xs
xsm
sm
md
lg

50+ ยังเก๋า!! “ป้าน้อย Tattoo” เริ่มต้นจากศูนย์ สู่ช่างสักมือรางวัลระดับประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจ “ป้าน้อย Tattoo” ช่างสักสุดเปรี้ยวกับเส้นทางสุดพลิกผัน จากเจ้าของร้านชำ สู่ช่างสักนักล่ารางวัลไม่น้อยกว่า 30 งาน การันตีด้วยรางวัลระดับประเทศ พร้อมเผยรอยสักแรกในวัย 50+ “ศิลปะบนร่างกายไม่ได้บอกว่าคนจะไม่ดี เป็นสิ่งสวยงามซะด้วยซ้ำ”

ช่างสักน้องใหม่ ในวัยเลข 4

“ช่างสักเป็นงานที่ดูสบาย แต่ก็ไม่สบายนะคะ เพราะว่าด้วยการนั่งนานด้วย ใช้สายตาด้วย ใช้สมองด้วย ก็เหนื่อย ก็เครียดเหมือนกัน เพราะฉะนั้น อย่าโหมงานหนักมากค่ะ ก็จะทำไปจนทำงานไม่ไหว อายุเท่าไหร่ไม่รู้นะ (ยิ้ม)”

ช่างสักหญิงสุดเท่ ผู้กำลังโชว์ฝีมือการสักอย่างคล่องแคล่วผู้นี้ คือ “จินตนา ฉิ่งเล็ก” วัย 53 ปี หรือ “ป้าน้อย” แห่งร้าน “ป้าน้อย Tattoo” ที่คนในวงการสักรู้จักเป็นอย่างดี เธอได้ฝากผลงานในการประกวดการสักมาแล้วไม่ต่ำกว่า 30 งาน และแน่นอนว่า ทุกเวทีที่ลงแข่ง เป็นต้องได้คว้ารางวัลติดมือกลับมาบ้านแทบทุกครั้ง

แต่ก่อนที่จะพาตัวเองมาถึงจุดนี้ได้ ชีวิตก็เต็มไปด้วยมรสุม อย่างการเริ่มต้นใหม่กับอาชีพช่างสักในวัยเลข 4 ทั้งที่ความรู้เป็นศูนย์ แถมยังต้องสู้กับช่างสักคลื่นลูกใหม่ที่เกิดขึ้นทุกวัน ยังไม่รวมถึงปัญหาครอบครัวที่ต้องแก้ไข แต่ผู้หญิงคนนี้ก็ฝ่าฟันมาได้ จนกลายเป็นช่างสักหญิงที่ได้รับการยอมรับเบอร์ต้นๆ ของวงการ



ย้อนกลับไปในตอนแรก เดิมทีเธอหลงใหลในการวาดภาพมาตั้งแต่เด็ก เรียนจบมาก็ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ แต่เมื่อมีครอบครัว ก็ต้องกลายมาเป็นแม่บ้าน ไปพร้อมกับการค้าขายด้วยการเปิดร้านชำ

“ตั้งแต่เด็กก็ชอบวาดรูป เลือกที่จะเรียนศิลปะ เรียนไทยวิจิตรฯ แล้วก็มาต่อเพาะช่าง จริงๆ ศิลปะป้าชอบอยู่แล้ว พ่อแม่สมัยก่อนยุคโน้น ก็จะไม่อยากให้ลูกเรียนศิลปะ เพราะเขาก็ไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอาชีพอะไรได้บ้าง ก็ไม่ให้เรียนหรอกแต่ป้าก็อยากเรียน ไม่สนับสนุนนะ แต่ตอนนี้เขาก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าจริงๆ ศิลปะมันก็เป็นอาชีพได้เหมือนกัน

ป้าจบเพาะช่างก็ไปทำงานออฟฟิศอยู่ฝ่ายศิลป์ค่ะ ก็ทำพวกออกแบบ พวก Art Work ไม่มีคอมพ์ฯ (หัวเราะ) ป้าทำตั้งแต่ยังใช้มือวาดอยู่ ก็ทำฝ่ายศิลป์เป็น 10 ปีเหมือนกัน

ทีนี้พอมีครอบครัว มีลูก ก็กลายเป็นแม่บ้าน แล้วก็เลี้ยงลูกเอง อาจจะขายของชำบ้าง ก่อนร้านชำก็เปิดร้านเหล้า ก็ทำหลายอาชีพเหมือนกัน ก็ไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ใช่เกี่ยวกับศิลปะ ก็น่าจะสักประมาณเกือบ 10 ปีได้ที่ไม่ได้วาดรูปอีกเลย

ร้านนี้เมื่อก่อนเป็นร้านขายของชำมานานอยู่นะ แม่ป้าขายอยู่ค่ะ แต่ว่าแม่ก็เลิกไปแล้ว ไม่ขายแล้ว แต่ตอนนั้นคิดว่าเหมือนร้านชำของเรามันไปไม่ได้แล้ว เพราะว่ามีเซเว่นมา มีอะไรอย่างนี้”


[ ป้าน้อยเมื่อครั้งยังสาว ]

แต่แล้ว... เส้นทางชีวิตก็พาเธอหวนกลับมาสู่งานศิลปะที่รักอีกครั้ง เนื่องมาจากเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ร้านชำที่เคยเลี้ยงชีพมีเหตุให้ต้องปิดตัวลง ประกอบกับลูกสาวก็ยังเล็ก ป้าน้อยจึงจำเป็นต้องรีบหาอาชีพใหม่

บทชีวิตพลิกหน้ากระดาษใหม่อีกครั้ง กับอาชีพช่างสักที่เริ่มต้นในวัย 43 ปี แม้จะมีทักษะการวาดภาพ แต่การมาเป็นช่างสักนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กลายเป็นว่าทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์

“คุยกับอดีตสามีว่าทำอาชีพอะไรดี ก็อาจจะคิดด้วยว่าลองสักดูดีกว่า แต่เมื่อก่อนป้าไม่เคยสักนะ ไม่คิดจะสักที่ตัวด้วย แต่อาจจะเป็นเพราะว่างานสักมันเป็นศิลปะ เป็นวาดรูป อาจจะทำได้ในสักวันนึง

การเริ่มต้น ส่วนใหญ่ช่างสักเขาจะเริ่มกันสิบยี่สิบอะไรอย่างนี้เนอะ ก็คิดว่าไม่น่าจะทำได้เพราะว่า 40 กว่าแล้ว เริ่มช้ามาก มีลูกด้วยอะไรด้วย แต่เพราะว่าจำเป็นต้องหาอาชีพอะไรสักอย่างตอนแรก ก็เลยทำมาเรื่อยๆ พูดตรงๆ ก็คือจำเป็นนั่นแหละที่จะต้องทำ ถ้าไปทำอาชีพอื่นป้าไม่รู้นะ ข้าวมันไก่อาจจะโอเค แต่อาจจะต้องหาทำเล ต้องเหนื่อยมากกว่านี้

จริงๆ ป้าไม่ได้ไปเรียนนะคะ แต่ว่าอดีตสามีไปเรียนมาแล้วก็มาศึกษากันอีกทีนึง ก็เลยต้องทำความเข้าใจกับเครื่อง ซึ่งสำคัญมาก เครื่องกับการฝึกวาดรูปให้มันดีขึ้น เพราะว่ามันเป็นศิลปะ ปัญหาแรกคือเราไม่เคยเห็นเครื่องสัก เครื่องสักกับดินสอไม่เหมือนกัน ก็ต่างกันเยอะ ดินสอสมมติผิดเราก็อาจจะลบมันได้ แต่จับเครื่องนี่พอสักลงเนื้อแล้วลบไม่ได้แน่นอน



ต้องทำความเข้าใจกับเครื่องสักด้วย เมื่อก่อนจะเป็นเครื่องคอยล์ (เครื่องสักรุ่นดั้งเดิม) หนักๆ เสียงดังๆ แต่ว่าป้ามารุ่นหลังแล้วนะ ถึงกับขนาดรุ่นที่เขาเชื่อมเข็ม ไม่ทันนะคะ ก็ยากเหมือนกัน เพราะว่าเครื่องคอยล์ซึ่งหนักมาก การใส่เข็ม การเปลี่ยนเข็มจะลำบาก แต่ตอนนี้มีเครื่องทันสมัยมาก เป็นเข็มสำเร็จ ดีขึ้น เราก็ต้องปรับตัวเข้ากับเครื่องรุ่นใหม่ๆ อีกด้วย

ลงทุนเยอะอยู่เหมือนกัน หลักหมื่น ถ้าทำร้านด้วยก็หลักแสน แต่ตอนนั้นค่อยๆ ทำ ไม่ได้ทำทีเดียว ถ้าค่าอุปกรณ์ ค่าอะไรก็หลัก 30,000 - 40,000 อยู่ เครื่องสักต้องมีหลายตัว เพราะเราไม่รู้ว่าตัวไหนเข้ากับมือเรา ก็เป็นเป็นการเริ่มต้นที่ยากพอสมควรค่ะ แต่ด้วยจำเป็นนั่นแหละ ต้องมีอาชีพ ก็เลยพยายามทำให้ดีที่สุด แล้วก็ใส่ใจงาน ก็เลยทำได้”

แน่นอนว่าการเริ่มต้นกับสิ่งใหม่เป็นเรื่องยากเสมอ สำหรับป้าน้อยเองก็เช่นกัน แม้จะท้อจนไม่อยากไปต่อ แต่ด้วยความเป็นนักสู้ที่อยากจะเอาชนะใจตัวเอง จนในที่สุดก็สามารถผ่านทุกอุปสรรคไปได้

“พอวันที่ต้องลงคนครั้งแรกก็ตื่นเต้น แล้วมันไม่เหมือนดินสอไง พอลงแล้วอุ๊ย! จะหนักไปไหม อุ๊ย! เลือดจะออกไหม กังวลไปหมด งานแรกก็ทำได้ไม่ดี เพราะว่าพอลงลึกไปก็จะพยายามเอามือขึ้นมา งานก็ไม่ดี เส้นไม่คม อะไรไม่ได้ เลยก็รู้สึกท้อ

(ลูกค้าคนแรก) จำไม่ได้แล้ว (หัวเราะ) น่าจะเด็กๆ แถวนี้แหละ สักให้ฟรี ขอให้เขาเป็นแบบให้เรา เมื่อก่อนเยอะอยู่ ป้าสักฟรีเลยดีกว่า ก็เป็นหลายเดือนนะ แล้วก็เริ่มดีขึ้นนิดนึงก็เริ่มคิดตังค์ไม่เยอะ ก็เริ่มฝึก ทุกคนที่สักให้ก็เป็นครูป้าหมด



ครั้งแรกที่เริ่มต้นจากการลูกค้าเป็นแผล วางงานไม่สวยอะไรอย่างนี้ค่ะ ก็คืออุปสรรคเยอะมาก ท้อนะ ก็คือจะเลิกสักไปหลายรอบแล้วภายใน 2 ปี แต่พอมาอีกใจนึงเราก็ตั้งสติใหม่ว่าจริงๆ เราลองพยายามดูอีกทีว่าเราจะทำได้ไหม เหมือนอยากเอาชนะใจตัวเองนะ ว่าถ้าท้อแล้วจะเลิกไปเลยเหรอ

เราทำลูกค้าเป็นแผล เราก็ต้องคุยกับลูกค้า ยอมรับตรงๆ ว่าเราอาจจะทำได้ไม่ดีวันนั้น ก็คือเลือกที่จะปรับปรุงแก้ไขตัวเอง แล้วก็พยายามทำให้ได้ ต้องลุกขึ้นมาใหม่ อาจจะท้อไปสัก 2 - 3 วัน เดี๋ยววันที่ 3 ลุกขึ้นมาดีกว่า ลองใหม่ลองดูซิว่าเราจะทำได้ไหม ถ้าเราไม่รู้ก็ถามเพื่อนที่เป็นช่างด้วยกันได้หมด

ตอนนั้นป้าก็จำไม่ได้นะว่าฟรีหรือคิดตังค์เขา เพียงแต่ว่าเราก็หาวิธีว่าจะรักษาแผลนั้นยังไง แต่จริงๆ พอผ่านวันนั้นมาได้ เรารู้แล้วว่าบางทีการสักเป็นแผลไม่ได้น่ากลัวเลย ก็มีวิธีของเขาที่ว่าไม่ทำให้เป็นแผลเป็นด้วย วันนั้นประสบการณ์ในการทำงานของเราอาจจะน้อย แต่เดี๋ยวนี้ทำงานส่วนใหญ่จะไม่เป็นแผลแล้ว ก็มีวิธีรักษาโดยที่เราไม่ต้องตกใจขนาดเมื่อก่อนด้วย

งานสักยาก บอกเลย การเริ่มต้นจะยาก แต่ว่าใจเราชอบวาดรูปอยู่แล้ว ได้มาลองสักดูก็ท้อ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าจริงๆ เราก็ทำได้ ถ้าลองอะไรแล้วก็ทำมันไปให้สุด เลยต้องพยายามทำให้ให้มันดีก่อน ถ้าไม่ได้จริงๆ แล้วเราค่อยเปลี่ยน”

ตัวแม่แชมป์ประกวดสัก 30 กว่าสนาม

จากคนที่ไม่เคยรู้จักแม้แต่เครื่องสักในวันนั้น ก็ค่อยๆ พัฒนาผลงานขึ้นมา หลังเก็บประสบการณ์มาได้ 2 ปี ป้าน้อยได้ตัดสินใจเข้าสู่เวทีการประกวดรอยสัก ลองดูสักตั้งว่าฝีมือของตัวเองจะสามารถพารางวัลกลับบ้านได้หรือไม่

“ป้าคิดอย่างนี้ ในวงการสักเราทำงานดี ก็ใช่ แต่ว่ามันจะต้องอาศัยการบอกต่อ การได้เข้าประกวดถ้าสมมติเราได้รางวัล มันก็จะเป็นการการันตีฝีมือเราอย่างหนึ่งว่าเราฝีมือโอเคนะ ลูกค้าก็น่าจะเพิ่มขึ้น

ต้องตัดสินใจว่าทำอะไรก็ได้ ให้รู้ว่าเรามีฝีมือบ้าง ถ้าไม่ไปประกวด คนก็อาจจะรู้จักเราในหย่อมนี้แล้วค่อยๆ บอกต่อ ซึ่งมันอาจจะใช้เวลานานในการหาลูกค้าค่ะ

งานสักในงานประกวดจะมีอยู่ 2 แบบ ก็คือสักสดในงาน ก็คือเขาจะมีโจทย์มาให้ 7 ชั่วโมง สมมติเริ่มงาน 11.00 น.เลิก 19.00 น. ขนาด A4 ขึ้นไปอะไรอย่างนี้ แล้วก็เป็นงานสีหรือขาวดำ เขาก็จะแยกประเภทกันไป ก็คือต้องจบในงาน

แล้วก็จะมีอีกประเภทนึงก็คือทำงานไปแล้ว งานลอกหมดแล้ว ประเภทงานก็เยอะ จะมี Minimal Small Job เต็มหลัง เต็มแขน งานสี งานญี่ปุ่น ก็แยกประเภทไปอีก คืองานต้องลอกเสร็จเรียบร้อยแล้ว หมายถึงไม่ใช่วันนี้สักเสร็จแล้วไปประกวด อาจจะเดือนนึง ให้งานลอกสวยงาม ไม่มีสีด่างสีอะไรอย่างนี้ค่ะ

(ทำงานสัก) ประมาณ 2 ปีค่ะ ป้าก็เอาลูกค้าไปประกวด ลูกค้าเป็นนักร้องผู้หญิง ลองดูเพราะว่าไม่เคยไปเหมือนกัน ก็คือเป็น Mandala Blackwork ขาวดำเป็นดอกไม้ เป็นงานแห้งแล้วที่ไปส่ง ก็คืองานเต็มแขน ตอนนั้นงานน่าจะ Central พระราม 2 ค่ะ แต่จำชื่องานไม่ได้แล้ว นานมาก (หัวเราะ)

ป้าไปประกวดรอยสักครั้งแรกได้รางวัลที่ 1 เลยค่ะ ก็รู้สึกดีใจมากค่ะ เอาจริงๆ จะบอกว่าไม่ได้คาดหวังก็ไม่ได้เนอะ ก็แอบคาดหวังเล็กๆ แต่พอได้รางวัลที่ 1 ที่ 2 มา ก็เกินความคาดหมาย เพราะว่าเรายังไม่ได้คิดจะเดินสายประกวด”


[ ชนะการประกวดรอยสัก รางวัลครั้งแรกในชีวิต ]

หลังจากคว้าชัยชนะมาได้ตั้งแต่เวทีแรกที่ลองชิมลาง ก็ทำให้เธอเริ่มเดินสายล่ารางวัล โดยในระยะเวลาเพียง 2 ปี ช่างสักหญิงผู้นี้ได้เป็นเจ้าของรางวัลจากการประกวดรอยสัก ไม่ต่ำกว่า 30 รางวัลเลยทีเดียว

“จากวันนั้นก็เลยเริ่มมีพลังใจที่ว่าจริงๆ เราก็ทำได้นะ ก็เลยเริ่มสักประกวดมาเรื่อยๆ สักประกวดมาอยู่อีกประมาณ 2 ปีนิดๆ ป้าก็ไม่ได้ประกวดแล้ว น่าจะ 30 กว่ารางวัล แต่ป้าจำไม่ได้แน่นอนว่าเท่าไหร่ มี 1 - 2 - 3 งานสักส่วนมากจะมีแค่ 3 รางวัล ก็ได้ที่ 1 ก็เยอะ มีที่ 2 ที่ 3 ด้วยค่ะ เพราะส่งหลายประเภทอยู่

จริงๆ ถ้าอยากเป็นช่างสักควรไปงานประกวดมาก หรือว่างานสักที่เขามีจัดทั่วไป เพราะว่าเราจะได้เปิดโลกใหม่ว่าเขาทำงานกันยังไง แล้วอีกอย่างหนึ่งถ้าเราสามารถไปประกวดได้ก็ดี ด้วยเราจะได้รู้ว่างานของเราพัฒนาแล้วหรือยัง อะไรอย่างนี้

อย่าคิดว่ามันเป็นการแข่งขัน คิดว่ามันเป็นการพัฒนาฝีมือดีกว่า เพื่อเราจะได้รู้ว่าเรายังต้องพัฒนาอีกไหม แล้วถ้าไปปุ๊บ เราจะมีไฟกลับมาทำงาน เพราะว่าเจอคนโน้น เจอคนนี้ งานคนนั้นสวยจังเลย ดีค่ะ ควรไป”



สำหรับประเภทงานสักที่เข้ามือป้าน้อย ก็คืองาน Mandala มีลักษณะเป็นรูปทรงเรขาคณิตประกอบกัน เป็นงานที่เต็มไปด้วยความละเอียด ลายเส้นต้องคม ไปพร้อมๆ กับความสมมาตร

“ป้าถนัดงาน Mandala Blackwork งานไทย แต่ว่าที่ส่งประกวด งานญี่ปุ่นก็ส่ง ก็ได้รางวัลมาด้วย แต่ก็ไม่กี่งานหรอกนะ แล้วก็ Small Job ก็ได้ เราลองส่งดู แต่ส่วนใหญ่คำว่าถนัดงานอะไร ลูกค้าจะเป็นคนเลือกเรา

หมายถึงว่าลูกค้าจะมาบอกว่า ผมอยากสักรูปนี้ๆ ลูกค้าเลือกเราให้เราทำงานนี้เพราะเขาชอบฝีมือเรา เราไม่ได้เลือกนะงาน ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบลายเส้นป้า อยากสักงานไทยด้วยอะไรอย่างงี้ แล้วก็อาจจะชอบการออกแบบของงานป้า

ยากที่สุดสำหรับตัวเอง ก็คืองานที่ไม่ถนัดแล้วกัน (หัวเราะ) ถ้างานที่ไม่ถนัดก็น่าจะเป็นงาน Realistic อะไรพวกนี้ จะไม่ถนัดของป้า บางทีลูกค้าก็ชอบนะ ลูกค้าก็ถูกใจแล้ว แต่เรายังไม่ค่อยถูกใจเองมากกว่า ช่างอาจจะทำงานได้ไม่ทุกประเภท อาจจะเป็นงานเฉพาะ บางคนถนัด Minimal อะไรอย่างนี้

คำว่างานที่เราไม่ถนัด สมมติว่าลูกค้าส่งแบบมาเราดูแล้ว โอ้โห… เราก็ไปศึกษาแบบ ไป Draft แบบ พอเราทำปุ๊บแล้วเราไม่ค่อยมั่นใจงานนี้เลย ก็คืองานนั้นยาก ซึ่งป้าว่าแต่ละช่าง งานยากแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างบางคนงานที่ยากสำหรับป้าก็ง่ายของเขา มันหลากหลายประเภทงาน”


[ จากผู้เข้าประกวดสู่กรรมการตัดสิน ]

จากที่เคยมีความคิดล้มเลิกอาชีพช่างสักวันละหลายหน กลายเป็นว่าตอนนี้ฝีมือของเธอได้รับการยอมรับในวงกว้าง ถึงอย่างนั้น แม้ผลงานการประกวดรอยสักแทบทั้งหมดป้าน้อยจะเป็นคนลงเข็ม แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ทราบเรื่องนี้ เมื่อถึงวันที่ต้องแยกทางกับอดีตสามี และแยกร้านสักมาทำเอง ทำให้เธอต้องสร้างฐานลูกค้าขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

“เป็นจุดเปลี่ยนของการทำงานด้วยเหมือนกัน ก็เลยเริ่มกลับมาพัฒนางาน มันก็เริ่มมั่นใจในตัวเองขึ้น เพราะว่าจากการเริ่มต้นมาสักครั้งแรกก็มาถึงเกือบๆ 2 ปี มันจะมีอยู่วันนึงป้าก็รู้สึกว่าป้าเริ่มลงเส้นได้ดีขึ้น วันแรกท้อ จะเลิกสักวันละหลายๆ รอบ เพราะว่าทำงานได้ไม่ดี แต่เหมือนเราสักเราฝึกเยอะ แล้วเราก็สักลูกค้าเยอะ เราก็เลยเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น

(หลังประกวดคนรู้จักเยอะขึ้นไหม) เยอะ แต่ว่าไม่รู้จักป้า (หัวเราะ) รู้จักแต่ร้านกับอดีตสามี ก็มีรายการมาถ่ายตอนร้านวิถีไท ก็ค่อนข้างจะงานเยอะ กำลังดีเลย หมายถึงว่าในกลุ่มของคนสักนะ แล้วก็วงการสักก็ดังอยู่ แต่ไม่มีใครรู้จักป้าเฉยๆ ก็คิดว่าไม่ได้เป็นคนสักเอง อะไรอย่างนี้ ยกเว้นลูกค้าที่มาสักด้วยถึงจะรู้ว่าป้าเป็นคนสัก

4 ปีได้แล้วค่ะตอนนี้ จากวิถีไทมาเป็นป้าน้อย เมื่อก่อนแยกมาใหม่ๆ ป้าคิดว่าป้าจะกลับไปประกวดอีกครั้งนะ เหมือนให้ได้รางวัลในชื่อเรา แต่ความคิดนั้นก็ล้มเลิกไปด้วย เหมือนว่าบางทีมันไม่จำเป็นแล้วแหละ หมายถึงว่าในวงการก็จะรู้กัน แล้วช่วงนี้ป้าได้เป็นกรรมการด้วย สอนนักเรียนด้วย ก็เลยไม่จำเป็นต้องไปประกวดแล้วค่ะ”



สาหัสแค่ไหน “เวลาเยียวยาได้เสมอ”

หากจะเปรียบชีวิตของผู้หญิงคนนี้กับการเล่นรถไฟเหาะตีลังกา ก็คงจะไม่ต่างกันนัก เพราะแต่ละเส้นทางที่เดินดูเหมือนจะไปได้สวยแล้ว แต่จู่ๆ ก็มีสารพัดด่านโหด ผ่านเข้ามาเป็นบททดสอบให้เธอต้องก้าวข้าม

“ตอนเริ่มก็ทำด้วยกันนี่แหละ แต่พอนานๆ เข้าป้าจะเป็นคนทำงานซะมากกว่า ส่วนใหญ่ลูกค้าจะบอกว่าอยากสักกับพี่น้อย ป้าน้อย อะไรอย่างงี้ ลูกค้าเก่าๆ ที่เคยมาสักกับเรา แล้วก็งานประกวดป้าก็เป็นคนทำทั้งหมด แต่ตอนรับรางวัลส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ขึ้นไปรับ งานปีหลังๆ จะทำเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำคนเดียว แต่การตลาดทางนู้นเขาก็ทำไป

จริงๆ เมื่อก่อนอยู่กับอดีตสามีเป็นร้านร้านหนึ่งชื่อ ‘วิถีไท’ ก็อยู่ตรงที่ป้าทำงานอยู่ทุกวันนี้ ก็เหมือนสร้างด้วยกันมา แต่ว่าป้าไม่ได้คุยกับลูกค้า คือป้าสักอย่างเดียว ป้าเป็นคนทำงานอย่างเดียว อดีตสามีก็จะหาลูกค้า คุยกับลูกค้า

แต่พอมีปัญหาชีวิตปุ๊บ เลิกกันไป ป้าก็เลยต้องทำอาชีพนี้ต่อ ด้วยความจำเป็นอีก ด้วยทำงานที่เรารักด้วย ป้าต้องเริ่มต้นใหม่ เปลี่ยนชื่อร้าน เราก็แยกมาเป็น ‘ป้าน้อย’ ปัญหาอันนึงก็คือทำยังไงจะคุยกับลูกค้าได้ เป็นจุดที่รู้สึกว่ายากมาก

อีกอย่างหนึ่งคือร้านเดิม บ้านวิถีไท มันไม่มีใครรู้จักป้าน้อยอยู่แล้ว อันนี้แหละคือสุดๆ เหมือนกัน ทำยังไงให้คนรู้จักเรา เพราะเมื่อก่อนป้าเป็นคนทำงานทั้งหมดก็ว่าได้ งานประกวด แต่ว่าไม่มีใครรู้ว่าเราเป็นคนทำงาน

ก็ต้องเริ่มจากการเรียนรู้ก่อน ป้าอาจจะมาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ว่าไม่เคยคุยกับลูกค้าเลย หมายถึงทั้ง Inbox ทั้งอะไร หมายถึงตอนสักคุยกัน แต่การคุยกับลูกค้า การจะจบงาน ตอนนี้ก็ยังต้องเรียนรู้อยู่

สักทำได้ แต่งานติดต่อลูกค้า หาลูกค้า Promote ร้านอะไรอย่างนี้ ไม่ชำนาญค่ะ ก็ค่อนข้างจะยากนิดนึง เพราะเราไม่ได้ถนัดทั้งนั้น ก็ต้องฝึกอะเนอะ ฝึกไป ก็ดีใจนะที่ว่ามาถึงทุกวันนี้”


[ ส่วนหนึ่งของผลงานขั้นเทพ ฝีมือช่างน้อย ]

ทั้งปัญหาครอบครัวและเรื่องงาน ทำชีวิตสะดุดจนต้องหยุดทุกอย่างลง แต่เพราะมีลูกเป็นกำลังใจ และพี่น้องวงการสักที่คอยช่วยเหลือ ทำให้ช่างสักหญิงวัย 49 ปีในตอนนั้นลุกขึ้นสู้ต่อ จนกลายเป็น “ป้าน้อย Tattoo” อย่างทุกวันนี้

“ท้อนี่มี 2 เคสคือยุคแรกเลย กับมาท้อตอนหลัง คือตอนที่มีปัญหาครอบครัว ก็ต้องแยกมาเป็นป้าน้อย อันนั้นก็ท้อ เพราะว่ายังไม่รู้ว่าจะไปทางไหนด้วย ป้าต้องหาเงินเลี้ยงลูกเอง ชื่อร้านก็ไม่มีเพราะว่าวิถีไทเขาก็เอาไปแล้ว คนก็ไม่รู้จักเรา เริ่มยังไงดี ก็ท้อนะ ท้อมาก แต่มีช่างลูกศิษย์ก็ให้การช่วยเหลือเยอะ ถ้าไม่มีงานก็ไปทำร้านเขา อะไรแบบนี้ก็เยอะ

แต่ป้าก็ตั้งสติใหม่เพราะว่าลูกค้าเก่าๆ ที่เขาเคยสักกับเราเขาก็ยังกลับมาที่นี่ หมายถึงลูกค้าวิถีไทนั่นแหละ เพราะว่าร้านอยู่ตรงนี้ ลูกค้าก็หา Facebook ป้า ก็เริ่มติดต่อมา เริ่มมีรายการมาถ่ายบ้าง น้องๆ สงสารทำคลิปให้ คนช่วยเหลือป้าเยอะ ป้าก็เลยเริ่มมีกำลังใจว่าเราก็ต้องลุกขึ้นมาสิ คนอื่นยังช่วยเราเลย ก็เป็นจุดที่มีกำลังใจลุกขึ้นมาทำเป็นร้านป้าน้อยใหม่อีกครั้ง

ยากมากนะเพราะว่าในวัย 49 เราก็ต้องทำอะไรคนเดียว มีลูกอีกคนนึง แล้วก็มีปัญหาชีวิตด้วย คืออย่างที่ป้าเคยบอก ก็ท้อไปเลย ทำอะไรไม่ได้ พักเบรกตัวเองไปเลย ทำอะไรไม่ได้เลยน่าจะประมาณครึ่งเดือนนะ ก็เลื่อนลูกค้าไป

ก็เริ่มมานั่งทบทวนว่า ถ้าเรายังเป็นอย่างนี้อยู่ ลูกเราจะยังไง อาจจะมีลูกเป็นแรงใจด้วยก็ได้ เพราะว่าถ้าเราคนเดียวเป็นอะไรก็เป็นไปเถอะ แต่ก็ต้องดูลูกต่อไป ก็เริ่มลุกขึ้นมา เริ่มนัดลูกค้า เอาวะ เราต้องทำ

แต่ถ้าย้อนไปดูวันนั้นที่ป้าลุกขึ้นมาทำงาน งานก็ไม่ดีหรอกนะ เราเข้าใจว่าเราตั้งใจทำแล้ว จริงๆ แรงเรายังไม่ได้หรอก แต่เราต้องลุกขึ้นมา ทำให้ได้ เพราะว่าลูกค้าด้วย ถ้าเรายังเป็นอย่างนี้อยู่ ลูกค้านัดไว้แล้วงานก็ไม่ ได้ เราก็ต้องนึกถึงคนอื่นด้วย ก็เป็นลูกด้วยแหละ ต้องดูแลลูกค่ะ ก็เลยต้องลุกขึ้นมาสู้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง”



กว่าจะมาถึงทุกวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นอกจากหลายต่อหลายความช่วยเหลือที่หยิบยื่นมาให้ อีกแรงกำลังสำคัญนั่นก็คือ ‘ตัวเอง’ ที่ไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรค ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม

“ป้าแค่อยากจะบอกว่าเราต้องลุกขึ้นมาสู้ก่อนนะ เพราะว่าถ้าเกิดเราไม่ลุกขึ้นมาเองใครก็ช่วยเราได้ เพียงแต่ว่าลำบากนิดนึง แต่ป้าคิดว่าป้าก็ยังพูดคำเดิม เวลาเยียวยาเราได้เสมอ

สักวันนึงเราย้อนกลับ เราจะรู้ว่าเวลานั้นบางทีเรื่องมันอาจจะเล็กๆ เราเข้าใจผิดเองว่าเรื่องมันใหญ่ แต่ป้าไม่ได้บอกว่าล้มไม่ได้นะ ล้มได้ แล้วก็ลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ลองพยายามทำดู ทำไม่ได้ก็ทำใหม่ เดี๋ยวสักวันมันจะทำได้เอง ก็เอาใหม่ ลองใหม่ เริ่มใหม่ เราอาจจะไม่ได้แย่ขนาดจากศูนย์ก็ได้ เพราะว่าอุปกรณ์เราก็ยังมีนะ ป้าก็เลยลุกขึ้นมาใหม่

ขอบคุณตัวเองนี่แหละ ที่วันนั้นไม่ล้มแล้วก็ทำอะไรที่แบบว่า… ไม่ทำงานแล้ว เสียใจ แล้วก็เลิกที่จะสัก เคยคิดอยู่ก่อนหน้านั้น คิดอยู่ว่าจะไม่สักแล้ว เพราะว่าจะหาลูกค้ายังไง ทำไม่ได้เลย วันนึงพอเราตั้งสติ เอาใหม่ สักดีกว่า ก็เลยรู้สึกขอบคุณตัวเอง ขอบคุณทุกๆ คน ที่เป็นกำลังใจให้ป้าด้วย”


[ ลูกสาวของป้าน้อย กำลังใจคนสำคัญ ]

และอีกเรื่องที่ยิ้มตามไปด้วยไม่ได้ ก็คือครอบครัวป้าน้อย จากในตอนแรกที่ไม่สนับสนุนเธอในด้านศิลปะอย่างเด็ดขาด แต่วันนี้เธอก็ทำให้ที่บ้านเห็นแล้วว่า งานศิลปะก็เป็นอาชีพได้

“ตอนนี้เหลือแม่กับพี่ๆ แม่ป้าก็มีมุมมองที่เปลี่ยนไป เขาก็พูดกับป้าว่า วันนั้นถ้าเกิดห้าม แล้วป้าไม่ได้เรียนศิลปะ ก็อาจจะไม่มีป้าในวันนี้ก็ได้ แต่ว่าป้าดื้อไง แอบไปเรียนเองเลย (หัวเราะ) ไม่ให้ก็จะเรียน ถ้าไม่ให้เรียนศิลปะก็คือไม่เรียนหนังสือ แต่ทุกวันนี้แม่ก็ภูมิใจเหมือนกัน ก็มุมมองดีขึ้นเยอะ

ตอนนี้ดีขึ้นกว่าเดิมเยอะ ด้วยรอยสักพัฒนาไปมาก ก็คือความสวยงามมากขึ้น มีความเป็นรูปวาดมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน อีกอย่างคนทำงานได้ดี เขาก็สักนะเดี๋ยวนี้ เมื่อก่อนจะแอนตี้ ถ้าสักไม่รับเข้าทำงาน แต่ตอนนี้อันนี้เริ่มลดน้อยลง

สมมติช่างสักเมื่อก่อนมันอาจจะไม่ได้เป็นอาชีพที่ชัดเจน เดี๋ยวนี้ตัวช่างเองก็ไม่ได้เลอะเทอะ หรือเลอะเทอะก็เป็นสิ่งสวยงาม หมายถึงตัวช่างก็ดูโอเคขึ้น มีร้านเป็นหลักเป็นแหล่งหลายๆ ร้านนะคะ ก็ไม่น่ากลัว

รอยสักก็ไม่ใช่อะไรที่น่ากลัว มันอาจจะเปลี่ยนความคิดเขาได้ในอนาคต ว่ามันเป็นศิลปะบนร่างกายมากกว่า ป้ามองอย่างนั้นนะ ศิลปะบนร่างกายไม่ได้บอกว่าคนจะไม่ดีนะ ก็เป็นสิ่งสวยงามซะด้วยซ้ำ”

อายุไม่ใช่อุปสรรค “รอยสักแรก”

ด้วยความที่ช่างสักผู้นี้อายุ 53 ปีแล้ว แน่นอนว่าการทำงานนั้นก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการนั่งสักเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกัน

“อายุมีผลจริงๆ แล้วก็สุขภาพมีผลกับการทำงานมาก เมื่อก่อนป้าลุยงานดะเลยนะ บางวัน 3 งานถึงดึก พอมาระยะหลังรู้แล้วว่าจริงๆ ต้องรักษาสุขภาพด้วย สมมติเวลาเราสัก ป้าจะไม่นั่งนานยาว 8 ชั่วโมง ก็คือ 2 ชั่วโมงจะลุกเบรกทีนึง ตอนนี้เริ่มรับงานวันละงาน ไม่มากกว่านั้น ยกเว้นมีบางเคสจำเป็นจริงๆ มันจะทำให้เราปวดหลังน้อยลง แล้วก็ออกกำลังกายบ้าง

อาจจะลดการทำงานลง ไม่ได้รับทุกวัน แต่ยังไม่ใช่ช่วงนี้นะ ช่วงนี้ยังรับอยู่ (หัวเราะ) รับสอนด้วยค่ะ อาจจะเต็มรูปแบบตอนปลายปีนี้ อาจจะสักบางเดือน สอนบางเดือน สลับกัน ลูกศิษย์จะได้ได้เต็มที่ เพราะช่วงนี้ป้าสักด้วย รับสอนด้วย

ป้าว่ามาเรียนดีกว่า เพราะว่าการสักเทคนิคมันจะเยอะมาก การเรียนรู้ด้วยตัวเองมันก็ไม่แปลกนะ แต่ว่าป้าคิดว่าใช้เวลานานมากกว่าจะเรียนรู้ การทำงานมันมีเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่บางทีเราไม่ต้องไปหาเองก็ได้ คนสอนเขาบอกให้ได้

การเรียนรู้เองใช้เวลานานนะ จะต้องเป็นคนช่างสังเกต ถ้าไม่ช่างสังเกตก็ไปเรียนดีกว่า มันต้องมีการทดลอง สมมติอันนี้สีนี้ เนื้อผิวสีนี้ทำอะไรได้บ้าง งานสักมันเยอะมันสักทั่วร่างกายใช่ไหมคะ สักตรงนี้ก็ต้องน้ำหนักนึง สักตรงนี้ก็ต้องน้ำหนักมือนึง มันต้องละเอียดมากมันถึงจะพัฒนาไปได้อีก”


[ รับสอนสัก สำหรับคนที่สนใจศิลปะบนร่างกาย ]

นอกจากการเริ่มต้นอาชีพช่างสักตอนอายุมาก ป้าน้อยมี ‘รอยสักแรก’ ของตัวเอง ในวัย 50 กว่ากะรัตอีกด้วย

“ไม่เคยสักที่ตัวเลย พอป้าทำงานมาสักพักนึง ก็คือผ่านเหตุการณ์อะไรมามากมาย ป้าก็เลยเริ่มรู้สึกว่าอยากมีรอยสัก มันมีจุดประสงค์ทุกอย่าง คืออยากรู้ว่าเวลาลูกค้าโดนสักแล้วมีความรู้สึกยังไง เจ็บแค่ไหน อะไรอย่างนี้นะ

อีกอย่างคือเราเป็นช่างแล้ว เราเคยสักแบบไปประกวด เราอยากรู้ว่าสมมติเราเป็นแบบบ้าง เราขึ้นประกวด แล้วเราจะได้รางวัลไหม แต่ป้าไม่ได้สักเล็กนะ มีรอยสักทั้งทีก็เอาให้ใหญ่ไปเลย เต็มขาเลยค่ะ (หัวเราะ) ตั้งแต่นี่ลงไปถึงข้างล่าง

ที่ขานี่คือออกแบบร่วมกัน ลูกศิษย์เป็นคนสักให้ แต่เขาก็ให้เราไปประกวดให้นะคะ ได้รางวัลที่ 1 เหมือนกัน อันนี้ในฐานะนางแบบนะ (หัวเราะ) ปีที่แล้วค่ะ Expo ของไทยนี่แหละ ของป้าสักงานแห้งไป เพราะว่าเต็มขาสักทีเดียวไม่เสร็จ

ดีใจทั้งคู่นะ เพราะว่าช่างจะได้รางวัลก็อยู่ที่ตัวนางแบบด้วย ให้ความร่วมมือ หมายถึงว่าทั้งทนเจ็บ ทั้งขึ้นไปประกวดให้เขา ก็มีความรู้สึกดีทั้ง 2 อย่างเลยนะ เป็นทั้งช่างด้วย เป็นทั้งนางแบบไปประกวดให้เขาด้วย ก็ดีป้าว่า เป็นทุกอย่างเลย

พอได้รอยสักครั้งแรกมาทำให้งานเราเปลี่ยนไป เมื่อก่อนป้าไม่เคยมีรอยสัก ก็ไม่เข้าใจว่าลูกค้าเจ็บแค่ไหน ก็อาจจะกินน้ำบ้าง อะไรบ้าง หมายถึงว่าไม่ได้รีบทำรวดเดียวจบ พอตอนหลังพอโดนสักมา เริ่มรู้แล้วว่าเราควรรีบทำงานให้มันเสร็จ

ลูกค้าเขาทนเจ็บลำบากมาก ก็คือเจ็บจริงแต่ทนได้นะ สมมติงานเราไม่ใหญ่มากก็ทีเดียวจบได้ งานประมาณไม่เกิน A4 วันเดียวจบได้ แต่ถ้างานใหญ่ๆ เต็มหลัง เต็มแขนก็ไม่ได้ ก็ต้องประมาณหลายรอบมากค่ะ”


[ รอยสักแรกในวัย 53 กระรัต และนางแบบประกวดรอยสัก คว้าที่ 1 มาครอง ]

ไม่ใช่แค่ป้าน้อย เพราะมีลูกค้าอีกหลายคน ที่มาสานฝันการมีรอยสักแรกเป็นของตัวเอง ในช่วงวัยใกล้เกษียณเช่นกัน

“ลูกค้าก็มีหลายวัยนะ ตั้งแต่เด็กวัยรุ่น อายุเยอะอะไรอย่างนี้ ลูกค้าอายุเยอะที่สุด 65 ค่ะ 60 ก็มี 55 ก็มี ลูกค้าป้าก็ทำงานดีๆ นะ เหมือนกับเป็น ผอ. อะไรอย่างนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นงานเผ่า ผู้ชายนะ ทำงานอยู่สักไม่ได้ พอเกษียณแล้วมาสัก

เป็นความใฝ่ฝันวัยเด็กที่ไม่เคยได้สัก คือสักรูปที่ตัวเองเคยอยากสักเมื่อก่อนแค่นั้นเอง บางคนก็แบบว่า ขอสักแค่นี้แหละ ความใฝ่ฝันของเขา ตอนหนุ่มๆ สักน่าจะดูดีกว่านี้เนอะ แต่ก็ไม่เป็นไร (หัวเราะ) ก็ได้ตามความฝันของตัวเอง

อายุด้วย ผิวละเอียด ผิวหยาบ ก็สักยาก - ง่ายต่างกัน น่าจะ 50 Up เริ่มสักยาก ต่อให้ออกกำลังกาย เหมือนความชุ่มชื้นของผิวมันน้อยลง หนังเหนียว (หัวเราะ) แต่ถ้าเด็กๆ สักง่าย ผิวแห้งก็สักยากเหมือนกัน ผิวแห้งพอลงไปปุ๊บเหมือนหนังมันจะแตก แต่ถ้าสักง่ายๆ ก็จะเป็นผิวละเอียด ผิวผู้หญิงสักง่าย แต่ส่วนใหญ่ป้าเจอลูกค้าผู้ชายเยอะ ไม่ค่อยได้เจอผู้หญิง”



และในฐานะช่างสัก ก็ได้ฝากคำแนะนำถึงคนอยากจะมีรอยสักบ้าง แม้จะอยากได้มากแค่ไหน ก็ควรตัดสินใจให้ถี่ถ้วนก่อน เพราะนี่คือการฝังหมึกลงผิว ไม่สามารถลบได้ง่ายๆ เหมือนวาดด้วยดินสอ

“รอยสักแรก สมมติเราอยากสัก ป้าอยากให้เราคิดเยอะๆ คิดนานๆ หาช่าง หาร้าน หาลายที่เรามั่นใจแล้วว่าเราชอบลายนี้จริงๆ ป้าว่าอย่าใจร้อนนะ ไม่ใช่หมายถึงว่าเดินไปปุ๊บสักเลย ป้าว่ารอยแรกควรคิดเยอะๆ หาช่างดีๆ

ป้าไม่ได้ว่าเรื่องราคานะ แต่หมายถึงว่าบางทีมันถูกไป เราก็ต้องคิดนิดนึงว่าเป็นยังไง เดี๋ยวนี้ช่างหาได้ทั่วไป สื่อเยอะ Facebook อะไรมีหมด ป้าคิดว่าลายแรกหรือลายต่อไปก็ได้ เลือกเยอะๆ แล้วชอบช่างคนไหน เราไปคนนั้นเลยดีกว่า

ป้าจะพูดเรื่องราคาเหมือนกัน บางช่างก็ฝีมือดี๊ดี ราคาไม่แพงก็มี ราคาสักมันตั้งอยู่กับความพอใจของช่าง เรื่องของฝีมือเรา เรื่องแนวคิดของเรา บางทีแพงก็อาจจะไม่ได้อย่างที่เราคิดก็ได้ ป้าเพียงแต่บอกว่าให้เลือกฝีมือช่างแล้วกัน เอาที่เราชอบ เอางานที่เราคิดว่าช่างคนนี้ทำดี เราค่อยไปสักดีกว่า ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เลือกร้าน ค่อยๆ เลือกช่าง จะปลอดภัยสุดป้าว่านะ”



ส่วนใครก็ตามที่อยากให้ป้าน้อยเป็นคนลงหมึกรังสรรค์ศิลปะบนร่างกายให้ นอกจากจะต้องเช็กคิวที่สะดวกตรงกันแล้ว ก็ต้องหยิบบัตรประชาชนขึ้นมาเช็กอายุกันสักนิด ถ้าเกิน 17 ปีขึ้นไปก็ผ่านฉลุย

“ตอนนี้ถ้าต่ำกว่า 17 จะไม่สักให้ ถึงมาสักกับป้า ป้าก็ไม่สักให้ 18 ก็อาจจะอย่าพึ่งออกนอกร่มผ้า อาจจะแนะนำประมาณนั้น หมายถึงต่อให้เด็กมาสัก ก็ไม่ได้บอกว่าสักเลยนะ ยกเว้นบางกรณีที่เขาเป็นอาชีพช่างสักก็อาจจะสักให้ แต่ถ้าเด็กต่ำกว่า 17 ก็คือไม่สักอยู่แล้ว เวลามาสักก็ต้องถามว่าขอแม่หรือยัง ขอพ่อหรือยังก่อน

ถ้าสักตามตัวก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร แต่ถ้าสักหลังมือ สักคอ สักนิ้ว ป้าจะทักก่อนว่าตัดสินใจให้ดีก่อนนะ บางทีวันนี้เราอยาก แต่พอไปนั่งคิด ไม่น่าเลย เหมือนไปไหนแล้วคนมอง มีเยอะเหมือนกันที่บอกว่าไม่น่าสักเลย ป้าก็จะสะกิดเขานิดนึง แต่ถ้าเขามั่นใจก็สักให้ ด้วยตามอายุ ถ้าทำงานทำการแล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร

บางทีก็พ่อแม่พามาเลย ถ้า 18 - 19 อะไรแบบนี้ ซึ่งปีก่อนๆ โน้น 10 ปีที่แล้วก็ยังไม่น่าสักให้ แต่ตอนนี้วัยรุ่นเริ่มสักเยอะ แต่ก็จะแบบ Minimal ไปก่อนแล้วกัน เล็กๆ ข้างในตัว แต่ถ้ายังไม่ 20 เลย ก็ควรให้พ่อแม่อนุญาตนิดนึงดีกว่า”

สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : เฟซบุ๊ก “Noi Chinglek”
ขอบคุณสถานที่ : ร้าน “Pa Noi Tattoo” รถไฟฟ้า BTS สถานีโพธินิมิตร



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น