xs
xsm
sm
md
lg

5 นาทีชี้ตาย!! บทเรียน “ไฟไหม้รถบัส” ลุกลามเร็วเกินต้าน ต้องมี “แผนอพยพ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รถเก่า” แถม “ดัดแปลง” คนขับก็ “หนี” ผู้คนถาม “มาตรฐานความปลอดภัยอยู่ไหน”!!? กูรูบอก โศกนาฏกรรมครั้งนี้ ไม่ใช่แค่ “สภาพรถ” แต่คือ “แผนรับมือ” ที่ไม่เคยมี

มาตรฐานที่(แทบ)ไม่เคย “ถูกตรวจสอบ-ใช้จริง”

กลายเป็นเรื่องสลดที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เมื่อ “รถบัส”ของนักเรียน จ.อุทัยธานี ที่กำลังกลับจากการไป “ทัศนศึกษา”กลับมาเกิดอุบัติเหตุ “ไฟลุกไหม้ท่วมคัน” กลางถนนวิภาวดีรังสิตขาเข้า อย่างไม่มีใครได้เตรียมใจ

ส่วนสาเหตุของเพลิงไหม้ จากการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าน่าจะมาจากตัว "เพลารถ" หักครูดไปกับถนน บวกกับ "ท่อแก๊สหลุด" ออกจากตัวรถ ทำให้แก๊สรั่ว จนทำให้เกิดประกายไฟ ซึ่งรถบัสคันนี้ ใช้เชื้อเพลิงประเภท "แก๊ส NGV" ส่งให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว



{เหตุการณไฟไหม้รถบัส นักเรียนที่ไม่มีใครอยากให้เกิด}

ซ้ำร้าย “คนขับ” ยังทิ้งรถ “หนี” หลังกล้องวงจรปิดโชว์ว่า พยายามหาถังดับเพลิงมาช่วยหยุดไฟอยู่ในช่วงแรก แต่สุดท้ายเจ้าตัวก็ปล่อยให้ผู้โดยสารในรถทั้ง “44 คน” ต้องเผชิญชะตากรรมที่ไม่ได้ก่อ แล้วจึงกลับมาเข้ามอบตัว

ผู้โชคร้ายในคันรถทั้งหมดนั้น แบ่งเป็น “ครู 6 คน” และเด็กๆ ที่มีตั้งแต่ชั้นอนุบาล ไปจนถึงมัธยมต้นอีก “38 คน” ซึ่งล่าสุด“กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย”สรุปยอดผู้เสียชีวิตว่า รวมทั้งหมด 25 ราย เป็นเด็กทั้งหมด 22 คน และครูอีก 3 คน

หลายคนยังคงคาใจว่า เป็นเพราะอะไรกันแน่? ปัญหาอยู่ที่ “การตรวจสอบมาตรฐานรถ” ที่ไม่ผ่านเกณฑ์หรือเปล่า เพราะรถบัสที่เกิดเหตุก็มีอายุการใช้งานมานานถึง “54 ปี”
ทั้งที่ข้อมูลสถิติจากกูรู “ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย” ระบุไว้ชัดเจนว่า อายุการใช้งานของรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสม ไม่ควรมากกว่า “10-15 ปี” เท่านั้น

หนำซ้ำตอนเกิดเหตุ “ประตูฉุกเฉิน” ก็ “เปิดไม่ได้” แถมตัวรถยังมีการ “ดัดแปลง” มาใช้แบบแก็ส NGV เองอีกต่างหาก




เพื่อตอบคำถามนี้ ทีมข่าวขอให้นักวิชาการด้านยานยนต์อย่าง “รศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล” ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและหัวหน้าศูนย์วิจัย “MOVE” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ช่วยวิเคราะห์

คำตอบที่ได้คือ มาตรฐานยานยนต์บ้านเรายังอ่อนแอ ถ้าเทียบกับในแถบยุโรป โดยเฉพาะประเด็นระบบความปลอดภัยของรถโดยสารพื้นฐาน ซึ่งจะมีข้อบังคับอยู่ว่า ต้องมี “ค้อนทุบกระจก” “ถังดับเพลิง” และ “ประตูฉุกเฉิน”ที่ได้มาตรฐานและใช้งานได้


                                              {“ดร.ยศพงษ์” กูรูด้านยานยนต์}

จริงๆ แล้วนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นทุกวันนี้ ทำให้รถโดยสารหลายรุ่นมี “ระบบดับเพลิงอัตโนมัติ”เป็น “สปริงเกอร์” คอยปล่อยน้ำออกมาดับไฟ ทั้งในบริเวณห้องโดยสารและห้องเครื่อง แต่ระบบนี้เป็นเพียงระบบเสริมที่ “ยังไม่มีกฎหมายบังคับ” ว่าต้องมี

“ผมคิดว่ามันต้องออกมาตรการในการตรวจสอบตรงนี้ว่า ความปลอดภัยพื้นฐานเนี่ยมีไหมนะครับ เอาอุปกรณ์พื้นฐาน ความปลอดภัยพื้นฐานก่อน เป็นไปตามที่มันควรเป็นไหม”



ย้ำว่ารัฐทำสามารถตรวจสอบในส่วนนี้ได้ไม่ยากอยู่แล้ว เพราะรถพวกนี้จำเป็นต้องมีการต่อทะเบียนทุกปี แต่ปัญหามันก็ไม่ใช่แค่การตรวจสอบสภาพรถอย่างเดียวเท่านั้น

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ “การบำรุงรักษา” ด้วย เพราะถึงตัวรถจะตรวจสภาพผ่าน แต่ถ้าไม่ดูแลให้ดี ปล่อยให้เสื่อมสภาพ หรือมีอุปกรณ์พื้นฐานไม่ครบ สุดท้ายก็เกิดเหตุได้อยู่ดี

“อย่าลืมว่า เขาตรวจสภาพปีละครั้ง แล้วถ้าเกิดคนไม่ดูแล ไม่สนใจ มันเกิดเหตุได้ตลอดเวลา”

อีกเรื่องที่เป็นที่น่าสนใจคือ “อายุของรถ” ตรงนี้ก็เป็นปัญหา การจดทะเบี้ยนรถในปัจจุบันจะมีการดูเรื่อง “วัตถุลามไฟ” บังคับให้ต้องใช้ “วัสดุป้องกันการลามไฟ” ในรถโดยสาร แต่ในรถเก่าไม่ได้ควบคุมตรงนี้

“คงต้องไปไล่ดูกันหมดนะครับว่า ไอ้รถเก่าเนี่ยเราจะทำยังไง อันนี้ก็เป็นประเด็นปัญหาอยู่เหมือนกัน”



แผนอพยพ ยืดเวลา “5 นาทีรอด”

“เวลามันเกิดประกายไฟในรถบัสเนี่ย จากข้อมูลทางวิชาการ แล้วก็หลายๆ แห่งบอกว่า การที่เกิดไฟไหม้ มันใช้เวลาไม่เกิน 5 นาทีเลยนะ ที่จะทำให้มันลุกทั้งรถ”

ดังนั้น “5 นาที” คือเวลาสำคัญที่ทุกคนต้องหนีออกมาให้ทัน แต่หลังจากที่กูรูด้านยานยนต์รายนี้ได้ดูคลิปเหตุการณ์ จึงทำให้มองเห็นปัญหาได้ชัดขึ้นว่า นอกคำถามเรื่องมาตรฐานรถแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราขาดไปแน่ๆ จนผลักเกิดเรื่องเศร้า คือ “วิธีรับมือ”

“ภาพตรงนั้นคือ ไม่มีใครมีประสบการณ์ที่จะช่วย ณ ตอนนั้น ในเวลาอันสั้น เลยทำให้เกิดการเสียชีวิตขึ้น



“เพลิงไหม้”ไม่ได้มีแค่ไฟอย่างเดียว ยังมี “ควัน” ด้วย ถ้าควันพุ่งขึ้นมาเต็มคันรถ ต่อให้คนรู้ทางออก ก็อาจทำอะไรไม่ได้แล้ว ส่วน “ประตูฉุกเฉิน” ถ้าไม่ชำนาญก็ไม่มีทางรู้เลยว่า ทางออกที่เหลืออยู่ไม่กี่บานนั้น อยู่ตรงไหนกันแน่?

ดังนั้น คนที่ต้องอยู่กับรถโดยสารอย่างพนักงาน โดยเฉพาะ “คนขับรถ” คือคนที่ต้องรับมือสิ่งเหล่านี้ได้ดีที่สุด ด้วยการให้พวกเขาเข้าร่วมซักซ้อมแผนรับมือ เพื่อเตรียมตัวสำหรับสถานการณ์จริงที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

“มันอาจไม่ใช่หน้าที่คนขับรถต้องดับเพลิงนะเวลานั้น เมื่อเปลวไฟขนาดนั้นแล้ว อาจต้องเป็นเรื่องของการพยายามช่วยคน ให้ออกมาจากบริเวณรถหรือเปล่า”



เราคงต้องถอดบทเรียนนี้ออกมาเป็น “แผนอพยพ”กันอย่างจริงๆ จังๆ เหมือนเวลาซ้อมหนี้ไฟในอาคารแล้ว เพราะจำนวนผู้โดยรถที่มีราว 40 คน ก็ไม่ต่างจากจำนวนคนพักอาศัยในอาคารเล็กๆ แถมยังอันตรายกว่าด้วย เพราะรถคือพาหนะที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา

“เพราะงั้น มันต้องมีการซักซ้อม เกิดเหตุใครต้องทำอะไร อันนั้นรวมไปถึง เวลาคนขึ้นรถบัสด้วย ต้องรู้ว่าทางเข้า-ทางออก กรณีฉุกเฉินคืออะไร พวกนี้มันต้องมีแนวทาง แล้วก็ต้องซักซ้อมให้เป็นมาตรฐานขึ้นมาให้ได้”

นอกจากแผนอพยพคน การรับมือนี้ต้องรวมไปถึงว่า ควรเพิ่มอุปกรณ์อะไรที่จำเป็นอีกไหม อย่าง “ระบบดับเพลิงอัตโนมัติภายในรถ” โดยเฉพาะรถโดยสารที่มี “เด็กเล็ก”ที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้

หรือการกำหนด “สัดส่วน”ในการโดยสารให้ชัดเจนไปเลยว่า ควรมี “ผู้ใหญ่”กี่คน ให้เหมาะสมกับจำนวนเด็กที่ต้องดูแล ในกรณีที่เกิดเหตุแล้วสามารถช่วยเหลือเด็กในความรับผิดชอบได้อย่างทันท่วงที ตามจุดต่างๆ ที่นั่งอยู่ในคันรถ



“โอกาสนี้ต้องตรวจสอบทั่วประเทศว่า (รถโดยสาร)มันปลอดภัยหรือเปล่า เพราะยังไงต้องตรวจประจำปีอยู่แล้ว เพราะงั้นรอบนี้ต้องตรวจกันจริงๆ จังๆ มันมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วครับ”

สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น