“ส่วย” ของชอบของเทวดา ที่ได้ชื่อว่า “ข้าราชการ” จะธุรกิจแบบไหน “ก็ต้องจ่าย”!! ถ้าไม่อยากเดือดร้อน กูรูแฉที่เป็นแบบนี้ เพราะ “เจ้าหน้าที่ = เทวดาที่ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา” มาตั้งแต่ไหนแต่ไร
ถ้าต้อง “ขอ” ก็มี “ส่วย”
“ส่วยเทวดา” กำลังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เพิ่มเติมจากเรื่อง “ฉ้อโกงประชาชน” จากคดี “The iCon” เนื่องจากก่อนมีการรวบตัว “บอสพอล” กับอีก “17 บอส” ดันมีคลิปเสียงถูกแฉออกมา ผ่านรายการ “การโหนกระแส”
โดยในคลิปนั้น มีเนื้อหาชี้ชัดว่า เคสนี้มีการ “ติดสินบนเทวดา” ใน “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)” เพื่อให้คอยกรุยทางให้โล่งเตียน-ปลอดภัย ไหนจะคลิป “เสียงนักการเมือง” ที่เผยชัดว่า ตัวเองสามารถแต่งตั้งคนใน สคบ.เพื่อดูแลคดีนี้ให้ได้
หลังจากประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องฉาว ประเสริฐ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาเคลื่อนไหวทันที ด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า มีเจ้าหน้าที่ใน สคบ. “รับส่วย” เพื่อช่วยเหลือ “ธุรกิจที่เสี่ยงเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่” รายนี้จริงหรือเปล่า
ทั้งยังมีคนใกล้ตัวบอสคนดัง ออกมาแฉเพิ่มอีกว่า “บอสพอล” ใช้เงินหลายหลัก เพื่อ “ติดสินบน” เจ้าหน้าที่ระดับบิ๊กถึง “4 หน่วยราชการ” ในการช่วยเหลือคดีครั้งนี้
แน่นอนว่าเคสนี้ ไม่ใช่ “การฉ้อโกง” เคสแรก ถ้าลองย้อนประวัติศาสตร์ “ธุรกิจผิดกฎหมาย” เคสใหญ่ๆ ในไทย จะพบว่าสิ่งที่มาพร้อมกันทุกครั้งคือ “ระบบส่วย” ที่หยั่งรากลึกมาช้านาน
ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดเมื่อปีแล้ว ที่มีการพบ “หมูเถื่อน” ในตู้คอนเทนเนอร์ถึง 161 ตู้ รวมน้ำหนักกว่า 4.5 ล้าน กก. ใช้เวลาสืบค้นกันนานกว่า 5 เดือน ก็ยังไม่พบต้นตอ จับมือใครดมไม่ได้
กระทั่งมาตรวจสอบเจอภายหลังว่า มี “เจ้าหน้าที่รัฐ” เข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีกว่า 10 ราย จาก 3 หน่วยงาน แถมยังพัวพันกับ “บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่” อีกต่างหาก
หรือจะเป็นเคส “โกดังพลุระเบิด” กลางตลาดมูโนะ จ.นราธิวาส ก็เป็นผลพวงมาจาก “การจ่ายส่วย” ให้เจ้าหน้าที่เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ยอมให้ลักลอบสินค้ามาเก็บไว้อย่างผิดกฎหมาย ถึงจะถูกชาวบ้านร้องเรียนให้เข้าไปตรวจสอบหลายครั้ง แต่มีเพียงความเพิกเฉย จนเกิดเหตุสลดขึ้น
{“โกงดังพลุ” จ่ายส่วย เพื่อให้หน่วยงานรัฐมองไม่เห็น}
เห็นได้ชัดว่าเรื่อง “ธุรกิจ” กับ “ส่วยเจ้าหน้าที่รัฐ” เป็นเหมือนของคู่กันในทุกยุคทุกสมัย มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่เคยเป็นประเด็นร้อน ก็มีทั้ง “ธุรกิจขนดิน”หรือที่เรียกว่า “ส่วยรถบรรทุก” ไปจนถึง “ธุรกิจสถานบันเทิง”ที่คอยเกื้อหนุนกันมาตลอด
{“ธุรกิจขนดิน” ยอมจ่ายส่วย เพื่อลดต้นทุน}
ลองให้เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) อย่าง “ดร.มานะ นิมิตมงคล” ช่วยวิเคราะห์ให้เห็นภาพชัดขึ้นอีกว่า จริงๆ แล้วมีธุรกิจประเภทไหนบ้าง ที่หลีกเลี่ยง “ระบบส่วย” ไม่พ้น จึงได้คำตอบว่า...
“ทุกอย่างเลย อะไรที่ต้องขออนุญาต อนุมัติจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องถูกตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ”
เรื่องการจ่ายส่วยให้ “หน่วยงานรัฐ” เป็นสิ่งที่เห็น และมีคนมาร้องเรียนตลอดเวลา ยกตัวอย่าง ธุรกิจใกล้ตัว อย่าง “เครื่องสำอาง-อาหารเสริม” ที่มีทั้ง “สคบ.” และ “อย.” ดูแล แต่...
“เรื่องน่าหนักใจคือ ทั้ง 2 หน่วยงานนี้ ถูกร้องเรียนอยู่ตลอดเวลาว่า มีการทุจริตเกิดขึ้น”
เพียงแต่ว่ายังไม่มีหลักฐานที่จับต้องได้เท่านั้นเพราะ “เงินใต้โต๊ะ” จากสมัยก่อนที่เป็นของมีค่า อย่าง “แก้ว-แหวน-เงินทอง”เดี๋ยวนี้มันก็เปลี่ยนไป
“ในตอนหลังเนี่ย มันง่ายขึ้น แล้วก็ไร้ร่องรอยมากขึ้น โอนย้ายไปทั่วโลกได้นะครับ ก็คือการจ่ายเป็นเงินคริปโต(สกุลเงินดิจิทัล)”
หลายครั้งก็ตอบแทนกันในรูปแบบอื่น เช่น “หุ้นในบริษัท”หรือจ่ายเป็นการให้ใช้ “บริการฟรี”ในธุรกิจอย่าง ร้านอาหาร, อาบอบนวด เมื่อรูปแบบผลตอบแทนที่เปลี่ยน ก็ทำให้การหาหลักฐานเรื่อง “รับส่วย”ยากขึ้นตาม
{“ดร.มานะ” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ}
“ส่วย” สีไหนก็ “ต้องจ่าย”
คงมีแต่ “ธุรกิจสีเทาๆ” เท่านั้นแหละที่ต้อง “จ่ายส่วย” ถ้าใครกำลังคิดแบบนี้ ขอบอกเลยว่าอาจไม่เป็นความจริงทั้งหมด เพราะกูรูด้านการต่อต้านคอร์รัปชันฯ ช่วยแจกแจงไว้ให้ละเอียดกว่านั้น คือมีอยู่ “5 เหตุผล” หลักๆ ที่นักธุรกิจส่วนใหญ่ยอม “ยัดเงินใต้โต๊ะ”
1.“ซื้อความสะดวก” ทำให้ไม่ต้องรอคิว เวลาจำเป็นต้องขออนุญาตเรื่องต่างๆ
2.“ซื้ออภิสิทธิ์” อย่างการเข้าถึง “สัมปทาน” จากรัฐ มากกว่าบริษัทอื่นๆ
3.“จ่ายเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด” เพราะหลายครั้งอำนาจเงินก็เปลี่ยน “ผิด” เป็น “ถูก” ได้
4.“เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า” เพราะกฎหมายไม่สอดคล้องกับชีวิตจริง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “ช่วงโควิด-19” ที่ธุรกิจอย่าง “โรงงาน” ซึ่งต้องพึ่งพา “แรงงานต่างด้าว” เป็นหลัก เมื่อเกิดโรคระบาด ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ “ไม่สามารถไปต่อใบอนุญาตทำงานได้” ทำให้เจ้ากิจการต้องยอมใช้แรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต จนกลายมาเป็นช่องโหว่ให้ “เจ้าหน้าที่รัฐ” เข้ามาเรียก “เก็บส่วย”
และ 5.“ยอมจ่ายเพื่อความปลอดภัย” เพราะถึงแม้จะทำ “ธุรกิจถูกกฎหมาย” แต่ถ้าไม่ยอมควักกระเป๋าจ่าย ก็อาจจะต้องเจอเรื่องยุ่งยากในการทำธุรกิจ จากการกันท่าของเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง
จากเหตุผลหลักๆ ทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่า “ส่วย” ในเมืองไทยนั้น “ถูกกฎหมายก็จ่าย ผิดกฎหมายก็จ่าย” อยู่ดี ไม่มีข้อยกเว้น
ส่งผลให้ “ส่วย” กลายเป็น “ต้นทุน” ในการทำธุรกิจของบ้านเราไปโดยปริยาย ซึ่งมันก็ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร เพราะมีแค่ธุรกิจไม่กี่เจ้า ที่เข้าถึงโอกาสจากเทวดา ที่ชื่อ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ผู้รับส่วย
“ส่วยสินบนเนี่ย มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานาน แล้วมาจนถึงทุกวันนี้เนี่ย ระบบราชการก็ยังไม่สามารถจะป้องกันหรือกำจัดได้ กลายเป็นว่าคนที่ทำงานอยู่ เห็นช่องว่าง แล้วทำกันจนเคยชิน”
ซึ่งก็ไม่ใช่ว่า “ข้าราชการ” ทุกคนจะรับสินบน แต่ในบางองค์กร “การคอร์รัปชัน” ก็ทำกันเป็นระบบ อย่างที่เลขาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ บอกว่า “ถ้าไม่กินก็อยู่ยาก”
สิ่งนี้เรียกว่า “Systemic Corruption” หรือ “คอร์รัปชันเชิงระบบ” บางหน่วยงานมี “นายหน้า” มีระบบ “โควต้า” ที่ชัดเจน ถึงขั้นถ้าจะทำธุรกิจแนวนี้ ขออนุญาตเรื่องนี้ จะมีเส้นทางชัดเจนกำหนดออกมาเลยว่า ต้องติดต่อจ่ายเงินที่ใคร!!
อย่าให้ “เทวดา” ลอยตัวเหนือปัญหา
ทางออกของปัญหา “เจ้าหน้าที่รับส่วย” อาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่อง “การดำเนินคดี” เพราะทุกวันนี้ในบ้านเมืองเรา ให้ความสำคัญกับการดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งมัน “ช้ามาก” คืออาจต้องใช้เวลา 7-10 ปี หรือนานที่สุดอยู่ที่ 20 ปีก็มีมาแล้ว
“แต่มันจะเร็วขึ้น ถ้าเราใช้มาตรการวินัยและปกครอง ซึ่งหัวหน้าหน่วยงาน สามารถใช้เวลาลงโทษได้ ในระยะเวลา 30-40 วัน มันก็จะเร็ว ข้าราชการจะกลัวนะครับ”
ส่วนในกรณีที่รับส่วย อาจกำหนดให้ “คนที่ออกมาเปิดโปง” ไม่ต้องถูกเอาผิดทางอาญา แต่ให้โดนโทษปรับแทน ตรงนี้จะทำให้รัฐมีหลักฐาน ในการเอาผิดมากขึ้น
อีกอย่างคือ “การปฏิรูประบบราชการ” ให้ตรวจสอบได้ อย่างการเอาข้อมูลทุกอย่าง เข้าไปใน “ระบบดิจิทัล” ที่สามารถ “ตรวจสอบย้อนหลังได้” สุดท้ายคือ “กระบวนการยุติธรรม” ที่ต้องจัดการเอาคนที่เกี่ยวข้อง มารับโทษให้ได้อย่างเที่ยงธรรมที่สุด
“การโกงกินอย่างเป็นระบบ มันเกิดขึ้นได้เพราะว่า ที่ผ่านมาเวลามีปัญหาอะไร เจ้าหน้าที่รัฐไม่ผิด”
“เจ้าหน้าที่รัฐลอยตัวอยู่เหนือทุกสิ่ง”นี่แหละคือปัญหาใหญ่น ทั้งเคส “รถบัสนักเรียนไฟไหม้”ลองมองย้อนกลับไปดู หน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสภาพอยู่ไหน มีการร้องเรียนเรื่อง “ซื้อ-ขาย ลายเซ็นตรวจสภาพรถ”แค่ไหนกัน?
{“รถบัสไฟไหม้” ไหนหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพ?}
หรือกรณีข่าวดังอย่าง “การลักลอบขนแร่แคดเมียม”ทั้งที่เป็นแร่ที่ต้องได้รับอนุญาต ทั้งการขุดและขนย้าย แต่ทุกวันนี้ ยังไม่มีหน่วยงานไหนออกมารับผิดชอบเลย
“เห็นไหมครับ ถ้าเจ้าหน้าที่ลอยตัวได้ง่ายๆ กระบวนการยุติธรรมมันจะเริ่มต้นได้ยังไง”
{“ขนแร่เถื่อน” ที่ยังหาหน่วยงานรัฐรับผิดชอบไม่ได้}
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : นลธวัช กาญจนสุวรรณ์
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **