xs
xsm
sm
md
lg

กูรูวิเคราะห์ เพราะภาพความเดือดร้อนไม่ชัด “น้ำท่วมใต้” จึงคล้ายถูกละเลย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“8 จังหวัดยังคงท่วมอยู่” ภาคใต้เสี่ยงจมบาดาลถึงปีใหม่ จากดรามา “นายกฯ” เมินน้ำท่วมเมืองใต้ สู่คำถาม สังคมเองให้ความใส่ใจ “อุทกภัยภาคใต้” น้อยไปหรือเปล่า?

** “ต้องขยับ” ไม่งั้นหางไม่กระดิก **

“น้ำท่วมภาคใต้” ยังคงเป็นสถานการณ์ที่เราๆ ต้องจับตามอง เพราะถึงเวลานี้ ก็มีจังหวัดที่ประสบภัยแล้วถึง 8 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช, พัทลุง, ตรัง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส
หลายจังหวัดต้องเจอ น้ำท่วมสูงมาตั้งแต่ วันที่ 27 พ.ย. 67 ยาวมาจนถึงตอนนี้ และสร้างผลกระทบแล้วกว่า 500,000 ครัวเรือน หนักสุดในรอบหลาย 10 ปี

แต่มันก็กลายเป็นดรามา เมื่อ “นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร” ที่ไม่ลงพื้นที่ตั้งแต่วันแรก ที่เกิดภัยพิบัติ แต่กลับเห็นภาพไปประชุม ครม.สัญจร ที่เชียงใหม่แทน

หลังเกิดดรามา มีการออกมาชี้แจงว่า “นายกฯ” และ “รัฐบาล” ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และมีการสั่งการให้ “พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย.แล้ว

และสั่งการให้ “กระทรวงกลาโหม” และ “กระทรวงมหาดไทย”ลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย ระดมเรือท้องแบน อพยพเด็ก คนแก่ และขนอุปกรณ์ช่วยเหลือ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวใต้แล้ว ส่วนนายกฯ มีกำหนดการลงพื้นที่ใน สงขลา ปัตตานี 6 ธ.ค. นี้

                                                           {นายกฯ” แจง ไม่ได้เมินน้ำท่วมภาคใต้}

พี่น้องประชาชนจำนวนไม่น้อยมองว่า การ Take Action ของนายกฯ “มันช้าไปหรือเปล่า?”แล้วนากยกฯ ควรลงพื้นที่ตั้งแต่ Day One ไหม? ชวนคุยกับ “ดร.ศิรินันต์ สุวรรณโมลี”นักวิชาการอิสระด้านการจัดการภัยพิบัติ ว่ามองเรื่องนี้ยังไง

กูรูมองว่าการ “Take Action”ของผู้นำ ไม่จำเป็นเอาตัวไปลงพื้นที่เสมอไป แต่มาเป็น“คำสั่งการ” ก็ได้ ทั้งเรื่อง ระดมทีมช่วยเหลือ ระดมทรัพยากร หรือ เงินสนับสนุน

แต่ในหน้างานที่เกิดขึ้นช่วงแรก “ไม่เห็นสิ่งเหล่านี้”และเรื่องการลงพื้นที่ตั้งแต่วันแรก บ้างก็มองว่า ถ้านายกฯ ไป อาจสร้างความลำบากให้คนทำงานก็ได้ เพราะมีทั้งเรื่องการรับรอง หรือขบวนรถต่างๆ

แต่ในเมืองไทย “ดร.ศิรินันต์”บอกว่า มันมี “ภาพจำ” ที่ว่า “ความใส่ใจ = ลงพื้นที่” เพราะนอกจากมันจะสะท้อนเรื่องความใส่ใจแล้ว มันยังทำให้หน่วยงานราชการ มีความกระตือรือร้นมากขึ้นด้วย

“เราต้องเข้าใจว่าระบบราชการ ในความเป็นจริงก็คือ เจ้าหน้าที่จะ active แล้วเห็นความสำคัญ ก็ต่อเมื่อมีคำสั่งอย่างชัดเจนลงมา”



หรือสถานการณ์ภาคใต้ “ไม่หนักพอ?” ขนาดนายกฯ ต้องลงพื้นที่ เพราะ “ภูมิธรรม เวชยชัย”รองนายกรัฐมนตรี ก็ให้สัมภาษณ์ใน ครม.สัญจร ที่เชียงใหม่ว่า แม้อุทกภัยในภาคใต้จะรุนแรง แต่ไม่หนักเท่าภาคเหนือ เพราะไม่มีโคลนถล่ม

“หนัก-ไม่หนัก”ประเด็นนี้ “ดร.ศิรินันต์”บอกว่า มันมีเกณฑ์ของมันอยู่คือ ถ้าเกิดเหตุภัยพิบัติ ที่กินพื้นที่ตั้งแต่ 2 จังหวัดขึ้นไป “คนเกิน 40% ประสบภัย”และใช้เวลา “72 ชั่วโมง”แล้วยังยุติภัยไม่ได้

“ให้ยกระดับจากภัยระดับ 2 ที่ผู้ว่าฯ จัดการเองได้ เป็นระดับ 3 ให้นายกฯ จัดการ”

                                                         {ดร.ศิรินันต์” นักวิชาการด้านจัดการภัยพิบัติ}

** คนใต้กำลัง “ถูกเมิน” ? **

ปัญหานึงที่สังคมกำลังวิจารณ์คือ “คนใต้”ถูกละเลยหรือเปล่า? เพราะแม้เราจะเห็นหลายสำนักข่าว รายงานสถานการณ์อุทกภัยนี้ แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจจากคนในสังคม มากเท่าตอนน้ำท่วมภาคเหนือและภาคกลาง

จึงเกิดเป็นคำถามว่า “น้ำท่วมภาคใต้”คนสนใจน้อยจริงไหม? ในมุมของคนที่ลงพื้นที่หน้างานอย่าง “วิภาวดี แอมสูงเนิน” นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย บอกกับทีมข่าวว่า...

“ถ้าดูจากเรื่องความช่วยเหลือของคนทั่วไป ก็ดูจะช้ากว่าค่ะ มันเป็นเพราะว่า ไม่ได้มีการพัดโคลนมาด้วย แบบที่ภาคเหนือ”

เจ้าหน้าที่กรีนพีซรายนี้มองว่า คนสนใจเรื่องน้ำท่วมภาคใต้ แต่รู้แค่ว่าน้ำท่วม ไม่ได้เห็นภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่เหมือนกับภาคเหนือที่เห็น “บ้านเรือนพัง”เพราะ “ถูกโคลนถล่ม”

 
และ “ดร.ศิรินันต์”เองก็รู้สึกว่า สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ได้รับความสนใจจากคนในสังคมน้อยกว่าจริงๆ โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อาจเป็นเพราะ “ภาพจำ”ว่าเป็น “เมืองอันตราย”


“มันก็ทำให้คนจำนวนหนึ่งมองไม่ออก เหมือนกับเป็นเมืองที่เราไม่รู้จัก”เลยไม่ต้องแปลกใจที่สถานการณ์ของภาคใต้ จะได้รับความสนใจน้อยจาก“โซเชียลมีเดีย” หรือ“คนทั่วไป”

อีกเรื่องคือ “การสื่อสาร”ของภาครัฐเองก็มีผล “เขาสื่อสารตัวเลข ตามข้อมูลวิทยาศาสตร์ ตรงๆ เป๊ะๆ นะคะ เพียงแต่ว่าประชาชนเรา ไม่มีฉากทัศน์อยู่ในหัว”

เรานำเสนอแต่ “ตัวเลข”อย่าง ปริมาณฝน ปริมาณน้ำ แต่ไม่มีการนำภาพแต่ละปีมาเทียบกัน เพื่อให้คนเห็นภาพชัดๆ รวมกับ “ภาคใต้น้ำท่วมทุกปี”นี่คือภาพที่ทำให้ “สังคมชินชา”และมองไม่ออกว่า ปัญหาครั้งนี้มันหนักยังไง



นอกจากเรื่องที่สังคมดูจะสนใจ สถานการณ์ภาคใต้น้อยแล้ว “ภาครัฐ” เองก็เหมือนกัน การขยับหลังเกิดเหตุนั้นก็เรื่องนึง แต่สิ่งสะท้อนถึงความใส่ใจคือ “การเตรียมการรับมือล่วงหน้า”

ในเมื่อมีข้อมูลปริมาณฝนที่ตกในมืออยู่ และก็รู้ดีว่า นี้คือฤดูที่ “ภาคใต้น้ำจะต้องท่วม” แต่เรากลับไม่เห็นการตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์” หรือ “การเตรียมจัดสรรทรัพยากร” เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

“เราก็พูดง่ายๆ ว่า เราก็ยังไม่เห็น การที่เขาจะ kick off หรือการสั่งการตรงนี้ล่วงหน้า”

** “เฝ้าระวัง” ท่วมยาวปีใหม่ **

สถานการณ์ตอนนี้ เท่าที่ “วิภาวดี” เจ้าหน้าที่หน้างาน ของกรีนพีช ที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน บอกเราว่า บางส่วนระดับน้ำลดลงแล้ว แต่หลายพื้นที่ “ยังมีน้ำท่วมสูงอยู่”

โดยเฉพาะ 4 จังหวัดอย่าง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่ตอนนี้ยังคง “ขาดแคลนเสบียง” เพราะมี “หลายจุดถูกตัดขาด”และ “ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง”ปัญหาหน้างานที่เจอตอนนี้คือ...

“ใครเข้าถึงตรงไหนก่อน ก็ช่วยตรงนั้นก่อนหน้างาน มันก็ทำให้มีคนจำนวนมาก ที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือค่ะ”


                                                   {“วิภาวดี” กูรูจาก กรีนพีซ ประเทศไทย}

และเหตุที่ทำให้ชาวบ้านหลายจุด ไม่ได้ออกมาจากพื้นที่น้ำท่วม คือ “พวกเขาไม่ได้รับการแจ้งเตือนใดๆ”นี่คือเสียงของผู้ประสบภัยที่ สะท้อนผ่านมาทางตัวแทนจากกรีนพีซประเทศไทย

และ “ยังต้องเฝ้าระวังต่อ”เพราะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง จากเมื่อก่อนที่ภาคใต้ ฝนตกติดต่อกัน 7 วัน น้ำก็ยังไม่ท่วม แต่ตอนนี้เพียงแค่ ฝนตกติดกัน 3-4 วัน ก็ทำให้น้ำท่วมสูงได้ ถ้าภายในอาทิตย์มีฝนตกเพิ่มอีก ภาคใต้ยังคงต้องจมอยู่ใต้บาดาลนานขึ้นอีก

ทาง “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ”เอง ก็ออกมาบอกว่า หากมี “ฝนตกเพิ่ม”บวกกับ “น้ำทะเลหนุน”อีก สถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ “อาจลากยาวถึงปีใหม่เลยก็ได้”

ด้านนักวิชาการจัดการภัยพิบัติอย่าง “ดร.ศิรินันต์”บอกว่าตอนนีัคือช่วงพัก แต่ “ฝนระลอก 2” มาแน่ เพราะปีนี้ฝนช้า ตอนนี้รัฐบาล ต้องรีบระดมทรัพย์เข้าพื้นที่ภาคใต้ ก่อนจะโดนน้ำตัดขาดอีกรอบ

                                              {หลายพื้นที่ภาคใต้ “ยังคงถูกตัดขาด” ความช่วยเหลือ}

** หลายที่คงขาดแคลน **
 
ตอนนี้สิ่งที่ “ผู้ประสบภัยน้ำท่วม” ต้องการมากที่สุดคือ “ข้าวสาร-อาหารแห้ง” “น้ำดื่ม”และ “อาหารฮาลาล” สามารถส่งของบริจาคได้ที่ “มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์” จุดรับบริจาค “ณ อาคารกิจกรรมนักศึกษา ข้างศูนย์อาหารโรงช้าง”
หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี “สงขลานครินทร์เพื่อผู้ประสบภัย” เลขที่บัญชี 565-471106-1

 ส่วน “มูลนิธิกระจกเงา” ก็สามารถส่งมอบของบริจาคได้ที่ เลขที่ 191 ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210 หรือโทร 061-909-1840





** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น