xs
xsm
sm
md
lg

กระเป๋าสาน จักรวาลรุมซื้อ!! Soft Power จากไวรัล “โอปอล” สู่ยูนิเวิร์ส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ออเดอร์พุ่ง ตอบแชตไม่ทัน เมื่อ “โอปอล สุชาตา” พา “กระเป๋าสาน” ฝีมือคนไทยสุดยูนีค ไปเจิดจรัสระดับยูนิเวิร์ส ถือสะพายตลอดช่วงประกวด จนกลายเป็นSoft Powerเพื่อนนางงามรุมซื้อ แฟนคลับตามอุดหนุน กับเส้นทางเบื้องหลังที่บุกลุยเพื่อสังคม ทำหน้าที่ไม่ต่าง “นางงาม” ที่เจ้าของหลงใหล

ไวรัลจน“แชตแตก-ออเดอร์พุ่ง”

น้องโอปอลพูดไม่ถึง1นาทีนะครับ แต่ช่วยให้หลาย100ชีวิต ได้มีรายได้ พลัง Soft Powerแฟนๆ เขาก็มาสนับสนุน ออเดอร์ตอนนี้ถ้าเรารวมกับกระเป๋าที่เรามีอยู่แล้ว แล้วกระเป๋าที่ต้องสานใหม่ มันเกินกว่าที่เราคิดไว้มาก ซึ่งตอนนี้ก็ยังตอบแซตไม่หมดครับ

“ทับทิม-ณัฐวัฒน์ รดิศชัยนันท์” อายุ 28 ปี และ “บิว-ภูพริษฐ์ รักนิ่ม” อายุ 34 ปี เจ้าของแบรนด์กระเป๋าสาน “ARAYA” ที่กำลังโด่งดังไปทั่วโลก หลังจากที่ “โอปอล-สุชาตา ช่วงศรี” Miss Universe Thailand 2024 ถือข้างกายตลอดระหว่างเข้าประกวด Miss Universe 2024 ที่ประเทศแม็กซิโก จนกลายเป็นหนึ่ง Soft Power ของไทย ที่แฟนๆ หลายคนตามมาอุดหนุน

บิว(ซ้าย), ทับทิม(ขวา)

แน่นอนว่านอกจากความภาคภูมิใจของตัวแทนไทยบนเวที ที่ทำผลงานออกมาได้อย่างดี จนแฟนๆ นางงามชื่นชมแล้ว หนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจคือ กระเป๋าสานไทย ที่เธอถือติดตัวไปทำกิจกรรมด้วยตลอด

และไม่เพียงแค่แฟนๆ นางงามหลายคนมาซื้อตามเท่านั้น พอลงจากเวทีประกวดที่เม็กซิโก แล้วคว้ารองอันดับ 3 Miss Universe 2024 มาฝากคนไทย โอปอลยังได้มาไลฟ์พูดคุยกับแฟนคลับ โดยบอกว่า มีเพื่อนๆ นางงามหลายคน เข้ามาขอช่องทางอินสตาแกรมของกระเป๋าเยอะมา เพราะเขาชอบ และเห็นว่าสวย จึงอยากได้ตาม

ถ้าใครที่เป็นแฟนๆ นางงาม หรือที่ได้ติดตามการประกวดในครั้งนี้ เชื่อว่าน่าจะพอเห็นกระเป๋าใบนี้ ผ่านหูผ่านตามาบ้าง เพราะโอปอลแทบจะใช้มันทุกวันข้างกาย ไม่ว่าจะใส่ชุดไหน ลากราตรียาวแค่ไหน เธอก็ไม่ลืมที่จะสะพายมาด้วยตลอด จนเป็นภาพจำในแต่ละวันของการประกวดไปแล้ว ว่าถ้าเห็นโอปอล ก็ต้องเห็นกระเป๋าสานฝีมือของคนไทยใบนี้

ต้านกระแสไม่ไหว จึงคว้าตัว 2 เจ้าของแบรนด์สุดฮอต มาพูดคุยถึงกระแสนี้กัน เจ้าของแบรนด์อย่างทับทิบ บอกถึงความรู้สึกดีใจในครั้งนี้ว่า

สินค้าบ้านอารยา เป็นเพียงร้านเล็กๆ ที่มีความชอบ ในการประกวดนางงาม จึงเกิดเป็นความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมา เพื่อมอบให้กับน้องโอปอลในการประกวดครั้งนี้ และต้องขอบคุณน้องโอปอลมากๆ ที่ทำให้กระแสกระเป๋าขายดีขึ้นมาอีกหลายเท่าตัว


“พอมีกระแสน้องโอปอลถือกระเป๋าสาน ก็ทำเอาคนออเดอร์เข้ามาเยอะมาก จนตอนนี้ ก็ยังตอบแชตลูกค้ายังไม่หมด ซึ่งตอนนี้มีออเดอร์เข้ามา ให้ชาวบ้านมีงานทำ ยาวไปถึง 2 เดือนแล้ว

ต้องขอบคุณน้องโอปอล ที่ได้ถือไปประกวดด้วย รุ่นนั้นก็บอกได้เลยว่า ฟีเวอร์มาก เป็น Soft Powerหลังจากที่น้องได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่3ทำให้แฟนๆ หลายคนเป็นภาพจำ เป็นซิกเนเจอร์ว่า ทุกๆ วัน ที่น้องลงมาจากห้องแต่งตัว น้องถือกระเป๋าของเรา มันเป็นภาพที่ติดตาแฟนๆ

พอน้องกลับมา น้องก็ได้พูดถึงกระเป๋าของเราในไลฟ์ ที่ไลฟ์กับ แม่ปุ้ย-ปิยาภรณ์ แสนโกศิก ก็เลยทำให้เป็นกระแส แฟนๆ ก็ตามหา อยากได้กันเยอะ ทำให้ตอนนี้มีออเดอร์เข้ามาเยอะมาก ก็ต้องขอบคุณตัวน้อง แล้วก็ทีมงานด้วยครับ

ที่มันโดดเด่นสะดุดตา ก็คือว่า ปักเป็นรูปน้อง แล้วก็เขียนคำว่าThailandไม่ซ้ำกับใครแน่นอน เพราะว่ามีใบเดียวในโลกครับ ก็เลยทำให้กระเป๋าใบนี้มีความยูนีคสูงมากๆ แล้วก็ทำให้สะดุดตา โดดเด่น จนเพื่อนนางงามเขาอยากได้ตามด้วยครับ

เราเป็น Local Brand ธรรมดาบ้านๆ ที่ทำงานกับชุมชน การที่ตัวนางงามเอง อยากสร้างแรงกระเพื่อมบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้โลกใบนี้ได้รับรู้ ในการที่เขาไปตรงนั้น มันมีไฟสปอร์ตไลท์ ส่องเข้ามาหาเขาอยู่แล้ว ทุกๆ ที่ไปอยู่ตรงนั้น127ประเทศ”


เจ้าของแบรนด์บอกว่า เดิมทีก็เป็นแฟนด้อมของโอปอลอยู่แล้ว อยู่ในกลุ่มแฟนๆ ตั้งแต่มีสมาชิก 200 คนรก จนตอนนี้เป็นหลักหมื่นแล้ว

“ด้วยความที่เราเป็นแฟนด้อม อยู่ในด้อมของน้องโอปอลอยู่แล้วนะครับ เราตั้งใจว่า อยากทำอะไรให้สักอย่างนึง ที่เป็นความถนัดของเรา มอบให้กับน้อง แล้วทีนี้เราก็เลยได้ถ่ายลงไอจี แล้วก็แท็กไปหาน้อง น้องเห็น น้องก็เลยบอกว่า หนูขอบคุณมากเลยค่ะ เดี๋ยวหนูจะนำไปถือใช้ที่เม็กซิโกด้วยนะคะ ตอนประกวด ตอนนั้นเรายังไม่ได้คิดว่าน้องจะถือทุกวัน

ปรากฏว่า โอปอลเขาถือทุกวันเลย แล้วทีนี้เหมือนปีนี้กิจกรรมเราไม่ได้ติดตามอย่างอื่น คือเราจะเห็นนางงามผ่านการไลฟ์จากทางกองเพจ MUT จะได้เห็นแค่เวลานางงามเดินขึ้นลงลิฟต์ แล้วทีนี้มันก็เลยเป็นภาพจำมากๆ ว่าเวลาน้องโอปอลปรากฏตัว ไม่ว่าจะชุดอะไรก็แล้วแต่ ขนาดใส่ชุดไทยก็ยังถือกระเป๋ากระจูด ไปถ่ายงานข้างนอกก็ถือ ก็แปลว่าน่าจะ comfortable สามารถใช้งานได้หลายรูปแบบมากๆ ครับ

เราไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะมีรูปหรืออะไร น้องลงไอจีขอบคุณเราด้วยนะครับ เราไม่ได้คาดหวังถึงขนาดนั้น เราแค่ให้น้องได้ใช้ เราก็ดีใจแล้ว เพราะเราไม่ได้เป็นสปอนเซอร์ เราไม่ได้เกิดการจ้างอะไรทั้งนั้น เป็นคุณค่าทางจิตใจล้วนๆ เลยครับ น้องก็ซัพพอร์ตเราเต็มที่มากๆ”


ทางด้านบิวเอง ก็บอกว่า ไม่รู้มาก่อนเลยว่า น้องจะเลือกใช้กระเป๋าเราแทบจะทุกวัน ซึ่งตัวเองก็รู้สึก ดีใจมาก และเซอร์ไพรส์เหมือนกัน

และต้องบอกก่อนว่า ตอนที่ทำให้น้องไป ไม่ได้คาดหวังด้วยซ้ำว่า แต่ทำเพียงเพราะชอบ และเป็นแฟนนางงามอยู่แล้ว และตามเชียร์โอปอล มาตั้งแต่ปี 2022 ที่น้องมาประกวดรอบแรกแล้ว

“เราทำเพราะว่าเรารักในตัวน้อง ตั้งแต่ปี 2022 แล้วครับ ใช่ รักมาตลอด แล้วก็เฝ้ารอคอยให้เขาพร้อมที่สุด แล้ววันนี้คือเขาพร้อมที่สุดแล้ว พร้อมที่จะเผยแพร่วัฒนธรรม เผยแพร่ความเป็นตัวเอง แล้วก็ความยูนีคของเมืองไทยหลายๆ อย่าง ที่เขานำไปเสนอ

ปริ่มมากตอนที่เราเห็น เรารู้สึกว่าชาวบ้านได้มีงานทำต่อแล้วแน่ ๆ เลย ต่อจากปีของน้องแอนนาเสือครับ เพราะว่าตอนนั้นแอนนาเสือก็ได้ถือกระเป๋า แล้วมันต่อยอดธุรกิจได้มากเหมือนกันนะครับ แล้วก็มาเป็นน้องโอปอล ซึ่งน้องก็ต่อยอดธุรกิจให้ หรือให้ชาวบ้านในชุมชน แล้วก็เขตพื้นที่ตรงนั้น ที่เขาทำงานสาน เติบโตในเรื่องของธุรกิจได้ เพราะเราไม่ได้ขายแค่คนไทย เราขายต่างชาติด้วย

ที่สำคัญต่างชาตินิยมมากๆ นะครับ ที่เป็นกระเป๋างานแฮนด์เมดเหล่านี้ หรือว่าทุกจังหวัดนะครับ ในประเทศไทยเหมือนจะขายดีขึ้น ในเรื่องของธุรกิจตรงนี้ งานที่มันเป็นงานทำมือจริงๆ ของชาวบ้านในชุมชน ถ้าเปรียบเทียบในช่วงของปีนี้ ช่วงที่ของน้องโอปอลเนี่ย เติบโตมากที่สุดในปีนี้”

สำหรับตัวกระเป๋า ที่ทำให้แฟนๆ อยากได้นี้ เจ้าของแบรนด์บอกว่า เป็นกระเป๋าที่ทำมาจากต้นกระจูด เป็นวัสดุจากวัชพืช จากธรรมชาติ ซึ่งกว่าจะได้กระเป๋าใบนี้มา ก็ใช้เวลาเป็นเดือน

โดยเบื้องหลังสตอรี่ของกระเป๋าใบนี้ เป็นฝีมือจากคนในชุมชนทะเลน้อย จ.พัทลุง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ได้ความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ และใช้หนึ่งสมองสองมือ โดยไม่ได้ผ่านเครื่องจักรเลย ของชาวบ้านในชุมชนเอง ที่ทั้งสาน ปัก แล้วก็ตัดเย็บเองทั้งหมด

“พอตัวน้องโอปอลถือกระเป๋าใบ มันมีสตอรี่ตามมา ว่าใบนี้ทำมาจากธรรมชาติ และที่สำคัญก็คือชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้ด้วย นางงามพอเห็น นอกจากความสวยของกระเป๋าแล้ว ได้รับฟังสตอรี่ตรงนี้ เขาก็เลยเกิดความอยากช่วย อยากสนับสนุน”


ไอเท็มสุดฮิต!!ตีตลาดนางงาม

ไม่ใช่แค่โอปอลเท่านั้น ที่ทางแบรนด์ทำกระเป๋าให้ ก่อนหน้านั้นนางงามคนอื่นๆ ก็เคยถือไป เช่น แอนโทเนีย แอนนาเสือ ซึ่งตอนที่สร้างแบรนด์มา ทั้งคู่ไม่ได้คิดเลยว่า จะตีตลาดนางงาม ขายให้กับคนทั่วไปที่สนใจ แต่ด้วยความที่ชอบดูนางงามมาตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว จึงเพียงแค่อยากให้นางงามคนที่ตัวเองชื่นชมเท่านั้น ส่วนนางงามจะถือหรือไม่ถือ บิวบอกว่าไม่ได้คาดหวังเลย

จุดเริ่มต้นในการตีตลาดนางงามของแบรนด์ บิวเล่าว่า เริ่มจากมีพี่สาวที่รู้จัก ที่เป็นนางงามอยู่แล้ว จึงได้มีโอกาสมาทำให้นางงามได้ใช้ถือกัน

“ตอนแรกคือไม่ได้คิดว่ากระเป๋าจะไปตีตลาดนางงาม แต่ว่ามีพี่ที่รู้จักประกวด แล้วเขาได้ที่หนึ่ง UNIVERSE is YOU นั่นก็คือพี่มีนา เขาเห็นว่าเราลงพื้นที่จริงๆ เจาะลึกจริงๆ เราอยากช่วยสร้างอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชนจริงๆ เราอยากจะมีโอกาส สร้างให้โลกได้เห็นว่า เรามีหัตถกรรมตรงนี้ ที่จะสามารถชูโรงจังหวัดพัทลุงของเรา ให้ยิ่งใหญ่ได้ เราก็เลยรู้สึกว่าอยากจะทำต่อให้มันดีที่สุดครับ”
 
 ทับทิมเล่าถึงกระเป๋าใบแรก ที่ตีตลาดนางงาม โดยเริ่มจากการได้รับทำกระเป๋า ให้กับผู้เข้าประกวด Miss Universe Thailand 2022 ที่ไปเก็บตัวทั้งหมด 30 คน ที่หัวหิน กระเป๋าที่ทำ ก็เป็นกระเป๋าสาน ที่เป็นงานปักของโลโก้มงกุฎของ TPN แล้วก็เขียนว่า Miss Universe Thailand 2022 ซึ่งเป็นปีที่ “แอนนา เสืองามเอี่ยม” มง

“ก่อนหน้าที่เราจะได้เข้าสู่วงการกระเป๋ากระจูด จักรวาลของนางงาม เราก็ทำในส่วนของแบรนด์ของเรามาเรื่อยๆ อยู่แล้ว ก็มีสื่อทีวีมาบ้าง ประมาณ 2-3 ปีได้ที่แล้ว เป็นช่องในรายการทีวี ต้องบอกว่าเป็นจุดเปลี่ยน ก็คือเราได้รับโอกาส ได้ทำเป็นกระเป๋าในรอบเก็บตัว ของผู้ประกวด Miss Universe Thailand ในปีนั้น ที่มาเก็บตัว ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ อยู่ที่หัวหิน เราก็ได้ทำ

แอนนาเสือเป็นนางงามคนแรก ที่ถ่ายรูป แท็กมาที่ร้าน ตอนที่เราทำ เราไม่ได้คาดหวังว่าน้องจะ promote ให้เรา เราแค่ได้รูปนางงามถือจากทางกอง เราก็ดีใจมากแล้ว เป็นโอกาสทองของเรามากๆ แล้ว แล้วน้องก็ทักมาขอบคุณเรา ก็เลยได้คุยกันนะ เราก็เชียร์ แล้วนางงามคนอื่นก็ได้ทำตาม”


หลังจากนั้น ก็เหมือนจะเป็นเรื่องบังเอิญ ที่มีผู้ใหญ่มาติดต่อขอซื้อกระเป๋า เพื่อที่จะไปมอบให้แอนนาเสือ เป็นของที่ระลึก ในงานวิ่งการกุศล เมื่อครั้งที่มาเยือนพัทลุง บิวบอกว่า ผู้ใหญ่ทางจังหวัด ไม่รู้ว่าทางร้านทำให้ Miss Universe Thailand อยู่แล้ว นั่นก็เป็นอีกหนึ่งจังหวะ และโอกาสที่ดีมากๆ

แต่ด้วยความที่ทั้งคู่ชื่นชอบ และรู้จักกับแอนนาเสืออยู่แล้ว เมื่อรู้ว่าแอนนาเสือมาเยือนที่จังหวัด ทั้งคู่ก็ได้นำกระเป๋าอีกใบ ที่ปักเป็นรูปเสือ ไปมอบให้ เพื่อให้แอนนาเสือ ได้ถือไปใช้ในการประกวดที่นิวออร์ลีนส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวที่เคยให้โอปอล

“ก็คือหนูมีกระเป๋าไปมอบต่างหาก ก็คือของที่ผู้ใหญ่ทางจังหวัดเขาซื้อให้ ก็มีชุดนึง หนูก็มีอีกชุดนึง เราก็นึกไม่ถึงเหมือนกัน ว่าน้องจะถือใบนี้ไป แต่ด้วยความที่ คำว่าแอนนาเสือ เราก็ใช้รูปเสือ มันเหมาะสมไปหมด จังหวะนี้มันถูกต้องทุกอย่างแล้ว เพราะวันที่มาส่งที่สนามบิน เราเห็นว่า ทีมงานถือกระเป๋าใบนี้ เราก็ลุ้นว่าน้องจะถือไหม

คล้ายๆ กับว่าน้องโอปอลเหมือนกัน ทีมงานถือ เราก็ไม่คิดว่าน้องจะถือใช้จริงๆ หรือจะมีรูปมาจริงๆ ใบนั้นน้องก็ใช้เต็มที่ ใช้ทุกวันนะครับแต่ว่ารูปไม่ได้ออกมา แต่น้องบอกว่าน้องใช้ทุกวันนะ”

[แอนนาเสือ Miss Universe Thailand 2022]
ก่อนหน้านั้น บิวยังบอกอีกว่า ยังมีนางงามคนอื่น ก็แวะเวียนมาอุดหนุนกระเป๋าสานฝีมือคนไทยอีก ไม่ว่าจะเป็น “แอนโทเนีย โพซิ้ว” Miss Universe Thailand 2023 และรองชนะเลิศอันดับที่ 1 Miss Universe 2023 หรือจะเป็น “นาตาลี เกลโบวา” Miss Universe 2005 ก็เคยได้ถือกระเป๋าแบรนด์นี้แล้วเช่นกัน

“มีนางงามคนอื่น ตอนแรกเลย น่าจะเป็นคุณนาตาลี เกลโบวา Miss Universe 2005 อันนี้คือคนแรกเลย แต่ว่าเป็นลูกค้านะครับเพื่อคุณนาตาลี ซื้อไปมอบให้ แล้วเราได้มีรูปลงจากเพจ

ก็ใจดีมากๆ ว่าเราไม่ได้จ่ายค่า promote อะไรเลย แต่คุณนาตาลีก็คือชอบ ด้วยความที่เขาชอบ เขาก็ถ่ายลงInstagramนะครับ แล้วเขาก็แท็กมาให้ เขาก็อนุญาตให้เรานำรูป เพื่อที่จะมาขาย มาโพสต์หาออเดอร์ต่อได้ครับผม

ก็มีคุณนาตาลี เกลโบวา มี น้องแนท-อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์ Miss Universe Thailand 2015 แล้วก็มี น้องแอนนาเสือ แอนโทเนีย

แอนโทเนียเนี่ย ตั้งแต่Miss Supranationalตั้งแต่ยังไม่ประกวดMiss Universeคือแอนโทเนียซื้อ คุณแม่ แล้วก็ญาติๆ ของแอนโทเนียมาซื้อ ตั้งแต่เราขายงานเพ้นท์ ตั้งแต่ยังไม่ได้มีชื่ออะไรมากมายเลย เราก็เก็บรอบบิลมาเรื่อยๆ

มี เฟิร์ส หวัง,วีนา-ปวีณา ซิงค์,เจสซี่-กิระนา จัสมิน ชูว์เทอร์ หลายๆ คน ก็จนทำให้แบบว่า ใครอยากมง ก็ต้องถือกระเป๋าเรานะ จะได้มงใหญ่ ในประเทศไทย

เหมือนปีนี้ยิ่งเป็นภาพจำมากๆ ที่น้องโอปอลถือ จนมาปีล่าสุด ที่เราทำใบนี้ มันก็เป็นภาพจำมากๆ มันก็มีนางงามหลายๆ คน เขาก็อยากได้ น้องเบลล่า-อะราเบลล่า สิตานัน (Miss Intercontinental 2024) ที่กำลังประกวดที่อียิปต์นะครับ แล้วก็มี น้องกานต์-ชนนิกานต์ สุพิทยาพร นางสาวไทย”

[แอนโทเนีย Miss Universe Thailand 2023]




ส่วนใหญ่ที่พูดมานั้น นางงามรีเคสมาจะซื้อด้วยทั้งนั้น แต่ด้วยความที่ชื่นชอบในวงการนางงามอยู่แล้ว ทางร้านก็อาสาอยากทำให้ฟรีๆ ทับทิมบอกว่า ทำให้แล้ว นางงามจะถือหรือไม่ถือ ก็แล้วแต่ แต่ถ้าน้องนางงามอยากได้ เราก็ทำให้ เต็มความสามารถที่ทำได้ ชื่อเสียงตรงนี้ที่เข้ามา มันเหมือนกับการแลกโอกาส

“ใจแลกใจนะ เราไม่ได้ต้องไปเรียกร้องว่าอะไร เราคิดแค่ว่า สักครั้งนึง น้องเขาอยากถือกระเป๋าเรา ไปในการประกวดนี้ แปลว่ามีความหมายต่อเขาแล้ว ในการที่เขาทักหาเรามา เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่เขาอยากนำไปพรีเซ้นต์ นำไปเสนอต่อสายตาทุกๆ คน ในช่วงเวลานั้น เราว่ามันเป็นคุณค่ามากกว่าราคา ที่เราจะได้

ด้วยความที่มันเป็นแฮนด์เมดจากประเทศไทย บิวรู้สึกว่า มันไม่ใช่แค่กระเป๋ากระจูด แต่ประเทศไทยยังมีหลายๆ อย่าง หลายๆ สินค้า ที่ยังเป็นแฮนด์เมดเหมือนกัน ที่สามารถต่อยอดตรงนี้ได้ เหมือนทำให้โลกได้เห็นว่า ประเทศไทย เรายังมีสิ่งดีๆ อีกมากมาย ที่ยังควรทรงคุณค่า ที่อยากให้สืบทอด หรือว่าให้ลูกหลานที่ยังรัก แล้วก็ยังสืบสานวัฒนธรรมเหล่านั้นไปตลอดครับ”

[นาตาลี เกลโบวา Miss Universe 2005]
[แนท Miss Universe Thailand 2015]




[กานต์ นางสาวไทย 2566]

ขุดโครงงาน มาสานต่อให้ปัง

กระเป๋าสานแบรนด์ “ARAYA”มีจุดเริ่มต้นจากวิกฤตโควิด เมื่อ 5 ปี ที่แล้ว เริ่มจากคู่รัก 2 คน ที่ตัดสินใจลาออกจากงาน ที่บิวเอง เป็นพนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง ส่วนทับทิมเอง ก็ทำงานอยู่ที่ทิฟฟานี่โชว์ พัทยา มาอยู่บ้าน

หลังจากลาออกมา เริ่มแรกช่วยกันไลฟ์ขายของกินผ่านทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นพวกขายกะปิ เครื่องแกง ปลาทูแดดเดียว สะตอ หรือเรียกได้ว่าของกินขึ้นชื่อต่างๆ ของทางภาคใต้ ทั้งคู่ก็นำมาขายหมด ซึ่งตอนนั้นก็มีกระเป๋ากระจูดไปขายด้วย แต่ก็ยังไม่ได้ตีแบรนด์

พอทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็เกิดปัญหาของกินเน่าเสียบ้าง จากการขนส่งไม่ทัน เริ่มขาดทุน ไม่ค่อยมีกำไร ทำให้ทั้ง 2คน เริ่มมานั่งคิดกันว่า พื้นที่อยู่ในตอนนั้น มีของดีอย่างกระเป๋าสานกระจูด ที่เป็นอาชีพของชาวบ้านแถวนั้นอยู่แล้ว ก็เล็งเห็นตรงนี้ จึงตัดสินใจเอากระเป๋ามาตีแบรนด์เป็นของตัวเอง

“บิวว่ามันคือจังหวะ ด้วยตัวของบิวเอง เราทำงานธนาคาร เราไม่คิดอยู่แล้วว่า เราจะลาออกจากธนาคาร เราคาดหวังที่จะเป็นผู้จัดการ ผู้ช่วยผู้จัดการ เลขาอยู่สำนักงานใหญ่ก็ได้ เรามีโอกาสแล้ว เราถึงโอกาสของเราแล้ว

แต่ ณ วันนั้น เป็นช่วงที่รู้สึกว่า มันยังไม่ใช่ ดังนั้นก็รีบหาโอกาสใหม่ ให้กับตัวเองแค่นั้น ตอนแรกเราไม่ได้มาทำกระจูดด้วยนะครับ ทำเกษตรกรเล็กๆ มาปลูกผักบุ้ง มาเลี้ยงปลา ลองอะไรที่เรารู้สึกว่า เศรษฐกิจพอเพียงมันอาจจะจุนเจือชีวิตให้เราได้เติบโตก็ได้

ตอนนั้นคือทำทุกอย่าง ด้วยความที่โควิด จนเรามาเจอกระเป๋ากระจูด ส่งยับยังไงกระเป๋าก็ยังใช้ได้ คือมันไม่ใช่ของกิน คือเก็บไว้ได้ แล้วก็มันขายง่ายในช่วงนั้น คนกลับมาซื้อซ้ำ ซื้อไปให้เพื่อน ซื้อไปแจก จนเราเห็นแล้วว่า หน้าตาของลูกค้าเราเป็นใคร เราก็จับทางถูก ว่าเราจะทำกระเป๋าขาย โดยเราไม่ต้องไปผ่าปลา ไม่ต้องมาแกะเม็ดสะตอแล้ว”


จริงๆ แล้วไอเดียกระเป๋ากระจูด เป็นสิ่งที่บิวศึกษาหาข้อมูล เพื่อทำโครงงานมาตั้งแต่ช่วง ม.ปลายแล้ว แต่พอเรียนจบมัธยม ก็พับเก็บไว้ เดินหน้าเป็นพนักงานธนาคารตามที่ฝันไว้ ซึ่งเขาบอกว่า ไม่คิดเหมือนกัน ว่าโปรเจกต์นั้น จะถูกหยิบยกขึ้นมา จนทำให้แบรนด์ตัวเองมีชื่อเสียงได้ในวันนี้

“ถ้าพูดถึงจุดเริ่มต้นนะครับ ต้องยกความดีความชอบให้กับพี่บิว เพราะว่าตัวเขาเองเป็นคนนครศรีธรรมราช คือตัวเขาเอง ตั้งแต่เด็ก เขาได้ทำโครงงาน”

ส่วนบิว ที่เรียกได้ว่า เป็นคนริเริ่มไอเดียนี้ มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ก็บอกว่า ตอนนั้น มันเป็นความคิดแค่ทำส่งอาจารย์ พอเรียนจบ ก็พับเก็บไป ไม่คิดเหมือนกันว่าวันนี้ จะได้หยิบมาใช้อีก

“ตอนจบ ม. 6 นะครับ ก็ได้ทำเกี่ยวกับโครงงาน เขาเรียกโครงงานเนาะ ช่วงของม.ปลายครับ เกี่ยวกับกระจูด เพราะว่าในชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ เขาทำกันอยู่แล้ว เขาสานกันอยู่แล้วครับ

ก็ไปนั่งสอบถามว่า วิธีการแต่ละขั้นตอนเป็นยังไง ทำยังไงบ้าง เรียนรู้ยังไง ยากหรือไม่ ถ้าเราจะให้มันเติบโตมากกว่านี้ เราต้องทำยังไง อะไรอย่างนี้ครับ ในส่วนของโครงการ ณ เวลานั้น ที่บิวพอจำได้ หลังจากนั้นก็คือเหมือนทำแค่ส่งอาจารย์ แค่นั้นเอง แล้วก็หลังจากนั้นเราก็ไปเรียน ไปใช้ชีวิตปกติ จนทำงาน แล้วก็จนลาออก

ย้อนความไปในช่วงโควิดตอนนั้น ทับทิมเอง ทำงานอยู่ที่โรงละคร อยู่ที่พัทยา อยู่ที่ทิฟฟานี่โชว์ แล้วพี่บิวทำงานอยู่ที่ธนาคาร พอเจอปัญหาวิกฤตโควิด เราก็ลาออกมา ตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้คิด ว่าเราจะทำในส่วนของผลิตภัณฑ์กระจูด เรามาขายออนไลน์ก่อน

พี่บิวก็จะนำสินค้าคล้ายๆ OTOP เป็นอาหาร เป็นของใช้ ก็รวมๆ กันมาไลฟ์ แล้วทีนี้พอวันนึงเราได้ไลฟ์กระเป๋ากระจูด ก็ปรากฏว่ากระเป๋ากระจูดที่เรานำมาขาย มันหมดเลย มัน sold out ตั้งแต่รอบแรก

ก่อนสร้างแบรนด์ เราขายเป็นใบเปล่าๆ ครับผม เป็นกระเป๋าไม่ได้ปัก ไม่ได้มีอะไรเลย ขายเป็นราคามาบวก 10 บาท 20 บาท จากต้นทุนที่ราคา 60-70 บาท ในตอนนั้น มันก็ขายดีมากนะครับ มากี่ทีกี่ทีก็หมด เป็นสามสี่ห้ารอบ เราก็เลยมามองเห็นแล้วว่า คนสนใจในส่วนของกระเป๋าสาน เราก็เลยอยากขายความเป็นแบรนด์ ความเป็นตัวเราเอง”


พวกเขาเริ่มจาก นำกระเป๋าสานที่อาจจะดูเฉยๆ ในสายตาหลายๆ คน นำมาทำให้ดูมีความเก๋ ความทันสมัย เพื่อให้ลูกค้าอยากซื้อมากขึ้น เริ่มจากการนำกระเป๋ามาเพ้นท์เป็นชื่อต่างๆ ต่อยอดเป็นปักรูปต่างๆ บนกระเป๋า

“มาคุยกันว่า ตัวทับทิมทิมเองก็มีหัวไอเดียเรื่องศิลปะ พี่บิวเขาก็มี ปีแรกเอากระเป๋ามาเพ้นท์ชื่อก่อน ด้วยความที่เราอยากใส่ความซิกเนเจอร์ของกระเป๋า ให้มันดูยูนีคขึ้น คือผู้ใช้เขาก็จะได้รับรู้ว่า กระเป๋านี้มันทำมาเพื่อเขาจริงๆ ไม่ได้ทำมาเพื่อขายคนอื่น เราก็พรีออเดอร์เป็นงานเพ้นท์ชื่อนะครับ

เพ้นท์ชื่อมาได้สักระยะหนึ่ง เข้าปีที่ 2 เราก็ได้ไป survey ในระแวกชุมชน จากที่แรกที่เราทำอยู่ ต.ขอนหาดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่จักรสาน แต่ว่าไม่ได้ใหญ่เท่าทะเลน้อย ที่อยู่ จ.พัทลุง ที่เราอยู่ตอนนี้นะครับ

เราก็surveyใช้วิธีการเดิน แล้วก็พูดถามกับชาวบ้าน เรื่องสารทุกข์สุกดิบ เราก็นำข้อมูลมา เพื่อที่จะได้วิเคราะห์กันว่า เราจะสามารถทำยังไงได้บ้าง ที่จะทำให้แบรนด์ของเรา สามารถที่จะทำไปพร้อมๆ กับการแก้ปัญหาของชุมชนเหล่านี้ได้

คืออยู่ที่ทะเลน้อย จะเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมกระจูดเลยนะครับ หลักๆ คือสานกันได้เกือบทุกคนในหมู่บ้าน เราก็เลยได้ตัดสินใจว่า โอเค เราจะตั้งร้าน เราจะสร้างแบรนด์ที่ทะเลน้อย

เราได้รับรู้ปัญหาของชาวบ้าน ว่าชาวบ้านมีปัญหาความยากจนนะครับ มีฝีมือ แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะเอาไปขายใคร คือเขาสานได้สวยเลย กระปักได้สวยเลย ซึ่งตัวเราเองเป็นคนรุ่นใหม่ สามารถหยิบจับเทคโนโลยีออนไลน์ เข้ามาเป็นสื่อ ในการที่จะเป็นช่องทางการขายได้

พอเราเริ่มสร้างแบรนด์แรกๆ เราก็ยังจับทางไม่ถูกว่า เราจะอะไรยังไง แต่พอเราได้มารู้ว่า ชาวบ้านมีของดี ชาวบ้านสานได้ ชาวบ้านปักกระเป๋าได้ แล้วทุกสิ่งทุกอย่างคือ one stop service อยู่ในทะเลน้อย คือจบเลย คือคุณจะได้กระเป๋าหนึ่งใบ ภายในหนึ่งวัน เพียงแค่คุณมาที่ทะเลน้อย ก็คือทุกอย่างมีของดีอยู่แล้ว เราแค่ต้องคัดสรรเข้ามา

กระแสเหมือนช่วงที่ญาญ่าเขาถือ ซึ่งไม่ใช่แบรนด์เลยครับ กระเป๋ากระจูดใบละ 100 บาทเลย แต่คนก็มาสั่งตาม มันก็เลยทำให้เรามันอยู่ในจังหวะที่ วงการกระจูดขาขึ้นพอดี มันก็เลยทำให้เราง่ายในปีนั้นนะครับ จนเราตั้งหลักได้ เราเก็บเงินได้ก้อนนึง เรามาเปิดร้าน แล้วเราก็มาสานต่อ มองหาดีเอ็นเอของเรา ว่าเรามีจุดแข็งอะไรเรามีจุดอ่อนอะไร จนมาถึงทุกวันนี้ครับ”


แฮนด์เมดด้วยใจ จนต้อง “ซื้อซ้ำ”

โดดเด่นด้วยสีสัน และลายปักมือใบต่อใบ มีใบเดียวในโลก เช่น ลวดลายภาพเหมือน ลายสัตว์เลี้ยงต่างๆ ที่เกิดจากการปักและจักสานจากหัวใจ ของคนในชุมชนทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

นอกจากลวดลายงานกระจูดอันปราณีต จากทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น ผสานความคิดสร้างสรรค์ เป็นผลิตภัณฑ์โดดเด่น และสวยแปลกตาแล้ว ที่สำคัญเลย เจ้าของแบรนด์ก็บอกว่า ที่ทำให้ลูกค้ามาซื้อซ้ำ เพราะการบริการแบบใส่ใจ

“บิวว่า จุดเด่นของทางร้านเลย นั่นก็คือคุณภาพนะครับ แล้วก็ service mind เพราะเราบริการแบบเต็มที่ เหมือนลูกค้าคาดหวังแค่ 10 แต่เราใส่เต็ม 100 ตลอด แล้วบิวเป็นคนที่ QC งานเอง คือเรา2คนช่วยกัน QC ว่า อันไหนที่ตก QC คือเราก็จะไม่ขาย หรืออาจจะขาย แต่เราขายในยอดขายที่ไม่ได้กำไร อันนี้เรารู้สึกว่าคือเสน่ห์ของเรา ตอนนี้ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ทางร้าน ทำมาตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงตอนนี้ แล้วมันเป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบ แล้วก็กระจายผลงาน กระจายบอกต่อกันเอง

บางทีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่มันเป็นความสำคัญของเขา เราก็เพิ่มเติมให้ อันนี้เราไม่อิงถึงร้านอื่นนะครับ แต่ว่าแบบบางทีรูปแบบAก็คือจะต้องเป็นAเลย เราไม่ได้ขายแบบนี้ เหมือนลูกค้าอยากได้Aแต่มีBเล็กๆ น้อยๆ เราก็ทำแบบนั้นให้ลูกค้า”

ส่วนทับทิมเอง ก็บอกเอาไว้ถึง 3 อย่าง ที่ทำให้ลูกค้าติดใจ แล้วกลับมาซื้อซ้ำ นั่นก็คือ1. service 2. quality 3. story

“หนูจะแบ่งไว้เป็น 3 อย่าง จุดเด่นของร้านนั้นก็คือมี3อย่าง นั่นก็คือมี service ก็คือการบริการนะครับ แล้วก็มี quality ที่เป็นคุณภาพนะครับ แล้วก็มี story ที่เป็นเบื้องหลัง

ถ้าเอามาเรียงกัน ลูกค้าแยกไม่ออกหรอก ว่าสิ่งไหนสวยกว่ากัน แต่สิ่งที่เรามีมากกว่านั้น คือเราทำงานกับชุมชน เพื่อชุมชน แล้วก็เพื่อสังคมด้วย เราพยายามที่จะให้แบรนด์ไปในทิศทางนี้ แล้วทุกๆ ครั้ง เราจะเน้นย้ำกับลูกค้าเสมอว่า การserviceของเรา เราบริการตั้งแต่ก่อนขาย แล้วก็หลังขาย

คำว่าก่อนขายคือ หนูจะไม่มีการปักตะกร้า หรือการที่ทำสต๊อก แล้วขายโดยไม่ได้คุยกับลูกค้า ลูกค้าคนแรกจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่หนู ก็เป็นพี่บิว ที่เป็นคนคุย เพราะว่ากระเป๋าของเรา เราต้องรู้ก่อนว่า ลูกค้าต้องการไซส์เล็กหรือไซส์ใหญ่ สีไหน ไซส์ไหน คุณจะใช้งานอะไร นั่นจึงเป็นจุดเด่น ทำให้เราเป็นเราในวันนี้”





ทับทิบ บอกถึงจุดเด่นอีกอันของร้านว่า ทางร้านเปิดโอกาสให้กับลูกค้าดีไซน์ร่วมกับเจ้าของแบรนด์ นอกจากคำแนะนำจากทางร้านแล้ว ลูกค้าอยากได้แบบไหน ก็สามารถรีเคสมาได้ทุกอย่าง อีกทั้งถ้าทำไปแล้วไม่ถูกใจ ก็สามารถนำมาปรับแก้ได้อีก เพราะทางร้านให้ความสำคัญ และอยากให้ลูกค้าพึงพอใจ ในกระเป๋าที่จะซื้อไปถือข้างกายมากที่สุด

“กระเป๋าที่เป็นจุดเด่น พูดง่ายๆ ว่า เราขายในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ นั่นก็คือ กระเป๋าที่ลูกค้าสามารถดีไซน์ได้ไปร่วมกันกับเรา ไม่ใช่เราทำมาเพื่อตั้งไว้ แล้วขาย ว่านี่เราคิดมาดีแล้ว เราว่ามันสวยที่สุดแล้ว เพื่อมายัดเหยียดให้เขาซื้อ ไม่ใช่ เราเปิดโอกาส โดยการที่เราคุยกันว่า ลูกค้าต้องการสิ่งไหน เพื่อที่เราจะได้ทำในสิ่งนั้น ให้ตรงใจกับลูกค้ามากที่สุด นี่ก็เลยเป็นจุดเด่นในแบรนด์ของเราด้วยครับผม ก็คือชอบไม่ชอบก็สามารถแก้ไขกันได้ จนลูกค้าประทับใจมากที่สุด

สินค้าที่มีอยู่แล้ว ถ้าลูกค้าเขาอยากเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการปักชื่อ เพื่อให้มีใบเดียวในโลก หรือการเปลี่ยนอะไหล่ตกแต่งอะไร เราก็สามารถที่จะทำให้กับลูกค้าได้”

เจ้าของแบรนด์กระเป๋าชื่อดัง อย่างทับทิบ ยังฝากไปถึงคนทั่วโลกอีกว่า ฝีมือคนไทย ไม่เคยแพ้ชาติใดในโลก เพียงแค่ขาดการประชาสัมพันธ์เท่านั้นเอง

“หนูอยากเป็นตัวแทนของช่างหลายๆ คน ครูศิลป์หลายๆ คน ที่เขาทำงานตรงนี้อยู่ อยากที่จะสื่อสารให้กับทุกๆ คนทั่วโลกเลย ได้รับรู้ว่า ฝีมือคนไทย ไม่เคยแพ้ชาติใดในโลกเลย เพียงแค่ขาดการประชาสัมพันธ์ แล้วก็การสนับสนุนที่มากพอ ช่างบางคนเขาทำงานออกมาได้สวยมากๆ แต่ขาดการประชาสัมพันธ์ ก็เลยทำให้งานชิ้นนั้น มันมีคุณค่า แต่ไม่ได้มีคนมองเห็น

งานที่มีคุณค่า มันต้องเกิดการมองเห็นก่อน เพื่อที่จะให้งานชิ้นนั้นได้ตีเป็นราคา สุดท้ายแล้วคนทำงาน ต้องได้เงิน เพื่อที่จะให้เงินมาซัพพอร์ตให้ครอบครัวแต่ละคน อยากให้อุดหนุนคนไทยเยอะๆ

กว่าจะได้แต่ละชิ้น ต้องเกิดจากความตั้งใจ ความใส่ใจ และความพิถีพิถัน สิ่งเหล่านี้แหละครับผม มันเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ แต่มันเป็นเอกลักษณ์ของไทยเราจริงๆ อยากให้คนไทย ช่วยกันซัพพอร์ตกันเยอะๆ ครับ”






ขาดประสบการณ์ ≠ ไม่สำเร็จ

ทับทิบบอกว่า เส้นทางนี้ไม่ง่ายเลย พวกเขาต้องเริ่มจากศูนย์จริงๆ แล้วเราก็ค่อยๆ หาประสบการณ์ด้วยตัวเอง บวกกับชีวิตที่ผ่านมา ไม่เคยเป็นเจ้านายตัวเอง จึงไม่รู้ว่าการปัญหาที่เข้ามาในแต่ละวัน ต้องบริหารยังไง แต่ก็พยายามที่จะเรียนรู้มาเรื่อยๆ

ที่ผ่านมามีล้มเหลว มีเฟลในชีวิต โดยเฉพาะในตอนที่ขายของออนไลน์ ที่ยังไม่ใช่กระเป๋า แต่ก็พยายามฮึดสู้กันมาตลอด เพราะรู้สึกว่า ไม่สามารถที่จะแบมือขอเงินพ่อแม่ได้อย่างเดียว

“โชคดีที่ว่า เรายังมีกันและกันในวันนั้น หันหน้าไปมองเขา ในวันที่เราต้องขับรถมอเตอร์ไซค์ตากฝนแรกๆ เพื่อที่จะไปส่งของ เพื่อที่จะได้ไปซื้อของมาขาย หนูยังจำความรู้สึกนั้นได้ มันก็เลยหล่อหลอม ทำให้เรามีประสบการณ์

เราขาดประสบการณ์ในการเรื่องทำธุรกิจ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ เราขาดประสบการณ์ในเรื่องการบริหารคน ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถเรียนรู้ได้ เราเรียนรู้ใหม่ทุกวัน ปัญหามีใหม่ทุกวันนะ มันเป็นจุดที่เราภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะหยุดพัฒนา เราก็ยังต้องทำมาเรื่อยๆ

มันมีช่วงนึง หนูเจอปัญหาหนักในเรื่องของธุรกิจ จนทำให้หนูคล้ายๆ คนเป็นซึมเศร้า ด้วยความที่หนูไม่ไปหาหมอ หนูเลยไม่รู้ว่าตัวเองเป็นซึมเศร้าระดับไหน ตอนนั้นงานมันไม่ได้กระทบเยอะนะ แต่ตัวหนูเอง มันมาถึงช่วงที่ปัญหามันรุมเร้า เกี่ยวกับลูกน้องบ้าง เกี่ยวกับงานลูกค้าบ้าง คือมันสะสม ด้วยความที่เราก็ไม่ได้เรียนการจัดการ การบริหารมา เหมือนพี่บิวเขาจะเรียนสายตรงมา เขาก็จะแก้ไขปัญหาได้

หนูก็เก็บสะสมมาเรื่อยๆ ครับ เพราะมันเป็นปัญหาก้อนใหญ่ หนูเคลียร์ไม่ได้ ในทุกๆ วันหนูไม่อยากทำอะไรต่อ เหมือนหนูหมดแพสชั่น หนูลืมความเป็นตัวเองไปเลย หนูมอง หนูก็รู้สึกเฉยๆ

ย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หนูเพิ่ง 22 หนูก็ค่อนข้างที่จะเด็กมาก เราก็ยังไม่โตพอ ที่จะรับปัญหา พูดง่ายๆ ว่า ธุรกิจเรามันโตขึ้นมา มากกว่าอายุเรา กว่าประสบการณ์ที่เรามี

พอปัญหาพวกนั้นมันถาโถมเข้ามา เราเคลียร์ไม่ได้ แล้วเราก็เป็นประเภทที่ ไม่บอกกับคนอื่น เราก็เก็บไว้ พูดง่ายๆ ว่ามันเหมือนของแถม จากการที่คุณได้งานเยอะ คุณก็จะมีปัญหาเยอะ มันเป็นสิ่งที่มาด้วยกัน มันของแถมจากอาชีพที่เราทำ จนวินาทีที่หนูรู้สึกว่าหนูกลับมาแล้ว วินาทีที่หนูเคลียร์กับตัวเองได้จริงๆ คือหนูก็เรียกทีละคนมาเคลียร์”


แม้จะเจอปัญหามาตั้งแต่วิกฤตโควิด-19 จนต้องลาออกจากงาน แต่บิวเองก็เชื่อว่า ถ้าพยายาม หรือตั้งใจทำ ไม่ยอมแพ้ เชื่อว่ามีโอกาสที่รออยู่แน่นอน

“เรารู้สึกว่าเรายังทำได้ ยังมีมือมีเท้า มีสมอง มีความคิด บางทีมันอาจจะต้องรอวัน ที่เป็นวันของเรา สำหรับบิวนะ บิวคิดแค่นี้จริงๆ ว่ามันจะต้องเป็นวันของเราสิสักวันนึง ทำไมเราถึงเรียนจบ เพราะว่าเราพยายาม ทำไมเราถึงทำอย่างโน้นอย่างนี้ได้ ทำไมเราถึงผิดหวัง มันคือสิ่งที่เราต้องเจอ

ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตาม ที่เราเจออะไรที่มันเป็นปัญหา ที่เรารู้สึกว่าเราแก้ไม่ได้ วันนึงมันจะต้องแก้ได้ ถ้าเรารู้จักที่จะพยายาม และอย่ายอมแพ้กับสิ่งที่มันจะเกิดขึ้น เราต้องมองไปให้ไกลว่า วันข้างหน้า เราอาจจะแก้ไขปัญหา หรือว่าดำเนินชีวิตไปในรูปแบบที่ดีที่สุด ในแบบที่เราอยากจะเป็นได้

อาจจะต้องมองคนที่แย่กว่าเรา ถ้ามันมีคนที่แย่กว่า มันก็เป็นแรงบันดาลใจ หรือว่าแรงจูงใจ ให้เรารู้สึกว่าต้องฮึดสู้ให้มากกว่านี้สิ พยายามให้มากกว่านี้สิ”

ยอมรับว่าในการทำธุรกิจของทั้งคู่ ก็มีไม่ลงรอยกันบ้าง วีนกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา แต่พวกเขาก็จับมือกันผ่านมาได้ เพียงเพราะการเปิดใจคุยกันทุกครั้งที่มีปัญหา

“สำหรับบิว อาจจะมีการเถียงกันบ้าง ในเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่ว่าสุดท้ายแล้ว ที่ลงตัวได้เลยจริงๆ ก็คือการคุย การให้คำปรึกษา หรือการบอกในสิ่งที่ อะไรที่ดีที่สุด แก่กันและกัน ในเรื่องของผลงาน”

ในส่วนของทับทิมเอง ก็มองว่า ตอนแรกมันเป็นอะไรที่ยากมาก ในการที่เราจะจูนเข้าหากัน แต่สิ่งที่สำคัญในตอนนี้ ที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ คือ การรับฟังคนอื่นให้มากขึ้น

“ตอนแรกมันก็ยากแหละครับ ในการที่เราจะจูนเข้าหากัน มันเหมือนคุณก็เก่งมากในเรื่องของคุณ ฉันก็เก่งมาในเรื่องของฉัน พอมันมีคำว่าอีโก้เข้ามา แรกๆ มันก็ทำงานยาก แต่พอหลังๆ มา สุดท้ายเราลองฟังกัน ลดกันมาคนละครึ่ง มันก็จะสบาย

ในเรื่องนี้ มันไม่ใช่แค่ชีวิตคู่นะครับ การที่เราลดละการเป็นตัวเอง ความมีทิฐิ รับฟังผู้อื่นมากขึ้น มันเป็นข้อดีอีกหนึ่งข้อ ที่จะทำให้เราโตขึ้น ในอายุ 22 ปี หนูไม่ฟังใคร หนูก็ไม่สามารถ ย้อนกลับไปแก้อะไรได้อีกแล้ว ก็ไม่เป็นไร นั่นเป็นบทเรียนของหนู

แต่วันนี้ 28 ปี หนูฟังคนอื่นมากยิ่งขึ้น ฟังให้ได้ใจความ ฟังในสิ่งที่เขาจะสื่อ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียงแบบไหน คำพูดแบบไหน เราฟังก่อน ฟังแล้วก็ทำความเข้าใจ สุดท้ายแล้วเราก็หาข้อสรุปด้วยกัน แล้วมันก็จะออกมาเวิร์ค”


ให้หนทางหนี “ยาเสพติด-การพนัน”

มากกว่าการเป็นแบรนด์รักษ์โลก ทางแบรนด์ยังกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ด้วยการเปิดโอกาสให้น้องนักเรียน นักศึกษา และคนในชุมชนทะเลน้อย จ.พัทลุง รับงานปักกระเป๋า เพื่อสร้างรายได้ เพราะเห็นถึงปัญหาความยากจนของคนในชุมชน จึงอยากมอบโอกาสเหล่านี้ให้

“จากวันนั้นเรามีไม่ถึงพันนึง แต่วันนี้เรามีเงินที่สามารถช่วยให้ใคร หลายๆ คน ให้มีรายได้ วันที่ทับทิมอยากได้โอกาสมากๆ หนูอยากให้ใครสักคนนึงให้งานหนู พอเราได้ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชน พูดง่ายๆ ว่า เป็นชุมชนที่ห่างไกลความเจริญมากๆ คือการที่เขาจะมาเซเว่น เขาต้องขับรถประมาณ 30 นาที

เราต้องบอกก่อนว่า มันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็จริงครับ แต่ชุมชนที่เขาอยู่ ความเจริญมันสวนทางกัน แล้วทีนี้พอเราได้พูดคุยกับชาวบ้าน เรารู้แล้วว่าปัญหาความยากจน มันเป็นปัญหาหลักๆ เลย พอยากจน ทางออกของการแก้ปัญหาคือ พวกเขาไม่ได้มีรายได้ สิ่งที่จะไปซ้ำเติมเขาคือ ยาเสพติด การพนัน ด้วยความที่ไม่ได้ใช้ความรู้ เพื่อที่จะได้เปลี่ยนแปลงตัวเองนะครับผม

เราไปสร้างให้เขามีคุณค่าก่อน ก่อนที่จะทำอะไร คือให้เขาได้เห็นภาพเดียวกันกับที่เราเห็น การที่เขาทำงานในทุกๆ วัน แน่นอนว่ามันมีรายได้เกิดขึ้น หนูก็จ่ายเงินทุกวันเลยนะครับ เพราะว่าเขาต้องกินต้องใช้ทุกวัน พอเขาเห็นภาพเดียวกันแล้ว ว่า งานที่เขาทำ จากแรกๆ ที่มันก็ยังไม่ได้สวยมาก เรา develop กว่าจะได้งานที่standardของเรา ก็นานพอสมควร”


กระเป๋าสานสวยๆ ที่เราเห็นกันนี้ เรียกได้ว่าเป็นงานแฮนด์เมด ฝีมือของคนไทยทั้งหมด บิวบอกว่า ทางร้านมีพนักงานเกือบ 50 ชีวิต ที่เป็นคนในชุมชนทะเลน้อย จ.พัทลุง

มีพนักงานที่มีตั้งแต่อายุ 10 ขวบขึ้นไป ไปจนถึงคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ซึ่งทุกคนไม่มีเงินเดือน แต่จะทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง ก็คือคิดเป็นรายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ ถอนต้นกระจูด ปลูก สาน ปัก

“ก็เริ่มตั้งแต่ 10 ขวบครับตอนนี้ ที่ทำงานร่วมกันกับเรา 6-7คน ที่แบบว่าอยู่ด้วยตั้งแต่เริ่มต้น ตอนนี้ก็เรียนปริญญาอยู่หนึ่งคนนะครับ แล้วก็อยู่ ม.4 ม. 5 ก็เป็นเด็กน้อยในชุมชนทั้งหมด ยังไม่ได้มีเด็กของจังหวัดอื่นมาเรียน หรือว่ามาทำงานร่วม”

ทับทิบเล่าถึงเหตุผล ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน เพราะอยากให้น้องๆ มีรายได้เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระพ่อแม่ อย่างที่บอกไปว่า หลายครอบครัว ก็ค่อนข้างยากจน การได้ช่วยตรงนี้ นอกจากจะช่วยให้เด็กๆ มีรายได้แล้ว ยังช่วยให้มีอาชีพติดตัวไป เผื่อวันนึงเด็กๆ เหล่านี้ อาจจะใช้อาชีพตรงนี้ เป็นที่พึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต

 
 “ทำไมเราถึงเปิดโอกาสให้น้องๆ มาทำงาน ถ้าครอบครัวเขาสุขสบาย มันไม่มีใครอยากทำงาน เงินที่ต้องกินต้องใช้ ไม่พอ โอกาสที่เราบอกว่าให้ทำเนี่ย เราไม่ได้บังคับ คือเราให้อิสระเลย คุณทำมา อีกเดือนนึง คุณมาส่งก็ได้ สำหรับเด็กนักเรียนนะครับ

บางทีก็มาบอกว่า พี่บิวครับ วันนี้ให้ผมไลฟ์สดช่วยได้ไหม ผมช่วยอะไรได้บ้าง คือเราเข้าใจเลยว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่มีปัจจัยพอ จะให้เงินเขาในแต่ละวันได้มากพอ ที่จะให้เขาเป็นอยู่ได้เหมือนเพื่อนๆ คนอื่น ที่เขาพอมี วันนึงที่เขาเรียนจบ หรือเขาเรียนได้ไม่ถึง ม. 6 ตรงนี้อาจจะเป็นอาชีพนึง ที่ทำให้เขาได้เติบโต เหมือนที่เราเติบโต ณ วันนี้ ก็ได้”

นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนแล้ว สิ่งที่เจ้าของแบรนด์ส่งต่อไปยังพนักงานเกือบ 50 ชีวิตในชุมชนนั้น ทับทิบบอกว่า พวกเขายังส่งต่อคุณค่า ความภาคภูมิใจให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ทุกคนเล็งเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำ ไม่ใช่เพียงเพราะเพื่อเงินอย่างเดียว

“ทำงานหัตถกรรม งานสินค้าทำมือ ให้งานมันมีคุณค่า สุดท้ายแล้ว งานที่เขาทำ มันก็จะส่งผลกลับมาหาเขา เหมือนวันนี้ เราทำมาตลอด 5 ปี จุดนี้เป็นจุดพีค นั่นหมายความว่า กว่าเราจะพีคได้เราต้องทำมา 5 ปี ไม่หยุด

ถึงวันที่พีคเนี่ย วันที่น้องโอปอลถือแล้วเนี่ย จุดพีคมาถึงแล้ว เราก็แค่ทำเหมือนเดิม แค่ต้องทำงานหนักกว่าเดิมเพราะออเดอร์มันเยอะ การที่เราตั้งใจทำในทุกๆ วัน ตลอด 5 ปีเต็ม มันส่งผลในวันนี้ได้ เพราะความตั้งใจในวันนั้น

ถ้าลูกน้องของหนู ถ้าชาวบ้านทุกคนของหนู ไม่มีความตั้งใจในงาน แน่นอนว่าถ้าส่งไปให้น้องโอปอล แล้วมันไม่สวย เขาก็ไม่อยากถือ คุณลูกค้าเขาเห็น เขาก็ไม่อยากซื้อซ้ำ วันนี้การซื้อซ้ำ บอกต่อ มันเกิดขึ้น เพราะผลงานที่เขาตั้งใจ เกินกว่าความคาดหมายของลูกค้า

ก็ต้องบอกว่าเราประสบความสำเร็จ แล้วก็ภาคภูมิใจมากๆ แต่สิ่งที่เราทำ ทุกๆ วันหนูรู้สึกว่าหนูมีคุณค่า ต่อผู้อื่น ณ วินาทีนี้ เราหันไป บ้านที่ทำงานกับเรา เขารักเรา เขาเห็นว่านางงามจักรวาล ตัวแทนคน 70 ล้านคน มีคนเดียว ถือกระเป๋าเรา ในการประกวด ได้ออกทีวี ได้ออกสื่อ นี่คืองานฝีมือของพวกเขา มันเกิดความภาคภูมิใจ เขาเลยเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ ชาวบ้านจากติดหนี้ ในปัจจุบันนี้ สามารถแบ่งเบาภาระหนี้สินลงไปได้ ค่อนข้างที่จะเยอะแล้ว”


แม้จะมีความตั้งใจ ว่าอยากสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน ควบคู่ไปกับการเติบโตของแบรนด์ แต่ด้วยความที่ยังเป็นเด็กเมื่อ 5 ปีก่อน ก็ไม่ได้รับความยอมรับจากชาวบ้านเท่าที่ควร พวกเขายังต้องพิสูจน์ตัวเอง ให้กับชาวบ้าน ได้ยอมรับด้วย
ทับทิม บอกว่า การทำงานกับคนในหลายช่วงอายุ ก็เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร ซึ่งสิ่งสำคัญ ที่พวกเขาทำมาโดยตลอดคือ ต้องลดความเป็นตัวเองลงบ้าง

“เราทำงานกับหลาย gender มันหลายช่วงอายุมากๆ เราเองก็เลยต้องลดความเป็นเราลง เพื่อที่เราจะได้เข้ากับทุกคนได้ง่าย คุยกับเด็ก เราก็ต้องเลือกวิธีการคุยอีกแบบนึง คุยกับผู้สูงอายุ เราก็ต้องคุยอีกแบบนึง

เราทำงานกันเป็นครอบครัว สบายใจก็จริง แต่ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็ต้องมีกฎเกณฑ์ เพื่อที่จะให้งาน ออกมาตรงตามมาตรฐานที่เราตั้งไว้ เพราะสุดท้ายแล้วถ้าเราหละหลวม ไม่เกิดการตักเตือน ไม่เกิดการดุด่า สุดท้ายแล้ว คนที่เขาไม่ได้อยู่ในกฎระเบียบที่เราตั้งไว้ มันก็จะมีปัญหามาเรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องมีวิธีการรับมือกับเขา”

บิวเองก็บอกว่า เป็นเรื่องที่ยากเช่นกัน แต่ต้องให้โอกาสชาวบ้าน พร้อมกับเข้าไปเปลี่ยนวิธีคิดแบบใหม่ๆ ให้กับชาวบ้านได้รับรู้ด้วย เป็นเหมือนการแชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกัน

“แต่เราก็ไม่เคยดุด่านะ เราก็มีวิธีการพูดให้เขาเข้าใจว่า อันนี้ผิดนะ อันนี้ลองคิดใหม่ ลองทำใหม่ได้นะ แต่อันนี้ไม่เป็นไร เราแค่ให้โอกาสเขาครับ แล้วสุดท้ายแล้วเขาก็เปลี่ยนให้เราเปลี่ยนได้จริงๆ

กับคนที่อีโก้สูงๆ หรือคนที่เขาทำงานมานานมากกว่าเรา บางทีเรายังเด็กมากๆ ที่เพิ่งเข้ามาใช่ไหมครับ ผู้ใหญ่บางท่านเขาก็ทำงานมาเป็น 10-20 ปี เขาก็อาจจะรู้มากกว่าเรา แต่เราจะเพิ่มเติมยังไง หรือเราจะเปลี่ยนวิธีความคิดของเขายังไงดี ให้เขาทันสมัยขึ้น หรือว่าอยู่กับปัจจุบัน ให้เขาเล็งเห็นในความรู้สึกนี้ เช่นเดียวกัน

ก็ยากนะครับ บางทีทำงานกับเราอาทิตย์นึง ออกก็มี เขาอาจจะแบบด้วยอะไรหลายๆ อย่าง ที่เขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ บางทีเราอาจจะเนี้ยบเกินไป ไม่หย่อนเลย หรือว่าหย่อนเกินไป มันก็มีครับ อะไรอย่างนี้ แต่ว่าถ้าเป็นอะไรที่ไม่ถูกต้อง ส่วนมากบิวกับน้องทิม ก็จะเป็นคนพูดเลยว่า ขอเปลี่ยนตรงนี้ได้ไหมครับ”


สานกระเป๋า ด้วยทัศนคตินางงาม

กว่าจะมาถึงวันนี้ พวกเขาลองผิดลองถูก พัฒนาสินค้าตัวเองมาเรื่อยๆ โดยเริ่มจากศูนย์ ด้วยการลงไปศึกษากับชาวบ้านโดยตรง ต้องศึกว่า เส้นกระจูดที่สวยที่สุดเป็นแบบไหน ต้องมีระยะเวลาถอนต้นกี่เดือนถึงจะเหมาะกับการทำกระเป๋า ไปจนถึงการลงสี การกันเชื้อรา จนสามารถปิดรอยรั่วของกระเป๋าทั้งหมดได้

“เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ จากมีตกแต่งอาทิเช่น งานเพ้นท์ ติดขนนกตกแต่งง่ายๆ ในตอนนี้คือเลิกขายไปแล้ว พอเรามาทำงานปัก ที่เราลงลึกเกี่ยวกับงานที่เราทำ อยากจะให้เป็นงานรักษ์โลกจริงๆ ในตอนนั้นขนนก ก็จะเป็นฟรุ้งฟริ้ง ช่วงนั้นเราก็ขายดีมาก

พอเรามาตกผลึกได้จริงๆ ว่า เราอยากทำแบรนด์ ECO จริงๆ เราก็ไม่ควรที่จะทำร้ายใครเลย เราควรที่จะสร้างสรรค์ แล้วก็ช่วยเหลือพวกเขาด้วยซ้ำ ตัววัสดุจากที่ใช้หนังแท้ เป็นหนังวัว หนังจระเข้ เราก็ไม่ใช้ เราใช้เป็นหนัง PU แทน คือหนังสังเคราะห์”
 



นอกจากนี้ ทางแบรนด์ยังนำรายได้ส่วนนึง ที่ได้จากการขายกระเป๋า แบ่งไปช่วยเหลือสังคมทุกๆ เดือน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือสัตว์จรจัด หรือจะเป็นการแบ่งปันไปตามโรงเรียนต่างๆ

“พอเราได้ขายมาเยอะๆ แล้ว เหมือนลูกค้าเขาอยากปักเป็นรูปสัตว์เลี้ยงของเขา เราก็รู้แล้วว่าtargetเรา เขารักสัตว์ เราได้เงินจากคนที่เขารักสัตว์ มาซื้อกระเป๋าเรา แน่นอนว่าคนที่เขามีความรักสัตว์ เขาจะมีจิตใจที่มันโอบอ้อมอารีมาก ตัวเราเองก็เลี้ยงสัตว์จรจัด

แล้วทีนี้พอถึงช่วงนึง ถ้าเรารู้สึกว่าเรามีรายได้เพียงพอ ที่จะดูแลพนักงานชาวบ้านของเรา มันมีเงินก้อนนึง ที่เราสามารถนำไปช่วยเหลือ ไปบริจาค ไปซื้ออาหาร เพื่อช่วยเหลือสัตว์จรจัดได้ เราก็เลยตั้งใจไว้ว่า ทุกๆ เดือน เราจะนำยอดขายส่วนนึง เพื่อที่จะได้ไปช่วยสังคม

บางครั้งงานวันเด็ก เราก็ไปช่วยโรงเรียน งานกีฬาสีเราไปช่วยโรงเรียน ถ้าเดือนนั้นไม่มีงานเกี่ยวกับสังคมอะไร เราก็จะไปช่วยสัตว์จรจัด ซื้ออาหารไปบริจาค ถ้ายอดขายไม่เยอะ ก็โอนเงินไปบริจาค ก็คือเราทำให้เป็นนิสัยของเราครับ

ก็ปลูกฝังให้ชาวบ้านได้คิดว่า ถ้าวันนี้คุณมีงานทำแล้ว คุณเพียงพอต่อตนเอง คุณช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว คุณช่วยเหลือคนอื่น มันก็จะสร้างคุณค่า ให้กับตัวเองได้มากๆ มันก็ลิงก์กันกับนางงามครับผม

เพราะคำว่านางงามนะครับ นอกจากมีใจรักสัตว์ รักเด็ก เหมือนคำตอบของน้องโอปอลเลยครับempathyเราต้องเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เนี่ยครับ กลุ่ม target เรา กลุ่มแรกคือคนรักสัตว์ แล้วก็มาเป็นนางงาม”








การที่นำเงินส่วนนึง มาต่อยอดช่วยเหลืออีกหลายๆ ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ หรือคน ทับทิมบอกว่า นี่ก็เป็นแรงบันดาลใจ มาจากการอยากเป็นนางงามเหมือนกัน แต่ด้วยคุณสมบัติอาจจะไม่เพียงพอ จึงคิดว่า น่าจะทำอะไรสักอย่างนึง ที่ช่วยเหลือสังคม เช่นเดียวกับนางงามทำ

“มันเป็น inspiration คือเรา 2 คน ก็อยากประกวดแหละ ถ้าเราประกวดได้ แต่คุณสมบัติเรามันไม่เพียงพอ เราก็เลยโอเค งั้นมันเป็นความฝันของเราว่า สักครั้งนึง เราอยากทำอะไรสักอย่าง ที่นางงามคนอื่นเขาทำได้ แต่เรายังไม่ได้ทำ

เราขาดแค่ว่า เราไม่ได้ไปประกวด แต่เบื้องหลัง แอตติจูด ทัศนคติ สิ่งที่นางงามทำ เราทำได้เหมือนกัน เราช่วยเหลือสังคม เราขายของ เราทำงานกับชุมชน เพื่อที่จะให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น

เราเล็งเห็นว่า ตรงนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ธุรกิจซื้อมาขายไป ลูกค้าที่เขาซื้อเรา เขาไม่ได้รักแค่เรา เขารักชุมชนของเราด้วย บางคนเขาไม่ได้ซื้อแค่ใบเดียว เขาซื้อเยอะมากๆ ซื้อทุกคอลเลคชั่น

ด้วยคำที่มา empathy เขาก็อยากจะช่วยเหลือเหมือนกัน บางคนซื้อไปเพราะว่า มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เราก็เลยจะบอกกับลูกค้าทุกครั้งว่า ไม่ต้องเห็นอกเห็นใจอย่างเดียวนะครับ แต่ว่าอยากให้ลูกค้าได้ใช้ เพราะว่างานมันสวยจริงๆ เราตั้งใจจริงๆ น้องโอปอล ก็เป็นหนึ่งในคน ที่เขาเห็นอกเห็นใจผู้อื่น น้องเขาเลย represent กระเป๋า ควบคู่กับการ represent ประเทศไทย มันเลยทำให้เกิดกระแสฟีเวอร์ ตีกลับมาที่งาน

แบรนด์หนูเป็นแบรนด์เล็กๆ คนอยากซื้อทั่วโลก คนไทยเนี่ย 70 กว่าล้านคน เขาอยากซื้อกระเป๋า แน่นอนว่าหนูคนเดียว ตอบแซตไม่ทันหรอก แล้วก็ทำกันไม่ทัน แต่ช่างสานมีทั้งประเทศ กระเป๋ากระจูด ไม่ใช่มีแค่หนูขายคนเดียว เข้าร้านอื่นด้วย มันเป็นสิ่งที่เราทุกคน ที่ทำอาชีพตรงนี้ ต้องการแสงตรงนี้ กระบอกเสียงที่เขามี ทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการ ทำให้วงการกระจูด กลับมากลับมาฟีเวอร์อีกครั้งนึงครับ

ในส่วนของตัวบิวเอง เป็นคนที่ชอบนางงามมาตั้งแต่เด็กแล้ว เรารู้ตัวเองว่าเราชอบ แล้วเรารู้สึกว่า เราไม่สามารถเป็นนางงามได้ เพราะว่าเราไม่มีโอกาสแน่นอน แต่ว่าสิ่งที่เราได้โอกาสนั้น โอกาสที่เราได้ทำอะไรสักอย่างนึง ในการช่วยเหลือชุมชน เพราะว่าตัวบิวเองเป็นคนที่รักสัตว์มากๆ เป็นคนที่ sensitive กับน้องหมาน้องแมว เหมือนมีคนเอามาทิ้ง บิวก็มีโอกาสได้เลี้ยงเขา ตั้งแต่ตัวยังแดงๆ เลี้ยงมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน

ก็เหมือนตรงนี้ ที่ได้เป็นกระเป๋าขึ้นมาครับ มันไม่ได้แปลว่าอยู่ดีๆ มันก็เป็น มันอยู่ที่ความตั้งใจ ตั้งแต่แรกของเราอยู่แล้ว ว่าเราอยากมีโอกาสได้ทำ แต่พอโอกาสมันเข้ามา น้องนางงาม หรือพี่นางงามหลายๆ ท่าน เล็งเห็นตรงนี้ เราก็เลยได้เติบโตจนถึงทุกวันนี้

แล้วก็ได้มีโอกาสทำให้ชาวบ้านในชุมชน ได้เป็นอาชีพที่มีหลักแหล่ง ที่สามารถจุนเจือลูกหลาน จุนเจือตัวเองได้ อย่างน้อยๆ แล้ว ข้าวสารได้ซื้อ ปลาได้ซื้อแน่นอน หรือว่าเขาได้มีกับข้าวกิน ในแต่ละมื้อ ก็มีความภูมิใจที่เรารู้สึกว่า มันยากที่จะอธิบายเหมือนกันว่า เราไม่ได้มองแค่ตัวเรา เรามองถึงสังคมรอบข้าง แล้วคนที่อยู่เบื้องหลังทั้งหมดครับ”


ไม่เน้นโกยเงิน แต่ช่วยปาดน้ำตา

อย่างที่บอกว่า ไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้น ที่ให้ความสนใจ ต่างประเทศก็มีการบอกต่อจากคนไทย ที่ไปอยู่เมืองนอก จนมีออเดอร์เข้ามาจากหลายประเทศ ซึ่งทับทิมก็บอกว่า แม้จะดูหลายประเทศ แต่ก็ไม่ได้ส่งเป็นล็อตใหญ่

“ส่วนมาก ก็จากเพื่อนสู่เพื่อนอีกทีนึง ที่เหมือนเป็นคนไทยที่อยู่ประเทศนั้นๆ ที่กระจายการขายให้กับทางร้าน จะเป็นการบอกต่อมากกว่า

หลักๆ ก็จะเป็นจีน ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย ญี่ปุ่นก็มีบ้างครับผม แต่ถ้าเป็นยุโรปก็จะมี อเมริกา สวีเดน เยอรมันนี สวิตเซอร์แลนด์ ก็เคยมีครับ ค่อนข้างที่จะหลายประเทศครับ แต่ไม่ได้ส่งเป็นล็อตใหญ่ คือส่งไปแค่ใบ 2 ใบ”

ส่วนราคากระเป๋านั้น เริ่มต้นอยู่ที่ 250 บาท เป็นกระเป๋าใส่เหรียญ ไปจนถึงราคาที่แพงสุดก็คือ 3,590 บาท ก็คือปักเป็นภาพ เหมือนที่โอปอลถือ หรือปักเป็นรูปภาพที่ลูกค้าต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปตัวเอง รูปคุณพ่อคุณแม่ รูปครอบครัว หรือเป็นรูปวันสำคัญ งานแต่ง ก็สามารถออเดอร์เข้ามาได้ แต่ราคาก็จะขึ้นอยู่กับว่า ลูกค้าสนใจแบบไหน ขนาดไหน ก็ราคาแตกต่างกันไปครับ ราคาเต็มเพดาน ถ้าสมมติว่าลูกค้าส่งรูปมาเป็น 4-5 คน ก็อยู่ที่ 4,500-5,000 บาท”

สำหรับยอดขายที่ได้รับในแต่ละเดือน บิวบอกว่า ก็มีตั้งแต่ 25,000 บาท ไปจนถึง3แสน ก็มี ซึ่งทางร้านมองว่า ขายในราคาที่คนจับต้องได้ไม่ได้ขายในราคาที่แพงมาก

“ยอดบางเดือนก็เป็นแสนนะครับ บางเดือนก็ไม่ถึง แสนสอง แสนห้า บางเดือนก็6หมื่น บางเดือนเต็มที่ก็คือ2หมื่น5เรทต่ำสุด ต้องบอกก่อนว่า ต่อให้เราขายดีแค่ไหน ถ้าลูกค้าเร่ง เหมือนกับว่ารอไม่ได้ ก็คือเราก็ไม่ได้ขายอยู่ดี ดังนั้นพอเรามีกลุ่มที่ทำได้ส่วนตรงนี้ หนึ่งสองสามสี่ อะไรอย่างนี้ เราก็ทำได้เท่านี้ต่อเดือนจริงๆ ยอดมันก็จะอยู่ประมาณนี้ 2 แสน 3แสน

ก็เหมือนกับเราได้กินได้ใช้ครับ ยังไม่เหลือเก็บแบบเยอะมาก แต่เราก็อยู่แบบสบายใจ และมีความสุขในทุกๆ วันจริงๆ บอกตรงนี้ไว้ว่า เราเคยได้เห็นน้ำตาของชาวบ้านในชุมชน แล้ววันนี้เราเห็นรอยยิ้มในชุมชน เรารู้สึกว่า มันคือสิ่งที่อยู่ในใจเรา มันคือความภูมิใจ มันคือสิ่งที่เรารู้สึกว่า ฉันทำสำเร็จแล้ว

อันนี้คืออย่างน้อย 40-50 คน ตรงนี้ มีกินมีใช้ มีความสุขแน่นอน ถ้าได้อยู่กับเรา ได้อยู่กับองค์กรเรา แล้วพัฒนาไปด้วยกันนะ อยู่กับเราไปนานๆ นะ เราก็จะสอนเขา บอกเขา แล้วก็บอกตัวเองแบบนี้ในทุกๆ วัน”


ยอมรับว่า ยอดขายของทางร้าน อาจจะไม่ได้ก้าวกระโดด หลัก 10-20 ล้าน แต่ทับทิมมองว่า เป็นการค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับชาวบ้าน แต่ถ้าเจาะกลุ่มตลาดได้มากกว่านี้ ก็จะมียอดขายที่โตขึ้นกว่านี้

“เราก็ไม่ได้ก้าวกระโดดเป็นแบบว่า เป็น 10 ล้าน 20 ล้าน ไม่ใช่ เราไม่ใช่แบบว่าอายุน้อยร้อยล้านนะครับ เราก็ค่อยๆ โต ไปกับชาวบ้าน ชาวบ้านเพิ่งจะปลดหนี้ได้ หนูเองก็เพิ่งจะได้มีเงิน เพิ่งจะได้ตั้งตัวได้เท่านั้นเองครับ

เราให้ค่าจ้างช่างสูง เหมือนปักชื่อหนูให้ค่าจ้างช่าง 100 บาท ตัวกระเป๋าต้นทุนมา 100 บาท เหมือน 450 บาทนะครับ รุ่นที่ขายอยู่ ที่จัดโปรปีใหม่เนี่ย รุ่นที่ขายอยู่ 450 บาท ตัวกระเป๋า 100 บาทค่าแรงตัดชื่อ100บาทอุปกรณ์รวมซับใน100 บาท 100 บาท และที่สำคัญยังไม่รวมค่าส่ง

ต้นทุนหลักๆ เลขกลมๆ ที่เห็น 400 บาท แต่หนูขาย 450 บาท กำไรที่จะถึงหนู 50 บาทหรือเปล่า หนูยังไม่รู้เลย คืออยู่เท่านี้ครับ แต่ทำไมเราถึงขายราคานี้ ชาวบ้านก็ได้ทำงาน คือคนปักก็ได้ปัก คนสานก็ได้สาน ให้ทีมงานของเรา ชุมชนของเรามีงาน ส่วนตัวเราก็โอเคแล้วครับ”

สัมภาษณ์ : ทีมข่าวMGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : ธัชกรกิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : Facebook “สินค้าบ้านอารยา”, Instagram @araya_tabtim, @suchaaataและTikTok @araya_officials



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **


กำลังโหลดความคิดเห็น