xs
xsm
sm
md
lg

รักมั่นคง "ปู่กัญจน์-ย่าตุ๊ก" ฝ่าคำว่า "วิปริต" มา 30 ปี กว่าจะมี "รักที่เท่าเทียม"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากรักที่ถูกประณามว่า “วิปริต” สู่ความจริงที่เหมือนฝัน ในวันที่ “สมรสเท่าเทียม” ประกาศใช้ในประเทศไทยได้จริงเสียที และนี่คือเส้นทางความรักที่ไม่ได้สวยหรู ของคู่รักหญิง-หญิงที่เคยผ่าน “การแต่งงาน-มีลูก” ก่อนจบลงที่ “ความสัมพันธ์พังๆ” กว่าโชคชะตาจะพัดพามาให้เจอ “รักแท้”

** “รักแรกพบ” ยาวนานกว่า 30 ปี **

จากความรักที่ถูกมองว่า “วิปริตผิดเพี้ยน”สังคมประณามว่าเป็น “ตัวซวย”สู่ฟ้าใหม่ของ LGBTQ+ ในวันที่โลกเปิดกว้างจนมี “สมรสเท่าเทียม” นี่คือเรื่องราวความรักสุดแสนพิเศษ ของ “ปู่กัญจน์” กัญจน์ เกิดมีมูลและ “ย่าตุ๊ก” ปกชกร วงศ์สุภาร์คู่รัก LGBTQ+ ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวกันมากว่า 30 ปี

ปู่กัญจน์ที่แม้วันนี้อายุจะเข้าวัย 73 ปี แล้ว แต่เขาไม่เคยลืมภาพเหตุการณ์ ที่ได้พบกับรักแท้เป็นครั้งแรก ราวกับว่าเรื่องนี้ มันสลักฝังลึกลงในความทรงจำ ที่เมื่อหวนคิดถึงครั้งใด ก็มีความสุขทุกครั้ง

“คุณปู่ยืนอยู่ ไปงาน แล้วก็เห็นคุณย่าเดินผ่านมา ปู่ก็เอ๊...ผู้หญิงคนนี้แต่งตัวสะอาดดีนะ ก็คิดว่าคงไม่เจอกันแล้วละ แต่ก็ชอบเค้านะ

เห็นผ่านๆ ปู่เป็นคนที่ชอบคนที่แต่งตัวสะอาด เห็นเขาแล้วก็ ผ่านไปแล้วก็ผ่านไปเลย คงไม่ได้เจอกันอีกแล้ว“

จาก “รักแรกพบ” ที่ต้องยอมตัดใจ เพราะไม่รู้ว่าเธอคนนั้นเป็นใคร แต่ราวกับ“ฟ้าลิขิต” เมื่อวันนึงเพื่อนของคุณปู่ พาเพื่อนใหม่มาแนะให้รู้จัก นั้นก็คือย่าตุ๊ก คุณย่าเล่าถึง วันแรกที่รู้จักกัน พร้อมรอยยิ้มว่า...

“คุณย่าไม่ได้รู้เรื่องอะไรด้วย ปู่เค้ามาบอกทีหลังว่า อ๋อ..วันนั้นนะ เห็นเคยเดินผ่านไป ก็อ้าว!! ไม่คิดว่าจะเป็นเพื่อนกลุ่มเดียวกันค่ะ”

ตรงนี้เองที่ความรักและสายสัมพันธ์เริ่มก่อตัว ทั้งปู่กัญจน์และย่าตุ๊ก ต่างก็ทำธุรกิจส่วนตัว ปู่กัญจน์เป็นคนกรุงเทพฯ แต่ย่าตุ๊กเป็นคนต่างจังหวัด ทำให้คุณย่าต้องเดินทางไป-กลับ กรุงเทพฯ บ่อยครั้ง เล่าถึงตรง ปู่กัญจน์เริ่มยิ้มอย่างมีเลศนัย

“ย่าเค้าอยู่ต่างจังหวัด เดือนนึงจะมากรุงเทพฯ ครั้ง 2 ครั้ง แล้วแต่มีงานอะไรค่ะ ปู่ก็เห็นเค้าเดินทางมาคนเดียว แล้วที่บ้านปู่ ปู่ก็อยู่คนเดียวด้วย เลยชวนย่ามา บอกมาพักที่บ้านปู่ไหม จะได้ไม่ต้องเสียค่าเช่าค่า ก็ได้โอกาสชวนมาอยู่บ้านเลย (หัวเราะ)”


                                                     { “ย่าตุ๊ก” (ซ้าย) ปู่กัญจน์(ขวา) }

** แอบซ่อน "รักไร้นิยาม" แค่คนสำคัญเข้าใจ **

"มันยังไม่มีนิยามว่า ทอม ดี้ อะไรเลยด้วยซ้ำ”...ย่าตุ๊กในวัย 68 ย้อนอดีตเมื่อ 30 ปีก่อนให้ฟังว่า สังคม ณ ตอนนั้น ไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศเลย
ใครก็ตามที่แสดงอาการไม่ตรงกับเพศที่เกิด ยุคนั้นทุกคนก็จะโดนเรียกว่า “กะเทย”กันหมด และเรื่อง “คบหา”ระหว่างเพศเดียวกัน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย

“อย่างครอบครัว เพื่อน เขาก็จะไม่อยากให้มาคบกับเรา เพราะเค้ารู้ว่า อยู่กับผู้หญิงนะ เค้าก็จะมาว่า ‘เป็นพวก วิปริตผิดเพศ’ คนต่างจังหวัด เขาจะมองว่า ‘ซวย’ (หัวเราะ) ไม่รู้แรงไปหรือเปล่า เค้าเรียกว่า มันซวยนะทำแบบนี”

บวกกับค่านิยมสมัยก่อน ไม่ว่าจะคู่รักเพศอะไร การแสดงออกเรื่องความรัก แม้แต่ “การเดินจับมือ-โอบไหล่” มันก็ถือว่า “ประเจิดประเจ้อ” แล้ว และพอเป็นคู่รัก LGBTQ+ คงไม่ต้องบอกว่า สายตาคนรอบข้าง ที่มองเข้ามาจะเป็นยังไง ย่าตุ๊กเล่าช่วงเวลาที่เริ่มคบกับปู่กัญจน์ ตอนนั้นว่า...

“จริงๆ เราก็จะอยู่ในสังคมเฉพาะกลุ่มของพวกเราเสียมากกว่า เพื่อนก็จะเป็นเพื่อนในกลุ่มแบบนี้ ถ้าเป็นกลุ่มที่เราไปรู้จักคบหาข้างนอก มันก็จะเป็นอีกแบบนึงนะ
แต่เค้าก็รู้แหละ เพียงแต่ว่าในสังคมเองจริงๆ เขาจะไม่ได้พูดถึงเรื่องเหล่านี้ ยกเว้นคนที่มองเรามาแล้ว รู้เองเนี่ย เขาก็จะมีการ เออ...มองบ้าง วิพากษ์วิจารณ์บ้าง หลายคู่ก็เป็นแบบนี้”


                                         { รักที่ ไม่ต้องหลบซ้อนอีกต่อไป }

เมื่อ 30 ปีก่อนการเป็น LGBTQ+ ก็ต้องเป็นความลับ ห้ามเปิดเผยเด็ดขาด เพราะนอกจากเสียงนินทาแล้ว มันก็อาจจะส่งผลก็เรื่อง “งาน” ด้วย

โดยเฉพาะคนที่ “ทำงานบริษัท” หรือ “ข้าราชการ” ถือเป็นเรื่องต้องห้าม อย่างที่เพื่อนของย่าตุ๊กเคยเจอมากับตัวในสมัยนั้น

“ก็มีนะเพื่อนที่ทำงานอยู่อะ อันนี้ต้องเก็บซ่อนอย่างดีเลย เก็บซ่อนอย่างดีไม่ให้ใครรู้เลย คือจะออกแนวแบบทอมบอยอะไรเนี่ย ก็ไม่ได้ มันผิดระเบียบ ในยุคก่อนๆ เราสองคนทำธุรกิจส่วนตัว ปัญหาปมพวกนี้ก็เลยไม่ค่อยมี”

นอกจากต้องระวังสายตาคนนอก เพราะเป็น “ความรักที่เปิดเผยไม่ได้แล้ว” อีกคนที่ให้รู้ไม่ได้เลย คือ “ครอบครัว” ย่าตุ๊กบอกว่า ปัญหาใหญ่ของ LGBTQ+ ในยุคก่อนและลากยาวมาถึงปัจจุบันคือ “ครอบครัวไม่ยอมรับ”

“เวลาที่จะเปิดเผย เปิดตัว เรื่องคบกับผู้หญิงเนี่ย มันไม่ได้เชิงแนะนำว่า อันนี้คือแฟนนะ ไม่ใช่ ก็คือแค่เพื่อน เจอกันกี่ครั้งกี่หน ก็จะเป็นเพื่อนเท่านั้นเอง กับครอบครัว”

“ครอบครัว รับไม่ได้” นี่คือเรื่องที่ถือว่าเป็นปัญหาหนัก ไม่ว่าจะยุคไหน แต่ส่วนตัวของ ปู่กัญจน์กับย่าตุ๊ก มองว่า ตัวเองโชคดี ที่แม้ผู้ใหญ่ในครอบครัวจะไม่ยอมรับ แต่ก็ไม่ต่อต้าน

“ถ้าไปถามเขา เคยถามเหมือนกันว่า เป็นสมัยก่อนเนี่ย เออ..คิดบ้างไหมว่าเราจะอยู่กันแบบนี้ เขาก็บอกว่าไม่คิดหรอก แต่เขาคือ...‘ผู้ใหญ่ เขาก็คิดไม่ออกว่า ผู้หญิงกับผู้หญิงเนี่ย จะใช้ชีวิตยังไง’
 ผู้หญิง-ผู้หญิง แล้วอยู่กันยังไง (หัวเราะ) มันเป็นคำถามที่เค้าไม่กล้าถามมากกว่า แต่บางครอบครัวก็อาจจะออกมาต่อต้านนะคะ โชคดีของคุณย่าไม่มี”

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวของทั้งสอง ไม่ได้ต่อต้าน มันเป็นเพราะทั้ง ย่าตุ๊กและปู่กัญจน์ “เคยผ่านการมีชีวิตคู่” อย่าง “การแต่งงานกับผู้ชาย” และต่างคนต่าง “มีลูก” แต่ความรักครั้งนั้น ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนต้องแยกกันในที่สุด



แต่ไม่ว่าใครจะต่อต้าน หรือไม่ยอมรับยังไง ก็ไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจเท่าคนในครอบครัวไม่ยอมรับโชคดีที่ลูกของทั้งคู่ ซึ่งเกิดจากครอบครัวแรก ไม่ได้มีปัญหากับความรักที่หลากหลาย และตัวตนของทั้งปู่กัญจน์และย่าตุ๊ก

“ตอนที่เราเริ่มคบกัน สำหรับคุณย่า ลูกยังเล็กๆ แล้วคุณย่าไม่ได้เลี้ยง เพราะคุณย่าหนีออกมาจากครอบครัว มาเจอกันตอนโตแล้ว สังคมก็เริ่มเปิดเผยแล้ว แต่ของปู่เอง ปู่ใช้ชีวิตกับลูกมาตลอด

เราโชคดีจะไม่มีปัญหาเรื่องทางนี้เลย ลูกนี่ยอมรับได้นะ แต่คนในครอบครัวที่เป็นพี่น้อง อาจจะระแวงแคลงใจ สงสัย อย่างลูกเมื่อมาเจอกันตอนโต เขาก็เห็นแล้วว่าแม่ใช้ชีวิตอยู่กับผู้หญิง ก็ไม่ได้มีคำถามอะไร ปู่เองยิ่งสบายเลย ลูกไม่มีเลย เราอาจจะโชคดีตรงนี้”

ปู่กัญจนยิ้มด้วยสีหน้าเปี่ยมสุข เมื่อนึกถึงประโยคที่ลูกของคุณปู่ บอกกับคุณปู่ ในวันแรกที่พาย่าตุ๊กมาเจอ...“มาเจอกันครั้งแรก เขาก็ไม่ว่า อันไหนที่แม่มีความสุขก็ทำไป”ตั้งแต่นั้นมา ลูกของปู่กัญจน์ ก็รักย่าตุ๊ก ไม่ต่างอะไรกับ แม่แท้ๆ คนหนึ่ง


                                        { ลูกๆ เข้าใจ อะไรก็ได้ขอให้แม่มีความสุข }

** "รักละมุน" ช่วยเยียวยา "อดีตรุนแรง" **

ชีวิตคู่ครั้งแรกของย่าตุ๊ก ที่พังทลายมันได้ก็สร้างปมในใจ กลายเป็นแผลใหญ่ฝังลึกให้กับเธอจนต้อง “หนีออกมา”คุณย่าเล่าด้วยแววตาที่แฝงไปด้วยความเจ็บปวดว่า...

“ตอนนั้นย่า ก็เคยมีครอบครัวเนอะ แต่ว่าใช้ชีวิตอยู่กันไม่นาน พอมีลูก เราก็ถูกทำร้ายร่างกายค่ะ ถ้าทุกวันที่เขาเรียกว่า ความรุนแรงในครอบครัว

ถูกขังด้วย ถูกจับขัง พอวันนึงหลบออกมาได้ ก็หนีเลย ไม่เจอกันอีกเลย ไม่ว่าจะช่องทางไหน เข็ดสำหรับการมีครอบครัว นี่มันไม่ใช่แล้ว”

“พอแล้ว สำหรับชีวิตคู่” นั้่นคือความคิดของย่าตุ๊ก หลังผ่านเหตุการณ์เลวร้ายในชีวิตมา จนกลายเป็น “คนกลัวการมีชีวิตคู่”แต่ย่าตุ๊กบอกว่า ความรู้สึกเหล่านี้ เริ่มหายไป เมื่อมาพบกับปู่กัญจน์

“มันก็แค่เป็นความรู้สึกที่ พอใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน แล้วมันก็แมตช์กันได้เนอะ คือเราไม่ได้มองความเป็นเพศ ตอนนั้นไม่ได้นึกเลย

นึกแค่ว่าอยู่ด้วยกัน เป็นเพื่อนกัน มันก็เหมือนคู่ชีวิต ไปๆ มาๆ เราก็อยู่กันเป็นถาวร ไม่ได้นึกว่า เออ..เราแปลกแยก เราอะไรหรือเปล่า”

เริ่มจากเพื่อน จนผูกพัน สุดท้ายก็กลายเป็นความรัก ที่มองข้ามเรื่องเพศไป นี่เป็นจุดเปลี่ยนของ ย่าตุ๊กที่เข้าใจตัวเองแล้วว่า “ความรักไม่ได้มีแค่ หญิง-ชาย”เท่านั้น ส่วนของปู่กัญจน์ความรู้สึกชอบเพศเดียวกัน มันก็ก่อตัวตั้งแต่วัยรุ่น

“ตอนเรียน ปวช. ไปซ้อมกีฬา มีพวกวัยรุ่นๆ เด็กๆ มาเชียร์อยู่ข้างสนาม ก็เออ...เราเห็นก็แบบ หน้าตาดีอะ ก็นึกชอบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา”


                                       { จากชีวิตคู่ที่พังทลาย สุดท้ายก็มาเจอรักแท้ }

ทั้งคู่ผ่านอะไรมาที่คล้ายๆ กัน ทั้ง “ชีวิตคู่ที่ล้มเหลว” เคยมีลูกมาแล้วเหมือน แต่สิ่งนึงที่ ย่าตุ๊กต่างจากปู่กัญจน์คือ คุณปู่ที่ถึงจะแยกกับครอบครัว แต่ก็ยังอยู่กับลูก

ส่วนของย่าตุ๊ก เธอต้องจำใจ“หนี” ออกมาจากครอบครัว เพราะ“ถูกทำร้ายร่างกาย” มันทำให้ไม่ได้เจอลูกตอนเด็กเลยตรงนี้เองที่ทำให้เธอคิดว่า มันมีอะไรบางอย่างขาดหายไป ย่าตุ๊กนึกถึงห้วงความคิด ณ ตอนนั้นว่า...

“ความคิดนี้ไม่เคยบอกใคร เคยคิดว่าอยากจะเลี้ยงเด็กสักคน ซึ่งเราไม่มีโอกาสได้เลี้ยง เราอยากจะมีลูกเป็นของตัวเอง

แต่ในความคิดคือ มันไม่ได้มองเรื่องการที่จะอุ้มท้องหรืออะไร ยุคก่อนๆ เนี่ยมันไม่มีค่ะ ก็แค่คิดเฉยๆ เออ...มันคงจะอบอุ่น คือมันเรียกว่า เป็นจิตวิญญาณ ของคนเป็นแม่มากกว่า ที่มันยังมีอยู่ในตัวเรา เราก็มีความรู้สึกว่า เราอยากมีลูก

มีลูกแล้ว เราใช้ชีวิตอยู่กับผู้หญิง เราจะเลี้ยงลูกแบบที่เราใฝ่ฝัน แบบที่จินตนาการไว้ เคยมีคิดค่ะ แต่มันก็ผ่านไป เพราะมันมีหลายเหตุการณ์ ความไม่พร้อม และอะไรหลายๆ อย่าง เสร็จแล้วก็ไม่ได้คิดอีกเลย”



** “สถานะกฎหมาย” ช่วยพ้นวิกฤต **

ถึงจะครองคู่มาหลาย 10 ปี แต่ความคิดเรื่อง “แต่งงาน” ก็ไม่มีเคยในหัวของทั้งสอง คุณย่าบอกว่า แม้จะใช้ชีวิตรวมทุกข์สุขกันมานาน แต่กลับไม่เคยจัดพิธีแต่งงาน แม้แต่เอ่ยถึงก็ไม่เคย

“เราไม่เคยพูดคุยกันเรื่องพวกเหล่านี้เลย เราจะไม่เคยเอ่ยถึง พูดถึง หรือแม้กระทั่งนึกถึง เราไม่เคยมองว่ามันมีความจำเป็นยังไงกับชีวิต

ก็ใช้ชีวิตกันปกติ มีความสุขดี มันไม่ได้ปรารถนาอะไรในเรื่องพวกนี้ มองว่าเราก็ใช้ชีวิตกันไป อยู่อย่างนี้แหละปกติ

เราไม่ได้มองถึงเรื่องสิทธิอะไร ด้วยความที่เราก็ใช้ชีวิตค่อนข้างราบเรียบอะ แล้วเราก็ไม่ได้รับราชการ ไม่ได้ต้องการสวัสดิการอะไร มันไม่ได้อยู่ในความคิด”

นี่คือความคิดเรื่อง “การแต่งงาน” ของ ย่าตุ๊กก่อนที่คุณปู่จะล้มป่วย และหลังจาก ปู่กัญจน์ "ต้องเข้า-ออกโรงพยาบาลหลายครั้ง”ด้วยความชรา โรคหลายอย่างก็ถามหา ที่มีทั้งเบาหวาน ความดัน ไขมันในเส้นเลือด และยังมี โรคเกี่ยวกับปลายประสาท ทำให้ต้อง “ผ่าตัดหลายรอบ”

แต่ด้วยความที่ ทั้งสอง ไม่ได้จดทะเบียนสมรส(ซึ่งตอนนั้นยังทำไม่ได้) ก็กลายเป็นว่า ย่าตุ๊ก ไม่สามารถเซ็นยินยอม เรื่องการรักษาของคุณปู่ได้เลยจนคุณย่ารู้สึกกังวลปนหงุดหงิดว่า...

“อะไรก็ไม่ได้ คือในการเซ็น เขาจะถามว่าเป็นอะไรกัน แล้วถ้ามันซีเรียสมากเนี่ย เซ็นยินยอมไม่ได้นะคะ แต่ถ้าไม่ซีเรียสมาก(อาการป่วย) ทุกครั้งก็จะถูกถามแบบนี้ เราก็ต้องบอกว่าเป็นเพื่อน บอกว่าเป็นอย่างอื่นไม่ได้”

“แต่ถ้าเกิดมันซีเรียสกว่านั้น เช่น จะต้องกู้ชีพนะ เราก็ไม่สามารถทำได้ ถ้าเราไม่ใช่คู่สมรส ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือพี่น้อง ภาษากฎหมายเขาเรียกสืบสันดาน

ถามว่าวันนั้นก็ยังไม่ได้สำเหนียกของสิทธิ์ด้วยซ้ำ แต่หงุดหงิดว่า ถ้าเกิดเป็นอะไรไปมากกว่านี้ จะทำยังไง เพราะพ่อแม่ของปู่ก็ไม่มีแล้วใช่ไหมคะ ลูกก็อยู่ต่างประเทศ เหลือก็แค่พี่ชาย”


                                     { ชีวิตก็ปกติดี ไม่เห็นต้องจดทะเบียน }

จากคนที่ไม่เคยสนใจ มองแค่ว่า “การจดทะเบียน”เป็นเพียง “เครื่องยืนยันความรัก” เท่านั้น แต่พอวันหนึ่งเมื่อคู่ชีวิตที่อยู่กันมากกว่า 30 ปี ต้องล้มป่วย แต่กลับทำอะไรไม่ได้ เพราะ “ไม่มีสถานะทางกฎหมาย”

มันก็ทำให้ย่าตุ๊ก ต้องหันกลับมามองเรื่องนี้ใหม่บวกเวลานั้นทั้งคู่เริ่มเป็นที่รู้จักในสังคม ได้ออกสื่อ ถูกเชิญไปงาน Pride Month ไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้พูดคุยกับนักเคลื่อนไหวหลายคน เรื่อง “ความเท่าเทียมทางเพศ” จนในที่สุด คุณย่าก็ตกผลึก

“อ๋อ..ความจำเป็นมันอยู่ตรงนี้ไง มันเหมือนแตกต่างจากคู่สมรสทั่วๆ ไป ที่มีสิทธิ์ทุกอย่าง แม้กระทั่งการปกป้อง หรือการดูแลก่อนตาย สุดท้ายของชีวิตมันก็จำเป็น

แม้กระทั่งวัยสร้างเนื้อสร้างตัว อยากมีลูก อยากจดรับรองบุตรบุญธรรม ก็ทำไม่ได้ แล้วก็มีหลายคู่นะคะ ที่คุณย่าได้เจอ ฟ้องร้องกรมการปกครองก็มี พอเราไปร่วมกิจกรรม เราก็มองเห็นความจำเป็น เมื่อได้พบกับผู้คนหลากหลายมากขึ้น”

“จริงๆ มันเป็นความจำเป็นพื้นฐานด้วยซ้ำ ที่มนุษย์ทุกคนควรจะมีสิทธิเท่าเทียมกัน เหมือนคนทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเพศอะไรก็ตาม ไม่ควรจำกัดแค่ว่าเป็นผู้หญิง เป็นผู้ชาย ทุกคนควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน

พอคุณย่าตกผลึกอย่างนี้ ก็เลยมีกำลังใจ ที่จะไปเป็นกำลังใจให้รุ่นลูก รุ่นหลาน นักกิจกรรมต่างๆ ทุกครั้งที่เขาเชิญมา”



** ทุกรัก "ยั่งยืน" ได้ ไม่เกี่ยวกับ "เพศ" **

จาก 2 ผู้เฒ่าที่ใช้ชีวิตรักกันอย่างเรียบง่าย ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟือง“สมรสเท่าเทียม” กลายมาเป็นสัญลักษณ์ว่า ไม่ได้มีแค่คู่รักหญิง-ชาย เท่านั้นที่สามารถสร้างครอบครัวได้

แต่มันคือความภาคภูมิใจ ในวันที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ คือ หลักฐานยืนว่า ความรักของ LGBTQ+ ก็มั่นคงยังยืนได้ ไม่ต่างอะไรกับ คู่รักชาย-หญิง

“เขาเรียกว่าเป็นภาพปรากฏที่มันชัดมากกว่า ว่าถ้าคุณจะมาตีความว่าเพศหลากหลาย ว่ามันไม่สามารถเป็นครอบครัว มันไม่สามารถที่จะมั่นคงได้

เพศเดียวกันมันสร้างครอบครัวไม่ได้นะ มันนู่นนี่นั่น‘นี่ก็มีปรากฎให้เห็น ตัวเป็นๆ ที่เขาอยู่กันมา 30 ปี แล้วก็ยังอยู่กันอยู่ ไม่ได้มีปัญหาชีวิตใดๆ’ มันเป็นภาพปรากฎชัดให้เห็น เป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่ในหนังสือ

คุณย่าก็เลย อ๋อ.. เหมือนเป็นสัญลักษณ์ ให้คนอื่นเห็นว่า ชีวิตคู่ที่ใช้ชีวิตอยู่ยาวๆ ก็มีนะ แต่มันไม่ได้หมายความว่า ทุกคู่จะเป็นแบบนี้
และไม่ใช่เพศเดียวกันเท่านั้น เพศหญิงเพศชายเอง ก็มีปัญหาเยอะแยะ มันเอามานิยามไม่ได้ หรือว่าเอามาตัดสินไม่ได้”



อคติอย่างนึงที่ไม่เคยหายไป แม้วันนี้วันที่“กฎหมายสมรสเท่าเทียม” จะประกาศใช้แล้วก็ตามคือ ความรักของเหล่า LGBTQ+ นั้นไม่มียั่งยืน“เดี๋ยวก็เลิกกัน” และนี่คือความในใจจากย่าตุ๊กคู่ชีวิตของปู่กัญจน์ ที่ใช้ชีวิตเดินเคียงคู่กันมากกว่า 30 ปี...

“ถ้ามองว่าการแต่งงาน หรือการสร้างครอบครัวจะต้องเป็นเพศชายเพศหญิงเท่านั้น วันนี้เราก็เห็นแล้ว ตามสถิติเลย ตบตีฆ่ากัน หย่าร้าง นอกใจ มีครบหมด

เพราะฉะนั้นมันไม่สามารถบอกได้ การันตีได้นะ ว่าความมั่นคงในความรัก มันจะเกิดจากเพศที่ตรงกับเพศตัวเอง แล้วมาใช้ชีวิตร่วมกันเท่านั้น

การที่เราจะใช้ชีวิตอยู่กับเพศเดียวกันกับเรา มันเป็นความรู้สึกของความรู้สึกในใจเรา มันเป็นความพอใจที่จะใช้ชีวิตแบบนี้ ถ้าพูดให้มันทันสมัยก็เป็นรสนิยมก็ได้ และความเข้าอกเข้าใจมากกว่า”

“พอหลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่าน ก็มีหลายคู่ที่อยู่กันมายาวนานกว่า 20 ปีขึ้นไป ที่ซ่อนอยู่ บังตัวอยู่หลบตัวอยู่ ก็กล้าที่จะออกมาเปิดเผย บ้างก็มีการงานที่มั่นคง บ้างก็มีหน้ามีตาในสังคม ก็ยอมที่จะออกมาเปิดเผยตัวตนค่ะ”


                                              { 30 ปี เครื่องยื่นยันว่า รักแบบนี้ก็ยั่งยื่น }

** เส้นทางที่ยาวนาน กว่าความฝันจะเป็นจริง **

ถือเป็นการเดินที่ยาวนานมาก “20 ปี” นี่คือเวลาของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม”ในวันนี้ และไม่ใช่แค่คู่ของ ปู่กัญจน์และย่าตุ๊กที่รอคอยเวลานี้มาอย่างยาวนาน ยังมีอีกหลายคู่ที่รอคอยวันนี้มานาน แต่น่าเสียดายที่ต้องมาจากโลกนี้ไปก่อน

ปู่กับย่า อยู่กันมาตั้งแต่ยุคที่โดนประณามหาว่าวิปริต แม้คำนิยามเพศที่หลายหลากก็ยังไม่มี จนมี “พี่ปุ๊-อัญชลี จงคดีกิจ”กับผลงานหนังเรื่องแรกที่เกี่ยวกับ LGBTQ+ ขึ้นมาอย่าง “ถามหาความรัก(2527)” ย่าตุ๊ก บอกนั่นแหละถึงเกิดคำว่า “ทอม-ดี้”

“ถ้าพูดกันจริงๆ คุณย่าเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเจนมากขึ้น ตอนยุคของพี่ปุ๊ อัญชลี อันนี้กระแสมามากเลย ปลุกคนที่เป็นทอม เป็นดี้ หลังจากนั้นก็จะมีคำว่า ทอม-ดี้ ขึ้นมาตอนนั้นเลย ก่อนหน้านั้น มันจะไม่มี มันก็ไม่รู้เรียกอะไรกันเนอะ ทางบ้านก็จะเรียก กะเทย นี้แหละ(หัวเราะ)”

แม้ “พี่ปุ๊-อัญชลี” จะกลายเป็นคนที่ปลุกกระแส ให้คนรักเพศเดียวกัน หรือคู่รัก LGBTQ+ กล้าออกมาแสดงตัวมากขึ้น แต่มันก็ต้องใช้อีกหลายปีกว่าสังคมจะเริ่ม ต้องเน้นคำว่า “เริ่ม” ยอมรับในตัวตนของคนเหล่านี้


                                        { “พี่ปุ๊-อัญชลี” ไอคอลสาวมาดเท่ ในยุค 90s }

และจากการเข้ามาของ “โซเชียลฯ” ในไม่กี่ 10 ปีที่ผ่าน โซเชียลฯ ต่างๆ นี่เองที่เป็นพื้นที่ให้กลุ่ม LGBTQ+ กล้าแสดงออก กล้าเปิดเผยความเป็นตัวเองมากขึ้น
มันก็ค่อยๆ สร้างความเข้าใจให้คนในสังคมรู้ว่า โลกใบนี้ “เพศ” ไม่ได้มีแค่ “ชาย-หญิง” ย่าตุ๊กมองย้อนเส้นชีวิตกลับ ในวันที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นตัวซวย แล้วบอกว่า...

“นึกไม่ถึงจริงๆ ว่าวันนี้ มันจะเดินทางมาอย่างนี้ สำหรับคุณย่า ถือว่ามันมาเห็นความสำเร็จ เห็นคนที่เขาใช้ชีวิต แล้วก็งดงามในการสร้างครอบครัว เห็นชัดๆ เป็นรูปธรรม มันชัดมาก จนไม่อยากให้สังคมต้องมองแบบแบ่งแยกอีกแล้ว”

ถ้าให้มองย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ในวันที่ทั้งสองเริ่มคบกัน แล้วมีคนเดินมาบอกว่า ต่อไป กลุ่มคน LGBTQ+ จะสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ คงไม่มีใครเชื่อ และได้แต่คิดว่า "บ้าหรือเปล่า"

“จะบ้าหรือเปล่า ที่มาพูดคำนี้กับเรา มันเกินจินตนาการ อันนี้ต้องพูดจริงๆ มันเกิน มันเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น แต่เราก็ต้องยอมรับว่า อะไรต่างๆ ในโลกนี้ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จนมันมาถึงจุดนี้จริงๆ

กระแสสังคมเองก็ดี กระแสของโลกก็ดี ประเทศอื่นที่เขามีมาก่อนเราก็มีไง แต่ในที่สุดประเทศเราก็เป็นประเทศแรกในอาเซียนเนาะ”

ตอนนี้คงบอกได้ว่า ชีวิตคู่ของทั้งสองราวกับอยู่ในความฝัน ภาพของสังคมที่ยอมรับโอบกอด คนที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้โอกาสเขาสร้างครอบครัว และมีสิทธิ์ทางกฎหมาย ได้อย่างเท่าเทียม ความสุขเหล่านี้แทรกออกมาผ่านแววตา ย่าตุ๊กทุกครั้งที่พูดถึง

“ความรู้สึกตอนนี้คือมันโล่งไปแล้ว รู้สึกว่าสังคมยอมรับนะ ไม่ได้เพื่อตัวเอง อันนี้พูดจริงๆ กับหลายๆ คน ที่เราได้เข้าไปสัมผัส ได้เจอ ได้พูดคุย ได้เห็นปัญหาของหลายๆ คน มากเลย ทั้งเข้ามาคุยส่วนตัว หรือโทรมา หรือเวลาไปร่วมกิจกรรม
 เราก็รู้สึกว่า โอ้โห..ขอบคุณมากๆ ที่ประเทศไทยกล้าหาญ และมองเห็นความจำเป็นเหล่านี้ ที่ทุกคนสมควรที่จะได้รับ โล่งใจจริงๆ”



** ไม่มีคำว่า "ผิดเพี้ยน" ถ้าใจกว้างพอ **

“ครั้งนี้มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่แบบ..ถือว่าสุดๆ แล้วนะ มันยังมองไม่เห็นว่า จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรอีก นอกจากเพศสภาพให้ตรงกับตัวเอง ที่ตอนนี้กฎหมายฉบับนี้ยังไม่ผ่านนะคะ”

“คำนำหน้านาม” คือสิ่งที่คู่รักวัยเก๋าอย่าง ปู่กัญจน์และย่าตุ๊ก มองว่า คงจะต้องเปลี่ยนให้ตรงเพศสภาพที่ เหล่าLGBTQ+ เป็นจริงๆ ย่าตุ๊กขยายภาพให้เห็นปัญหานี้ชัดๆ ว่า...

“อย่างคุณย่า ความเป็นผู้หญิงเนี่ย ผมสั้น มันก็ดูยังไม่แปลก อย่างเช่นพาสปอร์ต จะเป็น Miss ก็ไม่แปลกเท่าไหร่

แต่เพศชายที่เขาข้ามเพศมา ผ่าตัดแปลงเพศ จนใบหน้าสวย ยิ่งกว่านางงามอีก แต่เขายังเป็น Mr. อยู่เนี่ย เวลาที่เขาไปต่างประเทศ ก็ค่อนข้างที่จะยุ่งยาก และเวลาเขาจดทะเบียนสมรส มันก็ไม่ตรงกับเพศสภาพ

แต่ตอนนี้ในกฎหมาย(สมรสเท่าเทียม) ก็ไม่ได้ใช้คำว่า นาย นะคะ ให้ใช้ว่าคู่สมรส คู่หมั้น แต่คำนำหน้าจริงๆ ในบัตรประชาชน หรือพาสปอร์ต ตอนนี้ยังทำไม่ได้ ยังไม่ตรง”

ส่วนเรื่องของ “บุตร” ตอนนี้ “การรับบุตรบุญธรรม” ของ คู่รักLGBTQ+ สามารถทำได้ เหมือนคู่รักเพศปกติ แต่มันก็ยังมีปัญหาตรงที่ว่า ในกฎหมายรับเลี้ยงบุตร ยังใช้คำว่า “บิดา-มารดา”
ซึ่งตรงไม่ครอบคลุม เพศที่หลากหลาย และมันอาจส่งผลต่อสิทธิ์ต่างๆ ในกฎหมายได้ แต่ย่าตุ๊กบอกเห็นว่า กำลังจะมีเปลี่ยนตรงนี้ จาก “บิดา-มารดา” เป็น “บุพการี”แทนอยู่

และเรื่องที่ กฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ ยังไม่อนุญาตให้ คู่รักเพศหลากหลาย เข้าถึง “เทคโนโลยีเจริญพันธุ์เพื่อการมีลูก” ย่าตุ๊กบอกว่า ในความจริงก็เห็น คู่รักหญิง-หญิง ไปทำการผสมเทียม แล้วอุ้มท้องลูก ก็มีมานานและหลายคู่แล้ว แต่เรื่องสิทธิ์ทางกฎหมาย ของเด็กที่เกิดมา ย่าเองก็ยังไม่แน่ใจ


                                    { จดทะเบียนได้แล้ว เรื่องต่อไป “คำนำหน้านาม” }

ย่าตุ๊กมองว่า เมื่อกฎหมายหลักอย่าง สมรสเท่าเทียมผ่านแล้ว กฎหมายลูกหรือบทบัญญัติ เดี๋ยวก็คงต้องค่อยๆ เปลี่ยนให้สอดคล้องกัน ตอนนี้ก็ต้อง “ลองใช้กันไปก่อน” ยังมองไม่เห็นว่าจะต้องเพิ่มอะไรอีกหรือเปล่า

“มันต้องใช้ไปก่อน แล้วมันจะเห็นว่าไปถึงจุดไหน หรือมันจะต้องมีเหตุการณ์บางเหตุการณ์ ที่มันเกิดขึ้น แล้วมันไม่เข้ากับข้อกฎหมาย มันถึงจะเห็นว่า เออ.. ตรงนี้มันควรจปรับ หรือควรจะแก้

วันนี้ต้องบอกว่ายังมองไม่เห็นจริงๆ จนกว่าทุกคนได้ไปจดทะเบียน แล้วพอไปใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน หรือจนกว่าจะเกิดเหตุการณ์ แล้วมันไม่เข้าข้อกฎหมาย อันนั้นเราถึงจะบอกได้ วันนี้เหตุไม่เกิด ก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่า มันมีข้อดีข้อด้อยยังไง”

อีกเรื่องที่แม้กฎหมายจะผ่าน แต่ไม่น่าจะบังคับได้ คือ “การยอมรับ” จาก “คนในครอบครัว” นี่เป็นปัญหาที่ไม่ว่ายุคไหน เหล่า LGBTQ+ ยังไงก็ต้องเจอ โดยเฉพาะเด็กๆ ย่าตุ๊ก เข้าใจเรื่องนี้ดี เพราะตัวเองก็เป็นทั้งลูกและแม่คน

สำหรับคนที่เป็นพ่อแม่เองก็ดี ต้องให้โอกาสลูกนะคะ ถ้าเขาเลือกแล้ว เขาเลือกตามใจ คนที่จะอยู่ด้วยแล้ว เขาก็มีความสุข

หญิงยังชอบเพศชาย ชายยังชอบเพศหญิง อันนั้นก็เป็นความชอบ ไม่ได้ผิดเพี้ยนอะไร แต่สังคมที่เป็น LGBTQ+ ไม่อยากให้สังคมมองว่า มันผิดเพี้ยน”




** ให้อิสระ-ยอมรับ-เข้าใจ" เดินไกลถึง 30 ปี **


“การที่จะใช้ชีวิตอยู่กันมาขนาดนี้ มันก็ต้องมีความอดทน พร้อมอภัยให้กัน คุณย่าจะเป็นคนให้อิสระนะคะ จะเป็นคนที่ไม่ได้ยึดมั่นว่า คุณต้องอยู่กับฉันตลอดเวลา หรือทั้งหมดของชีวิตต้องเป็นของเรา”


แม้จะเรียกว่า “ชีวิตคู่” แต่มีความอิสระ เว้นระยะให้มีพื้นที่ส่วนตัวของแต่ละบ้าง ไม่อย่างงั้นจาก “รัก” ก็จะกลายเป็น “อึดอัด” ส่วนปู่กัญจน์ ตอบอย่างน่ารัก ก่อนมองหน้าคุณย่า คู่ชีวิตที่ใช้เวลารวมกันมากว่า 3 ทศวรรษว่า


“ถ้าทะเลาะกันอย่าไปโกรธนาน ง้อกันซะ แรกๆ เหมือนกันนะ ก่อนที่จะชวนย่ามานะ มาอยู่ด้วยกันนี่นะ จะอยู่ไหวไหมเนี่ย ตัวเราเองนะ อยู่ไปๆ เราเห็นความดี ความเข้าใจ ความซื่อสัตย์”


ลิ้นกับฟัน ยังไงก็ต้องเรื่องไม่เข้าใจกันบ้าง แต่ถ้าทุกอย่างมี ความรักเป็นพื้นฐาน มันต้องใช้ความอดทน เสียสละ และให้อภัย สุดท้ายคือ การยอมรับและเข้าใจในตัวตน ของแต่ละฝ่าย นี่คือเคล็ดลับ ที่ทำให้ทั้งสอง ครองคู่กันมาได้ขนาดนี้






** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **



สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : นนทัช สุขชื่น
ภาพ :วชิร สายจำปา
ขอบคุณภาพ : Facebook “Tuk Inter Wongsupha”, Instagram @poohanchalee


กำลังโหลดความคิดเห็น