บทเรียน “นักเลงคีย์บอร์ด” ทำอะไรต้องคิดดีๆ เพราะ “ด่าฟรีไม่มีในโลก” แม้แต่ดารา-คนดัง จะไม่ใช่เหยื่อของใครอีกต่อไป รวมเคสขอรับคำขอโทษเป็น “เงินสด” เท่านั้น!! ตาม “กฎหมายหมิ่นประมาท” ฟ้องไว้ก่อน ค่อยพิสูจน์ทีหลัง
คนดังเรียก “หลักล้าน” เชือดไก่ให้ลิงดู
กลายเรื่องที่เป็นสังคมจับตามองอยู่พักใหญ่ๆ เมื่อพิธีกรดังอย่าง “หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย”ออกมาฟ้องอินฟลูฯ ฝีปากจัดอย่าง “ลีน่าจัง” เป็นเงินถึง “5 ล้านบาท”
เหตุจากประเด็นที่ลุกลามมาจากดรามาดังร้านขายทอง "แม่ตั๊ก-ป๋าเบียร์” ที่ไปออกรายการ “โหนกระแส” แล้วมีการพูดถึง “เน็ตไอดอลประตูน้ำ” เข้าไปด้วย
อธิบายไว้ว่า คือคนที่เข้าไปด่าผู้เสียหาย หลังทำคลิปรีวิวซื้อ-ขายทองของ “แม่ตั๊ก” แล้วขาดทุน
{“หนุ่ม-กรรชัย”}
จากนั้นไม่นาน “ลีน่าจัง” ก็ออกมาตอบโต้ เพราะเข้าใจว่า “เน็ตไอดอลประตูน้ำ” คงไม่ได้หมายถึงใคร นอกจากตัวเอง ทั้งยังวิจารณ์ว่า “หนุ่ม-กรรชัย” เป็น “มาเฟียข่าว” รับเงินจาก “แม่ตั๊ก” ด้วย
ฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้พิธีกรรายการข่าวชื่อดัง ถึงกับต้องออกมาฟ้องคือ “ลีน่าจัง” ถ่ายคลิปขอพร แต่กลับสาบแช่งไปถึงครอบครัว จึงไม่สามารถปล่อยผ่านเหมือนทุกครั้งได้ เพราะรอบนี้ “ล้ำเส้นเกินไป”
“ที่พีไม่โอเค และถือว่าล้ำเส้นคือ การมาแช่งลูกพี่ เกินไป ถึงแม้เขาจะไม่ได้เอ่ยชื่อ แต่ด้วยวิญญูชน ของทุกๆคนที่ดูอยู่ รู้ได้ครับว่าเขาพูดถึงใคร ทั้งที่ลูกพี่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย”
จนเป็นที่มาของการฟ้อง “ลีน่าจัง” ในข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ถึงแม้เจ้าตัวจะออกมาขอโทษแล้วก็ตาม แต่ “หนุ่ม-กรรชัย” ก็ย้ำว่า เรื่องต้องไปจบที่ศาลเท่านั้น
{ "ลีน่าจัง" }
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก กับกรณีตัวอย่าง “รับคำขอโทษเป็นเงินสด” หรือ “จบที่ศาลเท่านั้น” ผ่านเคสดารา-อินฟลูฯ ที่ฟ้องเกรียนคีย์บอร์ด
หนึ่งในนั้น คือเคสข่าวดังกรณี “แมท-ภีรนีย์ คงไทย”ดาราสาวชื่อดังที่ออกมาไล่ฟ้อง “เกรียนคีย์บอร์ด”วันเดียวถึง 8 ราย
หลังอดทนมาถึง 2 ปี ยอมให้คอมเมนต์ถล่มด่า ในช่วงที่เธอกำลังคบกับนักธุรกิจอย่าง “สงกรานต์ เตชะณรงค์” แต่สุดท้ายสาวแมทก็ขอทวงความยุติธรรมโดย “ฟ้องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา”เรียกค่าเสียหายรายละ “1 ล้านบาท”
{“แมท-ภีรนีย์”}
อีกรายที่เคยลั่นวาจาว่า “รับคำขอโทษเป็นเงินสดเท่านั้น”คือ “โฟกัส จีระกุล” ที่แจกใบฟ้องให้เหล่านักเลงคีย์บอรด์ ถึง “33 คน” พร้อมเรียกค่าเสีย “1 ล้านบาท” จากกรณีที่เธอแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่กลับถูกรุมด่า
และคดีก็จบด้วยการที่ “โฟกัส” ยอมความ เพราะจำเลยแต่ละคนสารภาพผิด และขอโพสต์ขอโทษอาทิตย์ละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 8 สัปดาห์
{“โฟกัส จีระกุล”}
อีกเคสคล้ายๆ กันก็คือ “ใบเฟิร์น-อัญชสา มงคลสมัย” ที่ถูกคอมเมนต์ด่าว่า “โง่” หลังเธอแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แถมบางคนยังโพสต์ท้าทายให้ฟ้องร้องด้วย เพราะเชื่อว่าสิ่งที่พูดเป็นการวิจารณ์โดยสุจริต ไม่มีความผิด
แต่ปรากฏว่าพอฟ้องร้องกันจริง ศาลกลับไม่เห็นแบบนั้น โดยตัดสินว่า “โง่” คำนี้ ในเคสนี้ “มีความผิดทางกฎหมาย”ใบเฟิร์นจึง “ชนะคดี”ในที่สุด ส่วนค่าเสียหายที่ได้มา ใบเฟิร์นเอาไปทำบุญหมดแล้ว
{“ใบเฟิร์น-อัญชสา”}
“หมิ่นไว้ก่อน” จริง-ไม่จริง อีกเรื่อง
คำถามคือจะแยกแยะออกได้ยังไงว่า แบบไหนคือการวิพากษ์-วิจารณ์-ติเตียน-ด่าทอ ที่เข้าข่าย “หมิ่นประมาท”ลองให้ทนายความและที่ปรึกษาทางกฎหมาย อย่าง “พีท” ดร.พีรภัทร ฝอยทอง ช่วยวิเคราะห์ จึงได้คำตอบว่า “พูด-พิมพ์-โพสต์” แบบไหนที่เข้าข่าย
อันดับแรก ต้องรู้กันว่า “หมิ่นประมาท”มีอยู่ 2 แบบคือ “การหมิ่นประมาทแบบธรรมดา” หรือภาษาชาวบ้านก็คือ “นินทา” นั่นแหละ
ยกตัวอย่าง นาย ก. นินทา นาย ค. ให้นาย ข. ฟัง จะมีโทษอยู่ที่ “จำคุกไม่เกิน 1 ปี”หรือ “ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท”
{“ดร.พีรภัทร” ทนายความ-ที่ปรึกษากฎหมาย}
อีกแบบคือ “การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” เป็น “การหมิ่นประมาทผ่านสื่อ”ไม่ว่าจะเขียนลงหนังสือพิมพ์, ป้ายบิลบอร์ด รวมถึงใน “โซเชียลฯ” ด้วย ซึ่งจะมี “โทษปรับ” เท่ากัน แต่หนักตรงที่เพิ่ม “จำคุกไม่เกิน 2 ปี”ขึ้นมาด้วย
“อันดับแรกเลย เราต้องดูก่อนว่า หมิ่นหรือไม่หมิ่น ถ้าหมิ่น ใส่ความต่อบุคคลที่ 3 ทำให้คนนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง อันนี้(พิจารณาใน)เงื่อนไขแรกก่อน”
แล้วถ้าคิดว่า สิ่งที่เราพูดหรือโพสต์ไป ถือเป็น “ข้อเท็จจริง” ไม่ถือว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาท ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า เป็นความเข้าใจผิดพลาด ไม่เป็นความจริง
เพราะในกฎหมายไทย “การใส่ความ” ไม่ใช่แค่ “ความเท็จ” เท่านั้น ยังรวมการกล่าวอ้าง “ความจริง” ด้วยยกตัวอย่าง นาย A กล่าวหาว่า นาย B ทุจริต กฎหมายมองว่า ไม่ว่านาย B จะทุจริตจริงหรือเปล่า
แต่การกล่าวอ้างนี้ ถือเป็น “การกล่าวหาบุคคลที่ 3” และทำให้ นาย B “เสื่อมเสียชื่อเสียงไปแล้ว”
ดังนั้น กฎหมายตีความว่า ไม่ว่าจะ จริง-ไม่จริง ก็จะโดนหมิ่นไว้ก่อนอยู่ดี
ส่วนการจะใช้ข้ออ้างว่า เราไม่ใช้เกรียนคีย์บอร์ด แค่อยากจะแสดงความคิด เราจะวิพากษ์-วิจารณ์ ไม่โดนข้อหาหมิ่นประมาท “พีท” บอกว่า เรื่องนี้มันก็มีกรณี “ยกเว้นโทษ” และ “ถือว่าไม่ผิด” คือ...
“ถ้าผู้ใดแสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสีย เกี่ยวกับตน ตามครองธรรม”
สรุปคือจะได้รับการยกเว้น จะต้องเป็น “การวิจารณ์” โดย “สุจริต” และคำกล่าวอ้างนั้นเป็นเรื่องจริง “พิสูจน์ได้” ที่สำคัญคือ “เป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อส่วนร่วม” ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
ฉะนั้น การโพสต์ติชมอะไร ก็ต้องระวัง เลือกที่จำเป็นจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องชาวบ้าน ผัวๆ เมียๆ หรือดรามาดาราเพราะประเด็นพวกนี้ “ไม่ถือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณธะ” แต่ถ้าเป็น “การทุจริต-ติดสินบน” อาจเข้าข่ายตามที่กฎหมายจะคุ้มครอง
“แต่สุดท้ายเราก็ต้องไปแก้ตัวในศาล คือคุณอาจจะถูกฟ้องร้องไปแล้ว อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างทนาย และเสียเวลาไปขึ้นศาล”
“พิสูจน์ในศาล” คำนี้กลับกลายเป็น “ช่องโหว่” นึงของกฎหมาย เพราะถ้าถอดเรื่องดาราฟ้องเกรียนคีย์บอร์ดออกไป ในอีกมุม “กฎหมายหมิ่นประมาท” ก็ถูก “ผู้อิทธิพล” หยิบไปใช้ “ฟ้องปิดปาก (SLAPP)” ชาวบ้านตาดำๆ กันบ่อยครั้ง
“ในหลายๆ ประเทศเนี่ย จะมีกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิ์ของประชาชน ในการแสดงความเห็นเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เรายังไม่มีกฎหมายมาคุ้มครองกฎหมายเหล่านี้ ได้ข่าวว่ากำลังแก้”
เพราะถึงแม้กฎหมายจะบอกว่า “คุ้มครองการติชมอย่างสุจริต” แต่ถ้าเราไม่มี “กฎหมายป้องกัน” อย่าง “Anti-SLAPP” ที่เป็นรูปธรรม คนก็ยังเสี่ยงโดนฟ้องปิดปากอยู่ดี ซึ่งการขึ้นโรงขึ้นศาล ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณภาพ : Facebook “หนุ่ม กรรชัย”, “Focus Jeerakul”, “Matt Peranee Team - ทีมแมท ภีรนีย์”, “Biferncrews - ใบเฟิร์น อัญชสา มงคลสมัย”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **