xs
xsm
sm
md
lg

อักษรเจริญทัศน์ ผู้พลิกโฉมการเรียนแบบ Hybrid Learning สู่การเป็นเบอร์ 1 พร้อมยกระดับสคริปต์การสอนครูทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปลี่ยนห้องเรียนธรรมดา ให้เป็นสนามแห่งการเรียนรู้ เปิดแนวคิดทายาทรุ่นที่ 3 ผู้นำพา “อักษรเจริญทัศน์” ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ผู้นำตลาดสื่อการเรียนการสอน พลิกโฉมการเรียนรู้แบบ “Hybrid Learning” พร้อมติดอาวุธ ช่วยเทรนครู 5 แสนคนทั่วประเทศฟรี ยกระดับทั้งครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมในอนาคต

สร้างห้องเรียนแบบ “Hybrid Learning”

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ต้องยอมรับว่าโลกแห่งการศึกษา มีการปรับเปลี่ยนไปจากอดีตมากมาย ดังนั้น อักษร เอ็ดดูเคชั่นจำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตสื่อการเรียนการสอน หรือที่แวดวงการศึกษาไทยคุ้นเคยในชื่อ “อักษรเจริญทัศน์” หรือ “อจท.”

ภายใต้การนำของทายาทรุ่นที่ 3 อย่าง “ตะวัน เทวอักษร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อักษร เอ็ดดูเคชั่น ที่พร้อมเดินหน้าออกแบบกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning มุ่งให้ผู้เรียนมีทักษะพร้อมสำหรับศตวรรษที่ 21 ด้วยสื่อการเรียนรู้ และนวัตกรรมทางการศึกษา

จากหนุ่มวิศวะ ผู้ผันตัวมาเป็นแบงเกอร์ บอกถึงแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้ต้องหักเหชีวิต เข้ามาสานต่อกิจการของครอบครัว ในฐานะเจเนอเรชั่นที่ 3

เดิมทีไม่อยากเข้ามาสานต่อกิจการของครอบครัว เพราะรู้สึกว่าไม่ได้เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่ในที่สุดก็ก้าวสู่ความท้าท้ายนี้ ด้วยการตั้งเป้าหมายว่า อยากสร้างบริษัทให้มี Impact ต่อสังคม

[ตะวัน เทวอักษร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อักษร เอ็ดดูเคชั่น]

“ผมเรียนวิศวะ แล้วก็ไปทำด้านการเงินมา ผมเป็นที่ปรึกษาทางการเงินอยู่หลายปี จนที่บ้านก็ชวนให้กลับมาทำ ผมก็ไม่อยากมาหรอก เพราะรู้สึกว่าไม่เห็นสนุกเลย มาทำหนังสือเรียน แต่ในที่สุดผมก็ตัดสินใจมา

ผมมีโจทย์ที่ตอนนั้นมาคือ อยากสร้างบริษัทที่มันมี Impact บริษัทที่มันเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยตัวเอง แล้วก็บริษัทที่มันมีความเสถียรด้วยตัวเอง ต้องมีแรงผลักดันส่วนตัว ให้มันหมุนไปได้เองโดยมีพลังทีมงาน ซึ่งอันนั้นเป็นโจทย์สำคัญของผม ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นโจทย์นี้อยู่

ตอนแรกผมก็ไปถามลูกค้าว่า ผมควรจะทำอะไรเพื่อจะสนองเขาได้ดีขึ้น ลูกค้าก็บอกว่าเขาไม่ได้อยากได้แค่หนังสือเรียน เขาอยากได้การเรียนรู้ที่ดีขึ้น อันนี้แหละคือเข็มทิศของเรา เป็นเข็มทิศที่ผมก็มาตั้งองค์กรใหม่ มาจัดทีมใหม่ จากบริษัท Textbook เป็นบริษัท Learning เดิมทีบรรณาธิการ เอาคอนเทนต์มาแปะบนกระดาษ ต้องคิดกระบวนการเรียนรู้ การดีไซน์ใหม่

นอกจากคอนเทนต์จากกระดาษ มันก็ต้องมีคอนเทนต์หลากหลายมากขึ้น ต้องมีสื่ออีกหลากหลายทั้ง Text อินโฟกราฟิก แล้วก็มี Learning Designแล้วก็เอาเทคโนโลยีมาเป็นตัวดัน แล้วก็ยกระดับครู”


ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 17 ปีที่แล้ว อักษรเจริญทัศน์เป็นบริษัทผลิตหนังสือเรียนอย่างเดียว แต่ปัจจุบัน ถือว่าเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและสื่อการเรียนรู้ เพื่อทักษะผู้เรียนแห่งโลกยุคใหม่ ที่กำลังพลิกบทบาทจากการเป็นเพียงบริษัทสร้างเนื้อหา มาสู่ความเป็นบริษัทออกแบบการเรียนรู้ จัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Active Learning ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นเบอร์ 1

“ย้อนกลับไปตอนที่ผมเข้ามาทำงาน เมื่อประมาณ 16-17 ปีที่แล้ว อักษรเจริญทัศน์เป็นบริษัทผลิตหนังสือ แต่ทุกวันนี้กลายเป็น Learning Design คือการมีกระบวนการสอนที่ดี มีเนื้อหาที่ดีทั้งหนังสือและดิจิทัลประกอบกัน ด้วยการเน้นสร้างการเรียนรู้ที่ดีให้แก่นักเรียน

ทำแฟลตฟอร์มครู เป็นไกด์ให้ครูนำเสนอ แล้วก็มีดิจิทัลมีเดียต่างๆ มีอุปกรณ์เสริม นักเรียนที่จะทำแล็บ ห้องเรียนส่วนมากไม่มีตังค์ซื้อ เราก็ทำแล็บนี้ขึ้นมา เพื่อให้นักเรียนด้อยโอกาส นักเรียนทั่วประเทศได้ทดลองทำแล็บ หรือของบางอย่างที่คุณไม่มีโอกาสทำอย่างเช่น คุณมีโอกาสเอาหินไปชั่งบนดวงจันทร์ไหม ไม่มี อันนี้ทำขึ้นมาเพื่อที่จะไปชั่งบนดวงจันทร์ได้ แล้วทุกอย่างใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เป๊ะๆ

เมื่อก่อนเรียนภูมิศาสตร์ยากมาก ผมยกตัวอย่างห้องเรียนธรรมดาๆ ที่อยุธยา สิ่งที่เราทำคือเราออกแบบการเรียนรู้ แล้วไปคุยให้ครูเอาสิ่งนี้ไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียน เช่น คุณครูถามเด็กว่าถ้าพวกเราต้องไปถึงลอนดอน 6 โมงเช้า เราต้องออกจากสุวรรณภูมิกี่โมง

โจทย์นี้ยากนะ เพราะอย่างแรกเด็กต้องหาว่าลอนดอนห่างกี่กิโล เครื่องบินกี่กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลอนดอนอยู่ช้ากว่ากรุงเทพฯ กี่ชั่วโมง เด็กจะได้ความรู้ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เยอะแยะไปหมดเลย แล้วเด็กยังได้ทำงานร่วมกัน หาคำตอบร่วมกัน นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่เราพยายามสร้าง

อันนี้คือรากฐานของความเป็นเราในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้มันก็หลอมรวมเป็นทั้งเปเปอร์และดิจิทัล มันเป็น Hybrid Learning Model ซึ่งสร้างขึ้นมาในเชิงกระบวนการคิด ว่าเราเปลี่ยนยังไง”




เป้าหมาย คือขายระบบการเรียนรู้

หัวใจสำคัญ ที่ซีอีโอของอักษร บอกไว้ก็คือ เป้าหมายสำคัญ ไม่ใช่การขายหนังสือเป็นเล่มๆ แต่เป็นการขายการเรียนรู้ทั้งระบบ เพื่อให้ความรู้ที่เกิดขึ้นสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตได้อย่างแท้จริง และก่อให้เกิดทักษะแห่งโลกอนาคตที่จะพร้อมผลักดันประเทศไทยให้พัฒนาและส่งเสริมโลกแห่งการเรียนรู้ให้เกิดอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

“ในการที่เรา develop สินค้า มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ พอออกแบบเสร็จ แล้วก็ไปทำสื่อ ก็จะเป็นสื่อปริ้นท์ สื่อดิจิทัล อีกฝั่งนึงก็จะเอากระบวนการเรียนรู้นี้ไปดีไซน์ ไปเป็นการอบรมครู เพราะฉะนั้นมันเป็นไปตามระบบนิเวศ

ก็มีตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยม วิชาก็แบ่งตั้งแต่ไทย คณิต วิทย์ สุขศึกษา ศิลปะ การงาน อังกฤษ จีน แต่ในแต่ละช่องมันก็จะประกอบไปด้วยสินค้าเป็นระบบของมัน

ในเชิงการบริหารธุรกิจ ในประเทศไทยเงินยังมาจากการซื้อหนังสือเรียนอยู่ แต่เราไม่ได้ขายหนังสือเรียนนะ เราขายระบบ แต่เงินมันก็อยู่ที่หนังสือเรียน แต่ถ้าเงินมันไปตรงไหน เราก็อยู่ตรงนั้นแหละ คือเราขายทั้งระบบ ทุกวันนี้เราก็ซัพพลายดิจิทัลมีเดีย Teacher Training ต่างๆ เราไม่ได้ขายเป็นเล่มๆ แต่ว่าเราขายทั้งระบบ

ระบบเรามันแปลว่า Learning Design คือแผนการสอน คู่มือครู คอนเทนต์ที่ไม่ว่าอยู่บนกระดาษ หรืออยู่บนหน้าจอ ครูที่เราอบรมให้เขามองเห็นภาพการสอนแบบใหม่ ระบบการเรียนการสอน มันถูกดีไซน์มาตั้งแต่เริ่มต้น ขายระบบการเรียนรู้ ซึ่งในนั้นประกอบด้วย Learning Design ประกอบด้วยคอนเทนต์ ด้วยกันยกระดับครู”


สิ่งสำคัญที่ทำให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน หัวเรือใหญ่ของอักษรก็บอกอีกว่า คือการสร้างความฝันร่วมกัน ทั้งคนในองค์กร และคนในสังคม แม้จะยากหน่อย แต่ก็ต้องทำ เพื่ออนาคตการศึกษาไทย

“การเปลี่ยนแปลงองค์กรให้มันมีความพร้อม สำหรับ version ใหม่ จุดเริ่มต้นคือทำให้เป้าหมายขององค์กร กับเป้าหมายของสังคมมันเป็นเป้าหมายเดียวกัน เป้าหมายของสังคมคือเขาอยากได้การเรียนรู้ที่ดี เตรียมนักเรียนให้พร้อมสำหรับศตวรรษยุคใหม่ เราก็ต้องทำให้เราเอื้อของเป้าหมายกับสังคม

เราต้องทำให้ทุกภาคส่วนเห็นภาพเดียวกัน ไม่ว่าผู้ถือหุ้น ไม่ว่าผู้บริหาร ไม่ว่าคนที่ไปอยู่แถวหน้า ที่ไปปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ตลอดจนพาร์ทเนอร์ของเรา ที่ทำงานร่วมกับเราทั่วประเทศ ร้านค้าขายเครื่องเขียน ขายหนังสือเรียนตามท้องถิ่น ให้เขาเห็นภาพเดียวกัน เราก็เปลี่ยนแปลงทั้งหมดในเวลาเดียวกัน

เป้าหมายคือ ผมสร้างความฝันร่วมกัน องค์กรเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างความแตกต่างให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนต่อสังคม ก็คือเราต้องทำให้ทุกคนมองเห็นภาพเดียวกัน

ผมก็ชวนถกแถลงกับคณะผู้บริหารเยอะมาก พาคณะผู้บริหารไปเยี่ยมที่โรงเรียน ไปเข้าใจครู แล้วก็สร้างให้เขาเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญต้องสร้างเดี๋ยวนี้นะ เพราะว่าประเทศต้องการ แล้วเราก็ต้องการ ทำเยอะมากสัมมนาผู้บริหารให้มองเห็นภาพของอนาคต มีการระดมสมองเยอะแยะไปหมด เราทำอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดามากเลย ในกระบวนการพัฒนา product ของเรา”


กระตุกต่อมคิด ด้วยการตั้งคำถาม “Why & How”

สร้างระบบการสอนที่ดีให้ครู เพื่อกระตุกต่อมคิดให้ผู้เรียน เปลี่ยนจากการเป็น textbook มาเป็น learning design ด้วยการให้ฝึกจินตนาการตั้งคำถาม “Why & How”

เพราะอักษร ได้ตระหนักและเล็งเห็นการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน จากการส่งเสริมให้ผู้เรียนสร้างสรรค์ความรู้และเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ผ่านการคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอน

“เราเป็นคนออกแบบ แล้วก็ให้ครูธรรมดาสอน แล้วก็ใช้ดิจิทัลเสริมแทรกเข้าไปอยู่ในมุมต่างๆ ของกระบวนการเรียนรู้ เราก็ทำอย่างนี้ทั่วประเทศ สังเกตห้องเรียนต่างๆ ว่ามันมี Impact จริงๆ หรือเปล่า มันเกิดโมเมนต์อย่างนี้จริงๆ ในห้องไหม ซึ่งมันก็เปลี่ยนนะ

คุณครูขอให้นักเรียนตั้งประเด็นคำถาม What, Where, When, Who น้อยลง ตั้ง Why และ How มากๆ นั่งมันทำให้เราต้องคิด และเป็นคำตอบที่คุณต้องจินตนาการขึ้นมา

แล้วคอนเทนต์เราเปลี่ยนยังไง จากเดิมที่หนังสือเรียนที่เป็น text มากๆ เราก็เปลี่ยนแปลงคอนเทนต์เป็นสมัยใหม่มากขึ้น คือเด็กเดี๋ยวนี้อ่านน้อยลง ต้องมองแล้วจับประเด็นได้ เช่น อินโฟกราฟิกเราก็เป็นคนเริ่มนะเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เอาอินโฟกราฟิกมาใช้เยอะมากเลยในกระบวนการเรียนการสอน

มันไม่ใช่แค่สวยนะ มันมีความลึกซึ้งของความคิด ยกตัวอย่างอันนี้มันเป็นเรื่องของเอาคณิตศาสตร์ให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เมื่อก่อนเราคิดอย่างนี้ เอา 10,000 - 3,500 = ช่องว่าง ซึ่งมันเป็นนามธรรมจับต้องยาก แต่เราทำให้จับต้องได้ เช่น 3,500 + ช่องว่าง = 10,000

อย่างนี้เขาเรียกว่ากระบวนการคณิตศาสตร์แบบ CPA (Concrete Pictorial Abstract) คือก่อนที่มันจะเป็นนามธรรม เราต้องทำให้มันจับต้องได้ ซึ่งเราเป็นคนแรกที่ทำให้เกิดกระบวนการความคิดแบบนี้ ในการเรียนคณิตศาสตร์ ซึ่งคุณครูเขาชอบมากเลย

นอกจากนั้นเรายังเอาดิจิทัลมาเป็นตัวเสริม เช่นจุดนี้มันทำให้เกิดสึนามิยังไง เปลือกโลกมันแตก มันก็เลยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ใต้น้ำ พอมันแตกมันก็เลยเกิดสึนามิที่ภูเก็ตก่อนหน้านี้”




ฟรี!! ช่วยเทรนครู 5 แสนคนทั่วประเทศ

นอกจากนั้น ยังมีการทำ Teacher Academy ด้วยการชวนครูทุกสังกัดทั่วประเทศ มาเทรนให้ฟรี ด้วยการสร้างแผนการเรียนรู้ เพื่อให้ครูเห็นภาพกระบวนการสอนของโลกแบบใหม่ ให้ครูได้มาลงมือทำจริง แล้วโค้ชจนครูสามารถรันห้องเรียน โดยมุ่งเน้นไปที่ การสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นได้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง และปฏิสัมพันธ์กัน ด้วยวิธีการเรียนการสอนที่หลากหลาย

“ครูทั้งหมดมี 5 แสนคน เราก็อบรมไปเรื่อยๆ ปีละแสนคน แต่ก็มีคนมาซ้ำนะ เพราะไม่ได้แปลว่าเขาลงเทรนกับเราหนึ่งวัน แล้วเขาจะไปได้ มันก็ต้องค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ ทำ Teacher Academy เทรนครูทั้งออนไลน์และออฟไลน์

เราให้เขามาเจอกระบวนการ ได้ลงมือทำ ได้ออกความคิดด้วยกัน ได้ลงมือปฏิสัมพันธ์แก้ปัญหาด้วยกัน พอเขาได้เห็นกระบวนการนี้ เขาจะรู้ว่า Active Learning มันดีอย่างนี้นี่เอง ฉันก็ควรจะเอาความ Active Learning นี้ ไปประยุกต์ใช้กับลูกศิษย์ของฉัน

เราจัดอีเวนต์ประมาณ 5-7 ครั้งต่อสัปดาห์ เฉลี่ยวันละ 300 คน และเราก็จัด workshop แบบนี้เป็นประจำ เราสนุกมาก ครูไม่เลิกนักเรียนก็ไม่ยอมเลิก นอกจาก Onsite เราก็ยังทำ Online ด้วย เพื่อเป็นแพลตฟอร์มช่วยให้ครูมารีวิวมาทบทวน แล้วก็เอาไปต่อยอดของตัวเอง


เราแจกคู่มือครูหลาย 1 ล้านเล่มต่อปี ตรงกลางจะเป็นเนื้อหาสำหรับเด็ก ข้างๆ คือส่วนของครู อยู่บนกระดาษ เช่นสีส้มฉันเป็นครู ฉันอธิบายความรู้ สีน้ำเงินฉันขยายความเข้าใจไปยังเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สีม่วงทำประเด็นที่สำคัญ เพื่อให้นักเรียนเข้าใจว่า เขาเข้าใจประเด็นสำคัญหรือเปล่า ก็สนุกสนาน

ครูนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน การถกแถลงมีการพูดคุยกันมากขึ้น มีการตั้งประเด็น ตั้งคำถาม อันนี้คือความฝันของเรา ความฝันของประเทศที่อยากให้ห้องเรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน

สิ่งที่ทำมันมี Impact ผมไปเยี่ยมโรงเรียนนึง จ.กระบี่ คุณครูก็บอกว่าฉันไม่ได้จบวิทย์มานะ แต่ฉันสอนวิทย์ได้ เราก็บอกเก่งจังเลยครับ ทำยังไงครับ คู่มือของอักษรนี่ไง ทำให้สอนวิทย์ได้ ในนั้นมีลายมือผู้เขียนเต็มเลย ชื่นใจจัง

อีกหนึ่งโรงเรียน จ.ตรัง โรงเรียนเขาก็บอกว่าฉันก็ได้รับรางวัลระดับประเทศ จากนายกฯ จากกิจกรรมทำยาสีฟันจากสมุนไพรใกล้ตัว อันนี้มันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เราออกแบบให้นี่นา เราก็ดีใจแล้วว่า สิ่งที่เราออกแบบ โรงเรียนบ้านๆ เขาไปทำแล้วมันเกิด Impact จริงๆ”


ระบบการศึกษาที่ดี อยู่ที่สคริปต์การสอน

ระบบการสอนที่ดี ที่ไทยควรมี ในฐานะที่ไปศึกษาดูงานมาแล้วทั่วโลก ซีอีโอของอักษรก็มองว่า อยู่ที่สคริปต์การสอนของครู ซึ่งเป็นเรื่องที่เมืองไทยยังขาดอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าครูไทยไม่อยากเดินหน้า

“ครูไทยเขาอยากเดินนะ มีความตั้งใจดี แต่ว่า How พอเกิด How มันก็เลยเกิดไม่ได้ง่าย ผมว่าอันนี้เป็นรากฐานของการปรับปรุงการศึกษาไทย ผมไปทำ Study เรื่องการศึกษาเยอะมากเลย

มีสคริปต์การสอนให้ครู ครูอยู่บนดอยหรือที่ไหนก็ทำได้ แต่ต้องอบรมครูเพื่อให้เขามีความรู้มากขึ้นเยอะนะ ยกตัวอย่างเช่นคำถาม Why & How เป็นคำถามที่ตั้งยากนะ เมื่อก่อนเขาตั้งคำถามแต่ What, Where, When, Who น้อยลง แต่ Why & How ตั้งยังไง ในหนังสือก็ไม่รู้ว่าจะทำยังไง

ยกตัวอย่าง สมมติเรียนวิชาประวัติศาสตร์ กรุงรัตนโกสินทร์สถาปนาปีอะไร ตอบ 2325 จบแล้วไง แต่ถ้าถามว่า ทำไมเราถึงย้ายจะฟังกรุงธน ฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา ย้ายมาฝั่งรัตนโกสินทร์ ฝั่งตะวันออกแม่น้ำเจ้าพระยา ยากขึ้นเยอะนะคำตอบนี้ มันไม่ได้หาง่ายๆ มันต้องคิด คำถาม Why & How นี่เป็นคำถามสำคัญ

เราก็ทำสื่อเพื่อสนองการเรียนรู้นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่เป็น Text อยู่บนกระดาษ หรือสื่อนั้นที่มันควรที่จะอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ก็จะเป็นการออกแบบในจังหวะที่เหมาะสมว่า ในกระบวนการนี้นักเรียนต้องประสบอะไรบ้าง ต้องประสบกับคำถามนี้ นักเรียนก็ต้องไปขวนขวายหาคำตอบด้วยวิธีนี้ เขาต้องเจอการขยายความจากสื่อดิจิทัลนี้ เราก็ดีไซน์ไปเรื่อยๆ ก็ออกมาเป็นสื่อดิจิทัลหลากหลาย

ก็ได้ความลึกซึ้งเพิ่มเติม ถามว่าดูบนกระดาษมันไม่ครบไหมมันก็ครบ แต่ว่ามันอาจจะลึกซึ้งน้อยกว่าด้วยภาพเคลื่อนไหว อย่างเช่นเรื่องสึนามิ ถ้าคุณเห็นวิดีโอมันก็จะลึกซึ้งมากกว่า

สมมติคุณเรียนหนังสือเสร็จ ครูจะตั้งคำถามให้นักเรียนยกมือตอบ มันก็ทำได้นะ แต่อย่างนี้มันยิ่งลื่นขึ้น นักเรียนสแกนคิวอาร์แล้วโหวตบนกระดาน ขึ้นคำตอบมามันก็สนุกมากกว่า ดีกว่าเราไปนั่งฟังเฉยๆ มันก็ทำให้การดึงนักเรียนในห้องเรียนมันสูงขึ้นเยอะ แล้วนักเรียนก็ขยันที่จะตอบนะอย่างนี้ นักเรียนชอบมากเลย”


ซึ่งสคริปต์การเรียนการสอนที่ว่านี้ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเป็นรูปแบบดิจิทัลอย่างเดียว อักษรในฐานะผู้ออกแบบสื่อการเรียนการสอน ก็มองว่า ทั้งหมดมันเป็นเรื่องของความเหมาะสม ในการที่จะเอาสื่อต่างๆ มาแทรกในจังหวะที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบกระดาษ หรือดิจิทัล เพราะบางอย่างก็เหมาะกับการที่จะอยู่บนหนังสือ บางอย่างก็เหมาะอยู่บนจอ

“เราคิดว่าห้องเรียนที่ดี ไม่ใช่นักเรียนมานั่งเรียนกับจอนะ ครูต้องเป็นผู้อำนวยการ ให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์ ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ แต่ว่าสำคัญที่สุดคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ครูกับนักเรียน นักเรียนกับนักเรียนถกกัน ตั้งคำถามกัน ท้าทายกันในเชิงตั้งคำถาม มันก็ตอบโจทย์นะ ยอดขายเราก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ทำมา 15 ปีแล้ว ดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่ง ผมว่าการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง จะเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ จากเดิมห้องเรียนครูยืนพูดให้ฟัง แต่เป็นห้องเรียนที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนมากขึ้น ครูถามคำถาม Why & How มากขึ้น ครูพูดน้อยหน่อย นักเรียนพูดเยอะมากขึ้น นี่คือการเปลี่ยนแปลงจริงๆ ดิจิทัลเป็นแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการ”

สคริปต์ หรือคู่มือการเรียนการสอน ที่อักษรทำขึ้นมานั้น หวังเพียงอยากทำให้ครูทั่วประเทศจุดประกาย ให้ห้องเรียนมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนมากขึ้นเท่านั้น

“คู่มือครูที่เราทำ เราไม่อยากให้เขาลอกนะ แต่เราอยากจุดประกาย ลองทำอย่างนี้ดูสิ สมมติหัวข้อที่หนึ่งเขาทำได้ หัวข้อที่ 2 ลองทำเองดู ดังนั้น pain point คือเรื่องหลักสูตรและเรื่องครู”




ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ยอดขายโตขึ้น 3 เท่า

แม้ตลาดการศึกษา จะไม่ได้โตขึ้นอย่างหวือหวามาก ความสำเร็จที่ไม่เคยหยุดพัฒนาของอักษร ทำให้สามารถนำพาองค์กร จากเมื่อก่อนที่อยู่เบอร์ 3 ของตลาด ตอนนี้สามารถผงาดขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 เรียกได้ว่าโตขึ้นถึง 3 เท่าเลยทีเดียว

“เราใหญ่ขึ้นเยอะ สมัยก่อนเมื่อสัก 16-17 ปีที่แล้ว เราก็เป็นเบอร์ 3 แต่พอเราเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง สร้างความไม่เหมือนใคร แล้วก็ค่อยๆ ไต่ Market Share ขึ้นมาเรื่อยๆ

คนที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเขาก็ค่อยๆ หดลง Innovation ต่างๆ มันก็เกิดขึ้น มันทำให้ Market Share เราเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเรามี Innovation ต่างๆ เราลงทุนในด้านดิจิทัล คนอื่นเขาเห็นเขาก็ไม่ลงทุนตามนะ เขาก็ไม่รอดแล้ว เขาเห็นตัวอย่างที่ดี แล้วลูกค้าก็เลือก แต่ว่าเขาก็ทำไม่ได้

ยอดขายเพิ่มขึ้นเยอะ กำไรมันเพิ่มขึ้นเยอะ ยอดขายเราอยู่ที่ประมาณ 2 พันกว่าล้านบาทครับ เมื่อก่อนอยู่หลักร้อย ยอดขายโต 3 เท่า Market Share ประมาณ 40 กว่า% ตลาดหนังสือเรียนประมาณ 7 พันล้านบาท แต่เราไม่ได้อยู่ในหนังสือเรียนอย่างเดียว ตลาดอื่นๆ มันมองไม่ออกขนาดนั้น เพราะมันมีความกระจัดกระจาย

แต่ว่าเราก็พยายามสร้างตัวให้คนอื่นแข่งไม่ได้ ผมเดินทางเยอะมากไปทั่วโลก ไปนั่งในห้องเรียนตามที่ต่างๆ ผมก็ไปดู version ของอนาคต ผมไปนั่งอยู่ในห้องเรียนญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ เยอรมันนี อังกฤษ ผมไปนั่งหมด แล้วผมจะได้รู้ว่า วิถีอนาคตของประเทศไทยคือตรงไหน แล้วทั้งหมดไม่ใช่ว่าเรายกมาแล้วตั้งได้เลย เราต้องค่อยๆ เลือกเป็นชิ้นๆ มาตั้ง”

[ศึกษาดูงานจากห้องเรียนทั่วโลก นำมาปรับใช้ในการศึกษาไทย]


ส่วนปัจจัยที่ทำให้อักษร ครองความเป็นมือ 1 ของสื่อการเรียนการสอน หัวเรือใหญ่ของบริษัทก็บอกเอาว่า การไม่หยุดที่จะพัฒนา และไม่หยุดที่จะวิวัฒนาการตามโลก นั่นคือรากฐานของความสำเร็จ ที่ยังครองตลาดอยู่ได้

“ผมว่าเราวิวัฒน์ตามโลก นั่นคือรากฐานของเรื่องเลย คนที่ไม่เคยวิวัฒน์ก็ตกไป เมื่อก่อนเคยใหญ่โต เดี๋ยวนี้มันก็กลายเป็นเล็กนิดเดียว เพราะว่าตกยุค ตกโลก

เพื่อที่จะวิวัฒน์ให้ทัน ผมในฐานะคนนำองค์กร ต้องเอาตาไปเปิดตลอดเวลา ผมเดินทางตลอดเวลานะ ปีนึงผมขึ้นเครื่องบิน 40 กว่าครั้ง ผมไปที่คนที่มองอนาคตเขาไปดูกัน แล้วก็ไปถกกันเรื่องอนาคตว่า แล้วผมก็ไปเลือกเอาชิ้นโน่นชิ้นนี้ มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย”

อีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้อักษรอยู่มาได้ยาวนานกว่า 90 ปี และถูกส่งต่อธุรกิจมายังรุ่นสู่รุ่นได้ ผู้นำองค์กรก็บอกอีกว่า คือการให้ความสำคัญกับพนักงานในองค์กร ทำให้ปัจจุบันมีพนักงานเพิ่มขึ้น 50% เทียบกับรุ่นก่อน

“พนักงานเรามีทั้งหมดรวมโรงงาน รวมโกดังแล้วมี 1,200 คน ถ้าเอาเฉพาะตัดโรงงานโกดังออก ก็ประมาณ 600 คน เกี่ยวกับคอนเทนต์ 200 คน เกี่ยวข้องกับการขายประมาณ 200 คน แล้วก็คนที่ดูแลงานซัพพอร์ตต่างๆ ทั้งหมดอีกประมาณ 200 คน
คนของอักษรเราให้ความสำคัญมากๆ เลย เพราะของเราจะดี ก็คือคนของเราต้องเก่ง เราลงทุนเรื่องคน สร้างคนของเราให้เก่งขึ้นเยอะมาก เราให้ priority ที่สุด

ผมบอกพนักงานผมนะครับ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ผมอยากผลักดันให้คุณเป็นคนที่ทำงานนั้นเก่งที่สุดในโลก ถ้าคุณเป็นบรรณาธิการวิชาประวัติศาสตร์ คุณก็ต้องเป็น expert ที่เก่งที่สุดในโลก ทำให้ทุกคนต้องมาหาคุณในหัวข้อนี้

ถ้าคุณเป็นบรรณาธิการทำดิจิทัลคอนเทนต์วิชาคณิตศาสตร์ คุณต้องเก่งเรื่องนี้ที่สุด มีความรู้เยอะที่สุดในการที่คนทั้งโลกต้องมาหาคุณ ต้องรู้จักห้องเรียนไทย รู้จักบริบทครูไทย รู้จักนักเรียนไทย รู้จักสิ่งแวดล้อมของเรา คุณต้องเก่งที่สุด เราเทรนพนักงานเยอะมากเพื่อให้เขาเก่ง”


ท้ายนี้ สิ่งสำคัญในฐานะผู้อยู่ในแวดวงการศึกษา ก็อยากฝากไปถึงระบบการศึกษาไทยว่า การสร้างทักษะนักเรียน ให้เหมาะสมกับโลกยุคปัจจุบัน ถือเป็นโจทก์สำคัญที่ควรทำ และก็ไม่มีโมเดลไหนที่ดีที่สุด แต่ต้องรู้จักประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม

“มันไม่มีประเทศไหนที่เป็นโมเดลเป๊ะๆ ให้ลอก มันเป็นโมเดลที่ต้องประยุกต์ใช้ เราไม่ได้บอกว่าทุกอย่างต้องเป็นดิจิทัลหมด บางจังหวะมันก็เหมาะ บางจังหวะมันก็ไม่เหมาะ บางจังหวะต้องดู แต่บางจังหวะต้องทำ บางจังหวะฉันเขียนบนกระดาษดีกว่า บางจังหวะฉันอ่านบนกระดาษดีกว่า บางมันจังหวะฉันทำบนหน้าจอ ผมว่ามันไม่ใช่ว่าโลกของดิจิทัล มันคือโลกของความHybridมากกว่า

โลกสมัยใหม่เด็กมันขี้เกียจอ่าน เราก็ต้องทำให้โลกหนังสือเรียนมันเหมาะกับเด็กยุคใหม่ บางจังหวะดูกราฟิกก็ต้องเข้าใจเลย บางจังหวะต้องตั้งประเด็นให้เขาไปคิด ไปถกแถลงกัน เด็กยุคใหม่ให้มานั่งอ่าน 3 หน้าเขาไม่อ่านหรอก

ไม่ใช่ว่าเราไปเห็นฟินแลนด์แล้วเราลอกมาได้นะ เราไปเห็นเราเลือกมาชิ้นนึง เราไปดูญี่ปุ่นเราเลือกมาชิ้นนึง เอาทั้งหมดนี้มาประกอบร่างใหม่ในบริบทไทย มันต้องจินตนาการใหม่อีก

เทียบในระดับโลกเราก็ไม่ได้เลิศเลอ แต่เราก็ไม่ได้ห่วยแตกซะจนขนาดนั้น เราอยู่กลางๆ แต่เราต้องทำให้ดีขึ้นไหม เราต้องทำ เราต้องปรับปรุง

เราหวังว่าเราจะทำหน้าที่ของเราครบ ผมบอกลูกน้องผมนะว่า ถ้าสังคมมันไม่ดีขึ้น ก็แปลว่าเราจะไม่มีที่ยืน เราในฐานะประชากร ไม่ว่าคนหรือองค์กร ถ้าเราทำให้สังคมดีขึ้น สังคมก็ต้องการให้เราอยู่ บริษัทก็ต้องอยู่ เราในฐานะบุคคล เราก็มีที่ยืนในสังคม ถ้าเราทำให้สังคมไม่ได้ดีขึ้น หรือทำให้แย่ลง เราก็หนักแผ่นดินใช่ไหม”

.


** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น