ลุคสบายๆ สไตล์อุ๊งอิ๊ง คนถามนี่ “งานประชุมระดับโลกนะ”!! กูรูแฟชั่นผิดหวัง เมื่ออยู่บนตัวผู้นำ “แฟชั่น” อาจเป็นมากกว่าแค่ “เสื้อผ้า”
“กาลเทศะ” ต้องมาก่อน “สไตล์”
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง สำหรับนายกคนที่ 31 อย่าง “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” กับ “แฟชั่นการแต่งตัว”ในงานประชุม APEC ณ ประเทศเปรู หลังลุคสบายๆ ตอนลงเครื่องถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก จนผู้คนส่วนนึงอดตั้งถามไม่ได้ว่า ไม่มีชุดที่เหมาะสมกว่านี้แล้วหรือ?
“ทำไมแต่งตัวแบบนี้ กางเกงปลายขารุ่ยอีก ชุดสวยๆ มีมากมายที่ใส่แล้วสง่าสมเป็นผู้นำ ความสามารถก็เรื่องหนึ่ง การแต่งกายให้เหมาะสมก็เรื่องหนึ่ง”
{“กางเกงขารุ่ย-รองเท้าผ้าใบ” แฟชั่นลุยพรมแดงของนายกฯ}
หลังโพสต์นี้ถูกรีทวีตมากมายใน “X” หลายคนก็มาแสดงความคิดเห็นทำนองเดียวกันว่า “ควรเป็นชุดทางการมากกว่านี้” เพราะนี่คือการประชุมระดับโลก ไม่ใช่บินไปหาเพื่อน
“ตอนอยู่บนเครื่อง จะแต่งสบายไงก็ได้ บินprivateมา แต่ก่อนลงเครื่องต้องเปลี่ยนไหม เขาต้อนรับทางการแบบนี้”
แม้แต่อดีตคอลัมนิสต์ด้านแฟชั่นอย่าง “กิจจา บุรานนท์” ก็อดที่จะออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “Kiccha Buranond”เรื่องนี้ไม่ได้ว่า การแต่งตัวแบบนี้ของนายกฯ หญิง “ไม่ใช่ไม่สวย” แต่ “ผิด”
“ผมดูชุดที่เธอสวมลงเครื่องบินแล้ว ผิดหวังจัง ดูเหมือนนักทัศนาจรจีน ใส่กางเกงขาสั้น/เสื้อยืดไปวัดพระแก้ว ประการแรก เธอควรให้เกียรติแก่ประเทศของเขา”
ในบริบทที่พิธีต้อนรับ “เป็นทางการ” มี “พรมแดง”ปูให้เดิน กูรูแฟชั่นรายนี้มองว่า “กางเกงขารุ่ย-รองเท้าผ้าใบ” นั้น ดูยังไงก็ไม่เหมาะสมเลย เพราะในสถานการณ์แบบนี้ นายกฯ ควรใส่ “สูท” ที่ใช้ “ผ้าไทย” ซึ่งตัดมาแล้วให้ความรู้สึกคลาสสิกมากกว่า
“แฟชั่น”หรือ “การแต่งกาย” ไม่ใช่ผิดที่แต่งอะไร แต่ผิดที่ “กาลเทศะ” เรื่องนี้คือ “มารยาททางการแต่งกาย” ที่ผู้นำประเทศควรใส่ใจมากกว่านี้
{“กิจจา บุรานนท์” อดีตคอลัมนิสต์ด้านแฟชั่น}
ลองมองอีกมุม ผ่านสายตากูรูผู้ทำงานวิจัยเรื่องการแต่งกายของผู้นำ และการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่าง “ดร.ศิบดี นพประเสริฐ”อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์คณะอักษรศาสตร์ ม.ศิลปากร นี่คือความคิดเห็นของเขา
“จะแฟชั่นนิสต้าขนาดไหนก็ตาม กาลเทศะต้องมาก่อน” และในฐานะคนที่เป็น “ผู้นำประเทศ”ภาพลักษณ์ที่นำเสนอนั้นสำคัญ เพราะ “เสื้อผ้าหน้าผม”ที่ใส่ “มันไม่ใช่แค่เสื้อผ้า”
“First Impression เห็นได้ด้วยตาเนื้อเนี่ย มันสำคัญนะ เสื้อผ้าการแต่งกาย บุคลิกภาพ มันเป็นด่านแรกครับ ที่คนจะรู้จักเรา ที่คนจะสัมผัสได้ถึงความเป็นเรา หรือความเป็นตัวตนของผู้นำคนนั้น”
“ดร.ศิบดี”ยืนยันว่า “แฟชั่น” สามารถเข้าได้กับทุกงาน แต่สิ่งแรกที่ต้องนึกถึงคือ “กาลเทศะ” รูปแบบงานเป็นอย่างไร ต้องเจอใครบ้าง แล้วค่อยมาดูว่า จะเลือกชุดแบบไหน เช่น สูท ชุดราตรี หรือชุดประจำชาติ
เพราะแต่ละแบบมันมี “ความเป็นทางการ” ไม่เท่ากัน จากนั้น “แฟชั่น”ถึงตามมาที่ประการสุดท้ายว่า เราจะใส่ลูกเล่น เพิ่มความเป็นแฟชั่นในชุดนั้นๆ ได้ยังไง
{“ดร.ศิบดี” กูรูด้านภาพลักษณ์ผู้นำ}
สื่อสารนัย มากกว่าคำว่า “แฟชั่น”
“ไม่ผ่าน” คือเกณฑ์ที่กูรูด้านภาพลักษณ์ให้คะแนน “ชุดแรก-ชุดลงเครื่อง” ของนายกฯ แต่ถึงอย่างนั้น โดยรวมแล้ว ถ้าพิจารณาจากชุดอื่นๆ ตลอดการประชุมระหว่างผู้นำระดับโลกครั้งนี้ ยังถือว่า“ทำได้ดีพอสมควร”
เห็นได้จากภาพนายกฯ ใส่สูทดำเข้มบ้าง สีสันสดใสบ้าง หรือใส่ผ้าไทยบ้าง ถ้าให้ “ดร.ศิบดี” วิเคราะห์ ด้วยที่ว่า “นายกฯ อายุน้อย”ความเป็น “แฟชั่นนิสต้า”ในตัวคงมีอยู่ แต่อีกมุมก็ต้องการเสนอภาพลักษณ์ที่เป็น “Working Woman”เข้ามาผสมด้วย
“อุ๊งอิ๊งต้องผสมผสาน 2 จุดนี้เข้าไปให้ได้ คือความเป็นแฟชั่นนิสต้าก็ยังคงอยู่ ในขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ผู้นำประเทศในเวทีโลก ก็มีความสำคัญ ต้อง balance 2 ตัวนี้ให้ได้”
และอีกเรื่องคือการนำเสนอ “สินค้าไทย” จะเห็นว่าหลายชุดมีการใช้ “ผ้าไทย” ดีไซเนอร์ที่ออกแบบก็เป็น “คนไทย” ซึ่งนี่คือ “ความท้าทาย” ที่ต้องผสมผสานให้ออกมาเป็น “แฟชั่นบนตัวที่ลงตัว” ให้ได้
เมื่อเป็น “ผู้นำประเทศ” เสื้อผ้าที่ใส่ ย่อมไม่ใช่แค่เครื่องแต่งกาย “ดร.ศิบดี” บอกว่า “แฟชั่นบนตัวผู้นำ” มันทำหน้าที่นำเสนอ “ตัวตน” หรือจุดยืนอะไรบ้างอย่าง ทำได้แม้กระทั่งสะท้อน “มุมมองทางการเมืองระหว่างประเทศ”
ยกตัวอย่าง “บารัค โอบามา” อดีตประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ที่เราจะเห็นเขาใส่ “สูทกับกางเกงเข้ารูป”ทำให้เรารับรู้ว่า เจ้าตัวเป็นคนกระฉับกระเฉง ดูเป็นผู้นำยุคใหม่ในตอนนั้น
หรือจะเป็น “โดนัลด์ ทรัมป์” ครั้งที่เป็นประธานาธิบดีในสมัยที่แล้ว ซึ่งนโยบายต่างๆ ในตอนนั้นดูค่อนข้าง “แข็งกร้าว”โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่คนที่ทำให้ทุกอย่างดูอ่อนลง ผ่านการแต่งตัวในฐานะคนที่ยืนเคียงข้าง ก็คือ “เมลาเนีย ทรัมป์”ภรรยาของทรัมป์
ดังนั้น เวลาที่ “ทรัมป์”ออกงานคู่กับภรรยา “เมลาเนีย” จะทำการบ้านเรื่องการแต่งตัวมาดีมาก ไม่ว่าจะรูปแบบชุด หรือสีที่ใส่ มันทำให้เมื่อเราเห็นแล้ว รับรู้ได้ว่า “การเมืองอเมริกาดูซอฟต์ลงไปเยอะ”
อีกเคสที่ชัดเจนไม่แพ้กันคือ การไปเยือนจีนของทั้งคู่เมื่อปี 2560 ซึ่งคนทั่วโลกต่างก็รู้กันดีว่า “จีน”กับ “อเมริกา”แยกเขี้ยวใส่กันอยู่ตลอดเวลา
แต่ภาพงานเลี้ยงมื้อค่ำในวันนั้น ที่ “เมลาเมีย”ใส่ “ชุดกี่เพ้า” ไปรวมงาน กลับสร้างความประทับใจให้เจ้าภาพ และในมุมมองทางการเมือง มันก็ดูเหมือนว่า อเมริกา “ยอมคลายความตึงเครียด” ที่มีต่อจีนลง
{“ชุดกี่เพ้า” ของ“เมลาเมีย” ที่สร้างความประทับใจให้จีน}
ดังนั้น สิ่งแรกที่ได้แน่ๆ จากการแต่งตัวของผู้นำคือ “การสร้างความประทับใจ” กับ “สร้างจุดเด่น” ให้เวทีโลกสนใจ เพื่อนำเสนอ “จุดยืน” หรือ “จุดขาย” ของประเทศ
“ดังนั้นมันทำหน้าที่ present อะไรบางอย่างด้วย อาจจะไม่ใช่แค่ present ตัวอุ๊งอิ๊งคนเดียว แต่ present ประเทศด้วย”
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : AFP, X @Rachadaspoke,Facebook“Ing Shinawatra”, “Kiccha Buranond” และ www.vanityfair.com
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **