ยิ่งกว่าแมว 9 ชีวิต!! เปิดใจสาวสวยผู้ใช้เวลาครึ่งชีวิตอยู่กับ “โรค SLE” ทรุดหนักเข้าใกล้ความตายมานับครั้งไม่ถ้วน แต่ไม่เคยยอมแพ้ กัดฟันต่อสู้กับโรคร้ายไม่มีถอย แค่ “ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น”
ฟ้าผ่าลงกลางใจ ป่วย SLE ตั้งแต่อายุ 17
“การป่วยเป็นอย่างหนึ่งที่เป็นบททดสอบ เราแค่เจอและผ่านมันไป มากที่สุดของการเจ็บป่วยครั้งนี้ก็คือก็แค่ตาย แทนที่เราจะไปทุกข์ เราลองเรียนรู้กับมัน ร่างกายนี้มันเป็นของเราใช่ไหม เวลาเราเจ็บป่วยแล้วผ่านมันมายังไง เรารู้จักมันยังไง ดีกว่าการที่เราไปทุกข์กับมัน”
เจ้าของรอยยิ้มอันสดใสผู้นี้คือ “ปิ่น - คณินณัฎฐ์ ตั้งสำเริงวงศ์” สาวสวยวัย 34 ปี
เมื่อมองจากภายนอก เชื่อว่าหลายคนก็คงคิดว่านี่คือหญิงสาวที่ดูสุขภาพดี แต่ความจริงแล้ว เธอคือผู้ป่วยโรค SLE หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ด้วยอาการของโรคที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ทำให้ ปิ่น เคยทรุดหนักชนิดที่ว่าเฉียดตายมานับครั้งไม่ถ้วน
แต่ด้วยเพราะไม่ยอมแพ้ต่ออาการป่วย และมีกำลังใจที่ได้รับจากคนที่รักรอบข้าง ทำให้เธอต่อสู้กับโรคร้ายจนสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ และยังมีเพจเฟซบุ๊ก “Happy SLE อีป่วย” ไว้คอยบอกเล่าเรื่องราวการรักษาตัวของตนเอง เพื่อเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่เผชิญกับอาการป่วยเช่นเธอ
ย้อนกลับไปในตอนที่ปิ่นอายุเพียง 17 ปี เธอพบความผิดปกติของร่างกายบางอย่าง แต่ใครจะคิดว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของโรคร้าย ที่ไม่มีวันรักษาหายจนถึงปัจจุบัน
“โรค SLE ที่ปิ่นเป็น ตอนนั้นปิ่นเรียนอยู่ ม.5 อายุ 17 ปีค่ะ ตอนแรกที่เริ่มแสดงอาการมันจะมีไข้ต่ำๆ ก่อน มีอาการเพลียมากๆ แปรงฟันแล้วมีเลือดออกตามไรฟัน มีตุ่มตามตัวบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เพราะว่ามันเป็นอาการที่ไม่ได้รุนแรง
สักพักนึงมีอาการปวดตัวมากๆ เหมือนคนที่เล่นเวทหนักๆ แต่ว่าปิ่นก็ไม่ได้ออกกำลังกายเยอะขนาดนั้น เหมือนก้าวขาแทบจะไม่ออก มันหนักไปทั้งตัว ลุกไม่ขึ้น จนวันที่ตัดสินใจไปหาหมอ ก็คือวันที่ปิ่นเหมือนเริ่มมีเสมหะเป็นเลือดออกมา
ตอนแรกอาการมันใกล้เคียงกับโรคอื่น อย่างเช่น ไข้เลือดออก เพราะว่าไปตรวจเลือดมา เกล็ดเลือดมันต่ำค่อนข้างเยอะ บวกกับอาการปวดเนื้อปวดตัว แล้วก็มีจุดๆ ตามตัว คุณหมอก็วินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออกหรืออาการติดเชื้ออื่นๆ
จริงๆ ญาติเป็นคนที่เหมือนกับไกด์คุณหมอ ลองตรวจโรค SLE หน่อยได้ไหมคะ เพราะว่าอาการของปิ่นคล้ายๆ กับพี่สาวของคุณพ่อที่เสียชีวิตไปแล้วเมื่อสมัยที่เขายังเป็นเด็กๆ เพราะว่าญาติเขาเคยดูแลพี่สาวคุณพ่อตอนนั้นที่เขาไม่สบาย
พอคุณหมอตรวจ สุดท้ายก็ใช่จริงๆ สาเหตุนึงของโรค SLE ก็คือจากกรรมพันธุ์ค่ะ เปลี่ยนไป 3 โรงพยาบาลเหมือนกันกว่าจะได้รู้ว่าเป็นโรค SLE หรือว่าโรคแพ้ภูมิคุ้มกันตัวเอง ปิ่นว่าน่าจะมี 2 เดือนได้กว่าที่ปิ่นจะรู้ว่ามันคือโรคอะไร
อย่างที่บอกเลยคืออาการของโรคนี้มันค่อนข้างไม่เหมือนกันในแต่ละคน เป็นได้หลายระบบมากๆ แล้วมันก็คล้ายกับโรคอื่นๆ ได้เยอะแยะมากมายค่ะ ก็เลยใช้เวลาในการวินิจฉัยค่อนข้างสักพักนึงเลยเหมือนกัน”
หลังเข้าสู่กระบวนการรักษา ทำให้เด็กสาวต้องปรับเปลี่ยนและเลี่ยงพฤติกรรมหลายอย่าง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการกระตุ้นให้โรคแพ้ภูมิตัวเองกำเริบ
“ตอนนั้นปิ่นยังเด็กมากเนอะ ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้เลย แบบศูนย์เลยก็ได้ แค่เคยได้ยินว่าคุณพุ่มพวง เพราะว่าพี่เลี้ยงที่บ้านเขาก็ชอบคุณพุ่มพวง รู้แค่ว่าเขาเป็นศิลปินที่เสียชีวิตไปแล้ว คุณหมอก็บอกว่าเป็นโรคพุ่มพวงนะ แต่เราก็ไม่ได้รู้เลยว่ามันจะอันตรายขนาดไหน หรือว่ามีอาการยังไง ต้องดูแลปฏิบัติตัวยังไง
แต่วันนั้นคุณหมอเข้ามาแค่ว่า เดี๋ยวหลังจากนี้ปิ่นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมนะ อาจจะโดนแดดเหมือนเดิมไม่ได้ อาจจะทำกิจกรรมอะไรบางอย่างเหมือนเดิมไม่ได้ ไปดูหนังไม่ได้นะ จะกินอาหารพวกส้มตำอะไรอย่างนี้เหมือนเดิมไม่ได้แล้ว
ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่าทำไม ซึ่งจริงๆ มันก็เกิดจากการที่ว่า เราจะต้องได้รับการรักษาด้วยการกดภูมิคุ้มกันค่ะ เพราะภูมิคุ้มกันต่ำ การที่เราทานส้มตำไม่ได้ หรืออาหารที่มันสุกๆ ดิบๆ ไม่ได้ มันจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือที่หมอบอกว่าห้ามโดนแดด เพราะว่าแสงแดดก็เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นโรค SLE ให้กำเริบได้
ตอนนั้นปิ่นไม่เท่าไหร่ แต่ที่บ้านก็ตกใจเหมือนกันในระดับนึง โรคนี้มันต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขนาดนี้เลยเหรอ ที่ตกใจเพราะเขารู้ว่าคุณพุ่มพวงเขาเสียชีวิตไปแล้ว เขาก็เป็นห่วงเรา แล้วเราจะเป็นยังไงต่อไป
ปิ่นชอบว่ายน้ำแล้วก็เล่นบาส ก็ถือว่าเป็นเด็กคนนึงที่มีกิจกรรมมากมาย ด้วยความที่เราอยู่เมืองไทย แสงแดดเราก็อาจจะต้องโดนบ้าง แต่ด้วยตัวโรคของเราเองแล้ว มันทำให้ปิ่นต้องเลี่ยงมันไปโดยปริยาย ช่วงปิ่นเป็นแรกๆ ปิ่นโดนแดดมันก็จะเพลียอย่างเห็นได้ชัด พอเราโดนแดดแล้วอาการมันออกจริงๆ มีผื่นผีเสื้อขึ้นที่หน้าชัดเลย ก็พยายามเลี่ยงเท่าที่จะทำได้ค่ะ
ตอนนั้นคุณหมอเขาก็เริ่มให้การรักษา ด้วยการกินยากดภูมิหรือว่าเพรดนิโซโลน หรือบางคนก็เรียกว่าสเตียรอยด์ กินโดสตอนแรกเลยคือวันนึง 12 เม็ด ซึ่งเป็นปริมาณที่คนที่เป็น SLE แรกๆ คุณหมอมักจะให้ประมาณนี้ค่ะ”
เข้า-ออกโรงพยาบาล เป็นบ้านหลังที่ 2
สาวน้อยเคยใช้ชีวิตอย่างสดใส ต้องกลายมาเป็นผู้ป่วย ในตอนนั้น ปิ่น ต้องพักการเรียนเพื่อรักษาสุขภาพ ขณะเดียวกัน โรคร้ายนี้ก็สร้างความทุกข์ทรมานใจ ซ้ำเติมเข้ามาอีกด้วย
“นอกจากพฤติกรรมที่ปิ่นต้องเปลี่ยนแล้ว ผลข้างเคียงที่เห็นได้ชัดก็คือหน้าของเรามันจะบวม หรือเขาเรียกว่า moon face แล้วก็สิวขึ้น ผมร่วง คิ้วดก หน้าตาเราเปลี่ยนไปเป็นคนละคน effect กระทบต่อจิตใจปิ่นแบบมากๆ
ความที่เราวัยรุ่น ก็กำลัง ม.5 พอรูปร่างหน้าตาเราเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบก็เศร้าเลย ไม่กล้าส่องกระจกมองตัวเอง ส่องกระจกทีไรก็แอบร้องไห้ เวลาออกไปข้างนอกบ้านก็จะก้มๆ หน้า กลัวเจอคนรู้จัก เรียกได้ว่าทรมานด้านจิตใจมากกว่าด้วยซ้ำ
ตอนนั้นปิ่นต้องดรอปเรียนเพื่อรักษาตัว แล้วก็เพื่อรักษาจิตใจตัวเองด้วย ดรอปเรียนตอนนั้นก็ช่วยได้เยอะ เหมือนกับร่างกายเราค่อยๆ ปรับในการอยู่กับโรคนี้ขึ้นปีนึง กลับไปเรียนต่อได้ในชั้น ม.5 เหมือนเดิม รูปร่างเริ่มกลับไปเป็นเหมือนเดิมแล้ว
แต่ข้อดีของการที่ปิ่นป่วยแล้วตอนดรอปเรียน จากที่ตอนแรกปิ่นเป็นเด็กค่อนข้างดื้อเลยนะ ตอนเรียน ม.ต้น ปิ่นเรียนได้ 2 กว่าๆ ครูโทร.ไปฟ้องแม่ตลอด แล้วพอดรอปเรียน ไปสวดมนต์ นั่งสมาธิ กลับเรียน ม.ปลาย ปิ่นเรียนได้ 4.00 แล้วก็เอ็นท์ติดนิเทศ จุฬาฯ ได้เป็นคนแรกของที่โรงเรียนที่เชียงใหม่ตอนนั้น ก็แปลกดีค่ะ”
ชีวิตวัยรุ่นในรั้วมหาวิทยาลัยของปิ่น ไม่ได้สนุกสนานเหมือนเพื่อนคนอื่น เธอต้อง ‘เรียนไป - ป่วยไป’ ก่อนจะพบว่าตัวเองได้รับผลข้างเคียงจากยารักษาโรค SLE จนทำให้กระดูกข้อสะโพกตาย
[ รักษาตัวช่วงการผ่าสะโพก ]
“เมื่อก่อนก็ใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ อยู่ตลอด แต่ว่าแค่ช่วง ม.ปลาย ที่ไปเรียนที่เชียงใหม่ เพราะความที่ว่าเป็นเด็กดื้อ แม่ก็เลยมาอยู่กับแม่ กลายเป็นว่าเราไปป่วยที่โน่น แต่สุดท้าย ม.6 เรียนได้ 4.00 เอ็นท์ฯติดก็มาเรียนที่จุฬาฯ มาอยู่ที่บ้านเดิมค่ะ
ปิ่นว่าตอนเรียนมหา’ลัย ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เข้าปี 1 รับน้อง โรคก็เริ่มกำเริบอีกรอบนึง เริ่มมีอาการลงไปที่ไตครั้งแรก แต่ยังโชคดีที่มันคุมตัวโรคได้ แต่ระหว่างเรียน 4 ปีที่จุฬาฯ ก็คือเรียนไป-ป่วยไป เดี๋ยวสักพักนึงก็โดนเพิ่มยา ก็โดนเพิ่มๆ ลดๆ อย่างนี้ค่ะ มีช่วงที่กำเริบเยอะหน่อยก็ช่วงปี 3 ที่ผมร่วงเยอะมาก ต้องตัดผมสั้นไปเลย
ช่วงปี 4 เริ่มมีอาการใหม่เพิ่มเข้ามา ปิ่นเดินแล้วรู้สึกว่าทำไมเจ็บขาหนีบบริเวณสะโพก พอไปหาคุณหมอ ไปเอกซเรย์ ก็เลยรู้ว่ามันมีผลข้างเคียงของยาที่เรากิน ก็คือยาเพรดนิโซโลน มันทำให้หัวกระดูกข้อสะโพกของปิ่นตาย เลือดไม่ไปเลี้ยง
เลยทำให้ปี 4 มีช่วงปลายๆ ปิ่นต้องถือไม้เท้าไปเรียนด้วย พอเรียนจบปั๊บ ก่อนรับปริญญา ปิ่นก็ตัดสินใจเปลี่ยนข้อกระดูกสะโพกเลย ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่ามันมีผลข้างเคียงจากการกินยา เราก็แค่รู้แค่ว่าโรคกำเริบที หมอเพิ่มยาให้ แล้วมันก็ช่วยให้ดีขึ้นได้ เราไม่รู้เลยว่าทุกครั้งที่เรากินยาเข้าไปมันมีผลข้างเคียง จนถึงทำให้กระดูกข้อสะโพกของเรามันตายได้ขนาดนั้น
[ ครอบครัวและเพื่อนสนิท กำลังใจที่อยู่เคียงข้าง ]
สะโพกมันเป็นข้อตรงนี้ กระดูกเราตรงสะโพกที่มันหมุนได้ แต่ข้ออ่อนๆ มันหายไปหมดเลยเพราะเลือดไม่ไปเลี้ยง เหมือนกับว่ากระดูกกับกระดูกมาเสียดสีกัน เลยทำให้ทุกครั้งที่เวลาเราเดินหรือลงน้ำหนัก เส้นประสาทมาชนกัน แล้วมันก็จะเจ็บจี๊ดๆ ทุกครั้งที่เราเดิน มันจะทรมานมากคนที่เป็นโรคนี้ ก็เลยตัดสินใจผ่า ไม่งั้นเราใช้ชีวิตไม่ได้ เราเดินไม่ได้ มันเจ็บ
แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นของชื่อเพจด้วยนะคะ เพื่อนจะไม่ได้เรียกปิ่นว่าปิ่นอะไรอย่างนี้ เขาจะตั้งฉายาให้ว่า ‘อีป่วย’ ปิ่นก็เลยได้เอาชื่อที่เพื่อนตั้งมาทำเพจ อันนี้ก็เป็นจุดที่มาที่ไปของชื่อเพจด้วยค่ะ”
หลังเรียนจบ เพื่อนแต่ละคนก็ได้เริ่มต้นชีวิตในวัยทำงาน แต่เธอผู้นี้ต้องเดินเข้า - ออกโรงพยาบาล จนแทบจะเป็นบ้านหลังที่ 2 บวกกับอาการป่วยที่หนักขึ้นเพราะคราวนี้ SLE ลงไปที่ไตเป็นที่เรียบร้อย
“ปิ่นมาเครียดเยอะๆ อีกทีนึงตอนเรียนจบนี่แหละ ที่ปิ่นยิ่งรู้สึกเลยว่าทำไมต้องเป็นเราด้วยวะ เพราะว่าปิ่นดันเรียนดีอีก (หัวเราะ) จบเกียรตินิยมอันดับ 1 ที่นิเทศจุฬาฯ ทั้งๆ ที่เราก็ป่วย ครูก็คือเตรียมแล้วว่าจะฝากงานให้ทุกสิ่งอย่าง
แต่สุดท้ายแล้ว หลังจากที่ปิ่นเปลี่ยนข้อสะโพกได้ไม่นาน กลายเป็นว่าโรคกำเริบขึ้นมาอีกแล้ว อาการคือ SLE ไปลงที่ไตเร็วมาก ไปเจาะไตตรวจเช็กอีกที ปิ่นเป็นระดับ 3 แล้วจาก 5 ซึ่งถ้าระดับ 5 ก็คือต้องโดนฟอกไต
ปิ่นรู้สึกว่าโห… เห็นเพื่อนทุกคนได้ไปทำงาน ได้มีความสุข ได้ใช้ชีวิต ความฝันของเด็กทุกคน ฉันต้องได้ทำงาน ฉันจะหาเงินได้ แต่ปิ่นจบมาปั๊บ อยู่แต่โรงพยาบาลเลย ปิ่นไม่มีแรงแม้แต่จะไปสมัครงาน โรคมันกำเริบ รู้สึกเศร้ากว่าตอนอายุ 17 อีก
คำถามนี้แหละว่าทำไมต้องเป็นเราที่ป่วยด้วย ยิ่งคิดแล้วมันยิ่งเศร้ามากเลยนะ เพราะมันหาคำตอบไม่ได้ พอจิตใจเรามันไม่ดี ร่างกายเรามันยิ่งแย่ลงไปด้วยค่ะ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่แย่มากๆ เลยทั้งด้านจิตใจของปิ่นที่ปิ่นรู้สึกตอนนั้น
ตอนที่ปิ่นผ่ามันเจ็บเยอะข้างเดียว อีกข้างนึงไปเอกซเรย์มามันก็เจอ เราก็ใช้ชีวิตอยู่กับแบบนั้นไปเรื่อยๆ จนทุกวันนี้ผ่านมา 10 ปีแล้วนะ ข้างซ้ายที่มันเคยตาย ไป check up มาล่าสุด คุณหมอก็บอกมันตายก็ปล่อยมันไป ร่างกายมันชินแล้ว
ปิ่นจะเจ็บบ้างบางโอกาส เรายังคงทนกับมันได้ มันไม่ได้จำเป็นถึงขั้นว่าจะต้องผ่า ก็อยู่กับมันไปค่ะ แต่ตอนนี้มีอันใหม่ขึ้นมา ก็คือเข่าข้างซ้ายปิ่นก็มีอาการนั้นเหมือนกัน เลือดมันไม่ไปเลี้ยง แล้วมันก็เริ่มมีอาการปวดเจ็บขึ้นมาบ้างค่ะ”
“ไตวายเฉียบพลัน - SLE ขึ้นสมอง” เกือบหลับแต่กลับมาได้
ผู้ป่วย SLE คนนี้ ใช้ชีวิตต่อไปกับโรคที่ว่า แต่ก็เพิ่มมาด้วยอาการป่วยที่ลุกลามไปถึงไต ซึ่งไม่เพียงแค่รับการรักษาจาก ‘แพทย์แผนปัจจุบัน’ อย่างเดียว เพราะนาทีนั้น ‘แพทย์ทางเลือก’ ก็เป็นตัวเลือกในการรักษาควบคู่ไปด้วย
“เรื่องไตตอนนั้นที่เป็นระยะ 3 คือไตมันก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตเลือดด้วย เลือดปิ่นจะหายเร็วมาก 2-3 วัน ปิ่นต้องไปให้เลือดที ตอนเช้าตื่นมาเปลือกตาบวม ขาบวม ท้องบวม บวมน้ำ แล้วมันก็เหมือนกับปัสสาวะบ่อย ความดันก็เริ่มสูง
ตอนนั้นก็รักษาตามอาการ ปิ่นต้องให้ยาที่กดภูมิอย่างแรง ถึงขั้นคุณหมอเขาเรียกว่าเป็นยากึ่งคีโม ในการที่ช่วยคุมไม่ให้โรคของเรามันกำเริบหรือไตมันอักเสบขึ้น มันเป็นยาตัวเดียวที่รักษาโรคมะเร็ง แต่ว่าโดสมันอาจจะไม่ได้เข้มข้นเท่า
รวมกับคุณหมอเขาใช้วิธีที่กดภูมิแรงๆ อันนึงก็คือวิธีฟอกน้ำเหลือง เหมือนเราไปเข้าเครื่องเหมือนฟอกไตเลยค่ะ เจาะที่คอเหมือนกัน มันเหมือนกับกดภูมิอย่างรุนแรง ไม่ให้โรค SLE มันกำเริบ มันก็ช่วยให้ไตดีขึ้นได้นิดนึง คุมโรคได้นิดหน่อย
[ อาการบวมระหว่างการรักษา ]
หลังจากนั้น ปิ่นได้มีโอกาสออกจากโรงพยาบาล ก็ได้ไปพักที่เชียงใหม่ เปลี่ยนบรรยากาศ แล้วก็ไปพักที่เชียงรายซักแป๊บนึง ที่บ้านพอเห็นปิ่นเป็นไต แม่ก็เป็นห่วงเรา ปลายทางจะโดนฟอกไตไหมนะ
มันคือการเรื่องใหญ่มากๆ ที่ลูกอายุแค่ 20 กว่าๆ แล้วจะต้องโดนฟอกไต เขาก็เลยพยายามสรรหาทุกวิถีทางที่จะทำให้อาการดีขึ้น ก็มีการไปลองแพทย์ทางเลือกเยอะแยะมากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรต่างๆ อาหารเสริม ยาพระ ยาหม้อยาต้ม ใครบอกว่าดี มาเลยจัดให้หมดเลย ปิ่นก็มีหน้าที่กินอย่างเดียว ใครบอกอะไรก็ทำ ฝังเข็ม ก็ทำหมดทุกอย่าง”
สำนวน ‘พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก’ คงใช้ได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อยู่มาวันหนึ่ง อาการป่วยของปิ่นก็ทรุดหนัก เพราะดันเกิดไตวายเฉียบพลัน และ SLE ขึ้นสมองพร้อมกัน จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด
“ทุกอย่างมันก็เหมือนจะดี แต่ปิ่นดันไตวายเฉียบพลัน อยู่ดีๆ ก็ความดันพุ่ง 200 กว่าๆ ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนหัวเราจะระเบิด ปวดที่สุดในชีวิต อาเจียนแล้วก็ถ่ายออกมา คือเรา control ไม่ได้ มันเหมือนอยากจะพุ่งออกทุกทางแล้วค่ะ
แล้วอยู่ดีๆ ปิ่นก็จำอะไรไม่ได้ ภาพมันก็ตัดไปเลย รู้แค่ว่าพี่ที่อยู่ด้วยกันเขาก็โทร.หาแม่ แล้วก็รีบออกมาเพื่อจะพาปิ่นไปโรงพยาบาล เท่าที่ปิ่นทราบ ณ ตอนนั้นหลายโรงพยาบาลที่เชียงรายไม่มีใครรับปิ่นแล้ว เพราะว่าอาการมันหนักมาก เขาก็เหมือนน่าจะบอกว่าลงไปเชียงใหม่เลย เพราะเครื่องมือเขาไม่ได้พอที่จะรักษาปิ่นตอนนั้นได้
รู้ตัวอีกทีฟื้นขึ้นมาแบบสะลึมสะลือ ปิ่นโดนใส่ท่อช่วยหายใจ เราโดนฟอกไตไปแล้ว หมอก็วินิจฉัยว่ามันคืออาการไตวายเฉียบพลัน แล้ว SLE ขึ้นสมอง ทำให้สมองบวม ของเสียทั่วร่างกายไปแล้ว น้ำท่วมปอด ตอนนั้นคือเกือบแล้ว เกือบเสียชีวิต
มารู้ทีหลังคุณหมอเขาก็บอกว่าต้องถึงขั้นฟอกไตแล้วนะ ถ้าไม่ฟอกก็ 50/50 พี่สาวก็คือบินกลับมาจากจีน เขาไปเรียนที่โน่น แล้วก็เป็นคนบอกแม่ให้ตัดสินใจให้ปิ่นฟอกไต หลังจากนั้นวันนึงปิ่นถึงจะได้ฟื้นขึ้นมา ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่เริ่มฟอกไต”
เวลาผ่านไปราว 3 วัน กว่าที่หญิงสาวจะฟื้นขึ้นมา แต่การฟื้นครั้งนี้เธอต้องแลกมาด้วยการฟอกไต จนกว่าจะถึงวันที่ได้รับไตบริจาคเพื่อนำมาปลูกถ่าย
“ตอนนั้นก็ที่บ้านก็วิ่งวุ่นเหมือนกัน ทำทุกวิถีทาง ทั้งสายมู ใครบอกอะไรดีก็ทำทุกอย่าง แฟนปิ่นก็บินจากกรุงเทพฯ เขาบอกว่าจริงๆ ปิ่นไม่ได้นอนสลบ ปิ่นยังนั่งรถเข็นอยู่ แต่มองไปทางโน้นทางนี้เหมือนไม่มีสติ
แต่ปิ่นจำอะไรไม่ได้เลยนะ อันนี้ก็เป็นเหตุการณ์ช่วงนั้นที่หนักที่สุด พอปิ่นฟื้นขึ้นมาแล้ว บอกได้เลยว่าทรมานเพราะสมองเราบวม มันเลยทำให้อาการปวดหัวยังคงอยู่ ไม่เคยนอนหลับเลย นอนไม่ได้
แล้วการฟอกไตตอนนั้น เท่าที่รู้คือมันเป็นการเจาะท่อฟอกไตฉุกเฉินที่ขาหนีบครั้งแรก เวลาเปลี่ยนฟอกไตทีก็ทรมาน เราต้องนอนนิ่งๆ 4 ชั่วโมงที่โรงพยาบาล จะให้เล่นมือถือหรืออะไรก็ไม่ได้ เพราะว่ามันกระทบสมองปิ่น จนทำให้ปิ่นลืมตาขึ้นมาเห็นเป็นภาพซ้อน มีคน 2 คนข้างหน้า ไม่ได้มีอารมณ์มานั่งเล่นมือถือหรืออะไรชิลล์ๆ ได้ มันทรมานมากช่วงนั้น
ตอนนั้นที่เป็นเหมือนกับมีอาการชักด้วยร่วมกัน ออกจากโรงพยาบาลน่าจะไม่ถึงอาทิตย์ก็ชัก สลบไปอีกรอบนึง ครั้งนี้น่าจะประมาณ 1-2 วัน หมอก็คือบอกแม่ว่าอาจจะเป็นอัมพาต แต่ปิ่นก็ยังโชคดีเพราะปิ่นฟื้นขึ้นมา มันเป็นอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่ถึงขั้นว่าเป็นอัมพาต ต้องทำกายภาพอยู่ประมาณเกือบ 6 เดือน กว่าที่จะได้กลับมารักษาตัวต่อที่กรุงเทพฯได้
ช่วงที่ฟอกไตก็ทรมานตรงที่ว่า ถึงเราจะแข็งแรงขึ้นมานิดนึง แต่เรายังคงใช้ชีวิตไม่ได้เหมือนเดิม เราต้องไปโรงพยาบาล 3 ครั้ง จันทร์-พุธ-ศุกร์ ครั้งนึง 4 ชั่วโมง เดินทางไป-กลับอีก เกือบ 4 ปีเต็มๆ
แล้วหลังจากที่เราฟอกทุกๆ ครั้งก็คือมีอาการเพลียมาก หูอื้อ ปวดหัว เวลาฟอกไตความดันจะชอบสูง ทำให้ปิ่นเคยถึงขั้นเป็น stroke หลังจากฟอกไตอยู่ประมาณ 2-3 ครั้ง กลับบ้านมาก็คือปากเบี้ยว น้ำลายไหล แขนขาอ่อนแรงเดินไม่ได้ ถ้าช้าบางคนเขาก็จะไปเลย มันเป็นผลข้างเคียงหลังฟอกไต ก็ลุ้นกันหลายรอบมาก แต่ก็ผ่านมาได้”
ดีลกับความทุกข์ สุขเมื่อปล่อยวาง
ความทุกข์ทรมานจากโรคแพ้ภูมิตัวเอง ไม่เพียงสร้างความเจ็บปวดทางกาย แต่ยังบั่นทอนไปถึงจิตใจอย่างหนัก จนทำให้หญิงสาวคนนี้เริ่มไม่อยากที่จะสู้ต่อ
“จริงๆ ปิ่นไม่เคยรับกับสิ่งที่ปิ่นเป็นได้มาตั้งแต่อายุ 17 จนเรียนจบ หลังจากที่ปิ่นเรียนจบ ปิ่นรู้สึกไม่อยากทรมานกับโรคนี้อีกต่อไป มันก็มีแวบนึงที่เป็นความรู้สึกว่าเราไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อแล้ว แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นว่าหาวิธีในการคิดสั้นอะไรใดๆ
แต่ก็เพิ่งจะมีอะไรมาทำให้ปิ่นมีสติคิดได้จริงๆ ก็คือตอนที่ปิ่นป่วยหนักมากๆ ช่วงหลังจากที่ปิ่นเริ่มฟอกไตแล้ว มันรู้สึกทรมานมากๆ นอนไม่ได้ ปวดหัวทุกสิ่งอย่างตอนที่อยู่เชียงใหม่ วันที่ปิ่นรู้สึกทรมานมากๆ ปิ่นก็เลยนอนมองเพดาน
ทำไมชีวิตแม่งทรมานได้ขนาดนี้วะ คุยกับตัวเองว่ามันทรมานจังเลยเนอะปิ่น แกมานั่งคิดอยู่คนเดียว ที่ผ่านมาแกโทษตัวเองตลอดเลยนะว่าทำไมตัวเองมาเป็นโรคนี้ คิดอยู่อย่างนี้แล้วมันได้อะไร คิดแล้วมันหายไหม คิดแล้วมันดีขึ้นหรือเปล่า
ผลข้างเคียงจากตอนที่ปิ่นฟอกไต ทุกๆ ครั้งกลับบ้านมาคือไม่มีแรงแล้ว ไม่ต้องคิดเลยว่าเราจะทำอะไรได้อีก รวมทั้งคุณแม่ด้วยเขาต้องหยุดกิจการอย่างของตัวเอง ต้องมาดูแลปิ่นตลอดระยะเวลาช่วงนั้นที่ปิ่นฟอกไตค่ะ
จนสุดท้ายปิ่นก็หันไปมองแม่ตัวเองซึ่งนอนอยู่ข้างๆ โห… สงสารแม่มากเลยที่มาเฝ้าเราขนาดนี้ ปิ่นก็รู้สึกว่ามันไม่ได้แล้ว ปิ่นก็บอกตัวเองเลยว่าต้องสู้แล้วนะ สู้เพื่อครอบครัว พ่อแม่เรา ไม่ว่าอะไรหลังจากนี้จะไม่เครียดแล้ว ปิ่นพร้อมที่จะรับ”
แต่ด้วยเพราะการยอมรับและเข้าใจในตัวเองที่ตกผลึกได้ และมีทุกคนที่รักคอยอยู่เคียงข้างเสมอ จึงทำให้เธอก้าวผ่านฝันร้ายมาได้ในที่สุด
“ตั้งแต่วันนั้นที่เป็นวันที่ปิ่นทุกข์มากๆ ที่สุดในชีวิต แต่มันกลับกลายเป็นวันที่ปิ่นรู้สึกว่ามันปลดล็อกความคิดต่างๆ ที่ปิ่นไม่เคยรับกับโรคที่ปิ่นเป็น มาตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีเลย มันเป็นวันที่ทำให้ปิ่นรับกับสิ่งที่ปิ่นได้ ก็แอบๆ กระซิบกับท้องฟ้ากับอะไรนิดนึง ค่อยๆ มาแล้วกัน แต่เราโอเคที่จะยอมรับมัน ครั้งนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นค่ะ (ยิ้ม)
ปิ่นไม่ได้ทุกข์เท่าเดิม เวลาหมอเพิ่มยาหรือว่าอะไรก็ตาม แล้วปิ่นกลับมาหน้าบวม เราเข้าใจว่ามันคือกระบวนการรักษา มันไม่จำเป็นต้องมานั่งเครียดว่าหน้าบวม เราจะไม่สวยแล้ว ไม่ว่าหมอจะให้ทำอะไร เราก็ยินดีที่จะปฏิบัติตัวตาม
ปิ่นอาจจะโชคดีตรงที่ว่าปิ่นมีครอบครัว แล้วก็มีแฟนที่คอยเตือนสติหรือว่าอยู่ข้างๆ แฟนปิ่นจะเป็นคนที่ positive thinking มาก ตอนที่ปิ่นบวม ตัวดำๆ ผมร่วงหรืออะไรก็ตาม เขาจะบอกเราว่าสวยแล้ว เลยทำให้เรามีกำลังใจที่จะผ่านมันมาได้
ถึงเรารู้ว่าสภาพเราไม่ได้สวยหรอกนะตอนนั้น แต่อย่างน้อยเรารู้สึกว่าคนที่เรารัก ครอบครัวหรือแฟน เขาไม่ได้มองเราแค่ภายนอก เรายังคงเป็นหนึ่งในคนที่เขารักอยู่ ยังเป็นหนึ่งในครอบครัวที่เขายังคงอยู่ข้างๆ เราได้ ก็รู้สึกว่าครอบครัวและแฟน เป็นคนที่ทำให้ปิ่นผ่านช่วงที่ดาวน์เยอะๆ ช่วงที่เฟลเยอะๆ มาได้
[ ปิ่นและแฟนหนุ่ม ยาใจในทุกช่วงเวลา ]
บางครั้งปิ่นก็จะมีสวดมนต์บ้าง นั่งสมาธิบ้าง มันคือตัวเราที่คุยกับตัวเราเอง การที่ปิ่นเป็นโรคนี้ปิ่นไม่ได้สู้อยู่กับใคร จริงๆ แล้วปิ่นสู้อยู่กับตัวเองทั้งหมด จะสู้หรือไม่สู้มันอยู่ที่ตัวปิ่นเองคนเดียว ยิ่งพอปิ่นมาเจอความทุกข์หนักมากๆ ด้วยตัวเองแล้ว มันก็เลยยิ่งทำให้ตัวเองรู้สึกว่า คิดเยอะไปก็แค่นั้น ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นคือดีที่สุดแล้ว
และคำว่ายอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น มันเป็นตัวที่ทำให้ก้าวผ่านในทุกๆ อย่างได้เลย เปลี่ยนจากความทุกข์เป็นเบาสบายขึ้นมาได้ อะไรจะเข้ามามันก็เข้ามา พร้อมที่จะยอมรับได้ อันนี้คือคีย์ของการที่เราจะอยู่กับโรคนี้ได้เลยค่ะ”
และสิ่งที่รอคอยก็มาถึง ก็คือการได้รับบริจาคไต นำไปสู่การปลูกถ่ายไต ทำให้ปิ่นกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิมอีกครั้ง
“ปี 60 ปิ่นเปลี่ยนไต หลายๆ คนจะชอบถามว่าไตที่ได้รับได้มาจากใคร อันนี้ก็เป็นกฎหมาย ปิ่นไม่สามารถรู้ได้ว่าไตที่ได้รับมา ปิ่นได้รับจากใคร คุณหมอบอกแค่ว่าไตที่ได้รับมาเป็นเพศหญิง อายุ 30 ปี มาจาก จ.กาญจนบุรี ปิ่นจะรู้แค่นี้ค่ะ
หลังจากที่ปิ่นเปลี่ยนไต ก็รักษาตัวอยู่ประมาณปีนึงให้แข็งแรงขึ้น แต่เป็นโชคดีที่ปิ่นไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไรเลย อยู่โรงพยาบาลประมาณ 10 กว่าวัน แล้วก็กลับมาพักรักษาตัวที่บ้านประมาณ 3-4 เดือน หลังจากนั้นปิ่นแข็งแรงกว่าตอนก่อนเป็นด้วยซ้ำ เลือดกลับมาดีทุกอย่าง ไตก็เริ่มกลับมาทำงานได้ตามปกติค่ะ ถึงแม้จะมีไตเดียวก็ตาม
[ หลังฟื้นตัว กลับมาทำกิจกรรมที่ชอบได้อีกครั้ง ]
ทุกอย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนชีวิตใหม่เลย ปิ่นได้กลับมาทำงานตามที่คิดเอาไว้ ตั้งแต่ตอนเรียนจบไม่ได้ทำงาน แล้วก็ได้แต่งงานค่ะ ปิ่นอยากไปเรียนต่อเมืองนอกมาก ตอนเรียนจบก็ไม่ได้ไป พอแข็งแรงขึ้นไปเรียนภาษาที่ออสเตรเลีย 3 เดือน ก็ถือว่าทำตามความฝันหลายๆ อย่างเลย จะไปเที่ยวที่ไหนก็สามารถไปได้
เราไม่ต้องไปโรงพยาบาลฟอกไต 3 ครั้งต่ออาทิตย์อีกแล้ว ที่สำคัญคือแข็งแรงและครอบครัวก็มีความสุขมากขึ้น คุณแม่ก็กลับไปทำอะไรได้ ไม่ต้องมานั่งเฝ้าปิ่นฟอกไต ทุกคนแฮปปี้ ไม่ต้องเป็นห่วงเราเหมือนเดิมแล้วค่ะ
หลังจากที่ปลูกถ่ายไตแล้ว ยังต้องกินยากดภูมิไปตลอดชีวิตเลย แล้วก็ยังไป follow up กับคุณหมอทุก 2 เดือน ดูค่าไต ค่าเลือดต่างๆ ว่าตอนนี้อาการเป็นยังไงบ้าง ดีขึ้นหรือยัง ก็จะมีการปรับยาตามอาการต่างๆ
ไตที่ปลูกถ่ายมามันไม่สามารถที่จะอยู่ได้ตลอดชีวิต พอวันนึงที่ไตนี้มันเสีย ปิ่นก็ต้องกลับไปฟอกไตใหม่ รอที่จะได้รับไตบริจาคใหม่มาปลูกถ่ายไตไปเรื่อยๆ ก็ต้องกินยาไปตลอดชีวิต แล้วก็ต้องอยู่กับโรคนี้ไปตลอดชีวิต ไม่มีวันหายแน่นอนค่ะ
ปิ่นนั่งลิสต์หลักๆ มันเริ่มตั้งแต่ตอนที่ผ่าข้อกระดูกสะโพก เป็นครั้งแรกที่เริ่มผ่าใหญ่ ที่เยอะจริงๆ คือช่วงที่ปิ่นต้องมาทำเส้นฟอกไต ก็คือผ่าตัดเจาะเส้นฟอกไต น่าจะประมาณ 8 แค่ไตนะ แล้วก็มาปลูกถ่ายไตอีก ล่าสุดเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว อยู่ดีๆ ก็เจอถุงน้ำขึ้นมาอีก ก็ต้องผ่าตัดอีก 16 ครั้งนั้น รวมทั้งผ่าเจาะไต เจาะปอดด้วย ก็ค่อนข้างเยอะเลย”
อวัยวะบริจาค = ชีวิตใหม่
ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ เพราะหลังจากที่แข็งแรงขึ้น ปิ่นก็ได้มีโอกาสกลับทำงาน ดูแลตัวเองควบคู่กับไปการใช้ชีวิตในไลฟ์สไตล์ที่ชอบ อย่างไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไป
“ตอนนี้ปิ่นก็เป็นพนักงานออฟฟิศ เกี่ยวกับการตลาดกับสินค้าพวก health and beauty ปิ่นจบนิเทศโฆษณา ความฝันตอนแรกก็คือปิ่นอยากเป็น creative ปิ่นอยากทำเอเจนซี่โฆษณา หลังจากแข็งแรงขึ้น ปิ่นได้ไปทำเอเจนซี่โฆษณาจริงๆ
ไปทำอยู่ประมาณ 2 เดือนก็ไม่ไหว (หัวเราะ) คือมันหนักจริงๆ สุดท้ายได้โอกาสมาเป็นฝั่งลูกค้าแทน ได้เป็น marketing มันเป็นอะไรที่ได้ทำอะไรเยอะมากกว่า ไม่ได้คาดหวังแต่แรกว่าเราจะได้มาทำอันนี้ แต่ก็โอเค ก็สนุกกับมันได้ค่ะ
ปิ่นว่าปิ่นผ่านความตายมาแล้วนะ ปิ่นก็เลยใช้ชีวิตทางสายกลางมากเลย อะไรที่รู้ว่าไม่ดีก็อาจจะเลี่ยงๆ หน่อย แต่ไม่ใช่ว่าไม่ทำเลย เอาที่เราอยากทำ ที่เรารู้สึกว่าเรามีความสุข เราก็ทำแบบพอดีๆ
การไปดูหนัง การกินส้มตำ การออกแดด ปิ่นทำหมดทุกอย่างเลย ปิ่นไปเที่ยวทะเลเพลินมาก เราก็แค่ทากันแดด หรือว่าอยากกินส้มตำ เราก็เลือกร้านที่มันดีๆ หน่อยแค่นั้นเอง ดูหนังก็ไปดูปกติ หลังๆ มาก็ใส่แมสก์ แต่บางทีก็ไม่ใส่ เราดูตัวเองเป็นหลักว่าเราโอเคหรือไม่โอเคตรงไหน ใช้ชีวิตให้มีความสุขค่ะ
ไม่สามารถทำได้เลยใช่ปะ?… ตอนนี้ปิ่นไม่สามารถวิ่งแรงๆ ได้ เพราะว่าที่ปิ่นเปลี่ยนข้อสะโพกมา กระดูกปิ่นไม่ดี ถ้าออกกำลังกายหนักๆ ไตก็ทำงานหนักด้วยเช่นกัน การเล่นกีฬาที่ผาดโผนต่างๆ หรืออะไรที่มันต้องกระแทกๆ จะเล่นไม่ได้เลย
เรื่องอาหารจริงๆ ตอนฟอกไตคุมสุดฤทธิ์ กินผักเยอะก็ไม่ได้ โพแทสเซียมสูง กินเนื้อสัตว์เยอะก็ไม่ได้ ฟอสเฟตสูง กินน้ำเยอะก็ไม่ได้เดี๋ยวบวม หลังจากเปลี่ยนไตแล้ว ปิ่นกินได้ใกล้เคียงคนปกติเลย ยกเว้นอะไรที่ไม่ค่อยสะอาดมากๆ อะไรที่ดิบไปเลย ปลาร้า หอยนางรมดิบ กุ้งดอง ปิ่นก็ไม่สามารถกินได้ ซูชิปิ่นก็ยังแอบกินบ้าง (หัวเราะ) แต่เราก็เลือกร้านที่โอเคหน่อยค่ะ”
[ ร่วมงานกับ Wanyai ]
และล่าสุด เธอได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของ music video เพลง “รักของเธอคือของขวัญ” ของ Wanyai ศิลปินเสียงอบอุ่น ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ และผู้ได้รับบริจาคอวัยวะ
ในฐานะผู้ได้รับการบริจาคไต ปิ่นบอกว่า นี่ไม่ใช่เพียงอวัยวะหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้รับคือชีวิตใหม่สำหรับเธอ
“ตอนที่ปิ่นรอได้รับการบริจาคไต ถามว่ามันถึงขั้นว่าทรมานไหม มันไม่ได้เรียกว่าทรมาน แต่พูดได้ว่าเป็นการรอที่ไม่มีจุดหมาย มันเป็นการรอที่เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะได้รับโทรศัพท์ว่าเราได้ไตแล้ว เราจะเห็นเพื่อนๆ ที่ฟอกไต คนนั้นได้ไตไปแล้ว แล้วเมื่อไหร่จะถึงตาเราบ้างนะ มีช่วงที่ท้อแท้บ้างค่ะ เกือบๆ 4 ปีค่ะที่ต้องฟอกไต บางคนก็เร็วกว่านั้น บางคนก็นานกว่านั้น
เวลาเราลงคิวรับอวัยวะ เราจะต้องส่งเลือดให้ทางโรงพยาบาลทุกเดือน ถ้ากรุ๊ปเลือดได้และสภาพไตที่ได้มาดี ตัวเราเองก็แข็งแรงอยู่ การแมตช์ของอวัยวะกับของเรา ต้องแมตช์กันอยู่ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์หรืออะไรอย่างนี้ ถึงจะปลูกถ่ายไตได้ค่ะ ถึงบอกว่าเราไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่มันจะเป็นวันของเราที่เราถูกหวย เป็นอย่างนั้นจริงๆ
เท่าที่ปิ่นรู้ คนที่รอมีมากกว่าคนให้เยอะมากเลย ปิ่นเลยรู้สึกว่าถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะเชิญชวนให้คนที่อยากจะทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ก็สามารถที่จะลองพิจารณาในเรื่องของการบริจาคอวัยวะดู มันคือการให้ชีวิตใหม่กับอีกคนนึงจริงๆ
อย่างปิ่นเองคือเห็นได้ชัดเลยว่าเหมือนการเกิดใหม่จริงๆ ถ้าปิ่นไม่ได้อวัยวะหรือไตจากคนที่บริจาคมา ปิ่นก็ยังคงต้องไปโรงพยาบาลทุกวัน ปิ่นยังคงไม่สามารถมาใช้ชีวิตแบบทุกวันนี้ได้ ไม่สามารถทำงานหรือแข็งแรงได้ขนาดนี้ ก็รู้สึกว่าความสำคัญของการได้รับอวัยวะ มันคือของขวัญชิ้นยิ่งใหญ่ที่สุดของชีวิตคนคนหนึ่งเลย
ที่อยากจะฝากไว้ ก็คือเวลาเราบริจาคอวัยวะไปแล้ว เราต้องบอกเจตจำนงของเราให้กับญาติทราบด้วย เพราะว่าสุดท้ายแล้วเราไปบริจาคกับสภากาชาด วันที่เราเสียชีวิตขึ้นมา แต่ญาติพี่น้องของเราเขาไม่ได้รับรู้ แล้วเขายังตัดใจไม่ได้
เขาจะเป็นคนสุดท้ายที่เป็นคนเซ็นอนุญาตกับคุณหมอ ให้เอาอวัยวะเราไปได้ ถ้าเขาไม่อนุญาต ความตั้งใจของเราที่อยากบริจาคอวัยวะก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้นั่นเอง ใครที่คิดที่จะบริจาคอวัยวะ ก็บอกญาติเอาไว้ด้วยนะคะ
อีกอย่างนึง คนที่ปิ่นได้รับอวัยวะเขามา ปิ่นต้องขอขอบคุณเขาและครอบครัวมากๆ ที่สุดเลย ไม่ว่าปิ่นทำบุญ ทำสิ่งดีๆ อะไรก็ตาม ปิ่นจะนึกถึงแล้วก็กรวดน้ำให้เขาอยู่เสมอๆ จะคุยกับเขา ปิ่นก็จะสัญญาปิ่นจะใช้ชีวิตนี้ให้ดีที่สุด แล้วจะใช้ร่างกายที่ได้กลับมามีชีวิตที่แข็งแรงอีกครั้ง ในการช่วยเหลือคนต่อๆ ไปให้ได้มากที่สุด เหมือนได้ใช้ชีวิตแทนเขาให้ดีที่สุดค่ะ”
สำหรับชีวิตที่เฉียดเข้าใกล้ความตายมานับครั้งที่ไม่ถ้วน ปิ่นก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการส่งกำลังใจ ถึงทุกคนที่กำลังต่อสู้กับโรคร้าย แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายกับการยอมรับความเจ็บป่วย แต่หากทำได้แล้ว จะเป็นผลดีกับตัวเองในการเผชิญกับเรื่องที่เจอต่อไป
“ปิ่นอยากจะบอกคนที่กำลังต่อสู้อยู่กับความเจ็บป่วยดีกว่า ปิ่นอยากให้ลองมองกว้างๆ จริงๆ แล้วเราไม่ได้สู้กับโรคที่เราเป็นอยู่คนเดียวนะ มีอีกหลายๆ คนบนโลกใบนี้ที่เขาเป็นเหมือนเราเยอะแยะมากมาย
ปิ่นอยากให้ลองยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ถึงแม้มันจะยากกับการที่เราจะต้องมายอมรับ จากที่เราแข็งแรงและอยู่ดีๆ ต้องมาป่วยแบบนี้ ปิ่นเชื่อว่าใจเรามันจะเบาขึ้น และเราจะมีกำลังใจ ในการที่จะต่อสู้กับโรคที่มันจะเข้ามาที่เราได้มากขึ้นค่ะ ส่วนใครที่รอไตอยู่ ก็เป็นกำลังใจให้ ปิ่นคิดว่ามันจะต้องมีวันนั้นแน่นอน ที่เราจะได้อวัยวะที่เหมาะสมกับเรา
เมื่อได้ไตมาแล้ว ปิ่นว่ามันจะเป็นชีวิตใหม่เลย ปิ่นก็อยากจะใช้ชีวิตไปในทุกๆ เวลาให้มีคุณค่ามากที่สุด และถ้ามีโอกาสก็จะช่วยคนอื่นๆ ให้ได้มากที่สุดเหมือนกัน เพราะรู้ว่าเวลาของเรามันสั้นกว่าคนปกติ แต่อย่างที่บอกไม่ว่าอะไรจะเข้ามา ปิ่นยอมรับมันได้หมด เพราะปิ่นก็รู้ว่าสุดท้ายแล้ว ทุกคนปลายทางคือความตายเหมือนกัน แค่นั้นเองค่ะ”
คิดมากทำไม “ป่วยก็ตาย ไม่ป่วยก็ตาย” “เพจของปิ่นเริ่มขึ้นจากตอนที่ปิ่นฟอกไต มีช่วงนึงที่โรคกำเริบขึ้นมา หมอเขาให้ยาสเตียรอยด์อัดเข้ามาเยอะเลย ปิ่นผอมแล้วปิ่นแปลงร่างอยู่ดีๆ ก็หน้าบวม ตัวบวม มีเหนียงขึ้นมาภายใน 3 วัน แต่ตอนนั้นปิ่นยอมรับในสิ่งที่ปิ่นเป็นได้แล้ว แล้วทำไมเราไม่เก็บโมเมนต์นี้เอาไว้ ปิ่นก็เริ่มทำเพจนี้ขึ้นมาแล้วก็ตั้งชื่อ อีป่วย เพราะช่วงแรกอยากให้เพื่อนของตัวเองเห็นแค่นั้นเลย แต่สักพักนึงก็เริ่มมีคนแชร์ออกไป แล้วก็เริ่มไปยังกลุ่มของคนที่เป็น SLE หรือว่า โรคไตด้วย มีช่วงนึงที่ปิ่นเริ่มแชร์ประโยคสั้นๆ ปิ่นรู้สึกว่ามันก็เป็นประโยคที่ให้กำลังใจตัวเอง แล้วก็มีคนไปแชร์ต่อ หลังจากนั้นก็เริ่มรู้แล้วว่าจริงๆ มีคนที่เป็นโรคเหมือนเราเยอะแยะ เขาก็ต้องการกำลังใจจากเรา จากแค่ประโยคพวกนั้นนั่นแหละ จากตอนแรกที่แค่จะรายงานสถานการณ์หน้าตัวเองที่มันบวม ก็เริ่มมาเปลี่ยนเป็นให้กำลังใจมากขึ้น มีคน inbox เข้ามาถามเรื่องเกี่ยวกับการดูแลรักษาตัวเอง ก็เริ่มทำตั้งแต่ตอนนั้นมาจนถึงวันนี้ค่ะ น่าจะเกือบๆ 10 ปี แต่ไม่ได้อัปตลอดค่ะ แต่ปิ่นเพิ่งจะมาทำจริงจังก็ช่วงหลังๆ นี่แหละค่ะ หลังจากที่ปิ่นปลูกถ่ายไตได้ไม่นาน คนจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของปิ่นได้ชัดมาก ว่ามันดีขึ้นได้ขนาดนี้เลยเหรอ จากที่เมื่อก่อนคือสภาพแบบว่าร่อแร่นะ คนก็ดูเขามีกำลังใจมากขึ้น ทุกวันนี้เวลาปิ่นโพสต์อะไร โดยเฉพาะโพสต์ที่ให้ให้กำลังใจ ก็จะมีคนเข้ามาทั้ง inbox แล้วก็ comment เขาก็จะบอกว่าเขาเห็นปิ่นเป็น idol เขารู้สึกว่าเขามีกำลังใจมากๆ เวลาที่เห็นปิ่นดีขึ้นได้ขนาดนี้ แล้วก็ได้ความรู้มากมายจากในเพจนี้ แต่ปิ่นก็จะบอกทุกคนว่าปิ่นก็จะแชร์ได้ในประสบการณ์ที่ผ่านมา ยังไงก็ตามปรึกษาคุณหมอจะดีที่สุดในการที่จะดูแลตัวเองค่ะ เขาได้กำลังใจจากเพจนี้นอกจากได้จากปิ่นเองแล้ว เขาก็ยังเหมือนมีเพื่อนร่วมเดินไปด้วยกัน เขาจะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ป่วยอยู่คนเดียวแล้วนะ เหมือนเป็น community เล็กๆ ด้วย ทุกๆ ครั้งเวลาที่เขามาพูดแบบนี้ ปิ่นก็ดีใจ แล้วก็ได้กำลังใจกลับมาที่ตัวเองในการที่จะทำเพจต่อไป รวมทั้งอยากจะแข็งแรงเพื่อมาเป็น inspiration ให้กับลูกเพจต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ ประโยคนึงที่จะบอกคนในเพจตลอด ปิ่นไม่รู้เหมือนกันว่าไปเอามาจากไหน ก็คือ ‘ป่วยก็ตาย ไม่ป่วยก็ตาย’ ปิ่นชอบประโยคนี้มาก ปิ่นรู้สึกว่ามันเตือนสติปิ่นได้มากจริงๆ คนที่ไม่ป่วยเหมือนเรา สุดท้ายแล้วปลายทางเขาก็ตายเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ไม่ต้องคิดอะไรเยอะแยะ แล้วยังไง ทุกคนตายหมดแค่นั้นเอง (ยิ้ม)” |
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : Facebook "Happy SLE อีป่วย"
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **