xs
xsm
sm
md
lg

ส่งคลิปเต้นทัก แทน “สวัสดีวันจันทร์” สมฉายา “ลิซ่ารุ่นแม่” แดนซ์เป๊ะเกินอายุ!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



60กำลังแจ๋ว นักเต้นเท้าไฟวัยเก๋า วาดแขน โยกเอวอย่างเป๊ะ หลงใหลการเต้นทุกรูปแบบ จนกลายเป็นไวรัล แห่มอบฉายา “ลิซ่ารุ่นแม่” ให้เผยมุมชีวิตบันดาลใจ ไม่ให้อายุเป็นอุปสรรค เพราะ “ความฝัน” เริ่มใหม่ได้ทุกวัน ไม่ใช่แค่วัยเด็ก





เหมาะกว่านี้ไม่มีแล้ว “ลิซ่ารุ่นแม่”

ตอนแรกที่พี่อัลงTikTokไป แล้วพี่เต้นเพลงของลิซ่า ก็มีแฟนคลับหลายๆ คนเข้ามาคอมเมนต์ว่า นี่แหละ เมมเบอร์ลับของBLACKPINKแล้วก็บอก นี่ลิซ่ารุ่นแม่ ช่วงนั้นBLACKPINKกำลังดัง พอลิซ่าออกเพลงไหนมาเราก็รีบเต้นตาม หลายๆ คนก็มาตั้งฉายาให้พี่ ว่าเป็นลิซ่ารุ่นแม่ตอนนั้น(หัวเราะ)”

“จุง-จุไรรัตน์ สินแสง” นักเต้นเท้าไฟวัย60ปี ที่ใครเลื่อนหน้าฟีด TikTok ก็น่าจะเห็นกันอยู่บ้าง ด้วยท่าทางวาดแขน โยกเอวอย่างเป๊ะ ที่ไม่กลัวเรื่องอายุ ทำให้เธอกลายเป็นไวรัลใน TikTokอยู่หลายคลิป โดยเฉพาะคลิปเต้นเพลงเกาหลี จากศิลปินที่ชื่นชอบอย่างวง BLACKPINK จนได้รับฉายาว่าเป็น “ลิซ่ารุ่นแม่”

นักเต้นเท้าไฟวัยเก๋าคนนี้ เธอหลงใหลการเต้นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแนวฮิปฮอป สตรีท แจ๊ส โดยเฉพาะการเต้นโคฟเวอร์เพลงเกาหลี เพราะเธอบอกว่ามีความสุขทุกไปกับสิ่งที่ได้ทำ เรื่องของร่างกาย อายุ ไม่ใช่ปัญหาเลย

ส่วนเรื่องฉายาที่ชาวโซเชียลฯ แห่ยกให้นั้น เจ้าตัวก็บอกว่ารู้สึกดีใจมาก เพราะส่วนตัวก็ชอบลิซ่าอยู่แล้วด้วย จนตามเต้นทุกเพลงที่เป็นของลิซ่าเลยก็ว่าได้

“พอมีคนพูดอย่างนั้น ก็รู้สึกดีใจนะ ใครๆ ก็ชอบลิซ่านะ แล้วพอมาบอกว่าเราเป็นลิซ่ารุ่นแม่ ว้าย..ใช่เหรอ อุ้ย..ดีใจจังเลย ตอนนี้รู้สึกฟูมาก ดีใจจังเลย แล้วเพลงไหนที่เป็นลิซ่า เราก็แกะหมดเลยทีนี้”


เพลง “Shut Down” ของวง BLACKPINK เป็นคลิปเต้นที่แจ้งเกิดใน TikTok ของพี่จุง ที่ตอนนี้มียอดคนดู 3.5 ล้านวิว และก็ยังมีอีกหลายคลิป ที่กลายเป็นไวรัลคนดูหลักหลายล้านวิว

“ตอนนั้นเต้นเพลง Shut Down ของ BLACKPINK ตอนนั้นเขาดังมากนะ พอเต้นShut Downคนเข้ามาคอมเมนต์กันใหญ่เลย รู้สึกดีใจมากเลย แล้วพอเพลง BLACKPINK ออกซิงเกิ้ลใหม่มาทุกครั้ง คือมันจะไวรัลมาก เราก็จะแบบ ไม่ได้แล้วต้องรีบแกะ คือทุกคนอยากเป็นลิซ่าหมด แม่ก็ด้วยนะคะ แม่ก็อยากเป็นลิซ่าเหมือนกัน(หัวเราะ)

คือจริงๆ ต้องขอบคุณน้องลิซ่านะ ที่ทำให้หลายๆ คนออกมาเต้น ออกมาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ในสิ่งที่ตัวเองคิดว่ามันไม่ใช่ Gen ตัวเองทำ”

นอกจากนี้ เธอยังบอกอีกว่า ทุกครั้งที่ได้เต้น เหมือนกับการได้ท้าทายและทำอะไรใหม่ๆ เพราะเธอจะรู้สึกสวยทุกครั้งที่ได้เต้น

“เวลาเต้นเราจะรู้สึกว่าเราสวย พอเรารู้สึกว่าเราสวย มันก็จะสร้างความมั่นใจในตัวเองขึ้น คือเหมือนกับมันลืมทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เป็น negative ก็จะทำให้เรารู้สึกว่า เรารักตัวเอง เราชอบร่างกายตัวเอง ชอบสิ่งที่เราเป็น มันก็จะทำให้เรารู้สึกว่า เออ..เนี่ยสร้างความมั่นใจให้กับเรา พร้อมกันไปด้วย”








เปลี่ยน “สวัสดีวันจันทร์” เป็น “คลิปเต้น”

ความฝันในวัยเกษียณของใครหลายๆ คน อาจจะเป็นการใช้ชีวิตเรียบง่าย อยู่กับลูกๆ หลาน แต่คำตอบสำหรับของเธอคนนี้ คือ “การเต้น” เพราะการได้เคลื่อนไหวไปตามเสียงเพลงแบบนี้ เป็นสิ่งที่ชอบที่สุด

โดยเฉพาะการได้รับฟีดแบ็กชื่นใจจากแฟนๆ ที่เข้ามาชื่นชม ยิ่งทำให้เธออยากพัฒนาศักยภาพการเต้นของเธอให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ
“คือชอบที่สุดตรงที่น้องๆ จะมาบอกว่า นี่แหละคือฉันในอนาคต เราจะรู้สึกว่า แต่ละ Gen ก็คุยกันได้ บางคนก็บอกว่า แม่ไม่สวัสดีวันจันทร์หรอ(หัวเราะ) แม่หนูยังสวัสดีวันจันทร์อยู่เลย

แล้วก็ยิ่งเวลามีคนคอมเมนต์บอกว่า นี่แหละคือฉันในอนาคต ว่าหนูจะเป็นอย่างนี้ หนูจะแฮปปี้อย่างนี้ คือเรารู้สึกดีใจนะ ดีใจที่เด็กๆ ชอบ หลายๆ รุ่นชอบ เราสามารถที่จะคุยกันได้ แทนที่จะเป็นคลิปสวัสดีวันจันทร์ ก็จะส่งคลิปเต้นไปแทน

ต้องกราบขอบคุณแฟนๆ กราบขอบคุณ FC ทุกรุ่นทุกวัยนะคะ คือดีใจมากเลยที่คนชอบ ตอนแรกที่อัพลงTikTok คือแอบคิดนิดนึงนะว่า จะมีคนมาบูลลี่เราหรือเปล่านะ คือแบบไปเข้าวัดเถอะ แอบคิดอยู่เหมือนกันตอนแรกๆ พอลงมา เฮ้ย..มันเกินความคาดหมายว้าย..นี่แหละตัวแม่ เราก็รู้สึกดีใจที่คนชอบค่ะ

พี่รู้สึกว่า คนที่ชอบเต้นเขามีความสุข เขาก็จะมองอะไรที่มีความสุข เขาก็จะมองอะไรที่ positive มากกว่า คือการเต้นมันเหมือนกับ enjoy มันเหมือนกับการเล่นสนุก พอคนมาดูก็จะรู้สึกสนุกตาม รู้สึกชอบ ก็เลยจะไม่ค่อยมีเรื่องลบๆ เหล่านั้น ส่วนใหญ่จะมาประมาณว่า สอนหนูหน่อยเพลงนี้ยังเต้นไม่ได้เลย อะไรเหล่านี้ซะมากกว่า ส่วนใหญ่จะบวกๆ”


ต้องขอบคุณโควิด-19 ที่ทำให้เริ่มหันหน้าเข้าสู่วงการ TikTok เพราะช่วงนั้นล็อคดาวน์ สตูสอนเต้นก็ปิด ห้างก็ปิด ฟิตเนสก็ปิด ไม่รู้จะไปไหน ครูเองก็อยากสอนเต้น ก็เลยเป็นการสอนออนไลน์ และส่งการบ้านผ่านออนไลน์ ด้วยการโพสต์คลิปเต้นลงโซเชียลฯ แทน

“ก็เต้นสอนกันออนไลน์ พอสอนกันออนไลน์ ก็ส่งการบ้านออนไลน์เช่นเดียวกัน ว่าเต้นได้หรือเปล่า เราก็ส่งออนไลน์กัน บางทีแล้วก็ส่งผ่านไอจีบ้าง เฟซบุ๊กบ้าง หรือว่าส่งไป TikTok บ้าง เอาไปโพสต์ให้ครูไปดูใน TikTok พอโพสต์ไปโพสต์มา อ้าว..คนชอบ เราก็แอบตกใจเหมือนกันที่คนมากดไลก์เยอะ ก็เริ่มทำ TikTok ตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา”

ตอนที่โพสต์คลิปส่งครูผ่าน TikTok ก็ไม่คิดว่าคนจะชอบ และเป็นไวรัลมากขนาดนี้ จากนั้นก็เริ่มมีแฟนคลับ ขอให้เต้นเพลงฮิตที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนั้นๆ

“พอมันเป็นคลิปไวรัล เริ่มมีแฟนคลับมาขอ แม่เต้นเพลงนี้หน่อย เราก็แบบเพลงอะไรล่ะ ตอนนั้นเพลงเกาหลีเราก็ยังไม่ได้อินมากขนาดนี้ เอาไปเสิร์ชหา เอาไปฟัง เอาไปฝึก แล้วก็เอาไปแกะท่าเอง เพลงนี้ออกมาต้องรีบแกะ ถูกบ้างไม่ถูกบ้างก็เอาไปก่อน เอาเท่าที่ได้ ดูคลิปเขาสอนบ้าง แล้วก็แกะท่าเองบ้าง

บางทีก็แป๊บเดียว ไม่ใช่วันเดียว สมมติว่าจะถ่ายเย็นนี้ ตอนกลางวันก็รีบแกะท่าก่อน ไม่ได้แกะทั้งเพลงนะคะ เอาเฉพาะช่วงที่มันเป็นท่อนฮุก หรือช่วงที่เป็นท่อนที่สวยๆ บ้าง มันก็จะเป็นสั้นๆ ถ้าเยอะหน่อยก็จะประมาณเกือบ 30-40 วินาที

ส่วนใหญ่ก็จะลง TikTok แฟนคลับรออยู่ ชอบลง แล้วก็ชอบดู เวลาใครเต้นแบบไหน เราก็จะเซฟกลับมาไว้ก่อน แล้วก็มาแกะท่าทีหลัง บางทีคลิปอาจจะไม่ได้เป็นไวรัล อาจจะคลิปไม่ดัง แต่เราชอบท่าเต้น พี่ก็เก็บไว้นะ แล้วก็มาลองเต้นดู แล้วก็มาอัพคลิป

ต้องอินเทรนด์นะ คลิปไหนเป็นไวรัลออกมา เพลงใหม่ๆ ออกมาต้องรีบเต้นแล้ว ไม่ได้ๆ บางทีมันก็จะมีหลายท่อนฮุก เราก็จะเลือกเอาท่อนที่มันดังที่สุด

อย่างตอนที่โรเซ่ออกมา อาพาถึ(아파트) เต้นกันทั่วบ้านทั่วเมือง เปิดไปตรงไหนก็เต้น ไม่ได้ๆ เราก็ต้องเต้น ก็รีบแกะคลิป รีบแกะท่า แล้วก็อัพคลิปขึ้นไป หรือไม่ถ้าเพลงใหม่ๆ ออกมา มันก็จะมีคนเริ่มมาแล้ว แม่เต้นเพลงนี้หน่อย

แล้วเดี๋ยวนี้ T-POP ก็ไม่ขี้เหร่นะ เพลงแต่ละเพลงออกมาไวรัลมาก ท่าเต้นนี่แบบสวยมาก ไม่ใช่แค่ K-POP แล้ว พี่ก็เต้นของเพลงไทยนะ ของ PiXXiE น้อง BUS อะไรอย่างนี้ ว้าย..คือแบบแอบชอบเด็กๆ”




คลิปไวรัลที่เราได้เห็นกันนโซเชียลฯ นอกจากความสามารถในการเต้น ที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายไปตามเสียงเพลง อย่างคล่องแคล่วแล้ว คลิปที่เธอลงในช่อง TikTok ของตัวเอง เธอยังถ่ายเอง ตัดคลิปเสิร์ฟแฟนๆ เองอีกด้วย

“ในคลิปที่พี่ลงก็จะถ่ายทำเอง ตัดเอง ใส่เพลงเอง ทำทุกสิ่งทุกอย่างเอง คือเมื่อก่อนใน TikTok มันก็จะมีฟังชั่นเยอะแยะมากมาย ใช้ไม่ค่อยเป็น พอเราเริ่มไปใช้แล้วก็ อ๋อ..ก็รู้ว่ามีฟังชั่นนู่นนี่นั่น ก็โหลดแอปฯ ที่มันสามารถตัดต่อคลิปพวกนี้ได้ เราก็ลงเอง ใส่เสียงเอง อันไหนที่ใส่ effect เราก็ใส่เองทั้งหมด คือจริงๆ ก็อยากมีทีมทำนะ บางทีน้องๆ ก็มาช่วย

ตรงนี้ทำยังไงบ้าง ใส่เสียงยังไง ก็มีคนมาถาม เราก็จะสอนน้องๆ บ้าง ของอย่างนี้มันไม่ใช่ว่าใครเก่งไม่เก่งหรอก แค่เราเคยทำหรือไม่เคยทำเท่านั้นเอง คนที่ทำไม่เป็น อย่าคิดว่าเราไม่เก่งนะคะแค่ลองทำดูทุกคนทำได้หมดมันไม่ได้ยากอะไรเลย

อยากจะบอกทุกคนว่า อย่าไปกลัวกับอะไรที่เราไม่เคยทำ ทำไม่ได้หรอก เราไม่เคยรู้ว่าอันนั้นมันคืออะไร ทำไปเถอะ ถามว่าอายุขนาดนี้แล้วจะทำได้หรอ โอ๊ย..ยังแก่ได้อีกเยอะค่ะ ความแก่มาอีกหลายปี มันแก่ได้เรื่อยๆ ทำไปเลย อย่าบอกว่ามันไม่ใช่เวลาของเราไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนคือเวลาของเราทั้งนั้นแหละ”




ท้าทายตัวเองเริ่มต้นวัย 40

สำหรับจุดเริ่มต้น ในวงการเต้น เธอบอกว่า จริงๆ แล้วชอบเต้นมาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว แต่ไม่มีโอกาสได้เต้น ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างในตอนนั้น จนได้มาเริ่มจริงจังในวัยเกือบ 40 ปี หรือประมาณ 20 ปีที่แล้ว

“สมัยนั้นมันไม่มีแบบนี้เลย เดี๋ยวนี้คือรู้สึกอิจฉาเด็กเลย คือเห็นเขามีสตูเต้น มีฟิตเนส มีคลาสเต้น แม้กระทั่งบางทีในห้าง เห็นเขามีมุมให้เด็กเต้นด้วย หลายๆ คนเขาก็สนับสนุนให้เต้น รู้สึกอิจฉา ตอนสมัยพี่มันไม่มีอย่างนี้นะ คือแบบอยากจะเต้น ดูในวิดีโอยังไม่มีให้ดูเลยตอนนั้น ก็จะแอบไปดูตามที่งานอะไรต่างๆ

จุดเริ่มต้นจริงๆ แล้ว พี่เป็นคนชอบเต้นตั้งแต่เด็กๆ ก็คือเป็นคนชอบทำกิจกรรม ไม่ว่างานโรงเรียน งานอะไรก็จะชอบ ทีนี้มันจะมีช่วงนึงที่ฟิตเนสเขาฮิตๆ พี่ก็ไปสมัครฟิตเนส แล้วมันก็จะมีคลาสแดนซ์ในนั้นด้วย อันนั้นคือจุดเริ่มต้นที่แดนซ์จริงๆ

เมื่อก่อนเราก็จะเต้นแอโรบิก เต้นอะไรที่เขาเต้นตามเพลง ตามจังหวะ เราก็รู้สึกมันโอเคแล้วนะ แต่พอมาเต้นเป็นคลาสแดนซ์จริงๆ หู…มันอีกแบบนึง มันตอบโจทย์มากเลย ตั้งแต่ตรงนั้นพี่ก็เลยตามเต้น ก็ถามว่าครูไปสอนที่ไหนบ้าง เราก็ตามครูไปทุกที่  จนกระทั่งมาเจอที่สตู แล้วที่สตูเขาจะเต้นแบบจริงจังมาก มันก็ยิ่งตอบโจทย์เข้าไปกันใหญ่ ก็เลยชอบเต้นตั้งแต่ตอนนั้นแหละ”

ยอมรับว่าตอนเริ่มต้น รู้สึกว่าตัวเองแก่มากแล้ว เพราะคนที่เต้นส่วนใหญ่ จะไม่ใช่อายุเยอะขนาดนี้ แต่พอผ่านมาจนถึงวันนี้ ก็รู้สึกว่า อายุไม่สำคัญอะไรเลย

“เต้นจริงๆ พี่เริ่มประมาณ อายุเกือบ 40 ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าเราแก่มากแล้วนะ ส่วนใหญ่คนที่เต้น ไม่ใช่อายุเยอะขนาดนี้ เราก็วัยทำงาน แล้วก็ปลายๆ แล้วด้วย ตอนนี้ 60แล้ว รู้สึกว่าเอ๊ะ..มันก็ยังได้อยู่นะ

ตอนที่เต้นตอนนั้น ก็ประมาณ40เราก็เต้นไปเรื่อยๆ ตอนนั้นเราแค่รู้สึกชอบเฉยๆ พอเต้นไป เราก็รู้สึกว่าเอ๊ะ..มันทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ คือเอาแค่ว่าอยู่ในคลาส เราเต้นให้ได้ตรงกับที่ครูสอนเนี่ย เราก็รู้สึกดีใจแล้วไง พอมันยิ่งได้ มันก็ยิ่งชาเลนจ์ตัวเอง รู้สึกว่ามันท้าทาย เพลงใหม่มาต้องทำการบ้าน ต้องคิด ต้องจำ

อย่างเวลาครูเขาสอน พี่จะตั้งใจมากเลยนะ ต้องรีบจำ กลัวอยู่หลังห้องไง กลัวแบบเต้นไม่ทัน แล้วเดี๋ยวนี้เด็กๆ เขายิ่ง เต้นก็เก่ง จำก็เก่ง พี่ก็แบบหูย..ไม่ได้แล้ว ต้องรีบจำ ต้องโฟกัส แล้วก็พยายามที่จะทำตามที่ครูสอนให้ได้”

[วาดแขน โยกเอวอย่างเป๊ะ กับครูมินิ]
เธอยังบอกอีกว่า เดิมทีเป็นคนชอบออกกำลังอยู่แล้ว ชอบเล่นกีฬาทุกชนิด โดยเฉพาะกีฬาเอ็กซ์ตรีม ก็มาเจอคลาสเต้น ซึ่งการเต้น รู้สึกว่าได้ฟาดยิ่งกว่ากีฬาอย่างอื่นก็ยิ่งชอบ เหมือนได้ใช้พลัง

“พี่เป็นคนชอบออกกำลังกายตั้งแต่เด็กๆ ตอนเรียนก็จะเป็นนักกีฬาโรงเรียน แต่ส่วนใหญ่เป็นตัวสำรอง เพราะตัวเล็ก ก็ชอบเล่นทุกสิ่งทุกอย่าง ต่อให้เป็นตัวสำรองก็ชอบ รู้สึกว่าได้ไปเล่นได้ไปซ้อมกับเพื่อนก็โอแล้ว

เล่นวอลเลย์บอล บาสเกตบอลบ้าง แบดมินตัน โตขึ้นมาหน่อยก็มาเล่นเทนนิส ตีกอล์ฟ ก็ตี แล้วก็มีกีฬาเอ็กซ์ตรีมปีนหน้าผา แล้วก็เป็นกีฬาในร่มทั่วๆ ไป อย่างควอช ก็ตีบ้างเป็นบางครั้งนะคะ

ตอนแรกก็ออกกำลังกายทั่วไป เพราะว่าอยากเข้ายิม พอตอนที่เข้าไปยิม เอ๊ะ..เห็นเขามีคลาสเต้น เราก็ไปเต้นกับเขา ชอบเลยตั้งแต่ตอนนั้น คือจะมีครูหลากหลายมาก ตั้งแต่เต้นซุมบ้า เต้นอินเดียแดนซ์ เต้นสตรีท เต้นฮิปฮอป ครูไปสอนที่ไหน เราก็จะไปเต้นที่นั่น ตอนฟิตเนสดังๆ ยุคแรกๆ เขาก็มีหลายสาขา พี่ก็ตามไปเต้น จบสาขานี้ก็ตามไปเต้นสาขาโน้น จบสาขาโน้น ก็เต้นไปตามที่สาขานี้”

แม้จะบอกว่าชอบเต้นมาตั้งแต่เด็ก ก็ไม่ได้หมายความว่าเต้นเป็น เพราะเธอก็เริ่มจากสเต็ปมั่วๆ มาก่อน จนได้เรียนแบบจริงจัง จึงรู้ว่าการเต้น มันก็มีเทคนิคเฉพาะเช่นกัน พอสั่งสมประสบการณ์มากๆ ก็เข้าใจว่า เต้นสวยๆ ต้องทำยังไง




จะเต้นไปจนถึง 80+

จนมาได้ลองลงเรียนเต้นแบบจริงจัง ก็รู้สึกหลงใหลการเต้นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแนวฮิปฮอป สตรีท โดยเฉพาะการเต้น cover เกาหลี ที่เริ่มเต้นคลาสแรก

“คลาสแรกเลยมาเกาหลี ช่วงนั้นเกาหลีมันเข้ามาใหม่ๆ ช่วงประมาณพี่อายุ 40 ปี เพลงตั้งแต่ Girls' Generation พวก Sistar อะไรประมาณนี้ เข้ามาใหม่ๆ เกาหลีดังมาก ทำไมเขาถึงเต้นน่ารักอย่างนี้ เราก็เต้นตามเกาหลี เต้นเกาหลีทีแรกก็ชอบนะ แต่ว่าก็ไม่ได้ชอบมาก

แรกทีเดียวพี่ชอบแนวสตรีท แนวฮิปฮอปมากกว่า เมื่อก่อนเกาหลีเขาจะแบบหน่อมแน้มน่ารัก พอช่วงหลังๆ เกาหลีเขาไม่เหมือนเดิมแล้ว จะเห็นว่าศิลปินเกาหลีไปที่อเมริกาเยอะนะ ฝั่งยุโรปเยอะ พี่ก็เลยแนวโน้มมาเกาหลีซะส่วนใหญ่

เป็นคนไฮเปอร์มาก คลาสอันไหนที่แบบฟาดชอบมาก มันจะมีครูที่สตูเนี่ยแหละ บางคลาสเขาจะเต้นแบบฟาดมาก เราก็จะคอยตามว่าครูคนนี้มาวันไหนบ้าง ถ้าวันไหนที่เราสามารถเข้าคลาสครูคนนี้ได้ จะดีใจ๊ ดีใจ เหมือนกับปลดปล่อย หลายๆ อย่าง คือชอบแหละ”


แน่นอนว่าการเต้น มีให้เลือกเต้นหลากหลายแนว ซึ่งเธอก็บอกว่าชอบทุกแนว โดยเฉพาะแนวสตรีท ฮิปฮอป ที่ต้องใช้พลังเยอะๆ เพราะเธอเองเป็นสายฟาดอยู่แล้ว ยิ่งเต้นฟาดเท่าไหร่ยิ่งชอบ

และอีกแนวที่กำลังลองฝึกเต้นอยู่ตอนนี้ ก็คือแนวแจ๊ส ที่มีทั้งความดุดัน อ่อนช้อย ผสมเข้าด้วยกัน ยิ่งเต้นยิ่งรู้สึกว่าตัวเองสวย

“คือแนวเต้นมันมีหลากหลายเนอะ ทั้งสตรีท ทั้งฮิปฮอป อันล่าสุดที่อิน คือแจ๊สค่ะ แจ๊สนี่แบบมาแรงมาก คือแจ๊สมันสวยอ่ะ ทุก posturer มันสวยหมด มันเหมือนการเต้นบัลเล่ต์ คือเมื่อก่อนเราดูเต้นบัลเล่ต์ ทำไมเขาแขนขาตึงได้ขนาดนั้น เขาแบบทำท่าสวยได้ขนาดนั้น

พอมาเห็นเต้นแจ๊ส มันก็ได้นี่นา เราไม่ต้องไปเต้นบัลเล่ต์อย่างนั้นก็ได้ เราเต้นแจ๊สอย่างนี้ก็สวย ทีนี้เวลาเข้าคลาสแจ๊สแต่ละคลาส จะรู้สึกว่าเราสวย posturer ออกมาแต่ละ posturer เราสวย คือเต้นไปรู้สึกสวยไป คือมันแข็งแรงดุดัน แต่ก็อ่อนช้อยด้วย สวยทุกท่า เข้าคลาสนั้น จะรู้สึกตัวเองส๊วยสวย

ถ้าแนวที่ใช้พลังแบบฟาดมากๆ ก็สตรีทแดนซ์ คือเอาพลังออกมาสุด เหมือนกับสายตัวแทบขาด ฮิปฮอปก็สุดๆ ตัวแทบขาด แล้วก็มันจะมีแนวใหม่อีก ที่มาเต้นแนวแอฟโฟร อันนี้ก็คือเต้นแนวใหม่ คือเต้นแบบ gimmick เล็กๆ แต่ใหญ่

เรารู้สึกว่าเคยเต้นแจ๊ส เต้นสตรีทแบบฟาดไป ตอนนี้คือพยายามจะฝึกอยู่ว่าเต้นแอฟโฟรให้สวย เต้นยังไง ก็พยายามเข้าคลาสที่ครูสอนแอฟโฟรให้เยอะที่สุด

เมื่อก่อนถ้าไม่ใช่สตรีทจะไม่เต้น ขอตามครูสตรีทไปก่อน ตอนหลังๆ ถึงจะมาเข้าเต้นเกาหลีบ้าง ถึงจะเปลี่ยนแนวแบบนั้น ทีนี้หลังจากชอบกีฬาเอ็กซ์ตรีม แล้วชอบเต้นแบบนี้มันคล้ายๆ กันตรงที่ว่า เราได้ใช้กำลัง เราอาจจะติดการที่ชอบออกกำลังกาย ใช้พลัง เวลามีเหงื่อซก โอ๊ย..ฟิน ก็จะชอบเต้น ชอบที่จะใช้กำลังในส่วนนั้นมากกว่า”


ความยากง่ายของแต่ละแนวการเต้น ก็มีความแตกต่างกันไป อยากเรียนการเต้นทุกแนว แต่ด้วยอายุที่มากขึ้น ก็เอาเท่าที่ร่างกายไหว เพราะตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากเต้นไปได้นานๆ จนถึงอายุ 80 ปี

“ไม่ว่าจะแนวไหนความยากมันเท่าๆ กัน ด้วยอายุของพี่ เวลาเราน้อยลงแล้ว เราต้องรีบเต้นหรือเปล่า คืออยากเก็บทุกแนว เห็นน้องๆ เขาเต้น ก็อยากเต้นแบบนี้ได้จังเลย คือเราก็จะได้ในระดับนึงของเรา เพราะฉะนั้นเนี่ย ของพี่ก็เอาเท่าที่ร่างกายทำไหว แล้วก็เซฟตัวเองให้ได้เต้นได้นานๆ อยากเต้นถึงอายุ 80 ปี”




“ฝัน” ใหม่ได้ไม่จำกัดอายุ

อายุเป็นเพียงตัวเลข อยากเต้นต้องได้เต้น เพราะเธอมองว่า ความฝันมันไม่จำเป็นต้องมีตั้งแต่เด็กๆ หรอก ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ เราก็ฝันได้ และสามารถเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน ไม่ต้องอาย ไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้

“สำหรับคนที่อายุขนาดนี้นะคะ วัยเกษียณ หรือวัยกำลังจะเกษียณ พี่เองก็จะเกษียณแล้ว ลุกขึ้นมาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ตัวเองฝัน ทิ้งอีโก้ ทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง วัยนี้ไม่ต้องอายแล้วค่ะ คือเราผ่านมาเยอะแล้วไง จะไปอายอะไร จะไปกลัวอะไร

ถึงตรงนี้แล้วไม่ต้องกลัวแล้ว มาทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ตัวเองต้องการ มาทำในสิ่งที่มันมีความสุข สิ่งที่ตัวเองฝัน มาทำเลย แล้วเราจะรู้สึกว่า เราตอบโจทย์ในชีวิต เราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองฝันมาตั้งแต่เด็กๆ หรือว่าจริงๆ ความฝันมันไม่จำเป็นต้องมีตั้งแต่เด็กๆ หรอก ตอนนี้เราก็ฝันได้ ฝันไปเถอะ เราสามารถเริ่มใหม่ได้ทุกวัน

เราไม่ต้องบอกว่าเราเริ่มต้นสายไปแล้ว พรุ่งนี้ก็ยังเริ่มได้เลย เพราะฉะนั้นฝันไปเลย แล้วก็ทำตามความฝันตรงนั้นแหละ พอเราได้ทำปุ๊บนะ มันจะเหมือนได้สิ่งหลายๆ อย่างกลับมาหาเรา อย่างที่เราชอบ เพราะสิ่งที่เราทำไปมันคือสิ่งที่เราชอบไง พอเราชอบปุ๊บ พอเราได้มา เราทำไปปุ๊บ เรามีความสุข พอเรามีความสุข คนรอบข้างเราก็มีความสุขเช่นเดียวกัน”


เธอบอกอีกว่า ทุกครั้งที่ได้เต้นเหมือนการได้ท้าทายและทำอะไรใหม่ๆ อาจจะมีบ้างในช่วงแรกที่ดูจะยากหน่อย แต่แน่นอนว่าทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเริ่มต้นเสมอ

และทุกสิ่งอย่างล้วนไม่มีคำว่าทำไม่ได้ ไม่มีลิมิตที่ความสามารถเราจะไปถึง ขอแค่เรารัก และมีความสุขไปกับสิ่งที่เราทำ ร่างกาย อายุ ไม่ใช่อุปสรรคเลย

“อยากทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แล้วก็ขอให้ keep ร่างกายแบบนี้ไปเรื่อยๆ ตอนนี้ชอบรูปร่างตัวเอง ชอบวิธีการใช้ชีวิตตัวเอง ชอบสิ่งที่ตัวเองคิด รู้สึกมันมีความสุข

พอเรามีความสุขจากข้างใน คนที่อยู่รอบข้างเราก็จะมีความสุขด้วย เวลาเราเห็นใครมีความสุข เหมือนเห็นคนหัวเราะ เราก็จะหัวเราะตาม เวลาเห็นคนยิ้ม เราก็จะยิ้มตาม มันก็อารมณ์นั้น

คือเวลาเรามีความสุข คนที่บ้านเราก็จะมีความสุข คนรอบข้างเราก็จะมีความสุขด้วย ตรงนี้พี่ก็รู้สึกชอบในสิ่งที่ตัวเองทำทุกวันนี้ แล้วก็อยากจะกระจายความสุขไปให้กับทุกๆ คน โอ๊ย..เป็นนางงามเลย แต่คือสิ่งที่พี่คิดจริงๆ”

หลายคนยกให้เป็นไอดอล เพราะเธอว่า การเต้นไม่ใช่แค่เรื่องของเด็กๆ แล้ว แต่เป็นเรื่องของทุกวัย ที่ใครๆ อยากจะทำ ก็ทำได้

“เมื่อก่อนก็จะมีคนชอบที่บอกว่าอายุมากแล้วไม่กล้าไปเต้นแต่เดี๋ยวนี้คนเริ่มจะเห็นอยากเห็นพี่เป็นตัวอย่างแล้วกัน หลายๆ คนเขาก็จะเห็นในคลิปที่เป็นไวรัลเยอะ ก็จะชวนแม่มาเต้น 

หรือบางคนก็ชมว่าฉันจะชวนแม่มาเต้น แล้วอยากให้แม่เป็นแบบนี้ แม่มาดูสิ นี่ไงตอนนี้เขายังเต้นได้ จากคนที่ไม่เคยเต้น ไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของเด็กๆ มันเป็นเรื่องของทุกวัยใครๆก็ทำได้อย่างนี้ค่ะ”






ทำงานเต็มที่ เต้นเต็มเหนี่ยว

สิ่งสำคัญที่ได้จากการไปเรียนเต้นในแต่ละครั้ง เธอบอกว่า ได้รู้จักกับสังคมใหม่ๆ ได้เพื่อนต่างวัยเพิ่มขึ้นเยอะมาก เพราะเต้นจนอินไปกับเสียงเพลง จนลืมเรื่องอายุไปแล้ว รู้ตัวเองที ก็มีเพื่อนเป็นรุ่นลุกๆ หลานๆ เต็มไปหมด

“อย่างสตูที่พี่เต้น ก็มีรุ่นหลากหลายมาก สตูนี้พี่ชอบมาก มาเต้นแบบไม่ต้องเขินเลย ไม่ต้องอายเลย มาเต้นตั้งแต่รุ่นหลาน รุ่นลูก รุ่นเพื่อน มีหมดเลย แล้วแต่ละคนที่มาเต้น energy แบบสุดยอดมาก

คือเวลาเรามาอยู่ในสตูแดนซ์ มันเหมือนกับคนที่ชอบเหมือนกัน มาอยู่ด้วยกัน แล้วก็คุยเรื่องเดียวกัน มันก็เลยทำให้ทุกคนก็ส่งพลังให้กัน เต้นไม่ได้ เราก็จะคอยดูเพื่อนช่วยกัน กลัวครูดุ แต่ครูเขาไม่ดุหรอก ครูเขาใจดี เขาก็อยากให้นักเรียนเต้นให้ได้ แต่เราก็อยากจะไปพร้อมๆ กัน

แล้วเวลาช่วงที่เบรก เราก็จะถามกัน น้องๆ ก็จะช่วยสอน เด็กๆ เขาน่ารักนะ คือบางทีเรารู้สึกว่าวัยเราต่างกัน มันไม่ใช่ เพราะว่าเราชอบในสิ่งเดียวกัน มันก็เลยไปในทิศทางเดียวกันได้

เพื่อนพี่หลายคนก็ชอบออกกำลังกาย แต่ว่าคนละสาย อย่างพี่สายแดนซ์ เพื่อนๆ ในกลุ่มไม่มีค่ะ มาหาเอาข้างหน้า คือที่สตูลนี่แหละ เพื่อนเยอะ

มาสตูนี้ ได้เพื่อนต่างวัยเยอะมาก เราได้เพื่อนใหม่ เราได้รู้จักคนใหม่ๆ แล้วเราก็ได้รู้จักคนที่ชอบในสิ่งเดียวกัน ตรงนี้แหละเป็นโจทย์ที่บางทีเรามาเพื่ออะไร เพื่อสังคมใหม่มั้ง เราไม่รู้แหละ แต่เรารู้สึกว่าเราชอบเต้น เราก็จะมาเจออะไรที่มันสิ่งเดียวกัน เราชอบเต้นด้วยกัน ก็มาอยู่กับคนที่เต้นด้วยกัน

เรามาเต้นอย่างนี้ เราก็อยู่กลมกลืนไปกับเด็กๆ คือเหมือนเวลาเราคุยสิ่งเดียวกัน มันก็จะทำให้เราลืมอายุ ว่าเราอายุเท่าไหร่ ลืมว่าเราสังขารเป็นยังไง เราก็จะอินไปกับเสียงเพลง แล้วเวลาเขาอยู่ในคลาสเต้น คือเหมือนกลับหลุดเข้าไปอีกโลกนึงเลย”

[งานประจำก็ยังทำอยู่]


ในวัยนี้ หลายคนก็อยากมาเต้น คนที่คอมเมนต์พี่ก็ชวนมาเต้น มาสิคะ ที่นี่ๆ บางคนก็บอกว่าโอ๊ย..อายno noไม่ต้องอายเลย มาเลย ต่อให้เราจะรุ่นไหนก็แล้วแต่ ถึงแม้ว่ามันจะคนละรุ่น คือมันไม่มีใครมองว่าเออ..นี่อายุเยอะ นี่อายุน้อย มันจะไม่รู้สึกอย่างนั้น เราจะรู้สึกแค่เราโฟกัสในการเต้น พอเต้นได้แล้วเราก็จะรู้สึก เต้นได้แล้ว เย้ผ่านแล้ว”

ตอนนี้ยังทำงานประจำอยู่ เกี่ยวกับงานด้านก่อนสร้าง ชีวิตทำงานยอมรับว่ามีความเครียด ต้องนั่งหน้าจอตลอด แต่หลังเลิกงาน มาที่สตูดิโอ กลับกลายเป็นว่า พาเราไปยังโลกอีกใบเลย

“พี่ยังทำงานประจำอยู่ พี่ทำงานทางด้านก่อสร้าง สร้างอาคาร งานเครียดแหละ คือแบบงานมันเยอะมาก แล้วก็เราต้อง catch up ทุกสิ่งทุกอย่างในแต่ละวัน แล้วก็ประชุมก็เยอะมาก ในที่ทำงานมันก็มีความเครียดของมันอยู่นั่นแหละ แต่พอหลังเลิกงาน มันก็เหมือนแยกได้นะ

เราก็จริงจังให้ทุกเรื่อง ตอนที่ทำงาน ก็จริงจังกับงาน เต้นก็จริงจังกับเต้น เล่นเราก็จริงจังกับเล่น มันก็เลยทำให้รู้สึกว่าชีวิตมันบาลานซ์ แล้วก็รู้สึกมีความสุขกับทุกๆ ที่ ที่เราจะไปอยู่ตรงไหน ไปทำอะไร เราจะทำตรงนี้ เราก็จะโฟกัสกับสิ่งนี้ ก็หลายๆ อารมณ์แต่ละวันที่เราเจอ พอเราไปอยู่อีกที่นึงเราก็จะได้อารมณ์ใหม่ เราก็จะได้ความรู้ใหม่ๆ

อยู่ที่ทำงาน 8 ชั่วโมง เราก็จะรู้สึกเราจริงจังกับงาน มันเครียดมาก แต่พอเลิกงานปุ๊บ เรามาสตูแดนซ์ มันเปิดอีกโลกนึงของพี่เลย แล้วยิ่งเวลาได้ยินเสียงเพลง ได้ยินเสียงครูนับ 5 6 7 8 โอ๊ย..ฟินมาก เหมือนทำให้เรารู้สึกว่า เราหลุดไปอีกที่นึง เราก็จะมีแต่ความสุข เราก็จะอินไปกับเสียงเพลง อินไปกับสิ่งที่เราทำ”




กินให้ถึง เล่นให้ถึง เพื่อหุ่นเฟิร์ม

นอกจากได้เพื่อนซี้ต่างวัย ยังได้หุ่นที่เฟิร์มขึ้นด้วย เพราะการเต้น ถือเป็นการออกกำลังกายอีกแบบนึง นักเต้นวัยกำลังจะเกษียณคนนี้ เธอบอกอีกว่า นี่จะกลายเป็นต้นทุนของเราในอนาคต แทนที่เราจะใช้เงินไปหาหมอ เราก็เอาเงินมาลงทุนดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้

“พี่ว่าสิ่งที่พี่ได้มาก คือเรื่องบอดี้แหละ รู้สึกว่ามันได้เบิร์น แล้วมันได้ใช้กล้ามเนื้อเยอะ ได้หัวใจ ได้ปอด รู้สึกว่าได้เบิร์นในสิ่งเหล่านี้มาก แล้วก็รู้สึกสุขภาพเราดี รู้สึกว่าเวลาเราป่วยหรือไม่สบาย มันจะใช้เวลา catch up เร็วมาก หรือ cover ตัวเองได้เร็วมาก เรารู้สึกถึง energy ของเราเลย

บางทีมันเหมือนมันได้มาเองนะ แต่ต้องเวทด้วยนะคะ คือเวลาเราใช้กล้ามเนื้อหลายๆ อย่าง ถ้ากล้ามเนื้อเราไม่แข็งแรง จะทำให้เราเต้นไม่สวย กินให้ถึง เล่นให้ถึง อย่างวันธรรมดาพี่ก็จะเข้ายิม เพื่อที่จะเล่นเวทบ้าง

มันได้มาอัตโนมัติ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าเราอยากจะรูปร่างสวย คุณครูเป็นไอดอลเลยแหละ เขาก็จะเต้นให้ดู เราก็อยากจะเต้นให้ได้อย่างงั้น แล้วก็รูปร่างก็ดี ต้องทำแบบคุณครูเขาบ้าง แล้วเราก็ได้ร่างกายมาพร้อมกับสิ่งเหล่านี้ มันก็เหมือนผลพลอยได้แหละ

เพื่อขาหมู เพื่อชาบู พี่เป็นคนชอบกิน เห็นตัวเล็กๆ แบบนี้ชอบกิน คือบางทีเราจะไปกินชาบู ไปกินขาหมู จะไปกินอะไรหมูย่างอะไรอย่างนี้ เราก็รู้สึกผิดนะ แต่เราก็อะ..เรามาเต้น มื้อนี้ คลาสนี้เพื่อขาหมู คลาสนี้เพื่อแฮมเบอร์เกอร์

แต่ว่าบางคนก็ถามพี่นะว่าเออ..ควบคุมอาหารไหม คือควบคุมที่ปริมาณมากกว่า ไม่ใช่ว่าเราจะกินคลีนทุกอย่าง พี่ไม่ใช่สายนั้น คือกินทุกสิ่งทุกอย่างแหละ แต่ควบคุมด้านปริมาณ อย่ากินเยอะเกินไป”




อาทิตย์นึง เธอบอกว่า จะเต้นอยู่ประมาณ 3-4 วัน ส่วนวันอื่นๆ ให้ร่างกายได้พักผ่อน ที่สำคัญคืออย่าฝืนร่างกาย หรือหักโหมออกกำลังกายเยอะเกินไป ต้องรู้จักเซฟร่างกายตัวเองไว้ด้วย

“เวลาเราเต้นให้เซฟตัวเองนะคะ ขาดไม่ได้เลยต้องวอร์มอัพ ต้องคูลดาวน์นะคะ คือครูเขาจะพาวอร์มซะก่อน เพื่อที่จะให้กล้ามเนื้อยืด ให้ร่างกายอบอุ่นก่อน

แล้วก็การลงแต่ละท่า ครูเขาก็บอกการเซฟแต่ละท่า อย่างเช่นการลงเข่า ให้ลงแบบไหน อย่างบางทีคือเวลาเราเรียนอยู่ มันมีท่าที่ลงเข่านะ ถ้ามีเสียงตึ้งมาเนี่ย ครูเขาก็จะหันไปมองแล้ว เสียงใคร ต้องเซฟนะคะ การลงเข่าต้องลงยังไง ดูแล้วว่านักเรียนลงไม่เป็น ครูเขาก็จะบอกการที่ก้าวไปยังไง ทิ้งน้ำหนักแบบไหนบ้างแต่ละจุด

เมื่อก่อนไม่รู้ไง เมื่อก่อนก็กระโดดตึ้งลงไป เอาให้สุดๆ แต่ครูเขาก็จะคอยบอกว่าต้องเซฟนะคะ แล้วก็บอกการลงที่ถูกต้อง การใช้กล้ามเนื้อที่ถูกต้อง มันจะทำให้เรายืดอายุได้นานขึ้น แล้วก็บางอันก็ต้องทำเท่าที่ไหว บางอันอย่าไปฝืนมาก คืออันไหนถ้ามันไม่ได้จริงๆ ก็คือต้องลิมิตบ้าง ถ้าฝืนมากเดี๋ยวจะเต้นได้น้อยลง”



ที่สุดแล้ว!!เต้นเคียงข้างศิลปิน




 “ตอนนั้นที่สตูให้ขึ้นไปเต้น ไปเป็นแดนซ์เซอร์กับศิลปิน ‘บอนซ์ ณดล’น้องที่ร้องเพลงหัวใจปลาดาว โอ๊ย..ดีใจมากเลย นึกไม่ถึงว่าอายุขนาดนี้แล้ว จะได้ขึ้นเวที เป็น backup dancer ค่ะ คือให้พี่เข้าไป on stage กับศิลปิน คือเราอายุขนาดนี้ แต่เราไม่มีโอกาสทำ

คือเขาจะมีแดนเซอร์ตัวจริงอยู่ข้างหน้านั่นแหละ แล้วเราก็จะเป็นแดนเซอร์อีกกลุ่มนึง ซึ่งเป็นโปรเจกต์พิเศษของสตูน คือแบบ อยากจะขอบคุณสตูนี้มากๆ เลยค่ะ

ก็คือเป็นแดนเซอร์คนนึง ที่อยู่ในคอนเสิร์ตนั้น แล้วเวลาตอนซ้อม คือซ้อมเหมือนแดนเซอร์ จริงจังเหมือนแดนเซอร์ ตอนนั้นแอบเครียดนิดนึง ว่าเราต้องไม่ผิดนะ เราผิดคนเดียวไม่ได้ เราก็จะโฟกัสมากทุกสิ่งทุกอย่าง เรากลับไปบ้านแล้วต้องทำการบ้าน เราต้องตื่นขึ้นมา แล้วเราต้องท่องๆ ว่า เราจะทำยังไง ไปซ้อมเองที่บ้าน แล้วก็ขึ้นบนเวทีจริง ไป blocking

แล้วที่ขึ้นไป blocking เห็นเบื้องหลังการทำคอนเสิร์ตแล้ว เขาทำกันขนาดนี้เลยหรอ เราเต้นที่สตู เราไม่รู้ว่า แดนซ์เซอร์ที่เขาไปเต้น เขาแข็งแรงขนาดไหน เขาซ้อมขนาดไหน ถึงออกมาเป็นแบบนั้น ขนาดเราเต้นแค่เพลงเดียวสั้นๆ ด้วย เรายังซ้อมขนาดนั้น

ตอนนั้นได้ประสบการณ์ที่ไม่มีวันลืมเลยค่ะ คือแบบจำ..คือแบบเป็นประสบการณ์ที่แบบ มันซื้อไม่ได้จริงๆ ตรงนั้น คือแบบประทับใจที่สุดเลย ตั้งนั้นคือเป็นแบบในหนึ่งชีวิตที่แบบ เคยได้ทำอย่างนั้น ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้ทำอย่างนั้น ในชีวิตจริงๆ
ในเรื่องของการเต้น คือตอนที่ขึ้นไปเป็นแดนซ์เซอร์ตอนนั้น ถือว่าสุดยอดแล้ว แบบดีใจมากแล้ว






ท่าต้องเป๊ะ ชุดต้องเริ่ด



“นอกจากจะชอบเต้น พี่ก็ชอบแต่งตัวด้วย จะต้องมาสตูชุดไหน ไปเอฟชุดก่อน คือชุดต้องมาอันดับแรก เครียดกว่าการเต้นคือการหาชุดมาเต้นนี่แหละ คือชอบใส่ชุดมิกซ์แอนด์แมทช์ของพี่เอง

บางทีหลายๆ ชุดพี่ซื้อมา มันไม่ใช่เป็นแบบนั้น พี่ก็เอามาทำต่อ อย่างเช่นบางทีขามันไม่ได้ พี่เอามาทำต่อ แล้วทีนี้ก็มีหลายคนมาขอพิกัดชุดนี้หน่อย ขอพิกัดกางเกงตัวนี้หน่อย

บางทีพี่จะตอบยังไงดี ว่าคือตอนซื้อมามันไม่ได้เป็นแบบนี้ ก็จะบอกว่าตอนที่แม่ซื้อมา ไม่ได้เป็นแบบนี้นะคะ แม่เอามาทำไอ้นี่เพิ่ม มาตัดขาออก มาฉีกออก

แล้วก็กระโปรงที่ใส่ เสื้อที่ใส่ ก็จะเอาหลายๆ อย่างมามิกซ์กัน ก็ให้มันเข้าธีมกับที่เราจะเต้นวันนั้น อย่างเพลงของTyla ล่าสุด เขย่าก้นกันใหญ่ ตรงนี้เราก็จะหากระโปรงที่มันมีฟูๆ ตรงข้างๆ เหมือนแมงกะพรุน ก็ไปหาชุดเหล่านั้นมาใส่ คือenjoyพอๆ กับมาเต้นนี่แหละ

แต่ละคลิปของพี่ จะมีชุดให้มาเข้ากับเพลงนั้นๆ หรือบางทีถ้าเป็นฮิปฮอป ก็จะเป็นชุดอีกแบบนึง ถ้าเป็นแนวสตรีท ก็จะเป็นชุดอีกแบบนึง แจ๊ส ก็จะเป็นชุดอีกแบบนึง

เวลามาสตู ก็จะคุยกับน้องๆ วันนี้เราแต่งชุดไหนดี บางทีเวลาเข้าสตูก็จะถามด้วยนะ คุณครูคะมีธีมไหม ก็จะเอาชุดให้มันตรงกับธีมที่เราจะมาเต้น”














สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : Instagram @jung_jung_cin และ TikTok @amacin88
ขอบคุณสถานที่ : “Mystreet Dance Studio” (ซ.รัชดาฯ 18)



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น