xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ยังโดน!! ผุด “พ.ร.ก.ไซเบอร์” สู้มิจฯ “คอลเซ็นเตอร์” อัปเลเวลเนียนกว่าเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โลกพัฒนา “มิจฉาชีพ” ก็เนียนตาม ส่องความน่ากลัวของ “เทคโนโลยีบนมือโจร” กูรูเตือน “ความเป็นส่วนตัวไม่เหลือ” เพราะคุณกำลัง “โดนส่อง” อยู่ตลอดเวลา

** เตรียมรับมือ “มิจฯ” เนียนขึ้นแน่นอน **

“มิจฉาชีพ-แก๊งคอลเซ๊นเตอร์”คือข่าวที่เราเห็นกันเยอะมากๆ ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเคสใหญ่เคสดัง ของดาราสาว “ชาล็อต ออสติน” ที่ถูกมิจฉาชีพปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ลวงเงินเธอไปถึง 4 ล้านบาท


                                                            { ชาล็อต ออสติน }

ไหนจะมีข่าวส่งท้ายปีอย่าง การทลาย “แก๊งคอลเซ็นเตอร์จีน” ในคอนโดฯ ใจกลางกรุงเทพฯ แถวย่านพระราม 9 อีก ที่เจ้าหน้าที่พบ “คอมพิวเตอร์ 100 กว่าเครื่อง” พร้อม “ซิมการ์ดมือถือ” มากถึง “300,000 ชิ้น”

“สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”ได้สรุปยอดความเสียหาย ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา (2565-2567) แก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้ดูดเงินคนไทยไปแล้วกว่า “77,000 ล้านบาท” เฉลี่ย “77 ล้านต่อวัน”
และในปีที่แล้ว ก็มี “ผู้เสียหาย”โทรมาติดต่อ “สายด่วน 1441”ของ “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC)” ถึง “ 1 แสนกว่าสาย”


                                  { ทลาย “แก๊งคอลเซ็นเตอร์จีน” กลางกรุงเทพฯ }

แต่เรื่องที่น่าตกใจกว่า “ความเสียหาย” หรือ “จำนวนคนโดนหลอก” ที่เยอะขึ้น คือ “มุกใหม่ๆ” ของมิจฉาชีพเหล่านี้ ที่ใช้เทคโนโลยีอย่าง AI ในการปลอมทั้ง “ภาพ” ทั้ง “เสียง”

ปลอมเป็น “ญาติ” หรือกระทัง “ลูกสาว” ก็มีมาแล้ว ที่ “มิจฯ ปลอมเสียงเป็น ลูกสาว” โทรมาหลอกพ่อว่า โดนตำรวจยัดยา “ต้องใช้เงินด่วน” แต่โชคดีที่คนในครอบครัวเอะใจ โทรกลับไปหาลูกสาวตัวจริง เลยรอดมาได้ ไม่งั้นคงตกเป็นเหยื่ออีกราย

เคสนี้มาแค่เสียง แต่ก็มีอีกหลายกรณี ที่มาเป็น “วิดีโอคอล” เลยก็มี นี่คือผลของเทคโนโลยีที่เรียกว่า“AI” ที่เหล่าแก๊งนักตุ๋น ใช้ปลอม ภาพและเสียงเพื่อมาหลอกเรา

ล่าสุด ขนาดผู้บริหารประเทศก็ยังไม่รอด “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 31 ก็ยังโดนแก๊งมิจฉาชีพ “ปลอมเสียง-ปลอมภาพ” เป็นผู้นำประเทศแห่งนึง “ส่งคลิป” และ “โทร.หา” เพื่อหวังหลอกเอาเงินบริจาค

“คอลเซ็นเตอร์ที่มาถึงดิฉัน advance มากน่ะคะ เพราะเป็นคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกว่า เป็นผู้นำบางประเทศ แล้วก็บอกว่า ดิฉันยังไม่ donate ยังไม่บริจาคบางอย่าง แล้วก็ส่งเสียงมาให้ดิฉัน แล้วเสียงนั้นก็เป็นเสียงของผู้นำประเทศนั้นเลยน่ะค่ะ”



หรือแม้แต่ “อนุทิน ชาญวีรกูล”รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ยอมรับกับนักข่าวว่า ตัวเองก็เคยโดนเหมือนกัน...
“เคยโดนๆ ผมก็นั่งคุยกับมันเป็นชั่วโมงอะ เสียงมันเพราะดี ว่าจะชวนกินข้าวแต่ว่างหูก่อน”

และอาจเป็นเพราะเรื่องนี้หรือเปล่า ทำให้ล่าสุดมีการผ่าน “พ.ร.ก.ไซเบอร์”ฉบับใหม่ โดยประเด็นหลักๆ ที่เพิ่มเติมจากฉบับเก่าคือ ให้ “ธนาคาร” “ค่ายมือถือ”หรือ “ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์”

ต้องมีส่วนร่วมในการ “รับผิดชอบความเสียหาย” ที่เกิดขึ้น กับคนที่ถูกหลอกจาก “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”เหล่านี้ด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศใช้ในเดือน ก.พ.นี้

แต่เมื่อเทคโนโลยีอย่าง AI พัฒนาขึ้นทุกๆ ปี เรื่องพวกนี้จะน่ากลัวขึ้นขนาดไหน แล้วเหล่านักตุ๋นจะมีมุกอะไรใหม่ๆ มาหลอกเราอีกหรือเปล่า?

ชวนคุยกับ “ดร.ปริญญา หอมเอนก”ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด และ บริษัท ไซเบอร์ตรอน จำกัด ซึ่งกูรูด้าน Cyber Security บอกว่ากับเราว่า...
“สิ่งที่มันจะ revolution ก็คือ ความเนียน ของภาพและเสียงที่มันจะออกมา”


                                             { “ดร.ปริญญา” กูรูด้าน Cyber ​​Security }

ที่ผ่านมาเราจะเห็นภาพจาก AI ของ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่ใช้ในการวิดีโอคอลมาหลอกคน ถ้าดูดีๆ ก็จะเห็นว่า “ยังไม่เนียนเท่าไหร่” ปากและเสียงก็ยังไม่ค่อยตรงกัน แต่ก็มีคนตกเป็นเหยื่อแล้ว ซึ่งในปีนี้....
“คือเนียนแบบว่า เนียนขึ้น เนียนขึ้นเรื่อยๆ จนระหว่างของจริงกับของปลอมเนี่ย แยกแยะไม่ออก”

มิจฉาชีพจะ “ปลอมตัวได้เนียนขึ้น” คือสิ่งที่เกิดขึ้นจาก AI ที่พัฒนา แต่ “ดร.ปริญญา” บอกว่า สิ่งไม่มีทางเปลี่ยนคือ “มุก” ในหลอกลวง ที่เล่นกับกิเลสอย่าง “รัก-โลภ-โกรธ-หลง” และ “ความกลัว” ของคน ไม่มีทางเปลี่ยนไป

“AI” จะเป็นเพียง “ตัวเร่ง” ทำให้คนเกิด อารมณพวกนี้และหลงเชื่อได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง ถ้าเรามี“สติ” คิดถึงความเป็นเหตุเป็นผล ต่อให้ AI ปลอมมาเนียนแค่ไหน ก็ไม่มีทางตกเหยื่อได้



** หมดแล้ว “ความเป็นส่วนตัว” **

นอกจากความเนียนที่มากของ AI ที่เหล่ามิจฉาชีพต่างๆ จะใช้ในปลอมภาพปลอมเสียงมากหลอกเรา แล้ว เทคนิคในการแฮกข้อมูลดูเงิน อย่าง “การหลอกให้กดลิงก์” พวกนี้จะพัฒนาขึ้นหรือเปล่า? กูรูไซเบอร์บอกว่า...

“คือผมว่าตอนนี้นะ มันก็ใกล้ตัวเรามากขึ้นและ สมมติคุณยกเลิกการกดลิงก์ มันก็คงมาทางอื่น มาทางเว็บมาทางเมล มาทางแอปฯ โหลดแล้วมันฝังตัวมากับแอปฯ อะไรอย่างนี้”

การดึงข้อส่วนตัวในมือถือ อาจไม่ได้มาในรูปแบบ หลอกให้กดลิงก์ เหมือนแต่ก่อน แต่จะ “แอบมากับแอปพลิเคชันฟรี” ต่างๆ ที่เราไปดาวน์ดหลดมา และความน่ากลัวคือ“เราไม่มีทางรู้ตัวเลย”

การโดน “ส่องข้อมูล” จากแอปฯ ต่างๆ นั้น ดร.ปริญญา บอกว่า มันน่ากลัวกว่า โดนมิจฉาชีพโทรมาหลอกเสียอีก กูรูรายนี้ยกตัวอย่าง “แอปฯ บล็อกเบอร์มือถือ” ที่จะคอยเตือนเรา เวลามีเบอร์แปลกโทรมา ก็จะขึ้นเตือนว่า เป็นเบอร์อะไร

ซึ่งมันก็เหมือนจะดี แต่รู้หรือเปล่าว่า แอปฯ เหล่านี้ “กำลังดึงข้อมูลของคุณ” ทั้ง เบอร์ในโทรศัพท์ เวลาที่ใช้คุย ตำแหน่งที่คุณโทร และไม่แน่ก็อาจจะแอบบันทึกคำพูดคุณด้วยก็ได้
“คุณว่า เขาจะเอาไว้ดูคนเดียวปะ เขาก็ต้องเอาไปขาย ทำ Marketingปะ”



นี่รูปแบบการตลาดในยุดนี้ ที่เหล่าบริษัทต่างๆ จะแชร์ข้อมูลของลูกค้า ให้กับพาร์ทเนอร์ เพื่อเอาข้อมูลเหล่านี้ไปให้AIวิเคราะห์ต่อว่าคุณชอบอะไร สนใจเรื่องไหน เพื่อทำ Marketing ต่อไป ซึ่งนี้ “น่ากลัวว่ามิจฉาชีพเยอะ”

นี่ยังไม่รับรวม “แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย” เจ้าใหญ่ๆ ที่คอย “แอบดูคุณทุกอิริยาบถ” ว่าอยู่ที่ไหน ทำอะไร เซิร์ชหาข้อมูลอะไรบนอินเน็ต... “จึงไม่ต้องแปลก เวลาแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรมา แล้วจะรู้ข้อมูลคุณหมดไส้หมดพุง”

เท่ากับว่า ในทุกๆ ปีที่เทคโนโลยีพัฒนา และเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันเรามากขึ้นอย่างแยกกันไม่ออก นัยนึงก็คือ ความเป็นส่วนตัวของเรา ก็หายไปเรื่อยๆ จน “ดร.ปริญญา”บอกว่า “ความส่วนตัวคุณไม่มีเหลือแล้ว”

แต่เรื่องก็ยังมีทางแก้คือ “กฎหมาย”ซึ่งในต่างประเทศ อย่าง “ยุโรป” พวกเขาขันนอตเรื่องนี้มากว่า 2 ปีแล้ว ว่า ต้องบอกผู้ใช้ก่อนว่า จะมีการดึงข้อมูลผู้ใช้ จากการใช้แพลตฟอร์มนั้น และต้องบอกด้วยว่า ข้อมูลอะไรบ้าง

“ไม่ใช่คุณจะเอาอย่างเดียว เอาข้อมูลไปวิเคราะห์อย่างเดียว แล้วคุณไม่บอกเจ้าของว่า โดน AI กำลังเชือดอยู่อย่างนี้ มันไม่ใช่ไง”



ซึ่ง “สหภาพยุโรป (EU)” เองก็เคยลงโทษปรับเงิน “Meta”บริษัทแม่ของFacebook,InstagramและWhatsApp กว่า “4.5หมื่นล้านบาท” จากการที่ส่งข้อมูลส่วนตัวจากผู้ใช้ในยุโรปไปยังเซิร์ฟเวอร์ในสหรัฐอเมริกา

ความเข้มงวดเรื่อง “กฎหมาย” เรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนและการดึงไปใช้ นี่คือสิ่งที่เราจะเห็นในปีนี้ว่า ภาครัฐต่างๆ จะจริงจังมากขึ้น... “แต่บ้านเราจะทันไหม ก็อยู่ที่ภาครัฐ จะปรับตัวตรงนี้”

และ “ดร.ปริญญา” บอกอีกว่า ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้น ประชาชนเองจะตระหนักขึ้นไหมว่า เหล่า “แพลตฟอร์มโซเชียลฯ” กับ “แอปฯ” ฟรีต่างๆ ที่ใช้อยู่ตอนนี้ มันกำลัง “แอบส่องชีวิต” พวกเขาอยู่

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : X “@personalstuffs” IG “@itscharlotty”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น