xs
xsm
sm
md
lg

“โชเฟอร์หื่น” แฝงตัวรับงาน!! แอปฯ ลอยตัว ไม่คัดกรอง “ประวัติคุกคาม” ไหน..ความปลอดภัย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หละหลวม” ดูแค่ “บัตรประชาชน-ใบขับขี่” แต่ไม่เช็ก “ประวัติอาชญากรรมเชิงลึก” ช่องโหว่ของระบบคัดคน ที่ทำให้เกิดเคส “โชเฟอร์หื่น” วงในบอก แพลตฟอร์มลอยตัว ไร้มาตรการป้องกัน-เยียวยา

** หละหลวม!! แทบไม่ตรวจอะไรเลย **

อุทาหรณ์เตือนใจว่า ไม่มีที่ไหนปลอดภัย เมื่อพี่สาวแชร์คลิปน้องสาว “เรียกรถจากแอปฯ ดัง” กลับบ้าน แต่ดันเจอ “โชเฟอร์หื่น” หันมาลวนลามกันกลางวันแสกๆ “จับขา”ก่อนจะดึงมือไป “ดม”ไล่จากข้อมือมาแขน

และเมื่อเรื่องถูกแชร์ลงโซเชียลฯ ก็มีการตามล่า จนทราบตัวจริงของโชเฟอร์หื่นรายนี้ ซึ่งก็เหมือนจะรู้ตัวว่าไม่รอด จึงโทรฯ มา “ขอโทษ” เหยื่อ “บีบน้ำตา” บอกตัวเองมีลูกน้อยต้องดูแล แต่ดูท่าแล้วจะไม่รอดกฎหมาย

ประเด็นสำคัญคือ การที่ลูกค้ายอมจ่าย เพื่อใช้บริการเรียกรถรับ-ส่ง จากแอปฯ ต่างๆ นอกจากความสบาย อีกสิ่งที่หวังคือ “ความปลอดภัย” แต่เมื่อเหตุแบบนี้ขึ้น คำถามสำคัญคือ ทำไมแอปฯ ถึงปล่อยให้มีโชเฟอร์หื่นแบบนี้ได้?



สะท้อนปัญหาของ “ระบบคัดกรองคน” ที่เข้ามาสมัครของแอปฯ ต่างๆ ที่หละหลวม “เรย์” อนุกูล ราชกุณา ผู้ประสานงานเครือข่ายสหภาพไรเดอร์ และแอดมินเพจสหภาพไรเดอร์ สะท้อนช่องโหว่นี้ให้ทีมข่าวฟัง

เบื้องหลังการสมัครไรเดอร์ของแอปฯ ต่างๆ ไม่ได้ดูอะไรมาก นอกจากข้อมูลพื้นฐาน อย่าง “บัตรประชาชน” “ใบขับขี่” “เล่มจดทะเบียนรถ” และถ้าเป็นบริการรถรับจ้างผ่านแอปฯ ก็ต้องมี “ใบขับขี่สาธารณะ” เพิ่มขึ้นมาแค่นั้น

แต่ไม่ได้ตรวจถึง “พฤติกรรม” ผู้สมัคร ว่า เคยมีประวัติก่อความรุนแรง หรือคุกคามทางเพศหรือเปล่า? ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าจะเช็กก็สามารถไปขอดู “ประวัติการแจ้งความ” เรื่องพวกนี้กับตำรวจได้

“ในการรับสมัครไรเดอร์เข้ามามันไม่ได้มีการตรวจอะไรเลย อาจจะมีบางค่ายที่ตรวจประวัติอาชญากรนะครับ ตรวจว่าผ่านการติดคุกมาไหม มีใบบริสุทธิ์ไหม อะไรแบบนี้”



ส่วนมากถ้าดู ก็จะดูแค่ “เคยติดคุกหรือเปล่า” และเมื่อพ้นโทษ ได้รับใบบริสุทธิ์มาแล้ว บางแพลตฟอร์มก็เปิดโอกาส ให้มาสมัครได้ ซึ่ง “เรย์” ก็บอกอีกมุมว่า คนที่เคยทำผิด ไม่ได้แปลว่า เขาจะทำผิดซ้ำ บางคนก็กลับตัวได้

แต่คือปัญหาแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ได้มี “ระบบติดตามและประเมินผล”พฤติกรรมของเหล่าไรเดอร์ว่า มีพฤติกรรมยังไง ควรจะให้ทำงานต่อหรือไม่

อีกสิ่งที่สะท้อนว่า “ระบบตรวจสอบ” มันมีปัญหาจริงๆ คือ หลายแอปฯ ยังมีการสวมรอยวิ่ง โดยใช้ไอดีของไรเดอร์คนอื่น มาวิ่งรับงาน คำถามคือ ไรเดอร์พวกนี้ผ่านการตรวจสอบ ที่ต้องยืนยันใบหน้ามาได้ยังไง

ประเด็นต่อมาคือ “ความรับผิดชอบ หลังเกิดเหตุ”ตัวแทนสหภาพไรเดอร์รายนี้บอกว่า ส่วนมากเวลาเกิดเรื่องแบบนี้ แอปฯ จะปล่อยให้เป็นเรื่องระหว่าง “ลูกค้า”กับ “ไรเดอร์”ไปฟ้องร้องกันเอง

“ถ้าเกิดเหตุปุ๊บ ก็ไปแจ้งความเองอะไรเองแบบนี้อะครับ เว้นแต่ว่ามันเป็นข่าวดังจริงๆ ที่บริษัทแพลตฟอร์มจะมาแอ็คชั่น ทำอะไรบางอย่าง”



                                            {“เรย์-อนุกูล” ตัวแทน “สหภาพไรเดอร์”}

ส่วนมากที่ทำก็แค่ “แบน” ไรเดอร์คนนั้นแบบถาวร แต่ก็อย่างที่บอก การสมัคร “ไม่ได้มีการตรวจสอบประวัติ” อย่างละเอียด และแอปฯ แต่ละตัว ก็ไม่ได้ส่งต่อข้อมูลให้กัน เลยกลายเป็นว่า โดนแบนแอปฯ นี้ ก็ไปสมัครอีกแอปฯ นึงแทน

“การแบน” หรือ “เลิกจ้าง” อย่างเดียว จึงถือได้ว่าเป็นการปัดสวะให้พ้นตัว เพราะเมื่อโดนเลิกจ้างไปแล้ว ก็แปลว่าไม่ได้ทำงานให้ “บริษัท” จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปจ่ายค่าเสียหาย หรือเยียวยาเหยื่อแต่อย่างใด สุดท้ายก็ปล่อยให้ไปฟ้องร้องกันเอง



** “แพลตฟอร์มลอยตัว” ไม่รับผิดชอบเคสคุกคาม **

อีกมุมที่น่าสนใจ จากปากตัวแทนสหภาพไรเดอร์คือ แม้แต่ตัวคนขับเอง ก็เป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศจากลูกค้าเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นไรเดอร์หญิงหรือชาย ส่วนมากที่ถูกลวนลามก็คือ ไรเดอร์ที่เป็น “วินมอเตอร์ไซค์” บางเคสถึงขั้นมาขอซื้อบริการก็มี

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเคสที่เกิดขึ้นบ่อย แต่พอเหล่าไรเดอร์แจ้งกลับไปทางแอปฯ กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ไม่มีการแบนลูกค้าที่คุกคามทางเพศ ไม่มีการเยียวยาไรเดอร์ผู้เสียหาย

“เนี่ย..มันก็เป็นคำถามต่อบริษัทแพลตฟอร์มครับว่า เขามีมาตรการที่มันรัดกุม ในการคุ้มครองทั้งผู้บริโภค ทั้งไรเดอร์ ได้ดีขนาดไหน”

ส่วนนึงที่ทำให้ปัญหาการลวนลาม คุกคามทางเพศ เกิดขึ้นกับทั้งลูกค้าและไรเดอร์ ก็เป็นเพราะเจ้าของแพลตฟอร์ม ตีมึนลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ไม่ยอมออกมาตรการจัดการที่ชัดเจน



เกี่ยวกับเรื่องนี้ หนึ่งในนักเคลื่อนไหวเรื่องการคุกคามทางเพศอย่าง “จะเด็จ เชาวน์วิไล” ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล บอกกับทีมข่าวว่า สิ่งที่แพลตฟอร์มควรทำตอนนี้มี 2 อย่าง คือ “มาตรการป้องกัน” กับ “การรับจัดการหลังเกิดเรื่อง”

“การป้องกัน” อย่างแรกคงต้องเริ่มตั้งแต่ “การคัดคน” ดูเลยว่าคนที่มาสมัคร มีทัศนคติเรื่องนี่ยังไง “มีความคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศชัดไหม” เพราะการคุกคามเกิดขึ้นจากความคิดที่ว่า “ตัวเองอำนาจเหนือกว่าเพศตรงข้าม” เลยคิดจะทำอะไรก็ได้

“คุณก็ต้องมีมาตรการนี้ออกมาให้ชัดเจนว่า คุณรับสมัครคนมาทำงานเนี่ย คุณก็ต้องCheck List หรือสัมภาษณ์ในเรื่องแนวนี้ด้วย ไม่ใช่ใครเข้ามา ก็ขอให้มีตามเงื่อนไข มีรถ มีเงินประกัน มันไม่พอไง”



ต่อมาก็ดู “ประวัติทำงาน”ว่าเคยมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือเปล่า เคยโดนไล่ออกเพราะเรื่องคุกคามทางเพศไหม ไม่ใช่แค่เช็กประวัติอาชญากรรม เพราะบางครั้งเรื่องแบบนี้ก็ไปไม่ถึงตำรวจ

เมื่อผ่านการคัดกรองเหล่านี้แล้ว ก็ต้องมา “อบรม” ให้ความรู้เรื่องการคุกคามทางเพศว่า พฤติกรรมแบบไหนทำได้-ไม่ได้ยังไง ทั้งหมดนี้คือวิธีป้องกันในเบื้องต้น

สุดท้ายคือ “เกิดเหตุแล้ว” ต้องเข้า “เยียวยา” ผู้เสียหายทันที และมีมาตรการ “ลงโทษผู้กระทำผิด”จากองค์กรด้วย แบบที่ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกค้ากับไรเดอร์ไปฟ้องกันเอง

“มันจะทำให้บริษัทเนี่ย ถูกมองในแง่ดีด้วยซ้ำ ใครที่เรียกใช้จากคุณ ก็จะไม่ต้องกลัวว่า จะถูกคุกคาม หรือว่าถ้าเกิดมีปัญหา ก็จะมีการเยียวยา มีการคุ้มครองอย่างดีอย่างนี้”


                                     {“จะเด็จ เชาวน์วิไล” ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล}

จากเคสที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่เราควรเรียกร้องคงไม่ใช่แค่ “เอาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษ” แต่ “เจ้าของแพลตฟอร์ม” ต่างๆ ที่หละหลวม ทั้งระบบคัดคน และมาตรการรับมือ ควรมีส่วนรับผิดชอบในเคสที่เกิดขึ้น และเคสต่อๆ ไปด้วย หากยังปล่อยให้เกิดซ้ำอีกในอนาคต

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น