ปังจาก TikTok จนลูกค้าขอร้อง อย่าปิดเลย “ดีไซเนอร์โค้ช” เจ้าของห้องเสื้อแบรนด์ “Ganit” ผู้สร้างคอนเทนต์เรื่องเล่าหลังผ้า ให้กลายเป็นแหล่งที่ปรึกษา ให้คู่แต่งงาน พร้อมไขสารพัดปัญหาข้องใจ ก่อนลงสนามจริง
เล่าผ่าน TikTok จนปัง!!
“ไม่ตัดไม่พอ บางตัวหลวมไม่เย็บเข้าให้ด้วย”, “อยากจัดงานชุดเจ้าสาวม่วงดำแดง แต่แม่ผัวคุมกำเนิด”, “ทำยังไงตัดเสร็จแล้ว ที่บ้านบอกให้ตัดใหม่”, “ไอเดียชุดเจ้าสาวสีดำ ทำได้ไหม”
สารพัดคำถามปัญหาข้องใจ ในช่องTikTok “@Ganit Wedding” ของ “กนิษฐ์-สาวิตรี อัครมาส” เจ้าของห้องเสื้อชุดแต่งงาน-ชุดราตรี แบรนด์ “Ganit” วัย 50 ปี ที่ต้องเจอในแต่ละวัน
เจ้าของห้องเสื้อผู้โด่งดัง ที่หันมาเป็น TikToker เพราะตั้งใจปิดห้องเสื้อ โละชุดแต่งงาน นำมาขาย ลดในราคาแสนถูก เรียกว่า กำไรคนซื้อเห็นๆ เลยทีเดียว
ช่องนี้ยังได้รับความนิยมจากบรรดาชาวโซเชียลฯ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะคู่แต่งงาน แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็คือ จากเกือบ 500 ชุด ที่เอามาโละขาย ดันขายดี จนมีลูกค้าที่เห็น เข้าไปต่อคิวขอให้ตัดชุดใหม่เพิ่มเรื่อยๆ
เพราะช่องให้ข้อมูลที่คนอยากรู้ ไม่ว่าจะเป็นสารพัดปัญหาเรื่องชุด ที่หลายคนเคยเจอกับตัวเอง และบวกกับน้ำเสียง ในการเล่าเรื่องราวเบื้องหลังผืนผ้า จนกลายเป็นว่า หลายคนขอร้องไม่ให้ปิดห้องเสื้อ เพราะยังอยากตัดชุดด้วยอยู่เรื่อยๆ
“อยากเคลียร์ชุดแต่งงาน เพราะจริงๆ ตั้งแต่โควิด เราก็เหมือนโดนปิดไป3ปี แล้วเราก็เริ่มรู้สึกว่า passion เราเริ่มไปที่อื่นมากกว่า ช่วงหลังๆ มากกว่าการทำชุดแต่งงาน เรื่องของเรื่องรู้สึกว่า มันไม่มีอะไรใหม่สำหรับเราแล้ว กระแส เทรนด์อะไรทุกอย่างมันเปลี่ยน
จริงๆ การเป็น TikTok ก็คือ เอาง่ายๆ น้องที่ทำให้เป็นลูกศิษย์ แล้วเราก็เห็นความเก่งของเขา ก็เลยอยากซัพพอร์ตเขาว่าแบบ เออ..มาทำ TikTok ให้พี่ด้วยแล้วกัน พี่คอนเทนต์เยอะมาก แล้วก็ทำหลายอย่าง
อาจจะให้เขาเริ่มจากชุดแต่งงาน เพราะว่ามันง่ายสุด เพราะเราอยู่ในอาชีพนี้ 20 ปีแล้ว คอนเทนต์มันเยอะมากอยู่แล้ว ไม่ต้องคิดคอนเทนต์อะไรเยอะ
แล้วก็อยากเคลียร์ชุด ก็มีโจทย์ให้เขาคือ พี่อยากเคลียร์ชุด อยากปิดห้องเสื้อ เพราะว่าตอนนั้นรู้สึกว่า มันมีหลายอาชีพเข้ามาที่เราทำอย่างอื่นด้วย
จริงๆ ตอนนั้นลองนับสต๊อก น่าจะมีเกือบ500ชุด ก็ค่อยๆ เคลียร์ มีจัดแบบอีเวนต์ใหญ่sale 80-90%คนก็วิ่งมาซื้อ พี่เคยไลฟ์ขายแบบถูกมาก ขายแบบsale เอาไปเถอะค่ะ ใครอยากได้เอาไปเลย หลักร้อยก็มี ไลฟ์สดเล่นตอนโควิด จนลูกค้าประจำติดไลฟ์เรา ตอนนั้นขายหมด กระทั่งผ้าที่สต๊อก สมัยก่อนพี่มีห้องผ้า ที่ผ้าเต็มห้องเลย พี่ขายเกลี้ยงเลย เศษผ้ายังขายเลย
ตอนนี้ปัจจุบันเหลือน่าจะไม่ถึง 50ชุด ยังไม่เคยนับจริงๆ เหลือ 50-60 ชุด ก็โอเค ตอนแรกจะทำเป็น Love Cafe ดีไหม ให้คนมาเช่าถ่ายรูปเล่น ก็คิดเยอะ”
ดีไซเนอร์คนดัง เธอเล่าอีกว่า สิ่งที่ทำให้อยากตัดสินใจปิดห้องเสื้อ ย้อนกลับไป25ปีที่แล้ว ในยุคที่ชุดแต่งงานมีคุณค่า และความสำคัญมาก
แต่พอมายุคนี้ ทำให้ดีไซเนอร์คนนี้ รู้สึกว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไป เทรนด์เปลี่ยน ทำให้เด็กรุ่นใหม่ ไม่ได้เห็นคุณค่ากับชุดเท่ารุ่นตัวเอง จึงทำให้ความชอบในการทำชุดของเธอ ก็เริ่มลดลงไปด้วย
บวกกับต้นทุนจากประเทศจีน ที่มีราคาที่ถูกมาก ซึ่งแหล่งผ้าถูกกว่าที่ไทยมากเกิน10เท่า หนำซ้ำช่วงโควิด ก็โดนกระทบอย่างหนัก เพราะในบ้านเรา ในระหว่างที่โรคระบาด แทบจะปิดเกือบทุกกิจการ
แต่พอเริ่มหันมาเป็น TikToker กลายเป็นว่าผลตอบรับดี จากความตั้งใจว่าจะปิดห้องเสื้อ เพื่อหันเห ไปมุ่งมั่นทำธุรกิจอื่น ก็กลายเป็นว่า ลูกค้าติดใจ มีทยอยเข้ามาสั่งตัดชุดอยู่เรื่อยๆ แถมของร้องว่า อย่าปิดกิจการอีกด้วย
“อย่าเพิ่งปิด ในคอมเมนต์ในTikTok เยอะมาก บอกว่าหนูยังไม่มีแฟน รอหนูก่อนนะคะอีก 10 ปีเอง จะมีเยอะมากอย่างนั้น บางคนบอกว่า อยากใช้ชุดนี้ หรือบางทีก็บอกว่าไปได้ชุดแล้ว เสียดายเพิ่งเห็นพี่ หรือบางครั้ง ที่เราเล่าให้เขาฟังเรื่องนี้ เขาบอกใช่เลย หนูโดนประสบการณ์นี้”
จากคำบอกของบรรดาเหล่าลูกค้า ทำให้เจ้าของห้องเสื้อนี้ มีกำลังใจ และกลับมาคิดอีกทีว่า จริงๆ แล้วเวลาทำชุด ก็ยังรู้สึกหลงใหล และก็ยังรักในสิ่งนี้อยู่
“ไม่ปิดแล้ว เพราะว่าก็ยังมีแต่คนทักเข้ามา ว่าอย่าปิดเลย ยังอยากให้ทำอยู่ ลูกค้าประจำก็ทักเข้ามา อย่าปิดเลย จริงๆ ทุกครั้งที่ทำชุด พี่ก็มีความสุข เหมือนพอพี่ทำชุด พี่หลุดออกไปอยู่ในโลกนั้นเลย พี่ไม่มองนาฬิกา ตี3แล้วเหรอ แล้วเราก็ยังชอบประดิดประดอยอยู่ ทำไปเรื่อยๆ พี่ก็ว่าพี่มีtalentเรื่องนี้ ค่อนข้างชัดมากๆ
เรายังรักสิ่งที่เราทำอยู่ แต่ว่าเมื่อไหร่ที่มีคนต้องการ เราก็ยังทำอยู่ ทำต่อไปเรื่อยๆ พี่ก็เลยไม่ได้ซีเรียสว่าจะมีลูกค้าเยอะไหม มีเยอะก็แค่หาคนมาทำช่วยเพิ่ม ไม่มีก็ฉันทำเองได้ แล้วก็ถ้าสมมติลูกค้ายังอยากให้เราทำ เราก็ทำให้ แต่ถ้าลูกค้าไม่แฮปปี้ ก็โอเคค่ะ ไม่ได้รู้สึกเดือดร้อน เพราะว่าเราไม่ได้ทำตรงนี้ เป็นbusinessหลักแล้ว
อีกอย่างนึงพี่early retireเรียบร้อย พี่แค่ทำงานเป็นhobbyไปแล้ว คือทำเยอะก็จริง คนก็บอกว่าทำไมนิษฐ์ทำเยอะแยะ จริงๆ โคตรว่างเลยนะ เนี่ยพอหมดสัมภาษณ์ ก็จะกลับไปตีพิกเกิลบอลแล้ว ออกกำลังกาย กลับมากินVeganมาดูแลสุขภาพตัวเอง เพราะจริงๆ ร่างกายเราสำคัญที่สุด กลับมาดูแลสุขภาพ กลับมาดูแลจิตใจ”
ล่าสุด นอกจากจะไม่ปิดกิจการตามคำขอของเหล่าแฟนๆ แล้ว แถมยังมีออร์เดอร์เข้ามอีกเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นทั้งไทย และต่างประเทศ
“วันก่อนเพิ่งมีลูกค้าเกาหลีบินมา เขาก็มุ่งมาที่ร้านเราเลย เขาอยากใช้ชุดที่ร้าน เพราะเขาเข้าไปดูในเว็บไซต์ มันก็มีแสวยๆ เยอะ เขาก็บอกว่า เขาอยากได้ชุดที่ร้าน แต่เขาไม่ได้ใช้ชุดแต่งงาน เขาใช้ประกวด Miss Tourism
ตัดใหม่ก็มี ก็ยังมีลูกค้ามาให้ตัดใหม่ ก็มีมาเรื่อยๆ มีเคสนึง เป็นลูกชายมา บอกว่าอยากให้แม่ใส่ชุดที่ร้านนี้ คือน้องชายกำลังจะแต่งงาน แต่พ่อแม่อยู่จันทบุรี แต่เขามีบ้านอยู่ทองหล่อ เขาตาม TikTok แล้วเขาอยากให้แม่ใส่ชุดที่ร้านนี้ เพราะเห็นดีไซเนอร์บอกว่าสามารถadaptได้ แล้วเขาก็บอกว่าเป็นชุดแม่เจ้าสาว
หรือมีคนนึงบอกว่า ดู TikTok ปุ๊บมาเลย เขาแค่อยากใส่ชุดไทย เขามีโจทย์มาว่า เขาต้องไปงานธีมของคนใต้ ชุดย่าหยา เขาก็บอกว่า คุณนิษฐ์ทำไมมันเป๊ะขนาดนี้ เขาก็ชอบ เขาบอกว่าไม่เคยตัดชุดเลย แต่พอเห็นคุณนิษฐ์ปุ๊บ ก็มาเลย
ก็ยังมีมาเรื่อยๆ ก็ยังมีกำลังใจทำต่อ TikTok พี่แปลกอันนึง ไม่ค่อยมีคอมเมนต์ เหมือนอัลกอริทึมเขาดูจนจบ มีคุณแม่บอกของนิษฐ์ไม่ต้องคอมเมนต์ไง มันดูจนจบ แล้วมันไม่มีอะไรให้ถาม เพราะคุณนิษฐ์อธิบายจบแล้ว”
ถูกใจจนไวรัล “ชุดเช่าร้านฉันก็ตัดนะ”
ดูเหมือนว่า คลิปที่กลายเป็นไวรัล ที่ถูกอกถูกใจชาวโซเชียลฯ โดยเฉพาะเจ้าสาวสายเช่าชุด ที่ทางแบรนด์ก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลย ถึงแม้ว่าจะเป็นชุดเช่า ที่บางร้าน อาจจะส่งชุดให้เช่า ให้ลูกค้าทั้งอย่างนั้น แต่ไม่ใช่สำหรับแบรนด์“Ganit”เพราะถึงจะเป็นชุดเช่า ก็ต้องมีการลองชุด เพื่อจะได้ดูว่าใส่แล้วสวย หรือมีความมั่นใจ หรือต้องการปรับแก้ตรงไหนเพิ่ม โดยเฉพาะยิ่งถ้ากระโปรงยาวไป ทางแบรนด์ก็พร้อมตัดให้กับพอดีลูกค้าได้เสมอ ถึงแม้จะเป็นชุดเช่าก็ตาม
“อันที่ไวรัล ก็คืออันที่ตัดกระโปรงเนาะ มันก็มาจาก เราก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าคนอื่นเขาไม่ตัด ชุดเช่าเขาไม่ตัด คือบางอย่าง จาก 20 ปี ที่พี่ทำชุดแต่งงานมา พี่ไม่ค่อยรู้ว่าใครทำอะไร เพราะพี่ไม่รู้จริงๆ
เอาง่ายๆ TikTok พี่ก็ไม่ได้ดูนะ มาทำTikTokถึงได้กลับมาดู เพราะว่าเราก็ไม่รู้ว่า TikTok ทำอะไร TikTok คือต้องยังไง แต่ด้วยความที่ว่าน้องที่ทำ TikTok ให้เรา เขาก็บอกว่ามันไม่มีคนทำเรื่องพวกนี้ เรื่องชุดแต่งงาน
พี่โฟกัสที่เจ้าสาว เน้นผลลัพธ์เป็นหลัก เพราะฉะนั้นเจ้าสาวคือผลลัพธ์ของพี่ ถ้าสมมติชุดเขาไม่สวย ชุดเขาหลวม ถ้าร้านอื่นอาจจะไม่เก็บแก้ให้ เพราะว่าเดี๋ยวคนอื่นใส่ไม่ได้ เพราะมันเป็นชุดเช่า ถ้าเก็บปุ๊บ ขยายไม่ได้
แต่ของพี่ สมมติถ้าคุณเช่าตัดชุดนี้นะ ตะเข็บพี่จะเหลือน้อยมาก ไม่เหลือสำหรับการแก้ให้คนอื่น พี่จะบอกว่าคนนี้คือเช่าตัดเป็นชุดเขา เพราะฉะนั้นตัดให้เข้าไซส์เขาให้สวยที่สุด ไม่ว่าเขาจะเตี้ย จะสูง จะผอม จะอ้วน คือเอาง่ายๆ ตัดเพื่อเขา เพราะฉะนั้นคนอื่นมา ก็เรื่องของคนอื่นแล้ว
ถ้าคนมาแล้วชอบชุดนี้ ใส่ไม่ได้ ก็ตัดใหม่ กับอีกอันนึงคือแก้ให้ได้ ก็ต้องบอกเขาว่าจะแก้เป็นแบบนี้ๆ อย่างตอนsaleเนาะ ห่างไป 5 นิ้ว พี่ก็ต้องหาวิธีแก้ให้เขาให้ได้ เช่น เติมผ้า เติมดีไซน์เข้าไป เติมตะเข็บเข้าไป ขยายตะเข็บให้ใส่ได้ หรือเอามาทำเป็นชุดอื่นให้เขาแยกชิ้น”
เหตุผลที่ทำแบบนี้ ก็เพราะเจ้าของแบรนด์มองว่า ยังไงเจ้าสาวต้องสวยที่สุดในงาน โดยเฉพาะในภาพถ่ายที่มีกล้องจากแขกในงาน ทั่วทุกสารทิศ
“เอาง่ายๆ พี่มองเรื่องของการถ่ายภาพ ยิ่งช่างภาพเดี๋ยวนี้ ยิงมุมแบบ360อาศา เดี๋ยวมุมสูง มุมเสย มุมเงย มุมหลัง มุมข้าง คือทุกมิติมันต้องสวย ไม่ว่าเจ้าสาวจะยืดแขน จะหันหลัง มันต้องสวยหมด มันต้องสวยทุกมุม เพราะฉะนั้นพี่ก็จะดูภาพรวมของทั้งชุดว่า ถ้าด้านข้างไม่สวยก็ต้องเอาให้สวย ตะเข็บต้องไม่มี ลูกไม้ต้องซ้อนกัน แล้วมันต้องได้จังหวะของมัน คือดูไปทำไป
พี่มองว่า เจ้าสาวยังไงคุณต้องสวยที่สุดของงาน ถ้าคุณแบบผ้ากอง แล้วคุณเดินไม่ได้ คุณก็ต้องมาหิ้วผ้าอย่างนั้น ต้องยืนแล้วต้องพอดี พี่ก็จะบอกลูกค้า ให้เอารองเท้า ที่คุณจะใส่มา แล้วพี่จะตัดให้เท่าที่รองเท้าเขาใส่ บางทีเขาเอารองเท้ามาลอง4นิ้ว พี่ก็บอกว่า ต้อง 4 นิ้วเป๊ะนะ
เพราะไม่งั้นความยาวของชุดจะเปลี่ยน พี่ก็ต้องบอกลูกค้า เวลาเดินสุ่มอะไร ก็ต้องทำให้เขารู้สึกว่า เขาเดินง่ายที่สุด เราเดินออกมาสวยที่สุด เพราะเขาเป็นพรีเซนเตอร์ให้เรา”
เรื่องเล่าหลังผ้า ปัญหาไม่ตรงปก
ดีไซเนอร์คนดัง เล่าถึงประสบการณ์เบื้องหลังผืนผ้า และเส้นด้าย ให้ฟังว่า ด้วยความที่ทำห้องเสื้อมานาน20กว่าปี ก็มีเรื่องเล่ามากมาย อยากแชร์ให้คนในโซเชียลฯ ฟัง ซึ่งคอนเทนต์แต่ละคลิปที่นำเสนอไป ก็เป็นประสบการณ์ตรง ที่เจอในตลอดเส้นทางสายนี้
พอเอามาเล่าอะไรแบบนี้ กลายเป็นว่าหลายคนสนุก ชอบใจ เพราะบางเรื่อง มันก็ไปตรงกับปัญหาที่คนเหล่านั้นเคยเจอมา จึงเหมือนกลายเป็นการแชร์เรื่องให้เพื่อนฟังซะมากกว่า
“เราก็รู้สึกว่า เออสนุกดี เราก็มีคอนเทนต์เยอะแยะ เล่าเรื่องชุด พี่จะเป็นพวกสปอยล์ลูกค้า พี่จะไม่ได้แบบ เธอใส่ตัวนี้ดีกว่าตัวนั้น ไม่ เขาเป็นคนใสไม่ใช่เรา แค่ทำให้เขามั่นใจ กับสิ่งที่เขาใส่ แล้วเขาจะเดินออกมาด้วยความมั่นใจ
แต่ถ้าเขาไม่มั่นใจแล้วเราไปยัดเหยียดเขา ยังไงเขาก็ไม่เอา ถ้าเขาใส่แล้วเขามั่นใจพี่เลือกตัวนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะใส่ตัวนี้สวยกว่านะ แต่ถ้าเขามั่นใจอีกตัวนึงมากกว่า ที่เราเห็นว่ามันสวยกว่า คุณเอาตัวนั้น หน้าที่ดีไซเนอร์คือแก้ปัญหา อันนี้เป็นเรื่องปกติ
แต่บางคอนเทนต์ที่เขาถามมา เราไม่รู้ เราก็บอกว่าไม่เอามาพูด มันไม่ใช่ความลับหรอก บางทีเขาถามมาเรื่องแต่งหน้า หน้าพัง หน้ากับชุด ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับเรา เราไม่ได้เป็นmake up มีแต่หน้าที่ไม่เข้ากับชุดเรามี แต่หน้าพังเราไม่รู้ เพราะว่าเราไม่ใช่make up artist”
ปัญหาเรื่องหน้ากับชุดไปคนละทาง ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่ และพบบ่อยๆ สำหรับคู่บ่าวสาวแต่งงานใหม่ เธอจึงแนะนำว่า ทางที่ดี ต้องเลือกเทสช่างแต่งหน้า ให้เข้ากับชุด กับธีมงานแต่งมากที่สุด เพราะช่างส่วนใหญ่ เขาก็จะแต่งตามที่เขาถนัด
“คือชุดมันเสร็จแล้ว แต่ช่างผม เขาก็แต่งสไตล์เขา ซึ่งไม่ได้ดูชุดเลย ว่าชุดมันเป็นประมาณไหน เคยมีเคสนึง ชุดเราเปรี้ยวมาก เป็นแบบชั้นๆ มีลูกเล่นเยอะ แต่ปรากฏว่า เขารวบผมแบบเกล้า เหมือนนางสาวไทย
มันไม่เกี่ยวความผิดใคร เพียงแต่ว่ามันอาจจะเทสของแต่ละคนมากกว่ามั้ง เขาอาจจะชอบก็ได้นะ แต่เราไม่รู้ แต่พอเราเห็นปุ๊บ เราเสียดาย คือการทำเสื้อผ้ามันไม่ใช่แค่เสื้อผ้า มันคือภาพรวมขององค์รวมทั้งหมด สไตล์ลิสสำคัญ แต่งหน้าสำคัญ ผมสำคัญ ชุดสำคัญ เพราะฉะนั้นหน้าอย่าง ชุดอย่าง มันไม่ได้ไปด้วยกัน มันก็พังได้
แทนที่มันจะสวยกว่านั้นได้ มันกลายเป็นแบบ simple มาก อย่างเวลาพี่ทำแฟชั่นโชว์ พี่ก็ต้องมีเพื่อนที่เป็นสไตล์ลิสเก่งๆ มาช่วยโคโรกราฟ มาช่วยทำให้ธีมมันไปด้วยกันได้กับชุดเรา พี่ก็จะมีสไตล์ลิสประจำ ที่พี่ชอบเทสมัน เพราะบางอย่างเทสมันสอนกันไม่ได้ เพราะชุดเราเป็นประมาณนี้ เราเก่งชุดเราก็ทำชุดไป
ส่วนใหญ่ช่างหน้า เขาก็จะแต่งตามที่เขาถนัด เราบอกไม่ได้ว่าเขาเก่งไหม หรือไม่เก่ง คุณก็ต้องรู้ว่าเขาทำแนวไหนได้บ้าง ดู reference ดูผลงาน ปัจจุบันมันยากเหมือนกันนะ เพราะว่ามันมีแอปฯ หรือแม้กระทั่งถ่ายรูป เขาแอบใส่ฟิลเตอร์หรือเปล่า เราไม่มีทางรู้เลยจนกว่าเราจะเห็นงานจริง”
เธอเล่าประสบการณ์ตรง ในตอนที่เธอแต่งงาน เมื่อ24ปีที่แล้ว ให้ฟังว่า เคยโดนช่างแกงเหมือนกับหลายๆ คน ว่าไม่ได้ reference อย่างที่ตั้งใจไว้
“เราไม่รู้หรอกว่าใครแต่งหน้าเก่ง เพราะเราก็ไม่เคยแต่งงาน แล้วเราก็ไม่ได้อยู่ในวงการ ก็เลยถามพี่สาวว่าช่วยหาช่างแต่งหน้าให้หน่อย เขาบอกโอเค ก็ไปลองเลยเคาน์เตอร์แบนด์ ก็บอกว่าจะแต่งงาน พี่สาวแนะนำให้ ก็เลยชอบปุ๊บ ก็จบ
แล้วเราก็เลยบอกเขาว่าขอผมเป็นเคิร์ฟ คือธีมพี่เป็นgatsbyชอบมาก ฝันมาก อยากได้เคิร์ฟ เอา referenceไปให้ดู เยอะแยะมากมาย เขาก็โอเคๆ พอถึงเวลามันไม่ได้ gatsby มันไม่ได้ถูกช่างทำได้ แล้วเราก็ไม่ได้ลอนของเรา เลยแบบได้เป็นปื้ดมา
เราก็เลยรวบ เอาลูกไม้ติดผมเลยแล้วกัน ซึ่งเราก็ไม่ได้แบบที่เราอยากได้ ก็เหมือนชุด คุณเอาreferenceให้ช่างดู ไม่ใช่ทุกช่างสามารถทำได้ ไม่ตรงปกเยอะมาก เพราะว่าสิ่งที่คุณดู ช่างดู ตีโจทย์ก็ไม่เหมือนกัน หรือแม้กระทั่งpatternที่เขาทำ เขาก็ไม่ได้ทำได้ทุกแบบ”
นักเรียนนอก กับจุดเริ่มต้นห้องเสื้อ
สำหรับจุดเริ่มต้นของแบรนด์“Ganit”เกิดขึ้นจากความหลงใหลในงานศิลปะ และแฟชั่น มาตั้งแต่อายุ 11ปี ที่ตั้งใจสานฝัน สร้างแบรนด์ของตัวเอง ด้วยการสั่งสมความรู้ และประสบการณ์ทั้งจากความรู้รอบตัว และจากการเรียน
โดยเธอสอบเทียบเข้าเรียนปริญญาตรี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวัยเพียง16ปี จนมีดีกรีปริญญาตรี เกียรตินิยมจากครุศาสตร์ศิลปะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เธอเล่าว่า ในระหว่างที่เรียน เธอก็มีร้องไห้บ้าง เพราะด้วยความที่เป็นเด็กวัย16ปี ที่ต้องเข้ามาเรียน ปี1กับรุ่นพี่ ก็รู้สึกดัน กลัวว่าตัวเองจะทำได้ไม่ดี เธอพยายามอย่างหนัก ในการมุ่งมั่นที่จะเรียนให้จบ เธอพยายามขนาดที่ว่า ถ้าอาจารย์สั่งงาน1ชิ้น เธอจะทำมากกว่า 1 ชิ้น เพื่อให้อาจารย์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด
“งั้นฉันเอาปริมาณเขาสู้ ชั่วโมงบินฉันต้องตามให้ทัน เพราะฉะนั้นถึงได้บอกว่าเป็นคนบ้าพลังตั้งแต่เด็ก สมมติว่าผ้าพิมพ์ ผ้าปริ้น หรือdrawingอาจารย์ให้ส่งdrawingแค่1งาน เราส่งมันไปเลย20งาน มันก็ต้องมีสักงานนึง ที่มันอาจจะได้คะแนนสูงสุด
หรือแม้กระทั่งภาพพิมพ์ อาจารย์ขอแค่4 editionอาจารย์เลือกเองเลยค่ะ50 editionอาจารย์ก็เลือกอันที่อาจารย์คิดว่า quality ดีที่สุด ก็ทำอย่างนี้มาตลอด หรือแม้กระทั่งเรียนปั้นเซรามิก คนอื่นอาจจะส่งปั้นอันเดียว เราก็ไปทำทั้งวันทั้งคืน มี 10 งาน”
แม้จะการันตีด้วยเกียรตินิยมจุฬาฯ แต่พอหลังจบปริญญาตรีออกมา เธอกลับรู้สึกว่า ยังเด็กมากเกินไป ที่จะออกมาทำอะไร
“รู้สึกว่าการศึกษาเมืองไทยล้มเหลว ตั้งแต่เราจบถึงแม้เราจะได้เกียรตินิยมจุฬาฯ แต่เราไม่ได้รู้สึกว่า เราออกมาแล้วเราจะทำอะไรได้ ความรู้สึกนั้นมันมี รู้สึกว่าเราเด็กมาก 20 ปี มันเด็กมากๆ แล้วเรารู้สึกว่าความรู้แบบนี้ จะทำมาหากินอะไรได้เหรอ
จริงๆ เราไม่เชื่อเรื่องดีกรีด้วยซ้ำไป เพราะเรารู้สึกว่า คนเราความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดเยอะแยะ ทุกอย่างมัน learning byประสบการณ์ กับชั่วโมงบิน เพราะว่าจริงๆ แล้วมันไม่มีหลักสูตรอะไรตายตัวหรอก สำหรับพี่นะ พี่ก็ทำไปดูไป
คือพี่จบ ครุศาสตร์ศิลปะ คือการเป็นครูสอนศิลปะ จะแยกไปเป็นปั้นก็ได้ ไปเป็นพิมพ์ก็ได้ ไปเป็นกราฟิกก็ได้ เป็นโฆษณาก็ได้ คืออะไรก็ได้ แต่เราเลือกทำแฟชั่น ทำเสื้อผ้า จริงๆ ธีสิส ทำแค่3ชุด ก็จบแล้ว แต่พี่ทำ20ชุด ไอเดียมันเยอะ จนอาจารย์เคยทักว่า กนิษฐ์ไอเดียเธอพรั่งพรูเหลือเกิน เก็บไว้งานอื่นบ้างไหม แต่เราเป็นคนบ้าพลังตั้งแต่เด็ก ทำอะไรต้องเกินร้อย
คนอื่นไม่มีโชว์รันเวย์ แต่พี่มีรันเวย์ เพราะเราอยากทำทุกอย่าง มีจ้างนางแบบ คือเพื่อนๆ กันนะเนี่ยแหละ ไม่ได้ไปลงทุนอะไรเยอะแยะ แล้วก็เพื่อนครุดนตรี ทำเพลงแฟชั่นโชว์catwalkเลย”
หลังจากนั้น เธอตัดสินใจไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ และคว้าเกียรตินิยม อนุปริญญาอีกใบจากสาขา Textile & Theatre Art ที่ London Collage of Fashion
นอกจากนี้ ยังต่อยอดความรู้ ด้วยการคว้าปริญญาโทด้าน Textile Design จาก Central Saint Martin Collage of Art & Design ที่เป็นมหาวิทยาลัย ติดTop 5 ของอังกฤษ เป็นเครื่องการันตีอีกด้วย
แต่กว่าจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอะไร ก็ลองทำมาหลายอย่าง ทั้งเคยไปลองฝึกงานที่บริษัทจิวเวลรี่แห่งหนึ่ง หรือหลังจากกลับมาอยู่เมืองไทย ก็ยังเคยไปทำงานเป็นดีไซเนอร์ให้โรงงานแห่งนึง แถวอ้อมน้อย อยู่ 1 ปี
“ก็ไปทำอยู่ปีนึง เรารู้สึกว่า มันไม่ได้พัฒนาตัวเอง รู้สึกว่ามันไม่มีอะไรสนุกแล้ว แต่ตอนนั้นเรารับงานฟรีแลนซ์อย่างอื่นด้วย ก็ทำคู่ขนานไป ใครให้ทำอะไรก็ทำรับ อย่างที่บอกทำทุกอย่าง ด้วยความที่เรามี connection เยอะ ใครอยากให้เราหาอะไรก็จะโทรมา”
และยังเคยเป็นอาจารย์พิเศษ ประจำภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มากว่า18ปี และด้วยความ ที่เธอก็ชอบออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าของตัวเองมาโดยตลอด ทุกครั้งที่ออกงาน ก็มักจะมีคนเข้ามาทักและถามตลอดว่า ตัดชุดที่ไหน สวยดีนะ ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย
และเพื่อนๆ ก็มักขอร้องให้เธอช่วยออกแบบ และทำชุดให้ตลอด ยิ่งนับวันยิ่งมากขึ้น จากนั้นก็สั่งสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนเกิดความมั่นใจ
ในที่สุดปี 2002 ห้องเสื้อแบรนด์ “Ganit” จึงเกิดขึ้น จากแรงบันดาลใจที่อยากจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ผ่านชุดราตรี ชุดแต่งงาน ที่มีทั้งความล้ำสมัย มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของลูกค้าแต่ละคน
“ตอนนั้นเรารู้สึกว่า มันไม่มีชุดแต่งงานที่ตอบโจทย์เราในตลาด เพราะฉะนั้นเราทำเพื่อสนองneedตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วก็เป็นคนไม่ชอบทำชุดธรรมดา ชอบทำชุดที่มันเว่อร์วังอลังการ ชอบทำชุดที่ยิ่งเว่อร์ คนยิ่งชอบ ยิ่งอลังคนยิ่งมา แล้วตอนนั้นมันไม่มีชุดแบบนี้ในเมืองไทย ก็เลยชอบ
ก็เริ่มจากชุดราตรีก่อน ตอนนั้นก็ทำไปเรียนไปอย่างที่บอก ก็คือไปเรียนตอนกลางวันกับอาจารย์พรศรี เดอบูตอง กลางคืนกลับมาทำงาน
จากชุดราตรี ก็เริ่มมีเพื่อนอยากให้ตัดชุดแต่งงานให้ ตอนนั้นก็ยังใหม่มากๆ ก็ยังไม่มีประสบการณ์อะไรมาก ก็เริ่มมีคนทยอยมาตัดชุดแต่งงานเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนทำร้านเสื้อสัก5ปีเริ่มมั่นใจสุดๆ มาแบบไหน ทำเป็นหมด นั่นแหละถึงได้เริ่มเปิดเป็น wedding”
แปลกใหม่ สะดุดตา สวยปากต่อปาก
สำหรับเอกลักษณ์ ของห้องเสื้อ Ganit จะมีความ unique เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร มีความแปลกใหม่ สวยสะดุดตา โดยเน้นความประณีตบรรจงของช่างฝีมือ ด้วยการใช้ช่างฝีมือเฉพาะด้าน
เห็นได้จากชุดลูกไม้ของทางร้าน ที่มีความเนี้ยบ โดยการเชื่อมลูกไม้ทีละดอก เพื่อไม่ให้เห็น ไร้ตะเข็บรอยต่อ เพื่อความสวยงามกลมกลืน ความต่อเนื่องและความประณีตงดงาม
และห้องเสื้อ Ganit ก็ยังไม่มีสไตล์ของแบรนด์ในแบบเฉพาะเจาะจง เพราะทางร้านถือว่า สไตล์เดียวที่ให้ความสำคัญคือ สไตล์ที่ใช่ และเหมาะกับลูกค้าเท่านั้น
“จริงๆ มันคือความไม่เหมือนชาวบ้านมั้ง มันมีบางอย่างที่คนสะดุดตา เพราะอย่างที่บอกเราไม่มีpatternประจำร้าน ชอบอะไรก็ตกแต่งไป เราอาจจะเก่งงาน crafts มันเหมือนงาน crafts งานศิลปะมากกว่า เพราะฉะนั้นมันก็เลยไม่มีอะไรที่เหมือนในตลาดตอนนั้น
คนจะเห็นเราจาก passion แล้วเขาจะเอาเงินมาให้เราเองมีช่วงนึงขายวิญญาณมากเคยเห็นเขาทำอันนี้แล้วขายดีทำบ้าง ไม่เคยขายได้เลยเพราะไม่ใช่เรา
สมมติพี่เห็นว่าคนเขาออกแบบ 1 ชุด แล้วก็เปลี่ยนทำเป็น S M Lใครใส่ได้ก็ซื้อไปเลย พี่ก็ทำS M Lแบบเดียวกัน ไม่เคยขายได้เลย เพราะมันไม่มีuniqueในนั้น
แล้วคนที่มาหาเรา มันคือความuniqueจุดขายเราคือความuniqueความไม่เหมือนใคร พี่เลยต้องเอาชุดเบสิคนั้น มาโมเป็นอะไรก็ไม่รู้ บ้าบอ เดี๋ยวก็ขายได้ ให้มันมีชุดเดียว นั่นคือความuniqueเรา มันก็มีความแปลกในตรงนั้น
อาจารย์คนนึงเคยพูดไว้ว่า ถ้าคุณตามแฟชั่นคุณล้าหลังแล้ว คุณต้องแอดวานซ์ ซึ่งเราก็เป็นคนที่ไม่ได้อิงกระแสแฟชั่น แต่อิงสิ่งที่เรารู้สึกว่าชอบส่วนตัว”
เจ้าของห้องเสื้อยังบอกอีกว่า ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ทำการ promote อะไรเยอะแยะ แต่เป็นการแนะนำกันผ่านปากต่อปาก
“word of mouth สิ่งที่โฆษณาที่ดีที่สุด คือคนจริงที่ใส่ชุด ถ้าคุณใส่ชุดสวย คนทั้งงานชมคุณ มันอาจจะมีคน ที่เป็นว่าที่เจ้าสาว เฮ้ย..ตัดที่ไหน เขาก็ต้องแนะนำเรา
ตลอด 20 กว่าปี พี่ไม่เคยมีคอมเมนต์เสียเลย ไม่มีแม้แต่คนเดียว เพราะพี่ไม่ยอม คือถ้าคุณจะมาว่าชุดพี่ไม่ดี ชุดไม่สวย พี่คืนเงินเลย จบ อย่าเอาฉันไปพูด เพราะพี่มองว่าเครดิตสำคัญที่สุด ในการทำงานของพี่ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม
เราไม่เคยทำการตลาด สมัยก่อนไม่เคยทำการตลาด แต่ก่อนมาทำการตลาด ก็คือครั้งเดียว ก็คือใน wedding ที่เริ่มทำ wedding ตอนนั้นทำการตลาดเยอะ ทำแบบอัดทีเดียว ปึ๋งปีเดียวขึ้นเลย เพราะว่ามันแบบเหมือนพร้อมแล้ว
ทำการตลาดครั้งเดียว ที่เริ่มทำweddingตอนนั้นทำการตลาดเยอะ ทำแบบอัดทีเดียว ปึ๋งปีเดียวขึ้นเลย เพราะว่ามันเหมือนพร้อมแล้ว เปิดแมกกาซีนเล่มไหนก็เจอดิฉัน สมัยก่อนนะ ก็ถ่ายแบบ แล้วก็เดินแฟชั่นโชว์ทำแฟชั่นโชว์ ถ้าเมื่อ20ปี พี่ก็ว่าพี่Top 5 ของประเทศ
หลังจากช่วงกระแสอินเทอร์เน็ตเข้ามา หรือพวกออนไลน์เข้ามา เราก็เริ่มดาวน์ลง เพราะเราไม่เก่งออนไลน์ ทั้งๆ ที่พยายามแล้วนะ แต่อาจจะไม่ได้เก่งมาก ไปเรียนออนไลน์ด้วย เว็บทำอยู่แล้ว ตั้งแต่ต้น เป็นคนแบบไม่ถนัดโซเชียลฯ มากกว่า แต่อย่างที่บอกว่าพอทุกอย่างมันลง เราก็ไม่ได้ promote ด้วย”
นอกจากนี้ ทางร้านยังมีเทคนิค ที่อาศัยประสบการณ์ ที่สั่งสมมาตลอด 20 กว่าปี ในการเลือกสรรชุดให้ลูกค้า ด้วยความเหมาะสม โดยเชื่อว่า ความประทับใจแรกสำคัญเสมอ
“เทคนิคที่พี่จะแนะนำชุดเขา ที่ไซส์เขาใส่สวย เวลาลูกค้ามาปุ๊บพี่จะมองปั๊บเลยว่าชุดไหนเหมาะกับเขา ก็คือไซส์เขานั้นแหละ ก็คือใกล้เคียงที่สุด พี่จะไม่สมมติว่าคุณ ไซส์ XL โอเค XS ตัวนี้ลอง มันเป็นไปไม่ได้ first impress มันสำคัญสุด ถ้าเขาใส่ชุดแรกแล้วสวย เขาจะเอาชุดนั้น
แล้วพี่เป็นคนที่เก่งในการกะไซส์คน สมมติว่าเห็นปุ๊บ น้องคนนี้ใส่ชุดนี้สวย ไปหยิบชุดนั้นก่อนเลย แล้วเขาลองปุ๊บ first impress สำคัญสุด เขาก็โอ้โห เป๊ะพี่นิษฐ์ แล้วเขาก็จะลองอีก4-5ชุดก็ว่าไป สุดท้ายก็กลับมาเอาชุดแรกที่เราให้ลอง เพราะมันคือตาเราที่เห็นว่าเขาใส่ชุดนี้สวย ในเมื่อถ้าเราเห็นใส่สวย ก็จบ จะเก็บแก้นิดเดียว ไม่เยอะ
พี่จะขอเลย มี references ให้ดูไหมคะ ชอบแนวไหน แล้วเราก็จะนึกชุดเรา เราจำชุดเราได้ทุกชุด แล้วก็จะจำได้ว่า มีชุดนี้น่าจะเหมาะกับเขา ใกล้เคียงกับ references เขา ก็จะเอาชุดนอนมาให้ลองสมัยก่อนมันมีวาไรตี้ชุดเยอะไง ตั้งหลาย 100 ชุด เราก็ต้องจำได้ว่าอ๋อ..หุ่นนี้ เอาแบบปิดใช่ไหมคะ เอาเกาะอกใช่ไหมคะ ก็ส่งไปให้เขา แล้วก็ให้เขาลอง ส่วนใหญ่ first impress”
และอีกหนึ่งทริกของร้านที่ไม่เหมือนใครคือทริกลองชุดด้วยซับในไม่ใช้ผ้าดิบเหมือนร้านอื่นเพราะจากประสบการณ์เธอมองว่า การทิ้งตัวของผ้าไม่เหมือนกันเพราะฉะนั้นทางร้านจะให้ลูกค้าที่เข้ามาตัดชุด ลองชุดด้วยซับในที่ร้านขึ้นโครงร่างไว้ให้ ซึ่งจะทำให้ใกล้เคียงกับชุดจริงมากที่สุด จากนั้นก็สามารถเอาซับในกลับไปเก็บกับตัวจริงได้จะง่ายต่อการทำงานขึ้นไปอีก
ศิลปินไส้แห้ง เพราะไม่คำนวณต้นทุน
แน่นอนว่าแม้จะมีงานเข้ามาเรื่อยๆ แต่กลายเป็นว่าไม่มีเงินเก็บ เธอบอกว่า ช่วงแรกๆ กลายเป็นศิลปินไส้แห้งเลยก็ว่าได้ เพราะตั้งหน้าตั้งตาทำอย่างเดียว โดยที่ไม่รู้จักคำนวณต้นทุน จนได้เพื่อนช่วยเตือนสติ จึงพยุงตัวเองกลับมาได้
“จนลงเรื่อยๆ ไม่เข้าใจ งานก็เยอะ แต่ทำไมจนลง เข้าใจคำว่าศิลปินไส้แห้ง เพราะเราไม่รู้ว่าต้นทุนมันอยู่ในอากาศเยอะมาก ซึ่งเราไม่ได้คำนวณ
เพื่อนก็เลยแบบทำตารางให้ นี่ค่า cost ค่าวัตถุดิบ ค่า label ค่า overhead ค่าเช่าร้านอยู่ตรงไหน ค่าแอร์อยู่ตรงไหน ค่าอุปกรณ์ทั้งหลายที่แกซื้อมาทำอยู่ตรงไหน ค่าจักร เราก็แบบไม่งั้นชุดนี้ไม่เป็นล้านเหรอ คือแบบไม่เข้าใจ ไปเรียนอังกฤษ 3 ปี 3ล้าน ต้องหารยังไง มันบอกก็ทุกอย่างมันมีค่าวิชาชีพ เราก็อ๋อ..ถึงบางอ้อหลายๆ เรื่อง”
เธอบอกอีกว่า ตอนที่เรียนอยู่เมืองไทย ไม่มีสอนในเรื่องค่าพวกนี้ แต่พอมาเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาฯ ก็สอนเด็กๆ ไปด้วย เพราะรู้สึกว่า เรื่องนี้มันสำคัญมาก ดังนั้นเธอจึงมองว่า ประสบการณ์มันมีค่ากว่าห้องเรียน
เมื่อผ่านช่วงนี้ไป ก็เรียกได้ว่าเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูมาก มีลูกค้าออเดอร์ชุดเข้ามาเรื่อยๆ ช่วงพีคๆ โดยเฉพาะช่วงไฮซีซั่น ของชุดแต่งงานเมืองไทย คือ พ.ย. - ธ.ค.เธอบอกว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงโกยเงิน ลูกค้าจะแน่นมาก เดือนนึงอาจจะรับ 20-30 ชุดเลย
“ช่วงที่พีคๆ ของเดือน พ.ย.บางปี 30 ชุดมีแน่นอน แต่ถ้าช่วงนี้ พ.ย.นี้ พี่ก็ไม่ได้มีชุดเยอะ รับ 3-4 ชุดเอง อย่างที่บอกเราลดสเกล เราไม่ได้โปรโมททางอื่นเลย”
ส่วนระยะเวลาในการทำแต่ละชุดนั้น ดีไซเนอร์คนนี้ เธอก็บอกว่า แล้วแต่ความยากง่ายของชุด แต่ที่สำคัญคือต้องมีการวางแผนให้ดี เพราะจะได้เสร็จทันคิวลูกค้าแต่ละคนไป ช่วงไหนที่งานเร่ง พนักงานที่ร้าน ก็จะช่วยกันทำทั้งวันทั้งคืน
“ชุดแต่งงานมันไม่ได้ซื้อมาออกไปเนาะ มันไม่ใช่เขาเลือกปุ๊บจบจ่าย ไม่ บางคนแต่งงานวางแผนไว้ 3 เดือน 1 เดือนนี่คือท้องก่อนแต่งแน่นอน หรือถ้ามาเร่งๆ เนี่ย 80% ท้อง
ส่วนใหญ่เขาจะวางแผน พี่จะบอกลูกค้าเลยว่าขอขั้นต่ำ3เดือน แล้วก็บางคนยาวถึง2ปีก็มี เพราะฉะนั้นมันมีความหลากหลายในลูกค้าที่เข้ามามากๆ
เราทำล่วงหน้าตั้งแต่ต้นปี พี่จะให้เขาเข้ามาก่อนแต่งหน้าอาทิตย์สุดท้าย เพราะว่าน้ำหนักจะลงช่วง3วันสุดท้าย ลูกค้า99%น้ำหนักลดอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรารู้อยู่แล้ว ว่ายังไงเราต้องเก็บแก้ให้เขาก่อนแต่ง
พี่จะบอกเขาว่าเสร็จ3-4เดือน ก่อนแต่งก็ได้ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะว่าก่อนแต่ง คุณต้องมาฟิตติ้งอีกครั้งนึง เพื่อที่จะส่งซักแห้ง แล้วส่งซักแห้งไม่ต้องแก้แล้ว เขาจะรีดมาสวย เรียบร้อยแล้ว”
อย่างที่บอกว่าตอนนี้ ห้องเสื้อได้ลดสเกลการทำงานลง จากที่เคยมีพนักงานอยู่ประมาณ 20 คน ตอนนี้เหลือ 3-4 คน เท่านั้น
ผันตัวเป็น coach จากบทเรียนซึมเศร้า
จากดีไซเนอร์ ผันตัวเองไปเอาดีทางด้านการเป็น coach ซึ่งต้นเหตุที่หันไปทางนี้ ก็มาจากการที่เธอนั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เมื่อ 10 ปี ที่แล้ว
เธอเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เป็นโรคซึมเศร้า เป็นช่วงเดียวที่ห้องเสื้อกำลังไปได้ดี ตอนนั้นเธอทำงานอย่างหนัก แทบจะไม่มีวันพัก เพราะลูกค้าช่วงนั้นก็แน่น
พอมีงาน มีเงินเข้ามาเยอะ มันกลับทำให้เธอไม่มีความสุข บวกกับช่วงนั้นสูญเสียคุณยาย ผู้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ส่งผลให้ด้านความสัมพันธ์ครอบครัวไม่แฮปปี้ มีเรื่องให้ทะเลาะกันอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นสามี และลูกสาวตอนนั้นในวัย7ขวบ แต่พอเริ่มรู้ว่าตัวเองมีภาวะซึมเศร้า เธอก็เริ่มหาทางออก ด้วยการใช้ศิลปะบำบัด
“ก็อย่างที่บอก เป็นออแกไนซ์เซอร์ จัดสัมนา เราก็ทำมา 10 ปี แล้วเราก็เริ่มเป็นโค้ช ก็ไปเรียนศาสตร์ coaching เอาจริงๆ มันมาจากการที่เราเป็นโรคซึมเศร้า ช่วงที่ธุรกิจดีที่สุด เราเป็นโรคซึมเศร้า ช่วงที่งานเยอะที่สุด เงินเยอะที่สุด เราเป็นโรคซึมเศร้า
10 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีลูก 7 ขวบด้วย ช่วงนั้นทำงานหนักมาก สมัยก่อนไม่มีวันหยุดเลย เราก็ทำถึงตี 2 ตี 3 ก็ไปนอน ตื่นมาก็ทำต่อ มีแต่งาน7วันไม่มีหยุด ทุกอย่างมันมีแต่งาน ทำไมเราเริ่มไม่มีความสุขแล้ว เริ่มเหนื่อย เริ่ม burnout หลายๆ อย่าง
ภาวะนี้มันเริ่มซึมเศร้าหรือเปล่า หดหู่ ก็เริ่มไปเช็คลิสต์ว่า คนซึมเศร้าเป็นยังไง ถูกทุกข้อ ก็เริ่มหาทางแก้ ไม่หาหมอ พี่เป็นคนที่เชื่อว่า ทุกต้นเหตุมันมีทางออก แต่เราต้องหาที่ตรงจริตกับตัวเอง ก็เลยมาทางสายศิลปะก่อน พวกอาร์ตบำบัด ศิลปะบำบัด มิวสิคบำบัดdramaบำบัด
ทั้งหลายที่เป็นบำบัด healing ต่างๆ Therapy ต่างๆ จนมาเจอพี่คนนึง ไปเวิร์คช็อปกับเขาแหละ เออดี เขาก็เริ่มสอนเรื่อง mindset บางอย่าง แล้วเขาก็บอกว่า พี่มี private coaching ด้วยนะ เอาไหม เอาสิ ก็คุยกับเขา
ปรากฏว่าแค่เซ็กชั่นเดียว 2-3 ชั่วโมงหาย อยู่ๆ ก็แบบ เฮ้ย..มีความสุขจังเลย แปลกจังเลย คืออะไร แต่ตอนนั้นไปเรียนสะกดจิตด้วยนะ ก่อนหน้านั้นไปเรียนสะกดจิต เพื่อที่จะให้หลับ เพราะมันนอนไม่หลับไง สะกดจิตให้ตัวเองหลับ
จนสุดท้ายมันดีขึ้น แต่เขาก็มาแกะได้ว่าเป็นเพราะว่าเราสูญเสียคุณยาย ตอนนั้นเสียคุณยาย แล้วเราคุณยายคือทุกสิ่งในชีวิตเราคือคุณยาย การได้เกียรตินิยม เป็นเด็กดี เป็นเด็กคุณภาพสูง ก็มาจากยาย เพราะอยากให้ยายภูมิใจ โตมากับคุณยาย พอยายเสีย เป๋ไม่รู้ตัว ว่าเป็นเพราะยาย
เพราะตอนนั้นสามีก็มี แล้วลูกก็มีแล้ว เพราะเราเคยมี mindset ว่า ถ้ายายตายเราจะตาย เราจะไม่อยู่ เราอยู่เพราะยายตั้งแต่เด็กเลย เหมือนทุกสิ่งคือยายเท่านั้น พอสูญเสียไปมันเหมือนแพแตก มันเหมือนความรักมันหายไป ใครก็มาแทนไม่ได้ ก็เออ..เป็นไปได้”
จากการที่เชื่อว่าวิธี coachingสามารถทำให้เธอหายจากภาวะซึมเศร้าได้ ทำให้เธอ เริ่มสนใจศาสตร์ด้านนี้ ก็มีการลงเรียนจริงจัง จนมีดีกรี ใบรับรองcertifyยอมรับในการเป็นโค้ช เธอค้นคว้า เรียนแทบทุกสถาบัน จนเรียกได้ว่า กลายเป็นมาสเตอร์โค้ช
“เราก็เริ่มสนใจ เราก็ถามเขาว่า พี่ใช้อะไรโค้ชนิษฐ์ เขาบอกว่าเป็น healing เป็น NLP เราก็ถามว่า NLP คืออะไร ก็ Neuro Linguistic Programming เราก็เสิร์ชคำว่า NLP ก็เลยเรียนทุกอัน ที่เป็น NLP แล้วมันก็ขึ้นเยอะมาก
แต่เราแค่อยากรู้ว่า กระบวนการในสมองมันทำงานยังไง ก็เริ่มเรียน มันก็เริ่มสนุก มันเหมือนอีกโลกหนึ่งที่เราไม่เคยอยู่ เราอยู่ในโลกศิลปะมาตลอด เราไม่รู้ว่ามันมีโลกอื่น ที่มันคู่ขนานกับเราไป การ coaching ไม่เคยว่ามันมี ไลฟ์โค้ช ไม่เคยรู้ว่ามันมีศาสตร์พวกนี้
มันต้องเปลี่ยนที่ตัวเรา ไม่สามารถเปลี่ยนคนอื่นได้ เปลี่ยนที่ใจเรา ใจเราเป็นทุกข์ ก็เปลี่ยนที่ใจเรา ทุกคนมีเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดของตัวเองอยู่แล้ว”
เชื่อว่า ชีวิตออกแบบเองได้
เธอเชื่อว่า ชีวิตสามารถออกแบบเองได้ เช่นเดียวกับเธอ ที่บทเรียนจากครอบครัวอาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบ อย่างที่หวัง จึงหันเห เพื่ออยากจะทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ครอบครัวได้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข พ่อแม่ลูก
จากการได้ไปเป็นผู้เรียน จากการ coaching จนหายเป็นโรคซึมเศร้า เธอก็ต่อยอด ด้วยการกลายมาเป็นโค้ชด้านความสัมพันธ์ เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ เพราะเธอเชื่อว่า แค่เปลี่ยนมุมมองชีวิต แค่1องศา ก็เปลี่ยนชีวิตได้แล้ว
“จริงๆ ชีวิตมันออกแบบได้ พี่เชื่อว่าตั้งแต่เด็ก พี่ออกแบบชีวิตตัวเองมาตลอด พี่อยากได้อะไรพี่มุ่งไปตรงนั้น อยากได้สามีแบบนี้ พี่ก็หาอย่างนี้ พี่ชัดเจนว่าพี่ต้องการอะไร พี่ชัดเจนว่าพี่ชอบอะไร พี่ชัดเจนว่าพี่เก่งอะไร พี่ก็แค่ทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่านั้นเลย
ความสัมพันธ์ก็ออกแบบได้ ลูกอยากให้เป็นแบบไหน เราก็ให้เขาเป็นแบบนั้น แต่พี่ต้องยอมรับในตัวเขา สามีก็เหมือนกัน เขาเป็นแบบนี้ของเขามาตั้งแต่ก่อนเจอเราแล้ว เราก็ยอมรับในความเป็นเขา หาข้อดี หาจุดเชื่อม ทุกคนอยากมีความสุข อยากมีชีวิตที่ดี
พี่เป็นโค้ชความสัมพันธ์ เพราะว่าบ้านพี่ มันคือบ้านที่พังมากๆ หมายถึงว่าครอบครัว พี่น้องทะเลาะกันทุกคน พี่น้องหย่ากันทุกคน พ่อแม่หย่ากัน บ้านตีกัน ศึกสายเลือด มันพังมาก ๆ เราโตมากับคนที่พังในความสัมพันธ์ เราไม่อยากให้ชีวิตครอบครัวเราพังแบบพ่อแม่ หรือพี่น้อง
พี่ก็ตัดปัญหาเลย มีลูกคนเดียว ไม่เอา เพราะว่ามีหลายคนไม่รู้จะเลี้ยงให้มันรักกันได้หรือเปล่า เพราะว่าเรามีพี่น้อง5คน เรายังตีกันชิบเป๋ง แล้วพ่อแม่อย่างเรา ก็ไม่เคยเห็นตัวอย่างในการเป็นครอบครัวที่ดี
แต่พี่อาจจะมี mindset อีกอย่างนึง ที่ดีที่สุดในชีวิตเราก็คือ ถ้าเห็นใครทำได้ ฉันก็ทำได้ ถ้ามันมีทางที่คนอื่นเขาประสบความสำเร็จได้ ฉันไปเส้นทางนั้นได้ แต่ฉันต้อง learning จากคนที่สำเร็จแล้ว
พอมา coaching พี่ก็ไปรีเสิร์ชเลย คอร์สที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทั้งหมด ต้องเรียนรู้ให้ได้ ว่ามันคืออะไร ที่ทำให้เกิดมา มีความสัมพันธ์ที่ดี เพราะเราไม่มีตัวอย่าง พี่ก็เลยเรียน แล้วก็ลากแฟนไปเรียนด้วย”
อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านั้นว่า เนื่องจากปัญหาภาวะซึมเศร้า ทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างครอบครัว แต่ด้วยความตั้งใจคือ อยากจูนครอบครัว ให้ไม่ต้องทะเลาะกันอยู่ตลอดเวลา และอยากเป็นแม่ที่ดี จนในที่สุด เธอก็สามารถจัดการปัญหานั้นได้
“ตอนแรกก็ไม่ถึงขั้นมีปัญหามาก แต่อย่างที่บอกพอลูก 7 ขวบ มันก็ทำให้เราซึมเศร้า ณ ตอนนั้น คือเรารู้สึกว่าเราเป็นแม่ที่ไม่ดี แม่ที่ดูแลลูกไม่ได้ เพราะเอาไม่อยู่ ลูกเกเร จะโดนออกจากโรงเรียนแล้ว เพราะไม่ยอมส่งการบ้าน แล้วเรา handle ไม่ได้ แล้วเรารู้สึกว่า ด่าเขาไม่ได้นะ เพราะเขาเหมือนเรามาก ด่าไปแล้วแบบเหมือนด่าตัวเอง
จริงๆ แค่ไม่ทำการบ้าน แค่งอแงนิดหน่อย แต่พอสุดท้าย พี่ก็เคลียร์กับแฟนพี่ ก็กลับมารัก ตอนนี้เหมือนเดทกันทุกวัน มีความสุข จากตอนแรกที่ทะเลาะกันตลอด
ตอนนี้ลูกพี่ก็ จะจบมหา’ลัยแล้ว ได้ 4.00ไ ด้เกียรตินิยม ได้ทุน โดยที่ไม่ต้องไปยุ่งกับมันเลย เนี่ยมันก็แบบแฮปปี้ แล้วลูกเป็นintrovert แล้วพี่เป็นextrovertลูก introvertแบบสุดๆ แต่เป็นศิลปิน ร้องเพลง ไม่ต้องไปคาดหวังอะไร เราก็แค่ทำใจ เดี๋ยวลูกก็ดีขึ้นเอง อีกอันนึงพอเราความสัมพันธ์ดีกับสามี ลูกเดี๋ยวมันก็ดีตาม”
เธอเชื่ออีกว่า ทุกปัญหามันมีทางแก้ ถ้ามันมีคนสำเร็จ นั่นก็แปลว่า เราก็สามารถทำสำเร็จได้ด้วยเช่นกัน ถ้าเราเข้าใจถึงปัญหา ที่จะแก้
แต่ก่อนจะแก้ได้ เธอก็ย้ำอีกว่า ต้องทำความเข้าใจกับตัวเองก่อนว่า เกิดอะไรขึ้นกับเรา จากนั้นเราถึงจะรู้ว่าปัญหามันมาจากไหน และต้องแก้ให้ตรงจุดด้วย เพราะถ้าแก้ไม่ตรงจุด ยังไงปัญหาที่สะสมอยู่ ก็แก้ไม่ได้สักที หนำซ้ำ ยิ่งจะหนักขึ้นไปอีก
“เหมือนแก้เสื้อ ถ้าแก้ไม่ตรงจุดมันก็ไม่เกิดสิ่งนั้น สมมติว่าคุณต้องการให้เอวเล็ก แต่คุณไปแก้ตรงอก มันจะตรงไหม มันก็ผิดไง สัดส่วนมันก็ผิดไง
เหมือนกันมนุษย์ ยิ่งเราไปเรียนเรื่องmindsetเรื่องการโค้ช เราก็จะเข้าใจว่า ทุกอย่างในโลกใบนี้ เราอยากได้แบบไหน เราไปถึงตรงนั้นให้ได้ อย่างพี่อยากมีความสัมพันธ์ดีๆ พี่ก็เรียนเรื่องความสัมพันธ์ จนสุดท้ายมันก็ได้ความสัมพันธ์แบบนี้”
ตอนนี้ เธอจึงนิยามตัวเองว่า เป็น “ดีไซเนอร์โค้ช” หรือ “ไลฟ์ดีไซเนอร์” ที่เป็นทั้งดีไซเนอร์ เป็นทั้ง coaching ที่คอยแก้ไขปัญหาเรื่องชุดแต่งงาน ราตรี รวมไปถึงปัญหาชีวิต ถ้าใครอยากปรึกษา
“ดีไซเนอร์คืออะไร นักออกแบบ ออกแบบอะไร ดีไซเนอร์มันออกแบบอะไรก็ได้ เช่น ออกแบบกางเกงยีนส์ หรือเสื้อเชิ้ตมาจากอะไร มาจากปัญหาทั้งนั้น ว่าใช้ยีนส์เพราะอะไร มันทนกว่า ทุกอย่างมันเกิดจากปัญหา มันถึงได้เกิด product
เพราะฉะนั้นเวลาลูกค้ามีปัญหา จุดนี้ที่เขาไม่อยากโชว์ เราก็แค่ปิดจุดนั้น เขาอยากโชว์จุดไหนก็แค่เปิดจุดนั้น เราก็แค่ทำให้เขามั่นใจขึ้น หน้าที่พี่คือทำให้เขาใส่ชุดสวยที่สุด เท่าที่พี่จะทำให้ได้ หน้าที่ cutting เป็นของเรา ลูกค้าคือมาลองแล้วชอบแบบไหน เราก็จะเห็นเลยว่า เขาใส่อะไรสวย ใส่ไม่สวยเราก็จะบอกเขา
ตราบใดที่เขายังไม่มั่นใจเขาก็ไม่ใส่ ถึงแม้เราจะรู้สึกว่าผลงานชิ้นโบว์แดงฉันสวยมาก แต่เขาใส่แล้วเขาไม่มั่นใจ จบ เหมือนกันคลาสพี่ก็ทำให้เขามั่นใจในตัวเอง ทำให้เขามี Self Esteem Self Love ถ้าเขามี Self Loveโลกใบนี้ เขาก็น่าอยู่ขึ้น เพราะเขามีข้างในที่เขารัก นั่นคือหน้าที่พี่ ที่เปลี่ยนภาพในหัวเขา”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าวMGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : Facebook “Ganit Etcชุดแต่งงาน”, Instagram @ganitetc และ TikTok @ganit.wedding
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **