หมอบอกคนไทย “ร้อนง่าย” ไม่ใช่อากาศ แต่เป็น “หัว” ที่แค่ถูกสะกิดก็พร้อม “ระเบิดอารมณ์” มาหาคำตอบกันว่า เพราะอะไรภาพของ “คนเมืองยิ้ม” ในอดีต ถึงได้เปลี่ยนไป จนบางคนกลายเป็นอาการ “เสพติดการหัวร้อน” ไปแล้ว
** อย่า “สะกิด” เดี๋ยว “ระเบิด” **
“หนุ่มเทสล่า” ขับรถปาดช้าย-แซงขวา ตีรถวน “ขวางถนน”บน “ท่างด่วน”อ้างทำไปเพราะ “หัวร้อน” ทะเลาะกับแฟนเรื่องเปิด GPS หรือจะเป็น “มอเตอร์ไซค์รับจ้าง” แอปฯ ดัง “ต่อยปาก”แหม่มสาวรัสเซีย เพราะ “หัวร้อน” ที่แหม่มรัสเซียไม่ยอมไป ถ้าไม่มีหมวกกันน็อก
อีกเคสเป็นของ “ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน”ด่ากราด 2 แม่ลูก กลางร้านส่งพัสดุ เพียงเพราะ “หัวร้อน” ที่ “รองเท้าตัวเองหาย” และคิดว่าต้องเป็นฝีมือของเด็กวัย 4 ขวบ แต่สุดท้ายก็ลงเอยด้วย “กระเช้าขอโทษ"
{หนุ่มขับเทสล่า หัวร้อนเพราะทะเลาะกับแฟน}
{ต่อยแหม่มรัสเซีย แค่เรื่อง “หมวกกันน็อก”}
ที่หนักหน่อยเห็นจะเป็นที่พัทยา เมื่อเก๋งคันนึงมาจอดรถใกล้ๆ กับวินมอเตอร์ไซค์ เหล่าวินก็หวังดี นึกว่าเป็น นักท่องเที่ยวมาถามทาง เลยเดินไปเคาะกระจก แต่หนุ่มขับเก๋งกลับ“ควักปืน” ออกมาพร้อมถามว่า “ข้องใจหรือเปล่า”
ก่อนสาวที่มาด้วย จะเข้ามาห้ามและขับรถยนต์หนีไป จากปากคำของคนในที่เกิดเหตุ คาดว่าฝ่ายชายน่าจะ ทะเลาะกับแฟน จน “หัวร้อน” พาลหาเรื่องคนอื่น
เห็นภาพชัดขึ้นไหม จากมหากาพย์ข่าว “คนหัวร้อน” แล้วสุดท้ายก็จบด้วยการ “บันดานโทสะ” ซึ่งเป็นเรื่อง ที่มีให้คนยุคนี้เห็นแทบจะทุกวัน จนอดสงสัยไม่ได้ว่า บ้านเรากลายเป็น “เมืองคนหัวร้อน” ไปแล้วหรือเปล่า?
ที่น่าสนใจคือ “นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์” ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ว่า คนไทย “หัวร้อน” จนนำไปสู่การแสดง “ความก้าวร้าว” หรือแม้แต่ “ก่ออาชญากรรม” มากขึ้น ซึ่งมันเป็นผลมาจาก “ความเครียด”
แต่อะไรกันที่สะกิดให้คนพวกนี้ “ระเบิดอารมณ์ออกมา” แล้วกลายเป็นข่าวอย่างที่เห็นๆ กัน ทีมข่าวจึงขอต่อสายหา “ดร.อภิชญา ไชยวุฒิกรณ์วานิช”อาจารย์ประจำวิชาจิตวิทยาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้หายข้องใจ
“สังคมปัจจุบันมันเครียดด้วยนะคะ ความเครียดสะสมอะไรต่างๆ มันก็เลยทำให้เราเหมือนกับน้ำ ที่มันเต็มแก้วแล้ว คืออีกนิดเดียวก็ทนไม่ไหวแล้วอะค่ะ”
ทำให้คนบางคน เมื่อมีอะไรมาสะกิดนิดหน่อย ก็พร้อมจะระเบิดอารมณ์ออกมา ซึ่งคนไทยเครียดสะสมเพิ่มขึ้นจริงๆ จากแบบทดสอบ “Mental Health Check In” ของกรมสุขภาพจิต ในปี 67 พบว่า มีคนที่ “เครียดสะสม” มีถึง 15.5% จากปีก่อน(66) ที่มีเพียงแค่ 4.5% เท่านั้น
แต่ “ความเครียดสะสม”จาก “ปัญหาสังคม”หรือ “เศรษฐกิจ”เป็นปัจจัยนึงเท่านั้น “การเลี้ยงดูอบรม” ตั้งแต่เด็กก็มีผล หรือจะเป็น “สิ่งแวดล้อม”จากการ “เสพสื่อ” ที่มีความรุนแรง ก็ทำให้เกิด “พฤติกรรมเลียนแบบ” ได้
{“ดร.อภิชญา” กูรูด้านจิตวิทยาสังคม}
“ดร.อภิชญา” อธิบายว่า ถ้าเราเห็น “ข่าว” หรือ “สื่อบันเทิง”ที่มี “ความรุนแรง” มันจะทำให้เริ่ม “ชินชา”กับ “ความก้าวร้าว” และไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดของคนอื่น
“แล้วยิ่งถ้าเกิดเขาทำแล้วเนี่ย มันได้รับการเสริมแรง ว่าถ้าคุณเกรี้ยวกราดออกมา แล้วทุกคนยอมคุณหมดเลยอย่างนี้ เขาก็จะยิ่งได้ใจ ก็ยิ่งทำอีก จนกว่าเขาจะไปเจอคนที่เสมอกัน”
** ยิ่งเสพติด เพราะ “คนดีหัวร้อน” ถูกหนุน **
ในโลกความเป็นจริง “คนหัวร้อน” ก็ไม่ได้ถูกสังคมประณามทุกครั้ง บางครั้งคนที่ไม่ทนกับการถูกเอาเปรียบ “ต้องมาด่ากราด-ระเบิดอารมณ์ออกมา” ก็มีอยู่ไม่น้อย แต่สังคมก็พร้อม “สรรเสริญ” ว่าเป็นการกระทำที่ถูกแล้ว
แต่รู้หรือเปล่าว่า การทำแบบนี้ มันกลายเป็นดาบสองคม ผลักให้ใครบางคนมีอาการที่เรียกว่า “เสพติดการหัวร้อน” หรือ “การหัวร้อนของคนดี”
คือเชื่อว่า สิ่งที่ตัวเองทำไปนั้น “ถูกต้องแล้ว” เพราะคือการต่อสู้กับความ “อยุติธรรม” หรือ ปกป้องความดีอะไรบางอย่าง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักจิตวิทยาอย่าง “ดร.เจเรมี เชอร์แมน (Jeremy Sherman)” อธิบายไว้ว่า จริงๆ แล้วคนพวกนี้ไม่ได้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องหรอก พวกเขาแค่อยาก“ รู้สึกดี” ที่ได้ระบายความโกรธกับคนอื่น โดยยกเหตุผลเหล่านี้มาอ้าง
ด้านกูรูจิตวิทยาอย่าง “ดร.อภิชญา” เสริมประเด็นนี้ว่า มันคือ “ทฤษฎีความไม่สอดคล้อง ทางการรู้คิดกับพฤติกรรม” หรือ “Cognitive Dissonance Theory”
“ทางจิตวิทยาสังคมจะค่อนข้างพูดทฤษฎีนี้กันเยอะค่ะ คือพอเราแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมไปแล้วเนี่ย เขาก็จะพยายามหาเหตุผลมาอ้าง”
การแสดง “ความเกรี้ยวกราด-ก้าวร้าว” ไม่ว่าจะเพราะอะไร มันก็เป็นเรื่องไม่ดี ซึ่ง “มนุษย์” ทุกคนมีการ “นับถือตัวเอง” ที่ “สูง” ไม่อยากรู้สึกว่า ตัวเองเป็นคนไม่ดี แต่เมื่อระเบิดอารมณ์ไปแล้ว ทีนี้จะทำยังไงล่ะ?
“เราก็จะต้องบิดเบือนโลกภายนอกให้สอดคล้องกัน เพื่อให้ตัวตนเรารู้สึกไม่เลวร้ายจนเกินไป เช่น บอกว่าฉันทำแบบนี้ก็เหมาะสมแล้ว คนคนนั้นเขาเป็นคนไม่ดี ขับรถปาดหน้าฉันเอง ฉันก็ควรที่จะด่าหรือบีบแตรไล่ ก็เหมาะสมแล้ว”
มันคือ “กลไกทางจิตใจ” เพื่อปกป้องตัวเอง แต่เรื่องนี้ปรบมือข้างเดียวมันก็ไม่ดัง “สังคม”เองก็มีส่วนส่งเสริมให้คนเสพติดอาการหัวร้อน เพราะถ้าเราเห็นการหัวร้อนของคนดีเมื่อไหร่ “สังคมก็จะออกมาเชียร์”ว่า คนที่ถูกเหวี่ยง “สมควรโดนแล้ว”
และถ้าสังคมยังคอยเชียร์แบบนี้ นอกจากจะเป็นการตอกย้ำว่า การทำพฤติกรรมแบบนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว ความน่ากังวลอีกเรื่องที่ “ดร.อภิชญา” บอกคือ มันจะกลายเป็น “การสร้างบรรทัดฐานใหม่ของสังคม”
“ว่าความก้าวร้าวรุนแรง ในสังคมไทยเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้น ทำอะไรไม่ได้ดังใจ เราต้องแสดงแบบนี้ แล้วเราจะได้”
ปัญหา “คนหัวร้อน” นอกจากเรื่องบุคคลที่ต้องรู้วิธี “จัดการอารมณ์” ของตัวเองแล้ว ภาพใหญ่อย่าง “ภาวะเศรษฐกิจ-สังคม” ที่ทำให้ “คนลำบาก” จน “เครียดสะสม” แบบนี้ก็ต้องถูกแก้ด้วย
อาจารย์จิตวิทยาสังคมรายนี้บอกว่า ถ้าเราไม่ต้อง “ปากกัดตีนถีบ” มากนัก เพื่อให้อยู่รอดในสังคม “การหัวร้อนของเราก็จะน้อยลง มันไปด้วยกันหมดนะคะ”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : thepotential.org
ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก “ควายหลุดถนนV1” , “TMN Cable TV Pattaya”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **