xs
xsm
sm
md
lg

พา “แกงไทย” โกอินเตอร์ ผ่าน “พิซซ่าหน้าพะแนง” อร่อยไวรัลจนฝรั่งยกนิ้วให้!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “กิ๊ก-ไทเลอร์” เจ้าของร้านพิซซ่ารถฟู้ดทรัคสุดไวรัล เสิร์ฟเมนู “พิซซ่าหน้าพะแนง” พาเมนูไทยเฉิดฉายบนเมนูตะวันตกได้อย่างลงตัว “ต้องลองทำอะไรที่แตกต่างดูบ้าง ถ้ามันผิดพลาดไป เราเริ่มใหม่ได้เสมอ”

“พิซซ่าพะแนง” กะทินัว-ชีสหอมมัน เข้ากันลงตัว

“ลูกค้าบอกว่าพะแนงมันไม่เหมือนใครค่ะ แล้วก็อาหารไทยมีชื่อเสียงอยู่แล้วที่อเมริกา พอได้ทานพิซซ่าพะแนงแล้วเขาบอกว่ามันไม่เหมือนกับพิซซ่าต่างๆ ที่เรามีอยู่บนเมนู มีความแตกต่างแต่ว่ามันอร่อยแล้วก็ลงตัวมากๆ ค่ะ ลูกค้าที่เขามาเพื่อจะมาทานพิซซ่าที่ร้านเรา ส่วนใหญ่จะมาเพราะว่าอยากจะมาลองพิซซ่าพะแนงค่ะ”

“กิ๊ก - พักตร์พิมล สุวรรณเพชร แอนซาโลน” หญิงสาววัย 25 ปี บอกกับทีมข่าว MGR Live พร้อมรอยยิ้ม


[ กิ๊ก และ ไทเลอร์ คู่รักเจ้าของ “Anzalone Pizza” ]

กิ๊ก และ ไทเลอร์ สามีชาวอเมริกัน เป็นเจ้าของ “Anzalone Pizza” ร้านพิซซ่าฟู้ดทรัค (food truck) หรือรถขายอาหารแบบเคลื่อนที่ ในรัฐ Idaho สหรัฐอเมริกา ที่โด่งดังข้ามซีกโลกจากเมนู “พิซซ่าหน้าพะแนง” เป็นการหยิบอาหารจากตะวันตกและตะวันออก มารวมเข้าด้วยกันอย่างลงตัว จนเป็นที่ถูกปากของทุกคนที่ได้ลิ้มลอง

ไม่เพียงแค่นั้น เธอยังเจ้าของ Facebook Fanpageกิ๊กอินเมกา แฟนเพจ ที่มีผู้ติดตามถึง 1.5 ล้านคน และช่อง YouTube @Kik_InMeca ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 6.41 แสนคน คอยถ่ายทอดไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในต่างแดนอีกด้วย

สำหรับเมนู “พิซซ่าหน้าพะแนง” อาหารไทยที่ขึ้นชื่อเรื่องความเผ็ดร้อน อาจจะทำให้ชาติที่ไม่คุ้นเคยกับอาหารรสจัด ไม่กล้าที่จะเปิดใจและเปิดปากลองชิม เรื่องนี้ กิ๊ก ก็ได้ปรับรสชาติให้บาลานซ์ ไม่เผ็ดจนเกินไป โดยมีคุณแม่ของไทเลอร์ผู้ไม่กินเผ็ด เป็นคนช่วยชิม และได้มีการปรับรสชาติให้เข้ากับตัวพิซซ่าอย่างกลมกลืน

“ตอนแรกๆ ที่กิ๊กทำจะทำให้มันคล้ายๆ กับที่เราทานกันเลยค่ะ แต่ทำให้น้ำแกงข้นขึ้นมานิดนึงเพื่อจะเกาะกับแป้งได้ดี แต่ว่าพอหลังๆ ก็มีการปรับสูตรให้มันมีความเข้มข้นมากขึ้น อย่างกะทิก็จะใช้เป็น coconut cream หรือว่าหัวกะทิแบบเข้มข้น

แล้วก็ทำให้เขามีความมันๆ เหมือนกับชีส พอเราโรยชีสมันก็จะเข้ากันกับชีสเลย พิซซ่าพะแนงของเรามันจะไม่ได้เผ็ดมาก จะมีความมัน มีความหวาน มีความเค็ม แล้วก็มีกลิ่นของเครื่องแกงมากกว่าค่ะ


[ “พิซซ่าหน้าพะแนง” เมนูขายดีที่ทุกคนต้องลอง ]

เมนูหลักๆ ก็จะมีชีส เปปเปอโรนี มาร์การิต้า คาวบอย แล้วก็จะมีหน้าพะแนงค่ะ เอาพะแนงใส่เข้าไปตั้งแต่แรกเลย วันแรกๆ ก็มีลูกค้าลองไม่เยอะค่ะ แต่ว่าเราจะต้องอาศัยขายให้เขานิดนึง จะต้องบอกเขาด้วยว่ารสชาติจะเป็นยังไง มาจากอาหารไทยเมนูไหน อะไรอย่างนี้ เพราะเหมือนเขาก็กลัวๆ ที่จะลองค่ะ

ส่วนใหญ่เขาจะไม่กินอาหารเผ็ด คุณแม่ของไทเลอร์ซึ่งเขาไม่กินเผ็ดเลย แม้กระทั่งพริกไทยถ้าใส่เยอะจนเกินไป เขาก็อาจจะกินไม่ได้ ก็เลยให้เขาเป็นคนที่ช่วยตัดสินว่าอันนี้เผ็ดเกินไปไหม ถ้ามันเผ็ดเกินไปสำหรับเขา เราก็จะปรับลงมาเรื่อยๆ ค่ะ บางคนที่ชอบเผ็ดก็จะเข้าใจว่าของเรามันจะไม่ได้เผ็ดเลย ไทเลอร์ก็จะมีพริกป่นให้ลูกค้าสามารถไปโรยบนพิซซ่าได้ด้วยค่ะ

ลูกค้าที่อเมริกาเขาจะชอบสั่งหน้าเปปเปอโรนี หน้าชีส หน้าที่เป็นคลาสสิกของเขาค่ะ แต่ว่าหลังจากที่ได้ลองพิซซ่าพะแนงแล้วเนี่ย Google Reviews ของพวกเรา ก็จะมีการพูดถึงพิซซ่าพะแนงเป็นส่วนใหญ่เลย ก็คือลูกค้าที่ได้ลองแล้วชอบ แล้วก็จะกลับมาสั่งซื้อซ้ำๆ พะแนงเป็นเมนูที่ขายดีค่ะ”

นอกจากพะแนงแล้ว กิ๊กและไทเลอร์ ก็เคยนำอาหารไทยเมนูอื่น ไปลองใส่บนหน้าพิซซ่าเช่นกัน แถมฟีดแบกที่ได้กลับมาก็ยังเป็นที่น่าพอใจอีกด้วย

“กิ๊กเองก็ทำ YouTube บางทีก็จะมี FC ที่เขาคอมเมนต์ว่า อยากจะเห็นพิซซ่าหน้าลาบ พิซซ่าหน้าเสือร้องไห้บ้าง กิ๊กก็เลยลองทำดูค่ะ ซึ่งบางหน้าเราทำแล้ว ชิมแล้ว มันอาจจะไม่เข้ากัน เราก็อาจจะไม่ได้เอามาลองขาย แต่ว่าหน้าลาบเป็นหน้าที่ลองชิมดูแล้วรู้สึกว่ามันเข้ากันค่ะ โดยส่วนตัวแล้ว ไทเลอร์ชอบกินพิซซ่าหน้าลาบ หน้าเสือร้องไห้มาก ก็เลยลองเอาไปขายดูค่ะ


[ เสิร์ฟความแซบแบบไทยกับ “พิซซ่าหน้าเสือร้องไห้” ]

เพราะจุดที่เราไปขายบางจุด จะเป็นคนที่มาจากฝั่ง Mexico, Spanish เขาจะชอบกินอาหารที่มันมีรสจัดคล้ายๆ กับบ้านเรา เขาจะมีการใช้ผักชี ใช้ต้นหอม ใช้หัวหอมในการประกอบอาหารเหมือนกับบ้านเรา กิ๊กก็เลยเลือกที่จะทำพิซซ่าหน้าลาบ พอทางลูกค้าของเราได้ลองทานแล้ว เขาก็รู้สึกชื่นชอบกันมาก เพราะมันก็ใกล้เคียงกับอาหารบ้านเขาด้วยค่ะ

เป็นเมนู seasonal ค่ะ แต่ว่าหลังจาก 2 ปีแรก ปีที่ 3 มาเราเริ่มที่จะเปลี่ยนการรับงานมาเป็นการ catering แทน หลังจากที่เราไปขายตามบูธต่างๆ ตามจุดต่างๆ เราก็เปลี่ยนมาเป็นการรับจัดงานเลี้ยงแทน

เวลาเรารับจัดงาน ลูกค้าจะเป็นฝ่าย request เมนูมา ซึ่งเมนูที่เขา request ส่วนใหญ่ก็จะเป็นหน้าคลาสสิก แล้วก็มีหน้าพะแนงที่เขารู้จักอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าจะเป็นหน้าลาบอะไรแบบนี้ เราก็อาจจะต้องเสนอไป ซึ่งบางลูกค้าเขาก็อาจจะเปิดใจยอมสั่งไปลองทานในปาร์ตี้ แต่บางงานอย่างงานวันเกิดเด็กๆ อาจจะไม่ได้เหมาะเท่าไหร่ ก็เลยเป็น seasonal บางครั้งเท่านั้นค่ะ

ที่รัฐ Idaho ลูกค้าเขาจะคุ้นชินกับอาหารไทยที่เป็นแกงๆ ไม่ว่าจะเป็นแกงเขียวหวาน แกงแดง หรือว่าแกงเผ็ด แล้วก็จะมีแกงพะแนง แกงเหลืองด้วย ลูกค้าเขาก็จะรู้จักแกงพวกนี้เป็นอย่างดี พอเขาได้ทานพะแนงแล้วเขารู้สึกว่ามันเข้ากัน เขาก็อยากจะลองดูว่าพิซซ่าหน้าแกงเขียวหวานจะเหมือนกันหรือเปล่า เขาก็มีบอกให้เราลองทำด้วยค่ะ”

พิซซ่าสื่อรัก สู่ธุรกิจฟู้ดทรัคร่วมกัน

แต่ก่อนที่สาวไทยคนนี้ จะมีกิจการร้านพิซซ่าร่วมกับสามีชาวอเมริกัน จนโด่งดังสนั่นโลกโซเชียลฯ ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น วัยเด็กของกิ๊กเป็นเด็กเรียนดี และมีโอกาสเข้าครัวทำอาหารให้กับคนที่บ้านเสมอ

“กิ๊กเกิดที่นนทบุรีแต่มาโตที่จังหวัดบึงกาฬ ก็เติบโตมาในครอบครัวเล็กๆ ค่ะ มีน้องสาว 1 คน พ่อแม่ก็เป็นเกษตรกรค่ะ รู้สึกว่าตัวเองชอบทำอาหารมาก มีโอกาสได้ทำบ่อยๆ พ่อแม่ก็จะทำงานในสวน ไม่ค่อยมีเวลาทำอาหาร กิ๊กก็จะประกอบอาหารแล้วก็ให้พ่อแม่ชิมมาเรื่อยๆ ก็เลยรู้สึกชื่นชอบ ในวัยเด็กเมนูที่ทำเป็นแรกๆ ก็จะเป็นแกงอ่อมค่ะ เป็นเมนูที่คุณพ่อสอนให้ทำ

ตอนเด็กๆ เป็นเด็กที่เรียนดีมาตลอด จนถึงช่วง ม.ปลาย ก็ย้ายไปโรงเรียนในเมือง แล้วก็ได้เรียนในโปรแกรมพิเศษ เป็นโปรแกรม intensive program ที่ค่อนข้างจะเข้มข้นแล้วก็เน้นภาษาอังกฤษ ตอนนั้นก็เริ่มรู้ตัวว่าตัวเองชอบภาษาอังกฤษค่ะ

เรียนต่อมหาวิทยาลัย ตอนแรกก็คิดว่าต่อในภาคอีสานค่ะ แต่พอเพื่อนๆ เขาไปกรุงเทพฯกันเยอะ ก็มีตามๆ เพื่อนไปบ้าง แล้วก็อยากจะทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยด้วยค่ะ ด้วยทางบ้านก็ไม่ค่อยมีฐานะมากเท่าไหร่

กิ๊กก็เลยตัดสินใจไปเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง (คณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ) เพื่อที่จะทำงานไปด้วย แล้วก็ส่งตัวเองเรียนไปด้วย ไปขายเครื่องสำอางยืนตามบูธต่างๆ แล้วก็เปลี่ยนมาทำแคชเชียร์ในร้าน ice skate แคชเชียร์ที่ศูนย์อาหาร แคชเชียร์ใน fitness หลังจากนั้นก็ไปฝึกงานใน ตม.(สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง) ค่ะ”



ตอนนั้นเองก็เป็นจังหวะเดียวกับที่ “ไทเลอร์” เดินทางมาที่ไทยและได้เจอกัน แต่ก่อนหน้านั้นทั้งคู่เป็นเพื่อนกันทางโลกออนไลน์มานาน ซึ่งหนุ่มอเมริกันคนนี้ก็ได้ลองทำพิซซ่าสูตรเด็ดที่มีให้กิ๊กลองชิม และ “พิซซ่าหน้าพะแนง” ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการก็ว่าได้

“ก่อนที่จะเจอกันที่ไทย ก็มีคุยออนไลน์ คุณไทเลอร์จะคุยช่วยฝึกภาษาหลายปีแล้วค่ะ แต่ว่าจะคุยๆ หายๆ เพราะว่า ไม่ได้คุยในเชิงจะคบหา ไทเลอร์จะมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เลยคุยกันประมาณว่าแนะนำเกี่ยวกับประเทศไทย

ตอนนั้นไทเลอร์มาเที่ยวไทย แล้วก็มาดูว่าเขาจะย้ายมาไทยยังไง กิ๊กบังเอิญอยู่กรุงเทพฯ พอดี ก็เลยได้ออกไปนัดเจอกันค่ะ ช่วงนั้นที่ไทเลอร์มาที่ไทย ก็ยังไม่ได้ขอเป็นแฟน หรือว่าคบกันเป็นทางการด้วยซ้ำค่ะ ไทเลอร์บอกว่าอยากจะลองทำพิซซ่าให้ทาน เพราะว่าเขาทำงานในร้านพิซซ่าอยู่ เขาก็พอมีสูตรแป้งที่มันอร่อย

แต่ตอนนั้นกิ๊กเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องไปซื้อวัตถุดิบจากที่ไหน ก็มีวัตถุดิบขาดๆ เกินๆ บ้าง กิ๊กก็เลยเอาพะแนงที่กิ๊กอยากจะทำให้ไทเลอร์ได้ทานเหมือนกัน กิ๊กก็ให้ไทเลอร์ชิม แล้วไทเลอร์ก็บอกว่าจะลองเอามาใส่พิซซ่าดู

พอได้ลองใส่พิซซ่าแล้ว ไทเลอร์บอกว่าเขาชอบมาก ถ้าเกิดว่าเรามีโอกาสได้เปิดร้านพิซซ่าด้วยกัน จะต้องเอาพิซซ่าพะแนงไปไว้บนเมนูแน่นอนค่ะ

หลังจากที่ได้คุยกันจริงจัง พอได้มาใช้เวลาร่วมกัน รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ค่อนข้างจะติดดิน เป็นคนง่ายๆ แล้วก็ใจดีค่ะ รักสัตว์ รักเด็ก กิ๊กก็เลยรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ไม่มีพิษภัยอะไร น่าจะสามารถที่จะคบหา แล้วก็เรียนรู้กันไปอีกได้

เขาก็ชอบที่เราเป็นคนที่ทำงาน เลี้ยงดูตัวเอง เป็นคนที่มีความมุ่งมั่น แล้วก็พูดภาษาอังกฤษกับเขาได้ เขาก็เลยอยากจะลองเปิดใจคบกันดู หลังจากนั้นก็นัดเจอกันบ่อยขึ้น ก่อนที่เขาจะกลับอเมริกาก็เลยตกลงตัดสินใจคบกันค่ะ”



แม้ตอนนั้น กิ๊กยังเรียนและยังคงฝึกงานที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางของตัวเอง ด้วยการข้ามน้ำข้ามทะเล มาที่เมือง Boise รัฐ Idaho สหรัฐอเมริกา เพื่อไปใช้ชีวิตกับคนรัก

“หลังจากที่ไทเลอร์กลับไป ก็เริ่มทำวีซ่าค่ะ ที่อเมริกามันค่อนข้างที่จะยาก เวลาที่เราจะไปเยี่ยมคนที่อาจจะเป็นแฟนหรือว่าเป็นเพื่อนเรา เขาก็จะไม่ค่อยอยากให้ไป เราจะต้องมาตกลงกันว่าเราจะทำยังไง สุดท้ายก็เลยตัดสินใจว่าจะทำวีซ่า K-1 หรือว่าวีซ่าคู่หมั้น เพื่อที่จะไปที่อเมริกา แล้วก็จดทะเบียนสมรสภายใน 90 วัน

เราก็มีเวลาที่จะอยู่กับเขา แล้วก็ตัดสินใจว่าจะแต่งหรือไม่แต่งภายใน 90 วัน หลังจากที่ไทเลอร์กลับไปรอบที่ 2 ก็รอ อีกเป็นเวลา 8 เดือน เพื่อรอวีซ่าอนุมัติแล้วก็บินตามไปค่ะ ก่อนที่กิ๊กจะตัดสินใจย้ายไป ก็จะมีถามว่าไปแล้วจะทำอะไร เพราะว่าตอนนั้นกิ๊กยังเรียนไม่จบ ก็เลยค่อนข้างที่จะกลัวว่าถ้าไปแล้วไม่มีแพลนอนาคต กลัวว่าจะไม่ดีเท่าอยู่ที่ไทย

ระหว่างช่วง 8 เดือนที่ทำวีซ่าอยู่ ไทเลอร์ก็มีแพลนว่าจะออกจากงานที่ทำพิซซ่า เพื่อจะมาเปิดร้านเป็นของตัวเอง แต่ก็คุยกันว่าเราจะหาทุนมาจากที่ไหน เพราะว่าค่อนข้างที่จะแพงมากที่จะเริ่มธุรกิจที่อเมริกา แต่พอไปถึงแล้ว เราก็ได้ความช่วยเหลือจากคุณพ่อไทเลอร์ ที่ช่วยเปิดฟู้ดทรัคให้กับพวกเราค่ะ แต่งงานกันได้ประมาณ 4 ปีแล้วค่ะ

Idaho จะมีชื่อเสียงเรื่องมันฝรั่ง เพราะว่าเป็นเมืองเกษตรกร แล้วก็จะมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเยอะค่ะ ที่ Idaho อาจจะไม่ได้มีทำเลที่ติดต่อกับน้ำทะเล เลยแต่ว่าเขาจะมีแม่น้ำ มี Snake River แล้วก็จะมีภูเขาเยอะค่ะ มี hot spring หรือว่าน้ำพุร้อนธรรมชาติเยอะมากๆ จนนับไม่ถ้วนเลยค่ะ ผู้ชายก็จะนึกถึงทีมฟุตบอล เป็นสนามสีฟ้าที่เราเห็นกันค่ะ”


[ อบพิซซ่าถาดต่อถาดบนฟู้ดทรัค ]

แม้ไทเลอร์จะเคยทำงานในร้านพิซซ่ามาก่อน แต่การมีร้านพิซซ่าแบบรถฟู้ดทรัค ก็ถือว่ายังใหม่มากสำหรับทั้งคู่

“มันเป็นช่วงที่แรงงานขาดแคลนพอดี กิ๊กไปก่อนช่วงโควิด แต่ว่าช่วงนั้นก็ไม่หนักเท่าหลังโควิด ประจวบเหมาะกับที่เราทำฟู้ดทรัคที่สามารถทำกัน 2 คนได้ ก็เลยไม่ค่อยได้รับผลกระทบเรื่องแรงงานเท่าไหร่ จะเป็นความยากเล็กๆ น้อยๆ แต่ละวัน ที่เราอาจจะยังไม่ได้รับประสบการณ์ ต้องค่อยๆ เรียนรู้ไปค่ะ

สำหรับใครที่อยากจะเริ่มทำธุรกิจฟู้ดทรัค บางคนก็จะใช้ทรัคที่สามารถขับในตัว หรือบางคนก็ต้องซื้อรถกระบะ เพื่อจะมาลากฟู้ด เทรลเลอร์ (Food Trailer) อีกทีนึง ไทเลอร์ก็บอกว่าประมาณ 100,000 เหรียญค่ะ หรือประมาณ 3,000,000 กว่าบาท อาจจะยังไม่รวมกับค่าวัตถุดิบต่างๆ ที่จะมาเปิดร้านครั้งแรกค่ะ

มันก็มีความเข้มงวดของเขา หลักๆ ก็จะเป็นสาธารณสุข ทำเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือว่าฟู้ดทรัค เขาจะเข้ามาตรวจความเรียบร้อยต่างๆ ปีนึงประมาณครั้งถึงสองครั้ง ว่าเราจัดวางทุกสิ่งอย่างตามที่กฏที่เขากำหนดไว้หรือเปล่า

ความสะอาด อุณหภูมิ แล้วก็จะมีทาง fire department หรือว่าทางดับเพลิง ที่เข้ามาดูเรื่องของไฟอะไรต่างๆ ซึ่งถ้าเราทำเป็นสเตปตามเขาได้ มันก็จะเป็นเรื่องง่าย เพราะมันเป็นเรื่องที่เราจะต้องทำทุกปีค่ะ

ตอนนี้เปิดมาได้ประมาณ 4 ปีแล้วค่ะ ที่ Idaho ผู้คนค่อนข้างที่จะเป็นมิตร แล้วก็ลูกค้าแต่ละคนก็จะมีความ support ธุรกิจเล็กๆ ดีเลยค่ะ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกค้าที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้ว่าเราจะไปขายที่ไหน ก็เลยจอดขายข้างทางที่อยู่ข้างหน้าหมู่บ้าน ซึ่งเราก็ขออนุญาตทางการว่าตรงนี้สามารถจอดได้ไหม เขาก็อนุญาตให้เราจอดก็ขายตรงนั้นไปก่อน”

แกงไทยถูกใจต่างชาติ พีคๆ รับทรัพย์ต่อเดือนเฉียดล้าน!!

“Anzalone Pizza” เริ่มมาจากการขับรถฟู้ดทรัค ไปจอดขายในพื้นที่ที่ทางการอนุญาต แต่ตอนนี้ขยับมารับงานเป็นอีเวนต์ ทั้งงานแต่งงาน งานวันเกิด คอนเสิร์ต หรือตามเทศกาลต่างๆ รายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 600,000 บาทไทยไปจนถึงเกือบล้าน!!

“เมื่อก่อนเรามีทั้งถาดไซส์เล็ก ไซส์กลาง แล้วก็ไซส์ใหญ่ ก็จะเริ่มต้นที่ประมาณ 12 เหรียญ ก็ประมาณ 360 บาทค่ะ ช่วงนี้เราขายเป็นถาดใหญ่เท่านั้น เวลาเราออกอีเวนต์ ไปทำงาน catering ต่างๆ จะทำขายเป็นชิ้นๆ ก็เป็นพิซซ่าขนาด 20 นิ้ว 1 ถาดใหญ่ๆ เราจะคิดเจ้าของงานอยู่ที่ประมาณ 40 เหรียญค่ะ แล้วก็ 1 ชิ้นถ้าขายก็จะประมาณ 6 เหรียญค่ะ

ถ้าไม่ขาดทุน เมื่อก่อนถ้าเท่าทุนเลย คิดว่าค่าแรง ค่าฟืนในเตาอบพิซซ่า หรือว่าค่าวัตถุดิบ เราก็ตั้งไว้ประมาณว่าอย่างน้อยต้องให้ได้ 400 เหรียญค่ะ แต่ว่าทุกวันนี้เวลาที่เราไปอีเวนต์ต่างๆ เราก็จะสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ว่าเราต้องเตรียมของไปเท่าไหร่ อีเวนต์ก็จะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่ว่าจะขายได้มากได้น้อยค่ะ

รายได้ต่ออีเวนต์ น่าจะเฉลี่ยอีเวนต์ละประมาณ 40,000 บาทค่ะ ซึ่งอีเวนต์ของพวกเราจะไม่ได้มีทุกวัน เฉลี่ย 1 เดือน ก็อาจจะประมาณเกือบ 20 วันค่ะ ถ้าในเดือนเป็น high season ก็จะตกเดือนละประมาณ 600,000 บาทขึ้นไปค่ะ

พีคสุดน่าจะได้เกือบๆ ล้านค่ะ ช่วงที่เรารับงานได้เต็มที่ ตอนนี้รับเป็นอีเวนต์มากกว่าค่ะ ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ได้เลย อีก 10 เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็นตามงานคอนเสิร์ตหรือว่าเป็นตลาดนัดใหญ่ๆ ค่ะ”


[ ดาวเด่นประจำอีเวนต์ ]

ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่เปิดร้านมา ก็มีเรื่องราวความประทับใจระหว่าง คนขาย-ลูกค้า เกิดขึ้นมากมาย

“ประสบการณ์ที่รู้สึกว่าประทับใจ ก็น่าจะเป็นเวลาที่ลูกค้าจ้างเราไปงานอีเวนต์ต่างๆ เพราะว่าอยากจะกินพิซซ่าหน้าพะแนง แล้วก็จะมีการบอกต่อให้เพื่อนๆ จ้างรถฟู้ดทรัคของเราอีกด้วย เพราะว่าฟู้ดทรัคของเราเป็นคันเดียวที่พิซซ่าหน้าไทยค่ะ

เหมือนเวลาเราไปงานแต่ง แล้วแขกที่มาร่วมงานอาจจะไม่ได้รู้จักพิซซ่าของเราเลย แต่พอได้มาชิมแล้วพิซซ่าอร่อยแล้ว พอเขามีงานเขาก็มาขอ contact จากงานที่เขาไป เป็นการบอกต่อค่ะ

ที่อเมริกาถ้าจะมา Idaho เป็นรัฐที่คนก็ไม่ค่อยรู้จักกันเท่าไหร่ คนไทยเวลาไปเที่ยวอเมริกา เขาก็จะอาจจะอยากไปรัฐที่มีคนเยอะๆ มีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะๆ แต่เขาก็เอาร้านพิซซ่าของเรา ไปไว้ในแพลนการท่องเที่ยวของเขา ว่าถ้ามาอเมริกาจะต้องมามากินร้านของเราให้ได้ อะไรอย่างนี้ค่ะ รู้สึกดีใจมากๆ บางคนไปอเมริกาแล้วก็แวะมาชิมด้วยค่ะ

อย่างที่บอกว่าลูกค้าในรัฐ Idaho ค่อนข้างที่จะน่ารัก และยิ่งเห็นเราเป็นธุรกิจที่เป็นธุรกิจเล็กๆ เขาก็ไม่ค่อยอยากจะมามีปัญหากับเรามากมาย เขาก็ยิ่งจะอะไรประนีประนอมได้เขาก็จะบอกเราดีๆ ค่ะ



ตอนที่เราเปิดร้านสาขาที่ 2 ขึ้นมา ที่ร้านที่เป็นในศูนย์อาหาร เราก็จะมีการสอนให้พนักงานทำพิซซ่า ซึ่งมันก็อาจจะไม่ได้เหมือนกับที่เราทำ 100 เปอร์เซ็นต์ ก็อาจจะมีลูกค้า complain บ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นที่จะฟ้องร้องอะไรกันค่ะ

ที่เมืองนอก กิ๊กเองก็เคยได้ยินมาเหมือนกัน ถ้ามีอะไรผิดพลาดเล็กน้อย เขาสามารถที่จะฟ้องร้องได้ แล้วค่าดำเนินการค่อนข้างที่จะสูง อย่างอาหารเผ็ดจนเกินไป แล้วเขาสามารถพิสูจน์ได้ว่ามันทำให้ร่างกายของเขามีปัญหา ทางแพทย์ยืนยันว่าเป็นเพราะอาหารหรืออะไร ก็อาจจะนำไปชั้นศาลได้ ค่อนข้างที่จะเข้มงวด แล้วก็ค่อนข้างที่จะเอาลูกค้าเป็นหลักค่ะ”

อย่างที่เกริ่นไปในตอนแรก นอกจากจะเป็นเจ้าของร้านพิซซ่าแล้ว คู่รักคู่นี้ยังเป็น YouTube ที่มีแฟนๆ ติดตามถึงหลักล้าน ซึ่ง กิ๊ก ได้ช่วยสะท้อนปรากฏการณ์ ‘กินตามรีวิว’ ที่เกิดขึ้นกับร้านอาหาร หลายครั้งกระแสดีถึงขั้นเปลี่ยนชีวิตเจ้าของร้านก็มี และร้านพิซซ่าของสาวไทยคนนี้ ก็เคยมีสื่อท้องถิ่นมาทำข่าวอีกด้วย

“น่าจะเปิดร้านพิซซ่าได้ไม่กี่เดือนก็เริ่มทำ YouTube จริงๆ กิ๊กทำไลฟ์สไตล์ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ตอนที่ไปถึงอเมริกา เพราะว่าอยากจะให้ทางบ้าน เพื่อนๆ เราได้เห็นว่าชีวิตเราเป็นยังไงบ้าง แต่พอเปิดฟู้ดทรัคแล้ว กิ๊กก็มีไปตั้งกล้องเวลาทำงานบ้าง ช่วงนั้นก็เริ่มสังเกตเห็นว่ามีคนภายนอกที่ไม่ใช่แค่เพื่อน ไม่ใช่แค่ครอบครัวเราเข้ามาดู YouTube ก็เลยเริ่มทำมาค่ะ

ไวรัลคลิปแรก สำหรับกิ๊กเองที่คิดว่าไวรัล น่าจะเป็นเสิร์ฟพิซซ่าพะแนงในสนามกอล์ฟค่ะ แล้วก็จะมีลูกค้าที่เขาบอกว่า เป็นพิซซ่าที่อร่อยที่สุดเท่าที่เขาเคยกินมาในชีวิต อะไรอย่างนี้ ลูกค้าเขาก็มาพูดในกล้องให้คลิปของกิ๊กด้วย พอคนไทยได้เห็นเขาก็รู้สึกภูมิใจกัน แล้วก็มีการพูดถึงพิซซ่าพะแนงมากขึ้นค่ะ



สังเกตดูที่อเมริกาเขาก็จะมีการรีวิว จะเน้นเป็น Instagram ค่ะ Instagram ท้องถิ่นก็จะมี Food blogger ที่ไปรีวิวอาหารให้บ้าง แล้วก็มีการทำการตลาด การยิง Ads ติดป้ายโฆษณาต่างๆ ถ้าเกิดให้เทียบกันระหว่างอเมริกากับไทย คิดว่ากระแสโซเชียลฯ ที่เปลี่ยนชีวิตของร้านอาหารอะไรอย่างนี้ อาจจะไม่เท่ากับที่ไทย แต่ว่าก็มีผลเหมือนกัน

หลังจากปีแรกที่เปิด ก็จะมีสำนักงานข่าวท้องถิ่นที่เขามาสัมภาษณ์ อย่างที่กิ๊กบอก เขาค่อนข้างที่จะชื่นชม แล้วก็คอยช่วยเหลือธุรกิจเล็กๆ ยิ่งถ้าเป็นธุรกิจครอบครัวที่เพิ่งเปิดใหม่ๆ เขาก็จะยิ่งอยากจะนำเสนอมากๆ ให้คนในรัฐได้รู้ค่ะ

พอหลังจากที่ข่าวออกไป ก็จะมีคนที่บอกว่าตามมาจากข่าว สำนักงานข่าวที่เขารายงานด้วย ช่วยได้เยอะเลยค่ะ ก็จะเป็นรุ่นใหญ่ที่เขายังดูทีวีกันอยู่ในตอนเช้า ก็จะมีลูกค้าวัยนี้ที่ตามมาจากสำนักงานข่าวเยอะค่ะ

แล้วก็จะมีลูกค้าบางคน ที่เขาอาจจะเห็นเราเวลาเราขับรถไปงาน รถฟู้ดทรัคของพวกเราจะมีเอกลักษณ์ตรงที่เตาอบพิซซ่าจะยื่นออกมาทางด้านหลัง แล้วก็จะมีเบอร์โทรศัพท์ เวลาลูกค้าที่เขาขับรถอยู่ เขาเห็น เขาก็อาจจะโทร.มาจากตรงนั้นด้วยค่ะ เพราะเขาคิดว่ามันดูเหมาะกับงานการจัดงานเลี้ยง ทำให้แขกตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจดีค่ะ”

ทำงานกับคู่ชีวิต ใครว่าง่าย

แน่นอนว่าการทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม จะให้ราบรื่นไปเสียทุกอย่างก็คงจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งร้านพิซซ่าร้านนี้ก็เคยผ่านช่วงที่ลองผิดลองถูกมาแล้วเช่นกัน กระทั่งกิจการได้รับการตอบรับไปในทิศทางที่ดี จนต้องคลอดสาขาที่ 2 ตามกันมาติดๆ

“ช่วงทำธุรกิจมีช่วงที่ท้อ ช่วงที่เฟลบ้าง เรื่องแรกๆ มีรถที่ใช้ลากฟู้ดทรัคคันแรกพังไป แล้วก็จะต้องซื้อคันใหม่ มีเครื่องปั่นไฟที่มีปัญหาอยู่เรื่อยๆ เพราะเราค่อนข้างที่จะใช้งานเขาหนัก แล้วก็จะมีบางทีเราจองงานแล้วก็ลงงานผิด ทำให้ลูกค้าไม่พอใจ มันเป็นช่วงแรกๆ ที่เราจำเป็นที่จะต้องได้เรียนรู้ ก็มีความท้อแท้เกิดขึ้นค่ะ แต่ว่ามีอะไรเราก็ค่อยๆ แก้ไปด้วยกันค่ะ

แม้กระทั่งบางครั้งที่เราไปถึงงานแล้ว พอเปิดรถฟู้ดทรัคขึ้นมา อาหารที่เราเตรียมเอาไว้ออกมา กระจายอยู่เต็มพื้นเลย เพราะว่าเราอาจจะไม่ได้ปิด แล้วก็ใช้ที่ยึดที่หนาแน่นพอ แล้วก็เรื่องของอุณหภูมิด้วยที่เป็นอุปสรรค แต่อุณหภูมิมันก็จะเหมือนเดิมทุกปี ก็คือช่วงนี้ก็จะร้อน ช่วงนี้ก็จะหนาวเหมือนกันทุกๆ ปี ทำให้เราค่อนข้างที่จะปรับตัวเข้าหามันได้มากขึ้นค่ะ

ตอนแรกๆ เราเริ่มมีลูกค้าประจำค่ะ แล้วลูกค้าเขาก็อยากจะตามมากินพิซซ่าของเรา แต่ด้วยความที่ช่วงนั้นเราเริ่มที่จะรับงานอีเวนต์ ส่วนใหญ่จะเป็นอีเวนต์แบบปิด ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งหรือว่างานวันเกิด ก็จะมีแขกที่เขาเชิญไปจำนวนจำกัด


[ สาขาที่ 2 ปังไม่แพ้กัน ]

ส่วนลูกค้าที่เขาอยากจะกินพิซซ่าก็ไม่สามารถไปได้ เขาก็เลยมีบ่นๆ กันว่าอยากให้มีสาขาที่แยกออกมา ไว้สำหรับเปิดให้สำหรับคนทั่วไปจะไปทานค่ะ ก็เลยตัดสินใจทำสาขาที่ 2 จะอยู่ในเมือง Boise รัฐ Idaho ค่ะ เปิดทุกๆ วันเลยค่ะ

ช่วงแรกๆ รู้สึกว่ามันค่อนข้างที่จะยากค่ะ แต่พอพี่ชายไทเลอร์เข้ามาช่วยก็ช่วยได้เยอะเลย พี่ชายไทเลอร์เขาก็เป็นอีกคนที่เคยทำงานในร้านพิซซ่าเหมือนกัน ร้านสาขาที่ 2 จะอยู่ในย่านที่มีพนักงานเยอะ เป็น downtown ในเมือง Boise, Idaho

ค่อนข้างยากในการบริหารจัดการในช่วงแรกๆ เพราะออฟฟิศที่อยู่ระหว่างนั้น เขาก็จะมาทานอาหารในศูนย์อาหารแห่งนี้หมดเลยค่ะ ต้องใช้ความอดทนมากๆ แล้วก็ต้องเปลี่ยนแผนนิดนึง เพื่อที่จะทำให้พิซซ่าได้เร็วกว่าที่เราทำบนฟู้ดทรัคค่ะ

ฟู้ดทรัคจะเป็นตัวหลักของเรา ของกิ๊กกับไทเลอร์ ส่วนสาขาที่ 2 จะให้เป็นพี่ชายไทเลอร์เป็นคนดูแล เพราะว่าในศูนย์อาหารเขาจะมีการกำหนดวันเวลาที่เปิด-ปิด ก็เลยคิดว่ามันอาจจะไม่ได้เหมาะกับไลฟ์สไตล์เราปัจจุบัน”



อีกข้อจำกัดของร้านอาหารในสไตล์ฟู้ดทรัค ก็คือเรื่องของสภาพอากาศ หากเป็นฤดูหนาวที่มีหิมะตกหนัก ก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้ต้องปิดร้านยาวหลายเดือน

“ช่วงหน้าร้อนเป็นช่วงที่งานเยอะมากๆ ค่ะ พอช่วงที่เป็นหน้าหนาวมันจะมีงานอยู่บ้าง แต่ปัญหาก็คือฟู้ดทรัคของพวกเรา มีเตาอบพิซซ่าที่เป็นเตาอบเตาฟืน เวลาที่อากาศข้างนอกหนาว มันจะทำให้เราจะต้องเพิ่มจำนวนฟืนในเตาให้มันเยอะมากกว่าเดิม เพื่อที่จะทำให้พิซซ่าของเราสุกได้เหมือนเดิม ก็จะมีต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น

แล้วก็เป็นเรื่องของการขับรถ ที่อาจจะไม่ปลอดภัยเท่าไหร่ เพราะที่ Idaho ก็จะมีหิมะตกในช่วงหน้าหนาวค่ะ เวลารถพิซซ่าของเราขับไป มันก็อาจจะมีการลื่นขึ้นได้ ก็เลยตัดสินใจที่จะปิดในช่วงนั้น หรือว่ารับงานน้อยลง

ส่วนใหญ่ถ้าเป็นหน้าหนาว ลูกค้าที่จัดงานวันเกิด งานแต่งอะไรแบบนี้ เขาก็จะยังใช้บริการเราอยู่ แต่ก็จะเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากนิดนึง แต่ว่าพวกคอนเสิร์ตหรือว่าตลาดนัดก็จะแทบไม่มีเลยค่ะ อากาศก็จะเป็นอีกปัจจัยนึง ที่เราเปิดร้านสาขาที่ 2 ด้วย ร้านสาขาที่ 2 จะอยู่ในตึกที่มี heater แล้วก็ทำงานได้ตลอดค่ะ แต่ว่าฟู้ดทรัคจะหยุดในช่วงที่หนาวจัดค่ะ

ข้อจำกัดของการเปิดฟู้ดทรัคที่อเมริกา ก็น่าจะเป็นเรื่องของระยะทางด้วย บางทีเราอาจจะไม่สามารถรับงานไกลๆ ได้ ที่ Idaho เป็นภูมิประเทศที่มีภูเขาเยอะมาก เวลาที่ลูกค้าจัดงานแต่ง เขาก็จะไปจัดบนเขาสวยๆ กัน ซึ่งมันก็เป็นไปได้ยาก ที่เราจะสามารถเอาฟู้ดทรัคของเราขึ้นเขาไปได้ เพราะว่าน้ำหนักค่อนข้างเยอะ แล้วก็อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ค่ะ

ฟู้ดทรัคของเรา เตาอบพิซซ่ามีความร้อนที่ร้อนมากๆ เวลาที่เราทำงานถ้าอากาศร้อนจัด มันก็จะส่งผลทำให้ข้างในยิ่งร้อนมากกว่าข้างนอกค่ะ เวลาทำอาหารก็อาจจะมีอุปสรรคตรงนี้ด้วย”



อีกประเด็นที่อดถามไม่ได้ คือเรื่องของการทำงานกับคู่ชีวิต บ้านนี้มีการสมดุลงานกับชีวิตส่วนตัวยังไงให้ลงตัว

“จากที่ทำงานด้วยกันมาหลายปี รู้สึกว่าถ้าเกิดว่าต้องเปลี่ยนจากกิ๊ก ให้คนอื่นมาทำแทน มันก็อาจจะไม่ได้ดีเท่ากับเราทำกัน 2 คน ตอนนี้เราค่อนข้างที่จะรู้แล้วว่าเราต้องทำอะไรบ้าง หน้าที่ของเรามีตรงไหน สามารถที่จะทำงานด้วยกันในพื้นที่คับแคบ โดยที่อาจจะไม่ได้เดินชนกันได้แล้วค่ะ ทำงานช่วยกันในรถฟู้ดทรัค น่าจะดีที่สุดถ้าเราทำด้วยกัน 2 คน

ส่วนใหญ่ไปกัน 2 คน นอกจากจะมีงานใหญ่ที่เกินกำลังจริงๆ ก็อาจจะมีดึงพนักงานจากร้านพี่ชายไทเลอร์มาช่วยบ้าง หรืออาจจะจ้างข้างนอกมาบ้าง ช่วงแรกๆ เหมือนเรายังไม่ได้มีระบบที่ชัดเจน เราก็มีการทะเลาะกันบ้าง มีปัญหากันบ้าง แต่ว่าเราจะต้องทำงานให้จบ ก็คือพยายามทำให้มันเสร็จเรียบร้อย แล้วค่อยไปเคลียร์กันทีหลัง

เพราะกิ๊กไม่ได้ทำหนักเท่าไทเลอร์ เวลาที่มีการทะเลาะกันเกิดขึ้น หรือว่าอยู่ในสถานการณ์กดดัน ส่วนใหญ่กิ๊กจะเป็นคนที่จะพยายามไม่ไปพูดถึงเรื่องนี้เยอะ เพราะไทเลอร์ต้องใช้สมาธิในการทำงาน หลังจากนั้นเราสามารถคุยกันได้ ฉันไม่ชอบอะไร หรือว่าครั้งหน้าอยากให้ปรับอะไร สามารถเคลียร์กันได้หลังจากทำงานเสร็จค่ะ

ถ้าใครที่ทำธุรกิจด้วยกัน อาจจะต้องใช้เวลาอยู่ด้วยกันเยอะมากหน่อย สำหรับกิ๊กเอง เคล็ดลับที่ไม่ให้มันกระทบความสัมพันธ์ก็คือ ถ้ามีปัญหาเรื่องงาน ก็จะไม่เอาเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง

แล้วก็หลังจากที่เรามีปัญหาเรื่องงาน เราก็จะเคลียร์ให้จบก่อนที่เราจะกลับบ้าน ก่อนที่เราจะเข้านอน กิ๊กก็จะมีกฎในความสัมพันธ์อยู่ว่า ถ้าเกิดว่าทะเลาะกัน ก็จะต้องเคลียร์ให้จบเป็นวันๆ ไม่เข้าไปนอนแล้วตื่นเช้ามายังทะเลาะกันอยู่”

กล้าออกจากกรอบ ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้

การก้าวออกจากกรอบไปใช้ชีวิตที่ต่างแดนของกิ๊ก เธอบอกว่าตัวเองโชคดี ที่เจอครอบครัวของสามีที่ดี แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่วายเจอเข้ากับพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก จากคนต่างบ้านต่างเมือง

“ช่วงแรกๆ ที่กิ๊กไปต่างแดนต่างประเทศครั้งแรก กิ๊กเองก็ยังไม่เคยไปที่ไหนมาก่อน ก็รู้สึกกลัวกลัวบ้างค่ะ แต่ว่ากิ๊กเป็นคนที่ชอบที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ พอไปถึงแล้วก็ตั้งใจ บอกกับตัวเองว่าจะต้องมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้ ตอนนั้นเองถึงแม้จะพูดภาษาอังกฤษได้บ้างแล้ว แต่พอไปพูดกับคนอื่นที่อาจจะไม่ใช่ไทเลอร์ ก็จะมีไม่เข้าใจบ้าง หรือว่าเขาไม่เข้าใจเราบ้าง

มีเรื่องของการคิดถึงบ้าน คิดถึงอาหารไทยด้วย ก็ทำให้ช่วงนั้นได้เรียนรู้การทำอาหารเพิ่มมากขึ้นอีกด้วยค่ะ ก็รู้สึกดีใจมากๆ ที่ทุกคนชอบอาหารที่กิ๊กได้ลองทำ ทุกๆ อย่างมันก็ช่วยทำให้เราเป็นทุกวันนี้ค่ะ ครอบครัวของไทเลอร์ดีมาก แล้วก็ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเลยค่ะ

อาจจะมีบางครั้งที่ไปต่างเมืองแล้วจะมีการเหยียด ทำให้เรารู้สึกเฟลนิดนึงค่ะ มีครั้งหนึ่งที่กิ๊กไปเที่ยวกับเพื่อนๆ แล้วก็จะมีต่างชาติที่ทำเสียงล้อเลียน เหมือนกับว่าเป็นการพูดภาษาจีน เหมือนเป็นการเหยียดคนเอเชีย ซึ่งหาได้ยากมากๆ ถ้าเป็นในเมืองที่กิ๊กอยู่ ก็ได้มีประสบการณ์บ้างค่ะ แต่ว่ากิ๊กค่อนข้างที่จะคิดบวก ว่าอย่างน้อยเขาก็คงจะไม่รู้จักเรา แล้วคงจะไม่ได้เจอคนนี้อีก

ถ้าจะให้คำแนะนำ ถ้าเกิดว่าเรามีคนรักหรือว่ามีเจ้านายที่เราจะต้องย้ายประเทศ ไปอยู่ในภูมิประเทศที่เราไม่คุ้นเคย ก่อนอื่นเลย เราก็ต้องทำตัวของเราเอง ให้เป็นเซฟโซนให้กับตัวเอง ยังไงเราก็จะต้องพึ่งตัวเองให้ได้ ไม่ใช่ว่าเราจะไปฝากชีวิตไว้กับเขา 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็หวังว่าเขาจะพาชีวิตเราไปในทิศทางที่ดีอย่างเดียว เราจะต้องมีแพลน B มีแพลน C ด้วยค่ะ

กิ๊กค่อนข้างที่จะโชคดีที่ได้ไปเจอกับไทเลอร์ ที่เขามีครอบครัวที่ดี มีความอบอุ่น แต่ว่าถ้าใครที่โชคร้าย ไปแล้วอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด ก็ให้รู้เอาไว้ว่าเราจะกลับมาที่ไทยเพื่อจะมาตั้งหลักได้เสมอค่ะ ไม่ว่ายังไงเราก็เป็นที่พึ่งแห่งตนได้เสมอค่ะ


[ “อ้ายไทเลอร์” ผู้หลงรักความเป็นไทย ]

ส่วนหนุ่มอเมริกันเขยไทย ก็บอกเล่าความประทับใจต่อเมืองไทย โดยเฉพาะอาหารและน่ารักของผู้คนที่ได้พบเจอ

“เพราะว่าวัฒนธรรมที่แตกต่าง วัฒนธรรมของคนไทยที่มีการแชร์กัน แม้กระทั่งเรื่องของอาหาร ถ้าเทียบกับอเมริกา เขาก็จะมีวัฒนธรรมที่ถ้าสั่งอาหารมา ก็จะเป็นอาหารของฉัน อาหารของเธอ แต่ว่าที่ไทยก็คือเราแชร์อาหารกัน แล้วก็เรื่องของความเคารพที่คนไทยมี ทำให้เขารู้สึกสนใจในประเทศไทย


(ไทเลอร์) ชอบผัดเผ็ดหมูป่าครับ แล้วก็ไข่เจียวหมูสับใส่พริกเยอะครับ แล้วก็น้ำจิ้มแจ่วครับ ชอบมาก แล้วก็ไก่ทอดครับ แล้วก็ต้มแซ่บ ชอบอาหารเผ็ดๆ เหมือนไปทำให้เลือดไหลเวียนดีอะไรประมาณนี้ ชอบมากครับ

ไทเลอร์บอกว่าอยากจะขอบคุณ FC อยากจะขอบคุณแฟนๆ ที่คอยสนับสนุนพวกเรา เป็น FC ที่มีพลังบวกให้เราเยอะมาก เป็นคนที่ supportive มากๆ ไม่ว่าจะเป็นเวลาไทเลอร์พูดไทย พอได้เจอตัวจริงเขาก็จะคอยชม คอยแนะนำไทเลอร์

ซึ่งไทเลอร์บอกว่ารู้สึกดีใจมากๆ พวกเราทั้ง 2 คนรู้สึกโชคดีมากๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำ YouTube การทำรถฟู้ดทรัค ก็จะคอยได้รับแรงสนับสนุนจากคนไทยอยู่ตลอดเลยค่ะ ก็อยากจะฝากขอบคุณด้วยค่ะ



ถ้าจะจัดเป็น meeting กิ๊กกับไทเลอร์ค่อนข้างที่จะใหม่ เลยไม่รู้ว่าเราจะต้องทำยังไง เราอยู่ที่อเมริกาเป็นส่วนใหญ่ เราจะไม่ค่อยได้เจอ FC แต่พอกลับมาที่นี่ ก็มีบางคนบอกว่าให้จัด fan meet ซึ่งเราก็คิดๆ อยู่ว่าอาจจะจัดในสิ้นปีค่ะ”

ส่วนเรื่องของการทำธุรกิจ พิซซ่าหน้าพะแนงก็เรียกได้ว่าเป็นการฉีกกรอบพิซซ่าแบบเดิมๆ ทั้งเธอและสามี ก็ฝากคำแนะนำไปถึงคนที่ยังลังเลกับการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ไว้ด้วย

“กิ๊กเองก็เป็นอีกคนที่รู้สึกกังวล ว่าการทำพิซซ่าพะแนงมันอาจจะทำให้หลายๆ คนไม่พอใจหรือเปล่า ลูกค้าบางคนอาจจะไม่ชอบ ที่เราเอาพิซซ่าอาหารสัญชาติอิตาเลียน มารวมกับอาหารไทยอะไรอย่างนี้

แต่ว่าไทเลอร์จะเป็นคนที่ค่อนข้าง support เขาจะบอกเสมอว่า ถ้าไม่ลองเราก็จะไม่รู้ ถ้าเราทำในสิ่งเดิมๆ เราก็จะได้รับผลลัพธ์เดิมๆ ก็ต้องลองทำอะไรที่แตกต่างดูบ้าง ถ้าเกิดว่ามันผิดพลาดไปอย่างใด เราเริ่มใหม่ได้เสมอค่ะ ไม่จำเป็นต้องกลัวว่าเพราะมันไม่ดี แล้วมันจะทำให้ทุกอย่างไม่ดี จากการที่เราลองผิดลองถูก มันทำให้เราทำได้ดีมากขึ้น แล้วก็แข็งแรงขึ้นค่ะ



(ไทเลอร์) ถึงแม้เราจะทำอาหาร 2 อย่างที่เอามารวมกัน 2 สัญชาติ แต่ว่าทั้ง 2 อย่างก็เป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำ ไทเลอร์เองสามารถทำแป้งพิซซ่าออกมาได้ดีเลย กิ๊กเองก็ทำอาหารไทยออกมาได้ดี แล้วพิซซ่าเป็นอาหารที่มีความเก่าแก่มากๆ ไม่แปลกที่จะมีหลายๆ เวอร์ชั่น หลายๆ เมนูที่เขาเอามารังสรรค์กันภายหลัง ซึ่งถ้าเราทำออกมาแล้วมันอร่อย มีคนชอบก็ถือว่าเราทำได้ดี

จุดที่เรากำลังคิดว่าเราจะทำอะไรต่อไปดีจากนี้ ซึ่งตอนนี้เราก็มีไอเดีย ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านฟู้ดทรัคเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าหลังจากที่ได้ทำฟู้ดทรัคมา ถึงแม้ว่ามันจะมีข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง ในการทำอีเวนต์ในประเทศอเมริกา

แต่ว่าก็ถือเป็นหนึ่งธุรกิจที่ได้ผลตอบรับที่ดี ก็เลยคิดว่าอยากจะมีฟู้ดทรัคหลายๆ คัน อาจจะมีการจ้างให้คนเข้ามาช่วยดูแล หรือว่าอาจจะมีการขายแฟรนไชส์ มีคนติดต่อขอเปิดแฟรนไชส์ แล้วก็มีคนไทยที่อาศัยอยู่ในอเมริกาด้วยที่สนใจค่ะ

แต่ว่าที่คิดๆ อยู่ก็คืออาจจะมีการเปิดร้านในไทยด้วย ที่เราอยากทำมากที่สุด ก็คืออยากจะให้คนไทยที่ได้ดูคลิป YouTube ได้ลองชิมพิซซ่าของเราด้วยตัวเอง โดยที่ไม่ต้องบินไปที่อเมริกา

ปีนี้เราอาจจะทำงานที่นี่ (ไทย) ไปจนถึงช่วงหลังเดือนกุมภาพันธ์ เราก็จะกลับไปรับงานที่อเมริกา ก็อยากจะทำพิซซ่าหน้าไทยเพิ่มมาบนเมนูค่ะ เพื่อที่จะให้เป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าที่เขารับเราไปงานอีเวนต์ต่างๆ หรือว่าจะเป็นพวกอีเวนต์ที่เราไปขายตามคอนเสิร์ต อยากจะให้มี signature ที่เพิ่มขึ้นค่ะ”

สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : Facebook “กิ๊กอินเมกา แฟนเพจ”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น