กลับมาอีกแล้ว “ฝุ่นท่วม กทม.” หนักข้อทุกปี ปัญหาที่แก้ทีไร ก็ได้แค่ “แก้เฉพาะหน้า” แต่ต้นตอ “โรงงาน” แหล่งกำเนิดฝุ่นจริง ไม่เคยถูกแตะ เพราะรัฐมองไม่เห็นจริงๆ หรือ “แกล้งปิดตา”!!?
** แก้ปัญหา “ปลายเหตุ” แถม “ไม่ตรงจุด”? **
หนีไม่พ้น “ฝุ่นพิษ PM 2.5” กันทุกปี แถมมีแนวโน้วจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงต้นปีนี้ที่ “กรุงเทพฯ” กลายเป็น “พื้นที่สีแดง” ที่มีค่าฝุ่น “เกินมาตรฐาน” เกือบครบ 50 เขต
บางเขต “มากกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)” ซึ่งเป็นค่าพุ่งสูง “เกินมาตรฐานถึง 3 เท่า” อยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพ จากควรไม่เกิน “ 37.5 มคก./ลบ.ม.”
สิ่งที่น่ากังวลคือ มลพิษทางอากาศเหล่านี้ น่าจะอยู่ยาวๆ ไปทั้งปี อ้างอิงจากผลสำรวจของ “Rocket Media Lab” ตั้งแต่ปี 67 พบว่า “คนกรุงเทพฯ” เจอ “อากาศดีๆ” ที่อยู่ในเกณฑ์สีเขียวตลอดทั้งปี มีแค่ “43 วัน” หรือ “11%” เท่านั้นเอง
ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ “กรุงเทพฯ” ไม่ใช่จังหวัดที่อาการหนักที่สุด ข้อมูลจากทาง “Thailand Can เครือข่ายอากาศสะอาด” สำรวจพบว่า 3 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 มากที่สุดคือ “เชียงราย”, “น่าน” และ “พะเยา”
ถามว่าอากาศเป็นพิษต่อร่างกายในระดับน่าเป็นห่วงแค่ไหน ถ้าเทียบให้เห็นภาพก็คือ “3 จังหวัดมลพิษระดับ ICU” ผลที่ได้เท่ากับ “สูบบุหรี่เฉลี่ย 800 มวน/ปี” เลยทีเดียว!!
ล่าสุด หลัง PM 2.5 กลับมาวิกฤติอีกครั้งในเมืองหลวง “รัฐบาล” จึงฟันนโยบาย ใช้งบถึง “140 ล้านบาท” ทุ่มจ่ายค่าเดินทางรถสาธารณะ ให้ประชาชนนั่ง “รถไฟฟ้า-รถเมล์ฟรี” ตั้งแต่วันที่ 25-31 ม.ค. เพื่อหวัง “ลดฝุ่นจากการจราจร”
แต่หลายคนยังข้องใจว่า มันจะช่วยได้จริงๆ หรือ? เพื่อไขความสงสัยนี้ ทีมข่าวจึงติดต่อหา นักวิจัยปัญหามลพิษ PM 2.5 อย่าง “พี” ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานของ “มูลนิธิบูรณะนิเวศ”ให้ช่วยวิเคราะห์
“ผมมองว่านโยบายนี้ มันแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แบบปลายเหตุสุดๆ แล้วก็ไม่ได้แก้ได้จริงจังขนาดนั้นด้วย”
เพราะคนที่เลือกใช้ “รถส่วนบุคคล” แทบทุกคน เหตุผลก็เพื่อ “หนีความลำบาก”ของระบบขนส่งสาธารณะในบ้านเรา ที่ทั้ง “ช้า” ,“แพง”และ “ไม่สะดวก”
ฉะนั้น คนที่ใช้ขนส่งสาธารณะ ก็จะเป็น “คนกลุ่มเดิมๆ” ที่ใช้ประจำอยู่แล้ว การปล่อยให้นั่งฟรีนาน 1 อาทิตย์ จึงอาจไม่เห็นผลเท่าไหร่นัก
{“พี-ฐิติกร” นักวิจัยปัญหาฝุ่นพิษ}
“มันก็อาจจะแก้ปัญหา ในส่วนของการจราจร รถอาจจะน้อยลงบนถนน แต่ผมว่ามันไม่ได้แก้ปัญหาได้ตรงจุดนะครับ สู้เอาเงินไปซื้อเครื่องฟอกอากาศไปแจกโรงเรียน น่าจะคุ้มกว่า”
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวจากภาครัฐ ในการขยับแก้ปัญหาฝุ่นพิษทลายปอดที่กำลังวิกฤตอยู่นี้ คือมาตรการ “ปราบกลุ่มเผาไร่เพื่อการเกษตร”อย่างจริงจังมากขึ้น
จากเดิม มีความผิดทางกฎหมาย ตาม “มาตรา 220” อยู่แล้ว คือระบุชัดว่า ผู้ใดกระทำให้เกิดเพลิงไหม้แก่วัตถุใด ๆ แม้เป็นของตนเอง จนน่าจะเป็นอันตรายแก่คนอื่น หรือทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน “7 ปี” ปรับไม่เกิน “140,000 บาท”
โดยปีนี้ดูจะดุดันขึ้นเป็นพิเศษ หลัง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ถึงขั้นลั่นว่า ถ้าจังหวัดไหนยังเผาพืชผลการเกษตร สร้าง PM 2.5 “จะสั่งย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด” กันเลยทีเดียว
** ต้นตอ “ฝุ่น” ที่ “รัฐไม่พูดถึง” **
ลงดาบ “การเผาไร่นา”, พุ่งปัญหาไปที่ “ฝุ่นควันจากการจราจร” รวมถึง “มลพิษข้ามแดน” ที่กระจายมาคือมาตรการหลักๆ ที่ภาครัฐออกมาจัดการ“วิกฤตฝุ่นพิษ” มาโดยตลอด
แต่ดูเหมือนจะยังไม่เห็นผลว่า “ดีขึ้น” สักเท่าไหร่ จนพี่น้องประชาชนสงสัยว่า มันเป็นเพราะอะไรกันแน่ แท้จริงแล้วแก้ปัญหาถูกจุดหรือยัง?
“พี” นักวิจัยปัญหา PM 2.5 อธิบายให้เข้าใจเพิ่มว่า “แหล่งกำเนิดฝุ่น” ทุกวันนี้ ถ้าเป็นต่างจังหวัดหรือภาคเหนือ จะมาจาก “การเผา” เป็นหลัก
แต่ในเมืองอย่าง “กรุงเทพฯ” มันต่างออกไป หลักๆ แล้ว PM 2.5 ถ้าเป็นใน “เขตเมือง” มักมาจาก “การจราจร” เป็นหลัก
กับอีกแหล่งต้นตอที่ “อันตราย”กว่าแหล่งอื่นๆ นั่นก็คือ “โรงงาน”ที่มีการปล่อย “ควัน”จากการเผาไหม้ “ตลอดทั้งปี” จนเป็นที่มาของมลพิษจำนวนมาก โดยเฉพาะจากการลงพื้นที่สำรวจในเมืองอุตสาหกรรม อย่าง “จ.สมุทรสาคร”
“พบว่าการปล่อยมลพิษ ในพื้นที่สมุทรสาคร มีการปล่อย PM 2.5, PM 10 เนี่ย คิดเป็น 90% จากการปล่อยทั้งหมดเลย ส่วนภาคจราจร หรือการเผาในที่โล่ง มีไม่ถึง 5% รวมกันนะครับ ไม่ถึง 5%”
และไม่ได้มีแค่ จ.สมุทรสาคร เท่านั้น ที่ผลออกมาแบบนี้ ยังมี “นครปฐม” “สมุทรปราการ” “ปทุมธานี”รวมถึง “อยุธยา”
พูดง่ายๆ คือ “กรุงเทพฯ ถูกล้อมรอบด้วยโรงงานมากมาย” ซึ่งมันก็คือต้นเหตุใหญ่ของ PM 2.5 ในเมืองหลวง ที่ “รัฐบาลไม่พูดถึง” นักวิจัยรายเดิมยังบอกอีกว่า มันก็ดีที่รัฐให้ประชาชนช่วยกัน “ลดมลพิษจากรถยนต์”
{กทม. “เมืองที่โดนล้อมด้วยโรงงาน”}
“แต่ถามว่า สัดส่วนการปล่อยมลพิษ จากภาคประชาชน จากภาคจราจรเนี่ย มันเท่ากับที่ภาคอุตสาหกรรม เขาปล่อยหรือเปล่า? อันนี้ผมก็ตอบได้เลยว่า ไม่นะ”
“มลพิษจากการจราจร” มันก็มีช่วงเวลาของมัน เช่น “ตอนเช้า” ช่วงคนไปทำงาน กับ “ตอนเย็น” ช่วงคนกลับบ้าน เท่านั้นที่ค่าการปล่อยมลพิษจะสูง ต่างจากโรงงานต่างๆ ที่ “ปล่อยมลพิษ ตลอดทั้งปี ไม่มีหยุด”
“ณ ปัจจุบันคือ ผมพูดได้เลยว่า มันยังไม่มีมาตรการ และนโยบายไหน ที่มันสามารถมาควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมได้เลย”
** จีนทำได้ แต่ “ไทยปล่อยเบลอ” **
แม้แต่ “หมออ๋อง” ปดิพัทธ์ สันติภาดาอดีตรองประธานสภาฯ ก็ทนไม่ไหวกับมาตรการจัดการฝุ่นของภาครัฐ จนต้องออกมาโพสต์ใน “X” เทียบให้เห็นภาพว่า “จีน” สามารถแก้เรื่องนี้ได้ เพราะ “กล้าปิดโรงงานที่ปล่อยมลพิษ”
ส่วน “สิงคโปร์” ก็จัดการกับบริษัทที่ก่อมลพิษในประเทศเพื่อนบ้าน...“ขอส่งเสียงถึงรัฐบาล ว่ามีเรื่องจริงจังกว่า ที่สั่งการกันอยู่ทุกวันนี้ครับ”
{“หมออ๋อง-ปดิพัทธ์” ถาม “จีนกล้า” แล้วไทยล่ะ?}
สิ่งที่น่าสนใจคือ “จีน”จัดการ PM 2.5 ได้เพราะเขาประกาศ “จัดการแหล่งมลพิษทางอากาศ”ทั้งหมดในประเทศอย่างจริงจัง ด้วยการออกแผน “Blue Sky Map“ มาตั้งแต่ปี 2555 และเริ่มมาเห็นผลในช่วงเวลานี้
กูรูรายเดิมจาก “มูลนิธิบูรณะนิเวศ” บอกได้เลยว่า ที่ประเทศเขาทำได้แบบนี้ เพราะความเป็น “ประเทศเผด็จการ” ส่งให้คำสั่งทุกอย่าง ทุกภาคส่วนต้องทำตาม
“ใครที่ทำไม่ได้ คุณก็ยกเลิก ไม่ได้ไปต่อ อุตสาหกรรมคุณต้องปิด แค่นั้น
1 ในมาตรการที่เด็ดขาดของจีน คือ “ห้ามนำเข้าขยะ” ทุกชนิดเข้าประเทศ เพราะสมัยก่อนจีนคือ “แหล่งรีไซเคิลขยะจากทั่วโลก” แต่อุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะแบบนี้ “ก่อมลพิษมหาศาล”
ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ “รัฐบาลจีน” ประกาศ “ต่อสู้กับมลพิษ” อย่างเข้มงวด ท้ายที่สุด โรงงานเหล่านี้จึงต้องปิดตัวลง
แต่ผลกรรมเหล่านั้น กลับมาตกที่ประเทศอื่น หลังโรงงานรีไซเคิลในจีนเหล่านั้น แห่กันย้ายฐานผลิตมาประเทศละแวกนี้แทน ซึ่งเป็นประเทศที่ล้วนแล้วแต่ “กฎหมายมลพิษไม่เข้มงวด” นั่นก็คือ “ลาว” “มาเลเซีย” “อินโดนีเซีย” รวมทั้ง “ไทย” ของเราด้วย
“เขาย้ายฐานมาที่ไทย หลายโรงงานมาก และหลายโรงงานก็เป็นโรงงานผิดกฎหมาย ไม่มีใบอนุญาต”
จากการลงพื้นที่สำรวจ หลายโรงงานตั้งตัวเป็น “มาเฟีย” ขนาดตำรวจยังไม่สามารถเข้าไปตรวจโรงงานได้ ซึ่งมันน่าแปลกใจ เพราะทุกครั้งที่มีวิกฤต PM 2.5 รัฐก็เอาแต่พูดถึงวิธีจัดการฝุ่นต่างๆ นานา ที่แตะไม่ถึงต้นตอใหญ่สักที
“ในแหล่งกำเนิดที่มันสามารถคุมได้ อยู่ในประเทศไทย อย่างโรงงานอุตสาหกรรมเนี่ย มันคุมได้เลย แต่ว่าก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะอะไร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เขาไม่ไปแตะ ปล่อยเบลอ ปล่อยแห้ง สุดท้ายก็ถูกฝุ่นกลบไป”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพบางส่วน : Facebook “การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **