เกือบเจ๊งเพราะโควิด รอดตายเพราะปรับตัว! เปิด “โรงงานสมุดโกญจนาท” เจ้าของผลงาน “สมุดนักเรียนลายไทยมินิมอล” ฉีกกรอบสมุดนักเรียนยุคเก่า โละสูตรคูณทิ้งไป เปลี่ยนใหม่เป็นปกหลัง 8 วิชาใช้ได้จริง
นำหนึ่งก้าว วงการสมุดนักเรียน
“การออกแบบก็มีผลนะ เวลาคนเลือกซื้อสมุด มันหน้าตาเหมือนกันหมด เขาก็เลือกซื้อที่ดีไซน์ว่ามันไม่เหมือนใคร มันแตกต่าง มันไปตรงใจเขา แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ฟังก์ชันการใช้งาน ความประทับใจหลังจากได้ใช้งานก็เป็นส่วนสำคัญ เพราะว่าปกมันคือตัดสินใจก่อนเลือกซื้อ แต่ว่าสิ่งจะตัดสินใจให้เขากลับมาซื้อซ้ำ คือใช้แล้วเขาประทับใจหรือเปล่า”
“มิน - ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ” ทายาทรุ่นที่ 3 ของ “โรงงานสมุดโกญจนาท” เล่าให้ทีมข่าว MGR Live ฟัง ไปพร้อมๆ กับการพลิกหน้าสมุดที่ถืออยู่ในมือ
เหตุผลที่เราต้องพูดถึงโรงงานสมุดนี้ นั่นก็เพราะเมื่อกลางปีที่ผ่านมา ได้มีไวรัลบนบน X (Twitter เดิม) ถึงการแปลงโฉม “สมุดนักเรียนลายไทย” ให้กลายเป็น “สมุดนักเรียนลายไทยมินิมอล” ถูกใจทุกคนจนกระหน่ำแชร์ไปหลายหมื่นครั้ง
[ “มิน - ลภนพัฒน์” เจ้าของไอเดียสมุดลายไทยมินิมอล ]
ผลงานนี้เป็นฝีมือการออกแบบของ มิน ที่มีโอกาสได้เข้ามาช่วยดูกิจการของที่บ้าน ด้วยการปัดฝุ่นสมุดนักเรียนลายไทยแบบเก่า ให้ออกมาถูกจริตคนรุ่นใหม่ และยังเปลี่ยนเนื้อหาปกหลังของสมุดนักเรียน รื้อ "สูตรคูณ" และ "มาตราชั่งตวงวัด" แบบเดิมๆ ทิ้งไป แล้วแทนที่ใหม่ด้วย "สาระ 8 วิชาหลัก" ที่จำเป็นและใช้ได้จริง
สิ่งที่ตามมา ไม่เพียงแค่เป็นการเปลี่ยนแปลงสมุดนักเรียนลายไทยให้ดูร่วมสมัยขึ้นเท่านั้น แต่นี่คือการพากิจการของที่บ้านที่มีอายุ 40 กว่าปีที่เกือบจะไปไม่รอด ให้กลับมาเปล่งประกาย ท่ามกลางยุคสมัยที่บทบาทของสมุดจดเริ่มลดน้อยลง
มิน เล่าถึงเบื้องหลังกว่าจะออกมาเป็นสมุดรุ่นใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ปกสวย แต่เนื้อหาที่เปลี่ยนต้องได้จริงอีกด้วย
“ออกแบบทั้งทีก็อยากเปลี่ยน แล้วจริงๆ มันไม่มีเหตุผลด้วยที่ปกหลังมันต้องเป็นสูตรคูณกับมาตราชั่งตวงวัด เพราะเด็กซื้อสมุดนักเรียนไปใช้ เขาไม่ได้เรียนแค่คณิตศาสตร์ เขาเรียนทุกวิชา
แล้วเผอิญว่าเวลาการพิมพ์สมุด 1 เพลท มันจะพิมพ์ครั้งละ 8 เล่ม มันตรงกับ 8 สาระการเรียนรู้พอดี ถ้าเราไม่ทำแค่คณิตศาสตร์ เราทำให้มันครบทุกวิชาไปเลย
8 วิชาตามสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ สังคม อังกฤษ การงานฯ(การงานอาชีพ) ศิลปะ สุขศึกษา วิทยาศาสตร์ ตอนทำก็ปรับเนื้อหาเยอะ มันมีพื้นที่แค่ 16 x 23.5 ซม. แต่ว่าเราจะใส่เนื้อหาอะไรลงไป มันเป็นโจทย์ยากที่ก็ใช้เวลาในการหาข้อมูล
เราเป็นคนต้องไปตั้งต้นมาก่อนในฐานะคนออกแบบ เราต้องเป็นคนทำข้อมูลมาว่ามันจะหน้าตาประมาณนี้ ซึ่งเราก็หาข้อมูลตามหลักสูตร เข้าเว็บกระทรวงเปิดหลักสูตร ไล่ว่าแต่ละชั้นเรียนอะไร และอะไรที่เนื้อหามันซ้ำกันไปเรื่อยๆ ทุกชั้น มันจะมีนะเนื้อหาที่เป็นพื้นฐาน เดี๋ยวก็โผล่มาอีกๆ เพราะว่ามันเป็นฐานที่ถ้าไม่แข็ง มันจะไปเรียนเรื่องสูงกว่านั้นยาก
[ น่าหยิบใช้ สมุดลายไทยโฉมใหม่ ]
เราก็เลือกเรื่องประมาณนั้นมา แล้วเราก็ออกแบบ เสร็จแล้วก็มาให้เขาดู ก็แก้กันอีกหลายดราฟต์ เรื่องนี้มันยังไม่เหมาะ เปลี่ยนเรื่อง เปลี่ยนหัวข้อ ให้คนที่เขาเชี่ยวชาญดู เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนมันลงตัว
อย่าง ภาษาไทย ก็จะเป็นเรื่องของตารางผันเสียงวรรณยุกต์ มีคำครุ-คำลหุ แล้วก็คำเป็น-คำตาย การผันเสียงวรรณยุกต์พื้นฐานมาก คำเป็น-คำตาย ใช้ในการแต่งฉันท์ แต่งโคลง คำครุ-คำลหุก็ใช้ ซึ่งมันก็เรียนในชั้นสูงๆ ทั้งนั้น
คณิตศาสตร์ ที่ยังคงสูตรคูณไว้ แต่เปลี่ยนมาตราชั่งตวงวัดออก เพราะว่าเหมือนมาตราชั่งตวงวัด มันค่อนข้างพบได้น้อยในหลักสูตร เราก็เปลี่ยนเป็นเรื่องเมทริกซ์แทน แล้วก็ใส่เรื่องสูตรการหาพื้นที่เข้าไป
หรือแม้แต่ อังกฤษ ที่เราเพิ่มเข้ามาใหม่ ก็ใส่เรื่อง tense เด็กในโรงเรียนไทยเรียน 12 tense กันทุกชั้น ทุกระดับ เป็นฐานมาก เพราะในหลักสูตรภาษาอังกฤษ แทบจะไม่ได้เรียนอย่างอื่นนอกจากเรียน tense
ที่เหลือมันคือจะใช้ tense เหล่านั้นยังไงทำประโยค หรือว่าผัน verb แต่ tense ต้องแม่นว่าโครงสร้างมันยังไง มันใช้ในโอกาสไหนอะไรอย่างนี้”
แม้จะเป็นรุ่นหลานและไม่ได้มีอำนาจบริหาร แต่ด้วยความที่เห็นสินค้าของที่บ้านมาตั้งแต่จำความได้ เมื่อถึงยุคสมัยหนึ่งก็อยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลง มิน ใช้ทักษะการออกแบบที่ตัวเองถนัด นำไอเดียที่ได้ไปเสนอผู้ใหญ่ จนตกผลึกมาเป็นผลงานสมุดลายไทยโฉมใหม่ที่เราได้เห็นกัน
“ที่นี่เขาไม่เคยคุยเรื่องธุรกิจกับเรานะ เขาก็จัดการของเขากันเอง ก็ยังเป็นรุ่นลูกเขาอยู่ อีกอย่างเราก็ไม่เคยคิดว่าเราต้องเข้ามามีบทบาทขนาดนั้น เพราะว่าเขาก็มีลูกตั้ง 5 คน ไม่จำเป็นต้องเป็นเราก็ได้
แต่เผอิญว่าเราแค่อยากทำงานออกแบบเฉยๆ เพราะว่าเราพอมีความสามารถด้านนี้ เรามาเห็นงานของที่บ้านตัวเอง แล้วมันขัดหูขัดตาประมาณนึงก็อยากเปลี่ยน เหมือนเราชอบใช้โปรแกรมออกแบบ ก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง ตั้งโจทย์ให้ตัวเอง แล้วก็ลองทำ ไปๆ มาๆ เราก็ทำได้ เหมือนทำเป็นงานอดิเรก ถ้ามีงานเล็กๆ น้อยๆ งานที่พอให้เราได้ฝึกประสบการณ์ก็ทำ
เราไม่ได้ทำลายไทยเป็นเป็นตัวแรก เราทำเป็นลายการ์ตูน ซึ่งเราเปลี่ยนเป็น minimal มาสักพักนึงแล้ว จริงๆ เราไม่ได้ออกแบบทุกลาย เราเป็นแค่คนคุม direction แล้วก็ให้คนอื่นออกแบบให้ หรือว่าเราก็ไปซื้อภาพสต็อกมาทำ
เพราะว่ามันเยอะมาก เราคนเดียวทำไม่หมด แต่ว่าเราก็จะคุมว่ามันเป็น direction ที่ออกมาจากเรา ว่านี่คือทิศทางที่เรา approve ว่ามันโอเค เพราะฉะนั้น พอตอนทำลายไทย มันก็เลยมาใน direction เดียวกัน มันก็ผ่านมาง่ายๆ
มันจะไปยุบยิบกับตรงปกหลัง เพราะว่าลายข้างหน้าพอเราเปลี่ยนมาหลายๆ รุ่น ลูกค้าเขาไม่ได้มีปัญหา เราออกลายการ์ตูนมาแล้วลูกค้าเขาก็ซื้อปกติ พอออกตัวลายไทย สมุดนักเรียนปกเปลี่ยนก็ไม่ได้คิดมาก คนที่บ้านก็ไม่ได้คิดมากแล้ว แต่ปกหลังนี่สิที่ไม่เคยเปลี่ยนมาก่อน ก็เป็นอีกวาระนึงที่ต้องมาคุยกันว่าเปลี่ยนแล้วจะยังไง ปกหลังนี่ใช้เวลาคุยนาน”
ต้องปรับเพื่อไปต่อ
เจ้าของไอเดียปกหลังสมุด 8 วิชา เล่าย้อนความทรงจำในวัยเด็ก ตั้งแต่จำความได้เขาเติบโตมาในโรงงานสมุด ที่นี่ไม่ต่างอะไรจากบ้าน โดยมีกระดาษและถุงพลาสติกเป็นเพื่อนคลายเหงา
“เมื่อก่อนโรงงานหลักไม่ได้อยู่ตรงนี้ มันอยู่แถวตลาดน้อย ที่โน่นมันกระจัดกระจายอยู่ในซอย หัวซอย กลางซอย ท้ายซอย ห้องนี้เป็นออฟฟิศ ห้องนี้เป็นฝ่ายผลิต ห้องนี้เป็นฝ่ายแพ็ก แล้วพนักงานก็จะเดินจากห้องนี้ไปห้องนั้นทั้งซอยวนไปวนมา
ด้วยสภาพที่เหมือนเขาไม่ได้ตั้งใจทำให้มันเป็นใหญ่อย่างนี้ตั้งแต่ต้น เขาก็เริ่มจากห้องเดียว แล้วพอขายดี เขาก็ขยายๆ เราก็โตมาในห้องที่เป็นออฟฟิศ เพราะว่าบ้านจะอยู่ในตึกนั้น อยู่ในบ้านเป็นครอบครัวใหญ่ ก็สนิทกับอาม่าเพราะว่าพ่อแม่เขาก็แยกทางกัน แล้วเราก็อยู่กับอาม่ามาตั้งแต่เด็ก เป็นอาม่าที่เลี้ยงเรามา
[ อาม่ายังคงดูแลการผลิตเองทุกขั้นตอน ]
เด็กมันไม่มีอะไรทำ ถ้าเราอยู่ต่างจังหวัดเราก็อาจจะไปวิ่งเล่นในสวน แต่มันไม่มีอะไรให้เล่นนอกจากกระดาษ ถุงพลาสติก เราก็เล่นกับสิ่งที่อยู่ในโรงงาน พวกกองสมุดบางทีพอเขาแพ็กใส่ถุง เราก็ไปเรียงเป็นภูเขา เรียงต่อเป็นปราสาทขึ้นมา แล้วคนอื่นก็มานั่งตามเก็บที่เราเล่น (หัวเราะ)
เป็นหลานคนโต อย่างที่บอกว่าครอบครัวนี้เป็นครอบครัวใหญ่ ไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่อยู่ตรงนี้ แต่ว่าเราเป็นคนโตสุด รองจากเราก็คือน้องของเรา ก็น้อยกว่าเรา 2-3 ปี ที่เหลือมันก็ไล่ลงไป บางคนก็ยังเรียนมัธยมต้น”
เห็นฝีมือดีขนาดนี้ แต่เขามีอายุเพียง 21 ปีเท่านั้น และเรื่องการออกแบบ ก็มาจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ยิ่งไปกว่านั้น มิน เล่าว่าเคยเสนอไอเดียการแปลงโฉมสมุดลายไทยให้กับที่บ้าน เมื่อตอนตนเองยังอยู่ ม.ปลายด้วยซ้ำ ทว่า ในตอนนั้นกลับถูกผู้ใหญ่ปัดตกไอเดียนั้นไป จนได้เข้ามาดูแลในส่วนของการออกแบบอีกครั้ง เมื่อราวเดือนตุลาคม ปี 2566
“จริงๆ อันนี้เราก็ทำนะ (สมุดลายไทยรุ่นเก่า) แต่ว่ามันไม่ใช่ดราฟต์แรกที่เราทำ ตอนนั้นทำตัวลายครามจะมาแทนที่ แล้วลูกๆ อาม่าที่เขาคุมโรงงาน เขาไม่ซื้อไอเดีย ตอนประมาณ 4-5 ปีที่แล้ว
เหมือน cycle การผลิตปก พอผลิตไปสักพักนึงเพลทมันก็เริ่มมีปัญหา พอทำเพลทใหม่ เขาก็โยนมาให้เราเพราะเขาเห็นว่าเราทำได้ พอเราออกแบบเป็นดีไซน์ใหม่ ในตอนนั้นเขาไม่ได้ approve
สุดท้ายมัน (รุ่นลายคราม) ก็ผลิตเป็นสมุดโน้ต วันนั้นก็ไม่ได้หน้าตาแบบนี้ เพราะมันถูกเอาไปใส่ในฟอร์มสมุดนักเรียน แต่เราอยากลองทำสมุดโน้ต ซึ่งเป็นกลุ่มสมุดที่โรงงานเราไม่เคยทำ ไปค้นไฟล์เก่าก็เอามาปัดฝุ่นทำใหม่ให้มันเป็นอันนี้
อาม่ามีลูกหลายคน รุ่นลูกที่เป็นผู้บริหารก็เปลี่ยนคนด้วย อันนี้อาจจะเป็นปัจจัยนึง มีการเปลี่ยนหัวเรือ ทำให้ mindset ทัศนคติในการนำพาโรงงานไปข้างหน้ามันก็ต่างกัน
กับอีกอย่างก็คือเหมือน 4-5 ปีที่แล้ว เขาก็ยังไม่ได้ซีเรียสกับการที่ต้องเปลี่ยนแปลง เขาก็ขายไปเรื่อยๆ ขายดรอปลง เขาก็ไม่ได้อะไรขนาดนั้น แต่ตอนนี้มันดรอปลงเรื่อยๆ แล้วมันไม่เคยกลับขึ้นมา ถ้าเราไม่ทำอะไรซักอย่าง มันก็ไปต่อไม่ได้
เหมือนเวลามันก็ประจวบเหมาะ งั้นก็ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำดู ตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจเข้ามาเพื่อมาจัดการกับเรื่องราวตรงนี้ เราเข้ามา เขาก็ offer เราออกแบบ แต่อยู่ดีๆ มันก็หลุดเข้ามาทำอะไรมากมายหลายอย่างเพิ่มขึ้นไปโดยปริยาย”
[ จากลายไทยรุ่นเก่า สู่ลายไทยมินิมอล ]
แม้จะมีสมุดรุ่นใหม่ ลายใหม่ ออกมาให้ฮือฮา แต่สมุดรุ่นก่อนที่เคยทำก็ไม่ได้เลิกผลิตแต่อย่างใด
“ถ้าให้แบ่งประเภทสมุด มันจะแบ่งเป็นสมุดกลุ่มเก่า คือสมุดตัด 9 (16x23.5 ซม.) สมุดนักเรียน สมุดวาดเขียน กับสมุดพกเล่มเล็ก แต่ละกลุ่มก็แตกเข้าไปอีกหลายสิบลาย สมุดกลุ่มใหม่ที่เพิ่งมี ก็คือสมุดโน้ตจะมี 2 รุ่น รุ่นครามมี 4 ลาย รุ่นลายไทยมี 12 ลาย
ออกแบบมาก็เป็นเทสต์ของคนยุคนึงแล้วมันไม่เคยเปลี่ยน เวลาเราขายสมุดพวกนี้เราขายให้ยี่ปั๊ว (พ่อค้าคนกลาง) ยี่ปั๊วเขาคือคนแก่ เหมือนเจ้าของร้านเครื่องเขียน ลูกค้าเก่าของเรายังเป็นคนรุ่นเก่าอยู่ เขาก็จะชอบดีไซน์แบบนึง
เวลาที่เราทำสมุดไป ก็จะทำแต่ดีไซน์ใกล้ๆ เดิม ไม่ค่อยเปลี่ยน ถ้าเอาดีไซน์ตั้งแต่สมัยแรกๆ เทียบกับยุค 2-3 ปีที่แล้ว ก็เห็นว่ามันคล้ายๆ กัน ความสีมันจะฉูดฉาดไว้ก่อน element มันจะเยอะยุบยิบ ดูรกๆ ดูแล้วไม่ค่อยรู้เรื่อง ลูกค้าที่เขาซื้อส่งสมุดของเราอยู่แล้ว เขาไม่ได้ซีเรียสเรื่องลายขนาดนั้น”
แนวมินิมอล ทำถึงจนขายไม่ทัน
และสิ่งที่ทำให้ “โรงงานสมุดโกญจนาท” ดังเปรี้ยงขึ้นมา ก็มาจากเมื่อกลางปี 67 ที่ผ่านมา มิน ได้หยิบเบื้องหลังการออกแบบ กว่าจะมาเป็นสมุดลายไทยเวอร์ชันใหม่ ไปเล่าในแพลตฟอร์ม Twitter (X) ของตนเอง ต่อมาโพสต์นั้นเป็นไวรัลที่ถูกรีโพสต์ไปเกือบ 40,000 ครั้ง มีคนสนใจเป็นจำนวนมาก จนยอดสั่งซื้อถล่มทลายเลยทีเดียว
“พอเราทำวางขายได้สักพักนึง เราก็เอาไปโพสต์ใน Twitter ว่าเราออกแบบอันนี้ เหมือนแค่โพสต์เฉยๆ ดันกลายเป็นว่าคนสนใจมาก 1.คนเขาคุ้นตาสมุดลายไทยที่เป็นสมุดนักเรียน 2.เขารู้สึกว่ามันมีการ develop จากเดิมที่เคยเป็นสูตรคูณกับมาตราชั่งตวงวัด ก็เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น มันก็เลยกลายเป็นว่าคนก็เข้ามาสนใจกันเยอะ
เราเป็นคนออกแบบกราฟฟิคอยู่แล้ว Twitter ก็ลงงานที่เราออกแบบอื่นๆ อันนี้ก็เป็นงานออกแบบอันนึงของเรา เราก็ลงเล่าเบื้องหลัง ออกแบบยังไง โจทย์คืออะไร ก็ไม่ได้คิดว่าลงเพราะว่าเป็นธุรกิจของตัวเองหรืออะไร ไม่ได้ลงเพื่อขายของเลย
จริงๆ ไม่ได้ตกใจขนาดนั้น เรารู้ธรรมชาติของแพลตฟอร์มอยู่แล้ว ว่ามันก็ประมาณนี้เดี๋ยวมันก็ไวรัลได้ หมายถึงว่าแพลตฟอร์มนี้ใครๆ ก็สามารถแมสได้ แต่ว่าคนอื่นๆ ในบ้านเขาเซอร์ไพรส์
ตั้งแต่วันนั้นวันเดียว ยอดขายก็ขึ้นมา 200-300% ยอดขายปลีกจากปกติวันนึงไม่ถึง 100 ออเดอร์ วันนั้นก็จะขึ้นมา 300-400 ออเดอร์ ขึ้นถล่มทลาย แพ็กไม่ทัน เราขายออนไลน์มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ออกแบบมาได้สัก 2-3 ตัวเริ่มขายออนไลน์แล้ว ช่วงแรกๆ มันก็ขายวันนึง 2 ออเดอร์ 1 บ้าน 2 บ้าน 3 บ้าน ขายแบบท้อแท้แต่เราก็ทำมาเรื่อยๆ”
[ “อาม่าออย" เจ้าของโรงงานสมุดโกญจนาท ]
บุคคลสำคัญของเรื่องนี้ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ “อาม่าออย – ชาติพร หวังไพสิฐ” อาม่าของมิน และเจ้าของโรงงานสมุดโกญจนาท ที่แม้ในปีนี้จะมีอายุ 70 กว่ากะรัตแล้ว แต่ท่านก็ยังเข้ามาควบคุมการผลิต ไม่ต่างจากตอนที่ยังสาว
อาม่าออยกลายเป็นที่รู้จักของหลานๆ ชาวเน็ต โดยมีหลานมิน พามาออกปรากฏตัวบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ของโรงงานสมุดโกญจนาท และงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา ทางโกญจนาทก็ได้ไปตั้งโต๊ะจำหน่ายสมุด และเป็นโอกาสอันดี ที่อาม่าได้มาพบปะกับลูกๆ หลานๆ ที่มาอุดหนุนสินค้าอีกด้วย
“(อาม่าออย) เขาเป็นคนเขิน แล้วเขาเป็นคนขี้เกรงใจ เขาไม่อยากดัง เดี๋ยวคนจะแบบ… คิดว่าเราอย่างนั้นอย่างนี้หรือเปล่า เขาอยากเป็นแค่คนธรรมดาไม่มีใครรู้จัก แต่ว่ามันก็เริ่มจากถ่ายรูปเล็กๆ น้อยๆ มันก็เลยเป็นธรรมชาติ มันก็จะมีแค่บางอันที่ช่วยทำท่านี้หน่อย แต่เขาก็ไม่ได้มาพูดอะไรมาก บางทีเขาทำงานอยู่เราก็ถ่ายไปด้วย บางทีเขาก็ไม่รู้ตัว
ไปครั้งแรกเลย จริงๆ ไม่ได้เตรียมตัว ไม่ได้ตั้งใจ เหมือนมีสำนักพิมพ์นึงที่เขาไปออกงานหนังสือ เขาติดต่อมาว่าบูธเขามีที่ เขาอยากให้เราเอาสมุดไปโคฯ (cooperate) กับเขาหน่อย เราก็เอาไป แค่นั้นเลย ฉุกละหุกมาก ไม่ได้มีแพลน
กล่อมเขานานเหมือนกันกว่าเขาจะยอมไป ไม่ได้บอกให้ไปให้ลายเซ็นด้วย เราไม่รู้ว่าจะมีคนมาขอลายเซ็น เพราะว่าเราไปดูแลบูธที่งานหนังสือ คนมาซื้อแล้วถามหาอาม่าเยอะ ก็เลยมาบอกเขาว่าไปหน่อย
กล่อมอยู่วันสองวัน เหมือนเขาก็กลับไปตกตะกอนเองว่าเขาน่าจะต้องมา เขาก็มา คนก็มาหาเขา ให้กำลังใจ เอาของมาฝากเขา บางคนเคยซื้อสมุดเราไปในออนไลน์แล้วเอาไปใช้ ก็เอาสมุดเล่มที่ใช้อยู่มาให้เขาดูว่าเอาไปใช้แล้วนะ”
[ พบปะหลานๆ ในงานสัปดาห์หนังสือ ]
จากการแมสเพียง 1 โพสต์ใน X นำมาสู่คลิปไวรัลบน TikTok มิน ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าการที่คลิปไวรัลขึ้นมานั้น ตนเองก็ตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร
“TikTok ก็ทำเล่นๆ มาสักพักแต่ก็ไม่ได้มีใครรู้จัก ทำไปเรื่อยๆ มีอะไรก็ถ่าย ทุกวันนี้ก็ยังเรื่อยๆ ไม่ได้จริงจังอะไรขนาดนั้น ก็ถ่ายด้วยมือถือดิบๆ แบบนี้เนอะ ก็ดันเป็นว่าตอนนั้นพอดีไซน์ของสมุดเป็นที่รู้จัก คนก็เริ่มนึกขึ้นได้ เคยเห็น มันก็ไปเรื่อยๆ มันจะมีคลิปที่ไวรัลที่สุดก็เลยปักหมุดไว้ ก็ประมาณ 3 ล้าน แต่คลิปหลายหมื่น หลักแสนมันก็มีมาเรื่อยๆ
คลิปนั้นถ้าจำไม่ผิดเหมือนเป็นทุก prosess ตั้งแต่เริ่มกระบวนการแรก จนกระทั่งมันเป็นเล่ม สมุดมันผลิตยังไง ก็ถ่ายไล่ไปเรื่อยๆ มีพากย์เสียงแล้วก็ลง ทำแบบขี้เกียจด้วย ไม่มีอะไรจะลงแล้ว ขุดทุกฟุตเทจที่มีอยู่ในเครื่องมา เหมือนที่คนบอกว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ถ้าตื่นมาหน้าสด ไม่ทำอะไร มันจะแมส ทำตัวบ้านๆ หัวฟูๆ อย่าตั้งใจทำ (หัวเราะ)
ตอบยากมากนะอะไรทำให้แมส เราก็ไม่รู้จริงๆ มันก็แล้วแต่ดวง แพลตฟอร์มพวกนี้แล้วแต่ algorithm มันจะฟีด แล้วแต่ระบบว่ามันปิดกั้นไหมด้วย TikTok กฎมันก็จะเยอะแยะกว่าชาวบ้าน เราก็ทำคอนเทนต์วนๆ โรงงานมันก็มีแค่นี้
การโปรโมตสินค้าให้คนรู้จัก มันก็เป็นองค์ประกอบนึง เพราะว่าถ้าสินค้าดีแล้วคนไม่รู้จัก มันก็ขายไม่ออก แต่ว่านอกจากคนรู้จักแล้ว ตัวสินค้ามันก็ต้องมีจุดที่จะเอาไปพูดต่อได้ มันก็มีหลายองค์ประกอบส่งผลกัน ที่ทำให้มันขายได้”
ไม่สายไปที่จะลุย “ตลาดออนไลน์”
ด้วยความที่เป็นโรงงานผลิตสมุด การขายสินค้าจึงเป็นในรูปแบบของการขายส่งมาตลอด และเพิ่งจะปรับตัวมาขายปลีกผ่านช่องทางออนไลน์เมื่อไม่นานมานี้ เท่ากับว่าต้องสร้างฐานลูกค้าใหม่ ในวันที่การขายของออนไลน์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด
“ขายออนไลน์ในแพลตฟอร์ม marketplace ต่างๆ Shopee Lazada มันก็ต้องปั้นกันมา แพลตฟอร์มพวกนี้มันต้องอาศัยยอดขายสะสม อัตรารีวิว มันก็ต้องค่อยๆ สะสมกันมา คนไม่รู้จักเรา เราก็ไปหาลูกค้าใหม่ ดีไซน์มันเป็นแค่พาร์ทเดียวว่าของมันน่าใช้ ก็ต้องไปตามหาผู้บริโภค เลยเลือกมาขายปลีก ไปขายใน marketplace ต่างๆ
ทยอยขายมาเรื่อยๆ มันก็ไม่ได้ขายดีเมื่อเทียบกับเวลาเราเป็นโรงงานขายส่ง ยอดมันต่างกันลิบลับ ขายปลีกขายวันละบ้านสองบ้าน ซื้อบ้านละเล่ม ขายส่งแค่ 1 เจ้า ก็ซื้อกันไม่รู้กี่พันกี่หมื่นเล่มแล้ว มันคนละสเกลกัน
ในช่วงแรกเราก็ไม่ได้ขายดี แค่ว่าเราไม่ได้เดือดร้อน ถึงขนาดที่เราต้องเร่งขายให้ได้ภายในวันสองวัน แต่เราก็รู้สึกว่าก็ขายไปเถอะ เราไม่ได้เสียอะไร พนักงานเราก็มีอยู่แล้ว สินค้าเราก็มีอยู่แล้ว เราก็แค่ทำพาร์ทนี้เข้ามาเพิ่ม ไม่ได้ต้องลงทุนเพิ่ม ขายไม่ได้ก็เอาไปขายส่ง ไม่มีใครเคยทำ เราก็ต้องศึกษาเรียนรู้ แล้วก็ช่วยกันทำหลายๆ คน วิธีแพ็กสินค้า วิธีส่งของ
ขายไปก็ขายได้น้อย แต่ว่าเราก็ไม่ได้หยุด ทำขายไปเรื่อยๆ แค่ปล่อยให้เวลามันดำเนินไป มียอดสั่งซื้อ มียอดรีวิว พวกนี้มันก็สำคัญที่ทำให้คนเชื่อถือและอยากจะซื้อของเรา พอยอดสั่งซื้อ อัตรารีวิว พอมันสะสมได้จำนวนหนึ่ง เหมือนความน่าเชื่อถือของร้านมันก็จะเพิ่มขึ้น มันก็เป็นส่วนช่วยทำให้คนเริ่มซื้อมากขึ้น
มันก็จะไป stable อยู่ที่ประมาณวันละ 50-60 ออเดอร์ โดยที่คนยังไม่ได้รู้จักเรา ประมาณครึ่งปีได้นะ ขายไปเรื่อยๆ จนพอเริ่มมีชื่อเสียงในโลกออนไลน์ ตอนนี้ก็มา stable อยู่ที่ประมาณวันละ 100 ออเดอร์”
และด้วยความที่เป็นมือใหม่มากในตลาดค้าปลีก การตั้งราคาขายและลองผิดลองถูกในช่วงแรก ก็ทำเอาขาดทุนไปไม่น้อยเลยทีเดียว
“เพราะไม่เคยขายปลีก เราไม่เคยรู้ว่าสมุดพวกนี้ เขาตั้งราคาขายกันเท่าไหร่ ขายส่งรู้แต่ว่าโหลละเท่าไหร่ กุรุสละเท่าไหร่ รู้แค่สมุดพวกนี้สเปกมันมักจะถูกกำหนดด้วยราคา ที่จริงเราจะเรียกราคาขายปลีกก็ได้ บางทีมันขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ
แต่ว่าชื่อรุ่นสมุดมันไม่เคยเปลี่ยน อย่างเช่น เวลาเราพูดว่าสมุด 20 แผ่น ลูกค้าเราจะเรียกมันว่าสมุด 5 บาท แต่ 5 บาทนี่เรียกมา 30 ปีแล้วนะ เราไม่เคยรู้ว่า ณ วันนี้ลูกค้ายังซื้อไปขาย 5 บาทอยู่หรือเปล่า เราก็เลยตั้งราคาขายปลีกในตอนที่เริ่มขายออนไลน์จากราคานั้น เป็นราคาที่เราเข้าใจกันระหว่างเรากับลูกค้าขายส่ง ขาดทุนยับเลย
แน่นอนว่าเวลาขาย ณ วันนี้กับ 20 ปี 30 ปีที่แล้ว คนละราคากัน เพราะว่าต้นทุนมันขึ้นเรื่อยๆ ราคาขายส่งมันขึ้นตามค่ากระดาษ ค่าโลจิสติกส์ เงินเฟ้อ ทุกอย่าง แต่ว่าราคาที่เราใช้คุยกับลูกค้ามันไม่เคยเปลี่ยน
หลังๆ ก็ปรับราคาใหม่เพื่อให้มันครอบคลุมการจัดส่ง ขายปลีกเรากำหนดขั้นต่ำได้แค่บางตัว ถ้าแพลตฟอร์มมันให้กำหนด ใน Shopee อย่างสมุด 1 บาท เราก็กำหนดไว้ที่ 5 เล่มถึงซื้อได้ แต่ Lazada มันกำหนดขั้นต่ำไม่ได้ เราก็ต้องปล่อยให้คนซื้อ (หัวเราะ) แน่นอนว่าสั่งเล่มเดียว ยังไงค่าแพ็กมันก็แพงกว่า ไม่ได้กำไร ขาดทุนด้วย เราก็ใช้วิธีว่าถัวๆ กันไปทุกออเดอร์
คนใช้งานเป็นคนกลุ่มเดิม ถ้าเป็นลูกค้าขายส่ง คนที่จ่ายเงินให้เราคือพ่อค้าคนกลาง พอเป็นลูกค้าขายปลีกก็คือคนที่ใช้สมุดจริงๆ เป็นคนจ่ายเงินให้เรา มีสมุดกลุ่มใหม่ที่ทำเป็นสมุดโน้ตที่มันตีตลาดอื่นได้มากขึ้น คุณภาพมันก็จะดีขึ้น ตามท้องตลาดทั่วไปที่เขาจะใช้กันในวัยทำงาน หรือวัยเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย เพราะมันไม่ได้ fix ว่าเป็นสมุดนักเรียน”
นอกจากสินค้าที่น่าหยิบใช้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่โรงงานสมุดโกญจนาท ได้รับคำชื่นชมล้นหลามจากลูกค้า นั่นก็คือเวลาที่ได้รับฟีดแบกมา ทางโรงงานจะมีรับฟัง สื่อสารกับลูกค้าโดยตรง และนำจุดที่ต้องปรับ มาแก้ไขด้วยอย่างรวดเร็ว
“จริงๆ เป็นกันหมดทั้งครอบครัว เป็นคนหน้าบาง กลัวคนด่า (หัวเราะ) ทุกครั้งเลยนะ ส่งของไปแล้วถ้าใครรีวิวว่าของพังเราจะเครียด มันรู้สึกร้อนรน ยังไงดีๆ แม้แต่วิธีแพ็กสมุด อย่างที่บอกเราไม่เคยขายปลีก
เวลาแพ็กขายส่งก็แพ็กเยอะๆ สมุดไม่พังเพราะมันอัดกัน มันแข็งแรงมาก แต่เวลาสั่งเล่มเดียว แล้วขนส่งไทยเราก็รู้กันอยู่ ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นกับสมุดเล่มเดียว ก็ต้องหาวิธีการจัดการให้สมุดเล่มนั้นไปถึงผู้รับอย่างปลอดภัย เราก็เก็บฟีดแบกมา
[ ฟีดแบ็กสุดใจฟูจากผู้ใช้จริง ]
เราได้วิธีการแพ็กพัสดุมา แพ็กแบบนี้น่าจะไม่พัง ปรากฏว่ามีคนได้ของแล้วมันยับ เขาส่งมาให้เราดู เราขอให้เขาถ่ายให้ดูทุกมุม ทุกด้าน แล้วเราเอากลับมานั่งวิเคราะห์ว่ามันไปทำอีท่าไหนถึงพัง แล้วก็มาแก้ใหม่ เปลี่ยนวิธีแพ็กใหม่
เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนทุกวันนี้ก็ยังไม่ stable เรียนรู้จากฟีดแบ็กของลูกค้า ว่าเขาได้รับสมุดแล้วมันปลอดภัยไหม เราก็มีทำคลิปให้ดูว่าเราแพ็กสมุดยังไง แต่ละคลิปอาจจะแพ็กไม่เหมือนกัน มันก็แล้วแต่ว่ารอบนั้นเราไปเจอปัญหาอะไรมา
นอกจากพวกเรื่องแพ็ก ยังมีเรื่องอย่างสมุดโน้ต เราออกสมุดโน้ตครั้งแรก ตัวลายครามจะมีฟีดแบ็กซ้ำๆ ที่ทุกคนจะพูดเหมือนกันคือมันบางไปหน่อย เขาอยากเขียนเยอะๆ จำนวนแผ่นให้มาน้อยไปอะไรอย่างนี้ เราก็มาเพิ่มจำนวนแผ่นให้มากขึ้นอีกนิดนึงในรุ่นลายไทย ตอนลายครามเราทำอยู่ที่ 28 แผ่น แล้วตัวลายไทยเราทำ 34 แผ่น
บางคนก็ยังมีฟีดแบ็กว่าอยากให้มันหนาเป็น 100 แผ่นเลย แต่ว่ามันเป็นข้อจำกัดของวิธีเข้าเล่มแบบมุงหลังคา เย็บแม็ก มันทำได้แต่ทำออกมาแล้วมันจะไม่สวย โรงงานเราเป็นโรงงานที่เข้าเล่มด้วยวิธีเย็บแม็กวิธีเดียว มันก็เลยทำให้เราทำสมุดเล่มหนาแบบนั้นไม่ได้ บางฟีดแบ็กที่เราทำไม่ได้ มันก็ทำไม่ได้จริงๆ แต่บางอันที่มันปรับได้เราก็ปรับ”
ชนะใจลูกค้า มาตั้งแต่รุ่นอากง
โรงงานสมุดแห่งนี้ มีข้อปฏิบัติที่ยึดถือมาตั้งแต่ตอนที่อากงผู้เป็นสามีของอาม่ายังมีชีวิตอยู่ นั่นก็คือความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า โดยเฉพาะการขายส่ง ที่จะไม่ขายตัดหน้าเหล่ายี่ปั๊ว ผู้เป็นลูกค้าเก่าแก่อย่างเด็ดขาด
“มีสิ่งนึงที่จุดยืนเราจะยึดไว้ ก็คือเราอยากขายสมุดในราคาที่มันจับต้องได้ จริงๆ เป็นมาตั้งแต่รุ่นอากงแล้ว ถ้าจำไม่ผิดเหมือนเมื่อก่อนที่เขาทำโรงงานอื่น สมุดที่มีในท้องตลาดมันจะเป็นสเปกมาตรฐาน แต่พอเขามาทำโรงงานเอง เขาทำสเปกที่มันถูกกว่านั้นเพื่อให้ราคาถูก เหมือนกับเป็นจุดขายนึงของโรงงานเรามาตั้งแต่ตอนนั้น
รูปแบบการค้าสมัยนั้นกับสมัยนี้มันต่างกัน สมัยนั้นมันไม่มีโลกอินเตอร์เน็ต มันไม่มีวิธีหาว่าเจ้าอื่นอยู่ที่ไหน ไม่มีมานั่งเทียบราคากัน มันไม่เหมือนทุกวันนี้ที่อินเตอร์เน็ต เราสามารถเสิร์จได้เลย เจอได้ทุกร้าน แล้วไปนั่งเทียบราคาเลย ร้านไหนขายถูกสุด กลายเป็นตลาดแข่งราคา
[ อาม่าและอากง ผู้ก่อตั้งโรงงานสมุดโกญจนาท ]
แต่ ณ วันนั้นมันไม่ใช่ จะรู้ได้ไงว่าที่ไหนขายสมุด ปากต่อปากทั้งนั้น ถ้ารู้จักมักจี่กันก็ซื้อซ้ำ ซึ่งอากงก็ใช้วิธีนั้นเวลาเขาเอาสมุดไปเสนอขายลูกค้า สร้าง connection รู้จักกัน สนิทกัน ก็มีการซื้อซ้ำ มันก็เลยอยู่ได้เรื่อยๆ แล้วเขาเป็นคนอัธยาศัยดี
อีกอย่างนึงที่เขายึดถือแล้วย้ำกับลูกทุกคนเลยนะ ก็คือเขาจะซื่อสัตย์มาก เราในฐานะผู้ผลิตซึ่งขายถูก จะต้องไม่เอาสินค้าไปขายตัดหน้า ไปหาลูกค้าปลายทางคือคนใช้สมุดจริง แล้วเราก็ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาตลอด
ไว้ใจถึงขั้นที่บางทีลูกค้าบอกให้เราเอาไปส่งให้ลูกค้าปลายทางเอง ให้ที่อยู่ ให้เบอร์โทร. ข้อมูลลูกค้าปลายทางเราเก็บไว้เป็นปึกๆ ลูกค้าปลายทางของลูกค้าแต่ละเจ้า ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ เราสามารถเอาข้อมูลพวกนี้ติดต่อไป แล้วเราขายเขาได้เลย ขายถูกกว่าลูกค้าก็ได้ เราก็ได้กำไรถูกไหม แต่เราเลือกที่จะไม่ทำแบบนั้น
ส่วนช่องทางออนไลน์มันก็เป็นอีกแพลตฟอร์มนึง ลูกค้าขายส่งของเราน้อยเจ้ามากที่จะขายออนไลน์ เขายังใช้วิธีขายแบบเก่าอยู่ ก็คือเอาเซลล์วิ่งไปตามที่ต่างๆ มันก็เลยไม่ตีกัน หรือต่อให้ตีกัน ราคามันก็คนละราคา”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ ความต้องการในการใช้สมุดลดน้อยลง เนื่องมาจากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้น ถามต่อในฐานะโรงงานทำสมุด ถึงการมองอนาคตของธุรกิจนี้ และในฐานะเจ้าของไอเดียปกหลังสมุด 8 วิชา มิน บอกอย่างชัดเจนว่า ไม่กังวลเลยถ้าจะมีใครเอาไอเดียนี้ไปทำตาม
[ ทีมงานเบื้องหลัง ที่ยังผ่านการทำมือทุกขั้นตอน ]
“เราว่าสมุดมันน่าจะขายได้ไปเรื่อยๆ สำหรับเรารู้สึกว่ายังไงมันจะต้องมีคนใช้ แต่อยู่ที่ว่าเป็นสมุดอะไร ถ้าให้เราประเมิน อย่างวงการสมุดตัด 9 มันอาจจะไปต่อได้อีก 10 ปี 20 ปีก็เต็มที่แล้วนะ แต่ว่าพวกสมุดโน้ต สมุดอื่นๆ ไดอารี่ bullet journal น่าจะยังอยู่ได้อีกนานกว่านั้น
เราไม่ได้เป็นคนบริหารหลัก ทิศทาง direction ก็ยังต้องเป็นของรุ่นลูกที่เป็นผู้บริหารอยู่ เราแค่เข้ามาดีไซน์เฉยๆ เราดีไซน์ตัว product ให้มันน่าใช้ ยังไม่รู้แพลนในอนาคต ถ้ามันยังทำได้ มันยังมีโอกาสอยู่ ก็คงทำ
เวลาเราพูดว่าเป็นปกหลัง 8 วิชา มันไม่ใช่แค่เรื่องราว มันไม่ใช่แค่เนื้อหาที่อยู่ในปกหลัง เรามองว่าจุดขายมัน beyond ไปมากกว่าแค่วลีว่าปกหลัง 8 วิชา จริงๆ แล้วมันเป็นที่งานดีไซน์ ใครๆ ก็ทำได้ แล้วเราไม่ซีเรียสเลยที่คนจะทำตาม
การเอาเนื้อหามาใส่ไว้ในปกหลังให้มันมีดีไซน์ มันก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะทำได้ หรือถ้าทำได้ ยังไงก็ไม่เหมือนกัน เพราะว่าเป็นมนุษย์ ไม่ใช่หุ่นยนต์ที่สั่งคำสั่งเดียวกันแล้วจะออกมาเหมือนกัน 100% เราเป็นมนุษย์ ต่างคนต่างมีรสนิยม มีความคิดสร้างสรรค์ในงานออกแบบของแต่ละคนได้ไม่เหมือนกัน
สมุดลายไทยที่เราใช้กันมาตั้งแต่เด็ก ของแต่ละโรงงานก็ไม่เหมือนกัน โรงงานเราหน้าตาแบบนี้ ของโรงงานอื่นก็อาจจะอีกหน้าตานึง แต่ก็ยังเรียกว่าเป็นสมุดลายไทย มันก็จะมีบางอย่างที่เป็นจุดที่ทำให้คนรู้สึกว่า นี่คือสมุดโกญจนาท
งานดีไซน์มันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเลียนแบบได้ยาก นอกจากจะเลียนให้มันเหมือน 100% ก็ดราฟท์ทับก็ทำได้ ไม่ได้ซีเรียสกับการถูกคนเลียนแบบขนาดนั้น เพราะเรารู้สึกว่ายังไงลายเส้นของเราหรือว่าสไตล์งานของเรา มันก็ยังอยู่กับเรา ตราบใดที่เรายังทำอยู่ เราก็ยังสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ออกมาได้เรื่อยๆ”
|
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : Facebook "โรงงานสมุดโกญจนาท" และ X @khonchanart
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **