แฉ!! “ตระเวนเบิกยา” ตามโรงพยาบาล “มาขายต่อ” จาก “สิทธิบัตรทอง 30 บาท” สะท้อนช่องโหว่ระบบ เบิกแล้ว-เบิกอีก ไม่ผิดสังเกตได้ไง หรือหน่วยงานไม่เช็กข้อมูล?
** ทำกันนานแล้ว แต่ไม่เป็นข่าว **
เป็นเรื่อง เมื่อเพจดังแฉว่า มี “คุณแม่”รายหนึ่ง ตระเวนใช้สิทธิ์ “30 บาทรักษาทุกที่” เบิก “ยาพ่นจมูก”ของลูกชาย แล้วนำไปโพสต์ “ขายต่อ”บนโลกออนไลน์
สะท้อนช่องโหว่จากคุณสมบัติสิทธิบัตรทอง 30 บาท ซึ่งสามารถ “รักษาได้ทุกที่”โดยใช้บัตรประชาชนแค่ใบเดียว
โดย “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)”บอกว่า ตอนนี้รู้ตัวคนทำแล้ว อยู่ในขั้นตอน “ดำเนินการทางกฎหมาย” เบื้องต้นคือการแจ้งความฐาน “ฉ้อโกง”
ล่าสุด “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี”เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกมาแถลงว่า ในปี 67 สปสช. พบว่า มีเคสเบิกยาผิดปกติแบบนี้อีก และจ่อจะเอาผิดอีก 3 ราย
รายแรกเป็นชาย มีการเบิกยาไป “118 ครั้ง” จากโรงพยาบาล “31 แห่ง”คนที่ 2 เป็นหญิง ตระเวนเบิกยาใน “14 โรงพยาบาล”จำนวนกว่า “98 ครั้ง” และคนที่ 3 ผู้ใช้บริการหญิงคนสุดท้าย เบิกยาไป “30 ครั้ง”ในโรงพยาบาลถึง “8 แห่ง”
จากข้อมูล รายที่ 2 กับ 3 มี “นามสกุลเดียวกัน” น่าเป็นญาติกัน ตระเวนรับยาในกลุ่มเดียวกัน ตามพื้นที่โรงพยาบาลใน “ภาคอีสาน” และ “ภาคกลาง”
เลขาธิการ สปสช. บอกว่า คนเหล่านี้มักเข้าไปเบิกยาจากโรงพยาบาลในช่วงฉุกเฉิน ซึ่งหมอก็ต้องรีบให้บริการอย่างรวดเร็ว ทำให้ตรวจข้อมูลได้ไม่ละเอียด ซึ่งตอนนี้ได้มีการ “ทำระบบแจ้งเตือน” ไปยังโรงพยาบาลแล้ว
“เมื่อโรงพยาบาลใช้บัตรเสียบเข้าไป ถ้ามีคนใดที่อยู่ในขอบข่ายที่ว่า ในรอบปีที่ผ่านมา เบิกยาบางตัวเกินกว่าความจำเป็น เราจะส่งสัญญาณไปที่การเสียบบัตรประชาชนด้วย”
“เบิกยา 30 บาท มาขาย” เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว นี่คือข้อมูลที่ทีมข่าวได้มา จากนักวิชาการที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรงอย่าง “ดร.ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว”หัวหน้าฝ่ายวิจัย มูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) จนมีคำเรียกการกระทำแบบนี้ว่า “ช็อปปิ้งยา”
“มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต จริงๆ มันก็ยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้มาพูดออกสื่อ แต่มีการแจ้งจับ มีการดำเนินคดีไปแล้วนะคะ ในส่วนของคนที่กระทำความผิด”
โดยนอกจากความผิดเรื่อง “ฉ้อโกง” แล้ว ยังมีความผิดที่เกี่ยวกับ “พ.ร.บ.ยา มาตรา 12” ฐาน "ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต"ต้องระวาง “โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี” และ “ปรับไม่เกิน 10,000 บาท” อีกด้วย
{“ดร.ภญ.ปฤษฐพร” หัวหน้าฝ่ายวิจัย นโยบายด้านสุขภาพ}
** ข้อมูลมี แต่ขาด “แจ้งเตือน” **
“การตระเวนเบิกยา” ตามโรงพยาบาลแบบนี้ เกิดขึ้นได้ยังไง? ทั้ง “ความถี่” ที่เข้ามาใช้สิทธิ์ กับ “จำนวนยา” ที่เคยรับไป ใครเห็นก็ต้องสงสัย หรือเป็นเพราะในบ้านเมืองเรา ไม่มีระบบการส่งต่อข้อมูลกันระหว่างโรงพยาบาลที่ครอบคลุมเพียงพอ?
เกี่ยวกับเรื่องนี้ หัวหน้าฝ่ายวิจัยรายเดิมอธิบายว่า “โรงพยาบาล” ในสังกัดของ “กระทรวงสาธารณสุข” มีการเชื่อมต่อข้อมูลผู้ป่วยกันอยู่แล้ว ระหว่างโรงพยาบาล ซึ่งจะมีข้อมูลอยู่ 2 ชุด
คือ “1.ข้อมูลการเข้ารับบริการ” ของโรงพยาบาลนั้นๆ กับ “2.ข้อมูลที่ต้องไปเบิกจ่าย สปสช.” ที่ว่า คนไข้คนนี้มารักษาโรคอะไร ได้ยาอะไรไปแล้วบ้าง
“ในชุดข้อมูลส่วนที่ 2 อะค่ะ มันมีความพยายาม ในการที่จะส่งชุดข้อมูลนี้ เป็นรายวัน”
แต่ด้วย “จำนวนคนไข้” ที่เยอะมากต่อวัน บวกกับ “การตรวจสอบ” ความถูกต้องของข้อมูล ก่อนที่จะส่งเบิก “สปสช.” ก็เลยทำให้การส่งข้อมูลชุดนี้ไปยังโรงพยาบาลต่างๆ ล่าช้า
“ดังนั้น ถ้าสมมติว่า เขามาซ้อบปิ้ง (เบิกยาไปขาย) ที่โรงพยาบาล A, B, C ในวันเดียวกันเนี่ย โรงพยาบาลเองเขาไม่มีทางจะรู้ได้ เว้นแต่ว่า สปสช. คนที่เก็บข้อมูลโดยรวม จะทำระบบเพื่อแจ้งเตือนโรงพยาบาล”
ข้อมูลมีการส่งต่อกันแล้ว แต่สิ่งขาดไปคือ “ระบบแจ้งเตือนความผิดปกติ” ในการรับบริการ ซึ่งก็ไม่ใช่ทำแค่การแจ้งเตือนอย่างเดียว ต้องมี “นโยบายเพิ่ม” ด้วยว่า “หากพบความผิดปกติ โรงพยาบาลควรทำยังไง”
เพราะ “ดร.ปฤษฐพร” บอกว่า ตอนนี้ต่อให้มีระบบแจ้งเตือน แต่ตามกฎหมายแล้วโรงพยาบาล “ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธการรักษา” หรือ “จ่ายยา” ดังนั้น “สปสช.” หรือ “กระทรวงสาธารณสุข” ก็ต้องออกระเบียบด้วยว่า...
“ถ้าในกรณีที่คนไข้ มีการกระทำความผิด หรือมีการเบิกจ่ายผิดปกติ โรงพยาบาลอาจจะสามารถสงวนสิทธิในการให้บริการได้”
แต่จะสงวนการให้บริการ ก็อาจต้องตั้งหน่วยงานแยกออกมา เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการเข้ารับสิทธิ 30 บาท ของแต่ละเคสด้วย เพื่อให้ชัดเจนว่า ความผิดปกติเกิดเป็นการ “จงใจเบิกยาไปขาย” หรือ “คนป่วยมีความจำเป็นอื่นๆ”
เพราะ “หน้างาน” อย่าง “หมอ”หรือ “ห้องจ่ายยา” ไม่มีเวลามากพอ ในการจะวิเคราะห์ข้อมูลพวกนี้ ด้วยจำนวนคนใช้บริการที่เยอะมาก ทำให้มีเวลาเช็กข้อมูลผู้ป่วยได้ไม่เกิน 5 นาทีต่อคน เท่านั้นเอง
“ไม่อย่างนั้น สมมติเขาเกิดเจ็บป่วยจริง แล้วถูกปฏิเสธอะค่ะ อาจจะโดนฟ้องร้องในทีหลังได้”
นอกจาก “ภาครัฐส่วนกลาง” ที่ต้องเป็นฝ่าย “ออกแบบระบบ” กูรูรายเดิมมองว่า “ประชาชน” เอง ก็ต้องช่วยกัน ไม่กระทำผิดกฎหมายแบบนี้
เพราะอาจทำให้การเข้าถึง “สิทธิบัตรทอง 30 บาท” มัน “ยากขึ้น” จากกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น ที่ออกมาเพื่อปิดช่องโหว่เหล่านี้
“การที่จะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ 1.ต้องมีระบบ automation ให้คนทำงานหน้างาน สามารถรู้สถานะของคนไข้คนนั้นๆ ได้ 2.จิตสำนึกของประชาชนในสังคม ว่าสิ่งที่ทำอยู่เนี่ย มันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **