เรียกร้องมา 2 ทศวรรษ ในที่สุดก็สำเร็จ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ที่เมืองไทยควรมีตั้งนานแล้ว กูรูย้ำ นี่ “ไม่ใช่เส้นชัย” เป็นเพียง “ประตูบานแรก” ให้สู้ต่อ
** กว่าจะเป็น “สมรสเท่าเทียม” **
จากการต่อสู้กว่า “20 ปี” ในที่สุดก็เป็นจริง เมื่อสภาฯ ผ่านกฎหมาย “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ให้พี่น้อง LGBTQ+ แต่งงานกันได้อย่าง “ถูกต้องตามกฎหมาย” สำเร็จในปีนี้
โดยเปลี่ยนคำจำกัดความของ “การสมรส” และ “การหมั้น” จาก “ชาย-หญิง” เป็น “บุคคล” และเรียกว่า “คู่สมรส” แทนที่จะเป็น “คู่สามี-ภรรยา” เพื่อไม่ให้มีข้อจำกัดทางเพศอีกต่อไป ซึ่งจะผลบังคับใช้จริง ในวันที่ “22 ม.ค.68”
ส่งให้ “ไทย” กลายเป็น “ชาติแรกในอาเซียน” และ “ประเทศที่ 3 ในเอเชีย” ที่มี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ซึ่งคือฝันที่เป็นจริง หลังการต่อสู้เรียกร้องที่ยาวนานกว่า 20 ปี
นับตั้งแต่ปี “2544” ที่รัฐบาลในยุคนั้น มีความคิดจะทำให้การสมรสของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย แต่สังคม ณ เวลานั้นยังไม่เปิดกว้างเท่าไหร่ ทำให้มี “กระแสต่อต้าน” อย่างรุนแรง จนต้องพับเรื่องไปในที่สุด
แต่การต่อสู้ก็ไม่ได้หยุดลง ในปี 2555 มีคู่รัก LGBTQ+ หลายคู่ “ต้องการจดทะเบียนสมรส” แต่ก็ “ถูกปฏิเสธ” จนกลายเป็นข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล และนำไปสู่การร่าง “พ.ร.บ.คู่ชีวิต” ในปี 2556 แต่ พ.ร.บ.ตัวนี้กลับไปไม่ถึงฝัน เพราะเกิด “การรัฐประหาร” ในปี 2557 เสียก่อน
ล่วงเข้าปี “2563” เริ่มมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่อง “การสมรสเท่าเทียม” อีกครั้งจากภาคประชาชน จนมีการเสนอร่าง “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ต่อสภาอีกครั้ง ซึ่งถึงมันจะผ่านเข้าสภาฯ ในวาระที่ 1 ได้ แต่ด้วย “ปัญหาทางการเมือง” กับสภาฯ ที่ “ล้ม” บ่อยครั้ง
ผลสุดท้าย ตั้งแต่ปี 2563-2566 พ.ร.บ.ตัวนี้ก็ไม่เคยถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา ให้ครบ 3 วาระเลยสักครั้งเดียว ผลักให้ “พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม” ถูกปัดตกไปจากรัฐธรรมนูญอีกครั้ง
เรียกได้เต็มปากว่า เส้นทางการต่อสู้เพื่อให้มีวันนี้ คือการเดินทนระยะไกลร่วม 20 ปี ที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ จนในที่สุด วันนี้ก็ได้มี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” ที่มีกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการแล้ว และกำลังจะมีผลใช้ได้จริงในปีหน้า (2568)
** เปลี่ยนนิยาม “ครอบครัว” ปรับมุมมองความเข้าใจ **
ถือเป็นหนึ่งในการเปลี่ยนแปลง ที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์อยู่เหมือนกัน ดังนั้น แรงกระเพื่อมต่อจากนี้ในปีหน้า ย่อมไม่เหมือนที่ผ่านๆ มา แต่ถามว่าจะแตกต่างไปจากเดิมแค่ไหน คงต้องให้คนวงใน หนึ่งในผู้ที่ร่วมผลักดันกฎหมายนี้มาตลอดทาง เป็นคนช่วยวิเคราะห์
“ณชเล บุญญาภิสมภาร” รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และประธานมูลนิธิซิสเตอร์ ช่วยให้คำตอบว่าอย่างแรกเลย คือ “นิยาม” ต่างๆ ที่คนในสังคมเคยเข้าใจและเคยชิน จะได้รับการปรับเปลี่ยนและทำความเข้าใจมากขึ้น
เพราะเมื่อกฎหมายอนุญาตให้กลุ่ม LGBTQ+ “สร้างครอบครัวได้” สังคมก็จะ “ตระหนัก” เรียนรู้และเข้าใจ ถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น โดยเฉพาะนิยามของคำว่า “ครอบครัว”
“เมื่อก่อน เวลาเราเรียนเรื่องครอบครัวเนี่ย ครอบครัวมีกี่แบบ ครอบครัวของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็จะหายไปจากคำนิยามของครอบครัว”
{“ณชเล” รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ }
ส่วนด้าน “ธุรกิจ” ในปีหน้า หลังจาก พ.ร.บ.นี้เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ธุรกิจที่เกี่ยวกับ “งานแต่ง”น่าจะ “คึกคัก” และอาจเห็น “บริการ”หรือ “ผลิตภัณฑ์”ใหม่ๆ ที่มารองรับเหล่าคู่รัก LGBTQ+
นอกจากนี้ ในภาคเอกชนมันก็น่าจับตามองว่า จะมีสวัสดิการอะไร ออกมารองรับพวกเขาเหมือนกับ คู่สมรสชาย-หญิง หรือเปล่า? อย่างเช่น“การลาเลี้ยงดูบุตร”
“ก็อาจจะมีสวัสดิการใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นเลยในประเทศไทย แต่ว่ามันเกิดขึ้น หลังจากกฎหมายสมรสเท่าเทียมได้ประกาศใช้”
“ณชเล” ยังบอกอีกว่า ตอนนี้ต่างชาติ “ตื่นเต้น” กับการที่ไทยมี “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” อย่างมาก เพราะเขาเห็นว่า สังคมไทยเปิดกว้างและเป็นมิตรกับกลุ่ม LBGTQ+ มาโดยตลอด และมองเห็นว่า “ไทยควรมีกฎหมายนี้ตั้งนานแล้ว”
ทำให้หลายคนมองว่า “สมรสเท่าเทียม” น่าจะกลายเป็น “Soft Power” ใหม่ของไทย เพราะตอนนี้ “ซีรีส์วาย(ชายรักชาย)” กับ “ซีรีส์แซฟฟิก(หญิงรักหญิง)” ของไทย ก็กำลังเป็นที่นิยม และอาจผลักให้กลายเป็น “จุดขายใหม่ของประเทศ” ไปด้วยในตัว
กูรูรายเดิมมองว่า ในด้านของ “สื่อ” เราน่าจะเห็น “รายการ-หนัง-ซีรีส์” ที่พูดเรื่องของ LGBTQ+ มากขึ้น แต่การจะทำให้ “ความเท่าเทียมทางเพศ” กลายเป็นจุดเด่นของไทย “ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ”
“สมรสเท่าเทียม มันคงไม่พอ ที่จะบอกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการให้สิทธิ์ เรื่องของการเท่าเทียมทางเพศ”
** ไม่ใช่เส้นชัย แต่เป็น “หมุดหมายแรก” **
ย้ำอีกครั้งว่า “สมรสเท่าเทียม” ไม่ใช่เส้นชัย แต่เป็นเหมือน “ประตูบานแรก”ที่จะนำไปสู่การสร้างความเท่าเทียมทางเพศของไทย รองประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ รายเดิมบอกอย่างนั้น ด้วยเหตุผลที่ว่า ยังมีกฎหมายย่อยอื่นอีกที่ต้องเดินหน้าต่อ
อย่าง “การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ” ของ “คนข้ามเพศ”ที่เพศสภาพกับเพศกำเนิดไม่ตรงกัน และ “Intersex” กลุ่มคนที่เกิดมาไม่สามารถระบุเพศชัดเจนได้ กับ “Non-binary” กลุ่มคนที่ไม่คิดว่าตัวเองเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งพวกเขาหล่านี้ยัง “ไม่มีกฎหมายมารับรองเพศสภาพ”
และอีกเรื่องที่สำคัญคือ ประเด็นเรื่อง “บุตร” เพราะถึงแม้จะสามารถรับ “บุตรบุญธรรม”มาเลี้ยงได้ แต่ในคู่สมรสเพศหลากหลาย ที่อยากมีลูกของตัวเองจริงๆ ก็ยังมีอุปสรรคชัดเจน
โดยเฉพาะในเคส “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์” เพื่อการมีลูก ซึ่งตอนนี้ยังจำกัดสิทธิ์ให้ใช้ได้เฉพาะ “คู่สมรสชาย-หญิง” เท่านั้น
“ตัวกฎหมายลูกเหล่านี้ ที่มันจำเป็นจะต้องเปลี่ยน เพื่อให้มันมาสอดรับกับกฎหมายที่เปลี่ยนไป”
ทั้ง 2 เรื่องนี้ คือสิ่งภาคประชาชนเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอน “กำลังจะยื่นเรื่องเข้าสภาฯ”อีกครั้ง และนอกจากเรื่อง “การมีบุตร” กับ “การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ”แล้ว....
“กฎหมายอีกตัวนึง ที่ภาคประชนกำลังต่อสู้ ก็คือกฎหมาย ‘ขจัดการเลือกปฏิบัติ’ทุกรูปแบบ ที่มันจะมาช่วยในเรื่องปกป้องสิทธิ์ทุกรูปแบบ นี่รวมคนทุกกลุ่มนะ”
กฎหมายตัวนี้ไม่ได้คุ้มครองแค่กลุ่ม LGBTQ+ แต่เป็นคนทุกกลุ่ม ทั้งแรงงานต่างชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ คนป่วย แรงงานนอกระบบ ฯลฯ เพื่อไม่ให้เจอกับการเลือกปฏิบัติ
นี่คือตัวอย่างของการต่อยอด จาก “สมรสเท่าเทียม”ที่ทำให้สังคมไทย “เปิดกว้าง”และ “ยอมรับ”เรื่อง “ความเสมอภาค” มากขึ้น ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะได้เห็น กฎหมายที่เกี่ยวกับ “ความเท่าเทียม” ในหลายๆ ด้าน ออกมาเปิดใจคนในสังคมมากขึ้น
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **