xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องใหญ่ “ป่วยต่างแดน” ศึกษาก่อนเสี่ยงชีวิต บทเรียนเคส “RIP ต้าเอส”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ต้าเอส” เสียชีวิตที่ญี่ปุ่น เพียงเพราะเป็น “ไข้หวัดใหญ่” เผยปมโรงพยาบาลไม่รับ “เลือกปฏิบัติ” หรือ “งานล้นมือ”? อุทาหรณ์ “ศึกษาก่อน” หากไม่อยาก “เสี่ยงชีวิต” จากอาการป่วยในต่างแดน

** เหตุผลเบื้องหลัง รพ.ญี่ปุ่น “ปฏิเสธการรักษา” **


กลายเป็นเรื่องช็อกคอแฟนซีรีส์ กับการสูญเสียดาราดังชาวไต้หวัน อย่าง “ต้าเอส”หรือ “สวีซีหยวน”เจ้าของบท “ซานไช่" จากซีรีส์ดัง “รักใสใสหัวใจสี่ดวง”จาก “ไข้หวัดใหญ่”ระบาดและ “โรคแทรกซ้อนทางปอด”ระหว่างท่องเที่ยวที่ญี่ปุ่น จนเป็นเหตุให้ต้องจากไปกะทันหันในวัย 48 ปี

กลับไปย้อนไทม์ไลน์ จะพบว่าจริงๆ แล้ว “ต้าเอส” เป็นหวัดมาก่อนแล้ว และพอลงเครื่องที่ญี่ปุ่นได้ 1 วัน อาการของเธอก็แย่ลง จนต้องไปหาหมอในโรงพยาบาลท้องถิ่น

หมอที่นั่นระบุชัดว่า เธอป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่สามารถรักษาให้ได้ และแนะให้เธอไปโรงพยาบาลใหญ่แทน จากนั้นก็ให้ยากลับมา ซึ่งมันไม่ได้ช่วยให้อาการของเธอดีขึ้น

กลับกันนักแสดงหญิงรายนี้กลับทรุดหนัก จนญาติๆ ต้องเรียกรถพยาบาลมารับตัวกลางดึกคืนนั้น กระทั่งในเช้าวันต่อมา “ต้าเอสก็เสียชีวิต”


                                        {“ต้าเอส” จากไป เพียงเพราะ “ไข้หวัดใหญ่”}

จากรายงานของ “ET today” สื่อของไต้หวันบอกว่า เธอไปโรงพยาบาลถึง “4 ครั้ง” แต่ได้แค่ยาให้กลับมากินที่โรงแรม จึงวิเคราะห์เอาไว้ว่า เรื่องที่ “โรงพยาบาลญี่ปุ่น ไม่ยอมให้ต้าเอสเข้ารับการรักษา” น่าจะเกิดจาก 2 ประเด็นหลักๆ คือ...

1.โรงพยาบาลญี่ปุ่น มีระบบรักษาแบบลำดับชั้นที่เข้มงวด และโรงพยาบาลเล็กๆ ตามชนบท“อาจไม่มีห้องฉุกเฉิน-ห้อง ICU” หรือแม้แต่หมอประจำเวร ผู้ป่วยจึงต้องถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลใหญ่เท่านั้น
2. โรงพยาบาลญี่ปุ่น ไม่ค่อยอยากรับคนไข้ต่างชาติ แถมยังคิดเงินแพงกว่าถึง 300% รวมถึงตัวหมอเองก็ไม่เต็มใจ รักษาคนไข้ที่ไม่ใช่ชาติตัวเองเท่าไหร่นัก



นอกจากนี้ ยังมีอีกแง่มุมที่น่าสนใจจาก นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งได้โพสต์ผ่านเพจ “หมอเจด” ไว้ว่า ตอนนี้ “ไข้หวัดใหญ่ กำลังระบาดหนักในญี่ปุ่น” ส่งผลให้ที่โตเกียวโรงพยาบาลหลายแห่ง “ไม่รับผู้ป่วย ถ้าอาการไม่หนัก”

ด้าน “Nippon.com”เว็บไซต์ข่าวจากญี่ปุ่นรายว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว (2567) ญี่ปุ่นมีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ถึง “3 แสนกว่าราย” ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 15 ปีเลยทีเดียว

ส่งผลให้มี “คนไข้ล้นมือ” บวกกับ “โรงพยาบาลญี่ปุ่น ไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง” แถมโรงพยาบาลที่เปิดในเวลากลางคืน ก็มีไม่ครบทุกแผนก จึงเกิดเป็นคำถามว่า หรือนี่อาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผล ที่ทำให้ “ต้าเอส” เข้าไม่ถึงการรักษาของสถานพยาบาล



** ศึกษาให้ดี ก่อน “ป่วยต่างแดน” **

แล้วแบบนี้ คนที่คิดจะไปเที่ยวญี่ปุ่น ควรวางแผน-ดูแลตัวเองยังไง? เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์”หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ช่วยวิเคราะห์เอาไว้ให้แล้ว

อย่างแรกที่ต้องรู้คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ในประเทศที่จะเดินทางไป ซึ่งตอนนี้ “ไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์A”กำลังระบาดหนักทั้งใน “ญี่ปุ่น” “ฮ่องกง” และ “ไต้หวัน” ด้วย

โดยตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา “ไต้หวัน”มีผู้ป่วยแล้วกว่า “1.6 แสนคน” ซึ่งถือว่าหนักสุดในรอบ 10 ปีเหมือนกัน ผู้เชี่ยวชาญรายนี้จึงมองว่า ใครที่ต้องการไปประเทศแถวๆ เอเชียตะวันออก “ควรยกเลิก” หรือ “เลื่อนไปก่อน”จะดีที่สุด

“เมื่อมันมีการระบาด ยาก็ไม่พอ แล้วก็ถ้าเกิดไปเจ็บป่วยที่นั่น ก็จะหาโรงพยาบาลที่admit ไม่ได้ เพราะว่าคนป่วยของเขาเอง ก็ล้นมืออยู่แล้ว”


                                          {“เอเชียตะวันออกระบาดหนัก” เลี่ยงได้เลี่ยง}

แต่สุดท้ายแล้ว ถ้ายังอยากไป หรือมีความจำเป็นที่ต้องเดินทางไปจริงๆ “ดร.วสันต์” ก็แนะว่า ให้ถามตัวเองก่อนว่า “เราฉีดวัคซีนป้องกันแล้วหรือยัง?”

คำถามข้อต่อมาคือ “ทำประกันการเดินทาง” ไว้หรือเปล่า? เพราะไม่ว่าจะมีโรคระบาดหรือไม่ นี่คือสิ่งที่ต้องทำทุกครั้งก่อนเดินทาง

“เพราะเราไม่รู้ว่า เราจะเจ็บป่วยที่ไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เขาอาจไม่รับเราก็ได้ แต่ถ้าเรามีการประกันการเดินไปเนี่ย มันจะช่วยได้เยอะครับ”

อีกเรื่องที่สำคัญคือ ให้ “ศึกษาข้อมูล” ประเทศต่างๆ ก่อนเดินทาง เพราะโรคระบาดไม่ได้มีแต่ไข้หวัด อย่างแอฟริกาก็มี “เชื้อEbola”ที่ก็หาวัคซีนรักษาค่อนข้างยาก ฉะนั้น การรู้ว่าเมืองที่ไปมีโรคระบาดอะไร มีระบบสาธารณสุขเป็นแบบไหน คือเรื่องสำคัญ!!



อีกหนึ่งอุทาหรณ์เคสการเสียชีวิตของ “ต้าเอส” จากมุมมองของอาจารย์โรงเรียนแพทย์รายนี้มองว่า คนที่เป็น “กลุ่มเปราะบาง” ไม่ควรออกเดินทางไปยังสถานที่เสี่ยง

กรณีต้าเอส เธอมีโรคประจำตัวทั้ง “ลมชัก” “โรคหัวใจ”รวมถึงมี “ภาวะซึมเศร้า” ทั้งหมดนี้ทำให้ “ภูมิคุ้มกันต่ำ”จนตอบคำถามที่ว่า ทำไมเป็นแค่ไข้หวัดใหญ่ ถึงเสียชีวิตได้

“แน่นอนว่า ไวรัสนี้มันไปทำลายเยื่อบุทางเดินหายใจ เวลา X-ray ปอด 2 ข้างจะเป็นสีขาวไปหมดเลยนะครับ เพราะถูกไวรัสทำลาย จากนั้นมันก็จะมีเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว เข้าไปทำลายซ้ำ”


                                     {“ดร.วสันต์” หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์}

ดังนั้น “กลุ่มเปราะบาง” ที่มีโรคอย่าง “โรคทางเดินหายใจ” “โรคหัวใจ” “เบาหวาน” “มะเร็ง” รวมไปถึง “โรคอ้วน” ฯลฯ

หรือแม้แต่ผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป กลุ่มคนเหล่านี้ แม้จะป่วยแค่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ แต่อาการก็อาจรุนแรง จนถึงแก่ชีวิตได้ จึงควรเลี่ยงการเดินทางไปยัง“พื้นที่ที่มีโรคระบาด” ให้มากที่สุด

แล้วภาพไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดหนักในรอบ 15 ปีของญี่ปุ่น จนหมอมีงานล้นมือแบบนี้ ถามว่าไทยมีโอกาสเสี่ยง ตกในสถานการณ์แบบเดียวนี้ไหม เนื่องจากไข้หวัดใหญ่ ก็ถือว่าเป็นโรคประจำฤดู ที่ระบาดในบ้านเราตลอด

นอกจากนี้ “กรมควบคุมโรค” เอง ก็ออกเปิดเผยว่า ตอนนี้มีคนไทยเป็น  ถึง “17,913 ราย” และเสียชีวิตแล้ว 2 ราย แต่คุณหมอยังมองว่า ในบ้านเรายังไม่น่ากังวลขนาดนั้น

ย้ำชัดว่า ภาพการระบาดหนักแบบญี่ปุ่น หรือไต้หวัน “น่าจะไม่เกิดกับไทย” เพราะเรามีการรณรงค์ให้คนฉีดวัคซีน ป้องกันไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1-2 ครั้งอยู่แล้ว

บวกกับบ้านเราเป็น “เมืองร้อน” ที่มีแสง UV ค่อยฆ่าเชื้อตลอดเวลา ฉะนั้น แม้จะมีการระบาดก็จะไม่หนัก และอัตราการเสียชีวิตจะไม่สูง ต่างจากญี่ปุ่นที่เป็นประเทศเขตหนาว



สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : IG @barbiehsu.fp



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น