xs
xsm
sm
md
lg

“เอ๊ะ!!” ไว้ก่อน เน้นหาเครือข่าย-สัมมนาพูดบิลด์ เจาะความต่าง “ขายตรง VS แชร์ลูกโซ่”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมดตัวเพราะเป็นตัวแทนขาย” “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” “ไม่รู้มาก่อนว่า ธุรกิจนี้เข่าข่ายแชร์ลูกโซ่” สิ่งเหล่านี้จะไม่หลุดออกจากปากใครอีก ถ้าเพียงแยกแยะได้ชัด ระหว่างธุรกิจ “ขายตรง” กับ “แชร์ลูกโซ่” และนี่คือจุดสังเกตที่จะทำให้ไม่ตกเป็น “เหยื่อ” ไม่ว่าคุณจะเป็น “ดารา” หรือ “คนธรรมดา” ที่อยากมีหนทางทำกิน

ต้องหา “คนขาย” ไม่ใช่หา “ตัวแทน”

“ตอนนั้นเราเป็นดารา แล้วเราก็เห็นดาราทำเต็มเลย หูย..ดาราเพียบ แล้วก็ทุกคนรวยหมด คนนั้นเราก็รู้จัก คนนี้เราก็รู้จัก เฮ้ย..ทำไมวะ แล้วเขาก็มาชวน”

นี่คือประสบการตรง ช่วงที่ยังอยู่ในวงการบันเทิงของ “เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ” ส.ส.พรรคประชาชน ที่เปิดใจเอาไว้ผ่านรายการ “Friends Talk” เกี่ยวกับประเด็น“ดาราทำธุรกิจขายตรง”

บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาว่า ครั้งนึงตัวเขาเองก็เคยก้าวเท้าเข้าไปในธุรกิจประเภทนี้ แต่รู้สึกตงิดใจ สุดท้ายเลยถอนตัวออกมา

และ “ความเอ๊ะ” แบบเดียวกันนี้เอง ที่ชวนให้หลายคนตั้งคำถาม กับธุรกิจออนไลน์เจ้าดัง ที่เคลมว่ามี “ยอดขายอันดับ1” ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนอย่าง “The iCon” ว่า ตกลงแล้วเข้าข่าย “แชร์ลูกโซ่” หรือเปล่า?



ประเด็นคือ เหล่า “ดารา-พิธีกร” ที่ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้ บางคนถึงกับถูกโปรโมตว่าเป็น “บอส” ซึ่งหมายถึงระดับทีมบริหารกันเลยทีเดียว แต่พอธุรกิจนี้กำลังถูกสุมไฟแห่งความสงสัยจากสังคม คนดังหลายคนกลับออกมาบอกว่า “ไม่รู้” และไม่คิดว่าจะเป็น “แชร์ลูกโซ่”

สรุปแล้ว “ขายตรง” กับ “แชร์ลูกโซ่” ต่างกันยังไง? สำหรับคนทั่วไป อาจจะพอแยกแยะออก จากพฤติกรรมการขายพื้นฐานว่า เข้าข่ายเน้นหาลูกข่ายมาลงเงิน มากกว่าพุ่งเป้าไปที่การขายตัวสินค้าจริงๆ หรือเปล่า หรือแม้กระทั่งชวนเชื่อให้ซื้อสินค้าจำนวนมาก จนบางรายเกิดผลลบตีกลับคือ ขายสินค้าไม่ได้

แต่จะเป็นอย่างที่ตั้งข้อสังเกตกันไว้แค่ไหน ทีมข่าวขอให้กูรูมาช่วยคลายปมคลางแคลงใจ ด้วยการต่อสายหา “พงศ์พสุ อุณาพรหม” ตัวแทนอุปนายกสมาคมการขายตรงไทย(TDSA) ฝ่ายรัฐสัมพันธ์ เพื่ออธิบายเรื่องนี้ จึงได้คำตอบว่า...

“บริษัทที่เป็นข่าว เขาไม่ใช่บริษัทขายตรงนะครับ เขาบอกว่า เขาไม่ใช่บริษัทขายตรง ดังนั้นเนี่ย เขาก็ไม่ได้ไปจดทะเบียน เป็นบริษัทขายตรง”


                                { “พงศ์พสุ” ตัวแทนอุปนายก สมาคมขายตรงไทย}

ประเด็นสำคัญคือ “การขายตรง” นั้น เป็นธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย และต้องขึ้นทะเบียนกับ “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.)”

และการขายตรงก็คือ “การขายสินค้าโดยตรงไปยังลูกค้า” โดยไม่ผ่านห้างฯ ร้าน ขายแบบ “Face to Face”หรือ “ทางออนไลน์”

หลักการคือ “ชวนคนมาช่วยขาย” บริษัทมีสินค้า แล้วหา “ตัวแทนขาย” ซึ่งมีหน้าที่เอาสินค้าไปนำเสนอผู้บริโภคก่อน เมื่อมีคนสนใจซื้อ ค่อยเอาorderยอดไปบอกทางบริษัท แล้วบริษัทจะส่งของไปที่ลูกค้าโดยตรง หรือผ่านตัวแทน ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า “การเปิดบิล”


จะไม่มีการให้ “ตัวแทนขาย” ลงทุนซื้อสินค้าไปสต๊อกก่อนเป็นจำนวนมาก บริษัทขายตรงจะเป็นคนสต๊อกสินค้าเอง สรุปง่ายๆ คือ ต้องมีลูกค้าสนใจซื้อก่อน บริษัทถึงส่งของให้ และ “ตัวแทนขาย”ก็จะมีหน้าที่ “ขายอย่างเดียว”


“ก็ไปขายแบบไม่ต้องลงทุนก่อน คือไปขายจากความรู้ที่ไปอบรมมา เรียนมา ไปนำเสนอเสร็จ มี order แล้วค่อยมาเปิดบิล”


ส่วน “ผลตอบแทน”ของตัวแทนจำหน่าย ก็จะมาจากยอดขายที่ทำได้ โดยจะมีการสรุปยอดทุกๆ เดือน แล้วคำนวนออกมาเป็น “ปันผล” ให้กับตัวแทนขาย ดังนั้น “รายได้หลักมาจากยอดขาย ไม่ใช่การระดมทุน”



ลองเจาะลึกรายละเอียด ถึงขั้นตอนการเป็น “สมาชิก” หรือ “ตัวแทนขาย” ของบริษัทขายตรง จะพบว่า “ค่าสมัคร” ต้องมีความเหมาะสม และมี “สินค้าตัวอย่าง” มีการ “รับประกันสินค้า” และ “รับซื้อคืน”หาก “ลูกค้าไม่พอใจ” หรือ “ตัวแทนขาย” บอกเลิกสัญญา

ส่วน “แชร์ลูกโซ่” ในคราบขายตรงนั้นจะต่างออกไป ตัวแทนสมาคมการขายตรงไทยอย่าง “พงศ์พสุ” บอกว่า ธุรกิจลักษณะนี้จะเน้นการ “ระดมทุน” ชวนให้คนลงทุนซื้อสินค้า กักตุนทีละมากๆ ก่อน ค่อยเอาไปขาย โดยไม่สนใจว่า สินค้านั้นจะขายได้ไหม หรือมีคนซื้อหรือเปล่า

แล้วถ้า “ตัวแทนขาย” ยังขายสินค้าไม่ได้ บริษัทจะชักชวนให้หา “ลูกข่าย” หรือ “ดาวน์ไลน์” มาลงทุนเพิ่ม โดยให้ตัวแทนกิน “ค่าหัวคิว” แทน นี่แหละคือจุดแตกต่างเรื่องการสร้างรายได้ที่เห็นได้ชัด ระหว่าง “แชร์ลูกโซ่” กับ “ขายตรง”


“เพราะฉะนั้น บริบทของการทำแชร์ลูกโซ่เนี่ย น้ำหนักจะอยู่ที่ การชวนคนมาลงทุน”



“ถูกบิลด์” เมื่อไหร่ ให้ “เอ๊ะ!!” ไว้ก่อน

ความแตกต่างนี้เอง ที่ทำให้ดาราหลายคนชักเท้าออกทัน “เพชร-กรุณพล”เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ช่วยเตือนใจได้ดี เพราะช่วงแรกๆ เขาเองก็เคยทดลองเป็น “ตัวแทนขาย” รับของใช้ประจำวันต่างๆ มา แต่สักพักถึงเพิ่งมาเอะใจ ตรงที่เพิ่งู้ว่า ต้องหา “ลูกข่าย” หรือ “ดาวน์ไลน์”

และเมื่อทางบริษัทรู้ว่า เขากำลังจะขอถอนตัว ก็มีการเชิญให้ไปงานสัมมนาธุรกิจขายตรง ซึ่งในงานนั้นมีการพูดเพื่อ “บิลด์ (build)”ให้คนอยากเข้าร่วม สานต่อเป็นเครือข่ายขายตรง จนเจ้าตัวรู้สึกแปลกๆ สุดท้ายจึงตัดสินใจว่า “พอ..เลิกทำ”


                                   {“เพชร” ประสบการณ์ตรงเคยเป็น “ตัวแทนขาย”}

อีกตัวอย่างคนดังที่น่าสนใจคือ ซูเปอร์สตาร์ที่เลือก “ปฏิเสธ”งานแนวนี้ไปเลย มาตั้งแต่ไหนแต่ไร อย่าง “อั้ม-พัชราภา ไชยเชื้อ” ที่เคยออกมาบอกกับสื่อว่า ไม่รับงานรีวิว โปรโมตสินค้า เพราะไม่ชอบเรื่องพวกนี้

ถึงจะเป็นคลิปที่ให้สัมภาษณ์ไว้หลายปีแล้ว แต่ผู้คนกลับหยิบเอามาชื่นชมอีกครั้งในตอนนี้ ที่ประเด็นเรื่องธุรกิจแชร์ลูกโซ่ในคราบขายตรงกำลังร้อนแรง

“ไม่เคยรับงานจากการโฆษณาอะไรทั้งสิ้น ใครติดต่อมา ไม่เคยรับ ไม่เคยโปรโมตให้ใคร อยากจะโปรโมต คือโปรโมตด้วยตัวเอง ไม่มีใครใช้ ไม่มีทาง ของอั้มถ้าดูได้ ไม่เคยขายของอะไรเลย ไม่ชอบเรื่องพวกนี้ด้วย”



                                          { “อั้ม” ซูเปอร์สตาร์ที่ไม่รับโปรโมตสินค้าแนวนี้}

ในมุมนี้ ตัวแทนอุปนายกสมาคมการขายตรงไทย มองว่า ดารา-อินฟลูฯ ส่วนใหญ่ เขาแค่ตรวจสอบบริษัทที่จ้างว่า จดทะเบียนถูกกฎหมายไหม หรือสินค้าได้คุณภาพหรือเปล่า แต่ไม่ได้ลงลึกไปยัง “วิธีทำการตลาด” ของบริษัทนั้นๆ

ดังนั้น เพื่อไม่ให้ใครต้องกลายเป็นเหยื่อจากการลงทุนในอนาคต ทางสมาคมเลยช่วยให้ข้อสังเกตเอาไว้ สำหรับทั้ง “เหล่าคนดัง”และ “คนทั่วไป” ว่า จุดสังเกตอันดับแรกคือ บริษัทขายตรงนั้น จดทะเบียนเป็น “ธุรกิจขายตรงอย่างถูกต้อง” หรือเปล่า?





เพราะบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้อง จะมี “กฎหมายคุ้มครอง”ทั้งตัว “ผู้บริโภค” และ “ตัวแทนขาย”อย่างเรื่อง การยกเลิกสัญญา-คืนสินค้า ซึ่งบริษัทต้องรับซื้อคืนทั้งหมด ตามที่เงื่อนไขกฎหมายกำหนด

แต่ปัญหาของบริษัทที่ทำธุรกิจแนวนี้ ส่วนนึงมักไม่บอกว่าตัวเองเป็นขายตรง และไม่จดทะเบียนในรูปแบบธุรกิจขายตรง ทำให้เกิดช่องโหว่ที่กฎหมายอาจจะไม่คุ้มครอง ทั้งตัวผู้บริโภคและตัวแทนขาย



อีกหนึ่งจุดสังเกตคือ ถ้าเราไปเป็น “พรีเซ็นเตอร์” หรือไป “งานสัมมนา” ธุรกิจแนวๆ นี้ แล้วมีคำพูดหรือสคริปต์ “บิลด์” ให้ลงทุนซื้อของเยอะๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ให้เอะใจเอาไว้ก่อนได้เลย

“ถ้าขายตรงไหน ที่เขาชวนให้ลงเงินเยอะๆ ในครั้งแรก ซื้อของที่มากเกินความจำเป็นในครั้งแรก ต้องระวัง”

และต้องดูก่อนว่า ถ้าเขาbuildให้ลงทุนขนาดนี้ แล้วมี “แผน” หรือ “สัญญา” ที่เป็นลายลักษณ์อักษรไหมว่า จะช่วยให้เราขายหมด ภายในระยะเวลาเท่าไหร่ ถ้าไม่หมดจะรับผิดชอบยังไง “ถ้ามีแค่ลมปาก เชื่อถือไม่ได้ครับ”



สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : Facebook “สมาคมการขายตรงไทย -TDSA” IG @petchkaroonpon”, @aum_patchrapa, theicongroupthailand.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น