ทัวร์ 3 ประเทศในปีเดียว แม้ในวันที่ Nu-Metal โรยรา แต่หากใจยังมี “ฝัน” จงลุกขึ้นมาทำ วงดนตรีแนว “Nu-Metal” วงนี้ ประกาศไว้อย่างนั้น บอกเลยว่าป้ายหน้าคือ “เวทีระดับโลก” ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม
**ขึ้นโชว์บนเวที “ตำนาน”**
“Puppets” วงเล็กๆ บนเส้นทางดนตรีสาย Nu-Metal ที่มีสมาชิกแค่ 4 คน แต่พวกเขากลับได้ไปแจกความมัน ออกทัวร์ถึง 3 ประเทศในปีเดียว ทั้งเวียดนาม มาเลเซีย และที่ต้องพูดถึงเป็นพิเศษก็คือ การได้ไปเฉิดฉายบนเวทีที่ “ญี่ปุ่น”
{เฟิส(เบส), เอิร์ธ(ร้องนำ), แคน(กลอง), ปลั๊ก(กีตาร์)}
เจ้าของ riffs กีต้าร์อันดุดันประจำวงอย่าง “ปลั๊ก” พรหมสุเมธ โตวิจิตร เล่าอย่างตื่นเต้นที่ได้ขึ้นเวที “7th Avenue” ที่ Live House ในเมืองโยโกฮามา และนี่คือเวทีเดียวกัน ที่สร้างชื่อให้กับวงระดับตำนานอย่าง “X Japan” วงที่ปลุกกระแส J-Rock ให้ดังไปทั่วโลกมาแล้ว
“ก่อนเขาจะดังเป็นพลุแตก เขาเคยเล่นที่นี่มาก่อนแล้วดังมาก มันคือ Live House ที่เขาเคยเล่นมาก่อน เป็นตำนานของที่นั่นครับ”
{ปล่อยพลังบน "7th Avenue" เวทีที่สร้างชื่อให้ X Japan}
“Live House” คือเวทีที่จัดให้ศิลปินหน้าใหม่ ได้มีโอกาสแสดงผลงานของตัวเอง “เฟิส” สุขธัช ผดุงพงษ์ผู้รับหน้าที่ตะบันเบส บอกว่า การได้ไปฝากฝีไม้ลายมือ บนเวที Live House ของ “ญี่ปุ่น” คือ “ความฝัน” ของเหล่านักดนตรี เพราะมันคือ “โอกาสในการสร้างชื่อ”
“มันเป็นงานใน Live House ที่ญี่ปุ่นเขาจะมีจัดขึ้นเรื่อยๆ เพราะญี่ปุ่นมี Live House ค่อนข้างจะเยอะมาก ในแต่ละเมือง และเราก็ได้มีโอกาสไปเล่นที่เมืองโยโกฮามากับโตเกียว ก็เป็น Live House ที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงอยู่เหมือนกัน”
และนอกจาก “7th Avenue”ใน “โยโกฮามา” ยังมี “Loft X Koenji” ที่ “โตเกียว” อีกหนึ่งเวทีที่พวกจะได้ไปปล่อยของโชว์พลัง “เอิร์ธ” พนชาติ พูลผลผู้ยืนอยู่หลังไมค์ ที่แม้เวลาอยู่กับเวทีเขาจะแผดเสียงว๊ากสุดมัน แต่ตอนนี้เหลือเพียงรอยยิ้ม เพราะนี่เหมือนความฝันที่เขาไม่คิดว่า มันจะเป็นจริงได้
“พวกเรา 4 คนโชคดี เราทำผลงานขึ้นมา ไม่ได้หวังว่ามันจะดัง ต้องประสบความสำเร็จขายได้เป็นล้านวิว พวกเราไม่ได้คิดอย่างนั้น
พวกเราคิดว่า ผลงานที่เราทำเราชอบที่สุด แล้วเราปล่อยมันออกไปครับ เหมือนเราสร้างเรือลำหนึ่ง ให้มันสวยๆ แล้วเราก็ปล่อยไปตามแม่น้ำ เพื่อหวังว่าใครสักคนจะมาเห็น
แต่ความบังเอิญ มันดันลอยไปชนเวียดนาม ลอยไปชนมาเลเซีย ลอยไปชนญี่ปุ่นเนอะ ภายในเวลาแค่ปีเดียว เราได้มีโอกาสได้ไปเล่นตั้ง 3 ประเทศเลย เราก็เลยรู้สึกว่า มันเกินคาดครับ เกินฝันไปเยอะมาก”
ความบังเอิญก็อาจเป็นส่วนหนึ่ง “แคน” ไทยอันน์ สิงหาปัด มือกลองหน้าใส สวนทางกับความหนักแน่นในการเหยียบกระเดื่อง พูดพลางอมยิ้มไปด้วยว่า มันไม่ใช่ดวง หรือโชคชะตา แต่วงพวกเขาก็มีของ มีศักยภาพพอที่จะไปโลดแล่นบนเวทีใหญ่ๆ ได้เหมือนกัน
“พอเราเล่นเสร็จ เราจะเก็บรูปกับคนดู ที่มาดูเราไว้ เหมือนเป็นการเก็บ portfolio ไปในตัว อาจจะมี organizer สักคนมาเห็นรูปพวกนั้น เห็นการ performance ของวงเรา เฮ้ย..วงนี้แม่งมีของว่ะ”
‘วัยทำงานที่มีเป้าหมายเหมือนกัน’ สมาชิกแทบทุกคนล้วน “ทำงานประจำ”ซึ่งไม่ใช่เพื่อเลี้ยงชีพ แต่เพื่อมาเติมเต็มความฝัน บนเส้นทางสายดนตรี “เฟิส”และ “เอิร์ธ” เป็นพนักงานประจำ ส่วน “ปลั๊ก” เองก็รับจ้างทั่วไป มีแค่ “แคน” ที่ยังไม่ได้เป็นมนุษย์เงินเดือน เพราะเพิ่งจะเรียนจบมหาวิทยาลัยมาหมาดๆ
ก่อนหน้าจะเป็น Puppets “เฟิส-เอิร์ธ-ปลั๊ก” ต่างคนก็ต่างเล่นกันคนละวง แนวเพลงก็ต่างกัน แม้จะถูกจัดอยู่ในสาย Metal เหมือนก็ตาม แต่ก็วนเวียนเห็นหน้าเห็นตากันอยู่ ตามงานดนตรีบ่อยๆ
โดยตัวตั้งตัวตีในการสร้างวงก็คือ มือเบสมาดนิ่งกับมือกีตาร์มาดกวนอย่าง “เฟิส” และ “ปลั๊ก” ก่อนจะดึง “เอิร์ธ” เข้ามาจับไมค์ในฐานะนักร้องนำ ส่วนมือกลองนั้น“เอิร์ธ” เล่าว่า มันคือโชคชะตาที่ทำให้ได้มาเจอ “แคน”
“น้องแคนเข้ามาอยู่ในมหา’ลัย(ศิลปากร) ผมตอนนั้น ผมยังเรียนไม่จบอยู่ปี 4 แล้วเจอกับน้องแคน แต่ผมจำเค้าได้จากงานประกวด Hotwave Music Awards เพราะผมเป็นหนึ่งในอาจารย์ที่ได้ไปดูแลวง ที่เข้าแข่งขันตอนนั้น”
น้องคนสุดท้องอย่าง “แคน” ที่พึ่งเข้ามาในวงได้แค่ 4 ปี แต่ประวัติไม่ธรรมดา เพราะเคยประกวด “Hotwave Music Awards 2018” ในนามโรงเรียนสาธิตฯ เกษตร และยังเข้าไปถึงรอบ 38 วงสุดท้าย จากนั้นก็ตัดสินใจเดินในเส้นทางดนตรีต่อที่ “มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะดุริยางคศาสตร์” จนทำให้ได้มาเจอกับ “เอิร์ธ”
และตอนนั้นเองที่รุ่นพี่มหาวิทยาลัยเดียวกันอย่าง “เอิร์ธ” ประกาศหาคนเข้ามารับหน้าที่หวดกลอง เด็กไฟแรงอย่าง “แคน” ก็ไม่รอช้าที่จะรวบรวมผลงานทั้งหมดที่มี ส่งให้รุ่นพี่คนนี้ดู เจ้าตัวบอกเลยว่า ยังจำคำพูดของตัวเองในวันนั้นได้อยู่เลย
“ ‘เฮ้ยเป็นไงบ้างพี skill พอได้ไหม’… พอเห็นผลงานผม พี่เอิร์ธเขาก็เสนอชื่อผมกับพี่เฟิส ตอนผมเจอพี่เอิร์ธที่คณะอีกที เขาก็มาทาบทามผมเลย ผมไฟเขียว ตอบตกลงไปเลย”
**เสียงตะโกนของความเจ็บปวด**
พอได้ยินคำว่า “Metal” หลายคนคิดถึงเรื่อง ปีศาจ ซาตาน เสียงว๊ากน่าหนวกหู แต่หากมองเข้าในเนื้อหาของบทเพลง มันมีอะไรที่ลึกซึ้งมากกว่านั้น โดยเฉพาะดนตรี Nu-Metal ดนตรีสายหนึ่งที่แตกแขนกออกมา เนื้อหาส่วนใหญ่ มักเป็นการ “เสียดสีสังคม”บ้างก็บอกเล่า “ความเจ็บปวดในชีวิต”
และด้วยดนตรีที่เสพง่าย มีการผสมแนวดนตรีหลายแนวทั้ง Hip-Hop, Funk, Pop และความหนักหน่วงแบบ Heavy Metal เข้าด้วยกัน จังหวะที่ได้ยินแล้วต้องโยกหัวตาม ทำให้ดนตรีแนวนี้ฮิตมากในยุค 2,000’s
ในฐานะนักร้องนำและคนเขียนเนื้อเพลงอย่าง “เอิร์ธ” ทำให้เราเข้าใจชาวหูเหล็กมากขึ้นว่า ภูตผี-ปีศาจ อาจจะอยู่ในค่านิยมของ Metal ยุคก่อน แต่ด้วยสมัยนี้เรื่องเหล่านั้นไม่ใช่กระแสอีกต่อไป ตอนนี้เพลง Metal กลายเป็นที่ระบาย ‘ความทุกข์ ความเจ็บปวดภายในจิตใจ’
“อย่างเพลง Standing In The Dark ที่เราปล่อยไป เราเขียนเกี่ยวกับสถาบันครอบครัว ตั้งคำถามว่า ความรุนแรงในสถาบันครอบครัว มันควรมีไหม มันเป็นหนึ่งในการระบายทางจิตใจอย่างหนึ่งด้วยครับ คนที่ทำเพลง Metal ส่วนใหญ่มักจะมีเรื่องนี้อยู่ในจิตใจ ผมเชื่ออย่างนั้น”
แม้ตลอดเวลานักร้องหนุ่มคนนี้ จะมีรอยยิ้มเปื้อนหน้าเสมอ แต่ใครจะรู้ว่าครั้งหนึ่งจิตใจเขาเคย “ดิ่งลงเหว-ชีวิตพัง” แต่ด้วยพลังของดนตรี Metal และมิตรภาพเสมือนพี่-น้อง ที่เกิดขึ้นภายในวง มันก็ทำให้เขากลับมาลุกยืนได้อีกครั้ง
“ช่วงโควิดที่เราพักวงไป แต่ละคนก็อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมๆ อยู่เฉยๆ เหมือนวงหายไปเลยช่วงหนึ่ง เพราะสภาพโควิดมันทำอะไรไม่ได้ ก็เลยยิ่งดาวน์ ยิ่งดาวน์ไป
อย่างผมถือหลายวง แต่เราออกไปทำงานไม่ได้ ก็ทำให้ project แต่ละงานที่ผมทำก็เลยเริ่มล่มไป บางคนก็เริ่มท้อ มันก็เลยทำให้สภาพจิตแต่ละคน ณ ตอนนั้น ห่อเหี่ยว”
เพราะ Puppets ไม่ใช่วงเดียวที่ “เอิร์ธ” ร่วมงาน เขายังมีอีกหลายที่ค่อยบริหารจัดการให้ ในฐานะ “Mix & Mastering” และ “Producer” โควิดไม่ใช่พายุลูกเดียวที่พัดเข้ามาในชีวิตเขา ยังมีมรสุมลูกสองที่ชื่อว่า “งานประจำ”ซึ่งฟังดูก็เหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่มันดันกลายเป็นว่า วงก็ต้องทำงานประจำก็ต้องเดิน
“พอเราได้งานประจำ เราทำชีวิตเราเละเลย เพราะว่าเรา manage อะไรไม่ได้ จะไปส่งงานก็ไม่ได้ งานที่มันควรต้องส่งตอนนั้นๆ ก็ทำไม่ได้ มันช้าทุกอย่างครับ มันเลื่อนไปหมดเลยอะไรอย่างนี้ จนชีวิตตัวเองก็พัง”
การแบ่งเวลาจากงานมาทำวง นั่นคือเรื่องที่ “เอิร์ธ” จัดการไม่ได้เลย และทุกอย่างเริ่มพังจากจุดนี้ หลายวงที่ เคยร่วมงานก็ขอแยกตัว พร้อมทิ้งตราบาปที่เขายังจำฝังใจ...“คนไม่เอาไหนแบบนี้ ใครจะเอามึงเข้าทำงาน”
เหลือก็เพียงพี่น้องในวง Puppets ที่ยังให้โอกาส ด้วยที่ทุกคนในวง ก็มีงานประจำทำเหมือนกัน พวกเขาต่างเข้าใจในสิ่งที่ “เอิร์ธ” กำลังเจออยู่ และพร้อมปรับจังหวะชีวิตให้ตรงกัน
“เราใช้วิธีนั่งเคลียร์ใจกันว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วค่อยๆ ปรับกัน โชคดีที่วง Puppets เขาทำงานประจำกันอยู่แล้วครึ่งวง เรื่องปรับเวลา มันเลยเป็นเรื่องที่คุยกันได้ เดี๋ยวเราผ่อนตรงนี้ให้ เดี๋ยวเราเติมตรงนี้ให้ แต่ได้แค่ระยะนี้นะ มึงต้องไปจัดการเองนะ มึงต้องไปทำใหม่นะ”
“กูช่วยมึงได้แค่นี้ ที่เหลือมึงต้องทำเอง” ประโยคสั้นๆ จาก “เฟิส” มือเบสพี่ใหญ่ของวง ที่เขายังจำได้ขึ้นใจ และประโยคนี้เองที่ทำให้คนที่คิดว่าตัวเองไม่เอาไหนต้องลุกมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง จัดสรรเวลาชีวิตตัวเองให้ได้
หลังจากนั้น “คนไม่เอาถ่าน” ที่ชื่อว่า “เอิร์ธ” ก็ไม่มีอีกแล้ว เขาเป็นคนใหม่ที่จัดลำดับชีวิตได้ แต่คำว่า ‘คนไม่เอาไหน’ ก็ยังเป็นแผลที่สลัดลึกอยู่ในจิตใจ จนยากจะเลือนหาย
“เราก็ยังมีตราบาปอย่างหนึ่งในใจก็คือ เรา manage ตัวเองไม่เคยได้ ทุกวันนี้เราก็ยังรู้สึก ผิดกับเพื่อนๆ รอบตัวอยู่ว่า เราทำอะไรได้ไม่ค่อยดี แต่ในขณะเดียวกัน เราเลือกที่จะเรียนรู้จากมัน เราต้องไม่กลับไปเป็นอย่างนั้นอีก
‘เราเขียนเพลงเพื่อเตือนใจ เพื่อระบายตราบาปของเรา’ มึงเคยเป็นคนที่ไม่ได้เรื่อง ถึงขนาดมีคนตราหน้าว่า จะมีใครเขาเอามึงเข้าทำงาน แต่สุดท้ายเราจะโตขึ้นจากสิ่งที่เราทำ”
Metal ไม่ใช่เพลงที่จะมากระซิบข้างหูคุณ ด้วยเสียงอันอบอุ่นว่า ไม่เป็นไรสู่ต่อไป แต่มันจะเดินเข้ามากระชากคุณออกมาจากมุมห้อง ให้ได้เห็นโลกความเป็นจริงที่ว่า คุณไม่ได้กำลังเผชิญความเจ็บปวดนี้คนเดียว
มันไม่ใช่เพลงที่เต็มไปด้วยสายรุ้ง “ปลั๊ก” นิยามดนตรีของพวกเขาว่า Metal พูดบางอย่างที่มันโหดร้าย เรื่องที่ฝังลึกอยู่ในจิตใจ การแหกปากกู่ร้องตะโกน คือการระบายความอัดอั้น เจ็บปวด ทารมาน ที่มันอัดแน่นในอกให้ออกไป
“พอคนฟังที่มีความรู้สึกเดียวกับเรา เขาจะเข้าใจความรู้สึกที่เราต้องการจะสื่อ แล้วบางทีเขาก็อาจจะเป็นเหมือนเราด้วย กูก็เจ็บปวดเหมือนมึง อะไรแบบนี้”
{ "Metal" ประกาศแห่งความเจ็บปวดในจิตใจ}
**ไม่มีค่าย แต่มีฝัน**
การได้ไปโชว์ที่ญี่ปุ่น แม้มันจะเป็นก้าวเล็กๆของวง แต่มันคือเชื้อไฟอย่างดีให้พวกเขายังเดินหน้าตามฝันต่อ บนถนนดนตรีที่ชื่อว่า Nu-Metal ถึงแม้วันนี้มันจะไม่ใช่ดนตรีกระแสหลักที่คนนิยม
ภาพฝันของ “ปลั๊ก” คือวันนึงเขาอยากขึ้นไปโชว์ riffs กีตาร์บนเวทีระดับโลกอย่าง Wacken Festival หรือ Download Festival “แคน” พูดแทรกพร้อมเสียงหัวเราะว่า ถ้าเท้าได้ไปยืนบนเวทีระดับนั้น...“ชีวิตผมก็ตายตาหลับแล้วครับ”
แต่การไปยังเวทีระดับนั้นมันยาก “เอิร์ธ” บอกถึงความจริงที่ “ศิลปินไม่มีค่าย”ต้องยอมรับ ทุกอย่างต้องทำกันเอง
“ออกเงินกันเอง ติดต่อกันเอง” โอกาสที่จะไปถึงแถบจะไม่มี แต่ก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ มันยังพอมีแสงสว่างเล็กๆ หากเราพยายามมากพอ โอกาสก็จะมาเอง เหมือนที่พวกเขาได้ไปโชว์ที่ญี่ปุ่น
“อันนี้พูดตรงๆ พวกเราไม่ได้มีผู้จัดการ พวกผมทำกันเองโดยที่เริ่มจาก 0 เลยครับ หาร้านเอง หาที่พักเอง รวมถึงหาเงินไปกับเองด้วยครับ
ก็อยากเป็นตัวแทนของ ศิลปินที่ไม่มีค่ายมา support ว่า พวกนายเองก็ทำได้เราเองยังทำได้เลย”
เมื่อทุกอย่างต้องทำเอง คำว่า “ท้อ” มีบ้างหรือเปล่า? “ปลั๊ก” ตอบแบบยิ้มๆว่า “ท้อไม่เคยมีนะ”ถ้าเป็นเรื่องการทำเพลง คิดแต่ว่าเมื่อไหร่จะได้อัดเพลงใหม่มากว่า และด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้ การอัดเพลงเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องใช้เงินเยอะเมื่อแต่ก่อน
“เรื่องการทำเพลง จะไม่ค่อยมีปัญหาเหมือนเมื่อก่อน ที่บางคนอาจจะต้องไปเช่าสตูดิโอ ซึ่งต้องใช้เงินเยอะ แต่สมัยนี้ มันมีพวกโปรแกรมที่ช่วยทำให้สะดวกขึ้น แล้วก็คุณภาพค่อนข้างดีครับ”
“เอิร์ธ” นักร้องนำเสริมต่อจากมือกีตาร์ว่า หากเริ่มต้นจาก “สิ่งที่ชอบ”คำว่า “ท้อ”ก็จะไม่มีถ้ามีอารมณ์นั้นเมื่อไหร่ ก็เอาไปลงกับการเขียนเพลง ระบายความรู้สึกนั้นออกไปให้เร็วที่สุด...“เล่นให้มันสนุก แล้วจดจ่อ แค่นั้นพอ อย่าไปคิด อย่าไปสนเรื่องดรามา”
เรื่องออกเงินเองนี่ ก็เป็นเรื่องธรรมดาของศิลปินไม่มีค่ายทุกคนต้องเตรียมใจอยู่แล้ว เมื่อเข้ามาบนเส้นทางนี้ ทุกสิ่งที่คุณเจอมันมีค่าใช่จ่ายที่ต้องออก
“อาชีพศิลปิน คือเมื่อไหร่ที่คุณมีค่าย โอเค คุณมีบ้านอยู่แล้ว คุณมีนายทุนช่วย คุณมีอะไรต่างๆ ช่วย support อันนั้นแหละ อาจทำให้เราสบายใจได้ แต่ถ้าเป็นศิลปินเริ่มต้น อย่างไงก็ต้องมีค่าใช่จ่ายก่อนอยู่ดีนั้นแหละ”
ตอนนี้ Metal ไม่อยู่ในกระแสหลักเหมือนพวกเพลง Pop หรือ Pop-Rock ซึ่ง “ปลั๊ก” บอกว่ามันก็ไม่หายไปเลย แต่ถามถึงโอกาสที่เพลงแนวที่จะเติบก็คงยาก... “จริงๆ ทุกจังหวัดก็จะมีกลุ่ม Metal เล็กๆ ให้เราไปเล่นอยู่ครับ”
และเรื่องนี้เอิร์ธก็มองว่า ไม่ได้เกี่ยวกับพฤติกรรมการฟังเพลงของคนไทย เพราะกระแสของดนตรีมันเปลี่ยนแปลงไปตลอดอยู่แล้ว แม้โลกทุกวันนี้เปิดกว้าง แต่พื้นที่การแสดงของศิลปินหน้าใหม่กลับน้อยลงไปเรื่อยๆ
“สิ่งหนึ่งที่มันไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ พื้นที่โชว์ตัวครับ ในทางกลับกันมันกำลังหายไปแล้วด้วยซ้ำ เริ่มมีร้าน music ปิดตัวลงด้วยสภาพเศรษฐกิจ มันเริ่มหายไปเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน สื่อทางออนไลน์ algorithm ก็เริ่มโหดร้ายขึ้นเรื่อยๆ มันก็กลายเป็นว่าการโชว์ตัว มันเริ่มไม่มีให้ใครเห็นเท่าไหร่ ผมเลยคิดว่า ตรงนี้มันสำคัญมากกว่าพฤติกรรมการเสพสื่อ เพราะพฤติกรรมการเสพสื่อ มันบังคับกันไม่ได้อยู่แล้วครับ”
‘Algorithm มันโหดร้าย’ เพราะโลกออนไลน์ที่ดูเหมือนจะกลายเป็นพื้นที่ใหม่ ของศิลปินได้ออกมาปล่อยของ โชว์ความสามารถ แต่เราอย่าลืมว่า algorithm มันก็จะแสดงเฉพาะเรื่องที่เราชอบ หรือกำลังเป็นกระแสเท่านั้น
เพราะงั้นมัน เป็นอะไรที่ยากมาก ที่คนจะได้ยินได้ฟัง ศิลปินหรือแนวเพลงใหม่ๆ ที่มันอยู่นอกกระแส Pop Culture และนี่คือสิ่งที่ศิลปินในยุคนี้กำลังเผชิญ
**ที่มาของกลิ่นอายแบบยุค 2,000’s**
เพลงของ Puppets หากใครได้ลองฟัง ก็จะพบกลิ่นอาย ทั้ง Riff กีต้าร์ จังหวะกลอง การเดินไลน์เบส หรือแม้สุ้มเสียงในการร้อง ที่ชวนให้นึกถึงดนตรีในยุค 2000 ปีที่เรียกได้ว่า คือจุดสูงสุดของดนตรี Nu-Metal
ในฐานะมือเบส ต้นแบบของ “เฟิส” ที่ทำให้ Puppets มีกลิ่นอายที่ฟังแล้วคุ้นหูแบบนี้ จะเป็นใครนอกจาก ป๋า Fieldy มือเบสจากวงดนตรีที่เป็น หัวหอกและผู้รันวงการ Nu-Metal ในยุคแรกๆ อย่าง Korn
ส่วนเจ้าของเสียงว๊ากอย่าง “เอิร์ธ” วงที่ทำเขากลายมาเป็นชาวหูเหล็ก คือ Slipknot แม้จะยังไม่เข้าใจความหมายในเนื้อเพลง แต่เมื่อโตขึ้นแล้วได้เข้าเรียนในสายดนตรี จึงเริ่มเข้าใจเนื้อหา ที่ช่อนอยู่ใต้ท่วงทำนอง ซึ่งมันมีอะไรมากกว่าเสียงว๊ากน่าหนวกหู
“เราชอบมากเลยอะไรแบบนี้ ก็ฟังมา จนโตขึ้นมาแล้วได้เรียนในสายดนตรี ทำให้ตกผลึกถึงเบื้องหลังดนตรี แล้วก็กลับไปฟังวงที่เราชอบตอนเด็กๆ เลยได้รู้ว่า กระบวนการคิดของพวกเขาไม่ได้ธรรมดานะ มันล้ำสมัยมากสำหรับคนยุค 2,000’s ยุคนั้น”
ส่วน “ปลั๊ก” เองก็เป็นอีกหนึ่งคน ที่โตมาใน Nu-Metal เฟื้องฟู ทั้งไทยและเทศ เช่น กล้วยไทย , Ebola และ แมว (จิรศักดิ์ ปานพุ่ม) แต่หลักๆที่ทำให้เขาหลงใหลมัน คือ “ความหลากหลาย”ที่ Nu-Metal สามารถเป็นได้
“จริงๆ Nu-Metal ข้อดีของมันคือ สามารถแตกแขนงได้เยอะมาก ในการทำเป็นเพลง Nu-Metal ไม่ใช่แค่ Rap, Rock บางวงอย่าง Evanescence ก็มี gothic ผสมพวก symphony อะไรที่แบบให้มันดูอลังการขึ้น แต่ก็ยังคงเป็น Nu-Metal อยู่เหมือนเดิน ความหลากหลายมันเยอะครับ”
น้องเล็กอย่าง “แคน” ที่ในตอนแรกยังไม่รู้จักวง Metal มากนัก และแน่นอนไอดอลของมือกลองหลายคน คงหนีไม่พ้น “กานต์- Potato” หรือ “ชัช-Bodyslam” ที่มีเอกลักษณ์ในเล่น ทั้งความเร็วและความหนักหน่วง แต่หลังจากเข้าวงก็ถูกป้ายยา-คายตะขาบจากพี่ๆ ทันที
“พอเข้าวงมาปุ๊บ ผมก็เลยเริ่ม ฟังเพลง Metal ของสากลเรื่อยๆ ตามที่พวกพี่ๆ เขาแนะนำมา เพราะผมก็ไม่เคยฟัง ผมก็ถามเขา
แล้วหลังๆ มา ผมจะอินกับเพลงของพวก Bring me the horizon หรือว่า Slinknot ที่มีองค์ประกอบ ของกลองที่มันน่าสนใจ คือถามว่าตีได้ไหม คือยังตีไม่ได้ขนาดนั้นหรอก
แต่ว่ามันทำให้ผมอินแล้วก็มีความหลงใหลในเพลง Metal ไปเรื่อยๆ เพราะรู้สึกว่า ความเป็นเพลง Metal ที่แบบ กระเดื่องของกลองเล่นโน้ต Unison กับกีต้าร์ ฟังแล้วรู้สึกว้าว เขาเล่นกันได้อย่างไงวะ”
**อย่ารอ มีฝัน-ทำเลย!! **
“เรารู้สึกว่า เราล้มเหลวครับ” เอิร์ธเล่าประสบการณ์ที่ชีวิตพัง เพราะบริหารชีวิตตัวเองไม่ได้ เคยมีสิ่งที่อยากทำหลายอย่าง แต่ก็ไม่สำเร็จสักอย่าง จนสภาพจิตใจย่ำแย่ แต่สิ่งที่ทำให้เขาอยู่ได้คือ “ความฝัน“
ฉะนั้น ถ้ามีความฝัน “ทำเลย อย่ารอ”เพราะเขาเคยรอมาแล้ว ถ้าปล่อยเวลาให้ผ่านไป ความฝันนั้นก็จะหายไปด้วย และการจะกลับมาเริ่มมันอีกครั้ง จะเป็นเรื่องที่ยากมาก แล้วสุดท้ายก็จะกลายเป็นว่า เราไม่กล้าทำอะไรสักอย่างเลย
“นั่นเลยเป็นผลที่ว่า ทำเลย ถ้านายคิดว่าความฝันนั้น มันเริ่มจากตรงไหนได้ก่อน ลองทำก่อน ได้-ไม่ได้ ไม่เป็นไร สำเร็จ-ไม่สำเร็จ ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อย เราทำอย่างนี้ โลกจดจำเราแน่ๆ ว่าเราเคยทำอะไร”
พี่ใหญ่อย่าง “เฟิส” เองก็บอกว่า การได้ไปควงเบส แจกความมันส์ในประเทศญี่ปุ่น ถือว่าฝันเขาสำเร็จไปแล้วส่วนนึง และใครจะเชื่อว่า สิ่งจุดประกายไฟดนตรีของชายคนนี้ มันมาจาก “มังงะ”
อย่างเรื่อง “NANA”และ “BECK” กับฉากที่ตัวเองของเรื่อง ได้ไปโลดแล่นบนเวที Live House จากความประทับใจของการ์ตูนในวัยเด็ก มันกลายเป็นแรงผลักดัน ให้เขาเดินตามความฝันนี้ แม้มันจะยากสักแค่ไหนก็ตาม
“มันก็ยากแหละ แต่ผมคิดว่า เราจะทำได้หรือไม่ได้เนี่ย ก็ลองให้มันสุดๆ ไปเลยครับ อย่างน้อยถึงมันจะไม่ได้ เราก็ทำเต็มที่แล้ว
วันนี้ก็ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของผม ที่ได้มีโอกาสได้ไปทำตามความฝันของตัวเองนะครับ เพราะฉะนั้น ก็อยากจะบอกทุกคนว่า ถ้าคุณมีความฝัน แล้วคุณคิดว่ามันเป็นไปได้ ก็อยากให้ลองทำ”
มือกลองอย่าง “แคน” บอกว่า เขามีสิ่งที่อยากเป็นหลายอย่าง ตอน ม.ปลาย เคยอยากเป็นนักฟุตบอล แล้วก็ได้มีโอกาสไปเตะบอล ใน “Thai Youth League” ลีกฟุตบอลเยาวชน แต่มาอีกหน่อยก็อยากเป็นนักดนตรี จากหนังเรื่อง “ซักซี้ด ห่วยขั้นเทพ”ก็ชวนเพื่อนไปประกวด “Hotwave”
“ความฝันมันขึ้นอยู่กลับ ช่วงเวลาด้วยมั้ง แต่อย่าเลิกฝัน ฝันไว้ก่อน skill เราอาจจะไม่ถึง แต่เราเองมีหน้าที่ที่ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมเสมอ เราต้องเป็นเหมือนขันที่แบบพร้อมจะรับน้ำจากทุกที่ ที่ถูกสาดมา”
“จริงๆ ผมก็ผ่านมาหลายวง ล้มลุกคลุกคลานมาเยอะ กว่าจะถึง Puppets “ปลั๊ก” มือกีต้าร์ บอกถึงแรกผลักที่ทำให้เขาไม่เคยท้อ คือการได้ไปยื่นเล่นกีต้าร์บนเทศกาลดนตรีระดับโลก ให้เหมือนกันฉากในการ์ตูน ที่เขาเคยอ่านในวัยเด็กเหมือนกับ “เฟิส”
“ก็จริงๆ ถ้าใครมีความฝัน ก็แนะนำครับ คือ ทำเลยครับ พยายามครับ ไม่ว่าคุณจะล้มเหลวยังไง ทำลองทำก่อนทำไปเรื่อยๆ
ต่อให้คุณล้มเหลว แล้วคุณท้อมาก คุณอาจจะพักแป๊บนึงก่อน เก็บ energy ไว้ก่อน อย่าเพิ่งทิ้งมันไป แล้วก็ลองดูหนทางอื่นบ้างว่า มันมีเส้นทางไหนให้ไปได้อีก แล้วเราก็ลองทำ”
**Cover คนอื่น สู่เพลง Original ตัวเอง** “เอิร์ธ” อธิบายว่า มันเริ่มจากความหลงใหลของพวกเรา ที่ชอบดนตรีแนว Nu Metal ซึ่งจริงๆ วงนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อ Cover เพลง Nu Metal ยุค 90s-2000s อย่างพวก Linkin Park , Korn , Limbizkit , Slipknot แนวๆ นี้ “พอเหมือนกับว่ามันไประยะหนึ่งแล้ว นะครับ ทางวงก็เริ่มมีใจอยากจะทำเพลง แล้วก็เกิดเพลงแรก ชื่อเพลง bully เป็นเพลงที่เขียนเกี่ยวกับต่อต้านกระแสการบูลลี่ครับ “เริ่มสนุก” มือเบสอย่าง “เฟิส” เล่าว่า เพลงแรกมันเกิดจากการแจมสดๆ กันในห้องซ้อม ที่จู่ๆ “ปลั๊ก” ขึ้นไลน์กีต้าร์ ทุกคนก็ตามจังหวะไป นักร้องก็ร้องสดไปเรื่อยๆ เพื่อหา melody... “เลยคิด เออเราก็ทำกันได้เนอะ พอทำไปก็เริ่มสนุก มีเพลงที่ 1 เพลงที่ 2 ตามาเรื่อยๆ อะไรแบบนี้ครับ” ทลายภาพจำ วงนี้มีดีแค่เล่น cover เอิร์ธบอกว่า จริงๆ วง Puppets มี 2 เวอร์ชันเวลาแสดงสด คือเล่นเพลงของตัวเองทั้งหมดเลย กับเล่นเพลง cover แต่ด้วยตอนแรกวงเล่น cover เพลงเป็นหลักทำให้ คนดูจำว่า Puppetsเล่นแต่เพลงคนอื่น “ซึ่งจริงๆ แล้ว เรามีเพลงที่ทำเก็บไว้เยอะมาก อยากที่บอกเรามีเพลงใหม่เล่นสด อยู่ตลอดเวลานั่นแหละครับ มันเกิดจากตรงนั้น มีคนชวนเราไปเล่นมากขึ้น “เพื่อจะได้เอาไปเล่นตามงาน festival ที่มันต่างออกไป” ต้องมีเพลง original เพื่อก้าวต่อไปในเวทีที่ใหญ่กว่า “แคน” มือกลองเสริมว่า ในบางงาน เขาไม่ให้วงดนตรีเล่นเพลง cover “ต้องเล่นเพลงของตัวเอง” ตรงนี้เองเป็นอีกหนึ่ง แรงผลักดันให้พวกเขาต้องออกเพลงใหม่มาเรื่อยๆ |
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : นนทัช สุขชื่น
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : Facebook “DarkXenon Photography”, “Puppets”
ขอบคุณสถานที่ : ห้องซ้อม "WHITE HOUSE MUSIC" (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ)
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **