ระนาดไทยดังไกลทั่วโลก!! เปิดใจหนุ่มไลฟ์ครีเอเตอร์ ผู้ขับกล่อมผู้คนผ่านเสียงระนาดสุดไพเราะ เคยรับทรัพย์เหนาะๆ ต่อเดือนหลักแสน เผยมีวันนี้ได้ เพราะ “โหมโรง” บันดาลใจ
ไลฟ์เล่นระนาด คนแรกบน TikTok!!
“ช่วงนั้นมีอะไรที่ยังไม่มีใครทำ ผมก็นึกถึงตัวเองว่าเคยเล่นระนาด จะมาเล่นกีตาร์ คนเล่นกีตาร์เยอะแล้ว คนร้องเพลงเยอะแล้ว ไม่มีใครตีระนาดลงไลฟ์สดเลย เลื่อนเท่าไหร่ก็ไม่เจอ
เอาล่ะ... ผมคนแรกในประเทศไทย และน่าจะเป็นคนแรกในโลก ที่ไลฟ์สดตีระนาดใน TikTok ในรูปแบบของผม ไม่ใช่ตีระนาดเพลงไทยธรรมดานะ ผมตีเพลงสากล จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพลงกระแสดังๆ แต่การ cover ผมไม่ได้ทำคนแรก”
“โปเต้ - ธนริศย์ วรกิจโชติพัฒน์” หนุ่มวัย อายุ 32 ปี บอกกับเราด้วยรอยยิ้ม เคียงข้างกับระนาดคู่ใจ
เขาคือเจ้าของช่อง TikTok “ขุนโปเต้ นักรักมือระนาด” ผู้ใช้เสียงดนตรีไทยอย่าง “ระนาด” มาไลฟ์บน TikTok เพื่อขับกล่อมผู้คนทุกค่ำคืน ฝีมือการตีระนาดของชายคนนี้ ไม่ได้มีแค่เพลงไทยเดิม เพลงสากลหรือ Cover เพลงฮิต ก็เล่นได้หมด
แถมโปเต้ยังมีฝีมือไม่ธรรมดา การันตีด้วยการได้รับ ทุนนริศรานุวัดติวงศ์ มาแล้ว ซึ่งทุนนี้เป็นทุนมอบให้กับผู้มีผลงาน และความสามารถทางด้านศิลปะไทยในแขนงต่างๆ
พ่วงด้วยสกิลชวนทึ่ง เพราะสามารถเล่นเพลงตามคำขอได้ทันที โดยที่ไม่ต้องฝึกเล่นให้คล่องมาก่อน ซึ่งรายได้จากการเป็นไลฟ์ครีเอเตอร์ก็เอาเรื่อง เพราะตัวเลขมากสุดที่เลยได้ พุ่งไปถึงหลักแสนต่อเดือน!!
ย้อนกลับไปก่อนจะมาถึงวันนี้ หลังจบการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โปเต้ได้เข้าทำงานเป็นครูในโรงเรียนเอกชนและรัฐบาล ก่อนจะผันตัวมาเป็นพ่อค้า ขายข้าวเหนียวหมูปิ้ง เขาเริ่มเรียนรู้วิถีชีวิตการค้าขาย จนรู้สึกว่ามันเป็นไปได้ ต่อมาได้เปลี่ยนมาขายปลาแซลมอน อะไรๆ มันก็ดีขึ้นตามมา จึงปักหลักว่าตัวเองจะต้องเป็นพ่อค้าแน่นอน
แต่พ่อค้าโป้เต้ มาเจอการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมๆ กับการได้รู้จักแอปพลิเคชัน TikTok ที่กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนให้เขาลองทำคอนเทนต์ ก่อนจะพัฒนามาเป็นการไลฟ์อย่างในตอนนี้
“ขายไปเรื่อยๆ โควิดมันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ผมก็เลยรู้สึกว่า เราต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่าง บังเอิญไปเจอ TikTok พอดี เลื่อนไปเลื่อนมามีแต่คนลงคลิป เราชอบสร้างคอนเทนท์อยู่แล้ว แต่ว่าเราไม่มีเวลา ติดอยู่ที่ว่าเราไม่ว่าง
ทีนี้จะมีน้องคนนึงที่ผมรู้จัก เขาไลฟ์สดอยู่แล้ว ทำไมมาไลฟ์ทุกคืน มีรายได้เหรอ พอดีเรารู้จัก เราทักหลังบ้านไปได้ เขาแนะนำว่ามันได้เงินนะ สร้างรายได้ได้นะ มันเป็นแบบนี้ๆ พี่ลองไหม ตอนนั้นผมก็… ลองได้ด้วยเหรอ โอเค ลองไลฟ์ดู
เริ่มแรกแล้วก็เริ่มไลฟ์พูดคุย ผมจะมีกีตาร์อยู่ตัวนึง ก็เอามาเล่นง้องๆ แง้งๆ ไลฟ์ตอนแรกๆ คนดูก็ประมาณ 5 คน (หัวเราะ) คนที่มาไม่ใช่คนดูของผมด้วย เป็นคนดูของน้องที่แนะนำให้ไลฟ์ แนะนำให้มาดูของผม ก็ขอบคุณน้องเขาด้วย
ตั้งแต่เริ่มเล่น TikTok ลงคลิปประมาณปีนึง ตอนที่เริ่มผมมีผู้ติดตามประมาณ 2,000-3,000 เอง คลิปต่างๆ ก็จะเป็นคลิปชีวิตผมทั่วไป กดไลก์มากสุด 100 กว่าหัวใจก็ถือว่าเยอะมากๆ สำหรับเต้แล้ว ก็ลงไปเรื่อยๆ สัพเพเหระ (หัวเราะ)
เสร็จปุ๊บเริ่มไลฟ์ ปัญหาก็คือผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับการไลฟ์ แล้วก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเครื่องเสียงที่จะใช้ แต่เรื่องความสามารถตัวเองเรามีอยู่แล้ว อันนี้ไม่ใช่ปัญหา แต่ว่าปัญหาคือจะทำยังไงให้เราเข้าใจในปุ่มกดใน TikTok setting ยังไง
เครื่องเสียงต่างๆ ไปดูช่องใหญ่ที่เขาไลฟ์สด เขาจะมีเครื่องเสียง มีไฟมีอะไร โอ้โห… อลังการ จะทำยังไงให้เป็นอย่างนั้น เราก็ต้องทำความรู้จักเพื่อนๆ ครีเอเตอร์ด้วยกัน ได้คำแนะนำมา ก็ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ จนวันนึงเราก็เริ่มเข้าใจ”
การไลฟ์พูดคุยธรรมดาก็มีคนทำมากมาย ส่วนการไลฟ์เล่นดนตรีบน TikTok ก็มีหลายคนที่ไลฟ์แนวนี้ ถึงอย่างนั้น เขายังไม่เคยเห็นใครไลฟ์เล่นระนาดเลยสักคน โปเต้จึงกลับมาวิเคราะห์ตัวเอง ว่าน่าจะดึงตรงนี้มาเป็นจุดขายได้ และเลือกหยิบเอาความสามารถด้านดนตรี ทั้งจากพรสวรรค์และพรแสวงของตัวเอง มาพรีเซนต์ให้ทุกคนได้เห็น
“ผมมี… บางคนเขาบอกเป็นพรสวรรค์ของผม ก็คือผมฟังแล้วสามารถจูนคีย์ แปลทำนอง คิดโน้ตได้เลยทันที ในเพลงเพลงนั้น ก็เลยเป็นคอนเทนท์สดๆ เพลงไหนที่ผมเคยได้ยิน ผมเปิดแล้วก็จูนคีย์ให้ตรงกับระนาดก่อน ผมก็ตีบรรเลงได้เลย โดยการดูเนื้อร้องเหมือนร้องคาราโอเกะ แต่เราไม่ได้ร้อง เราใช้ระนาดร้อง
อันนี้ผมพูดแล้วเหมือนคุย ผมไม่ได้แกะเลยครับ ขับรถไปขายของผมก็เปิดฟัง ถ้าเพลงไหนผมสนใจจะเล่นวันนี้ ผมก็จะฟังเพลงนั้นซ้ำๆๆ พอถึงบ้าน ผมก็จะเอาระนาดขึ้นแล้วลองตีก่อน ได้แล้ว โอเคกดอัดเลย จะเป็นอย่างนี้ มันเลยง่ายไปหมด หลายๆ ท่านอาจจะทำได้หรือทำไม่ได้ยังไง แต่ผมใช้ตรงนี้ในการไลฟ์สด
แต่ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ จะทำยังไงให้เสียงดนตรี backing track มันตรงกับผืนระนาดของเรา ตอนนี้ผมมีผืนระนาดที่ผมจูนเอง ใช้ตะกั่วจูน ให้เสียงมันตรงกับระดับเสียงที่เราต้องการ ผืนนี้คีย์ C จะมีอีกผืนนึงคีย์ B-flat
[ “ขุนอิน” ผู้จุดประกายการเล่นระนาด ]
แต่ก่อนผมร่างสคริปต์นะ คืนนี้เล่นเพลงอะไร ตอนนี้ไม่เอาแล้ว มันช้า บางทีเราวางสคริปต์ไว้ คนขอเพลงขึ้นมา เราก็เล่นตามที่คนขอก่อน เพราะเราสามารถเล่นได้เลย พอกลับมาสคริปต์ คนขออีกแล้ว ไม่ได้เป็น dead air อะไรมาก”
รายได้จากการเป็นไลฟ์ครีเอเตอร์บน TikTok แต่ละเดือนก็มีมากน้อยแตกต่างกันไป และอย่างที่ได้บอกไปแล้วตอนต้น ช่วงที่ ขุนโปเต้ เคยได้รับมากที่สุดนั่นก็คือเกือบ 300,000 ต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีโอกาสต่างๆ เข้ามาอีกมากมาย
“สติ๊กเกอร์ในการไลฟ์สด ก็เป็นรายได้ของเต้ได้ รายเดือนเคยพีคสุด อยู่ที่ประมาณ 200,000 เกือบ 300,000 ต่อเดือนนะครับ แต่ว่าถ้ารายวันเคยพีคสุด ประมาณ 70,000 กว่าบาท เกือบ 80,000 ในวันเดียว ไลฟ์เดียว แต่ว่าอย่างที่บอกก็จะมีได้น้อยบ้างได้เยอะ แล้วแต่คนจะอยากสนับสนุนเรา ก็เลยรู้สึกว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่มันก็น่าสนใจ
ใน TikTok ไม่ได้ไลฟ์อย่างเดียว ไม่ได้ลงคลิปอย่างเดียว ถ้าใครได้เล่น TikTok จริงจัง ก็จะได้รู้ว่ามีกิจกรรม อย่างเช่น มีการ PK กิจกรรมต่างๆ แข่งขันกันต่างๆ ตามเทศกาล (PK ย่อมาจาก Player Kill เป็นฟีเจอร์ไลฟ์บน TikTok ที่ผู้ใช้ 2 คน แข่งขันกัน โดยผู้ชมจะเป็นผู้ตัดสินว่าใครคือผู้ชนะ)
[ แสตนด์อินในภาพยนตร์ “ดับแสงรวี” ]
PK ที่ผมรู้นะ เหมือนกับ FC ส่งของขวัญให้เรา สนับสนุนเราแข่งกับอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อที่เราจะได้ชิงรางวัล ถ้าเราชนะ หรือแต้มยอดเราถึงเกณฑ์ที่เราได้รางวัล เราก็ได้โบนัสจาก TikTok เพิ่มมา
มันก็เลยมีผู้ชมสนใจมากขึ้น อยู่กับผมนานมากขึ้น แล้วก็ติดตามเรา สนับสนุนเรา จนเราได้รับโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่ายภาพยนตร์ เป็นสแตนด์อินเรื่อง ดับแสงรวี เล่นกับ นุนิว (นุนิว-ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์) กับ พี่ซีพฤกษ์ (ซี-พฤกษ์ พานิช) ตอนนั้นผมไปสอนระนาดพี่ซีพฤกษ์ แล้วก็ไปปรับร้องเพลงไทยให้กับนุนิว รู้สึกจะร้องเพลงพระอาทิตย์ชิงดวง
ได้ร่วมงานในวงการบันเทิงบ้าง แล้วก็มีแสดงโชว์ มีพี่ๆ นักข่าวมาสัมภาษณ์ อยากจะติดตามเกี่ยวกับดนตรี เกี่ยวกับชีวิตเต้หลายช่อง แล้วก็มีน้องๆ ที่จะทำเล่มจบ ก็เอาเราไปเป็นเรื่องราวในการจบของเขา อะไรแบบนี้ครับ ก็รู้สึกภูมิใจ ดีใจเนอะ เราก็คนธรรมดาที่เล่นดนตรี แต่ว่าเราเอาดนตรีมาทำประยุกต์แบบใหม่แหวกแนว ก็ดีใจครับที่ทุกคนสนใจ
แล้วก็มีท่านอาจารย์ซึ่งผมเคารพนับถือ เป็นตำนานที่ทำให้ผมเล่นระนาด ท่านอาจารย์ขุนอิน (ขุนอิน ณรงค์ โตสง่า) ก็ไปพบเจอท่านมาแล้ว ไปร่วมงาน 20 ปีโหมโรง ท่านก็เชิญผมไป ถ้าไม่ใช่ขุนโปเต้ ผมก็คงไม่ถึงท่าน ก็เป็นโอกาสที่ดี”
โชว์เต็มที่ทุกไลฟ์ เพราะหน้าจอก็คือเวที
หลังตัดสินใจมาเอาดีในการไลฟ์ผ่าน TikTok อย่างจริงจัง มือระนาดหนุ่มคนนี้จึงตั้งใจ เพราะทุกการโชว์ ไม่ต่างอะไรกับการขึ้นเวที เพื่อแสดงความสามารถสู่สายตาผู้ชม
“การสร้างคอนเทนท์ของเต้ จะแบ่งเป็น 3 หัวข้อ 1.โชว์ความสามารถ 2.ความรู้มอบให้กับผู้ชม 3.ไลฟ์สไตล์ตัวเอง ตอนแรกๆ ผมยังไม่ได้จริงจังอะไรมาก แค่ไลฟ์สนุกๆ สร้างช่อง สร้างคอนเทนท์อะไรไป หลังๆ พอเริ่มมีรายได้เข้ามาพอสมควร เราก็เริ่มจัดสรรปันส่วนมากขึ้น เริ่มมีอุปกรณ์ต่างๆ เริ่มพัฒนาตัวเอง พัฒนาช่องเรื่อยๆ อุปกรณ์ แสงสี ฉาก ไฟ ไมค์
ช่วงสร้างช่อง ผมไลฟ์อยู่ที่ประมาณห้าทุ่มถึงตีสาม กว่าจะนอน กว่าจะตื่นก็สายแล้ว ก็จะไปขายของไม่ได้ ใช้เวลาอย่างนั้นอยู่พักนึง ทีนี้เราก็เปลี่ยนใหม่ เราก็เริ่มไลฟ์หัวค่ำมากขึ้น แล้วก็ลงไลฟ์ไวขึ้น จะได้มีเวลาพักผ่อน
แล้วเราก็สามารถทำอย่างอื่นได้ระหว่างวัน ไปซื้อของ ไปตลาด ไปขายของได้ด้วย ก็จะเป็นอย่างนี้ ตอนนี้ผมก็เริ่มมีวันพัก เริ่มให้เวลาพักตัวเอง ตอนนี้น่าจะเป็นทุกวันเสาร์ หรืออาจจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็จะต้องดูตัวเองด้วยเป็นหลัก
ถ้าภาษาดนตรีก็บอกว่าเป็น professional ใช่ไหม ก็คืออยู่บนเวทีเราต้องโชว์ให้ดีที่สุด ทำยังไงให้เราเหมือนเดิม แม้กระทั่งวันนั้นเราอาจจะเจอเรื่องที่แย่มาก็ได้ เราอาจจะไม่พร้อม อาจจะไม่สบาย แต่เวลาเราอยู่ตรงหน้าจอหรืออยู่บนเวทีเราต้องแสดงให้ดีที่สุด ให้เหมือนเดิมมากที่สุด หรือให้ดีกว่าเดิมเลยยิ่งดี อันนี้แหละสำคัญครับ
ผมก็พยายามบอกตัวเองอย่างนี้ แต่ก็จะมีบ้างนะที่บอก ‘โปเต้เหมือนเหนื่อยๆ หรือเปล่า พักผ่อนไหม’ เราไม่ได้แสดงอาการอะไรแต่ว่าคนเขาดูเราออก ด้วยความที่เราเหนื่อยหรืออะไร แต่ว่าเราก็เต็มที่ทุกไลฟ์”
นอกจากการไลฟ์แล้ว งานประจำอย่างการเป็นพ่อค้าก็ยังไม่ทิ้งไปไหน หลังจากเสร็จจากการขายของ ก็ต้องมาเตรียมตัวในการไลฟ์ เขายอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าเหนื่อยเหมือนกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่สนุกและดีใจที่ได้ทำ
“แต่ก่อนผมบรรเลงระนาดธรรมดา ยาวๆ โดยที่ไม่พูดคุยกับคนเลยนะ แต่ว่าดึกๆ ประมาณตีสอง ตีสาม เอาแล้ว คนเริ่มเงียบ เริ่มไม่มีปฏิสัมพันธ์อะไรกับเรา เราก็เหมือนกล่อมคนหลับคืนละ 50-60 คน ไปอย่างนั้นหลายเดือน (หัวเราะ)
แต่มันก็ดี การที่ทำให้คนมีความสุข ขับกล่อมให้คนเพลิดเพลินจนหลับ ได้ผ่อนคลาย ก็ถือว่าช่องเรามีประโยชน์เว้ย แต่ว่ารู้สึกว่ามันไม่ได้ คนต้องอยู่กับเราจนจบ ต้อง enjoy กับเราจนจบ ผมก็เริ่มมี sound card ที่มันจะมี soundpad effect มีตบมุก ผมก็เริ่มพูดคุยกับผู้คนมากขึ้น อ่านคอมเมนต์มากขึ้น แล้วก็พูดหยอกเล่นตามสไตล์ พัฒนาขึ้นไปอีก
ผมเพิ่มการ enjoy ด้วยการเต้นขึ้นมา ผมเป็นคนไม่เต้นเลย ไปเที่ยวกับเพื่อนยังไงผมก็ไม่เต้น ประมาณว่ามีหมอลำมีอะไรผมก็ไม่เต้น (หัวเราะ) แต่ไลฟ์สดทำให้ผมเต้นเป็น (หัวเราะ) ตอนแรกมันต้องทำก่อน ตอนนี้เริ่มสนุกกับมันแล้ว มันเป็นอะไรที่เราทำได้นี่หว่า เราก็เป็นคนสนุกสนานได้เหมือนกัน สร้างรอยยิ้ม สร้างความสุขให้คนแต่ละคืนเขาประทับใจ
มีพี่ๆ บางคนเขาพิมพ์มา ‘คืนนี้ประทับใจมากเลย คืนนี้มีความสุข ขอบคุณมาก’ ทั้งที่เราต้องขอบคุณเขานะ เพราะเขามาส่งสติ๊กเกอร์ ส่งของขวัญให้เรา ก็เหมือนมาสนับสนุนเรา ผมขอบคุณทุกคนอยู่แล้ว แต่ว่าทุกคนก็ขอบคุณกลับมา ‘วันนี้เหนื่อยทั้งวันเลย เข้ามาฟังแล้วผ่อนคลาย เข้ามาดูแล้วก็มีความสุข’ ผมก็เลยรู้สึกว่าใช่เลย ตอบโจทย์ นี่แหละครับ
อาจจะเห็นว่าเต้พูดเก่ง แต่ว่าจริงๆ เต้เป็นคนพูดไม่เก่งเลย ที่เต้มีทักษะในการพูดได้ประมาณนี้ เพราะว่าได้จากไลฟ์สดล้วนๆ ไม่งั้นก็เป็นคนเงียบๆ คนนึง (หัวเราะ) พอเราเป็นครีเอเตอร์ สกิลการพูดมันเกิดจากการฝึกจริงๆ นะครับ ได้ใช้ประจำ”
[ ไลฟ์โชว์ฝีมือจนปัง ถูกเชิญในฐานะ "ซุป'ตาร์ TikTok" ]
โปเต้ ยังเล่าถึงเรื่องราวสุดใจฟู กับคอมเมนต์จากผู้ชมที่แวะเวียนเข้ามาอยู่ในไลฟ์การเล่นระนาดของเขา
“มี FC เป็นชาวต่างชาติ เราเป็นคนไม่เก่งภาษาอังกฤษ เราก็ต้องฝึกภาษาอังกฤษไปพูดคุยกับเขาในเบื้องต้น (หัวเราะ) ส่วนใหญ่จะเป็นพี่ๆ คนไทยที่อยู่ต่างแดนเข้ามาชมเรา ดนตรีไทยดังทั่วโลกจริงๆ ครับ ถ้าไม่มี TikTok ก็ยากอยู่
ที่ผมดีใจมากเลยนะครับ ก็คือหนึ่งเลย ผมสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนได้ น้องๆ หลายๆ คนที่เข้ามาดู ก็จะบอก ‘ผมเล่นระนาดเพราะพี่เลย พี่คือไอดอลผมเลย’ เป็นอะไรที่ขอบคุณมากน้อง ที่ทำให้พี่อยากจะทำอะไรเพิ่ม
แล้วก็จะมีคอมเมนต์ของแม่ๆ พ่อๆ ‘ดีใจที่คนรุ่นใหม่มาเล่นระนาด สืบสานต่อไปนะคะ เพราะมากเลย ไม่เคยฟังระนาดแบบนี้เลย ระนาดเล่นแบบนี้ได้ด้วยเหรอ’ ตื่นเต้น ตกใจ รู้สึกพิเศษในสิ่งที่เรานำเสนอ performance ไป
ผมก็คิดว่าดนตรีไทย เราก็อนุรักษ์กันไว้ เพียงแต่ว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไป เราจะมาเล่นซ้ำจำเจเหมือนเดิม ไม่มีใครเข้ามาดูหรอกครับ เขาเลือกไปดูในสิ่งที่อะไรที่เป็นกระแส อะไรที่มันมาใหม่ คนเราชอบสนใจอะไรที่มันใหม่ๆ
ดนตรีไทยมันเป็นของเก่า เป็นวัฒนธรรมไทย แต่ว่าเราจะทำยังไงให้มันสามารถเข้าถึงเรื่องใหม่ๆ ได้ ยกตัวอย่างนะครับ สมมติมีละครเรื่องนึงดังมาก กระแสในโซเชียลฯ คนดูเรื่องนี้ แน่นอนครับ ผมต้องเล่นเพลงในเรื่องนั้น ทำให้ยอดวิวเพิ่มขึ้น ยอด followers เราเพิ่มขึ้นครับ เราเล่นกับกระแสต่างๆ นานา ใช้มันเล่นได้หมด อยู่ที่ว่าเราจะเอามานำเสนอแบบไหนครับ
จริงๆ นักดนตรีไทยก็เล่นเพลงไทยเนอะ พอเรามาปรับเปลี่ยนเป็น cover แน่นอนครับมันแหวก มันไม่เหมือนแบบแผนแล้ว ทีนี้ก็อาจจะมีคนที่ยอมรับเราบ้าง หรือคนที่ไม่ได้ชื่นชอบบ้าง อันนี้ผมไม่รู้นะ ก็คิดว่าคงจะมี
แต่อยากให้รู้ไว้ว่าจุดประสงค์หลัก ของการที่ผมคิดแปลกแหวกแนว ไม่ซ้ำจำเจเหมือนเดิม เพราะว่าต้องการให้คนเข้าถึงดนตรีไทย และดนตรีไทยเข้าถึงทุกคน ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย ผมต้องการไปถึงทั่วโลกนะครับ เป็นระดับ world class เลย คนรู้จัก ดนตรีไทยดังไกลทั่วโลก อันนี้คือ concept ของช่องขุนโปเต้ครับ”
นอกจากนี้ เขายังเล่าถึงที่มาของชื่อช่อง TikTok อันเป็นเอกลักษณ์ ให้ได้รู้อีกด้วย
“ที่มาของชื่อช่อง ‘ขุนโปเต้ นักรักมือระนาด’ เกิดจากการที่สมัยเรียน ปวช.1-ปวช.2 มีวิชานึงเกี่ยวกับราชทินนาม ที่พระมหากษัตริย์ตั้งอวยยศ อวยตำแหน่ง ให้กับเหล่านักดนตรี ศิลปิน เป็นกลอนเลย เราก็ต้องไปสอบท่องชื่อให้ได้
ด้วยความที่ครูเขาก็เล่นกับเรา ผมตีระนาด เขาก็ตั้ง ขุนนักรักมือระนาด ขุนฉลาดฆ้อง อะไรก็ว่าไป เขาก็จะตั้งชื่อให้ เพื่อนผมทุกคนได้ฉายา รุ่นน้องด้วยนะ ได้ฉายาทุกคนเลย เป็นพระบ้าง มีหลวงบ้าง มีขุนบ้าง
ทีนี้เรามาตั้งช่อง มันไม่มีอะไรดึงดูด เราก็รู้สึกว่าต้องมีอะไรบางอย่างให้คนสงสัย ถ้าเป็น โปเต้ระนาดเอก ก็ไม่น่าจะดี มันก็ดูเกร่อๆ ยังไงไม่รู้ โปเต้ระนาดไทย ไม่ได้เลยอันนี้ (หัวเราะ) โปเต้ ขุนนักรักมือระนาด ตอนแรกใช้ชื่อนี้ก่อนครับ
ไปๆ มาๆ อาจารย์ขุนอินยังชื่อขุนอินเลย เราชื่อโปเต้ ก็ขุนโปเต้แล้วกัน อวยให้ตัวเองไปเลย (หัวเราะ) แล้วก็ตามด้วยฉายาตัวเอง ก็เลยกลายเป็น ขุนโปเต้ นักรักมือระนาด ก็คิดว่าเป็นชื่อที่ทุกคนจดจำ ตอนนี้ผมไม่กล้าเปลี่ยนชื่อช่องแล้ว”
มีวันนี้เพราะ “โหมโรง” บันดาลใจ
ย้อนกลับไปถึงเส้นทางดนตรีของมือระนาดคนนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจาก “โหมโรง” ภาพยนตร์ไทยระดับตำนาน ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับดนตรีไทย ด.ช.โปเต้ในตอนนั้น ตกหลุมรักเครื่องดนตรีไทยชนิดนี้ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้เห็นและฟังเสียงผ่านหน้าจอ
“เส้นทางดนตรีไทยนะครับ ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้ผมเล่นดนตรีสากลมาก่อน แต่การที่เราชื่นชอบดนตรีไทย ก็คือตอนช่วงนั้นผมดูภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ผมจำได้เลยวันนั้น แม่ผมเป็นช่างเสริมสวย ข้างล่างเป็นร้านเสริมสวย ข้างบนเป็นบ้านที่ผมนอนเป็นตึกเช่า แม่เป็นคนซื้อมาให้ด้วยภาพยนตร์เรื่องนี้ ซื้อตามตลาดเป็นแผ่น CD แต่ก่อนนี้
ทีนี้แม่ก็ซื้อมาวางไว้ให้ ผมก็เปิดดู คราวนี้มันมีช็อตนึง ที่มันเป็นช็อตประชันระนาด ที่ขุนอินประชันกับนายศร ช็อตนั้นผมว่าผมดูไม่ต่ำกว่า 50 รอบ กรอไปกรอมา ผมเหลือเชื่อว่าทำไมมือ 2 ทำเทคนิคอะไรต่างๆ ทำให้ตีได้รวดเร็ว
ดนตรีไทยทำไมความมหัศจรรย์ ทำไมมือ 2 ข้าง จับไม้ระนาดและบรรเลงได้รวดเร็ว บรรเลงลูกเล่นอะไรต่างๆ ได้พิสดาร มันเกิดความทำไมๆๆ เต็มหัวไปหมด รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว พรุ่งนี้เช้าต้องไปห้องดนตรีไทย แค่นั้นเลย (หัวเราะ)
เวลาเราเล่นคีย์บอร์ด ผมจะใช้นิ้วทั้ง 5 นิ้วเล่น ผมค่อนข้างที่จะเล่นเปียโนหรือเล่นคีย์บอร์ดคล่องแคล่ว นิ้วผมก็จะเร็วหน่อย ทีนี้นิ้วเรายังเร็วไม่เท่ามือข้างเดียวตีระนาดถี่ๆ ได้เลย งงมาก ก็รู้สึกว่า เฮ้ย… ทำได้ยังไง ก็เลยอยากจะลองเรียนดู มันเป็นอะไรที่เป็นความอัศจรรย์สำหรับเรา ก็เลยชอบ เป็นที่มาที่ไปในการเล่นระนาด ตอนนั้นอยู่ ป.6 อายุ 12 ครับ”
[ ซีนประชันระนาดในตำนาน ]
แต่ก่อนก่อนหน้าที่โปเต้จะมาสนใจดนตรีไทย เดิมทีครอบครัวของเขามีกิจการแตรวงอยู่ก่อน และหวังจะให้ทายาทคนนี้มาสืบทอดต่อในอนาคต
“รู้สึกตื่นเต้น โอ้โห… นี่เหรอเครื่องมือที่อยู่ในหนัง แล้วก็ลองจับไม้ดู พระเอกจับไม้นี้แล้วก็ลองตีดู มีเพื่อนที่เขาเรียนดนตรีไทยอยู่แล้ว เขาก็จะตีโชว์ให้เราดู มันเหมือนในหนัง ทำได้ยังไง เจ๋งมากเลย เห็นของจริงยิ่งอยากเรียนเข้าไปใหญ่
เรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ จ.ลพบุรี จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก็เรียนปริญญาตรีต่อ ปริญญาตรีในสาขาดนตรีไทย ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ แต่ผมเรียนห้องเรียนเครือข่ายอยู่ที่เดิม ก็คือวิทยาลัยนาฏศิลป์ลพบุรีเหมือนเดิมครับ
ก่อนจะเจอดนตรีไทย ที่บ้านผมเป็นวงแตรวง ทีนี้ผมก็เล่นแตรวงกับคุณตาตั้งแต่เด็ก ผมก็เริ่มรู้จักดนตรีตั้งแต่จำความได้ ผมก็จะเล่นเครื่องมือแตรวง เครื่องเป่า คีย์บอร์ด อะไรที่ใช้แห่สมัยก่อน แห่นาคแห่อะไรอย่างงี้ ก็เลยเป็นคนมีทักษะทางด้านดนตรี เกี่ยวกับเรื่องตัวโน้ตอยู่บ้างแล้ว แล้วพอมาเรียนดนตรีไทยมันก็จะไปไวมากขึ้น
เดิมทีที่บ้านอยากจะให้ผมสืบทอด ที่บ้านทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นลุง เป็นน้า เป็นอา ทุกคนเล่นไปด้วยกันหมดเลย มีผมคนเดียวที่มาฝึกดนตรีไทยในตระกูล ก็เลยรู้สึกว่าถ้าเราเรียนดนตรีด้วย บ้านเรามีดนตรีไทยเข้ามาด้วย จะได้มีความรู้ หรือเป็นตระกูลที่เกี่ยวกับดนตรีครบเลย อะไรอย่างนี้ครับ ก็เลยรู้สึกผมอยากเรียนดนตรีไทยตรงนี้
เดิมทีบ้านผมไม่มีใครสนับสนุน (หัวเราะ) เชื่อไหมว่าถ้าเป็นดนตรีไทย แทบจะไม่มีใครสนับสนุนผมเลย ผมเล่นเพราะว่าใจผมรักจริงๆ เพราะว่าที่บ้านผมอยากให้ผมเล่นดนตรีสากล ทำมาหากินกับที่บ้าน สืบทอดกับวงตระกูล”
[ รับทุนนริศรานุวัดติวงศ์ เมื่อปี 2553 ]
จากการฝึกฝนอย่างหนัก ประกอบกับความรักในดนตรีไทยอย่างแรงกล้า ทำให้เขาเลือกที่จะศึกษาต่อในด้านนี้อย่างจริงจัง และความพยายามก็ปรากฏผล เพราะโปเต้ได้รับ ทุนนริศรานุวัดติวงศ์ ตามที่ได้เอ่ยถึงไปก่อนหน้านี้
ทั้งยังได้โชว์ความสามารถ เดี่ยวระนาดเอก หน้าพระพักตร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมือระนาดคนนี้บอกว่า ภูมิใจและไม่คาดคิดว่าตัวเองจะมาอยู่จุดนี้ได้
“ตอนนั้นอยู่ ปวช.3 หรือ ม.6 ครับ จะมีรางวัลที่ผมได้รับทุนนริศรานุวัดติวงศ์ ได้บรรเลงไหมพระราชวังปลายเนิน บรรเลงหน้าสมเด็จพระเทพฯ ทุนนี้มันมีความพิเศษตรงที่ว่าเด็กทุนต้องไปโชว์ความสามารถ เชื้อพระวงศ์ก็จะมานั่งรับชมด้วย แต่ว่าสมเด็จพระเทพฯ จะเป็นแม่งานในทุนนี้เลย อันนี้เป็นทุนที่ได้รับความสามารถ เป็นเกียรติยศของเรา
ก็จะคัดเป็นแต่ละเอก เอกดนตรีไทย 1 คน เอกรำละคร 1 คน เอกโขน 1 คน เอกขับร้องไม่ต้องสอบ สมัครได้เลย แต่คนในเอกอื่นจะต้องสอบทั้งทฤษฎี สอบทั้งปฏิบัติ มีหลายๆ เครื่องมือ เช่น ฆ้องวงใหญ่ ระนาดทุ้ม เครื่องหนังที่ตีกลอง ผมเอกระนาดเอก ก็จะมีเพื่อนๆ อีกหลายคน ที่มาแข่งขันกันในวิทยาลัยที่เราเรียนก่อน อันนี้คือแข่งด่านแรก ก็ชนะตรงนั้นไป
[ เดี่ยวระนาดเอก หน้าพระพักตร์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ]
แล้วก็ไปสู่ระดับรวมทั้งประเทศ มารวมกันอยู่ที่เดียว แล้วก็จะมาคัดว่าใครจะได้ไปคนเดียวอีกทีนึง จากครูอาวุโสทางด้านศิลปะวัฒนธรรม ทีนี้ก็แข่งกับระนาดหน้าที่อยู่จุฬาฯเอย สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์เอย แล้วก็วิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศ และอีกหลายๆ เครื่องมือ เพื่อที่จะคัดเลือกแค่ 3 คน ในการบรรเลงเดี่ยวหน้าสมเด็จพระเทพฯ
ผมคนแรกเลยที่ได้รับเลือก ก็คือได้เดี่ยวระนาดเอก มี 3 เครื่องในปีนั้น ที่ได้บรรเลงเดี่ยวเพลงแขกมอญสามชั้น วันนั้น ตื่นเต้นที่สุดในการบรรเลงระนาด ปกติเราบรรเลงหน้าคุณครู หน้าศิลปิน หน้าใครก็ตามแต่ เราตื่นเต้นมาก
ทุกๆ ครั้งที่ได้ขึ้นเวทีใหญ่ๆ จะตื่นเต้น ประชันหรือบรรเลงโชว์ก็จะตื่นเต้นมาก แต่อันนี้มันตื่นเต้นกว่านั้นไปหลายเท่ามากเลย เป็นอะไรที่เกินความคาดคิดครับ เป็นอะไรที่ตัวเองมาอยู่ตรงนั้นได้ มันรู้สึกภูมิใจและรู้สึกดีใจมากๆ
นอกนั้นที่ได้ ได้บรรเลงรวมวงกับสมเด็จพระเทพฯ ผมเองก็ได้รวมวงด้วย เพียงแต่ว่าในช่วงที่บรรเลงรวมวง ผมจะไปบรรเลงเครื่องมืออื่นที่ไม่ใช่ระนาดเอก เพราะสมเด็จพระเทพฯ ท่านบรรเลงระนาดเอก ก็จะบรรเลงรางเดียวกันเลย”
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ คือชนะใจครอบครัว
แต่ก่อนที่นักดนตรีไทยวัย 32 ปีคนนี้ จะมาตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเดิมทีทางครอบครัวของเขา ไม่ได้สนับสนุนในเส้นทางที่ลูกชายเลือกเดินเท่าไรนัก
“ก็ส่งเรียน ไม่ได้สนับสนุน หมายความว่า ใจไม่ได้อยากให้เรียนด้านนี้ อยากให้ทำงานอย่างอื่น ไม่อยากให้เรามาโฟกัสทางนี้มาก เราก็ก้มหน้าก้มตาฝึกอย่างเดียว แล้วก็ก้มหน้าก้มตาเล่น คุณครูมีงานอะไรก็ไป ใครชวนไปงานเราก็ไป ไปโชว์ ไปเล่นประชันเราไปหมด สิ่งเดียวที่ผมคิดตอนนั้น ก็คือฝึกตัวเองให้เก่งที่สุด ให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้
แต่ก่อนก็จะมีคำถามตลอด ฝึกทำไม ทำไมไม่เล่นที่บ้าน คือบ้านผมอยากให้ผมเป็นข้าราชการ ถึงขั้นส่งผมเรียนกวดวิชานายร้อย (หัวเราะ) ซึ่งเราก็ทำตาม ตอนนั้นรู้สึกจะอยู่ ม.3 ที่แม่ส่งเรียน เรียนอยู่ 3 เดือน
แต่ว่าเราก็บอกคุณแม่ว่า ขอออกมาเล่นดนตรีได้ไหม คือไม่ใช่ทางเราจริงๆ ชอบเล่นดนตรีมากกว่าครับ ผมคิดว่าผมจะเอาดีทางด้านดนตรีไทย ผมชอบดนตรีสากล แต่ผมรักดนตรีไทย เหมือนคนสองใจนะ แต่มันก็คือดนตรีเหมือนกัน
ผมว่าหลายๆ คนก็เป็นนะ ไม่ใช่แค่นักดนตรี ทำบางอย่างแล้วไม่มีความสุขก็อาจจะยังไม่ทำ ไปเลือกทำที่มีความสุข ถ้าบังเอิญสิ่งที่เราทำแล้วมีความสุข มันสามารถสร้างผลประโยชน์ให้กับเราได้ด้วย อันนี้ก็จะไปได้สวยและไวมาก แต่ถ้าบางคนทำบางอย่างที่มีผลประโยชน์ อาจจะไม่ได้รัก ไม่ได้ชอบ แต่ก็อาจจะทำต่อไปได้ อันนี้ก็แล้วแต่คนคิดครับ”
[ บรรเลงถวายมือ ในงานไหว้ครูวิทยาลัยนาฏศิลปลพบุรี เมื่อตอน ม.2 ]
จากความมุ่งมั่นในการพิสูจน์ตัวเองในเส้นทางดนตรีไทย วันนี้สัมฤทธิ์ผลเป็นที่เรียบร้อย โปเต้ กลายเป็นที่ยอมรับจากทุกคน โดยเฉพาะครอบครัว
“ตั้งแต่ยุคโควิดมาก็มีผลกระทบ ตอนนี้กิจการแตรวงที่บ้านก็ไม่ค่อยได้ทำแล้ว ตั้งแต่คุณตาเสียก็ซบเซาลงมาเรื่อยๆ ก็เขาก็เลยแยกย้ายกันไปทำงานอย่างอื่นกันหมด อย่างแม่ผมมาทำเสริมสวยแล้ว จากเป็นนักร้อง
พื้นเพเป็นคนสระบุรีครับ เรียนที่ลพบุรี ทำงานที่ลพบุรีตอนแรก ตอนนี้มาขายของที่ราชบุรี พอกลับไปบ้าน เขาก็บอกว่าเปลี่ยนไปเยอะ ดูโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ก็คือโตเป็นผู้ใหญ่อายุ 32 แล้วเนอะ แต่ว่าสำหรับแม่ๆ ยายๆ เราก็จะเป็นเด็ก เป็นหลานเขาเสมอ เพียงแต่ว่าเราก็จะรู้จักพูด รู้จักแนะนำมากขึ้น ไม่ใช่เอาแต่ใจเหมือนสมัยเด็กๆ
ทุกครั้งที่กลับไปที่บ้าน สมมติเป็นลุง เป็นน้า อยู่กับเพื่อนหรือคนที่ไม่ใช่อยู่ในครอบครัว เขาก็จะแนะนำว่า ‘นี่หลานเอง เล่นระนาดอย่างนี้เลย เก่งมาก ไปเล่นถึงหน้าสมเด็จพระเทพฯ เลยนะ ตอนนี้ไลฟ์สดนะ FC เยอะมากเลย ไปดูสิช่องนี้ๆๆ’
เราก็รู้สึกว่า เขาก็คงภูมิใจในตัวเราบ้างแล้วล่ะ เขาก็จะสนับสนุนกันตรงนี้ ดีใจครับ มันก็แสดงให้เห็นอย่างนึงว่าเราทำสำเร็จ ชนะใจคนได้ ชนะใจคนในครอบครัวได้แล้ว ยอมรับเราแล้ว”
[ สมัยเล่นแตรวง กิจการของที่บ้าน ]
หลังจากชื่อของ ขุนโปเต้ นักรักมือระนาด เป็นที่รู้จักขึ้นมา ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เกิดขึ้น นอกจากโอกาสเรื่องงานที่เข้ามาแล้ว เขาก็ได้เติบโตและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับช่อง TikTok ของตัวเองเช่นกัน
“พอเรามาทำตรงนี้ เราเจอผู้คน เราขายของด้วย พอมาใช้ชีวิตเอง เหมือนเราก็กดดันอะไรหลายๆ อย่าง แต่ว่าเราผ่านมันไปได้โดยการที่เรามีสติ แล้วก็ค่อยๆ แก้ไขปัญหา รู้จักวางแผนชีวิตมากขึ้น
รวมถึงใน TikTok ระนาดด้วย ต้องวางแผนเหมือนกัน ผมมองว่าตอนนี้ผมยังไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมาก คนทั่วไปรู้จักครับ แต่ว่าก็ไม่ได้โด่งดังอะไรมาก เขารู้ว่าเราตีระนาดนะ เราทำช่อง TikTok นะ เจอตามตลาดเข้ามาทัก พี่ขุนโปเต้ หนูดูช่องพี่ด้วย เราก็รู้สึกว่าขอบคุณที่รู้จักเรา และมาชมผลงานเรามาสนับสนุนเรา ขอบคุณมากๆ ขอบคุณทุกคนเลย
จริงๆ ผมดีใจกับตัวเองตลอดเวลา ทุกครั้งที่ทำอะไรก็ตาม ผมจะให้กำลังใจตัวเองเสมอ เล่นดนตรีผมอยู่ในห้องนี้ ผมจะฮีลตัวเองตลอดเวลา ผมจะให้กำลังใจตัวเอง ผมพยายามบอกตัวเองเสมอว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป แล้วเดี๋ยวมันก็จะดีขึ้น พยายามบอกตัวเองแบบนี้
ถ้าสมมติเราทำไปเรื่อยๆ แล้วมันไม่ดีขึ้น เราก็แค่เปลี่ยน เพราะว่าเราจะหวังอะไรใหม่ๆ ในการทำอะไรแบบเดิมๆ ไม่ได้ สมมติ ผมเล่นระนาดแบบนี้ ผมได้มีชีวิตเปลี่ยนแบบนี้ แล้วผมจะหวังชีวิตให้มันโด่งดังกว่านี้ แต่ผมยังทำเหมือนเดิม วันนี้มันก็ต้องมีการพัฒนากันเกิดขึ้น ช่องขุนโปเต้ต้องมีการพัฒนาเกิดขึ้นแน่นอน มันไม่ได้หยุดแค่นี้ครับ
การเปลี่ยนแปลงของผมก็คือเรื่องงานนี่แหละครับ ทุกอย่างทุกสิ่ง การที่เรามีมีชื่อเสียง ทำอะไรมันก็ทำให้เราง่ายขึ้นกว่าเดิมนิดนึง หมายความว่า เวลาเราขายของ คนรู้จักเราก็อยากสนับสนุนเรา อยากจะมารู้จักเรา อยากจะคุยกับเรา
แน่นอนครับ ในภายภาคหน้าผมอาจจะโด่งดังมากกว่านี้ก็ได้ หรืออะไรยังไงเราก็ไม่รู้ ก็อาจจะได้รับโอกาสเข้ามาอีกเยอะ ผมก็รอคอย แล้วก็พยายามทำตัวเองให้พัฒนาขึ้นในทุกๆ วัน นี่คือการเปลี่ยนแปลงจริงๆ”
เปลี่ยนความคิด “ดนตรีไทย” ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว
จากการคลุกคลีอยู่ในแวดวงดนตรีไทยมาเกินครึ่งชีวิต โปเต้ ได้เห็นสิ่งต่างๆ มากมาย หนึ่งในนั้นคือการที่ดนตรีไทย ถูกนำไปโยงกับเรื่องลี้ลับชวนขนลุก เขาจึงใช้โอกาสนี้บอกกับทุกคน ว่าอยากให้โฟกัสที่ความไพเราะของเสียงเพลง มากกว่าตีความไปแบบผิดๆ
“มันจะมีกระแสอยู่พักนึงที่เอาดนตรีไทย เอารำไทยมาเกี่ยวข้องกับผี เกี่ยวกับสิ่งที่มันเป็นความน่ากลัว จริงๆ มันไม่ใช่ความน่ากลัว มันเป็นความสวยงาม มองผิด ตีโจทย์ผิดไปหน่อย อารยธรรมมันคือรากของพวกเรา มันคือความไพเราะ ถ้าเราเปิดใจฟังจริงๆ มันเพราะมากๆ ต่อให้เป็นดนตรีไทยเดิมก็เถอะ
เวลามีงานศพ เขาจ้างดนตรีไทยมาบรรเลงถูกไหมครับ จ้างรำมารำหน้าศพ จุดประสงค์หลัก ดนตรีจ้างมาที่งานศพ เพราะว่าให้ญาติผู้วายชนม์ได้มีความสุข ทีนี้ผู้คนก็จะมองว่าเพลงที่ใช้ในงานศพ เป็นเสียงดนตรีไทย
เป็นความโศกเศร้า เกี่ยวกับคนตาย คนก็จะมองว่าเป็นผี เราเห็นจำภาพจากงานศพ พอมาได้ยินตามโรงเรียนหรือตามที่วัด หรือที่ไหนก็ตามจะรู้สึกว่าเกี่ยวกับคนตายหรือเปล่า ผีหรือเปล่า เป็นความเชื่อที่ผมรู้สึกว่ามันปรับยากนะ
บางทีผมไลฟ์สดอยู่ ไปชนจอ random คนไทยด้วยกัน น้องรู้จักไหมว่าอันนี้คือเครื่องดนตรีอะไร อันนี้ชื่อว่าระนาดเอกนะ น้องเคยฟังไหม ไม่เคยฟัง คิดดู มันน่าน้อยใจนะ
ที่เต้รู้ ‘เปิดทำไมระนาด น่ากลัว ผีหลอก หลอนหมดเลยได้ยินเสียงระนาด ตีระนาดข้างบ้านพี่ไม่กลัวผีเหรอ ข้างบ้านพี่หลอนหมดแล้วมั้ง’ อะไรประมาณนี้ มันเป็นลบๆ หมดเลย ความรู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว ใครที่มาดูเราจะได้คำอธิบายจากเรา”
ในฐานะที่ ขุนโปเต้ ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ประสบความสำเร็จ เพราะได้รับแรงบันดาลจากหนังไทยคุณภาพ เขาก็อยากให้มีสื่อสร้างสรรค์ เพื่อปลุกกระแสความเป็นไทย เหมือนในอดีตอีกครั้ง
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่ในใจผมมานานมาก พูดตรงๆ ภาพยนตร์เรื่องโหมโรงในวันนั้น มันสร้างนักดนตรีที่เก่งๆ ในประเทศไทยตอนนี้เยอะมาก นักดนตรีไทยด้วย หลายๆ ท่านที่เกิดจากโหมโรง ไปทำงานระดับนักดนตรีข้าราชการกันหมดแล้ว
ผมเป็นขุนโปเต้ได้ ก็เพราะโหมโรง สมัยก่อนผมได้ทุนได้อะไร ก็จากโหมโรง เรามีแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่องนี้ เป็นอะไรที่เป็นตำนานมาก แล้วผมก็อยากให้คนไทย สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับดนตรีไทย เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยขึ้นมาอีก
ที่เราไม่ชอบเพราะอะไร เพราะเราเทใจให้กับสิ่งที่เราชอบใหม่แล้วไง พอมาอย่างนี้ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ทาง ไม่เอา ไม่ฟัง ไม่แม้แต่จะมอง ก็มีนะครับ คนเราไม่ได้มาฟังทุกวันหรอก แต่ว่าอย่างน้อยทุกครั้งที่เราได้ยิน ให้เรารู้สึกดีจังเลยที่เรามีระนาด ดีจังเลยที่เรามีดนตรีไทยอยู่ รักมันนะ แต่เราก็ดำเนินชีวิตต่อไป อาจจะดู K-POP อาจจะดูเกาหลีต่อไป
ผมคนนึงชอบเพลงเกาหลีมาก ผมชอบดูซีรีส์เกาหลีมาก ผมชอบดูซีรีส์จีนกำลังภายใน การ์ตูนดูหมด เพียงแต่ว่า พอเราเล่นระนาดหรือได้ยินระนาด เราต้องหยุดแป๊บนึงก่อน เฮ้ย… เจ๋งอะ เพราะนะ แค่เวลานิดเดียว เราก็รู้สึกว่ามันไม่หายไป
แต่ผมว่า ถ้าทำเป็นสื่อออกมาให้คนเข้าใจกันได้ สนับสนุนตรงนี้ ผมว่ามันจะทำให้เยาวชน คนที่ไม่เคยฟังดนตรีไทย หรือคนที่ไม่รู้จักดนตรีไทยในด้านที่มีความไพเราะ ก็อาจจะทำให้ดนตรีไทยมันเฟื่องฟูอีกครั้งได้ เหมือนตอนในยุคที่โหมโรงดัง
ผมก็เลยรู้สึกว่าโหมโรงภาค 2 ควรจะมี หรือไม่ทำเป็นเรื่องอื่นก็ได้ ในยุคผมมันโด่งดังได้ ยุคนี้ก็น่าจะมีเข้ามาอีก โดยการใช้ดารานักแสดง หรือใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่ดังๆ มาร่วมแสดง ผมว่ามันสามารถสร้างกระแสได้ดีมาก มันจะได้ไม่หายไป”
[ อีกบทบาท พ่อค้าแซลมอนดอง ]
ท้ายที่สุดนี้ มือระนาดนักไลฟ์ ก็ฝากถึงเพื่อนพี่น้องในแวดวงดนตรี ที่มองหาโอกาสสร้างรายได้ การไลฟ์บน TikTok ก็เป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจ และฝากถึงทุกคน ให้ลองเปิดใจฟังดนตรีไทยรูปแบบใหม่ ผ่านปลายไม้ระนาดของ “ขุนโปเต้ นักรักมือระนาด”
“อยากให้ทุกคนลองทำในสิ่งที่ตัวเองสนใจ แล้วก็ลองเล่นโซเชียลฯดู มันสามารถสร้างรายได้ ได้ในทุกๆ แพลตฟอร์มเลยนะ ไม่ใช่เพียง TikTok อย่างเดียว ถ้าเราตอบโจทย์ผู้คนได้ เราสามารถให้อะไรกับคน มีความสุข เขาแฮปปี้ เขารู้สึกว่าชื่นชอบในตัวเรา ชื่นชอบในผลงานเรา วันนึงเราก็จะได้ผลประโยชน์จากสิ่งที่เราให้เขาไปนั่นเองนะครับ
ส่วนเรื่องกิจการของขุนโปเต้ เสิร์จไปใน Facebook ว่า ‘มา กิน จิ’ ก็จะเจอร้านที่ขายแซลมอนดอง กุ้งดองซีอิ๊วเกาหลี เป็นสูตรของเต้เอง อยากให้ลอง อร่อยมากๆ แล้วก็ส่งทั่วประเทศไทยด้วย แต่ถ้าใครเจอกันตลาดก็สามารถมาทักทาย มาพูดคุยกัน มาอุดหนุนกันได้ครับ ทำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นร้านแซลมอน ขายสลัดด้วย ตอนนี้เปิดอีกร้านนึงก็จะเป็นยำไก่แซบ
ก็อยากฝากช่อง TikTok ช่อง ‘ขุนโปเต้ นักรักมือระนาด’ แล้วก็ช่อง YouTube แล้วก็ Facebook ก็ ‘ขุนโปเต้ นักรักมือระนาด’ พิมพ์ง่ายๆ เลยครับ TikTok จะไลฟ์สดทุกวัน เวลาไลฟ์สดก็จะอยู่ที่สี่ทุ่มถึงประมาณเที่ยงคืน ยังไงก็แวะเวียนเข้ามารับชมกันได้ มาเพลิดเพลินกับเสียงดนตรีไทยรูปแบบใหม่กับขุนโปเต้ได้ แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบดนตรีไทยเหมือนเดิม”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : Facebook “ขุนโปเต้ นักรักมือระนาด”, “กรอบเกลียว เคี้ยวโปเต้” และภาพยนตร์ “โหมโรง”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **