xs
xsm
sm
md
lg

บ้าได้ใจจนฝรั่งอยากยก “เหรียญทอง” ให้!! “ท้าวดักแด้” เกิดมาเพื่อเชียร์ “ทีมชาติไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดเส้นทางความฮอต!! “ท้าวดักแด้” ที่ฝรั่งอยากยกเหรียญทองให้กว่าจะเป็นกองเชียร์คนสำคัญของไทย เริ่มต้นจากความผิดหวังเปลี่ยนคำดูถูก เป็นแรงผลักขอเป็นแค่กองเชียร์ข้างสนามแทนกับโมเมนต์สุดประทับใจ ที่นักกีฬาแห่ขอบคุณ

กว่าจะเป็น “กองเชียร์” คนสำคัญ

คนเขาอาจจะบอกว่า ไอ้นี่บ้า แต่เรามองว่าไปการให้กำลังใจ แต่งตัวเป็นบ้า ทำoverไปหรือเปล่า เราก็บอกว่า เออ..ไม่เป็นไร เราก็ทำอย่างนี้มาตลอด จากคนที่เคยว่า มองกลับมาอีกสัก3-4ปี แต่ก่อนผมมองว่าพี่แต่งตัวโคตบ้า จนทุกวันนี้ผมขอโทษ ผมมองพี่คือไอดอล

“ท้าวดักแด้”หรือ “ไทยแลนด์ คำทอง” (ชื่อเดิม บัญชา คำทอง)ตำนานกองเชียร์ตัวตึงของเมืองไทย วัย 58 ปี ที่ไปสนามไหน ก็มีที่คนรู้จัก ขอถ่ายรูป แถมยังมีเสียงชื่นชม กับลีลาการเชียร์ที่สนุกสุดมัน

ล่าสุด โอลิมปิก-พาราลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่เพิ่งจบไป ก็ได้รับเสียงชื่นชม จนเจ้าภาพลงคลิปอวยยศ อยากจะยกเหรียญทองให้กับลีลาการเชียร์ ในฐานะแรงเชียร์คนสำคัญ ที่ส่งพลังแรงกล้าถึงทัพนักกีฬาไทย

แต่เส้นทางความฮอตของเขา กว่าจะเป็นกองเชียร์คนสำคัญของไทยได้ หลายคนอาจจะไม่รู้ ว่าเส้นทางนี้ เริ่มต้นจากความผิดหวังมาก่อน ด้วยความอยากเป็นนักกีฬา แต่ความสามารถไม่ถึง ก็ขอเป็นกองเชียร์ข้างสนามแทน ด้วยนำเชียร์กีฬาแทบทุกประเภท



 


“เริ่มต้นตั้งแต่สมัยเด็กๆ พี่คิดว่าหลายๆ ท่าน อาจจะเคยผ่านมา ทุกๆ โรงเรียนต้องมีกีฬาสีของตัวเองแน่นอน แล้วพี่ก็จะเป็นหนึ่งในกองกีฬาสี เป็นleaderเป็นผู้นำของแต่ละสี แล้วในการแข่งขัน เราก็จะได้ที่หนึ่งตลอด

เราจะมีการเชียร์ แล้วก็แต่งตัวแปลกๆ เป็นเอนเตอร์เทนมากกว่า เพราะเพลงเชียร์ส่วนมากก็ทั่วๆ ไป ทุกสีจะร้องเหมือนกันหมด แต่มากินกันคือในด้านชุดเชียร์ กับการเอนเตอร์เทน ให้ทุกคนมีส่วนร่วม

นอกจากเป็นแม่สีของแต่ละสี เราก็จะมาเป็นนักกีฬาของโรงเรียน ชอบเล่นฟุตบอล ก็จะมีวอลเลย์บอล ตะกร้อ กีฬาของผู้ชายสมัยก่อน ก็จะเป็นการเอนเตอร์เทน ตั้งแต่เด็กๆ มาแล้ว จนมาถึงประถม มามัธยม จนได้มาเรียนที่มหา’ลัย ก็จะมีกิจกรรม ก็จะเป็นผู้นำเชียร์”


อย่างที่บอกไปว่า ความฝันของเขาตั้งแต่เด็กๆ คือ การได้เป็นนักกีฬาวอลเลย์บอลทีมชาติไทย เริ่มฝึกฝน พร้อมไต่เต้าตัวเองมาเรื่อยๆ เริ่มจากนักกีฬาทีมโรงเรียน ขึ้นมาเป็นนักกีฬาระดับตำบล ระดับอำเภอ จนมาถึงระดับจังหวัด แต่ในเมื่อความฝันที่พยายามทำมา ไม่สำเร็จ เขาก็ยอมรับได้ เพราะเชื่อว่า มีคนเก่งกว่าเขาอีกตั้งเยอะ

“คือความหวังเราที่ต้องการธงไตรรงค์ติดหน้าอก หวังอยากจะติดทีมชาติ คือเข้ามา เรานึกว่าเราเก่ง เก่งในพื้นที่เรา แต่พอยิ่งโตขึ้น ยิ่งกว้างขึ้น แน่นอนย่อมมียอดขุนพล ทุกคนต้องมีความเก่งกล้าเข้ามา เราก็โอเค ไม่เป็นไร เราอาจจะสู้เขาไม่ได้ ก็คิดว่าเราเก่งแล้ว แต่เราต้องบอกว่าต้องมีคนเก่งกว่าเรา จงคิดข้อนี้ไว้ อย่าคิดว่าตัวเองเก่ง ต้องมีคนเก่งกว่าเรา เพราะฉะนั้นก็ยอมรับได้”

แม้จะไม่ได้เป็นหนึ่งในนักกีฬาทีมชาติ แต่เขาก็พาตัวเอง เข้าไปอยู่ในวงโคจรของวงการกีฬา ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปอาสาเก็บบอลให้กับทีมชาติ ระหว่างที่ซ้อม ได้เห็นทีมชาติที่เป็นไอดอล แค่นั้นก็ความสุขแล้ว

“เราก็จะไปถูพื้น ไปเก็บบอลไป รายได้จากการถูพื้น ได้คู่วันละ 50 บาท จนมาถึงกีฬาเอเชียนเกมส์บ้านเรา ครั้งที่13ตอนนั้นไทยได้เป็นเจ้าภาพ ก็มาที่สนามอินดอร์ สเตเดียม พี่ก็ได้รับตำแหน่งเป็นคนถูพื้น น่าจะประมาณ 30 ปีได้ เวลาใครล้มปั๊บ เราก็ไปถูกพื้น พอไทยแลนด์ได้ เราก็เฮด้วย เขาก็ฮาไปด้วย คนก็จะปรบมือให้ เหมือนดูโชว์ถูพื้น แล้วก็มีลีลาแบบที่ไม่เหมือนใคร

ก็ดิ้นรนด้วยตัวเองนี่แหละ ความใฝ่ฝันตอนแรกอยากเรียนนะ สมัยเด็กก็อยากเป็นปลัด อยากรับราชการ สมัยก่อน ตอนยังอยู่ช่วงมัธยมต้นๆ เห็นความเท่ พอโตขึ้นหน่อย มันก็เปลี่ยนไป จนมาเล่นกีฬา ก็อยากมาเป็นนักกีฬาทีมชาติ เราก็ได้ซ้อมกับทีมชาติแล้ว ถือว่าได้คลุกคลีแล้ว”


อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้เขา ผันตัวเองมาเป็นกองเชียร์แบบเต็มตัว เพราะพอได้ไปเห็น หลายๆ ทัวร์นาเมนต์ นักกีฬาแต่ละคน เวลาแข่งขัน บางคนไม่มีผู้ชม ไม่มีกองเชียร์ นักกีฬาก็จะดูกันเอง แม้กระทั่งทุกวันนี้กีฬาอันไหน ที่ไม่ใช่กีฬายอดฮิต ถึงแม้จะเป็นการแข่งแมตช์ระดับโลก ก็จะมีแค่นักกีฬาชมกันเอง

นอกจากจะเป็นกองเชียร์คนสำคัญแล้ว เขายังทำอาชีพเป็นนักแสดงตลก ในละครจักรๆ วงศ์ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “เทพสามฤดู”, “อุทัยเทวี”

“จากนั้นก็ไปเป็นนักแสดงหารายได้เลี้ยงตัวเอง เป็นตัวประกอบ เราคิดว่าเราเป็นคนมีความสามารถนะ ในการแสดงออก ไปจับไมค์ เป็นนักร้องของราม ไปเป็นตัวเอนเตอร์เทน จากเป็นตัวประกอบ ก็เก็บตังค์ จนมีโอกาสได้ไปเชียร์แต่ในประเทศ คือระดับชาติมาแข่งเราจะไปเชียร์หมด รวมถึงคนพิการ

จนปี 2000 ก็ได้รับเกียรติ ตอนนั้นทางโอลิมปิก เขาจะจัดพวกศิลปินดาราอะไรพวกนี้ ไปที่ซิดนีย์ แล้วเราก็ได้ติดในขบวนนั้นไปดู ไปแค่ได้ดู ไปสำรวจสนาม ถือว่าเป็นสัมผัสครั้งแรก ของโอลิมปิกเลย ปี 2000ที่ซิดนีย์ครับ แค่ได้สัมผัส แต่ยังไม่ได้เข้าไปเชียร์ได้เต็มที่

แล้วก็กลับมาปี 2001ก็จะเป็นกีฬาซีเกมส์ ที่มาเลเซีย ตอนนั้นที่กัวลาลัมเปอร์ พี่อยากจะไป พี่ก็เข้าไปขอร้องผู้ใหญ่เลยว่าไปขอพี่ๆ นักข่าวช่วยผมหน่อยครับ ผมอยากจะไปเชียร์ ขอให้ผมได้ไป ขอแค่ AD CARDได้ห้อยคอหน่อยได้ไหม เพื่อที่จะได้เดินทาง ก็หาตังค์เอง ตอนนั้นมีเก็บ ก็เลยคิดว่ามาเลเซียไม่ไกล ก็บินไป สมัยก่อนเป็นกองเชียร์อุปกรณ์มาก มีทั้งกลอง ทั้งแคนไปตี ก็ไปให้กำลังใจ ไปนั่งร้องเพลง”


จุดพลิกผันในชีวิตอีกอย่าง ที่ทำให้เขาโด่งดัง เป็นที่รู้จัก ก็คือจากโฆษณา ปตท.ชุด “มนุษย์ตะกั่ว” ที่มีภาพจำ ด้วยการโกนหัวโล้น ทาตัวดำ โด่งดังจนได้รับรางวัล และเดินสายโชว์ตัว ตามคาเฟ่

“สมัยก่อนเอเชียนเกมส์ ก็ใส่ชุดตะกั่วไปเชียร์นะ คนมาขอถ่ายรูปเยอะ เหมือนเราตอนที่ใส่ชุดไทย ถ้าเรามองว่าเราเป็นตะกั่วอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะตะกั่วเป็นตัวที่เขาสร้างขึ้นมาให้เราเฉยๆ ไม่นานคนก็จะลืมไป

เราต้องสร้างดักแด้ขึ้นมาให้ได้ เป็นตัวเราด้วย ให้มันควบคู่กันไป จนคนลืมภาพเป็นตะกั่ว จนเหลือแค่ความเป็นดักแด้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย”


ปารีสอวยยศ ยกเหรียญทองให้

อย่างที่เกริ่นไปว่า เจ้าภาพโอลิมปิก2024อย่างปารีส ออกมาชื่นชม อยากมอบเหรียญทองให้ ในฐานะแรงเชียร์สำคัญ จนถึงขั้นออกมาโพสต์คลิปลีลาการเชียร์นักกีฬาของท้าวดักแด้ ผ่านX “@Paris2024” พร้อมกับเขียนแคปชั่นไว้ว่า “Gold medal for him #Paris2024”

โพสต์นั้น เรียกเสียงฮือฮาในโซเชียลฯ เป็นอย่างมาก มีคนเข้าไปคอมเมนต์ชื่นชมต่อๆ กัน อย่างล้นหลาม โดยเฉพาะคนไทยเอง ซึ่งเจ้าตัวเอง ก็บอกว่า เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจ ในฐานะกองเชียร์

“เราไปเชียร์ปารีสเกมส์2024ได้รับคำชื่นชมจากทวิตเตอร์ หรือจากเพจของปารีส2024เขาเขียนว่า คือเหรียญทองนี้ น่าจะเป็นของเขาด้วย คนก็จะบอกว่ายกเหรียญทองให้เรานะ

ก็เป็นความภูมิใจ ตอนแรกเราไม่รู้ มีคนบอกพี่แด้ดัง มีคนชื่นชม เพราะว่าเขาเห็นเราไปเชียร์ตลอด เชียร์ตั้งแต่โอลิมปิก จนมาถึงพาราลิมปิก ก็ไปแทบทุกสนาม เขาก็มาสัมภาษณ์ ทำไมคนนี้ เวลาเดินไปไหน ทำไมต้องมาขอถ่ายรูป จนมาเห็นเราทำดี เฮ้ย..น่าจะได้เหรียญทองด้วย เขาก็เลยยกย่องให้ เป็นคำที่ชื่นชม

เท่าที่รู้ สื่อต่างประเทศ โดยเฉพาะฝรั่งเศส การที่จะยกย่องใครคนนึง ในการขึ้นหน้าเพจ ขึ้นอะไรก็ตามของเขา ต้องเป็นคนที่สำคัญ เราต้องเป็นคนที่มีคุณค่าในเกมนั้นๆ ของประเทศนะ เขาถึงจะให้ขึ้นไปอยู่ในเพจของเขาได้”


เสียงชื่นชม ไม่ใช่แค่จะเพิ่งมี แต่เขาบอกว่า มีมาตลอด ตั้งแต่เริ่มเป็นกองเชียร์ เมื่อปี 2000 และแม้ว่าจะมีเสียงชื่นชมจากหลายต่อหลายสื่อ เขาก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนดัง แค่อยากเป็นหนึ่งแรงเชียร์ทีมชาติไทยแบบนี้ไปเรื่อยๆ

แถมในตอนที่เจ้าภาพอย่างปารีสชื่นชม เขาก็ยังบอกอีกว่า ไม่รู้เรื่อง เพราะตอนนั้นไม่ได้เล่นโซเชียลฯ มัวแต่ไปโฟกัสโปรแกรมในแต่ละวันว่า พรุ่งนี้จะวางแผนไปเชียร์ใครบ้าง

“ตั้งแต่เราเชียร์มา ก็จะมีการชื่นชมนะ แต่ละสื่อต่างประเทศ แต่จะไม่มีเพจอย่างทุกวันนี้ ก็จะชื่นชมในแต่ละประเทศนะ แต่ว่าอาจจะไม่ได้ดังเท่าครั้งนี้ เพราะครั้งนี้เป็นการที่ได้รับความนิยมมากกว่า อาจจะเป็นยุคที่โซเชียลฯ ซึ่งแค่ประเด็นหนึ่ง ที่เขายกย่องเรา

หลังจากไปห้องนักกีฬา พี่น้องนักกีฬาก็บอกว่า เขาเอารูปพี่ขึ้นเต็มเลยนะ ในโซเชียลฯ พี่ดูยังข่าว ช่องดังของฝรั่งเศสออกข่าวพี่ จนน้องๆ เพื่อนๆ ในประเทศ บอกพี่ว่าดังแล้ว อ้าว..ไม่รู้เรื่อง เพราะความดังสำหรับตัวเรา เรามองว่าปกติธรรมดา เราไม่ได้คิดว่าเราดัง คือเราอยู่แบบนี้ตลอด ความดังเป็นยังไงเราไม่รู้”

เขายังเล่าถึงความภูมิใจให้ฟังอีกว่า เมื่อก่อนในยุคหนังสือพิมพ์ ก็จะขึ้นรูปของท้าวดักแด้ ขึ้นหน้าหนึ่งหน้ากีฬาตลอด ทุกทัวร์นาเมนต์ที่ใหญ่ๆ โดยเฉพาะกีฬาโอลิมปิกเลย ไล่ไปตั้ง

“พี่ไปตั้งแต่ปี 2000 พูดง่ายๆ ปี 2004ที่เอเธนส์มันก็มีรูป แต่มันหาไม่เจอแล้ว แล้วก็มา2008ที่ปักกิ่ง ก็มีรูป มีรูปขึ้นหนังสือพิมพ์ของโอลิมปิก มีตลอด มี 2012ที่ลอนดอนก็มีรูป ริโอก็มีรูป 2016 ยกเว้น 2020 ที่โตเกียว ไม่ได้ไป เพราะยุคโควิด แล้วเขาห้ามคนไปเชียร์ มีแต่นักกีฬาไปเล่น”


เรียกได้ว่าฮอตขนาดที่ มีแฟนคลับมาเข้าคิวรอถ่ายรูปเป็นแถวยาว จนเวลาไปเชียร์แต่ละครั้ง เขาต้องเผื่อเวลาไปถึงก่อน1ชั่วโมง เพื่อให้แฟนๆ ได้ถ่ายรูปคู่กัน

“การที่คนมาขอถ่ายรูป พี่ต้องไปก่อน บางทีบอลจะแข่ง ไม่ทัน ต้องไปก่อน แข่งเสร็จถ้าไม่ออกก่อน ก็ต้องรอคนเลิก เราเห็นว่าต่างชาติมาขอถ่ายรูป บางทีเขามาเข้าคิว บางทีมีเด็กมา ต้องรีบไปอีกที่หนึ่ง แล้วเราจะไม่ให้ถ่ายได้ยังไง เวลาไปต่างประเทศ จะมีคนมาขอถ่ายรูปเยอะ เหมือนเป็นการทำพีอาร์ประเทศไทย นี่เป็นส่วนหนึ่งเลย ที่นำประเทศไทยไปให้คนรู้จัก”

เขายังใช้โอกาสนี้ ใช้ตัวเองแนะนำประเทศไทย ผ่านชุดที่ใส่ ให้เป็นที่รู้จัก พร้อมกับการฝากคำว่า “สวัสดี”ให้กับแฟนๆ ที่มารอขอถ่ายรูป ให้ได้พูดกัน

“คุณจะถ่ายรูปกับเราใช่ไหม โอเค แต่คุณต้องพูดคำว่าสวัสดีนะ เขาก็จะบอกว่าสวัสดีครับ สวัสดีค่ะ ก็คือแค่นี้ เป็นการแค่ฝากคำแค่นี้ ให้เขาถ่ายรูป

อย่างทางอาหรับ การที่เราไปถ่ายรูปเขาเนี่ยไม่ได้ เขาใส่ผ้า ใส่อะไรป้องกัน แต่เขามาถ่ายรูปกับเราได้ แต่เราขอถ่ายรูปกับเขาด้วยได้ไหม เขาก็ให้ เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่ามากกว่า เราไปเป็นมิตรภาพกับทุกคน

อย่างคนพิการมาขอถ่ายรูป เราก็ต้องไปนั่งโอบเขา ไปกอดเขา คือให้ความสำคัญ คือเขาก็มีน้ำตาไหล คือต่างชาติ จะเห็นว่า การแสดงออกนิดๆ คือความเป็นไทยของเรา ประทับใจในจุดนี้”


ลำบากก็ไป เพราะใจรักทีมชาติ

ก่อนที่ยังไม่มีชื่อเสียง เขายอมรับว่า ลำบากมาก แต่ด้วยความที่ชื่นชอบในกีฬามาตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว ก็ดิ้นรนหาเงินไปเชียร์ทีมชาติไทยให้ได้ เก็บหอมรอมริบ จากการเล่นละคร

ช่วงแรกที่ต้องออกเงินเอง เงินไม่มีก็ต้องขายรถ เอาของไปจำนำ อะไรที่ประหยัดได้ก็ประหยัด บางครั้งไปนอนในวัดไทยในต่างประเทศ นอนที่บ้านคนไทยบ้าง ร้านอาหารไทยบ้าง หรือไปขอนอนกับนักข่าวบ้าง หรือแม้กระทั่งไปอาศัยนอนในตู้เสื้อผ้า ก็เคยทำมาแล้ว

“ก็เก็บเงิน จนบางทีเงินไม่มี ปุ๊บเอารถไปจำนำ เพราะเราคิดว่าเฮ้ย..เอาไปให้ได้ก่อน กลับมาค่อยมาเล่นละคร คิดว่าตอนนั้นมีละครติดต่อเข้ามาอยู่แล้ว รู้ว่ามีรายได้จะมาจากทางไหน กลับมาก็มีการโชว์ตัว หรือบางที ผู้ใหญ่เขาก็ให้ตังค์กินข้าว เราก็เก็บไว้

ครั้งแรกที่ไป ก็จะไปเกาหลีใต้ กีฬาเอเชียนเกมส์ ไปนอนในตู้เสื้อผ้า ทีแรกก็ไปอาศัยไปนอนกับนักกีฬา พอหลังๆ นักกีฬาได้เข้าหมู่บ้านนักกีฬาแล้ว จะเข้าไปยากแล้ว ไปนอนด้วยไม่ได้ ก็จะไปหาพี่ๆ นักข่าวๆ สื่อกีฬาก็สนิทกัน พี่ผมไม่มีที่นอน ก็มาอาศัยนอนห้องนักข่าว

มันจะมีที่ว่างที่เดียว ก็คือตู้เสื้อผ้า เราก็ทำยังไงได้ ก็ไปหาลังกระดาษมาปู เสื้อผ้าจะเป็นสองชั้น ก็แขวนไว้ข้างบน กระเป๋าวาง แล้วก็หัวมุดเข้าไป นอนแบบเอี๊ยวๆ เหมือนกุ้ง ขาโผล่มาทางห้องน้ำ ก็ไปอาศัยนอน

เขาก็อยู่กัน 2 คน แต่ว่าห้องมันเล็ก ในห้องก็จะมีอุปกรณ์เยอะ มีกล้อง อุปกรณ์เสื้อผ้า อุปกรณ์ตัดต่อ คอมพิวเตอร์ คือถ้าเอาไปไว้ในตู้เสื้อผ้า ตรงนั้นมันเยอะแล้ว ไม่รู้จะเอาไง เราเลือกที่จะนอนตรงตู้เสื้อผ้ามากกว่า เพราะสะดวกตื่นเช้ามาก็อาบน้ำแต่งตัว ก็ออกสนามแล้ว ตอนเย็นก็ค่อยกลับ

เราไม่ได้ไปเชียร์กีฬาชนิดเดียว เราจะเริ่มตั้งแต่เช้าๆ จนถึงเย็น จนกว่าจะเลิก เพราะเราไปตั้งแต่รายการกีฬาแรก จนในกีฬาสุดท้าย เพราะฉะนั้นต้องอยู่ในสนามตลอด มันมีกี่ชนิด เราต้องไปเกือบไปหมด”


การไปเชียร์แต่ละครั้งของเขา ดูเหมือนจะลำบากอยู่พอสมควร แต่ถึงจะลำบากแค่ไหน ท้าวดักแด้ก็ยืนยัน ที่จะเชียร์ต่อไป

สำหรับคนที่มองว่ากองเชียร์ เป็นธุรกิจ เขาก็บอกว่า ขอให้มองเป็นการช่วยเหลือมากกว่า เป็นการที่เอาเงินมาช่วยเหลือ เพื่อที่จะได้เราเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปเชียร์ เพราะว่าในการแข่งขันปีนึงๆ ไม่ได้มีแค่หนึ่งเกมส์ มีเป็น 20 เกมส์ ซึ่งเราอาจจะได้เงินแค่ 1-3 รายการ ที่เหลือต้องออกเอง

“ในการเดินทางมาเชียร์ ที่เห็นไปเชียร์แต่ละครั้ง อยากให้รู้ว่าก่อนที่จะไป มันลำบากนะ เพียงแต่ว่าเขาไม่มองเห็นในจุดที่เราผ่านมา ก่อนที่จะไป ต้องไปหาเงิน ต้องไปขอคนโน้นคนนี้ กว่าจะได้ไป

พี่มองว่า ถ้าคุณไม่มาเป็นกองเชียร์ตรงนี้ คุณจะไม่รู้ ว่าการไปแต่ละครั้ง มันเป็นยังไง แต่ละครั้งลำบาก ถ้าเราจะใช้เงินตลอด จะเอาเงินจากไหน การที่เราไปขอสปอนเซอร์ ก็ขอได้แค่เป็นทัวร์นาเมนต์ไป แต่อย่าลืมว่าในการแข่งขัน แต่ละปีมันมีเยอะมาก

อย่างเราได้สปอนเซอร์แค่รายการนี้ สมมติว่ามีการแข่งขันทั้งปี 10 รายการ เราอาจจะได้มาแค่ 1หรือ 2 รายการ อีก 8-9 รายการล่ะ บางทีเราก็ควักตังค์เอง เพราะเราต้องไปทีเกือบ 10 รายการ พวกคุณไปแค่รายการเดียว แล้วก็หนีกลับ อีก 9 รายการคือไม่ไป

แล้วค่าใช้จ่าย ถ้าคุณไม่มาสัมผัส จะไม่รู้เลย อย่างคนพิการ เขาเคยไปเชียร์ไหม นักกีฬาคนพิการไม่เคยไปเชียร์เลย เราทำจริงจัง เราทำจริงใจ คือไปหมดทุกกีฬา เพราะฉะนั้นทุกกีฬาทุกชนิด ต้องเห็นพี่หมด ไม่ว่าจะคนปกติ หรือคนพิการ”


จากนั้น พอเริ่มเป็นที่รู้จัก ก็มีผู้ใหญ่ใจดีให้การสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายบ้าง มีการขอสปอนเซอร์บ้าง บวกกับเงินตัวเองที่หามาได้บ้าง ดิ้นรนไปชมให้ได้ แทบจะทุกแมตช์การแข่งขัน

“เราเป็นคนเอาแค่พออยู่ได้ ขอให้ไปให้ได้ อยากไปทัวร์นาเมนต์นี้ สมมติค่าใช้จ่าย5หมื่น ขอสักหมื่นสองหมื่น ที่เหลือก็ไปหาเอาเอง เพราะถ้าจะไปเอา5หมื่นเลย เขาก็ให้ได้นะ แต่เราต้องพอประมาณ ทัวร์นาเมนต์ในประเทศไทย มันไม่ได้มีแค่อันเดียว กีฬามีแข่งตลอด

ก็เริ่มจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ปี 2001 ไปตลอด ไปทุกกีฬา ทั้งคนปกติ และคนพิการ จนเราได้รับความอนุเคราะห์จากผู้ใหญ่ ในวงการกีฬาของคนพิการ ให้มาช่วยงาน มาช่วยดูแลคนพิการในด้านกิจกรรมต่างๆ ของคนพิการแทบทั้งหมด แทบทุกชนิดเลย เราก็จะไปช่วยกิจกรรมตลอด”


ชุดพร้อม เชียร์มัน เน้นผูกมิตร

เอกลักษณ์สำคัญที่คนจดจำ กองเชียร์ตัวตึงคนนี้ คือเรื่องชุด ที่มีจุดเด่นในความเป็นไทย ซึ่งเขาบอกว่า ให้ความสำคัญอย่างมาก ในเรื่องของชุด ตามมาด้วยเรื่องความเอนเตอร์เทนที่เน้นสนุก

“หนึ่งคือการแต่งตัว การเอนเตอร์เทน ตั้งแต่แรกๆ การแต่งตัวเชียร์ของพี่ พยายามจะหาชุด จะทำยังไง ให้มีความเป็นไทย พี่ก็ใส่ชุดไทย ยุคก่อนๆ ยังไม่รู้การแต่งหน้า พี่จะเอาสีเมจิก สีน้ำเงินกับสีแดง แล้วก็ติดกอเอี๊ยะ ตัดผมให้เป็นทรงมหาดไทย เป็นนักรบ

แล้วเสื้อผ้า ตอนนั้นยังไม่มีเงินตัดเสื้อผ้า จนวันนั้นเอาผ้าถุงไปตัด เริ่มจากใส่ผ้าถุงที่สำเร็จรูป มาตัดเย็บ เอาหัวโผล่ออกมา แล้วก็กางแขนออก แล้วก็ทำเป็นยอยๆ ลงมา ให้เหมือนกับเราใส่ผ้าถุง

จนเรามาดัดแปลงตัดเสื้อผ้าเป็นชุดไทย ลายนั้นลายนี้ ค่อยหาชฎามาสวมใส่ หาหมวกมาสวมใส่ ก็จะแต่งตัวแบบนั้นมาตลอด
ไม่ได้ตัดเอง พี่เอาผ้าไปให้เขาตัด หรือบางทีเราเจอผ้าสวย ซื้อไปให้ร้านค้าตัด เราดีไซน์ได้เอง เพราะการออกแบบเอง มันจะเป็นการดีไซน์ที่ไม่ซ้ำใคร ว่าต้องการเป็นลายไหน จะได้มีสีสัน เป็นเอกลักษณ์เราได้ สามารถที่จะเสริมแต่ง

ตอนนี้พี่มีชุดไทย แทบจะทุกสี อย่างเสื้อผ้า ไปค้นที่บ้าน ซื้อไปน่าจะเป็นหลายหมื่น เกือบเป็นแสนแล้วเสื้อ โดยเฉพาะเห็นใน Shopee Lazada ลายไทยอันไหนสวย ซื้อไว้ก่อน ตอนนี้น่าจะไม่ต่ำกว่า 30 ตัว เพราะพี่ซื้อตลอด ก็คือไปเชียร์ตลอดเลย ไม่ว่าจะไปงานไหน คือต้องเป็นชุดไทย

อันนี้เรียกว่าชุดอะไร เราจะได้รับคำถามแบบนี้ แทบจะทุกทัวร์นาเมนต์ ที่ประเทศนั้นๆ ได้ถาม ก็จะบอกว่าเป็นชุดไทย เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย นี่คือคอสตูมของไทยแลนด์”


การเชียร์สไตล์พี่ดักแด้ ก็เน้นเชียร์แบบผูกมิตรภาพ ถ้าเป็นไปได้ เขาจะเข้าไปสวัสดีทุกคน หลายครั้งเราไม่รู้ว่า ผลการแข่งขันจะออกมาเป็นยังไง ไม่ว่าทีมที่เราเชียร์จะแพ้ หรือชนะ ก็ทำตัวให้เป็นมิตรภาพที่ดี ไม่ใช่เชียร์เพื่อที่จะเอาเป็นเอาตาย

“ความเป็นตัวตนของเรา ความเป็นไทย แล้วก็ความนอบน้อม ความเป็นมิตรไมตรีมากกว่า ไปแข่งต่างประเทศ เราไม่ได้ไปเพื่อเป็นศัตรู เราไปเพื่อเป็นมิตร ไปหามวลชน ไปหาทุกคน ยกมือสวัสดีครับ

อย่างเวลาเขายิงเข้าประตู เราจะเดินไปจับมือกับฝ่ายตรงข้าม ดีใจด้วยนะ สู้กันแค่ในเกมส์แข่ง แต่ว่าแน่นอนในการแข่งขันแต่ละเกมส์กีฬา โดยเฉพาะฟุตบอลจะมีหลายกลุ่ม หลายเผ่าพันธุ์ แน่นอนการเชียร์จะไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนรู้ว่าไปเชียร์เพื่อทีมชาติไทย ทุกคนก็อยากให้ประเทศตัวเองชนะ แต่อย่าลืมว่า กีฬามันย่อมมีแพ้ มีชนะ

แต่ว่าถามว่าเราต้องการชนะไหม ต้องการชนะแน่นอน แต่ต้องเป็นผู้ชมที่ดี เป็นกองเชียร์ที่ดี เมื่อกีฬาชนะ เราก็ให้กำลังใจ คือชื่นชม แต่ว่าเมื่อนักกีฬาแพ้ เราก็ยิ่งให้กำลังใจ ต้องปลอบเขา อย่าไปทับถม อย่าไปให้ร้าย ไม่เป็นไร ทุกคนต้องสู้ไป เอาใหม่ ให้กำลังใจต่อ

สิ่งที่สำคัญคือการนำประเทศไทย ไปให้คุณรู้จักว่า where you come from นี่คือไทยแลนด์ นี่คือชุดไทย นี่คือความเป็นไทย พี่ไปในนามของประเทศไทย ไปในนามคนทั้งชาติ”


การเชียร์แบบผูกมิตรตามสไตล์พี่ดักแด้ นอกจากจะได้เพื่อนต่างชาติแล้ว เขายังสามารถชักชวนให้ต่างชาติ มาร่วมเชียร์คนไทยได้อีกด้วย

“ยิ่งการไปแต่ละครั้ง บางทีเราไม่ต้องขนคนมาเยอะ แต่เราจะทำยังไงทำให้คนมาเชียร์เราได้ ชาวต่างชาติ คนไทยอยู่ในสนามนั้น ตอนที่ไม่มีไทยแข่ง เราก็ช่วยเขาเชียร์ เวลาประเทศนั้นแข่ง เราก็เชียร์ด้วย พอไทยแข่งอาจจะมาได้แค่10คน หรือ2-3คน ก็ภูมิใจแล้ว แค่นี้มาช่วยกันเชียร์”

และยิ่งทำให้ท้าวดักแด้ กองเชียร์ทีมชาติไทยคนนี้ เป็นที่โดดเด่นในสนาม เพราะเขาบอกว่า ไม่ค่อยมีใครแต่งตัวจัดเต็ม มาเชียร์แบบประเทศไทย ประเทศอื่นเขาอาจจะมีแค่แต่งชุดธรรมดา แล้วก็มีบางคนเพ้นท์หน้า แล้วก็มีถือธงประเทศเขาแค่นั้น และก็ไม่ได้ไปแทบทุกสนามแบบพี่ดักแด้

“อย่างเวียดนามก็จะแต่งใส่เขาควาย จะเจอเขาในสนามฟุตบอล แต่ไม่ได้ไปทุกสนาม ก็จะเจอกันบ่อย จำชื่อไม่ได้ อย่างคนพิการก็ไม่เห็นแล้ว พี่ถึงบอกว่าเขาไม่ได้ไปตลอด ไม่ได้ไปจริงจังเหมือนเรา ของมาเลเซียก็จะมี บางทีเขาใส่ชุดเหมือนเสือเหลือง สิงคโปร์ก็มี”






เปลี่ยนคำดูถูก เป็นแรงผลัก จนคนยอมรับ

การแต่งตัวชุดไทย แหวกแนวที่ไม่เหมือนใครไปเชียร์กีฬา ทาหน้าด้วยสีธงชาติไทย เป็นเอกลักษณ์ที่คนจดจำ แต่แน่นอนเริ่มแรก การแต่งตัวอย่างนี้ เขาเคยถูกมองว่าบ้า แต่เขาก็เก็บคำพูดเหล่านั้น มาเป็นแรงผลักดัน ให้ตัวเองเป็นกองเชียร์ที่ดี จนทำให้คนที่เคยว่า สามารถยอมรับ และชื่นชมในที่สุด

“มีเหมือนกันสมัยก่อน บ้าหรือเปล่า แต่งตัวไปไหน เว่อร์หรือเปล่า แต่คนที่มองเราเป็นคนบ้า กลายเป็นคำเยินยอ กลายเป็นคำยกย่อง เป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้คนจดจำเราได้ สร้างยาก ก็ใช้เวลาหลายปี พี่ก็ทำของพี่มาตลอด จนมาเจอเขาอีกที 3-4 ปี จากที่ผมเคยว่าพี่ พี่แม่งโคตรบ้า พี่แม่งโคตรเจ๋งเลย พี่เป็นไอดอลผม จากที่โดนว่ากลับกลายเป็นชื่นชม

เราตั้งใจในจุดนี้แล้ว พี่จะอยู่ในวัด ในสายธรรมะอยู่ตลอด ถ้าเราเป็นสายกลาง นำแต่สิ่งดีๆ มาสู่ชีวิตเรา อันไหนเป็นสิ่งดีเราเก็บไว้ อันนี้เป็นสิ่งไม่ดี เราก็เก็บมาแก้ไข แต่อย่าเอามาใส่ใจให้มันมาก ถ้าเราไปหมกมุ่นกับสิ่งที่ไม่ดี มันจะทำให้จิตใจเรา ทำงานไม่สำเร็จ จะเกิดความท้อ”


เปลี่ยนคำดูถูก เป็นแรงผลัก ที่สำคัญอยากให้คนนับถือ ต้องเป็นกองเชียร์ที่ใจเย็น ไม่หัวร้อน ไม่ตอบโต้แบบรุนแรง ทั้งในสนามเชียร์ และในโซเชียลฯ

“เปลี่ยนจากคำดูถูก ให้มองว่า เขาให้กำลังใจดีกว่า คำเดียวที่เขาไม่ชื่นชอบเรา แค่คนเดียว พี่จะให้ความสำคัญมาก เพราะพี่จะได้นำมาแก้ไข ทำยังไงเราถึงจะได้เต็มร้อย เราจะต้องค่อยๆ ปรับปรุง แต่คนที่ชื่นชอบเราโอเค ไม่เป็นไร เพราะเราคุยกันได้ เป็นพวกเราแล้ว แต่จะทำยังไง เราจะถึงเอาแค่คนนี้ เอามาเป็นพวกเราให้ได้

คือเราไม่ตอบโต้ เราไม่โต้แย้ง รับไว้ เราก็ต้องเอามาพิจารณาว่า ทำยังไงถึงจะได้ ในส่วนตรงนั้นมาเป็นของเรา ถ้าเราไปโมโหปุ๊บ ทีนี้มันจะกลายเป็นกระทบกระทั่ง

เหมือนกันกับการแข่งขันกีฬา กองเชียร์ทำหน้าที่เชียร์ไปในขอบสนาม หน้าที่คุณคือเชียร์ให้กำลังใจนักกีฬา ส่วนในสนาม ปล่อยหน้าที่ให้นักกีฬา เวลาเขาเตะแข่งเตะขา หรือมีปะทะ ต่อยกัน กรรมการเขาตัดสินอยู่แล้ว เขาอยู่ในเกมส์ของเขา ถ้ากองเชียร์ หรือผู้ชมเข้าไปยุ่ง จากน้ำหยดเดียว มันจะกลายเป็นลามแล้วทีนี้ ทะเลาะกันก็เพราะจากจุดนี้

ต้องมีความใจเย็น มีความให้เกียรติเขา เราไม่โต้ เพราะฉะนั้นเราเดินเป็นสายกลาง ทำใจสบาย ไม่เป็นไร อันไหนไม่ดีคือเก็บไว้ ให้มันเป็นผ่านๆ ไป”


และสิ่งหนึ่งที่ถึงแม้ใครจะว่าเขาบ้า เขาก็ไม่สน แต่ที่เขาสนมากกว่าคือ การที่นักกีฬาไม่มีกองเชียร์ไปให้กำลังมากกว่า

“นึกดูนักกีฬาวิ่งวีลแชร์ เวลาเขาวิ่งอยู่ ไม่มีคนชม มีแต่เราไปตีกลอง ร้องเพลงง่ายๆ คนเดียว คนเขาอาจจะบอกว่า ไอ้นี่บ้า แต่เรามองว่าไปให้กำลังใจ

คนไม่อยากไปดู เพราะว่าเกิดความสงสาร พี่ก็จะบอกว่า นักกีฬาไม่ต้องการความสงสาร เขาต้องการให้ไปดู เพื่อให้กำลังใจ ขอให้คุณไปดู มีคนดู เขาก็มีกำลังใจแล้ว ไม่ต้องไปสงสารเขาหรอก เพราะว่าเขาดิ้นรนมาเยอะแล้ว จนเป็นทีมชาติ เขาผ่านอุปสรรคอะไรมามากมาย เขาต้องการกำลังใจ”


เทนนิส-วิว-ภราดร เข้ามาขอบคุณ

เขายังเล่าถึง โมเมนต์สุดประทับใจ ระหว่างนักกีฬา หลังจบการแข่งขัน มีนักกีฬาหลายๆ คน เข้ามาขอบคุณ ที่เสียงเชียร์ของเขา กลายเป็นแรงเชียร์สำคัญ ทำให้นักกีฬาเหล่านั้น มีกำลังใจฮึดสู้คู่แข่ง

“หลายๆ คนที่ได้เหรียญทอง อย่างน้อง ‘เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ’หรือ ‘วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์’ คนที่เป็นไอดอลในประเทศไทยที่ดังๆ เราไปสัมผัสมาหมด
 
 



 
 

 
 อย่างน้องเทนนิส ไปก็เชียร์ตั้งแต่เขายังไม่ได้เหรียญ เห็นตัวเล็กๆ เขามีการต่อสู้ หน่วยก้านดี แล้วก็มีความประทับใจ แข่งเสร็จ เขาก็จะมาขอบคุณ แล้วยิ่งมีความผูกพันกับคุณพ่อ สมัยก่อนที่ไปบราซิลเนี่ย ไปครั้งแรก ไปเจอพ่อ พ่อบอกมาช่วยกันเชียร์ ก็ไปร่วมเชียร์กับคุณพ่อ ก็เลยมีความผูกพันมาตลอด

คุณพ่อเวลาไปต่างประเทศ ฝากข้าวมาให้พี่ดักแด้กิน เนี่ยความสุขที่เราได้ จากเป็นมิตรภาพทางน้องเทนนิสกับครอบครัว

สมัยก่อน ‘ภราดร ศรีชาพันธุ์’ เราก็ไปสัมผัสมาแล้ว อย่างภาราดร เขาก็บอก โอ้..พี่ ขอบคุณมาก สมัยภราดรที่ดังๆ เราไปเชียร์ขอบสนาม เขาก็จะเห็นเราอยู่แล้ว แล้วคนที่ไปเชียร์กีฬาเทนนิส เขาจะเชียร์แบบปกติ คือเราก็ไปร้องเชียร์ภาราดร เฮ้ยๆ..”


เขาเล่าโมเมนต์ที่น่าประทับใจให้ฟังอีกว่า ในขณะที่เกมส์กำลังสูสีกัน พอนักกีฬาได้ยินเสียงเชียร์ ก็สามารถทำแต้มไล่ขึ้นมาชนะได้ เพราะฉะนั้น เขาจึงมองว่า นอกจากนักกีฬาแล้ว กองเชียร์ก็สำคัญเช่นเดียวกัน

“คือบางครั้ง เกมส์ที่กำลังสูสีกันอยู่ พอพี่ไปถึงปุ๊บ ก็เชียร์ไทยแลนด์ๆ เราก็ไล่ๆ ขึ้นมาจนชนะ ก็มีหลายทัวร์นาเมนต์เหมือนกัน อันแพ้ก็อาจจะมี ไม่ใช่ว่ามีชนะตลอดนะ แต่หลายๆ ครั้งจะมีชนะ แต้มขึ้นมา

จนเราได้รับความชื่นชมจากผู้ชมในสนาม ซึ่งไม่ใช่คนไทยด้วย ต่างชาติ เนี่ยทีม you ชนะ เพราะ you นะ แล้วนักกีฬาก็มาขอบคุณเรา เราก็บอกไม่เป็นไร เพราะนักกีฬาพวกคุณก็เก่ง

พี่ผมได้ยินเสียงพี่ มันครึกครื้นมาก ขอบคุณนะ เขาก็บอกเรา เราก็เออ..ไม่เป็นไร เราเก่งอยู่แล้ว แต่ว่าถ้าแพ้ปุ๊บ เราลงไปปลอบใจเขา ไม่เป็นไรนะ เพราะพี่จะสัมผัสทุกคนทั้งชนะไม่ชนะ

ก่อนที่เขาจะเดินทางขึ้นรถ ไปแข่งขัน หรือหลังจากจบแมตช์ เขาก็ขอบคุณพี่มากนะ ที่มาช่วย ขอบคุณลุงมากนะ ที่มาช่วยเชียร์ แต่ถ้าอย่างกีฬาถ้าสัมผัสได้อย่างคนพิการ ที่ไปในนามทีมชาติ ก็จะวิ่งเข้ามากอดเหมือนลูกหลาน มันเป็นความผูกพันมากกว่า

ตัวอย่างสมัยก่อน อย่าง ‘สมจิตร จงจอหอ’ ต่อยมวย ตอนไปแข่งที่ปักกิ่ง ตอนนั้นสมจิตรไม่ได้เหรียญคนเดียว นั่งร้องไห้ ไม่มีใครสนใจ เฮ้ย..น้องพี่ให้กำลังใจ พอวันหลังๆ สมจิตรก็ขึ้นมา ก็มาได้เหรียญทองที่ปักกิ่ง จะบอกว่านักกีฬาหลายๆ คนพี่จะเข้าไปหาเลย คนที่พ่ายแพ้ จะให้กำลังใจมากกว่า พี่ถึงมองว่า กองเชียร์มีความสำคัญ”




พร้อมเชียร์ไปจนตาย

แม้จะไม่ได้เป็นนักกีฬาทีมชาติอย่างที่ฝันไว้ ก็ไม่เสียใจ เพราะเขาบอกว่า ยังมีโอกาสเคยได้ซ้อมกับนักกีฬาทีมชาติ แค่นี้ก็ภูมิใจแล้ว พร้อมกับมองว่า การที่มีธงไตรรงค์ติดที่อกข้างซ้าย ในฐานะทีมชาติ ถ้าวันใดที่อายุมากขึ้น หรือวันใดที่ไม่ขยันซ้อม หรือมีเด็กใหม่ๆ ขึ้นมา ทุกคนมีโอกาสที่จะหลุดจากทีมชาติได้ แต่ในทางกลับกัน ถ้าเป็นกองเชียร์ เราจะสามารถเชียร์ได้ไปตลอด

“ถ้าเป็นกองเชียร์ เราจะสามารถเชียร์ได้ไปตลอด จนกว่าชีวิตเราจะหาไม่ หรือจนกว่าที่เราจะไม่ไปเชียร์ ก็คือจะยอมถอยไปเอง พี่จะเชียร์จนกว่าพี่จะหมดแรง จนกว่าไม่มีชีวิต จนกว่าที่เราจะไปไม่ไหวจริงๆ

แล้วการเป็นกองเชียร์ทีมชาติ ไม่ใช่แค่ธงไตรรงค์ติดที่หน้าอก แต่มันติดทั้งตัวเรา ตั้งแต่หน้า ทุกที่ ธงชาติอยู่ไหนก็ได้ ทั้งตัว ทั้งปีก เพราะฉะนั้นการไปเชียร์แต่ละครั้ง พี่ไม่ได้ไปเชียร์แค่กีฬา ไม่ได้ไปเพื่อไปเน้นชัยชนะของกีฬา ชัยชนะก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกัน แต่สิ่งที่สำคัญคือ การที่เรานำวัฒนธรรมไทย ไปโชว์ความเป็นไทยให้คนได้เห็น”


เขาบอกอีกว่า ที่สำคัญ ต้องขอบคุณนักกีฬาทีมชาติไทยทุกคน เพราะถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านั้น ก็ไม่มีกองเชียร์ไทย ที่ชื่อ“ท้าวดักแด้” ในวันนี้

“ถ้าคุณไม่มาเป็นกองเชียร์ ไม่ได้มาสัมผัส ไม่รู้หรอกว่ากองเชียร์มีความสำคัญขนาดไหน อย่าไปมองว่าประเทศเรามีนักกีฬาแค่ฟุตบอล หรือวอลเลย์บอล ยังมีกีฬาของคนพิการอีก มีเป็น 20-30 ชนิด ที่ต้องการให้เราเชียร์

เพราะฉะนั้นทีมชาติทุกคน คือตัวแทนของประเทศไทย ทุกคนที่แข่งขัน ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ทุกคนคือฮีโร่ของประเทศไทย และพี่ต้องขอขอบคุณนักกีฬาทีมชาติไทยทุกคน เพราะว่าถ้าไม่มีนักกีฬาทีมชาติ พี่จะไปเชียร์ใคร

ต้องขอบคุณทุกคนเลย ที่มาเป็นแรงใจให้เราไปเชียร์ทีมชาติไทย กีฬาย่อมมีแพ้มีชนะ แต่ยังไงประเทศไทย เราต้องสร้างให้คนรู้ว่า นี่คือประเทศไทยแลนด์”


นอกจากนี้ เขายังทิ้งท้ายไว้อีกว่า อนาคตอันใกล้ เขาจะทำโครงการ บริจาค 1บาท ร่วมใจ เชียร์ไทย กับท้าวดักแด้ ที่อยากจะขอแรงซัพพอร์ตจากคนไทย คนละ 1บาท เพื่อนำไปต่อยอด เป็นค่าใช้จ่าย ในการเชียร์ กองทัพนักกีฬาไทยต่อไป

“โครงการนี้จะทำจริง คงจะไม่เหนือบ่ากว่าแรง เงิน1บาทของท่านเนี่ยแหละ จะเป็นกำลังใจให้ผมด้วย เป็นตัวแทนของทุกคน แต่ไปเชียร์ในนามทีมชาติไทย ทุกชนิด ทุกกีฬา ทุกข์ทัวร์นาเมนต์ ในนามทีมชาติไทย

เรามีเงินในบัญชีแล้ว1หมื่นบาท เพราะอีก 4 ปี ก็จะไปโอลิมปิกที่อเมริกา แล้วก็อีก 2 ปีข้างหน้า ก็จะอยู่ที่ นาโกย่า เอเชียนเกมส์ที่ญี่ปุ่น แต่ปีถัดไปก็จะเป็นซีเกมส์ ดีที่อยู่บ้านเรา ซึ่งอยู่บ้านเราก็มีค่าใช้จ่าย มีการเดินทาง มีค่าอยู่ค่ากิน ค่าน้ำมัน เราจะไปหาสปอนเซอร์ที่ไหน ยิ่งยาก แต่เราต้องไปเชียร์ ต้องออกตังค์เอง

ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทางสมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย ทุกวันนี้ที่เราได้มีกิจกรรมต่างๆ ไม่มีเงินเดือน แต่ว่ามีกิจกรรมได้ไป ได้กินข้าว อาจจะได้เป็นเบี้ยเลี้ยง ถามว่าลำบากไหม ไม่ลำบาก พออยู่ได้

แล้วเวลาที่ไปแข่งในระดับนานาชาติ เราก็จะได้เป็นส่วนนึง ที่ไม่ต้องดิ้นรนมาก ก็ได้ไปในส่วนของกรรมการหรือส่วนของกองเชียร์ ก็จะหาทุนได้น้อยขึ้น คือได้มาช่วยในส่วนนี้ ไม่ต้องลำบากมาก จากแต่ก่อนหา 100 บาท เราอาจจะไปหาอีกแค่50บาท อะไรประมาณนี้”


 “ดักแด้” สู่ผีเสื้อที่ทรงคุณค่า

 

และที่มาของชื่อในการเชียร์ที่ใช้ชื่อว่า “ท้าวดักแด้” เขาก็เปรียบตัวเองเป็นเหมือนดักแด้ที่คนอาจจะมองเป็นแค่หนอนที่น่าเกลียดน่ากลัวแต่อย่าลืมว่าหนอนตัวนั้นสักวันเมื่อโตเต็มวัยเขาจะกลายเป็นผีเสื้อที่สวยงามได้


“เรามองว่าเราเป็นคนอีสานคำว่าดักแด้มันมีความหมายตัวดักแด้อาจจะเป็นแค่หนอนตัวนึงแต่ว่าตัวนอนนั้นมันจะกลายมาเป็นผีเสื้อที่สวยงามจากความน่าเกลียดกลายเป็นความสวยงามมีคุณค่าบินไปไหนก็ได้


อีกอันก็คือคำว่าดักแด้มันจะไม่มีคุณค่าพอต้มสุกก็ขายกินแต่อย่าลืมว่ารังไหมมาทำเป็นเสื้อผ้าที่มีราคาแล้วออกไปทั่วประเทศและเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยพี่ก็เลยมองว่าสักวันนึงเราจะกลายเป็นผีเสื้อเป็นอะไรที่ทรงคุณค่าจุดมุ่งหมายคือพี่ต้องการเป็นผีเสื้อให้ได้แล้วจะทำให้ดักแด้มีคุณค่าเป็นผ้าไหมที่สวยงาม”



สัมภาษณ์ : ทีมข่าวMGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : แฟนเพจ “Thailand Dakdae”
ขอบคุณ : สมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญา แห่งประเทศไทย,สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมถ์,สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย,สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย,คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย,บ.น้องพรฟู้ดฯ



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น