xs
xsm
sm
md
lg

พุทธไม่เคย “ห้ามวิจารณ์” กูรูคอนเฟิร์ม ฟ้อง “คนตื่นธรรม” ข้อหา “เหยียดหยามศาสนา” มันเกินไป!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แค่วิจารณ์ “พฤติกรรมชาวพุทธ” แบบตรงๆ แต่ “นักร้อง(เรียน)” ตีความ “เหยียดหยามศาสนา” จนถึงขั้นถูกทนายส่งเรื่องฟ้องร้อง ส่งให้งานเข้านักสอนธรรมะ เจ้าของฉายา “คนตื่นธรรม”
สังคมตั้งคำถาม สรุปแล้ว “ฆราวาส” มีสิทธิพูดถึง “ศาสนาพุทธ” กับ “หลักธรรมคำสอน” แค่ไหน หรือเรื่องเทศน์ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ “พระ” ฝ่ายเดียว?






แยกให้ออก “เหยียดหยาม” หรือ “ติเพื่อก่อ”

เป็นเรื่อง!! เมื่อธรรมะแนวตรงไป-ตรงมา เข้าใจง่าย ผ่านการเผยแพร่ภาษาพ่อขุนรามฯ ทำให้นักสอนธรรมอย่าง “อ.เบียร์” กลายเป็นนักเทศน์คนดัง เป็นที่ถูกอกถูกใจชาวพุทธยุคนี้ จนชื่อเสียงเจ้าของฉายา “คนตื่นธรรม” เป็นที่รู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง
และยิ่งเพิ่มดีกรีความร้อนแรงเข้าไปอีก เมื่อเจ้าตัวถูกเชิญไปออกรายการ “โหนกระแส” ให้การวิพากษ์วิจารณ์บางมุมของ “พุทธศาสนา” แบบตรงๆ ตามสไตล์ที่ถนัด และหนึ่งในนั้นคือประเด็นเรื่อง “การสร้างวัตถุมงคล”และ “สร้างวัด-สร้างศาลา” ที่โออ่าใหญ่โต จนเกินความจำเป็น

“เอาเงินไปสร้างวัตถุมงคล สร้างวัดวาอาราม วิหาร ศาลา โรงธรรมใหญ่โต​ เอาไว้ให้หมาไปเดินเกาขี้กากในศาลา​ อย่างนี้มันสร้างใหญ่โต เอาให้นกขี้อยู่ในศาลาเต็มไปหมด​
แต่คำถามคือ มีใครเข้าไปใช้ในศาลานั้นไหม ไม่มี​ เพราะอะไร มันสร้างเกินกว่าเหตุ​ มันสร้างเพื่ออยากได้ศรัทธา โชคลาภวาสนา อะไรก็แล้วแต่​ สร้างขึ้นมา เพื่อให้มันดูยิ่งใหญ่”


                                           {“อ.เบียร์” นักสอนธรรมฉายา “คนตื่นธรรม”}

วาทะตรงนี้เอง ที่ผลักให้ “ธรรมราช​ สาระปัญญา” ทนายความชื่อคุ้นในสื่อ เตรียมยื่นฟ้อง อ.เบียร์ ในข้อหา “เหยียดหยามศาสนา” โดยอ้างว่าเข้าข่ายข้อกฎหมายที่ว่า...
“มาตรา 206 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ แก่วัตถุ หรือสถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด อันเป็นการเหยียดหยามศาสนานั้น โทษ 1-7 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น ถึง 1.4 แสนบาท”

ชาวพุทธเข้าถึง “แก่น” ปกป้อง “คนตื่นธรรม”

ถึงคนที่ลุกขึ้นมาฟ้องร้องจะเป็นถึง “ทนาย”เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย แต่ชาวโซเชียลฯ ส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าคำสอนของ อ.เบียร์ ไม่ได้ดูเข้าข่ายเหยียดศาสนาแต่อย่างใด และนี่คือตัวอย่างฟีดแบ็กที่ผู้คนเห็นด้วย เมื่อพูดถึงกรณีนี้

“ทำให้ชาวบ้านเข้าใจธรรมง่ายขึ้นมาก เหยียดอย่างไรครับ ท่านผู้รู้ หรือเพราะขัดผลประโยชน์ พวกหากินกับความไม่รู้ของชาวบ้านมากกว่าครับ”


“ตั้งแต่มี คนตื่นธรรม ออกมา ผมรู้สึกได้ถึงความเจริญของคนไทยในอนาคตมากๆ หลายคนตาสว่างขึ้น ผมดีใจจริงๆ ที่มีคนอย่างอาจารย์เบียร์ในประเทศเรา”



“อ.เบียร์ เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ที่คนไทยควรยินดีและดีใจ ที่มีคนดีและเรียนรู้ เจริญรอยตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มาช่วยสืบสานต่ออย่างไม่ผิดเพี้ยนเลยซักคำ
สุดยอดจริงๆ พระที่บวชมานาน จนจะแก่ตายแล้ว ยังอธิบายธรรมะ แบบที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ ยังไม่ได้แบบนี้เลย แต่ อ.เบียร์ แกะมาพูดได้ทุกเม็ด แบบไม่ผิดเลย สาธุเลย”


สะท้อนให้เห็นว่า การสอนธรรมในฐานะ “คนตื่นธรรม” ของ อ.เบียร์ มีชาวพุทธเข้าใจและเข้าถึง “แก่น” อยู่ไม่น้อย คือการเผยแพร่ในแบบที่ “ตัดความงมงาย” ออกไป แถมด้วยสำนวนการเล่าสไตล์เผ็ดร้อน จนสามารถดึงคนรุ่นใหม่ ให้หันมาสนใจพระพุทธศาสนากันมากขึ้น 



ลองถามกูรูด้านศาสนาอย่าง “โจ้” รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์อาจารย์ประจำสาขาวิชาปรัชญา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ว่าสรุปแล้ว คำสอนของ อ.เบียร์ เข้าข่าย “เหยียดหยาม” หรือไม่?

คำตอบที่ได้บอกชัดเจนว่า ในทางพุทธศาสนาไม่เคยมีคำสอนว่า “ห้ามวิพากษ์-วิจารณ์” และถ้าจะบอกว่าคำสอนตรงนี้ มีเลเวลร้ายแรงไปถึงขั้น “หมิ่นศาสนา” ก็ยิ่งไม่ค่อยสมเหตสมผลเท่าไหร่


“ผมเข้าใจว่า คำพูดมันก็เป็นไปได้ว่า อาจจะดูเป็นคำที่แรงนะ แต่เราต้องดูเจตนา ที่อาจารย์เขาพูดว่า ต้องการที่จะให้ปรับปรุง-เปลี่ยนแปลงหรือเปล่า”

ย้ำชัดว่า ถ้าเข้าข่าย “เหยียดหยามศาสนา” มันต้องมีความ “อาฆาตมาดร้าย”ต่อศาสนา อย่าง “การดูถูก-ด้อยค่า” หรือพยายาม “ลดทอนคุณค่า” ของศาสนาหรือเปล่า


“ผมคิดว่าวิญญูชนฟังออกเนอะว่า แบบนี้ มันเป็นการดูหมิ่น-ดูแคลน หรือเป็นการติเพื่อก่อ”


                                                {“รศ.ดนัย” กูรูด้านศาสนาและปรัชญา}

ไม่ใช่ “พระ” ก็ “สอนธรรม” ได้

การที่ “ฆราวาส” คนนึง ลุกขึ้นมาสอนธรรมะ ทำให้ผู้คนเข้าใจ “แก่นคำสอน” ของพระพุทธเจ้า แต่กลับถูกฟ้องร้องว่า“เหยียดหยามศาสนา” แถมถูกตั้งคำถามว่า ไม่ใช่ “พระ” เอาสถานะไหนมานั่งเทศน์-สนทนาธรรม

เกี่ยวกับประเด็นนี้ อ.โจ้ กูรูด้านศาสนารายเดิมยืนยันว่า ตั้งแต่สมัยพุทธกาล ฆราวาสก็สามารถแสดงธรรมได้ ไม่ใช่เรื่องผิดประเพณีอะไร

อย่าง “จิตตคหบดี” ผู้เป็นฆราวาสที่ได้รับการยกย่อง ให้เป็นเลิศในด้านการแสดงธรรม เหนืออุบาสกทั้งปวง หรือแม้แต่ “นางขุชชุตตรา” ที่ก็ถือเป็นยอดนักแสดงธรรมในฝั่งอุบาสิกา ทั้งที่เธอเป็นเพียงสาวใช้ด้วยซ้ำ

“การแสดงธรรม มันไม่ได้ผูกขาดกับเพศบรรพชิต แต่สารของการพูดธรรมนี่ก็คือ คุณต้องพูดให้ถูกหลัก-ถูกเกณฑ์ ฉะนั้น ต่อให้คุณเป็นพระ แต่พูดผิดหลักพระธรรมวินัย อันนี้ก็ใช้ไม่ได้เหมือนกัน”



ในทางกลับกัน “คนธรรมดา” นี่แหละ ที่สอนธรรมด้วยภาษาบ้านๆ อาจทำให้คนฟังเข้าถึงได้ง่ายกว่า การฟังพระเทศน์ด้วยช้ำ “ศาสนาไม่ได้ผูกขาดการแสดงธรรมว่า ขึ้นอยู่กับพระซะอย่างเดียว”

ย้ำชัดว่า “การเทศนาธรรม” มีหลายรูปแบบ ทั้ง “เผ็ดร้อน” อย่าง “อ.เบียร์” และ “แนวขบขัน”อย่างอดีตพระ “มหาไพรวัลย์” กับ “มหาสมปอง” หรือจะเป็นแบบ “ดั้งเดิม” ที่เน้นไปทางนั่งฟังอย่างสงบเรียบร้อย

“ผมว่ามันอยู่ที่ว่า เออ..คนฟังเนี่ย เป็นจริตอะไร คือถ้ามีจริตแบบนี้ ชอบแบบนี้แล้ว มันได้สาระ จริงๆ ในศาสนาเรา ก็มีพุทธหลายรสชาติเนอะ”



แต่แน่นอนว่า การแสดงธรรมแต่ละแบบ “มันไม่สามารถถูกใจคนทุกกลุ่ม”ปัญหานึงที่คนในบ้านเราไม่เข้าใจ คือ “ความหลากหลาย”ดังนั้นเวลาเกิดแนวการสอนธรรมะใหม่ๆ ขึ้นมา ที่ดูจะฉีกออกจาก “ขนบ-จารีตเดิม” มันก็มักมีปัญหาตามมาตลอด

ยกตัวอย่างเคสของอดีต 2 มหา อย่าง “มหาไพรวัลย์”กับ “มหาสมปอง”ในวันวาน จนมาถึงเคสของ “อ.เบียร์”ในวันนี้ ซึ่งคล้ายกันตรงที่ มักมีดราม่าจากฝั่งที่ยึดคติพุทธแบบจารีตนิยม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่ชอบพุทธแบบดั้งเดิมจะผิด

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่พุทธไทยเป็น “อนุรักษนิยม”มากจนเกินไป ในบางมุมก็กลายเป็นอุปสรรค ผลักให้เข้าไม่ถึงคนรุ่นใหม่ และถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป แทนที่ศาสนาจะมีชีวิตชีวา ก็จะกลายเป็นตายซาก ไร้คนอยากเข้าถึง


                                           {ปัจจุบัน“แพรรี่” อดีต“พระมหาไพรวัลย์”}

                                    {“สมปอง” หลังสึกจากการเป็น “พระมหาสมปอง”}

“ในภาพรวม มันก็ทำให้กระแสแห่งความสนใจในพุทธศาสนา มันมากขึ้น แล้วเขาอาจจะไปต่อยอดศึกษาเอง ที่ลึกซึ้งหรือถูกต้องกว่า จริงๆ มันก็เป็นสิ่งที่ดีนะ ดีว่าปล่อยให้มันตาย
คือศาสนามันจะต้องมีพลวัต ต้องมี movement แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะเคลื่อนไปเละเทะ ไม่มีทิศทาง แต่สุดท้าย มันก็ต้องมีหลักพระธรรมวินัย เป็นเกณฑ์ตัดสิน”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)






@livestyle.official ...สังคมตั้งคำถาม สรุปแล้ว “ฆราวาส” มีสิทธิพูดถึง “ศาสนาพุทธ” กับ “หลักธรรมคำสอน” แค่ไหน หรือเรื่องเทศน์ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ “พระ” ฝ่ายเดียว? @kontuenthum... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #คนตื่นธรรม #อาจารย์เบียร์ #สอนธรรม #ธรรมะ #พุทธศาสนา #ชาวพุทธ #ศาสนาพุทธ ♬ original sound - LIVE Style


สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพ : Facebook “คนตื่นธรรม”, “ไพรวัลย์ วรรณบุตร”, “สมปอง นครไธสง”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น