เจาะชีวิตหนุ่มสายศิลป์ สู่ “ตำรวจนักสเก็ตช์ภาพ มือวางอันดับหนึ่ง” สเก็ตช์ภาพ “คนร้าย - คนหาย - คนตาย” คลี่คลายคดี ล่าสุดภาพสเก็ตช์เป็นหนึ่งในเบาะแส จนพบตัวเด็ก ที่หายไปนานกว่า 5 ปี “ดีใจมากเพราะว่าเป็นเคสแรก ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ”
สเก็ตช์อนาคต จน "ปาฏิหาริย์" มีจริง!!
“ถามว่าเป็นมือ 1 เรื่องของการสเก็ตช์ภาพ? จริงๆ แล้วอาจจะเป็นเพราะว่าเราดูแลงานตรงนี้ จากสเก็ตช์ภาพคนร้าย มาเป็นสเก็ตช์ภาพเด็กหาย มาเป็นสเก็ตช์ภาพจากศพ จัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่มันพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในองค์กร
คดีอะไรที่มันสำคัญ เราจะลงไปทำกับเจ้าหน้าที่ ไม่ได้แยกว่าเราเป็นผู้บังคับบัญชา ตรงจุดนี้อาจเป็นจุดที่ทำให้หลายคนที่มองไปถึงคำว่า ‘มือ 1’ ศิลปะที่เรานำเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม จะเดินไปได้ไกลขนาดไหน เราไม่เคยคิด แล้วก็เชื่อว่าที่ผ่านมา เราได้ทำเต็มที่ตามศักยภาพของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นคดีใหญ่ คดีเล็ก มีความสำคัญ แล้วเราก็ภูมิใจหมดทุกเคส”
“พ.ต.อ.ชัยวัฒน์ บูรณะ” หรือ “ผกก.ป้อม” อดีตรองผู้บังคับการศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน บอกกับเราด้วยสายตาที่มุ่งมั่น
ผลงานภาพสเก็ตช์ต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นภาพคนร้าย เด็กหาย หรือแม้กระทั่งศพนิรนาม ล้วนผ่านปลายนิ้วของเขามาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งหลายต่อหลายคดีสามารถคลี่คลายได้ ก็จากผลงานของตำรวจคนนี้ จนได้รับการขนานนามให้เป็น ตำรวจนักสเก็ตช์ภาพ มือวางอันดับหนึ่ง ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
และแม้เขาจะเกษียณอายุราชการมาได้ 1 ปีแล้ว แต่ล่าสุด ผลงานการสเก็ตช์ภาพคนหายที่เคยได้ทำไว้ ก็เป็นอีกเบาะแสที่นำไปสู่การพบตัว “น้องอัษ - เทอญพงษ์ ครอบบัวบาน” ที่หายตัวไปเมื่อ 5 ปีก่อน ตอนที่น้องอายุ 13 ปี และมาพบอีกครั้งในตอนที่โตเป็นหนุ่มแล้ว เคสนี้เรียกว่าเป็นปาฏิหาริย์ก็ว่าได้ เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเจอเด็กหายรายใดเลยด้วยซ้ำ
“เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมาก็ได้ข่าวกัน ประชาชนในประเทศก็น่าจะรู้สึกดีใจแทนกับครอบครัวของน้องเขา โดยการทำงานของการสเก็ตช์ภาพเด็กหาย ให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน ที่พี่เป็นคนริเริ่มที่จะทำขึ้นมา ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา แล้วก็ร่วมกับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ในสมัยที่ท่านยังดำรงตำแหน่งอยู่
[ ปาฏิหาริย์มีจริง พบตัว “น้องอัษ” เด็กที่หายไปนานกว่า 5 ปี ]
เราให้ความสำคัญเป็นระยะเวลาตั้งแต่ปี 56 สิบกว่าปีมาแล้ว ที่เราพยายามที่จะทำภาพสเก็ตช์ของน้องๆ ที่หายไป เยอะมากเป็น 10 กว่าราย แต่ยังไม่พบตัวเลย มาเคสนี้พอได้ข่าวรู้สึกดีใจนะครับ ถึงแม้ว่าภาพสเก็ตช์ มันเป็นการมีส่วนร่วมในการที่เราจะช่วยกันในสังคม ตรงนี้รู้สึกดีใจมาก เพราะว่าเป็นเคสแรกเลย ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ
ผมถือว่ามันจะเป็นแรงกระตุ้น เป็นแรงบันดาลใจต่อไป ให้การทำงานเรื่องของการป้องกัน ปราบปราม หรือว่าการติดตามเด็กหาย ให้ประชาชนทุกคนป้องกันได้มากขึ้นนะครับ แล้วก็ความร่วมมือมากขึ้นครับ
เด็กหายทุกเคส ผมจะเป็นคนสเก็ตช์ภาพน้องๆ ซึ่งการสเก็ตช์ภาพ หลายคนอาจจะไม่เข้าใจว่าภาพนี้เราจะสื่อสารยังไง จริงๆ เราจะเน้นในเรื่องของตำหนิรูปพรรณ เพราะปัจจัยที่สำคัญคือเราไม่รู้เวลาหายไป
ถ้าเกิดน้องไปอยู่ในสภาพที่ดี มีอาหารการกินดี สุขภาพดี ไม่ป่วย ไม่ติดยา เขาจะมีใบหน้าเป็นอีกแบบนึง แต่ถ้าบางคนหายไป แล้วต้องใช้แรงงาน ตากแดด บางคนก็อาจจะมีการติดยาเสพติด หรือเจ็บป่วย ก็จะเป็นอีกสภาพนึง อันนี้เป็นปัจจัย
เพราะฉะนั้น ทุกภาพที่เราสเก็ตช์ เราจึงเน้นความสมบูรณ์ของเด็ก เพื่อเป็นภาพที่ดูแล้วสวยงามสบายใจกับทุกฝ่ายในเรื่องของจิตวิทยาด้วย คนเห็นแล้วก็จะรู้สึก… น้องหายไปแล้วสภาพเป็นอย่างนี้เหรอ อันนี้ก็อธิบายให้เข้าใจในหลักการทำงาน”
[ ภาพสเก็ตช์ “น้องจีจี้” ผลงาน “ผกก.ป้อม” ]
เรื่องราวของเด็กหาย ไม่ใช่มีเพียงแค่น้องอัษ แต่ยังมีอีกหลายภาพสเก็ตช์ที่ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตามหา ซึ่งเคสดังที่ถูกพูดถึงบ่อยและหลายคนน่าจะรู้จักกัน ก็คือ “น้องจีจี้ - ด.ญ.จีรภัทร ทองชุม” ที่หายตัวไปเมื่อปี 2553 ตอนอายุได้ 9 ขวบ ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบตัว
“จริงๆ แล้วเรื่องของการสเก็ตช์ภาพเด็กหายให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน มันก็คือมีการพัฒนาการมาจากการสเก็ตช์ภาพใบหน้าคนร้าย เป็นการสนับสนุนเรื่องของงานสืบสวน แล้วก็ช่วยเหลือประชาชน มันก็เลยมีแนวคิดที่ต่อยอดขึ้นไป
น้องจีจี้หายไปเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2553 แต่เราได้มีการเริ่มคุยกันกับทางกระจกเงาเมื่อตอนปี 2556 ก็เลยมีการประสานงานกัน แล้วก็ลงพื้นที่ไปพบกับพ่อแม่ของน้องจีจี้ ไปพบกับครอบครัว เพื่อจะเก็บข้อมูลเรื่องของภาพถ่าย เรื่องของลักษณะใบหน้าพ่อแม่ เราก็ต้องไปสังเกตด้วย เก็บข้อมูลมาวิเคราะห์ อันนี้คือหลักการทำงาน
ตั้งแต่ปี 2556 เราเริ่มสเก็ตช์ภาพน้องจีจี้ ในอายุที่เพิ่มขึ้นจาก 9 ปีเป็น 12 ปี น้องจีจี้เป็นเคสแรกเลย ที่เราดำเนินการเกี่ยวกับ การสเก็ตช์ภาพ เพิ่มอายุให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า Age Progression ต่อมาในปี 2567 ระยะเวลาก็ห่างไปพอสมควร พี่ก็ได้สเก็ตช์ภาพน้องจีจี้ล่าสุดขึ้นมา เป็นภาพล่าสุดเลย อายุก็ประมาณ 23 ปี
ที่เรากล่าวถึงน้องจีจี้อยู่บ่อยๆ เพราะว่าน้องจีจี้เป็นเคสแรก ที่ทางพี่เองได้ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ทำเป็นภาพสเก็ตช์ขึ้นมาและเผยแพร่ แล้วก็เผยแพร่มาอย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลานึง ภาพของน้องจีจี้และเด็กหายอีกหลายคน ก็ได้รับความร่วมมือจากน้ำดื่มสิงห์ พิมพ์รูปของน้องบนฉลาก ในแต่ละปีก็จะมีกิจกรรมในการรื้อฟื้นความทรงจำ ให้ประชาชนได้ยังนึกถึง
เพราะว่าตราบใดที่เรายังไม่ทราบว่าเด็กเสียชีวิตหรือเปล่า อันนี้คือหน้าที่บทบาทของสังคม บทบาทของเจ้าหน้าที่ตำรวจ บทบาทของประชาชน ต้องช่วยกันให้ความร่วมมือ แล้วก็ช่วยกันติดตาม
เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ครอบครัวของเด็กหาย ประชาชน แล้วก็มูลนิธิกระจกเงา ที่ทำสิ่งนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นแรงกระตุ้นสังคมด้วย แล้วก็เป็นสิ่งที่เพิ่มช่องทางในการติดตามตัวน้องที่หายไปครับ”
ถึงตอนนี้จะมีเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก แต่การสเก็ตช์ภาพ ก็เป็นอีกกระบวนการที่ไม่อาจทิ้งไม่ได้
“ในเรื่องของการสเก็ตช์ภาพ ทั้งสเก็ตช์ภาพคนร้าย แล้วก็การสเก็ตช์ภาพเด็กหาย ที่เราผ่านมาเราพยายามที่จะเพิ่มช่องทางในการสร้างงานตรงนี้ ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีที่มากขึ้น เราก็อาจจะใช้เสริมในการที่จะช่วยต่อยอดศาสตร์ตรงนี้ ในเรื่องของการติดตาม เรื่องของการสเก็ตช์ภาพเด็กหายให้มีอายุเทียบเท่าปัจจุบัน
ปัจจัยสำคัญเลย เราต้องใช้ทักษะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของศิลปะเข้ามาช่วย เพราะว่าอย่างสเก็ตช์ภาพคนร้าย ก็จะเป็นการบอกเล่าจากพยาน ในลักษณะรายละเอียดต่างๆ ที่เขาพบเห็นมา เด็กหาย เรามาศึกษาจากภาพ ศึกษาจากโครงหน้าของพ่อแม่หรือญาติพี่น้องประกอบกัน ในอนาคต AI หรือว่าเทคโนโลยีอาจจะทำได้ แต่ก็นั่นแหละครับ เราก็ต้องควบคู่กันไป
ในเรื่องของเด็กหาย สิ่งที่จะสามารถป้องกันได้ดีที่สุดก็คือสถาบันครอบครัว ก็ขอฝากกับประชาชนทุกท่านเลยว่า เด็กเมื่อหายไปแล้ว เขาจะพาตัวเองกลับมาลำบากมากนะครับ เพราะฉะนั้น สถาบันครอบครัว ความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่ เครือข่ายของเพื่อน ผู้ปกครองอะไรต่างๆ เหล่านี้ จะทำให้เรารู้สถานการณ์ของเด็กรวดเร็วขึ้น”
ชีวิตเปลี่ยนเพราะศิลปะ
สำหรับเรื่องราวชีวิตของตำรวจน้ำดีคนนี้ เมื่อครั้งยังเป็นเด็กชายตัวน้อย เขายอมรับว่าตนเองเป็นคนไม่ถนัดวิชาการ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการวาดภาพนั้น ก็ถือว่าไม่เป็นรองใครเลยทีเดียว
“ในสมัยเด็ก วิชาที่ชอบ ณ เวลานั้นก็เป็นวิชาศิลปะ เราอาจจะเป็นคนที่เรียนไม่ค่อยเก่ง วิชาศิลปะก็เป็นวิชาที่ดูแล้วสบายใจ ในช่วงชั้น ป.4 มันมีกิจกรรมในเรื่องของการเขียนภาพ ที่เราจะต้องเป็นตัวแทนของโรงเรียนวัดดอนไก่เตี้ย ใน จ.เพชรบุรี ไปประกวดก็ได้รับรางวัล ตรงนั้นอาจจะเป็นแรงบันดาลใจ ให้เรารักศิลปะมาถึงปัจจุบันนะครับ
เรายังไม่รู้ว่าศิลปะ มันมีอะไรให้เราได้เรียนต่อ เพราะฉะนั้น การสนับสนุนของผู้ปกครอง ก็สนับสนุนในระดับที่ให้กำลังใจ ให้ความชื่นชม คุณครูศิลปะก็ให้คำชื่นชมครับ เราก็แทบจะรู้อยู่อย่างเดียวเลยว่า ถ้าเรียนศิลปะ ก็เป็นครูศิลปะได้
สำหรับความฝันในวัยเด็ก ไม่มีอะไรที่จะให้เราเป็นต้นแบบ สิ่งที่เราเห็นคือระบบของการรับราชการ มีทหาร มีตำรวจ มีคุณครู มีพยาบาล แรงบันดาลใจมีไม่เยอะนะครับ เราก็จะเห็นแคบๆ มองอะไรที่ไปไกลมาก
เราอยู่ จ.เพชรบุรี มีทุ่งนา มีท้องฟ้า มีบ้านเรือนที่เป็นชนบท เราเห็นแค่นั้นจริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ยากที่จะให้เราคิดต่อว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร จะเรียนอะไร ไม่เหมือนสมัยนี้ เด็กรุ่นใหม่ก็จะมีโซเชียลฯ มีอินเตอร์เน็ต ให้เขาไปเห็นมากมาย”
[ ค้นพบความชอบศิลปะตั้งแต่เด็ก ]
เป็นโชคดีของเขา ที่ความสามารถที่มีได้รับการต่อยอดและไม่ถูกคัดค้านจากครอบครัว แม้ในยุคสมัยหลายสิบปีก่อน ที่อาชีพศิลปินถูกมองว่าไม่มั่นคง และอาจจะยังไม่ได้รับการยอมรับเหมือนในทุกวันนี้ด้วยซ้ำ
“จบ ป.4 เพชรบุรี เรามาเรียนในกรุงเทพฯ เราถึงได้เห็นบ้านเมืองที่แตกต่างจากชนบท เราเริ่มเรียนรู้ ได้มีการศึกษาข้อมูลต่างๆ ว่ามีสถานศึกษาอะไรบ้าง ก็มีแอบคิดไว้เหมือนกัน ว่าศิลปะก็เป็นแนวทางในการที่เราสนใจ อยากที่จะเรียนต่อ
พอหลังจากจบระดับมัธยม เราเลือกเรียนที่สายอาชีพ ที่โรงเรียนไทยวิจิตรศิลป์ ซึ่งเป็นสายศิลปะ จนเรียนจบในระดับ ปวช. ทีนี้ความยากมันอยู่ตรงที่ว่า สถาบันที่เราจะเข้าไปศึกษาต่อคือวิทยาลัยเพาะช่าง เป็นสถาบันซึ่งมีชื่อเสียง แล้วก็คนที่ไปสอบมีจำนวนมาก เราเองมีความคาดหวังไว้สูง ว่าเราเลือกเดินสายศิลปะ จะต้องเข้าเพาะช่างให้ได้
พอเราสอบเข้าไปได้ ก็เป็นความภูมิใจนะครับ คณะที่เราสอบเข้าไปคือวิจิตรศิลป์ เอกจิตรกรรมสากล ซึ่งตรงกับที่ใจเราคิด ช่วงที่เราเรียนเพาะช่าง เราก็ยังไม่รู้นะครับว่าจบไปเราจะทำงานอะไร
การที่เป็นศิลปินหรือเรียนศิลปะ สังคมในสมัยนั้น เขาก็จะมองว่าเรียนจบแล้วไปทำอะไร มันยังเป็นมุมที่แคบอยู่ แต่ก็เป็นความโชคดีที่ทางครอบครัว หรือคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้จำกัดเราในจุดนั้น ไม่เคยจำกัดว่าจะเรียนอะไร หรือคัดค้านมาว่าไม่ควร เขาปล่อยให้เราเรียนตามที่ใจเราชอบ อันนี้ก็โชคดี ก็ทำให้เราเดินมาถึงจุดนี้ได้ถึงปลายทางด้วยความภาคภูมิใจครับ”
แน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน อาชีพที่เลือกย่อมเกี่ยวข้องกับศิลปะ แต่ด้วยอายุที่มากขึ้นทุกวัน จึงมองหาความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ทำให้พนักงานเอกชนหนุ่มคนนี้ มีความคิดที่จะลองท้าทายตนเองไปสู่อีกเส้นทาง
“เมื่อจบเพาะช่าง เราก็ไปสอบต่อที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ปีแรกดูหนังสือเต็มที่ สอบไม่ได้ ก็มีความท้ออยู่เหมือนกัน ก็มุ่งหน้าทำงานอย่างเดียว จนไปสอบปีที่ 2 สอบได้ ก็เข้าไปเรียนต่ออีก
พอจบมาก็ทำงานบริษัททั่วไป บริษัทโฆษณาเล็กๆ บ้าง โรงพิมพ์บ้าง บริษัทที่เกี่ยวกับศิลปะ สมัครที่ไหนได้ก็ทำหมด ก็ทำไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดนึง สุดท้ายเราก็มองความมั่นคงในการใช้ชีวิต เราจะนำสิ่งที่เราเรียนมาเพื่อก้าวหน้าไปถึงจุดที่น่าพอใจ ความมั่นคงที่น่าพอใจคือตรงไหน เราก็เริ่มมองหาแล้ว
มีอยู่ช่วงนึง เราก็ไปเห็นภาพสเก็ตช์ใบหน้าผู้ต้องสงสัย ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ออก TV มุมมองของเราตอนนั้น ก็มองว่าสิ่งที่เราจบมา เป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปะ เป็นการศึกษาด้านศิลปะ เราจะเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในองค์กรต่างๆ ได้ไหม
เผอิญว่าเรามองไปถึงองค์กรตำรวจ ซึ่งมันมีเรื่องของภาพสเก็ตช์ เรานำศิลปะมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมได้แน่นอน แล้วเกิดประโยชน์ในการที่จะติดตามจับกุมตัวคนร้ายได้ เราก็รู้สึกว่าเป็นที่สนใจ จึงพยายามที่จะสอบเข้ามาในองค์กรตำรวจ”
“Artist - Police” ต่างศาสตร์แต่ลงตัว
หนุ่มสายศิลป์วัย 34 ปีในตอนนั้น ตัดสินใจครั้งใหญ่ เบนเข็มจากพนักงานบริษัทเอกชน มาสู่เส้นทางสีกากี แน่นอนว่าทุกอย่างต่อจากนี้คือประสบการณ์ใหม่ ที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
“เราไม่เคยรู้มาก่อนว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีส่วนงานอะไรบ้าง ด้วยความที่เราทำงานเอกชนมาตลอด ทีนี้เราก็เริ่มศึกษา เริ่มรู้ว่ามันมีหน่วยงานของกองทะเบียนอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ซึ่งหน่วยงานนี้จะเป็นหน่วยงานที่มีคนที่มีวุฒิเฉพาะด้าน อย่างเช่น จบวิทยาศาสตร์ ก็ไปอยู่ในเรื่องของการตรวจพิสูจน์ ในกองทะเบียนอาชญากร
ในส่วนงานของฝ่ายทะเบียนประวัติอาชญากร 2 มันมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานสเก็ตช์ภาพคนร้าย เราก็เลยมุ่งเป้ามาในจุดนี้ ในช่วงเวลาที่เราเข้ารับราชการตำรวจ ก็อาจจะช้ากว่าคนอื่นเขา เราเข้ามาตอนที่อายุประมาณ 34 นะครับ
ตอนที่เราเข้ามาตอนแรก เรายังปรับตัวได้ยากเหมือนกัน คนที่ทำงานเอกชนเข้ามาสู่ในองค์กรตำรวจ ต้องไปอบรม ต้องปฏิบัติตามระบบระเบียบวินัยต่างๆ เรื่องการทำงานก็มีการปรับตัวเยอะนะครับ การสเก็ตช์ภาพใบหน้าคนร้าย การที่เราไม่เห็นบุคคลที่เราจะเขียน โดยมีพยานหรือผู้เสียหายเป็นผู้ที่ถ่ายทอดข้อมูล ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็เป็นความท้าทายสำหรับเรา
เพราะว่าตั้งแต่เรียนศิลปะมา ก็ไม่เคยรู้ศาสตร์นี้มาก่อน เราก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติม หาแนวทางปฏิบัติงาน ก็พัฒนาเพื่อที่จะทำยังไงให้มันสนับสนุนงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดีที่สุดนะครับ”
[ ยุคเปลี่ยนผ่านการสเก็ตช์ภาพ จากดินสอสู่หน้าจอคอมพ์ฯ ]
ในตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นยุคเปลี่ยนผ่าน จากการสเก็ตช์ภาพด้วยดินสอ ก็เริ่มมีเทคโนโลยีอย่าง ‘คอมพิวเตอร์’ เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น
“เริ่มเข้ามาทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร ในปี 2539 เป็นช่วงเวลาที่คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทแล้วในประเทศไทย แล้วก็เป็นช่วงที่พัฒนาในเรื่องของโปรแกรม ที่จะนำมาช่วยในการสเก็ตช์ภาพ
สมัยก่อนจะมีผู้ที่ปฏิบัติงานอยู่ 3-4 คน เพราะว่าบุคลากรในด้านของงานสเก็ตช์ภาพจริงๆ แล้วหายาก คนที่เข้ามารับราชการในยุคนั้น เขาก็ยังมองว่ารายได้น้อย คนจบมาก็มุ่งเป้าไปที่บริษัทโฆษณา ในส่วนของเอกชนซะส่วนใหญ่
ก่อนหน้านั้นจะมีการใช้ดินสอ สเก็ตช์บนกระดาษก็เลิกใช้ ปรับเปลี่ยนมาใช้คอมพิวเตอร์แทน ยุคเริ่มจะเป็นเครื่องของ Macintosh เข้ามาใหม่ๆ ก็จะมีราคาที่สูง ในยุคนั้นเราก็จะมีการสร้างโปรแกรมที่ชื่อว่า PI'CASSO
ตั้งแต่ปี 2535 ก็มีการปรับปรุงอะไรมาเรื่อยๆ เราก็ปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่อง PC หลังๆ ก็เลยพัฒนาไปใช้ในโปรแกรม Photoshop ซึ่งสามารถที่จะตอบสนองการทำงานได้ค่อนข้างเยอะนะครับ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราใช้กันตลอดมา”
แม้จะมีอุปกรณ์ที่ไฮเทคขึ้นเพื่อช่วยในการทำงาน แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ใหม่ ที่ต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร
“สำหรับเรื่องของคอมพิวเตอร์ จริงๆ เมื่อเราเข้ามาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เป็นเรื่องที่ใหม่เหมือนกัน เพราะว่าก่อนที่จะออกมาจากบริษัทโฆษณา ก็เป็นจุดเริ่มเหมือนกันที่คอมพิวเตอร์เข้ามาทดแทน เรายังเรียนรู้ได้ไม่เยอะนะครับ
เข้ามาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราก็ต้องมาฝึกในเรื่องของการใช้คอมพิวเตอร์ ความเข้าใจ คำสั่งอะไรต่างๆ ที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ ไหนยังเรื่องของการใช้เมาส์ ที่จะมาแทนปากกาในการเขียนรูป ตรงนี้มันเป็นอุปสรรคค่อนข้างเยอะ
ยุคแรกจะเป็นการใช้เมาส์ที่ไม่มีเมาส์ปากกานะครับ เป็นสิ่งที่ยากมาก เราเองใช้เวลาฝึกฝนอยู่พอสมควร การลากเม้าส์มันไม่ได้เป็นไปตามที่ใจเรานึก มันไม่เป็นไปตามที่สายตาเรามอง เราลากมาตรงอย่างนี้ แต่ในหน้าจอมันไปมุมไหน
เราต้องมีการทำความเข้าใจ ปรับการนั่ง การวางมืออะไรต่างๆ ผมว่ามันยากมากสำหรับจุดเริ่ม ณ ยุคนั้น ถ้าเป็นเด็กสมัยใหม่ ยุคนี้เกิดมาก็เห็นคอมพิวเตอร์แล้ว ได้ใช้ ได้สัมผัส ยุคนั้นเราอายุเยอะแล้ว ก็เป็นสิ่งที่เราปรับตัวเยอะนะครับ”
ช่วงเวลาที่นักสเก็ตช์ภาพมือฉมังรายนี้รับราชการ ก็ได้พัฒนาส่วนงานนี้มากมาย ทั้งการร่วมจัดทำฐานข้อมูลชิ้นส่วนต่างๆ บนใบหน้า เปลี่ยนจากภาพขาวดำเป็นภาพสี และพัฒนาโปรแกรมประกอบภาพเบื้องต้น ที่ประชาชนก็สามารถใช้ได้
“เมื่อคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาท ยุคแรกๆ เราก็จะเขียน drawing บนกระดาษ เอาไปสแกน แล้วก็เก็บเป็นไฟล์ไว้ โดยแยกลักษณะใบหน้าและชิ้นส่วนต่างๆ บนใบหน้าทั้ง 7 ชิ้นส่วน ก็มีโครงหน้า มีทรงผม มีใบหู มีตา มีคิ้ว มีจมูก มีปาก
แต่ละชิ้นส่วนก็จะมีจำนวนมาก แยกเป็นหมวดหมู่ไว้ เป็นฐานข้อมูล เมื่อพยานหรือผู้เสียหายมาปั๊บ เราให้เขาดูชิ้นส่วนเหล่านี้ ให้เขาเลือกมา แล้วเราก็ยกมาประกอบ ก็ได้มีการร่วมกันเขียนชิ้นส่วนเป็นฐานข้อมูลเก็บครับ
ในยุคที่ผมเข้ามา ก็เป็นสเต็ปที่ 2 ของการพัฒนาจากการ drawing ด้วยดินสอมาเป็นคอมพิวเตอร์ ผมเองก็มีส่วนร่วมในการที่จะสร้างชิ้นส่วนเหล่านี้ ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการสเก็ตช์ภาพคนร้ายจนถึงปัจจุบัน
ในปัจจุบันฐานข้อมูลที่สร้าง ถูกประกอบเป็นใบหน้าเป็นร้อยเป็นพัน เราก็พัฒนาไปอีกว่าเราไม่ได้ดูชิ้นส่วนเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราจะให้ดูภาพของใบหน้าทั้งภาพ บางครั้งมันมีประโยชน์ตรงที่ว่า คนเราบางทีจำใครก็แล้วแต่ จำลักษณะความคล้ายได้ แต่จำรายละเอียดไม่ได้ บางครั้งภาพเหล่านั้นมันอาจจะมีความคล้ายที่จะไปกระตุ้นให้เขาได้ฟื้นความทรงจำได้ดีขึ้น
จนถึงปัจจุบันนี้ เลยเป็นภาพสเก็ตช์จัดเป็นรูปเล่มไว้ พยานมาดู อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เราให้พยานได้รื้อฟื้นความทรงจำได้ง่าย ตอนหลังเราก็เลยพัฒนาภาพเป็นภาพสี หลังจากสมัยก่อนเป็นขาวดำทั้งหมด โดยพี่เองก็เป็นคนที่ริเริ่มตรงนี้
พอในช่วงนึง ก็มีการสร้างโปรแกรม Z-Face Sketch เป็นโปรแกรมที่เก็บฐานข้อมูลของใบหน้า แล้วก็ใช้ได้บนมือถือ พอประชาชนพบกับเหตุการณ์หรือพฤติกรรมบุคคลที่ต้องสงสัย ก็สามารถที่จะใช้โปรแกรมนี้ประกอบภาพขึ้นมาได้เบื้องต้น เพื่อบันทึกความทรงจำ นี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เราพัฒนาขึ้นมา”
ตำหนิรูปพรรณ ชี้ตัว “คนร้าย - คนหาย - คนตาย”
ถามต่อถึงเรื่องราวของหน้าที่ส่วนนี้ ผกก.ป้อม ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าการสเก็ตช์ภาพคนหาย แทบจะเป็นสิ่งสุดท้ายของขั้นตอนการค้นหา แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องทำ เพราะแม้เวลาจะผ่านไปนานเพียงใด ครอบครัวของผู้สูญหาย ก็ยังคงรอคอยการกลับมาของสมาชิกในครอบครัว อย่างมีความหวังเสมอ
“มีคนถามหลายคน ว่าเราเจอไหม สเก็ตช์ไปแล้วเราได้กลับคืนมาไหม จริงๆ ต้องขอบอกว่าภาพสเก็ตช์ เรียกว่าเป็นช่องทางเกือบสุดท้ายแล้ว หลังจากเด็กหายไปหลายปี ติดตามอย่างต่อเนื่องแต่ก็ยังไม่พบ ช่องทางนี้เป็นช่องทางที่จะเพิ่มขึ้น
การอัปเดตภาพสเก็ตช์ก็จะมีช่วงเวลา ถ้าอายุไม่ถึง 15 เนี่ย 3 ปีเราก็สเก็ตช์ครั้งนึงเพิ่มอายุ แต่ถ้าเกิน 15 ปี ก็จะเว้นระยะ 5 ปี เพราะมันเป็นกระบวนการสุดท้ายที่ค่อนข้างยากแล้ว แต่เราต้องทำ
เราทำงานร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ต้องลงพื้นที่ไปพบกับพ่อแม่ หลายคนเราก็ยังติดต่อกัน ไปเยี่ยมเยียนเป็นระยะ ความรู้สึกมันก็ใกล้ชิดกัน เราต้องการให้ครอบครัวของเด็กหายได้ลูกกลับมา ไม่ว่าจะเป็น 10 ปี 20 ปี พ่อแม่ทุกคนยังมีน้ำตา
มีผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวเวียดนาม เขาลี้ภัยตั้งแต่ปี 2527 เขาเดินทางไปประเทศอเมริกา ในครอบครัวมีลูกผู้หญิงคนนึงพลัดพรากกันแล้วสูญหายไป เมื่อปี 2566 ครอบครัวเขามาเมืองไทย มาให้ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ทั้งตำรวจ ทั้งกระจกเงาช่วย
พี่มีโอกาสได้ช่วยสเก็ตช์ภาพตรงนี้ขึ้นมา พ่อแม่เขาก็ยังน้ำตาไหลอยู่ด้วยความคิดถึง ดีใจที่เราเข้ามาช่วยเหลือ อันนี้เป็นสิ่งที่ให้เห็นชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาที่นานขนาดไหน ความเป็นพ่อเป็นแม่ของคนที่สูญหาย เขาไม่มีวันลืม”
[ อีกหนึ่งเคสคนหาย ที่ยังรอปาฏิหาริย์ ]
นอกเหนือจากนั้น ยังมีอีกงานสำคัญก็คือ การสเก็ตช์ภาพจากศพ ที่ต้องอาศัยทั้งศิลปะและหลักกายวิภาคเข้าด้วยกัน
“พอเราเริ่มทำงานไป เราเห็นความเดือดร้อนของประชาชนในสังคม เราก็ไปรับรู้ปัญหาเรื่องเด็กหาย ก็เลยมีการทำงานในเรื่องของการสเก็ตช์ภาพเด็กหายขึ้นมา พอถึงจุดนึง เราก็มองเรื่องของการสเก็ตช์ภาพจากศพ ก็น่าจะมีความสำคัญ
สภาพศพที่เราเจอ แม้แต่ญาติก็ยังจำไม่ได้ ข้อมูลเอกสารอะไรต่างๆ ไม่มี ช่วงแรกเรายังไม่รู้ว่าผู้เสียชีวิตคือใคร ก็เรียกว่า ศพนิรนาม เราก็เลยมีความคิดว่าสิ่งที่เราจะพัฒนาต่อ คือการช่วยพนักงานฝ่ายสืบสวน ในการสเก็ตช์เป็นภาพขึ้นมา
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าภาพนั้นจะเหมือน 100% สภาพของผู้เสียชีวิต จะต้องเหลือร่องรอยตำหนิรูปพรรณที่ให้เราเห็น ให้เราได้วิเคราะห์ ให้เราได้ใช้หลักของกายวิภาค ใช้หลักของศิลปะเข้าไปสร้างเป็นภาพขึ้นมานะครับ
ศพที่เราได้มีการสเก็ตช์บ่อยๆ เป็นศพที่ลอยน้ำ สภาพศพกว่าจะเจอก็หลายวัน บางครั้งเราไปดูในสถานที่เกิดเหตุ เราเห็นใบหน้าของผู้เสียชีวิตอืดบวม แต่ร่องรอยตำหนิรูปพรรณ ลักษณะของชิ้นส่วนต่างๆ ยังมีให้เราพอที่จะสังเกต
แต่บางครั้งการที่เราจะวิเคราะห์ใบหน้าของศพวันแรกที่ลอยน้ำมา จากประสบการณ์จะเห็นว่าเราถ่ายรูปเก็บไว้ แต่หลังจากนั้นอีก 4-5 วัน เราจะต้องกลับไปถ่ายรูปอีกครั้ง เพราะสภาพศพ พอขึ้นมาจากน้ำแล้ว จะมีการปรับเปลี่ยนไปสู่สภาพเดิมได้มากยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ใบหน้ามีความเปลี่ยนแปลง ตรงนี้เราจะเก็บภาพไว้ส่งภาพและนำมาวิเคราะห์ แต่ภาพที่ 2 มีประโยชน์มากกว่า
อันนี้เขาเรียกว่าเป็นสิ่งนึง ซึ่งเราพัฒนามาจากเรื่องของงานสเก็ตช์ภาพคนร้าย เป้าหมายคือช่วยเหลือฝ่ายสืบสวน เขาเรียกว่าเป็นอีกมิติหนึ่ง เรื่องของบทบาทหนึ่ง ที่จะทำให้มันเป็นประโยชน์ต่อสังคม”
ตำรวจมือสเก็ตช์คนดัง ยังได้แชร์ประสบการณ์สุดตื่นเต้น กับคดีที่ต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์ด่วน เพื่อเดินทางไปสเก็ตช์ภาพคนร้าย ซึ่งเป็นการทำงานแข่งกับเวลาภายใต้ความกดดันอย่างสูง
“การทำงานของการสเก็ตช์ภาพคนร้าย ความสำคัญอยู่ที่ความรวดเร็ว เพราะว่าเมื่อพยานหรือผู้เสียหายเขาจำลักษณะใบหน้าของผู้ต้องสงสัยได้ ทางเจ้าหน้าที่ทางฝ่ายสืบสวนหรือพนักงานสอบสวน ต้องส่งตัวพยานไปให้เจ้าหน้าที่ทำการสเก็ตช์ภาพทันที เพราะว่าเขาไม่สามารถที่จะจำได้ยาวนาน เพราะว่าไม่ได้มีความสำคัญอะไรกับเขา
มีเคสเกิดเหตุที่ จ.ชลบุรี ที่พัทยา ก็เป็นคดีที่ชาวต่างชาติฆ่าเพื่อนต่างชาติด้วยกัน เช้าวันหนึ่งก็มีคำสั่งให้ได้ขึ้นฮอฯจากโรงพยาบาลตำรวจบินไปพัทยา แล้วก็ไปสเก็ตช์ภาพคนร้าย ปรากฏว่า พอสเก็ตช์ขึ้นมา ภาพนั้นมันมีตำหนิรูปพรรณ ที่ทำให้พนักงานสอบสวนหรือฝ่ายสืบสวน สงสัยบุคคลต้องสงสัย แล้วก็สามารถรู้ตัวได้ในวันนั้น
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ยกให้เห็นว่าในการสเก็ตช์ภาพคนร้าย ถ้าพยานหรือผู้เสียหายจำได้ ให้ข้อมูลได้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเจ้าหน้าที่ที่มีศักยภาพมีทักษะอยู่แล้ว เราสนับสนุนฝ่ายสืบสวน แล้วก็จะทำให้ เราทราบตัวคนร้ายได้เร็วขึ้น”
ปิดทองหลังพระ ศิลปะเพื่อสังคม
ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษ ที่ตำรวจผู้นี้ ทำหน้าที่สเก็ตช์ภาพ ถ่ายทอดใบหน้าในคดีต่างๆ ผ่านปลายนิ้วมาจนนับไม่ถ้วน แม้ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่คอยเป็นหูเป็นตา สอดส่องพฤติกรรมของผู้คนตลอด 24 ชั่วโมง แต่ถึงอย่างนั้นการสเก็ตช์ภาพก็ยังมีความสำคัญ และไม่อาจมองข้ามขั้นตอนนี้ได้
“ในช่วงระยะย้อนหลังไป 10 - 15 ปี ภาพสเก็ตช์มีบทบาทค่อนข้างสูง สถิติต่อเดือนโดยเฉลี่ย 100 ภาพ หลังๆ จนถึงปัจจุบัน การสเก็ตช์ภาพคนร้ายมีสถิติที่ลดลง อันเนื่องมาจากเทคโนโลยี กล้องวงจรปิดที่มีอยู่แทบทุกบ้าน แทบทุกจุด อันนี้เป็นสิ่งที่ดี ที่ทำให้แนวทางการสืบสวนง่ายขึ้น ภาพสเก็ตช์ก็มีบทบาทลดลง แต่นั่นไม่ได้หมายถึงว่าภาพสเก็ตช์หมดความสำคัญ
[ บรรยายพิเศษตามโอกาสต่างๆ ]
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีจะก้าวไปไกลขนาดไหน แต่คนก็ยังมีความสำคัญเหนือเทคโนโลยี สถิติที่เราจะทำงานด้านนี้ลดน้อยลง แต่เรายังทิ้งความสำคัญไม่ได้นะครับ เพราะว่าคนร้ายก็ไม่หยุดอยู่กับที่
ในอนาคตหรือในปัจจุบัน คนร้ายเริ่มมีการพรางใบหน้า เริ่มหลบหลีกที่จะปะทะกับกล้องวงจรปิด เริ่มใช้วิธีอะไรก็แล้วแต่ ที่จะเลี่ยงไม่ให้กล้องสามารถบันทึกภาพได้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น คนที่พบเห็นคนร้ายก่อนที่จะมาถึงสถานที่เกิดเหตุ ก็จะให้ข้อมูลในการสเก็ตช์ภาพได้เหมือนเดิม อันนี้คือความสำคัญแน่นอน เราไม่สามารถทิ้งได้เรื่องงานสเก็ตช์ภาพ
จากที่เรารับราชการมา ดูแลเรื่องของงานสเก็ตช์ภาพใบหน้าคนร้าย ก็คิดว่าเราทำมาเต็มที่ ไม่ว่าคดีเล็กหรือคดีใหญ่ เราก็สามารถช่วยเหลือสังคมได้เยอะ คดีใหญ่ๆ ก็เป็นคดีสี่แยกราชประสงค์ มีการสเก็ตช์ภาพเหมือนกัน ก็สามารถที่จะทำให้ทางฝ่ายสืบสวน รู้เบาะแสจากประชาชน ก็เป็นสิ่งที่เราทำมาคิดว่าเต็มที่ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน”
แม้ในตอนนี้ ผกก.ป้อม จะเกษียณอายุราชการมาได้ 1 ปีแล้ว แต่เขาก็ไม่หยุดที่จะใช้ความสามารถ ในการอุทิศตนช่วยเหลือสังคม ทั้งการถ่ายทอดวิชาความรู้ และการเยียวยาจิตใจผู้คนผ่านงานศิลปะและบทเพลง
“เกษียณมา 1 ปี แต่ก็ยังมีบทบาทในการเป็นอาจารย์พิเศษ ให้กับนักเรียนนายร้อย ที่โรงเรียนนายร้อย สามพราน แล้วก็เป็นอาจารย์พิเศษหลักสูตรสืบสวน ในส่วนของเอกชน ก็ยังเป็นอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่ขอนแก่นกับที่อุบลราชธานี อะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อประชาชน เราทำต่อเนื่องมาตั้งแต่รับราชการตำรวจจนถึงปัจจุบัน
สำหรับศิลปะที่นำเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ในระยะหลังมันก็มีเรื่องของเสียงเพลงด้วยนะครับ ช่วงเวลาของโควิดที่เข้ามาระบาด เราก็ทำเพลงขึ้นมาเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ ในช่วงเวลาที่ประชาชนมีความเดือดร้อน เชื่อว่าเสียงเพลงมันช่วยได้ เวลานั้นก็แต่งเพลง ‘จากนี้... เราจะเดินเคียงกัน’ แล้วก็จะมีอีกหลายๆ เพลง ที่แต่งออกมาเพื่อสังคม
เรื่องของเด็กหายก็จะมีเพลงด้วย เพลง ‘เธอหายไป ขอให้ได้พบเธอ’ แต่งขึ้นมาเพื่อกระตุ้นสังคม เราควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กหาย ก็ร่วมกิจกรรมกับ “น้องเพชร - ด.ญ.วิมลวัลย์ ทรายสถิตย์” ที่เล่นกีตาร์ เราแต่งเพลง แล้วให้น้องเขามาร่วมเล่น ไปทำกิจกรรมร่วมกัน ในเรื่องของจิตอาสาเพื่อสังคม
เข้ามาเป็นตำรวจก็ไม่ทิ้งงานศิลปะ เมื่อปี 2563 ก็จัดนิทรรศการแสดงเดี่ยว ที่บ้าน อ.ศิลป์ พีระศรี ก็เป็นภาพเขียนของบุคคลสำคัญ เป็นภาพวิวทิวทัศน์ แสดงงานศิลปะ แล้วก็มีการประมูลเอารายได้ช่วยสังคม ก็ได้อยู่หลายชิ้นนะครับ
ในการแสดงงานครั้งนั้น เราก็จะใช้เรื่องของการทำงานศิลปะ กับศิลปะในกระบวนการยุติธรรม โดยมีรูปของน้องจีจี้ด้วยไปแสดงด้วย เพื่อที่จะให้คนในสังคมได้เข้ามาเรียนรู้ ว่าศิลปะก็ยังมีศิลปะในกระบวนการยุติธรรม
ในการแสดงงานในครั้งนั้น ก็จะมีทั้งเรื่องของงานสีน้ำ งาน drawing สีน้ำมัน ที่มีผลงานเยอะที่สุดจะเป็นงานที่เราใช้คอมพิวเตอร์ในการสเก็ตช์ภาพ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการสเก็ตช์ภาพคนร้าย เราก็มาพัฒนาทำเป็นภาพเขียนโดยการใช้โปรแกรม เขียนมาเป็นภาพที่เป็น portrait นะครับ อันนี้ก็เป็นภาพที่เราสามารถทำได้ดี ในส่วนของการทำงานตรงนี้”
สุดท้ายนี้ มือสเก็ตช์ภาพคนร้ายเบอร์ 1 ของไทย บอกกับเราว่า การตัดสินใจเข้ารับราชการในวันนั้น เป็นเส้นทางที่เลือกถูกแล้วสำหรับตนเอง เพราะการสร้างประโยชน์ให้สังคมคือสิ่งที่ภูมิใจที่สุด ในฐานะผู้รับใช้ประชาชน
“ในวันที่เราเลือก จากการทำงานในส่วนของเอกชน เรื่องของรายได้ ในยุคนั้นมันมากกว่าการรับราชการ แต่เราอาจจะไม่ได้มองถึงเรื่องรายได้ เรามองว่าอะไรที่มันเป็นประโยชน์ต่อสังคม มันน่าจะภูมิใจ
เราทำงานเอกชน เราทุ่มเทให้กับบริษัท ก็เป็นส่วนที่บริษัทได้รับสิ่งนั้น แต่ถ้าเราทำงานในภาครัฐ อย่างเช่น องค์กรตำรวจ สิ่งที่เราทุ่มเทไปมากเท่าไหร่ ประชาชนได้รับมากเท่านั้น อันนี้ก็คือสิ่งสำคัญที่เป็นแนวคิด และความคิดนี้มันก็มากขึ้น เมื่อเราได้สัมผัสกับประชาชน ได้เห็นความเดือดร้อนของประชาชน เป็นแรงกระตุ้นและเป็นแรงบันดาลใจให้เราทำงาน
ถ้าถามว่าในการรับราชการตำรวจ มีสิ่งอะไรที่ทำให้เราเหนื่อยหรือบั่นทอนจิตใจ พูดตรงๆ เลยว่าไม่มี มีมันก็เล็กน้อย มันเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเรามองถึงสิ่งที่เราทำมันเกิดประโยชน์ เราทำสิ่งที่มันถูกต้องและช่วยเหลือประชาชน
แล้วก็ต้องขอขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ทำให้ชีวิตคนคนหนึ่ง มีโอกาสได้ช่วยเหลือสังคมได้เยอะ อันนี้เป็นสิ่งที่ฝากถึงพี่น้องตำรวจทุกคนด้วยครับ ตั้งแต่วันแรกของการรับราชการ เราก็พยายามที่จะพัฒนาสิ่งต่างๆ ซึ่งมันเป็นประโยชน์ต่อองค์กร ให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อที่จะทำประโยชน์ให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด”
7 ชิ้นส่วนบนใบหน้า ยิ่งจำได้ ยิ่งช่วยไขคดี “เบื้องต้นในกระบวนการของการสเก็ตช์ภาพใบหน้าคนร้าย หรือใบหน้าบุคคลต้องสงสัย ทางพนักงานสอบสวน ต้องคัดสรรพยานที่จำได้ การทำงานสเก็ตช์ภาพ พยานเป็นหัวใจสำคัญที่จะให้ข้อมูล ถ้าไม่มีพยาน ก็ไม่สามารถสเก็ตช์ขึ้นมาได้ เมื่อพยานหรือผู้เสียหายมาพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ทำหน้าที่ด้านสเก็ตช์ภาพ สิ่งสำคัญเลย ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะซักถามพยาน หรือฟื้นความทรงจำของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วก็ใบหน้าของผู้ต้องสงสัยหรือคนร้าย ว่ามีลักษณะแบบไหน เราจะมีชิ้นส่วนต่างๆ ที่สร้างขึ้นเอาไว้ ให้ผู้เสียหายหรือพยานดู ในฐานข้อมูลจริงจะมีประมาณ 100 ภาพ ทั้งหมดจะเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นมาจากชิ้นส่วนจริงๆ ของคนต้นแบบ มีทั้ง 7 ชิ้นส่วน โครงหน้า ทรงผม ใบหู ตา คิ้ว จมูก ปาก ชิ้นส่วนเหล่านี้ คือองค์ประกอบของใบหน้า ที่จะทำให้ภาพออกมาคล้ายมากน้อยขนาดไหน ชิ้นส่วนแรกเป็น ใบหน้า จะแบ่งเป็น 4 ลักษณะ ก็คือ กลม รูปไข่ สี่เหลี่ยม หรือสามเหลี่ยม พอเราได้ชิ้นส่วนแรกแล้ว ชิ้นส่วนต่อไปก็คือของ ทรงผม เราก็จะมีทั้งผู้หญิง ผู้ชายด้วย ต่อไปก็จะเป็น ดวงตา ลักษณะตา ก็จะเป็นตาที่โต ตาที่เล็กหน่อย ทรงยาว หรือเปลือกตาตกลง เราอาจจะผสม คิ้ว มาด้วย คิ้วของคนเราจะมีคิ้วหนา คิ้วบาง คิ้วโค้ง คิ้วเหลี่ยม คิ้วเข้ม ชิ้นส่วนต่อไปก็จะเป็น จมูก คนทั่วไปก็จะมีใหญ่ เล็ก แล้วก็ปกตินะครับ คำว่าปกตินี่จริงๆ ก็เป็นสิ่งที่ยากเหมือนกัน เพราะว่าบางคนไม่มีลักษณะเด่น ไม่มีตำหนิอะไรพิเศษเลย อย่างจมูกที่ให้ดู เป็นจมูกที่เรามองไปแล้วไม่เห็นรูจมูก อันนี้ก็จะเป็นจมูกที่ค่อนข้างเล็ก ปีกจมูกใหญ่ อันนี้เล็กแล้วก็ปลายจมูกมีความแหลม เขาเรียกตำหนิรูปพรรณที่มีความแตกต่างกัน ต่อไปก็จะเป็น ปาก นะครับ เราก็จะมีหลายลักษณะ อย่างเช่น ปากหนาเล็ก ปากหนาทั้งบนทั้งล่างเท่ากัน ปากกว้าง ปากแบะลง ปากบาง เป็นกระจับนิดๆ อันนี้เป็นปากที่มีตำหนิพิเศษ เราก็จะมีชิ้นส่วนของใบหน้าผู้หญิง คนร้ายจะผมรวบบ้าง ปล่อยกระเซิงบ้าง เป็นการพรางใบหน้า เพื่อให้พยานหรือผู้เสียหายจดจำได้ยาก ผู้หญิงส่วนใหญ่ถ้าผมยาวก็จะไปบดบัง ใบหู จะเป็นลักษณะที่แตกต่างจากผู้ชาย ที่จะเห็นใบหูชัดเจน เบื้องต้นเราประกอบให้ครบ 7 ชิ้นส่วนก่อน แล้วจะถามพยานว่ามีความคล้ายกี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าเขาบอกไม่เหมือนเลย อันนี้คือปัญหาใหญ่ เราก็ต้องมาซักถามทีละชิ้นส่วนใหม่ โดยมาตรฐานของภาพสเก็ตช์ เราตั้งเป้าหมายไว้ 65% ในความคล้าย เปอร์เซ็นต์ของความคล้าย ก็มีผลในการที่ทางฝ่ายสืบสวน จะใช้ภาพในการที่เป็นแนวทางในการสืบสวน มีการพูดคุยแล้วก็ตบแต่งไปเรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาในการทำงาน 1-2 ชั่วโมง กว่าจะได้ภาพภาพนึง พยานหรือผู้เสียหายบางคน ก็มีความเหนื่อยแล้วก็ตึงเครียด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะ 2-3 วัน ความทรงจำลบเลือนไปบ้าง เราก็ต้องให้พยานได้มีโอกาสได้พักด้วย แต่ก็ไม่มากนัก เพราะเดี๋ยวความสนใจของเขาจะเบนไปส่วนอื่น เป็นสิ่งที่ต้องใช้จิตวิทยาผสม พยานบางคนไม่ค่อยชอบตำรวจก็มี ตรงนี้เราจะทำยังไงให้เขาคุยกับเรา และให้ข้อมูลกับเราได้ อาชญากรรมที่เกิดขึ้น เราต้องคำนึงถึงด้วย ว่ามันมีผลกระทบจิตใจของพยานหรือผู้เสียหายหรือไม่ ยังมีคดีที่เกี่ยวกับทางเพศ ผู้เสียหายส่วนมากก็จะเป็นผู้หญิง เจ้าหน้าที่ตำรวจในการซักถาม ก็ควรจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้หญิง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น สื่อโซเชียลฯ หรือว่าหนังสือพิมพ์ บางครั้งก็ควรจะหลีกเลี่ยง แล้วก็ควรจะใช้ห้องที่เป็นส่วนตัว ผู้เสียหายเขามานั่งให้ข้อมูล แล้วมันมีข่าวมีอะไรออกมา อาจจะทำให้เขารู้สึกอาย มันเป็นความรู้สึกที่ไปรื้อฟื้นเรื่องราวที่เกิดขึ้น มันก็จะมีผล การให้ข้อมูลของเขาลดลงไปทันที สมาธิหมดไป เป็นสิ่งที่ควรจะต้องระวัง อยากให้ประชาชนทั้งประเทศ ให้ความสำคัญเรื่องของการสังเกตจดจำ แล้วก็ตื่นตัวในเรื่องของการระมัดระวังอาชญากรรม เราสามารถที่จะหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังได้โดยการสังเกต สิ่งแรกในการป้องกันอาชญากรรม ก็คือเรื่องของการรับรู้สถานการณ์ตลอดเวลา บวกกับทักษะในเรื่องของการสังเกตจดจำ คนเรามองความคล้าย เราจำได้เมื่อเจออีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าจะจำและถ่ายทอดเพื่อเป็นข้อมูลในการสเก็ตภาพ เราต้องจำลักษณะตำหนิรูปพรรณทั้ง 7 ชิ้นส่วนให้ได้ บางคนอยู่บ้านเดียวกัน อาจจะไม่ได้มองรายละเอียดเลย การระมัดระวังเรื่องของอาชญากรรม มันต้องเริ่มจากตัวเอง สมัยนี้เป็นยุคติดโทรศัพท์ บางคนเดินก็พิมพ์ไปด้วย ไหนจะสายตาที่จะต้องเพ่ง ทำให้เราไม่สามารถรับรู้สถานการณ์สิ่งแวดล้อมได้เลย เราเดินไปบนฟุตพาท อาจจะมีรถที่แหกโค้งมา อันนี้ไม่ใช่อาชญากรรมแต่เป็นเรื่องของอุบัติเหตุ การรับรู้สถานการณ์รอบตัวตลอดเวลา เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดนะครับ” |
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : Facebook "Chaiwat Brn"
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **