เจาะเส้นทางชีวิต!! “นักล่าไดโนเสาร์” มือ 1 ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์เมืองไทย แม้จะเกษียณ แต่ความหลงใหลยังผลักให้หา “หลักฐานชิ้นสำคัญ” ต่อไป ล่าสุดขุดพบไดโนเสาร์ในไทย รอลุ้นได้เป็นพันธุ์ใหม่ของโลก!
ผู้ทลายความเชื่อ “ไทย = ไม่มีไดโนเสาร์”
“พอเจอกระดูกชิ้นแรก อ้าว..มีไดโนเสาร์ ก่อนหน้านี้นักธรณีตอนผมเรียน ยังไม่มีใครคิดว่าเรามีไดโนเสาร์ในเมืองไทย เชื่อไหมล่ะ”
“อาจารย์หมู-ดร.วราวุธ สุธีธร” อายุ 76 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้านการขุดฟอสซิล ที่ถือว่าเป็นนักบรรพชีวินวิทยา มือ 1 ผู้บุกเบิกเรื่องไดโนเสาร์ในประเทศไทย
บรมครูนักขุดค้นไดโนเสาร์ เป็นที่รู้จักครั้งแรก เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน จากการพบชิ้นส่วนไดโนเสาร์ตัวแรกของประเทศไทย ที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น และยังเป็นคนที่ริเริ่ม พัฒนาก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ต่างๆ ในประเทศเราด้วย
เขาคือทั้งนักธรณีวิทยา นักบรรพชีวินวิทยา ผู้คร่ำหวอดในวงการ ที่พยายามเสาะหาโครงกระดูก เพื่อปะติดปะต่อภาพ ให้คนได้เห็นหลักฐานชิ้นสำคัญของโลก
ผลของการทำงานตลอดหลายปี ทำให้มีผลงานค้นพบแหล่งฟอสซิลสำคัญมากมาย แม้ตอนนี้จะเกษียณอายุราชการ จากกรมทรัพยากรธรณีแล้ว แต่ความหลงใหลในภารกิจค้นหาไดโนเสาร์ ก็ยังไม่มีวันเกษียณ ยังมุ่งมั่นที่จะทำต่อไป ล่าสุด ก็ได้มีการขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์ตัวที่ 6 บนเทือกเขาภูเวียง ที่กำลังลุ้นเป็นพันธุ์ใหม่ของโลก
โดยทีมขุดค้นคาดว่า ไดโนเสาร์ตัวที่ 6 นี้ น่าจะเป็นสกุล “แบรคิโอซอรัส (Brachiosaurus)” สัตว์กินพืชตัวยักษ์ใหญ่คอยาวในกลุ่มสายพันธุ์ซอโรพอด (sauropod) ขนาดลำตัวสูงราว 10-15 เมตร และยาวประมาณ 20 เมตร มีน้ำหนักตัวราว 78 ตัน หรือเท่ากับช้างแอฟริกา 15 เชือก
“ไดโนเสาร์ตัวที่ 6 ตัวนี้นะครับ เป็นไดโนเสาร์ ที่อยู่ที่แหล่งขุดค้น หลุมที่ 3 จริงๆ แล้วหลุมที่ 3 เป็นจุดที่เราค้นพบไดโนเสาร์จุดแรกของที่ภูเวียง
แต่เนื่องจากว่าตอนที่เรามาเห็น ในปี 2521 กรมทรัพยากรธรณี ได้เริ่มสำรวจธรณีวิทยา แล้วก็มีแผนที่จะให้นักธรณีวิทยา ออกมาสำรวจตามแผนที่ธรณีในภาคอีสาน ผมก็เป็นหนึ่งในทีมนั้น
แล้วพอเริ่มต้นขึ้นมาปุ๊บ มีผู้เชี่ยวชาญเขาพามา ดูตัวอย่างหินก่อน ครั้งแรกปุ๊บเราก็มาที่ภูเวียง วันแรกก็เข้ามาที่จุดนี้ เพราะว่าจุดนี้ เมื่อ 2-3 ปีก่อน เคยเจอกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นนึง
แล้วก็มีผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศสเข้ามา ก็พบว่าเป็นกระดูกของไดโนเสาร์กินพืชขนาดใหญ่ แต่กระดูกชิ้นเดียว เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นกลุ่มไหน พันธุ์ไหน”
จนกระทั่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “อาจารย์ป้อง-ดร.สุรเวช สุธีธร”ซึ่งเป็นลูกชาย และมีความสนใจเช่นเดียวกัน ได้ไปศึกษาเรียนจบกลับมา และพอมาดูรายละเอียดกระดูกบางชิ้น ก็พบว่ามีความต่างจากภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ ไดโนเสาร์ตัวแรกที่เจอ
จากนั้นจึงได้เริ่มโปรเจกต์นี้อีกครั้ง โดยเริ่มต้นขุดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากหยุดขุดไป 30 ปี โดยมีนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญหลายคนมาช่วยกันขุด
ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์ คนแรกของไทย
ถือว่าเป็นนักบรรพชีวินวิทยาคนแรกๆ ที่บุกเบิกวงการสำรวจซากฟอสซิลไดโนเสาร์ในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ สิ่งที่นักบรรพชีวินคนนี้ทำคือ พยายามเสาะหาจิกซอว์เล็กๆ ของซากฟอสซิลไดโนเสาร์ เพื่อปะติดปะต่อภาพใหญ่ จนนำไปสู่คำตอบว่า เมืองไทยของเรานั้น เคยมีไดโนเสาร์อาศัยอยู่จริงๆ
ส่วนผลงานการค้นพบ ก็ได้แก่ การค้นพบไดโนเสาร์ชนิดใหม่หลายชนิดในประเทศไทย เช่น ไดโนเสาร์ซอโรพอด ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ (Phuwiangosaurus sirindhornae), ไดโนเสาร์กินเนื้อ สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis),ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacesaurus sattayaraki) และไดโนเสาร์ซอโรพอดที่เก่าแก่ที่สุด นั่นก็คือ อิสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชี (Isanosaurus attavipatch)
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติถูกนำนามสกุลไปตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้แก่ ไดโนเสาร์สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni) ไดโนเสาร์กินเนื้อ ที่พบในประเทศไทยด้วย
และนอกจากค้นพบไดโนเสาร์แล้ว ยังค้นพบฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิด ในภาคใต้และภาคเหนือ
“พอเรียนจบมาปุ๊บ ก็ไปสมัครที่กรมทรัพยากรธรณี แต่ก็ไม่ได้คิดหรอกว่าจะมาสายทางนี้ นักธรณีวิทยา หน้าที่คือสำรวจธรณีวิทยา ไม่ใช่ไปหาแร่ ไม่ได้ไปน้ำบาดาล ไม่ได้ไปอะไรอย่างนี้นะ ก็อยู่ทำแผนที่เลย ยังไงได้ออกสนามแน่นอน ก็ออกสนามอยู่ภาคเหนือ อยู่ภาคตะวันตกอยู่ 4-5 ปี ไปดูแหล่งหลายๆ แหล่ง
จนกระทั่งเขาจะเริ่มมีโปรเจกต์ ที่เขาอยากจะได้แผนที่ธรณีวิทยาครบถ้วนทั้งประเทศไทย เพราะตอนนั้นเริ่มมีบริษัทน้ำมันมา เขาก็อยากได้แผนที่ใหม่ๆ แล้วก็สมบูรณ์ของไทย
เขาก็มาเริ่มโปรเจกต์อีสาน พอมาอีสานปุ๊บ เราก็เจอกระดูกไดโนเสาร์ เจอฟอสซิล เพราะเราก็หาพวกนี้ เพื่อที่จะกำหนดอายุ พอเจอกระดูกชิ้นแรกอ้าว..มีไดโนเสาร์ ก่อนหน้านี้นักธรณีตอนผมเรียน ยังไม่มีใครคิดว่าเรามีไดโนเสาร์ในเมืองไทย เชื่อไหมล่ะ ก็พอเห็น มันก็อ้าว..มีกระดูกฝังอยู่ในหินด้วย”
ตอนออกสำรวจแแรกๆ ผู้บุกเบิกคนนี้บอกว่า ไม่คิดเลยว่า จะมีไดโนเสาร์ในประเทศไทย เพราะเมื่อก่อนตอนเด็กๆ ก็เคยอ่านเรื่องไดโนเสาร์จากต่างประเทศเท่านั้น
“ก็พอมาสำรวจทางนี้ปุ๊บ ปีแรกๆ เราก็เจอฟันบ้างอะไรบ้าง แต่เราก็ไม่เคยรู้วิธีอย่างนี้ พอได้ไปทำงาน แล้วก็ไปสำรวจ พอเคยเจอแล้ว เราก็มองหามากขึ้น เราก็เห็นกระดูกไดโนเสาร์
กว่าเราจะเป็น ก็หลายปีอยู่ พอเริ่มได้ขึ้นมาปั๊บ เราทำได้อย่างนี้ เราก็รู้วิธีหา เดินบ่อยๆ เราก็ชำนาญ บางทีดูๆ ไป ดูภูมิประเทศ ดูลักษณะทางน้ำ ดูลักษณะชั้นของหิน เราก็พอจะประเมินได้ว่า เราควรจะเจอลักษณะยังไง แล้วถ้าเจอแล้วเราจะทำยังไง ที่จะเอามันขึ้นมาได้ นี่ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก”
จากนักธรณี สู่การเป็นนักบรรพชีวินนั้น อาจารย์หมูบอกว่า จริงๆ มันก็ทำงานคล้ายๆ กัน อาจจะมีบางอย่างแตกต่างกันเล็กน้อย
“ทำงานเหมือนกันครับ จริงๆ ทั้ง 2 อย่าง มันต่างกันนิดหน่อยเท่านั้นเอง จริงๆ แล้วผมเป็นนักธรณีวิทยามาตลอด เพียงแต่ว่าพอมาทำทางเรื่องไดโนเสาร์เยอะๆ มันมีศัพท์อีกคำนึง ที่เขาใช้ก็คือ Paleontologist ซึ่งภาษาไทยตอนหลังเนี่ย เขาเรียกว่าเป็นนักบรรพชีวินวิทยา
บางคนเห็นเราทำไดโนเสาร์เยอะแยะ เขาก็บอกว่าเป็น Paleontologist แต่ว่าโดยหลัก ผมเป็นนักธรณีวิทยา ก็ทำ 2 งาน แล้วตอนหลังก็จะมาทำทางด้านนี้ซะมากกว่า”
นอกจากนี้ หลายคนยังยกฉายาให้เป็น “อินเดียน่าโจนส์”แห่งวงการบรรพชีวินวิทยาของไทยอีกด้วย ซึ่งเจ้าของฉายานี้ ก็ขอขอบคุณที่ยกให้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งกำลังที่ดี
“ก็ดีนะ โอเค เป็นกำลังใจได้ดี (หัวเราะ) ก็เห็นอยู่บ้างครับ แม้กระทั่งน้องๆ ที่จบมาหลายๆ คน ก็บอกเมื่อก่อนผมเห็นอาจารย์เป็นไอดอล คอยติดตามอยู่”
คลั่งไคล้โลกล้านปีตั้งแต่เด็ก
เส้นทางในการเป็นผู้บุกเบิกไดโนเสาร์นี้ เริ่มมาจากความชอบตั้งแต่เด็กๆ เริ่มจากชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับการสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจขั้วโลก หรือกระทั่งการสำรวจไดโนเสาร์ ที่ถึงแม้ว่าในตอนนั้น ยังไม่รู้ว่ามี
“ตอนเด็กๆ สมัยก่อน มันก็จะมีหนังสือวิทยาศาสตร์เล่มเล็ก ของ ‘อาจารย์จันตรี ศิริบุญรอด’ที่เขาออกมาเป็น pocket book ทุกเดือน ผมอยู่ประถม พี่ชายคนโตอยู่มัธยม เขาก็ซื้อมาอ่าน เสร็จแล้วเขาก็อ่านให้เราฟัง เขาก็เล่าเรื่องโคลัมบัสเดินทาง เล่าเรื่องการสำรวจขั้วโลก เล่าเรื่องอะไรพวกอย่างนี้ จะอยู่ในเล่มนั้น เล่าให้ฟังตลอด
เราก็เลยอืม..การเดินทางพวกนี้ ก็จะได้ประโยชน์มากมาย ได้เห็นอะไรอย่างนี้ๆ เราก็ชอบ ก็คิดไว้ว่า เป็นอะไรที่น่าสนใจ ที่ฝังหัวออกมา
ข้อสำคัญก็คือ ผมมีดราม่ากับพี่ด้วย พี่เขาก็แกล้ง วันนี้เหนื่อยแล้ว พรุ่งนี้มาเล่าต่อ ผมก็ต้องนั่งรอไปอีกวันนึง พอพี่กลับจากโรงเรียนปุ๊บ เราก็ไปตื๊อว่า มาๆ เล่าให้ฟังหน่อย อยากฟัง
พอเขาไม่เล่า เราก็อ่านเองก็ได้ ผมก็ต้องไปอ่านหนังสือให้แตก เริ่มมาฝึกแกะอ่านหนังสือ แต่การเริ่มต้นอ่านหนังสือ ก็ไม่รู้เป็นกลยุทธ์ของพี่เขาหรือเปล่า ที่จะให้เราอ่านหนังสือ ก็ไม่รู้ จนกระทั่งเราอ่านเองได้ ตอนหลังก็ไม่ต้องง้อพี่ เขาซื้อมาเมื่อไหร่เราก็แย่งเขามาอ่าน นั่นก็เป็นส่วนนึง
แล้วก็ตอนเด็กๆ ผมชอบอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างหมอบุญส่ง เลขะกุล ผมก็ตามท่านมาตลอด ไม่ว่าท่านจะทำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา แม้กระทั่งตอนที่ตั้ง National Science Museums ผมก็ตามดู ว่างเมื่อไหร่ก็จะไปดู”
จากเด็กที่ชอบเรียนวิทยาศาสตร์ พอเริ่มจะเข้ามหาวิทยาลัย ก็เลือกเรียนทางด้านธรณีวิทยา เพราะมีความชอบที่ฝังใจตั้งแต่เด็กว่า อยากเดินทาง อยากเป็นนักสำรวจ จึงอยากลองผจญภัยในเส้นทางนี้ดูสักครั้ง
“ตอนนั้นเขาฮิตกันสุดๆ ก็ หมอ วิศวะ แล้วก็วิทยา หมอผมไม่เอา ไม่เป็น โอเคเลือกวิศวะ เพราะพวกๆ เพื่อนก็วิศวะทั้งนั้น อีกอันนึงเราก็เลือกวิทยา วิทยาก็เลือกอยู่ 2 อัน อันนึงก็จุฬาฯ อันนึงก็เชียงใหม่
แต่เชียงใหม่น่าสนตรงที่ว่า ปีนั้นเขาแยกธรณีวิทยาเลย เราก็บอกว่า ถ้าเราเข้าวิทยาได้ เราก็จะเรียนธรณีวิทยา เพราะตอนนั้นรู้อยู่แล้วว่า ถ้าเรียนธรณีวิทยา เราก็จะได้เดินทาง เพราะฉะนั้นเราก็อยากเป็นนักสำรวจ
ตอนนั้นเราก็ไปสนุกกับการทำหน้าที่เป็นกรรมการโรงเรียน เรียนก็ดรอปไปหน่อย เพราะฉะนั้นมันก็เลยไปติดธรณีวิทยา ซึ่งก็ถูกใจเรา เพราะว่าไปติด มช. ซึ่งแยกธรณีเลย เราก็เลยได้ไปเรียนธรณี
พอไปเรียนปีแรกก็ดีอีก ก็คือว่ามีทีมสำรวจธรณีวิทยา เขาไปสำรวจทางภาคเหนือ เขาก็มีสำนักงานอยู่ใน ติดกับตึกที่เราเรียนอยู่ ปรากฏว่าพอช่วงปิดเทอมปีแรกเลย เขาก็มาประกาศที่ภาคธรณีว่า รับสมัครนักศึกษาฝึกงาน ไปออกสนามกับเขาตลอดช่วงซัมเมอร์ 3 เดือน
ผมไม่ได้คิดอะไรมากสมัครไปเลย ก็เลยได้ไปสำรวจ ได้ไปทำงานกับนักธรณีวิทยา จากกรมทรัพยากรธรณี ตั้งแต่ปีแรก ไป 3 เดือนเลย ก็ไปสำรวจที่ลำปาง ไปเดินเขา เราก็เลยติดมาตั้งแต่ต้น
อาจารย์หมูเล่าด้วยเสียงหัวเราะอีกว่า จริงๆ แล้วเส้นทางนี้ ตั้งแต่สอบเข้ามาเรียน พ่อแม่เข้าใจว่า เป็นการไปขุดหาแร่ ไม่ได้คิดว่าลูกจะไปหาขุดค้นไดโนเสาร์ด้วยซ้ำ ตอนนั้นจึงสนับสนุนเต็มที่
“เขาเรียกว่าแหกคอกมาคนเดียว เพราะว่าทีแรกๆ ทำ ก็มีแต่คนถามว่าไปเรียนอะไรธรณีวิทยา ไม่ค่อยมีใครรู้จัก สมัยที่เริ่มเรียนสมัยนั้น เขาก็บอกว่าเรียนรู้เรื่องของโลก แล้วก็การกำเนิดของพวกสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก รวมทั้งวิวัฒนาการ รวมทั้งสิ่งมีชีวิต
เขาก็สนับสนุน เขาก็เออ..ก็ไป เขาก็รู้อยู่อย่างนึง วิชาธรณีถ้าเราเรียน เขาก็หวังว่าเราจะไปหาแร่ หาอะไรอย่างนั้น รวยเร็ว ไม่มีใครเขานึกว่า เราจะมาทำไดโนเสาร์อย่างนี้ แล้วเราจะไปหาสตางค์จากไหน กว่าเขาจะรู้ก็ช้าไปแล้ว (หัวเราะ)”
ทั้งค้อน ทั้งลิ่ม ค่อยๆ แซะหิน
กว่าจะเป็นซากฟอสซิลที่เราได้เห็นกัน แน่นอนว่ากว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เหล่านักบรรพชีวินต้องทำงานกันอย่างขมักเขม้น ต้องก้มหน้าก้มตา ที่ใช้ทั้งค้อน ทั้งลิ่ม ขุดกองหินใหญ่ๆ แข็งๆ ออกจากกระดูกอย่างระมัดระวัง
หรือบางครั้งก็ต้องไปขุดกลางแจ้ง ทำงานเหนื่อย ร้อน ต้องนั่งกับพื้น ค่อยๆ แซะหินทั้งวัน เพื่อให้หลักฐานชิ้นสำคัญชิ้นใหม่ระดับชาติ โผล่พ้นให้เห็นโครงสร้าง
“ถ้าอย่างกระดูกไดโนเสาร์ ก็จะมีเครื่องมือที่มีสกัด มีฆ้อน มีสกัดเป็นปกติ แต่ว่าเขาก็จะมีตัวเครื่องรูมาติกเพนท์ สำหรับสกัดกระดูกออกจากหินนะครับ
แล้วมันก็จะมีน้ำยาที่เวลาเราเปิดออกมาแล้ว มีกาว ถ้าชิ้นที่มันแตกหัก มีรอย เราก็ต้องซ่อม เราก็ต้องติดกาว พอเสร็จแล้ว ก็มีน้ำยาทาเคลือบ เพื่อให้มันแข็งแรง นอกจากเครื่องรูมาติกแล้ว มันก็จะมีเครื่องพ่นทราย ในการที่จะสกัดหินบางส่วนนะ”
เมืองไทยถือว่าเป็นดินแดนแห่งไดโนเสาร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เราไม่เป็นสองรองใครเลย แถมไดโนเสาร์ที่เราขุดพบที่เมืองไทย ก็เรียกได้ว่า เป็นชนิดใหม่ของโลกด้วย
“พอเราเจอพวกกระดูก สิ่งที่เราทำต่อมาก็คือ เราจะต้องทำความสะอาดกระดูกให้เรียบร้อยแล้ว เราก็ต้องเทียบหาตัวอย่าง ว่าไดโนเสาร์ในกลุ่มของพวกกินพืช ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันนี้ มีอยู่ที่ไหนบ้าง แล้วเราก็เอาตัวอย่างของเราไปเปรียบเทียบกับที่พบ ถ้าเหมือนกันปุ๊บ มันก็จะเป็นอยู่ในกลุ่มนั้น ส่วนจะว่าจะเป็นสปีชีส์ (species) หรือจีนัส (genus) เดียวกัน ก็คือต้องมีความคล้ายมากๆ หรือเหมือนกันเลย
แต่ที่ของเราไปเทียบ ไม่มีตัวไหนเหมือน เราก็สรุปพวกนี้มา ว่าของเรามีความต่างจากตัวนั้นยังไง ทั้งหมดไม่เหมือนตัวไหนเลย เราก็ตั้งชื่อเป็นชนิดใหม่ ถ้ามีความต่างมากขึ้นมาอีกระดับนึง ก็เป็นสกุลใหม่ด้วย ของเราก็คือได้ทั้งสกุลใหม่ แล้วก็ชนิดใหม่ ก็คือเป็นภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ เป็นชนิดใหม่ของโลก เป็นสกุลใหม่”
สำหรับวิธีการทำงาน และจุดเริ่มต้นในการค้นพบไดโนเสาร์ของประเทศไทยนั้น เริ่มมาจากปี พ.ศ. 2517 หลังจากที่อาจารย์หมู เข้ารับราชการที่กรมทรัพยากรธรณี ทำงานมาได้สักพัก ก็มีภารกิจทำหน้าที่สำรวจและทำแผนที่ธรณีวิทยา บริเวณภาคตะวันตกและภาคอีสาน ทำให้พบกระดูกไดโนเสาร์หลายแหล่งในอิสาน
จนต่อมาได้มีความร่วมมือกับคณะสำรวจชีววิทยาไทย-ฝรั่งเศส ทำการสำรวจฟอสซิลสัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2523 นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้น เป็นต้นมา
“เริ่มต้นสำรวจอย่างแรกก็คือ ดูจากที่มีนักธรณีวิทยาเคยมาทำงานก่อน เคยเจอตำแหน่ง เพราะฉะนั้นในจุดแรกๆ เราได้จากนักธรณีวิทยา ที่เขาสำรวจยูเรเนียม เขาก็มาเจอกระดูกชิ้นนึง ในห้วยประตูตีหมา ที่เราก็เดินสำรวจต่อจากอันนี้ไป อีกชิ้นนึงที่อยู่บนยอด ก็คือตรงหลุมที่ 1 เราก็สำรวจจากเส้นนั้นไป
จากนั้นก็ดูแนวของชั้นหิน ที่ประกอบเป็นเห็นชุดนี้ ก็คือหินเสาขัว ปรากฏว่ามันเป็นแนวสันเขาเล็กๆ วงชั้นในของภูเวียง ยาวตลอดเป็นครึ่งวงกลม ยาวประมาณสัก 20 กิโล เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มเดินสำรวจจากอันนี้นะครับ
จากหลุม 1 หลุม 2 หลุม 3 เราก็เริ่มเดินต่อไปทางทิศเหนือนะครับ แล้วก็ทางทิศใต้ ทางทิศเหนือก็ไปเจอหลุมที่ 4 ห่างไป 3 กิโล ก็เดินตามสันเขา หลุมที่ 4 ก็คือชาวบ้านเขาเจอ เขาก็เอาตัวอย่างมาให้ดู แล้วก็ไปเจอจุดที่มีกระดูกไดโนเสาร์ เราก็ขุดกระดูกมา 2-3 ชิ้น แต่ว่ามันก็เป็นกระดูกที่ไม่ค่อยสมบูรณ์นะครับ ก็ไม่ได้ลงไปได้ถึงชนิดใหม่ เพราะเรารู้ว่า ถ้าเป็นซอโรพอด มันมีเยอะ มันก็รวมอยู่ในกลุ่มนี้หมดนะครับ”
ผู้เชี่ยวชาญคนนี้บอกอีกว่า เมื่อก่อนต้องเดินอย่างเดียว เพราะถนนยังไม่ถึง และต้องไปกลับอยู่อย่างนั้นทุกวัน เพราะเมื่อก่อนยังไม่ขึ้นเป็นอุทยาน ทำให้ยังไม่มีที่พัก ทีมสำรวจต้องเดินทางไปพักที่อำเภอใกล้เคียงกัน คือ อ.ชุมแพ แต่ในการสำรวจเดี๋ยวนี้ อาจจะดีหน่อย เพราะมีถนนเข้าไปถึงแล้ว
“เมื่อก่อนก็เดินอย่างเดียว แต่ตอนนี้แล้วแต่ไซต์ แต่เดินเยอะ ช่วงนั้นเดินอย่างเดียว พวกหลุม 5 หลุม 6 มันก็ต้องเดินประมาณ 2-3 กิโล อันนี้ก็ต้องเดินไปกลับทุกวัน ตอนนั้นถนนก็ยังไม่มี หลังๆ ก็มีถนนเพิ่มบ้าง พอเริ่มขุดปั๊บ เราก็เริ่มหาทางว่าจะมีวิธีไหน ที่เราจะเอารถเข้าไปใกล้ที่สุดได้บ้าง
ก็ต้องขึ้นไปลงมาอยู่อย่างนั้น แล้วที่พักที่ใกล้ที่สุดตอนนั้น คือที่ชุมแพ เพราะฉะนั้นเราก็ไปพักที่ชุมแพที่หาได้ ภูเวียงไม่มีที่พักเลยนะครับ ไม่มีโรงแรม ไม่มีเกสต์เฮาส์ ไม่มีอะไรทั้งนั้น เราก็วนไปที่ชุมแพ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่กว่า เช้าขึ้นมาก็ตีรถเข้ามา แล้วเข้ามาถึงกลางเมือง ถนนก็หมด ถนนต้องวิ่งเข้ามาอีกจากหมู่บ้านสุดท้ายเข้ามาถึงภู 7-8 กิโล ทางรากไม้เก่า เราก็วิ่งเกือบชั่วโมง หรือชั่วโมงนะครับ”
แน่นอนว่าแหล่งขุดค้น แหล่งค้นพบไดโนเสาร์ที่สำคัญของบ้านเราย่อมหนีไม่พ้นในภาคอีสาน แล้วที่คนสงสัยกันว่า ทำไมไดโนเสาร์ส่วนใหญ่ถึงค้นพบมากสุดที่ภาคอีสาน
ผู้เชี่ยวชาญคนนี้ก็บอกว่า เพราะสภาพแวดล้อมของภาคอีสานในสมัยโบราณ มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มน้ำขนาดใหญ่ จึงเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของไดโนเสาร์นานาพันธุ์ พอไดโนเสาร์เหล่านั้นตาย ซากก็จะถูกตะกอนแม่น้ำกลบฝังไว้จนกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ในที่สุด
“อีสานมันเป็นชั้นหิน ที่เกิดบนแผ่นดินในสมัยที่ไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่ ก็คือไดโนเสาร์มีชีวิตอยู่ไหนช่วงประมาณ 230-240 ล้านปี ลงมาจนกระทั่ง 66 ล้านปี ไดโนเสาร์เป็นสัตว์บก พื้นที่อีสานทั้งหมด เป็นแผ่นดินซึ่งกว้างใหญ่มากๆ คลุมไปทั้งภาคอีสาน บางส่วนก็เข้าไปทางเขมรหน่อยนึง แถวเกาะกง ก็เป็นชั้นหินชุดนี้ ขึ้นไปทางลาว เข้าไปสะหวันนะเขต
แล้วของในประเทศไทยเรา ส่วนใหญ่ก็คือภาคอีสานทั้งหมด แล้วก็มีบางส่วนที่เป็นแคบๆ ยาวๆ ก็คือตั้งแต่ทางตะวันตก นครสวรรค์ ขึ้นไปจนกระทั่งถึงเชียงราย
เราเจอไดโนเสาร์ที่พะเยาจุดนึง แล้วก็ทางภาคใต้ มีชั้นหินนี้อยู่ ตั้งแต่ชุมพร เป็นทางแคบๆ ยาวๆ ลงไปถึงกระบี่ เราเจอไดโนเสาร์ที่กระบี่ ที่อื่นๆ เราก็เจอพวกสัตว์มีกระดูกสันหลังอื่นๆ บางชนิด ที่มีอายุอยู่ในช่วงที่ไดโนเสาร์อยู่ ก็คือยุคมีโซโซอิก (Mesozoic Era)
แล้วก็เจอเก่าที่สุดประมาณ 200 ล้านปี ก็คือพวกชั้นหินน้ำพอง ภูกระดึง พระวิหาร เสาขัว ภูพาน โคกกรวด นี่ก็คือชั้นหิน 5-6 ชั้นของประเทศไทย ที่มีไดโนเสาร์ในช่วงไทรแอสซิก (Triassic) ตอนปลาย จูแรสสิก (Jurassic) แล้วก็ครีเทเชียส (Cretaceous) ตอนต้น ไปถึง 100 ล้านปีนะครับ
หลังจาก 100 ล้านปีไปเนี่ย อีสานมันมีความแห้งแล้งมากขึ้น เพราะฉะนั้นแผ่นดินที่มีอยู่เนี่ย มันก็จะมีแอ่งตะกอน 2 แอ่งใหญ่ คือโคราช สกลนคร นครพนม
หลังจาก 100 ล้านปีลงมา 2 แอ่งใหญ่พวกนี้ มันจะมีบางช่วงที่น้ำทะเลไหลเข้ามา แล้วพอน้ำทะเลลดลงไปปุ๊บ ที่มันกัดอยู่เป็นทะเลสาบน้ำเค็ม มันก็เกิดการตกตะกอนเป็นชั้นเกลือ เพราะฉะนั้นอีสานถึงมีเกลือสินเธาว์อยู่ 2 ชั้นนี้ ซึ่งที่อยู่ใต้เกลือ เราก็เริ่มเจอไดโนเสาร์ แต่ชั้นเกลือ ชั้นที่เหนือขึ้นไปเนี่ย เราไม่เจอไดโนเสาร์เลยนะครับ”
อินผลงานต่างประเทศ จนเกิดพิพิธภัณฑ์
ผลงานสำคัญอีกอย่างนึง ที่เป็นที่พูดถึง ของนักสำรวจคนนี้ นั่นก็คือ การผลักดัน และการพัฒนาแหล่งขุดค้นภูกุ้มข้าว ให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว” หรือ “พิพิธภัณฑ์สิรินธร”
เป็นพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย ที่ตั้งอยู่บนภูกุ้มข้าว ที่มีลักษณะเป็นเขาโดดสูงประมาณ 300 เมตร ใน ต.โนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ และพัฒนาต่อเนื่องจนเกิดเป็น พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ยังได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานอนุญาตให้ใช้ชื่อ“พิพิธภัณฑ์สิรินธร”อีกด้วย
“พอตอนหลัง เราไปเริ่มที่กาฬสินธุ์ เราก็ทำขึ้นมา ตอนนั้นทางกรมเขาก็สนับสนุน เราก็ทำไซต์มิวเซียมก่อนเลย เพราะฉะนั้นเราก็สร้างไซต์มิวเซียมเสร็จในไม่กี่ปีต่อมา เราก็ไปเจอไซต์อื่นๆ อีกในภาคอีสาน เพิ่มขึ้นอีกหลายไซส์มากๆ เป็น 10 แห่ง ซึ่งมีตัวอย่างเข้ามาอยู่เรื่อยๆ
เพราะฉะนั้นเราก็ได้งบประมาณอีกครั้งนึง ก็คือได้สร้างพิพิธภัณฑ์อีกที่นึง ที่ภูกุ้มข้าว พอสร้างเสร็จปุ๊บปี 2540 ฟองสบู่แตก ได้งบมาสร้างอาคารเฟสแรกเสร็จ อาคารก็ร้างอยู่ 2-3 ปี
จนกระทั่งก็มีผู้สนับสนุนเข้ามาช่วยเหลือ ว่าน่าจะทำให้สำเร็จ ก็มีผู้สนับสนุนขึ้นมาจากทางส่วนกลาง ก็ตั้งงบใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นก็เริ่มสร้างพิพิธภัณฑ์ที่โน่น รวมทั้งพิพิธภัณฑ์ที่ภูเวียงเนี่ย แล้วก็ได้งบมาไล่ๆ กัน เพราะฉะนั้นก็ได้เป็น 2 พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ที่ภูเวียง กับพิพิธภัณฑ์ที่ภูกุ้มข้าว”
แรงบันดาลใจสำคัญ ที่อยากให้ประเทศไทย มีพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ก็คือ จากการได้ไปฝึกงานที่ต่างประเทศ แล้วได้ไปเห็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของต่างประเทศ ซึ่งข้างในมีเรื่องราวและความรู้มากมาย ให้เข้าไปเรียนรู้ได้ไม่รู้หมด นั่นยิ่งทำให้รู้สึกอิน
“เราก็อินกับอันนี้ ผมเห็นเฉพาะอันนี้อันเดียว เราสามารถแสดงให้คนไทยทั้งประเทศเห็น เข้าใจได้ง่าย เพราะฉะนั้นผมก็อยากทำอย่างนี้
การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ มันบอกหมดเลย เริ่มต้นตั้งแต่กำเนิดชีวิตขึ้นมาในโลก ในแต่ละช่วงเวลา แล้วก็มีไฮไลต์ช่วงไหนเป็นยังไง ทำให้เราแยกแยะลำดับได้ จนกระทั่งมาถึงช่วงยุคไดโนเสาร์ก็เหมือนกัน แต่ละยุคขึ้นมาที่ไหนในโลก มีอะไรยังไง
แล้ววิธีการจัดแสดงโชว์ เป็นอะไรที่ทันสมัยมากๆ จนกระทั่งไดโนเสาร์สูญพันธุ์ สาเหตุทั้งอุกาบาตตก ทั้งภูมิมีอากาศเปลี่ยนแปลงลงไป จนกระทั่งเปลี่ยนขึ้นมา ชีวิตมันหายไปหมดนะครับ”
จากนั้นก็กลับมาคิดว่า อยากสร้างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ให้เป็นพื้นฐานสำหรับเด็กๆ รุ่นหลัง หรือคนทั่วไป ได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ หรือยิ่งถ้าอยากสร้างนักสำรวจ บ้านเราก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้น
อีกทั้งนี่ก็ถือว่าเป็นโอกาสดี เพื่อจารึกในประวัติของโลกว่า เมืองไทยเรามีค้นพบไดโนเสาร์ใหม่ๆ รวมทั้งฟอสซิลใหม่ๆ ด้วย
“ช่วงที่ผมไปฝึกงานเนี่ย ผมไปดูพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ พี่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา หลายแห่งมากๆ ทั้งในฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ ทั้งเยอรมัน เราเห็นแล้วเราก็โอ้โห..เพราะเขาสร้างมา 2-3 ร้อยปีแล้ว เราก็น่าจะหลาย 10 ปี มาแล้ว ที่เราควรจะมี
ตอนที่ผมไปอยู่ที่นู่น ก็ไปดู Museum หลายแห่ง แล้วก็โชคดีอีกอย่างนึงเมื่อ 2 ปีต่อมา ก็มีโปรเจกต์ที่กรมทรัพยากรธรณี ที่ทำร่วมกับแคนาดา ให้ทุนนักธรณีเข้าไปดู พอมีทุนเหลือเขาก็มาถามผมว่า อยากไปดูอะไร ผมก็บอกว่าอยากไปดูว่า ถ้าจะทำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสักแห่งนึง เราจะต้องรู้อะไรบ้าง บอกทางคนที่เขาให้ทุนไป
ผลปรากฏว่าผมได้ไป 3 เดือน เขาก็ส่งไปอยู่ 2 พิพิธภัณฑ์ก็คือ พิพิธภัณฑ์รอยัล ไทร์เรลล์ มิวเซียม (Royal Tyrrell Museum) กับ รอยัล ออนตาริโอ มิวเซียม (Royal Ontario Museum) ไปอยู่ Ontario Museum ก่อนเดือนครึ่ง อันนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ในเมืองใหญ่ เราก็ดูแบบโอเคมันเป็นประเทศที่เก่าแก่มากๆ ที่มันรวมทุกเซกชั่นของทั้งหมดเลย ซึ่งมันมากเกินไป เราก็ดูแค่เซกชั่นเดียวใช่ไหม
พอไปรอยัลไทร์เรลล์มิวเซียม (Royal Tyrrell Museum) พอไปอยู่ปุ๊บ โอ้โห..เข้าตา เป็นพี่พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของโลก ที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะเรื่องไดโนเสาร์ ผมไปอยู่เดือนครึ่งมีความสุขมากๆ ไปทำงานกับเขา”
นอกจากนี้ ประสบการณ์การไปศึกษาเรื่องการตั้งพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังได้ไปลงสนามจริงกับทีมต่างชาติ จนได้ประสบการณ์กลับมาพัฒนาวงการสำรวจในบ้านเราอีกมากมาย
“ที่เราบอกโจทย์มาว่าอยากรู้ว่าอะไร เราต้องดูอะไรบ้าง เขาก็จับผมไปดู ไปเรียนทุกแผนก พาไปสนามด้วย วิธีการขุดของเขาเราทำยังไง ปรากฏว่าไปขุดในแบดแลนด์ (badlands) ซึ่งเป็นแหล่งไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดของ North America ทั้งแคนาดา ทั้งอเมริกา อยู่แบดแลนด์ทั้งนั้น
พอไปขุดกับเขา เขาเพิ่งขุดเจอทีเร็กซ์ ค่อนข้างจะ complete ตัวนึง เขาต้องใช้ chinook ยกจากบนเนินเขา เพื่อที่จะลงไปขึ้นรถเอากลับ ตอนผมไปมันยังอยู่ในเฝือก เขากำลังเริ่มต้นทำหัวกะโหลก ผมไปนั่งอยู่ตั้งนาน ตอนนั้นเขาไม่ไว้ใจเรา เพิ่งรู้จัก เขาไม่ยอมให้ผมแตะ ไม่งั้นผมได้ไปเปิดหัวกะโหลกทีเร็กซ์แล้ว”
อาชีพที่สนุก เรียนรู้ใหม่ ไม่รู้จบ
แม้จะต้องไปขุดกลางแจ้ง ทำงานเหนื่อย ร้อน ต้องนั่งกับพื้น แล้วค่อยๆ แซะๆ ขุดๆ ไปทั้งวัน แต่เมื่อไหร่ที่เจอกระดูก หรือเจอฟอสซิลชิ้นใหม่ ก็จะมีความสุขมาก ที่เหนื่อยๆ อยู่ก็หายเป็นปลิดทิ้งเลย
“วิชานี้เป็นวิชาที่สนุก แล้วก็น่าสนใจก็คือ เราจะได้พบกับสิ่งใหม่ๆ ฟอสซิลใหม่ๆ แล้วก็ได้รู้จักกับสัตว์ชนิดใหม่ๆ ขึ้นมา การสำรวจ คือเหมือนเราออกไปเรียนรู้ว่า ในแต่ละที่เป็นยังไง มีอะไรบ้าง บางทีเราก็จะเห็นอะไรที่เราไม่ค่อยรู้จักเยอะมาก
เพราะฉะนั้นเราก็จะไปเรียนรู้มาเรื่อยๆ มันเหมือนกับตลอดชีวิต เวลาไปร่วมงานกับเขา ไม่ว่าจะส่วนไหนก็ตาม เราก็จะได้ความรู้กลับมา เราก็รู้มากขึ้นเรื่อยๆ เรียนรู้ไม่รู้จบ
ออกมาอย่างนี้ ความสนุกอย่างนึงก็คือ วันนี้เราได้รู้จักบางอย่างมากขึ้น การได้ไปกับผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนก็เหมือนกัน อย่างเช่นผู้เชี่ยวชาญคนนึง ที่ไปด้วยกันบ่อยๆ ดร.อ็องรี ฟองเทน เขาเป็นนักสำรวจผู้เชี่ยวชาญทางด้านปะการังโบราณ รวมทั้งพวกสัตว์ทะเล
เขาก็สอนเราทุกที พาไปดูว่า เราก็ต้องไปหาอะไรก่อนอันแรก ได้ฟอสซิลมา เสร็จแล้วก็เก็บตัวอย่างมาสำรวจ เราถนัดเรื่องทางธรณี แล้วก็มีแผนที่แล้วก็สามารถเก็บตัวอย่าง ลงตำแหน่งตัวอย่าง เราก็ทำลิสต์ได้ เราก็ทำแมพได้เบื้องต้น ว่าเก็บตัวอย่างมาจากที่ไหนขึ้นมา เป็นประกอบในบทความเวลาที่ ดร.ฟองเทนเขาทำวิจัยเสร็จมา ก็ประกอบขึ้นมา เราก็เป็นส่วนร่วมด้วย”
แม้จะบอกว่าสนุกที่ได้ทำ แต่แน่นอนว่า ความเหนื่อยมันก็มีด้วยเช่นกัน เพราะกว่าจะขุดไปเจอได้แต่ละครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความอดทน และความชำนาญที่สั่งสมมาด้วย เพราะการขุดแต่ละครั้ง ก็ต้องระวังด้วยว่า เดี๋ยวจะขุดไปโดนกระดูกซากดึกดําบรรพ์เหล่านั้นเสียหาย
“เหนื่อยสิ ทำไมจะไม่เหนื่อย ก็มีวิธีพัก เราก็ทำไม่รีบร้อนไม่เร่งด่วน ก็ทำอย่างสบายๆ เราก็วางแผนว่า วันนี้ควรที่จะขุดให้เห็นอะไร ในชั้นนี้ตรงไหนขุดยากขุดง่าย เราก็ขุดตรงที่เราจะมองเห็น ที่เราจะใช้งานได้ก่อน รวมทั้งก็จะมีน้องๆ ที่มาช่วยเปิด เราก็ไปดูว่าควรที่จะเปิดตรงไหนได้ จะขุดยังไง”
เป็นอาชีพที่คนทำน้อย ด้วยความที่มันต้องใช้ความอดทนสูงในการขุด รวมถึงเงินทุนในการสนับสนุนก็มีน้อย เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า การเป็นนักสำรวจ ก็ต้องเดินทางตลอดเวลา
“ค่อนข้างจะน้อย คือทำงานด้านนี้ คนสนับสนุนเรื่องของทุนที่จะไปทำน้อย เพราะฉะนั้นเราก็คือต้องมีแหล่งที่ว่า เราจะทำยังไงเราถึงจะมีทุนไปได้ เพราะว่าเวลาออกภาคสนาม เดินทางมันมีค่าใช้จ่ายตลอด เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มีทุนขึ้นมา เราก็ไม่สามารถที่จะไปได้
พอผมอยู่กรมทรัพยากรธรณี หรืออยู่ที่ศูนย์บรรพชีวิน เราก็จะมีเงินสำหรับออกไปสำรวจค่อนข้างจะคงที่ ว่าปีนึงอย่างน้อยก็ต้องได้มาประมาณเท่านี้ ออกไปทำงานได้กี่วัน อันนั้นคือส่วนที่สำคัญ แต่ที่สำคัญก็คือ เราต้องมีผลงานส่งในปีนั้น เท่าที่เราไปทำมา
เพราะถ้าเรามีความก้าวหน้าทุกปี เราก็สามารถที่จะต่อเนื่องต่อยอดไป พอเรามีผลงานพวกนี้ออก ในทีมแต่ละคนเขาก็จะได้เงินในการที่จะสำรวจขั้นต่อไป ในปีต่อไป เหมือนอย่างโครงการให้ 3 ปี แต่ดูทีละปี ถ้าปีนึงเรามีผลงานต่อไป เขาก็ให้ปี 2 ให้ปี 3 แต่ถ้าไม่ได้มา เขาก็อาจจะยุบไปก็ได้ ก็จะเป็นลักษณะอย่างนี้”
ในฐานะผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานาน ยังฝากถึงนักสำรวจรุ่นใหม่อีกว่า สิ่งที่นักสำรวจต้องมีคือ ความใฝ่รู้ในเรื่องราวเหล่านั้น ต้องรู้จักศึกษาค้นคว้า ตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน เพื่อไปตรวจสอบดูในเบื้องต้นว่า สิ่งที่เขาว่าไว้เป็นจริงหรือไม่ จากนั้นก็ต้องศึกษาให้รู้จริง และนอกจากความใฝ่รู้ใฝ่เรียนในตำราแล้ว สิ่งสำคัญที่นักสำรวจต้องมีเลย ก็คือความอดทน
“คืองานพวกนี้ มีอย่างนึงก็คือต้องอดทน แล้วก็ฝึกในหลายๆ เรื่อง แล้วก็วางแผนในการที่ว่า เวลาจะขุด ต้องรู้ว่า จะทำยังไงให้ได้ชิ้นตัวอย่าง มาอย่างสมบูรณ์ โดยที่ให้ชำรุดเสียหายน้อยที่สุด เพื่อเอามาใช้ในการศึกษาวิจัยได้ แล้วก็ต้องรู้ล่วงหน้าไปด้วยว่า แล้วเราจะทำยังไงกับตัวอย่างนี้ ในขั้นตอนต่อไป ก็ต้องเรียนรู้ทุกสเต็ป
ขั้นแรกคือสำรวจหาให้เจอก่อน ขั้นที่ 2 ก็คือ ขุดขึ้นมาให้ได้ ได้ชิ้นที่สมบูรณ์ครบถ้วน ขั้นที่ 3 ก็คือ ทำความสะอาดใช้เครื่องมือ ที่จะสกัดเอาดิน เอาหิน เอาอะไรออกให้หมด โดยให้เสียหายน้อยที่สุด
ขั้นที่ 4 คือ ทั้งทำความสะอาด ทั้งซ่อมแซม ทั้งทำให้แข็ง ต้องมีฮาร์ดเดน หรือพวกเครื่องมือตัวที่มาช่วย ว่าจะใช้ตัวไหนทำ แล้วอีกอันนึงก็คือขั้นของการเปรียบเทียบ คราวนี้ก็ต้องรู้แล้วว่า เรารู้จักตัวนี้มากน้อยแค่ไหน
อันนี้เป็นไดโนเสาร์ หรือเป็นสัตว์กลุ่มไหนชนิดไหน กินพืช กินเนื้อ แล้วใครที่เชี่ยวชาญพวกนี้ แล้วที่ไหนจะมีตัวอย่าง อย่างนี้อยู่บ้าง
แต่เดี๋ยวนี้พอมันมีคอมพิวเตอร์ขนาดนี้ ซึ่งมันออนไลน์ได้ เราก็สามารถเช็ค สามารถถาม สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนนี้ต้องไปถึงแหล่ง นั่นก็เป็นเรื่องยากอีกเรื่องนึง แต่เดี๋ยวนี้เข้าถึงทางออนไลน์นี้ได้มาก แต่บางอย่างก็ต้องเข้าไปหาเฉพาะตัว แล้วถ้าเป็นเรื่องที่เราไม่ถนัดนัก เราก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม”
แม้จะเกษียณ แต่ความหลงใหลยังอยู่
แม้จะอยู่ในวัยเลยเกษียณ จากข้าราชการกรมทรัพยากรธรณี มาเป็น 10 กว่าปี ผู้ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นบรมครู นักขุดไดโนเสาร์คนนี้ ก็ยังไม่คิดทิ้งวงการไป เพราะบอกว่า ยังรู้สึกสนุก และมีความสุขที่ได้ทำ
“ก็มันยังสามารถที่จะขุดได้ แล้วอีกอย่างนึงเวลาที่เราไปขุดเจอตัวใหม่ๆ ชิ้นใหม่ๆ ก็หายเหนื่อย แล้วก็ยิ่งถ้าเจอตัวใหม่ด้วย เรามีผู้เชี่ยวชาญ พร้อมที่จะรับในแทบทุกตัวอย่าง ที่เราขุดมาได้ หรือถ้าที่เราไม่รู้จัก ก็มีทีม backup ที่ค่อนข้างจะใหญ่ แล้วก็ร่วมมือกัน”
ด้วย passion อันแรงกล้า ที่มีต่อวงการนี้ และคำขอของลูกชาย อย่าง“ดร.สุรเวช สุธีธร” ทายาทผู้เดินตามรอยเส้นทาง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญคนนี้ ก็ขอทำไปเรื่อยๆ จนก็กว่าที่ร่างกายจะทำไม่ไหว แต่อาจจะไม่ได้ลุยมากอย่างเมื่อก่อน เพราะร่างกายอาจจะไม่ได้แข็งแรงดีเหมือนเมื่อก่อนแล้ว
“ทีแรกก็ทำไปเรื่อยๆ แล้วพอโควิดปุ๊บเราก็หยุด ก็นึกว่าโอเคจะหยุดแล้ว แต่พอมีโปรเจกต์นี้มาถึง ก็มาจากลูกชายอย่างนี้ เขาก็บอกว่า พ่อก็ไปช่วยหน่อยสิ ไม่ได้มาขุดตั้งนานแล้ว นั่งอยู่บ้านเฉยๆ ดูทีวีทุกวัน
ก็จะลดน้อยลงไปเยอะ ถ้ามีโอกาสมา ก็พอทำที่ยังไหว ก็พอช่วยได้ แต่ก็ต้องไม่เหมือนเดิม ก็ไม่ได้แข็งแรงเท่าสมัยยังหนุ่มๆ หรอก แต่ว่าเราก็ยังพอทำได้ อะไรแข็งมากๆ เราก็ให้น้องๆ ลุย”
อย่างที่บอกว่า แม้จะอยู่ในวัยเกษียณแล้ว ก็ยังที่จะมุ่งมั่นทำอยู่ ตอนนี้อาจารย์หมูก็ยังมี มียังคงมีตำแหน่งเป็น Vice President ของสมาคมไดโนเสาร์เอเชียอีกด้วย
“อย่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามเนี่ย เขารับคนที่เกษียณไปเป็นไดเรคเตอร์ได้ อย่างศูนย์บรรณพชีวินอย่างนี้ มันเฉพาะทางเลย เพราะฉะนั้นมันก็หาคนยาก พอเราเกษียณปุ๊บ จริงๆ เขาก็ชวนมาตั้งแต่ก่อนเกษียณแล้ว แต่ก็ขอทำพิพิธภัณฑ์ให้เสร็จก่อน ก็ทำจนเสร็จ พอเกษียณขึ้นมาก็ยังอยู่ช่วยที่กรมปีนึง
เขาก็บอกโอเค พอจบจากที่นี่ปีนึง ก็มาเป็นนักวิจัยที่มหาสารคาม เป็นอยู่ได้สักพักนึง ตำแหน่งไดเรคเตอร์ว่าง ก็มีคนเสนอให้ไปเป็นไดเรคเตอร์ เราก็เป็นผู้อำนวยการอยู่ 2 สมัย ก็ 8 ปี ตอนนั้นก็อยู่ที่มหาสารคามประมาณ 10 ปี
ตอนนี้ก็มีแต่ตำแหน่ง Vice President ของ Asia Dinosaur Association ก็คือเมื่อช่วงสักหลายปีก่อน ทางเอเชีย เขาก็มีการนัดประชุมกันที่ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเขาก็เป็นตัวตั้งตัวตี มารวมตัวกัน ตั้งเป็นสมาคมไดโนเสาร์ของเอเชียขึ้นมา ก็รวมกันขึ้นมาได้ 4-5 ประเทศ ก็ตั้งขึ้นมาเป็นสมาคมไดโนเสาร์เอเชีย
เขาก็ให้ผมเป็น Vice President คือ President ก็คือญี่ปุ่น ตอนนั้นญี่ปุ่นก็เป็นตัวตั้งก่อน ก็จะมีไทย จีน เกาหลี มองโกเลีย
พอตอนหลังก็จะมีหลายประเทศที่ขอเข้ามา ทุก 2 ปี ก็จะมีการประชุมไปในแต่ละประเทศ ปีแรกก็ที่ญี่ปุ่นก่อน ปีที่ 2 ก็ขอมาที่เมืองไทย ครั้งที่ 3 ก็ไปจีน ครั้งที่ 4 ก็ไปมองโกเลีย ครั้งที่ 5 ก็ไปเกาหลี เมื่อปีที่แล้วก็ไปเกาหลีมา”
ท้ายนี้ อาจารย์หมูยังบอกอีกว่า นอกจากความสุขของการเป็นนักสำรวจ ที่ได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ แล้ว ความภาคภูมิใจอีกอย่างนึงเลยก็คือ การได้เป็นส่วนนึงในการเจอสัตว์ชนิดใหม่ของโลก หลายๆ ชนิดเลย โดยเฉพาะในเมืองไทย
“การได้เจออะไรใหม่ๆ การได้เห็นอะไรใหม่ๆ การที่เราก็มีส่วนนึงในการเจอสัตว์ชนิดใหม่ของโลกขึ้นมา หลายๆ ชนิดเลย โดยเฉพาะในเมืองไทย ผมว่าผมเจอชนิดใหม่ๆ หลาย 10 ชนิด ไดโนเสาร์ก็เกือบ 10 ชนิด ที่เราเจอ
แล้วก็พวกแมมมอธ ตอนไปทำที่กระบี่ เฉพาะแมมมอธ เจอมากกว่า 30 ชนิด ที่เราเจอที่เป็น new species ของโลก new genus ด้วยซ้ำ แล้วก็อย่างนี้เจอแพนด้า เจออุรังอุตังในเมืองไทยด้วย
เพราะฉะนั้นบ้านเราก็มีอะไรหลายๆ อย่าง ที่เรายังไม่รู้จัก ถ้าเรามีทีมที่สำรวจค้นหาอย่างนี้ ก็จะเจอสิ่งมีชีวิตที่เคยอยู่ในประเทศไทย ในแต่ละช่วงเวลาใหม่ๆ อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นใครที่สามารถเรียนรู้ได้ เข้าถึงได้ เข้าไปสำรวจ ก็มีโอกาสที่จะเจอได้ในทุกที่ครับ”
ดูโพสต์นี้บน Instagram
..."นักล่าไดโนเสาร์มือหนึ่ง" ผู้บุกเบิก #ไดโนเสาร์ เมืองไทย
.
ถึงเกษียณแล้ว แต่ความหลงใหลยังผลักให้หา "หลักฐานชิ้นสำคัญ" ล่าสุดขุดพบไดโนเสาร์ในไทย ที่รอลุ้นได้เป็น "พันธุ์ใหม่ของโลก!!"...
.
อ่านเต็มๆ>> https://t.co/ae29bhnpv4
.#ฟอสซิลไดโนเสาร์ #อินเดียน่าโจนส์ pic.twitter.com/qSWx0jFFg4— LIVE Style (@livestyletweet) January 4, 2025
@livestyle.official ...เจาะเส้นทางชีวิต!! "นักล่าไดโนเสาร์มือหนึ่ง" ผู้บุกเบิกไดโนเสาร์เมืองไทย แม้เกษียณแล้ว แต่ความหลงใหลยังผลักให้หา "หลักฐานชิ้นสำคัญ" ต่อไป ล่าสุดขุดพบไดโนเสาร์ในไทย ที่รอลุ้นได้เป็น "พันธุ์ใหม่ของโลก!!"... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #ไดโนเสาร์ #ฟอสซิลไดโนเสาร์ #พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง #อุทยานแห่งชาติภูเวียง #ภูเวียง #ขอนแก่น #พิพิธภัณฑ์สิรินธร #แรงบันดาลใจ #อาชีพ #ล่าสมบัติ #นักล่าสมบัติ #นักโบราณคดี #นักธรณีวิทยา #นักบรรพชีวินวิทยา #อินเดียน่าโจนส์ #ผู้สูงอายุ #คนวัยเกษียณ ♬ original sound - LIVE Style
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : Facebook “Varavudh Suteethorni”, “พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง - Phuwiang Dinosaur Museum”, “พิพิธภัณฑ์สิรินธร-Dinosaur museum”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **