรื่องเครียดมากขึ้น งานเราไม่ค่อยสร้างสรรค์ แล้วมันต้องเป็นฝีมือเมคนเดียว มันหาคนที่จะมาทำอย่างเรามันก็ยาก คิดว่ามันจริงจัง 80 เปอร์เซ็นต์แล้วค่ะตอนนี้”


[ ช่วงเวลาแห่งความสุขของครอบครัว ]

การมีพื้นที่สีเขียวในบ้าน แน่นอนว่าตอนนี้มันคืออีกช่องทางที่เพิ่มรายได้ ในขณะเดียวกัน ก็ช่วยให้ครอบครัวนี้ มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น และยังช่วยปลูกฝังลูกสาววัย 8 ขวบ ให้รักธรรมชาติไปในตัว

“บ้านเมไม่ได้เกิดมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยนะคะ ก็คือเราเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว ชีวิตลูกของเม มันดีกว่าเมตอนเด็กอยู่แล้ว แต่เมอยากสอนให้เขารู้จักหาปลา ไม่ใช่ซื้อปลาให้เขากิน นึกออกไหมคะ เราก็เริ่มปลูกฝังเขา สอนเขาจากสิ่งที่เขาชอบ

อย่างเขาวาดรูป เมก็เอาดอกอัญชัญ เอาใบเตยไประบายสีกัน หรือว่าวาดสวนดอกไม้ในอุดมคติของเรา แล้วก็เริ่มสอนเขาให้มาช่วยแม่ชำต้นไม้ บอกเขาว่าแม่ได้อันนี้กี่บาท แล้วถ้าหนูอยากได้ของเล่นที่ราคา 100 บาท แม่ต้องเก็บดอกไม้ตั้ง 100 ดอกเลยนะ อะไรอย่างนี้ค่ะ มันปลูกฝังเขาได้หลายเรื่อง การใช้ชีวิตที่เรียบง่าย แล้วก็การรู้จักช่วยพ่อแม่ทำมาหากิน

เราได้ใช้ชีวิตกับลูกมากขึ้น เหมือนตอนทำงานออกแบบ ไม่มีเวลาให้ลูกเลย กลางคืนก็ทำ นอนวันนึง 3 - 4 ชั่วโมง แต่พอทำดอกไม้กินได้ มันทำให้ครอบครัวเราอบอุ่นขึ้น เมกับแฟนไม่ค่อยมีปัญหากันเลยนะคะ ตอนทำออกแบบทะเลาะกันบ่อย

ตอนนี้กิจกรรมที่ทำก็คือ เสาร์-อาทิตย์ เราก็มาปลูกต้นไม้ด้วยกัน เกมเป็นคนปลูก เมกับลูกสาวก็จะเอาของในสวนมาเล่นขายของ มันทำให้เขาไม่ติดโซเชียลฯ แล้วก็เรียนรู้ชีวิตรักธรรมชาติ รู้สึกว่ามันต้องพัฒนาให้มันเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ค่ะ

เมื่อก่อนลูกอยากเป็นหมอฟันใช่ไหมคะ แต่พอเขาเห็นเมทำแล้วมีความสุข เขาบอกว่าเขาอยากเป็นคนสวนเหมือนแม่ อยากทำดอกไม้แบบแม่กับพ่อ อะไรอย่างนี้ค่ะ (ยิ้ม) ก็รู้สึกดี เหมือนเราก็มีธุรกิจเล็กๆ ของเราให้เขา

พวกเมจริงๆ เป็นคนที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว แพ้ PM เป็นกันหนักเลยทั้ง 3 คนพ่อแม่ลูก แต่ตั้งแต่มีสวนดอกไม้กินได้ ปลูกต้นไม้เยอะๆ มันช่วยกรองอากาศ เพราะบ้านอยู่ในตัวเมืองมันก็จะฝุ่นเยอะ สุขภาพพวกเราก็ดีขึ้น แล้วก็ได้นอนครบ 8 ชั่วโมง ได้ตื่นเช้า ได้นอนเร็ว 2 -3 ทุ่มเราได้นอน รู้สึกว่าคุณภาพชีวิตมันดีขึ้นมาก

แล้วเราก็ปลูกผักปลูกอะไรกินเอง เมชอบกินพวกชาบูปิ้งย่าง เมื่อก่อนเราก็จะซื้อผัก แต่อันนี้เราก็ใช้ผักของเราเอง ให้พ่อแม่ของเมได้กินด้วยในสิ่งที่เมปลูก มันก็เป็นความสุขค่ะ มันมีแต่สุขไปหมดเลย มันมีแต่ข้อดีในความรู้สึกค่ะ”



สุดท้ายนี้ ใครที่สนใจอยากเริ่มต้นปลูกดอกไม้กินได้เหมือนกับเธอคนนี้ ในฐานะเกษตรกรรุ่นใหม่ เมก็ฝากคำแนะนำว่า อยากให้ศึกษาให้ดี รดน้ำพรวนดินด้วยความรัก ยังไงก็สำเร็จได้แน่นอน

“หลายคนอยากเป็นอาชีพที่อิสระแบบนี้ เมอยากให้เขาศึกษาดีๆ ก่อน ต้นที่เมแนะนำ เดซี่ญี่ปุ่น ผีเสื้อแสนสวย จันทร์ฉาย 3 ต้นนี้มันลงทุนแค่ประมาณ 600 แต่มันขยายได้จำนวนเยอะ สิ่งสำคัญเลยเราควรศึกษาก่อน ถ้าอยากจะทำเป็นอาชีพ

คิดแล้วก็ลงมือทำ ไม่ใช่แค่คิดๆๆ แล้วก็ไม่ทำ มันไม่มีวันเกิดขึ้นจริงถ้าเราไม่ได้ลงมือทำ ไม่รู้ว่าการลองผิดลองถูกเป็นยังไง ก็อยากให้ก้าวผ่านความท้อแท้ การดูถูก การดูแคลนต่างๆ เอามาคิดว่าเราจะเอาสิ่งที่เขาติเรา มาทำยังไงให้มันเติบโตค่ะ

เมก็อยากจะฝากสำหรับเพื่อนๆ ที่ชอบดอกไม้ ชอบปลูกต้นไม้ แล้วก็อยากมีรายได้ อยากปลูกต้นไม้ฮีลใจ ก็ตามเมได้ที่แฟนเพจ บันทึกรักของเมชญา แล้วก็ใน TikTok ชื่อ @flawlessbymay นะคะ ก็มี 2 ช่องทางหลักค่ะ ถ้าใครมีข้อสงสัยอะไรก็ทักมาถามเมได้ เมก็ให้คำแนะนำได้ในระดับที่เมรู้ เพราะว่าก็ถือว่าเมก็ยังเป็นมือใหม่ 1 ปีกับการทำดอกไม้กินได้ค่ะ”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)






@livestyle.official ...“อะไรที่มันเป็น 'ธุรกิจเกินไป' เราจะไม่กล้าผิดพลาด ไม่กล้าลงทุนใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเมว่ามัน 'เติบโตยาก' ค่ะ” @flawlessbymay... . เธอคือ "กราฟิกดีไซน์เนอร์" ที่ขอวางปากกาออกแบบและเม้าส์ แล้วหันมาจับเสียม ปลูก "ดอกไม้กินได้" ตามความชอบ และลดความเครียด . แต่กลับเจอหนทางส่งขายคาเฟ่ จนทำเงินจาก "สวนเล็กๆ หน้าบ้าน" ได้เกือบ "ครึ่งแสนต่อเดือน" . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #ดอกไม้กินได้ #เกษตรกร #เกษตรกรยุคใหม่ #เกษตรกรรุ่นใหม่ #ปลูกดอกไม้ #อาชีพทําเงิน #TikToker #SME #SMEs #ธุรกิจ #SMEตีแตก #เส้นทางเศรษฐี #อายุน้อยร้อยล้าน ♬ original sound - LIVE Style


สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพ : Facebook “บันทึกรักของเมชญา Flawless by may ดอกไม้กินได้”, Instagram @flawless_by_maypiggy2u และ TikTok @flawlessbymay



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น