xs
xsm
sm
md
lg

ไร้กฎเกณฑ์-แล้วแต่จะตั้งราคา!! เจาะปัญหาเรื้อรัง “บัตรคอนเสิร์ตแพง” เอาเปรียบผู้บริโภค?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เริ่มต้น 2,900 แต่มีที่น้อยเหลือเกินเหมือน “บังคับให้ซื้อบัตรแพง?!!” ไม่ใช่คอนฯ แรก ที่บัตรแพงเวอร์ คอเพลงรุมถามผู้จัด จะ “ตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้เหรอ?” กูรูชี้ อาจเพราะประเทศเรา “ไม่มีกฎเกณฑ์”

** เหมือนบังคับ “ซื้อบัตรแพง” **

ถือว่าเป็นคอนเสิร์ตที่หลายคนตั้งตารอ กับงาน “2025 KISS OF LIFE 1ST WORLD TOUR [KISS ROAD] in BANGKOK”ของวง “KISS OF LIFE” วง K-pop ชื่อดังที่กำลังจะจัดในไทยในเดือน เม.ย.นี้

แต่กลับเกิดดรามาขึ้นเสียก่อน เมื่อแฟนๆ เห็น “ราคาบัตร” แล้วถึงกับต้องร้องโอดครวญ เพราะ “ราคาเริ่มต้น”อย่าง 2,900 และ 4,000 บาท มีจำนวนไม่ถึง 1 ใน 3 ของงาน

นอกนั้นเป็นบัตรราคา 5,000 และ 6,900 บาท จนทำเหล่าแฟนคลับชาวไทยมองว่า นี่มันคือกลยุทธ์ “บังคับให้คนซื้อบัตรราคาแพง”หรือเปล่า?

จนเป็นกระแสตีกลับ ไปยังผู้จัดงานอย่าง “411 entertainment(411ent)” ว่า “ขายบัตรแพงไปไหม” และแห่กันติดแฮชแท็กใน X อย่าง “#411entช่วยฟังเสียงผู้บริโภคสักทีเถอะ”


                             {คอนเสิร์ต “KISS ROAD” แฟนๆ ร้อง บัตรแพงไปไหม}

พร้อมกับทวงถามไปยัง “ภาครัฐ” ว่า เมื่อไหร่จะมีกฎหมายมาควบคุมตรงนี้ เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้ เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งมากแล้ว ร้องเรียนไปก็แล้ว แต่กลับไร้ฟีดแบ็กตอบกลับ

อย่างกรณีคอนเสิร์ต “STRAY KIDS 2ND WORLD TOUR MANIAC” ของวง “Stray Kids”ที่จัดในไทยเมื่อปี 2566 ราคาบัตรเริ่มตั้งแต่ 2,500 ไปจนถึง 8,500 บาท ก็เป็นอีกงานที่ถูกมองว่า “แพงเกินไป”จนทำให้ขายบัตรไม่หมด

ไหนจะเรื่อง “บริหารจัดการ” ที่ไม่ดีอีก ไม่สมกับราคาค่าบัตรอีก ผลักให้คอคอนเสิร์ตรวมตัวกัน ร้องไปยัง “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)”

ตั้งคำถามว่า อะไรทำให้ผู้จัดงานอย่าง “Live Nation Tero” ขายบัตรแพงเกินไป จากนั้น “กรมการค้าภายใน”ก็เรียกบริษัทเข้าชี้แจ้ง แต่แล้วสุดท้าย เรื่องก็จบลงตรงนี้


                                                             {วง “Stray Kids”}

หรืออีกเคสอย่าง “Jackson Wang” ศิลปินชาวฮ่องกง กับงานคอนเสิร์ต “JACKSON WANG MAGIC MAN WORLD TOUR 2022 BANGKOK”ซึ่งมีค่าบัตรแพงสุด อยู่ที่ 18,000 บาท

แต่แลกกับสิทธิพิเศษเพียงเล็กน้อย อย่าง “ได้ยืนใกล้เวที”,“ถ่ายรูปรวมกับแฟนคลับ”จนทำเอาหลายคนมองว่า “ไม่คุ้มเอาเสียเลย”ราคาขนาดนี้ ต้องได้ถ่ายรูปคู่ศิลปิน แบบตัวต่อตัวแล้วหรือเปล่า?


                                          {คอนฯ “Jackson Wang”จ่ายหลักหมื่น แต่แฟนๆ บอกไม่คุ้ม}

เมื่อเกิดดรามาขึ้น Jackson Wang ก็ไม่รอช้า เข้าเจรจากับผู้จัดงาน เปลี่ยนให้บัตรราคา 18,000 บาท "MAGIC 1 VIP PACKAGE" สามารถ "ถ่ายรูปแบบตัวต่อตัว" ได้ จากเดิมกำหนดไว้ให้แค่ "ถ่ายรูปกลุ่ม 5 คน" เท่านั้น

ซึ่งทางผู้จัดก็ยอมตกลง ปรับเปลี่ยนตามนั้น

แต่ถึงอย่างนั้น คอคอนเสิร์ตจำนวนไม่น้อย ก็ยังบ่นเรื่องราคาอยู่ดีว่า แล้วบัตรราคาอื่นมีสิทธิ์อะไรเพิ่มอีกไหม?

                                {ผู้จัดยอม ให้บัตร VIP แฟนๆ ถ่ายรูปตัวต่อตัวกับ Jackson Wang ได้}

** “กฎไม่มี” แถมต้อง “จี้หน่วยงาน” **

ทำไมบ้านเมืองเรา ถึงไม่เคยมีกฎเกณฑ์กำหนดเรื่อง “ราคาบัตร” เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค? “ณัฐวดี เต็งพานิชกุล” เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และทนายความจาก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” ช่วยให้คำตอบไว้
“ต้องบอกก่อนว่า ไอ้พวกสินค้า อย่างบัตรคอนเสิร์ต มันไม่ใช้สินค้าควบคุม อย่างพวกข้าวสาร น้ำมัน ที่เป็นสินค้าจำเป็นอะค่ะ อันนั้นจะต้องควบคุมราคา”

บัตรคอนฯ ต่างๆ คือ “สินค้าเพื่อความบันเทิง” ทำให้ไม่มีเกณฑ์ชัดๆ ว่า ราคาต้องอยู่ที่เท่าไหร่ มีเพียงข้อกำหนดกว้างๆ จาก “พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542”



โดยเนื้อหาระบุว่าห้ามเจ้าของกิจการ จงใจขายสินค้าหรือบริการ ในราคาที่ต่ำหรือสูงเกินกว่าความจำเป็น ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบตรงนี้คือ “กรมการค้าภายใน”

“กรมการค้าภายใน เขาสามารถใช้ดุลยพินิจ ในการที่จะตรวจสอบได้ ถ้ามันเกินสมควร แต่มันก็ยังไม่มีหลักเนอะว่า อันนี้คือต่ำเกินสมควร หรืออันนี้คือสูงเกินสมควร”

พอไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดตายตัว “ผู้จัดคอนเสิร์ต” จึงสามารถตั้งราคาเท่าไหร่ก็ได้ เพราะมันกลายเป็นเรื่อง “ความยิมยอมของทั้ง 2 ฝ่าย” ที่พอใจก็ซื้อ ไม่พอใจก็ไม่ต้องซื้อ

“ประเด็นมันก็อยู่ที่ว่า เขาให้บริการ มันเหมาะสมไหม และเราพึงพอใจ กับการรับบริการหรือเปล่า”

หากราคาที่แพงเกิน “กรมการค้าภายใน” มีอำนาจที่จะ “เข้าไปตรวจสอบ” หรือ “เรียกเจ้าของธุรกิจมาชี้แจง” ได้ แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับ “ดุลยพินิจ” ของเจ้าหน้าที่ว่าจะเอายังไงต่อ



แต่สวนมาก เรื่องก็จะจบลง เพราะเจ้าของกิจการต่างๆ จะใช้เรื่อง “ต้นทุน” มาอ้าง ยกตัวอย่างเคส “ราคาบัตรคอนเสิร์ต” ที่แต่ละโซนมีช่องว่างระหว่างราคา โดดออกมาจนเห็นได้ชัดว่าต่างกันมาก

เกี่ยวกับกรณีนี้ ผู้จัดอาจบอกได้ว่า เพราะโซนที่ราคาถูกกว่า ขายออกยาก ราคาก็เลยต่ำ ส่วนโซนที่ราคาขยับขึ้นมากกว่า เพราะมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

แต่สุดท้ายแล้ว กูรูจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็มองว่า “จริงๆ ราคาตรงนั้น มันอาจจะต่ำกว่านี้ได้หรือเปล่า หรือจริงๆ มันไม่มีต้นทุนอะไรเพิ่มขึ้นหรอก แต่เขาปรับราคาเพิ่มขึ้นเอง เพราะว่ามีความต้องการซื้อสูงเฉยๆ”

ไม่ใช่แค่เรื่องไม่มีหลักเกณฑ์ราคาเท่านั้น แต่การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีปัญหา ทนายรายเดิมเล่าให้ฟังว่า มีหลายเคสที่ร้องเรียนไป แต่ก็ไม่มีการตอบกลับมาว่า เรื่องไปถึงไหนแล้ว ต้องค่อยจี้ถามตลอดเวลา

“ไม่แน่ใจว่า เป็นระเบียบหรือพฤติกรรมเนอะ กรมการค้าภายใน เขาไม่ค่อยได้แจ้งกลับมาเท่าไหร่ มันกลายเป็นภาระของคนที่ไปตามเรื่องว่า เฮ่ย..เขาตรวจสอบไปถึงไหนแล้ว ต้องตามเป็นระยะๆ”


                                      {“ณัฐวดี” ทนายความจาก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”}

** “บัตรแพง” เรื้อรัง เป็นกันทั่วโลก **

ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่เจอปัญหา “บัตรคอนฯ ราคาแพงขึ้น” เพราะประเด็นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก นับตั้งแต่หลังโควิด-19 เป็นต้นมา

อย่างที่รายงานของ “Pollstar” สื่อที่นำเสนอธุรกิจบันเทิงระดับโลกบอกว่า ในปี 2566 ค่าบัตรคอนเสิร์ตเฉลี่ยอยู่ 4,400 บาท เพิ่มจากปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ยเพียง 3,592 บาท ซึ่งถือว่าเพิ่มมาถึง 20% หากเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19

ส่วนบัตรคอนเสิร์ต K-pop ในไทย ช่วงปี 2562 ราคาแพงสุดอยู่ที่ 6,000 บาท แต่ในปี 2567 ราคาแพงสุดกลับพุ่งสูง ถึงขนาดแตะ “หลักหมื่น” เลยทีเดียว ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมาหลายเปอร์เซ็นต์

เหตุที่เป็นแบบนั้น ก็เพราะ “ค่าตัวศิลปิน” ที่เป็นครึ่งนึงของต้นทุนคอนเสิร์ตต่างๆ “เพิ่มขึ้น” โดยเฉพาะ K-pop ที่ “เกาหลีเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ” ในทุกปี ตั้งแต่ปี 2565 นี่ยังไม่รวม “ค่าโปรดักชั่น” กับ “อัตราเงินเฟ้อ” อีก



ต้นทุนพวกนี้เองที่ “เหล่าผู้จัด” อาจเอามาอ้างได้ว่า มันไม่สามารถกำหนดเกณฑ์ราคาที่ชัดเจนได้ เพราะแต่ละปี แต่ละศิลปิน ต้นทุนมันไม่เท่ากัน แต่ถึงอย่างนั้น นักกฎหมายจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็มองว่า...
“ถ้าในอนาคตมันจะมีปัญหานี้มาอีกเรื่อยๆ มันก็ควรจะควบคุมหรือเปล่าว่า ตัวบัตรคอนเสิร์ต มันไม่ควรมีกำไรสูงเกินกี่เปอร์เซ็นต์”

ขอแนะวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ คือให้กำหนดเกณฑ์ไปเลยว่า “ราคาบัตรห้ามทำกำไร เกินกว่าต้นทุนกี่เปอร์เซ็นต์” แบบนี้จะเป็นการควบคุมราคาบัตร ที่ครอบคลุมสมเหตุสมเหตุ และผู้จัดก็จะไม่สามารถเอาเรื่องต้นทุนมาอ้างได้อีก

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : X “@411ent” , Instagram @kissoflife_s2, @jacksonwang852g7, Facebook “Stray Kids”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น