ฉุกคิดก่อนโบกเรียก “รถไอติม” เพราะ “ไอศกรีมกะทิ” สุดอร่อยในมือ อาจมาจาก “โรงงานเถื่อน” ที่ไม่แคร์เรื่องความสะอาด คนซื้อต้องชั่งใจให้ดี ถ้า “ยี่ห้อไม่มี-ฉลากไม่เห็น” บอกยากว่าผ่านมาตรฐานอาหารที่ควรซื้อกิน
ทั้งจำทั้งปรับ!! ผลิตไม่ได้มาตรฐาน
ยังกล้ากินกันอยู่หรือเปล่า? เมื่อมีคลิปแฉจาก TikTok ประเด็น “โรงงานผลิตไอศกรีมเถื่อน” เผยให้เห็นสถานที่แห่งหนึ่งคล้ายโรงงาน มีถังไอติมพร้อมส่วนผสม ที่ดูแล้วน่าจะเป็นการทำ “ไอศกรีมกะทิ”
แต่คนงานที่กำลังง่วงกับงาน คล้าย “แรงงานพม่า” กลับนั่งกวนส่วนผสมต่างๆ กัน “บนพื้น”โดยไม่มีการใส่เครื่องป้องกันอะไรเลย แม้แต่ถุงมือก็ไม่ปรากฏ จนเจ้าของคลิปถึงกับต้องบรรยายว่า...
“ไอศกรีมไทยต้องสะเทือน พม่ารวมตัวผลิตไอศกรีมเถื่อน ส่งออกใจกลางกรุง อย.ไม่ต้องพูดถึง ป่อเต็กตึ๊งมารอได้เลย”
{โรงงานผลิตไอศกรีมเถื่อน โผล่กลางกรุง}
ความซกมกที่เห็นทำเอาหลายคนสะอึก และคิดหนักก่อนจะโบกมือเรียก “รถขายไอศกรีม” จากนี้ไป เพราะหลังจากคลิปดังกล่าวถูกโพสต์ออกไป ก็มีหลายคนมาคอมเมนต์ว่า นี่อาจ “ไม่ใช่ที่เดียว”
“มีเยอะทำแบบนี้ ลองมาดูสมุทรปราการบ้าง” บ้างก็บอกว่า “โรงงานเถื่อนแบบนี้ ขายถูกกว่า” ทำให้พ่อค้า-แม่ขายหลายเจ้า นิยมไปรับซื้อเป็นถังเอามาขายต่อ อีกคอมเมนต์ช่วยตอกย้ำอีกว่า “ก็เห็นทำกันเป็นเรื่องปกติ”
“แถวบ้านก็ทำกันเอง เช่าห้องอยู่รวมกัน ผลิตกันเอง เข็นรถขายตามหมู่บ้าน และหน้าโรงงาน”
คำถามคือมาตรฐานความสะอาดล่ะ อยู่ตรงไหน? แล้วการขายของกินแนวนี้ ไม่ต้องขออนุญาตหรือไง? ทีมข่าวจึงขอต่อสายหา “ณัฐวดี เต็งพานิชกุล”เจ้าหน้าที่ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และทนายความจาก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” เพื่อให้ช่วยไขข้อสงสัย
แต่ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า ใน “พ.ร.บ. อาหาร” ข้อมูลจาก “food.fda.moph.go.th” ระบุไว้ว่า บ้านเราแบ่งอาหารเป็น 4 ประเภท คือ
1.“อาหารควบคุมเฉพาะ” คือพวกอาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก อาหารเสริมสำหรับเด็กและทารก ฯลฯ
2. “อาหารกำหนดคุณภาพมาตรฐาน”พวกกาแฟ,ครีม,ช็อกโกแลต,ชา ฯลฯ ซึ่ง “ไอศกรีม” ก็อยู่ในนี้
3. “อาหารที่ต้องมีฉลาก”อย่างผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์,วัตถุแต่งกลิ่นรส,อาหารสำเร็จรูป ฯลฯ
4. “อาหารทั่วไป” คืออาหารที่ไม่อยู่ใน 3 กลุ่มแรก ส่วนมากจะเป็นพวกวัตถุดิบในการประกอบอาหาร
ทั้งหมดนี้ต้อง “ขออนุญาตการผลิต”จาก “สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)” ยกเว้นแบบที่ 4 ที่ไม่บังคับ แต่ถ้าสถานประกอบการเข้าข่าย “โรงงาน” อันนี้ก็ต้อง “ขออนุญาต” ก่อนเช่นกัน
{“ณัฐวดี” กูรูจาก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”}
ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครายนี้บอกว่า เคสนี้ต้องมอง 2 ระดับ ขั้นแรกเขา “ขออนุญาตในการผลิต”หรือเปล่า? ต่อมาก็ดูว่า “การผลิตเป็นไปตามมาตรฐาน”หรือไม่
“ถ้าเท่าที่ดูตามคลิป-ตามข่าว คือมันไม่ได้มีการควบคุมมาตรฐานน่ะค่ะ”
และโทษสำหรับผู้ที่ “ผลิตอาหารโดยไม่ขออนุญาต”อาจมีความผิดฐาน “ผลิตอาหารปลอม”โทษจำคุก “6 เดือน ถึง 10 ปี”ปรับ 5,000-100,000 บาท
ส่วนความผิดฐาน “สถานที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน”ระวางโดนโทษปรับ “ไม่เกิน 10,000 บาท”
“จำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” กรณีนี้ก็มีโทษปรับ “ไม่เกิน 30,000 บาท”
และสุดท้าย ถ้าเจอว่า “อาหารมีการปนเปื้อน”ต้องระวางโทษจำคุก “ไม่เกิน 2 ปี” หรือ “ปรับไม่เกิน 20,000 บาท”หรือทั้งจำทั้งปรับ
ระวังตัวเอง ร้องเรียนหน่วยงาน
กูรูจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครายเดิมย้ำชัดว่า ถ้ากังวลเรื่อง “มาตรฐานและความสะอาดของอาหาร” เวลาจะเลือกซื้ออะไร ก็ต้องดูที่มี “ฉลาก อย.” หรืออย่างน้อยให้มี “ยี่ห้อ”บอกว่าใครเป็นคนผลิต
“อย่างน้อยถ้าเกิดเป็นของที่มียี่ห้ออยู่แล้ว เราก็ตามหาตัวเจ้าของที่ผลิตได้อะค่ะ”
แต่ในเคส “ไอศกรีมกะทิ” ที่ขายเป็นถังตามตลาด หรือมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างตามซอกซอย หลายครั้งมันก็ “ไม่มีฉลาก อย.”หรือไม่มีแม้แต่ “ยี่ห้อ”ผู้ผลิตด้วยซ้ำ
แล้วถ้าลองนึกดูดีๆ ยังมีของกินใกล้ตัวอีกหลายอย่าง ที่เราไม่เคยเห็น “ฉลาก” เลยว่าใครเป็นคนผลิต อย่างพวกลูกชิ้นไส้กรอก
“พอมันไม่มี เขามีการขออนุญาตไหม เหมือนไม่มีการรับประกัน ตกลงมันได้มาตรฐานจริงหรือเปล่า”
ดังนั้น ผู้บริโภคอย่างเราๆ อาจต้องชั่งใจดีๆ เวลาเดินตลาด ถ้าเจอสินค้าที่ “ราคาถูก” คงต้องตั้งคำถามในใจว่า ทำไมมันถึงถูกขนาดนั้น ถ้าพบว่ามันไม่มีฉลากอะไรบ่งชี้เอาไว้เลย ก็ควรตั้งคำถามต่อไปว่า เราควรจะซื้อกลับไปกินหรือเปล่า?
“ถ้าเกิดมีการตระหนักในส่วนนี้มากขึ้น คุณภาพของผู้ประกอบการ เขาก็จะพัฒนาตัวสินค้าให้มันดีขึ้น อันนี้ก็เป็นปลายทางเนอะ ให้ผู้บริโภคระมัดระวังตัวเอง”
แต่อีกทางที่ทำได้ ถ้าไปเจออาหารประเภทที่ต้อง “ขออนุญาต” แต่กลับ “ไม่มีฉลาก อย.” หรือ “ยี่ห้อ” ติดอยู่เลย ให้รู้ไว้เลยว่า ผู้บริโภคทุกคนมีสิทธิร้องเรียน “อย.” หรือ “สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด” ให้เข้าตรวจสอบได้เลย
“สมมติ ถ้าเราเจอแหล่งที่ซื้อตรงไหน เราแจ้งสถานที่ไป แล้ว อย.เขาจะไปไล่สืบหาดูค่ะว่า ซื้อจากที่ไหน แล้วร้านที่เอามาขาย เขารับมาจากไหน เขาจะสืบหาต้นตอไปอีกทีนึง”
อย่างไรก็ตาม การที่ประชาชน “ตระหนัก” เรื่องนี้มากขึ้น และช่วย “ชี้ช่อง” ให้หน่วยงานรัฐเข้าถึง ท้ายที่สุดเมื่อเกิดการตรวจสอบและจัดการ เคสการผลิตสินค้าที่ไม่แคร์ผู้บริโภคแบบนี้ มันก็จะลดลง
“อย่างน้อย พอมีการตรวจสอบบ่อยๆ มันก็จะเกิดการระวัง ในการผลิตสินค้าแบบนี้ออกมาด้วย
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : TikTok @lcjvs7
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **