xs
xsm
sm
md
lg

#แผ่นดินไหวประเทศไทย แนะตึกเก่า “เสริมโครงสร้าง” ตึกใหม่ “เช็กมาตรฐาน” ค่าการรองรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น่าสงสัย “ตึกไทย” ไม่ได้ออกแบบให้รับมือแผ่นดินไหวหรือ? 2 กูรูชี้เร่งเสริมแกร่ง “ตึกเก่า” ถอดบทเรียน “ตึก สตง. 2 พันล้าน” แต่ถล่มอยู่ตึกเดียว สะท้อนมาตรฐานก่อสร้างไทยที่เคยดี แต่ตอนนี้ถูกละเลย


** มีจริงไหม? “มาตรฐานรองรับแผ่นดินไหว” **

จากเหตุ “แผ่นดินไหว” ครั้งประวัติศาสตร์ของไทย ที่มีจุดศูนย์กลางขนาด “8.2 ริกเตอร์” อยู่ที่ “ประเทศเมียนมา” ซึ่งห่างจาก “กรุงเทพฯ” ประมาณ “1,100 กม.” แต่กลับเกิด “โศกนาฏกรรม” ที่ไม่มีใครคาดฝัน

เมื่อ “อาคาร 30 ชั้น” ของ “สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)” ที่กำลังก่อสร้าง ในย่านจตุจักร “พัง-ถล่ม” ส่งผลให้มีผู้ประสบภัย “บาดเจ็บ-เสียชีวิต” และ “สูญหาย” หลายราย
 
ส่งให้ผู้คนต่างประหลาดใจไปตามๆ กัน แม้แต่นายกฯ เอง ที่ถึงกับขอตั้งคำถามว่า ทำไมอาคารหลังนี้ถึงได้เป็น “ตึกเดียวที่ถล่ม” ขณะที่ไซต์ก่อสร้างอื่นๆ ยังอยู่ปกติดี



                                                  {ตึก สตง. งบสร้างกว่า 2,000 ล้านบาท}

และถึงแม้ว่าตึกผลกระทบจากภัยพิบัติแห่งนี้ จะอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง แต่ “ระดับโครงสร้างอาคาร”ก็ถือว่าทำเสร็จแล้ว ดังนั้น ก็น่าจะรับแรงจากแผ่นดินไหวได้..ไม่ใช่เหรอ?

ที่สำคัญ นี่คืออาคารที่มี “งบสร้างกว่า 2,000 ล้านบาท” แต่กลับยังเกิดเหตุการณ์แบบนี้ สรุปแล้ว การก่อสร้างอาคารในไทย ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ “รับมือแผ่นดินไหว” ได้อย่างนั้นหรือ?

เพื่อตอบคำถามนี้ ทีมข่าวจึงขอต่อสายไปยัง “ศ.ดร.อมร พิมานมาศ” นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ให้ช่วยคอนเฟิร์มว่าสรุปแล้ว บ้านเมืองเรามีกฎหมายควบคุมการสร้างอาคาร เพื่อรองรับแผ่นดินไหวจริงๆ หรือเปล่า?

คำตอบที่ได้รับคือ “มี” และมันอยู่ใน “กฎกระทรวง” ฉบับแรก ตั้งแต่ปี 2540 ระบุเอาไว้เลยว่า ตึกที่สูงเกิน15เมตร หรือ5ชั้นขึ้นไป ซึ่งอยู่ในโซนเสี่ยง อยู่ใกล้รอยเลื่อน อย่าง เชียงราย,เชียงใหม่,ตาก,น่าน,พะเยา ฯ ต้องออกแบบให้ทนแผ่นดินไหว



จากนั้นในปี 2550 จึงมี “แก้ไข”เพิ่มเติม ให้มีพื้นที่ของ “กทม.”และ “ปริมณฑล”เข้าไปด้วยว่า ต้อง “ออกแบบให้รับแผ่นดินไหว”ได้เช่นกัน เพราะตั้งอยู่บน “ดินอ่อน”ที่สามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวให้ “รุนแรง” ขึ้นได้ หากมีแผ่นดินไหวใกล้ๆ

และฉบับล่าสุดในปี 2564 ที่เปลี่ยนเป็นการจัดโซนเสี่ยง 3 ระดับ ที่ครอบคลุมกว่า 40 จังหวัดในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่ “เสี่ยงน้อย”คือ “ภาคใต้”,“เสี่ยงปานกลาง”คือ “กรุงเทพฯ และปริมณฑล” และสุดท้าย “เสี่ยงสูง”คือ “ภาคเหนือ”

นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ บอกว่า ไม่ได้กำหนดตายตัวว่า ตึกต้องรับแรงสะเทือนได้เท่าไหร่ จะเป็นการเอาค่าความแรงของแผ่นดินไหวอย่าง“ริกเตอร์” หรือ“แมกนิจูด”ในพื้นที่ต่างๆ มาคำนวณในตอนออกแบบว่า ตึกจะรับได้เท่าไหร่ แต่คร่าวๆ คือ “7-8 แมกนิจูด”

                                            { "ศ.ดร.อมร” นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ}

** เรียกความเชื่อมั่น ด้วยการ “เสริมโครงสร้างเก่าเพิ่ม” **


ล่าสุดหลังเหตุ ตึก สตง. ถล่มไม่นาน ก็มีเหตุวุ่นวายที่ “ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ”เกิดขึ้นอีก เมื่ออาคารตรงนั้นเกิดอาการ“ทรุดตัวและเอียง” จนต้องสั่งอพยพคนออก

จนกลายมาเป็นคำถามข้อใหม่ ข้อใหญ่อีกประเด็นผุดขึ้นมาคือ สำหรับตึกที่สร้างเสร็จแล้ว จะรู้ได้ยังไงว่า “ตึกไหนปลอดภัย”?

ตอนนี้ที่คน กทม.กังวลที่สุดคือ “อาคารที่สร้างก่อนปี 2550”ก่อนที่กฎหมายจะกำหนดเรื่อง “การรองรับแผ่นดินไหว” ตกลงแล้ว อาคารเหล่านี้จะปลอดภัยและยังใช้งานได้หรือเปล่า?

เรื่องนี้ “ลุงช่าง” เกรียงไกร ช่วยดำรงสกุล วิศวกรโครงสร้าง เจ้าของเพจ “คุยกับลุงช่าง”บอกกับเราว่า มันก็มีวิธีดูง่ายๆ ด้วยตัวเองอยู่ ส่วนแรก “ความเสียหายที่โครงสร้าง”คือ “เสา-คาน-พื้น”ว่ามี “รอยแตก-รอยแยก”หรือเปล่า?

ต่อมาก็ดูความเสียหายที่ไม่ใช่ส่วนโครงสร้าง อย่าง “ผนัง” “ฝา” ว่าหลุดหรือพังไหม เพราะแม้ส่วนโครงสร้างจะไม่เป็นอะไร แต่ชิ้นพวกนี้ก็อาจพังลงมาได้ นี่เป็น 2 สิ่งที่เราต้องพิจารณาว่า อาคารปลอดภัยเพียงพอให้อยู่อาศัยไหม



แต่หากไม่พบรอยพวกนี้ ก็ยังไม่อาจทำให้ผู้อยู่อาศัยมั่นใจได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะไม่รู้ว่าตึกถูกออกแบบให้รับแผ่นดินไหวได้หรือเปล่า เจ้าของเพจ“คุยกับลุงช่าง”แนะว่า ในทางวิศวกรรมแล้ว สามารถ “ตรวจสอบย้อนหลังได้”

“เขาสามารถจะเอาแบบ(แบบก่อสร้างอาคาร)นะครับ มาขอให้วิศวกรคำนวณได้ ด้วยโปรแกรมปัจจุบันเนี่ย มันจะตอบได้ว่ารองรับได้ขนาดไหนมันเช็กได้ทางวิศวกรรม มันเช็กได้ทุกตึกเลย”

                                                   { “เกรียงไกร”เจ้าของเพจ“คุยกับลุงช่าง }

ดังนั้น การกลับไป “ประเมินตึกเก่า” ว่ายังสามารถใช้งาน หรือรับแรงจากแผ่นดินไหวได้อยู่ไหม คือสิ่งที่ “เจ้าของอาคาร” ควรทำ เพื่อเรียกความมั่นใจของลูกบ้านกลับมา ซึ่งก็ตรงกับความเห็นของ “ดร.อมร” ที่ชี้ว่า...

“โดยเฉพาะอาคารที่สร้างก่อนปี 50 มาประเมินดูว่า มันมีระดับต้านแผ่นดินไหวได้ระดับไหนนะครับ อาคารเหล่านี้ผมก็เชื่อว่า มันต้านได้ระดับนึง เพราะตอนออกแบบ มันก็เผื่อเรื่องแรงลมไว้แล้ว”

เพราะอย่างที่เห็นว่า แม้จะผ่านแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มา อาคารเหล่านี้ก็ยังไม่ถล่ม แต่มันก็ไม่ได้รับประกันว่า หากเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้ง ที่เท่ากัน หรือแรงกว่านี้ ตึกเก่าเหล่านี้จะยังรับไหว

ดังนั้น จึงต้องรับมือไว้ก่อน ด้วยการเสริมโครงสร้างตึกให้แข็งแรงขึ้น ในอาคารที่ประเมินแล้วว่า ไม่น่าจะรับแรงจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการทำไปบ้างแล้ว

นอกจาก ประเมินและเสริมโครงสร้างแล้ว ยังต้องมีเพิ่มระบบ “Monitoring” หรือ “ระบบตรวจสอบและติดตาม” อย่างการติดตั้ง “เซ็นเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหว” ไว้ตามจุดต่างๆ ของตึกด้วย

ซึ่งนายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างบอกว่า เทคโนโลยีเซ็นเซอร์สมัยนี้ นอกจากจะ “บอกจุดที่เกิดความเสียหายในตึกได้” มันยังสามารถเป็น “ตัวส่งสัญญาณแจ้งเตือน” ไปยังผู้คนโดยรอบผ่าน “SMS” หรือ “Line Notification” อีกด้วย 



** มาตรฐานเคยดี แต่เดี๋ยวนี้ไม่ทำ!!? **

หากถอดผลเรียนจากเรื่องนี้ ถึง “กฎหมายกำหนด” เอาไว้แล้ว แต่พอเมืองไทย “ไม่ค่อยเกิดแผ่นดินไหว” เรื่องนี้จึงอาจถูกละเลย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ มองว่า มีความ “เป็นไปได้” ที่อาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการก่อสร้าง และอาจเกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอน “การออกแบบ” ด้วยซ้ำไป

“คือต้องบอกว่า เรื่องการออกแบบอาคารรับแผ่นดินไหว ไม่ได้เรียนในปริญญาตรี เพราะงั้นเนี่ย เขาจบปริญญาตรีมาแล้ว เขาออกแบบไม่เป็น เขาก็ต้องมานั่งหาความรู้ต่อ ไปอบรมต่อ”

“ความเชี่ยวชาญ” ของวิศวกรผู้ออกแบบ นี่คือเรื่องที่ 1 ส่วนที่ 2 คือ “เวลาก่อสร้างจริง” ว่าทำตามแบบไหม และการก่อสร้างถูกควบคุมให้ได้คุณภาพหรือเปล่า และส่วนที่ 3 คือ “วัสดุ” ว่ามีคุณภาพ หรือเป็นไปตามที่กำหนดไหม

จริงๆ แล้ว “มาตรฐานในการก่อสร้างไทย” ถือว่า “ดีในระดับนึง” เพราะแผ่นดินไหวครั้งนี้หนักมาก กลับมี “อาคารถล่มเพียงตึกเดียว” แต่มันก็สะท้อนว่า เรากำลัง “ย่อหย่อน” ในเรื่อง “มาตรฐาน” ที่อดีตเราทำไว้ดี

“ก็ต้องบอกว่า เราเห็นเหตุการณ์ถล่มหลายๆ ครั้งเนอะ ตั้งแต่พระราม 3, พระราม 2 เมื่อมันมีเหตุการณ์อย่างนี้เนี่ย มันก็แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงในกระบวนการ การก่อสร้างของประเทศไทยเรา”

ดังนั้น “ศ.ดร.อมร” นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ มองว่าคงต้องหันมาดูทบทวน “มาตรฐานการก่อสร้าง” กันอย่างจริงจังเสียที พอๆ กับอดีตวิศวกรโครงสร้างอย่าง “ลุงช่าง” ที่บอกว่า 

“มาตรฐานก็มีอยู่แล้ว เพียงควบคุมให้มันเป็นไปตามมาตรฐาน”



สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : X @catanddancers



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น