xs
xsm
sm
md
lg

“เมาแล้วขับ-ชนคนตาย” ในไทย(แทบ)ไม่ติดคุก!! พ่อเหยื่อย้ำโทษเบา กูรูแนะเลิกอ้าง “ประมาท”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พ่อเหยื่อสะท้อน เมาแล้วขับ-ชนคนตาย “โทษต้องหนักกว่านี้ไหม?” เปิดเคสเมาแล้วขับ “ส่วนมากไม่ต้องเหยียบคุก” เพราะ “โทษเบา” เดี๋ยวก็ “รอลงอาญา”

** กลัวไม่ได้ความเป็นธรรม **

เป็นข่าวดังข้ามปีกันเลยทีเดียว จากเคสนักร้องดังอย่าง “ติ๊ก ชีโร่” มนัสวิน นันทเสน ผู้ก่อคดี “เมาแล้วขับ” ชนกับมอเตอร์ไซค์ของ 3 พี่น้อง

จนเป็นเหตุให้ “พี่สาวคนโตเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ” และ “น้องคนเล็กบาดเจ็บสาหัส” ส่วนคนที่ 3 ปลอดภัยดี ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ต.ค 67 และเจ้าหน้าที่ก็ได้แจ้งข้อหานักร้องดังรวม 5 ข้อหาคือ...
1.ขับขี่รถในขณะมึนเมา เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
2.ขับขี่รถในขณะมึนเมา ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส 
3.ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
4.ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
 และ 5.ขับรถในขณะมึนเมา เป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย

                                         {สภาพรถยนต์ของ ติ๊กชีโร่ ณ วันที่เกิดเหตุ}

ข่าวร้ายล่าสุดคือ “น้องคนเล็ก” ที่บาดเจ็บสาหัสได้ “เสียชีวิต”ลงแล้ว หลังนอนโรงพยาบาลยื้ออาการมากว่า 70 วัน ทำให้พ่อของเหยื่อต้องขอออกมาเผยกับสื่อว่า นอกจาก “ค่าทำศพ”ลูกสาวคนโต กับ “ค่ารักษา” ลูกคนเล็ก “ค่าเยียวยาอื่นๆ ยังไม่ได้รับ”

คุณพ่อบอกว่า ช่วงปลายปีที่แล้ว ได้เรียกร้องค่าเยียวยาไปจำนวนนึง แต่ผ่านมา 3 เดือน ก็ยังไม่มีการตอบกลับ และสิ่งที่ทำให้กังวลว่า จะไม่ได้รับความเป็นธรรมคือ ก่อนหน้านี้ “ติ๊ก ชีโร่” ยอมรับสารผิดแล้ว


                                              {“ติ๊ก ชีโร่” ผู้ก่อคดีเมาแล้วขับรายล่าสุด}

โดยล่าสุด เขาได้ “เข้าไปยื่นขอความเป็นธรรม” กับเจ้าหน้าที่ พยายามทำให้เรื่องนี้เป็น “การประมาทร่วม” ทีมข่าวจึงต่อสายหา “จีรวัฒน์ ศิวพรพิทักษ์”คุณพ่อของผู้เสียชีวิต เพื่ออัปเดตว่า ตอนนี้รูปคดีเป็นอย่างไร

“ล่าสุดเนี่ย ทางตำรวจเขาได้มาแจ้งกับผมนะครับว่า ทางตำรวจวินิจฉัยแล้ว การร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมของคุณติ๊กเนี่ย ตำรวจเขามองว่า มันไม่สมเหตุสมผล มันจะดูมองเป็นการประมาทร่วม ก็คงลำบาก”

ก่อนหน้านี้ ตำรวจจะสรุปสำนวนส่งฟ้อง ทั้ง 5 ข้อหาภายในเดือนนี้(ม.ค.) แต่เมื่อตอนนี้ ลูกคนเล็กเสียไปแล้ว ทางเจ้าหน้าที่บอกว่า มันเป็นเหตุจากคดีเดียวกัน ทำให้ต้องรอผลชันสูตรก่อน ถึงจะยื่นสำนวนให้อัยการ
“ในจังหวะนี้ที่คิดว่าจะยื่นสิ้นเดือนนี้ ก็คงอาจจะต้องเลื่อนไป จนกว่าผลชันสูตรของน้องจะออกมา”


                                                {“จีรวัฒน์” คุณพ่อของผู้เสียชีวิต}

** “รอดคุก” มาหลายเคส **

เคส “เมาแล้วขับ” จนทำให้คนอื่นเสียชีวิต ไม่บอกก็คงรู้ว่า นี่ไม่ใช่เคสแรก ถ้าจำกันได้ มีกรณี “เสี่ย” ขับรถยนต์ “เบนท์ลีย์”เมาแล้วขับ จนเกิดเหตุชนยับ 3 คันรวดบนทางด่วน มีผู้บาดเจ็บถึง 8 คน

แต่สุดท้ายก็ “รอดคุก” มาได้ เพราะ “ไม่ยอมเป่าวัดแอลกอฮอล์ในที่เกิดเหตุ”อ้าง “เจ็บหน้าอก”ขอไปตรวจเลือดที่โรงพยาบาลภายหลังแทน ทำให้แอลกอฮอล์ในเลือดที่ตรวจหลังจากนั้น ไม่เกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ กฎหมายเลย “ไม่ถือว่าเมาแล้วขับ”


                                          {เสี่ยเบนท์ลี่ย์ รอดคุก หลังชนยับ 3 คัน}

หรือแม้แต่เคสของดาราเมาแล้วขับอีกราย อย่าง “ต่อ” เรืองฤทธิ์ วิสมลที่แม้จะไม่เกิดอุบัติเหตุ เพราะเป็นการ “โดนรวบคาด่านตรวจ” จากการตรวจพบแอลกอฮอล์ในร่างกาย ถึง “ 235 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์” ซึ่งเกินว่าที่กฎหมายกำหนด คือต้องไม่สูงกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

ศาลจึงสั่งจำคุก แต่เห็นว่า “จำเลยรับสารภาพ” เลย “ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง”เหลือโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 4,000 บาท โดย “รอลงอาญา 2 ปี” และริบใบขับขี่ 6 เดือน ก็เท่ากับว่า “รอดคุก”ไปอีกราย

และเคสที่ดังที่สุดคงหนีไม่พ้น “บอส-อยู่วิทยา” ทายาทกระทิงแดง ที่ก่อเหตุเมาแล้วขับจน “ชนตำรวจตาย”เมื่อหลายปีก่อน
แต่สุดท้ายดูเหมือนจะมีการเล่นแร่แปลธาตุ อย่าง “การวัดแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุ” จนกลายเป็น “เมาหลังขับไป”และถึงตอนนี้ทายาทตระกูลดังก็ยัง “ไม่เคยได้รับโทษ” เลย

ยังมีอีกหลายคดี “เมาแล้วขับที่มีคนตาย”แต่ผู้ก่อเหตุ “ไม่ต้องเหยียบคุก” เลย แม้กฎหมายจะบอกว่า เมาแล้วขับ มีโทษปรับ 5,000-20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้ามีคนตาย ต้องระวางโทษปรับ 60,000-200,000 บาท หรือจำคุก 3-10 ปี



และนี่คือเสียงสะท้อนของ คุณพ่อผู้เสียลูกไปแล้วถึง 2 คน จากคดี “ติ๊ก ชีโร่” ที่บอกไว้ว่า “โทษต้องหนักกว่านี้” เพราะในสมัยที่เขาเป็นนักศึกษาที่ญี่ปุ่น เคยโดนตำรวจจับเพราะเมาแล้วขับ โดนปรับร่วม 20,000 บาท

พร้อมคำเตือนว่า ถ้ามีครั้งที่ 2 จะต้องถูกขับออกจากประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้คือคำตัดสินเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ในบ้านเมืองที่โทษทางกฎหมายเข้มงวดและจริงจัง

“ถามว่าผมคิดยังไง ผมก็คิดว่า เมาแล้วขับเนี่ย โทษมันจะต้องหนัก หนักมากนะครับ โดยเฉพาะถ้าเมาแล้วขับ แล้วชนคนตายด้วยเนี่ย ผมว่าต้องติดคุกแบบไม่รอลงอาญา ในใจผมอะนะ ถ้าเสียชีวิตนะ”



** เร่งปรับ “ภาษากฎหมาย” เพื่อความยุติธรรม **

“เมาแล้วขับ ชนคนตาย” ทำไมไม่ค่อยมีคนติดคุก? ชวนคุยกับ “นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์” ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย ว่าเพราะช่องโหว่อะไรที่ทำให้เป็นแบบนี้?

กูรูด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ชี้ให้เห็นถึง 2 รูรั่วใหญ่ๆ คือ “การตรวจวัดแอลกอฮอล์” และ “การฟ้องดำเนินคดี” เริ่มจากการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ที่มี 2 แบบคือ “ตรวจที่ด่าน” และ “ตรวจหลังจากเกิดเหตุ”



ซึ่งการวัดแอลกอฮอล์หลังเกิดอุบัติเหตุนั้น ปัญหาคือ “ไม่ได้วัดทันที” โดยปกติต้องวัด “ภายใน 1-2 ชั่วโมง” เพื่อความแม่นยำ เพราะ“แอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลงไปเรื่อยๆ ในทุกชั่วโมง”

“นพ.ธนะพงศ์” อธิบายเพิ่มว่า เวลาเกิดอุบัติเหตุเมาแล้วขับ ตามหลักตำรวจต้องเป็นคนพาผู้กระทำ ไปเจาะวัดแอลกอฮอล์ที่โรงพยาบาล
ส่วนที่วัด ณ จุดเกิดเหตุไม่ได้ ก็เพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่ ไม่ได้พกเครื่องเป่าตรวจ ALC ไป หรือผู้ก่อเหตุอ้างว่า บาดเจ็บจนเป่าไม่ได้



นี่แหละปัญหา เพราะหลายเคส “เจ้าหน้าที่ไม่ได้พาไป” ปล่อยให้ผู้ก่อเหตุไปวัดปริมาณที่โรงพยาบาลเอง ทำให้มันใช้เวลาเกิน 1-2 ชั่วโมง บางเคสก็เกินกว่า 6 ชั่วโมง จนแอลกอฮอล์ในร่างกายหายหมด แล้วก็ “หลุดคดี”เมาแล้วขับไป

ในต่างประเทศอย่าง “ยุโรป”มีกฎหมายระบุออกมาชัดเจนเลยว่า เจ้าหน้าที่ต้องตรวจในภาย 1-2 ชั่วโมง “ถ้าทำไม่ได้” เจ้าหน้าที่หรือผู้กระทำความผิด “ต้องขึ้นไปชี้แจ้งกับศาล”

ช่องโหว่ที่ 2 คือ “การดำเนินคดี”สำหรับเคส “เมาแล้วขับ”กรณีที่จะทำให้มีบทลงโทษหนักมี 2 อย่างคือ “กระทำผิดซ้ำ” กับ “มีคนตาย”แต่ช่องโหว่ที่เกิดกับเคส “กระทำผิดซ้ำ”แต่ไม่ถูกดำเนินคดีคือ “ตำรวจส่งสำนวนไม่ทัน”

ยกตัวอย่าง โดนจับที่ด่านตรวจ ตำรวจต้อง “ส่งฟ้องศาล ภายใน 48 ชั่วโมง” แต่ระยะเวลาที่เจ้าพนักงานจะสืบค้นหาประวัติว่า เคยเมาแล้วขับไหม ต้องใช้เวลา 4-5 วัน ทำให้ “ส่งสำนวนฟ้องว่า กระทำผิดซ้ำไม่ทัน”


                                    {“นพ.ธนะพงศ์” กูรูด้านความปลอดภัยบนท้องถนน}

และอีกอย่างที่ทำให้คดีชนคนตาย จากเหตุเมาแล้วขับ แต่กลับไม่ค่อยมีคนติดคุกคือ “โทษที่น้อยเกินไป” เพราะเรายึด “มาตร 291” คือ “ประมาทเป็นให้ผู้อื่นถึงแกความตาย” ในการฟ้อง ซึ่งโทษสูงสุดอยู่ที่ 10 ปี แต่ถ้าจำเลย “รับสารภาพ” ก็ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง 10 ปี ก็เหลือ 5 ปี

 “5 ปีในกฎหมายเนี่ย มันอยู่ในดุลพินิจศาลที่ จะรอลงอาญาก็ได้ เพราะงั้น มันเลยเป็นที่มาว่า ทำไมบ้านเราคดีเมาแล้วขับ มันเลยไม่มีใครติดคุก มันเลยหาคนติดคุกได้ยาก”

ถ้าจะแก้ กูรูรายเดิมยกตัวอย่าง “ญี่ปุ่น” ที่เขาเปลี่ยนจาก “เมาแล้วขับ = ขับรถโดยประมาท” ซึ่งโทษจำคุกอยู่ที่ 5-10 ปี เป็น “ขับรถอันตราย” แล้ว “ขยับโทษเป็น 15-20 ปี” และที่สำคัญ “บ้านเขาไม่มีรอลงอาญา”

กูรูรายเดิมเสริมว่า เราต้องผลักดันให้เรื่อง “เมาแล้วขับ ไม่ใช่ความประมาท” และถ้าอยากให้มีคนคิดคุกจากเรื่องนี้ ต้อง “เพิ่มโทษให้เกิน 10 ปี” เพราะต่อให้ศาลลดโทษกึ่งหนึ่ง มันก็ยังเกิน 5 ปี เกินอำนาจศาลที่จะสั่งรอลงอาญา



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : IG “@tikshirotoshirik”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น