“ทั้งแต่ง-ทั้งร้อง” แต่ไม่มีสิทธิ์ถือครอง “ลิขสิทธิ์เพลง” เจาะเคสศิลปินเบอร์ใหญ่ ระบุค่ายยักษ์ให้เซ็น “สัญญาทาส” สะท้อนมุม “เหยื่อศิลปิน” กับความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนหลายเคสเสียเปรียบถึงขั้นว่า ต่อให้เป็น “เพลงตัวเอง” แต่ก็ “ร้องไม่ได้” อยู่ดี
** “ลิขสิทธิ์” เป็นของใคร? ขึ้นอยู่กับ “เนื้อหาสัญญา” **
กลายเป็นปมร้อนระอุวงการเพลง เมื่อศิลปินเบอร์ใหญ่อย่าง “เสก โลโซ” (เสกสรรค์ ศุขพิมาย)ออกมาโพสต์แฉว่ามีปัญหาเรื่อง “ลิขสิทธิ์เพลง" กับค่ายยักษ์อย่าง “GMM Grammy” จนขอขนานนามว่าคือ “สัญญาทาส”
เริ่มจากแฟนเพจบนเฟซบุ๊ก “SEK LOSO” ออกมาโพสต์อธิบายว่า ในสัญญาฉบับแรกที่เคยเซ็นกับทาง GMM คือ “สัญญาจ้างทำเพลง”
ต่อมาทางค่ายจึงตกลง ขอให้ “โอนลิขสิทธิ์”ทั้งหมดให้กับค่าย มารู้ตัวทีหลังว่าอาจสุ่มเสี่ยงเรื่องความเสียเปรียบ เสกจึงขอเข้าไปแก้สัญญาใหม่ในภายหลัง
{ “เสก-โลโซ” นักร้อง-นักแต่งเพลงเบอร์ใหญ่ }
แต่ปรากฏว่ากลับแก้ได้เพียงรายละเอียดเพิ่มเติมว่า “เสก โลโซ” และ “ทายาทอันชอบธรรม” มีสิทธิ์ใช้เพลงที่เขาแต่งขึ้นมา “เพียงแค่ไว้ทำมาหากินเท่านั้น”แต่ไม่สามารถขายลิขสิทธิ์ต่อให้ใครได้ “จนกว่าอายุสัญญาจะหมด”
ด้วยความรู้สึกค้างคาในใจ “กานต์-วิภากร”ภรรยาของนักร้องดัง ผู้ควบตำแหน่งผู้จัดการส่วนตัว จึงตัดสินใจบุกเข้าตึกค่ายเพลงใหญ่ใจกลางกรุง เพื่อขอเคลียร์และขอคำตอบ จึงได้ประโยคเด็ดๆ กลับมาว่า
“อยากรู้แค่ว่า สัญญาหมดเมื่อไหร่ รู้ไหมเขาพูดว่าอะไร ไม่มีวันหมดตลอดไป”
จนผลักให้ทางฝั่งครอบครัวศิลปิน ตัดสินใจตั้งโต๊ะแถลงข่าว เพื่อเล่าเหตุการณ์ “บุกตึก” แก่สื่อมวลชน โดยกานต์แสดงจุดยืนไว้ว่า ต้องการสิทธิ์ในการถือครองทั้งหมด กลับมาเป็นของครอบครัว เพื่อทิ้งสมบัติให้ลูกๆ ในวันที่ต้องจากโลกนี้ไป
{ “กานต์-วิภากร”ภรรยาของเสก }
ถามว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน? ที่ “ลิขสิทธิ์” จะกลับมาเป็นของ “ศิลปินผู้ผลิต” หรือเคสแบบไหนที่จะตกเป็นของ “ค่ายเพลงผู้ดูแล” เรื่องนี้กูรูด้านกฎหมายอย่าง “พีท” ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ทนายความและที่ปรึกษาทางกฎหมาย มีคำตอบให้
“อันดับแรกก่อนเลย ถ้ามันไม่มีสัญญา มันก็ว่าตามกฎหมายก่อน ประเทศไทยคือระบบกฎหมาย ที่เรียกว่า Civil Law กฎหมายลายลักษณ์อักษร”
ดังนั้น ถ้าไม่มีการเซ็นสัญญา “ผู้สร้างงาน”จะเป็น “เจ้าของลิขสิทธิ์ผลงาน”นั้น แต่ถ้าเป็น “การจ้างแรงงาน” คือเป็น “พนักงาน”ของบริษัท เมื่อแต่งเพลงในเวลานั้น ลิขสิทธิ์จะยังเป็นของคนแต่ง เพียงแต่บริษัทสามารถเอาผลงานเราไปใช้ได้
และเมื่ออายุสัญญาหมด หรือเลิกสัญญา บริษัทจะไม่มีสิทธิ์เอาผลงานไปใช้อีกเลย
แต่ถ้าเป็นการจ้างอีกรูปแบบ คือค่ายนั้นๆ มา “จ้างผลิตผลงาน” เช่น จ้างมาแต่งเพลง แบบนี้ลิขสิทธิ์ทั้งหมด จะตกเป็นของ “ผู้ว่าจ้าง” ตามหลักกฎหมาย
เว้นเสียแต่ว่า มีการ “เซ็นสัญญา”เกิดขึ้น ไม่ว่าหลักกฎหมายจะบอกไว้ยังไง
“ถ้าคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรว่ายังไง ก็ให้เป็นไปตามนั้น”
สรุปคือ ถ้าใน “สัญญา”ระบุไว้ว่า ผลงานที่สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเพลง, บทหนัง-นิยาย หรืองานออกแบบต่างๆ เป็นของ “บริษัท” ลิขสิทธิ์ก็จะกลายเป็นของบริษัทโดยอัตโนมัติ
{ “ดร.พีรภัทร”ที่ปรึกษาทางกฎหมาย }
** (อยาก)แหก “สัญญาทาส” ให้ทุกคนได้ร้อง **
“สัญญานะ มันเขียนไว้ว่า ถ้าเราไม่อนุญาตให้เล่น คุณเอาไปเล่นไม่ได้ นั่นคือ สัญญาทาส นั่นแหละ”
คือเสียงสะท้อนของ “เสก โลโซ” ในวันแถลงข่าว ที่ย้ำว่า ไม่ได้มีแค่ตัวเขาที่มีปัญหาเรื่อง “ลิขสิทธิ์เพลง” แต่ในวงการเดียวกัน ยังมีพี่น้องศิลปินอีกหลายราย ไม่สามารถเล่นเพลงของตัวเองได้
หรือแม้แต่ “ชื่อที่ค่ายตั้งให้” ก็ใช้ไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับอนุญาต
ล่าสุด เสกอัปเดตว่า มีการแก้สัญญาให้เป็น “การถือสิทธิ์ร่วม” แล้ว กับทาง GMM Grammy จึงทำให้เจ้าตัวสามารถเล่นเพลงที่ตัวเองแต่งได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต
แต่ถ้าเป็นไปได้ เขาก็อยากจะแก้สัญญาใหม่อีกครั้ง คือให้ตัวเองมีสิทธิ์ ในการมอบลิขสิทธิ์เพลง ให้คนอื่นๆ ได้แบ่งปันกันเล่นเพลงได้ด้วย
เพื่อให้ “นักดนตรี” หรือ “ร้านอาหารเล็กๆ” สามารถเปิดเพลง หรือแม้แต่คัฟเวอร์เพลงของ LOSO ได้ โดยไม่ต้องถูกเก็บ “ค่าลิขสิทธิ์” ซึ่งเป็นเรื่องที่เสกตั้งใจอยากให้เกิดขึ้นมานาน และเคยออกมาพูดก่อนหน้านี้เป็น 10 ปีแล้วด้วยซ้ำ
“อยากให้แก้ไข เรื่องของการจัดเก็บเนี่ย บ้านเล็ก-บ้านน้อย ก็ไม่ควรไปเก็บเขาหรอก ผมเคยสัมภาษณ์ไว้เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ยังมีเจตนารมณ์เดิม ก็คืออยากให้พี่น้อง คนยากคนจนเนี่ย ได้เอาเพลงไปทำมาหากินกันนะครับ”
เพราะ “การเปิดเพลง” “เล่นเพลง”หรือแม้แต่ “คัฟเวอร์เพลง”ลงสื่อออนไลน์ ถ้าทำในรูปแบบ “เชิงพาณิชย์” อย่างเปิดในผับ-บาร์ หรือนักดนตรีเอาไปเล่นบนเวที ถ้าเพลงนั้นยังมีลิขสิทธิ์อยู่ ก็ยังจำเป็นต้อง “ขออนุญาต”จากเจ้าของก่อน
ไม่อย่างนั้น “เจ้าของลิขสิทธิ์” จะสามารถเรียกเก็บค่าลิขสิทธิ์ หรือแม้กระทั่งฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ได้ ถึงแม้ว่าคนที่หยิบเพลงเพลงนั้นไปร้อง จะเป็นคนแต่งเพลงนั้นเองก็ตาม
ยกตัวอย่างเคส “เวสป้า สเตอร์” (อิทธิพล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา)นักร้อง-นักแต่งเพลงชื่อดัง ที่เคยเอา “เพลงตัวเอง"ที่แต่งให้ศิลปินต่างๆ ไปร้องจนถูกค่าย RS อดีตต้นสังกัด “ฟ้อง” ถึง “12 ล้าน” ข้อหา “ละเมิดลิขสิทธิ์”
{ “เวสป้า สเตอร์” โดนฟ้องกว่า 12 ล้าน }
ไม่ต่างจาก “ฟอร์ด-สบชัย ไกรยูรเสน”นักร้องดังยุค 90’s ที่อดีตต้นสังกัดอย่าง RS ก็ออกมา “ฟ้อง” ละเมิดลิขสิทธิ์เพลงเหมือนกัน จากการที่ฟอร์ดร้องเพลงตัวเองอวยพรในงานแต่งงาน ทั้งที่ลิขสิทธิ์ถือครองยังอยู่ที่ค่าย RS
ส่วนจะมีความเป็นไปได้ ที่จะสามารถ “แก้สัญญา”ให้เป็นไปตามจุดยืนที่ต้องการได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่าง “ค่าย” กับ "ศิลปิน” ซึ่งเคสของ “เสก โลโซ” เจ้าตัวบอกไว้ว่าทางค่ายน่าจะยอม ไม่น่ามีปัญหาอะไร
{ "ฟอร์ด”ร้องเพลงตัวเองก็โดนฟ้อง }
แต่ถ้าวัดจากมุมของนักกฎหมายอย่าง ดร.พีท แล้ว เขามองว่า “สัญญา” สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้ตลอดก็จริง แต่...“ก็ต้องย้อนกลับไปดูในสัญญาด้วยนะ สัญญาฉบับแรกที่เซ็นกัน”
ต้องดูดีๆ ว่า ในตัวสัญญานั้นๆ ระบุไว้ว่า บริษัทแก้สัญญาได้ฝ่ายเดียว หรือเขียนว่าการจะแก้ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องมานั่งตกลงกันใหม่
ประเด็นคือยังไม่มีใครรู้ สัญญาที่เสกทำกับ GMM ว่าเขียนไว้ยังไง แต่มันก็ยังมีทางออกที่ทั้งคู่ตกลงกันได้อยู่
** “ปีศาจ” ซ่อนอยู่ในรายละเอียด **
บทเรียนจากปัญหาเรื่อง “ลิขสิทธิ์”จากเคสใหญ่เคสนี้ และอีกหลายเคสที่เคยเกิดก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นภาพชัดว่า ถ้าสัญญาระบุไว้ว่า “ลิขสิทธิ์ทุกอย่าง”เป็นของค่าย
หรือแม้แต่รายละเอียดที่ว่า “อายุสัญญา”จะยาวนานขนาดไหน บริษัทก็สามารถทำได้ทั้งนั้น เพราะบ้านเรายึด “ลายลักษณ์อักษร”เป็นหลัก ที่สำคัญคือ ถ้าคู่สัญญาไม่พอใจ จะไม่เซ็นก็ได้
ดังนั้น “ศิลปินหน้าใหม่” ไม่ว่าจะ “คนเขียนเพลง” “นักร้อง” “ดารา” รวมถึงคนทำงานสร้างสรรค์สายไหนก็ตาม ควรตระหนักรู้ถึงจุดนี้ให้ดี โดยเฉพาะก่อนเซ็นสัญญา ต้องอ่านรายละเอียดให้เข้าใจ และที่สำคัญ ต้องตรวจสอบ ข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบ ให้รอบด้าน ก่อนตัดสินใจ
อย่างที่ฝั่งตะวันตก มีสำนวนเตือนใจบอกไว้ว่า “The devil is in the details” ซึ่งหมายถึง “ปีศาจจะแฝงตัวอยู่ในรายละเอียด”
ไม่ต่างอะไรจากการที่จรดปากกาเซ็นไปแล้ว โดยไม่ทันได้สังเกตปีศาจที่แฝงมาในนั้น แล้วจะมาบอกทีหลังว่า “ไม่ได้อ่าน” หรือ “ไม่เข้าใจสัญญา”สุดท้าย กฎหมายไม่รับฟัง
“เพราะฉะนั้น มันต้องอยู่ในรายละเอียดว่า คุณต้องอ่าน แล้วคุณได้มีการตกลง ได้มีการต่อรอง ได้มีการทำอะไรตั้งแต่ ณ วันนั้นหรือเปล่า เพราะไม่อย่างนั้น กฎหมายมันก็จะปิดปากคุณ”
เพราะถึงแม้จะเป็น “ศิลปินเบอร์ใหญ่” ก็ไม่ได้หมายความว่า จะสามารถเรียกร้องทุกอย่างคืนได้ ทั้งเคสตัวอย่างในไทย ทั้งเคสที่เกิดกับซุป’ตาร์ระดับโลกอย่าง “เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift)” ที่กูรูกฎหมายรายเดิมเตือนไว้
“อย่ามองว่าเป็นเบอร์ใหญ่แล้ว จะมีสิทธิ์เสมอ อย่างเคส Taylor Swift ก็มีปัญหาเรื่องมาสเตอร์เพลง พอจบสัญญากับค่ายแล้ว ปรากฏค่ายนี้ไปขายมาสเตอร์ตัวนี้ต่อในที่อื่นๆ
ขนาด Taylor Swift เบอร์ใหญ่ ยังคุยไม่ได้ Taylor บอกไม่เป็นไร งั้นฉันทำมาสเตอร์ใหม่ขึ้นมาเลย”
{ “เทย์เลอร์ สวิฟต์” นักร้อง-นักแต่งเพลง ระดับโลก }
ดังนั้น ท่องไว้เสมอว่า ไม่ว่าจะยังไงบริษัทหรือค่ายเพลงก็ “ได้เปรียบ” ในการทำสัญญากว่าคนทั่วไป เพราะพวกเขามี “ทีมกฎหมาย” คอยดูแล รวมถึงอำนาจต่อรองก่อนทำสัญญาด้วย
ที่สำคัญ สิ่งที่ประชาชนทั่วไปต้องมีคือ “สมาคม” หรือการรวมตัวกันของคนทำงาน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ไม่ว่าจะ “ส่วนแบ่ง”,“การถือครองลิขสิทธิ์” หรือแม้แต่การต่อสู้ในชั้นศาล
“คนคนเดียว บางทีมันต่อสู้ไม่ได้ มันต้องเป็นในรูปแบบของการรวมกลุ่มกันแหละ ให้มันเป็นมาตรฐาน”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : Facebook “SEK LOSO” , “เวสป้าสเตอ” ,” Ford Sobchai Griyoonsen”, “Wiphakorn Karn Sookpimay” และ IG @seklosoofficial
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **