xs
xsm
sm
md
lg

“ศิลปินหมูเด้ง” ซิงเกิล 4 ภาษา!! เปิดปากคนเบื้องหลัง เจาะกลยุทธ์ตัวโน้ตไวรัล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เจาะยุทธศาสตร์ “ศิลปินสุดเด้ง” ดาวรุ่งน้องใหม่ ปล่อยซิงเกิล 4 ภาษา กับยุคที่ “ไอดอล” ไม่ใช่แค่มนุษย์อีกต่อไป แต่กลายเป็น “ไวรัล” คว้าตำแหน่ง “ซุป’ตาร์” ได้ แค่มีฐานแฟนหลงรักตัวตน และพร้อมหนุนทุกความเคลื่อนไหว

“เด้ง” ถึงวงการเพลง

เด้งรันทุกวงการจริงๆ แม้กระทั่ง “วงการเพลง” เมื่อ “GMM Grammy”ดึง “น้องหมูเด้ง”ฮิปโปแคระสุดฮอตแห่งยุค มาเดบิวต์เป็น “ศิลปิน”ล่าสุด ปล่อยผลงานออกมาให้เด้งไปพร้อมกัน ถึง 2 ซิงเกิลแล้ว

ประเดิมซิงเกิลแรกด้วยเพลง “หมูเด้ง หมูเด้ง” ที่มาในแนว “เพลงแดนซ์” จังหวะสามช่าสไตล์ไทยๆ แล้วต่อด้วยอีกซิงเกิลในอารมณ์สบายๆ สไตล์ “เพลงป๊อป” อย่างเพลง “หมูเด้งLittle Hippo”

แน่นอนว่าฐานแฟนของ “ซุป’ตาร์สี่ขาสุดเด้ง” ตัวนี้ ไม่ได้มีแค่พี่น้องชาวไทย ทั้ง 2 ซิงเกิลก็เลยไม่ได้ทำมาแค่ “ภาษาไทย” ปล่อยมาเอาในแฟนคลับชาวไทยอย่างเดียว เพราะทั้ง 2 เพลง มีเวอร์ชันถึง “4 ภาษา”ทั้ง “ไทย” “จีน” “อังกฤษ”และ “ญี่ปุ่น”ซึ่งถูกปล่อยมาภายใต้สังกัด “GMM SAUCE”



                                  {“หมูเด้ง” ศิลปินน้องสัตว์ ปล่อยเพลงดังถึง 4 ภาษา}

และปล่อยเพลงแรกก็ดังไกลถึงเมืองนอกทันที เพราะรายการทีวีของอเมริการอย่าง “Good Morning America” ก็เอาเพลง “หมูเด้ง หมูเด้ง” เวอร์ชันภาษาอังกฤษ ไปเปิดโชว์สร้างรอยยิ้มให้ชาวอเมริกาทั่วประเทศแล้ว
หรือแม้แต่ Billboard นิตยสารดนตรีระดับโลกก็นำเสนอการเปิดตัว เพลงของเจ้า “ฮิปโปแคระ” ขวัญใจชาวโลกตัวนี้เหมือนกัน

ดูเหมือนตอนนี้ “หมูเด้ง” กำลังกลายเป็น “ศิลปิน 4 ขาดาวรุ่ง” ระดับอินเตอร์ไปแล้ว และ “เพลง” ก็เป็นอีกตัวกลางสำคัญที่ถ่ายทอดตัวตนของน้อง ไม่ต่างจากศิลปินทั่วไปเลย



และนี่คืออีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ในยุคที่ “ไอดอลน้องสัตว์-น้องตุ๊กตา” มีวิถีการโปรโมตตัวตนบนเส้นทางเดียวกับ “ไอดอลคน”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ หนึ่งในคนดูแลโปรเจกต์นี้อย่าง “โบ๊ต” จามร จีระแพทย์รองกรรมการผู้จัดการ Music Creation บริษัท GMM Music จำกัด ช่วยวิเคราะห์เบื้องหลังให้ฟังว่า จริงๆ แล้ววิธีการปั้นไอดอลทั้ง 2 แบบไม่ต่างกันเลย

“ผมว่าก็ไม่ต่างหรอกครับ อย่างถ้าเราทำศิลปินใช่มั้ย เราก็มอง characterเขา”

“เพลง” ส่วนนึงมันคือการบอก “ตัวตน”หรือ “มุมมอง”ของศิลปินคนนั้น ความต่างเดียวของ “หมูเด้ง” คือน้องเป็นสัตว์ โต้ตอบกับเราไม่ได้ ดังนั้น การทำเนื้อร้อง-ทำนอง ก็ต้องเน้นไปที่ “character” ของ “หมูเด้ง”

“เขาชอบรับประทาน เขาชอบกระดิกหู ชอบสวบ ส่ายก้นอะไรอย่างนี้ เราเอา character เหล่านี้มารวบรวม แล้วก็มาทำเพลงอะครับ”


                                         {“โบ๊ต” คนดูแลซิงเกิลของ “น้องหมูเด้ง”}

ถ้าลองย้อนมองดูดีๆ จริงๆ แล้ว “หมูเด้ง” อาจไม่ใช่ “ศิลปินตัวแรก” ที่มีซิงเกิลเป็นของตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้ก็มีมาสคอตดังอย่าง “น้องหมีเนย(Butterbear)” ที่มีเพลงไวรัล “น่ารักมั้ยไม่รู้” ออกมา จนร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง หรือแม้แต่ Art Toy ยอดฮิตอย่าง “ลาบูบู้” ก็มีเพลงติดหู “POP LAND LABUBU SONG”เหมือนกัน

กูรูวงการเพลง คนดูแลโปรเจกต์ซิงเกิลของน้องหมูเด้ง ช่วยวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่ทำให้ “สัตว์” “มาสคอต”หรือแม้กระทั่ง “ตุ๊กตา” กลายมาเป็นศิลปินที่มีซิงเกิลเป็นของตัวเองว่า
เป็นเพราะว่าพวกเขาคือ “Icon ของคนยุคใหม่”

“คนก็คงอยากจะมีเพลง เพื่อความบันเทิงสนุกสนาน ให้กับ Icon เหล่านี้แหละครับ”



อีกอย่างทุกวันนี้ อะไรก็เป็นดังหรือเป็นกระแสขึ้นมาได้ไม่ยากนัก ผ่านการบูมบนโลกโซเชียลฯ ดังนั้น ก็ไม่แปลกที่ คนจะหยิบจับความดังของสิ่งเหล่านั้นมานำเสนอเป็น “เพลง” และในมุม “การตลาด” การจะคง “กระแส” ไว้ไม่ให้ตก คือจำเป็นต้องทำ content ออกมาเรื่อยๆ

ดังนั้น เราจะเห็น “อินฟลูฯ” หรือสินค้าต่างๆ ที่กำลังเป็นกระแส ไปโผล่ใน “ละคร” บ้าง “รายการทีวี” บ้าง และ “เพลง” เองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เราจะเห็น อย่างที่กูรูรายนี้บอกไว้ว่า เพลงคือ “การต่อยอด content”



“สั้น-ง่าย” เพื่อ “ไวรัล”

ถ้าชวนกูรูช่วยวิเคราะห์ “ความเป็นศิลปินไอดอล” ในยุคนี้ดู ไม่ว่า “น้องหมูเด้ง” “น้องหมีเนย” หรือ “ลาบูบู้” ทั้งหมดนี้ดังมาจากโซเชียลฯ และปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งวิธีที่จะทำให้ “ไอดอลไวรัล” คือการทำให้ “เพลงไวรัล” ในโลกออนไลน์ได้ก่อน

“เดี๋ยวนี้คนอยู่บน TikTok อยู่บนโซเชียลฯ เยอะขึ้น มันก็ต้องหาทางทำ content เพื่อประชาสัมพันธ์เพลง ที่แตกต่างที่หลากหลายมากขึ้นนะครับ”

Music Creation จาก GMM รายนี้บอกว่า การที่เพลงเพลงนึงจะไวรัลมีหลายปัจจัย อย่างแรก “เพลงต้องโดน” ก่อน จากนั้นคือ content ต่างๆ ที่จะนำเสนอต่อยอดไป จะเป็นตัวช่วยหนุนอีกที

อาจจะทำเพลงพร้อมกับ “ท่าเต้น” หรือเน้น “ท่อนฮุค” ท่อนจำมากขึ้น ไม่ก็ “ทำเพลงให้สั้นลง” เพื่อตอบโจทย์คนดู “TikTok” หรือ “Shots” ใน YouTube ที่มีเวลาให้คนเสพแค่สั้นๆ เพราะว่า

“ทำเพลงสั้นเพื่ออะไร เพื่อให้คนเอาเพลงสั้น ไปใช้ในโซเชียลฯ บางทีไม่ต้องฟังยาวๆ เอาเพลงไปประกอบในคลิปได้เลย อย่างนี้ครับ”



ยกตัวอย่างเพลง “หมูเด้ง หมูเด้ง” ให้เห็นภาพคือ “Concept” ของเพลงถูกคิดมาในรูปแบบของ “เพลงเชียร์” ที่โรงเรียนสามารถเอาไปเปิด ให้เด็กๆ เต้นได้ หรือตามงานเทศกาลต่างๆ ก็ได้

ส่วนเพลงที่ 2 อย่าง “หมูเด้งLittle Hippo” จะใช้คำง่ายๆ ฟังสบายๆ ซึ่งทั้ง 2 เพลงมีจุดเหมือนกันคือ ความยาวของเพลงค่อนข้างสั้น คือ “ไม่ถึงนาที” กับ “ท่อนฮุค” ที่มีการใช้ “คำซ้ำๆ” ก็เพื่อให้คน “จำง่าย” และ “ติดหู” ในไม่กี่วิ ที่ได้ยิน

ตรงนี้แหละจุดสำคัญ เมื่อเพลงถูกใช้ได้ง่ายบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะไป “ประกอบ content” ต่างๆ บนเชียลฯ หรือถูกนำไปทำเป็น “มีม (Meme)” และยิ่งถูกทำซ้ำมากเท่าไหร่ คนก็จะได้ยินเพลงเรามากขึ้นเท่านั้น จนมันกลายเป็น “ไวรัล” ในที่สุด



ทั้งหมดนี้คือ “กลยุทธ์” เพื่อทำให้เพลงกลายเป็นไวรัล ต้องยอมรับว่าโซเชียลฯ เข้ามีผลต่อวงการเพลง แต่ไม่ใช่แนวทางการทำเพลง เพราะไม่ใช่ทุกคนจะชอบ “เพลงสั้น”

ดังนั้น คนฟังจึงยังเห็นเพลงที่มีความปกติ 3-4 นาทีอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือ “วิธีโปรโมต” ต่างหากว่า เราจะทำยังไงได้บ้าง กับช่องทางอันหลากหลายในการปล่อยผลงานในปัจจุบัน

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : Youtube “GMM SAUCE”,Facebook “ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง”, IG @butterbear.thและpopmart.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น