xs
xsm
sm
md
lg

ไวรัล “ผอ.หมอลำ” แต่งเพลงเตือนโรค แถมลูกคอ จับใจคนไข้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวโซเชียลฯ ยกให้เป็นหมอลำของแทร่!! เพราะทั้งเป็นหมอรักษาคนไข้ และหมอลำได้ด้วย เจาะแรงบันดาลใจ “ผอ.หมอลำ” จุดเริ่มต้นจากสถิติที่ผู้ป่วยโรคสโตรกมารักษาไม่ทันเวลา จนต้องมาแต่งเพลงร้องหมอลำ สื่อสารคนไข้ จนเป็นไวรัล กับพรสวรรค์เลือดศิลปิน


แรงบันดาลใจ จากคนไข้ขอมา

“นี่สิถึงเรียกว่าหมอลำของแทร่!!”เป็นคำที่ชาวโซเชียลฯ แห่แซว และยกฉายาให้กับ “นพ.พิณพาทย์ ดาทุมมา”หรือ “หมอตั้ม” ผอ. โรงพยาบาลชื่นชม จ.มหาสารคาม วัย 38 ปี ที่กำลังเป็นไวรัลในโซเชียลฯ หลังจากออกมาโพสต์คลิป ที่ตัวเองกำลังร้องหมอลำ ให้ความรู้ประชาชน เกี่ยวกับ “โรคหลอดเลือดสมอง” หรือ “โรคสโตรก”

เรียกได้ว่า เป็นได้ทั้งหมอรักษาคนไข้ และหมอลำได้ด้วย จนทำเอาชาวโซเชียลฯ ทึ่งในความสามารถ เพราะไม่คิดว่าเป็นหมอ นึกว่าเป็นหมอลำจริงๆ

ผอ.หมอลำ ก็ได้ออกมาเปิดใจ ถึงแรงบันดาลใจ และจุดเริ่มต้นในการทำเพลงว่า มาจากคำแซวจากผู้ป่วยในพื้นที่ รู้ถึงความสามารถในการร้องหมอลำ เพราะเห็นร้องเพลงออกงานอยู่บ่อยๆ แต่ด้วยข้อจำกัดในในตอนนั้น จึงไม่สามารถร้องเพลงได้

ก็เลยให้สัญญากับคนไข้ว่า จะกลับไปแต่งเพลงที่เกี่ยวกับโรคเบาหวานความดัน แล้วจะมาร้องเพลงให้ฟัง จึงออกมาเป็นผลงานเพลงแรก “เบาหวานสะท้านใจ” ที่มีผลตอบรับดีในระดับนึง

แต่ล่าสุด ที่ทำให้กลายเป็นไวรัลไปทั่วโซเชียลฯ คือผลงานเพลงที่ 2 “ลำเพลินสโตรกกระโชกใจ” ที่ได้เห็นผอ.ทั้งร้อง ทั้งฟ้อน เรียกได้ว่าม่วน เข้าจังหวะสุดๆ

ซึ่งเพลงนี้ เกิดขึ้นจากสถิติของโรงพยาบาล มีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาไม่ทันเวลาด้วยโรคหลอดเลือดสมอง จึงตัดสินใจ แต่งเพลง “ลำเพลินสโตรกกระโชกใจ” เพื่ออธิบายอาการสำคัญ ที่เข้าข่ายโรคหลอดเลือดสมอง หรือ โรคสโตรก เพื่อให้ประชาชนได้สังเกตอาการของตนเอง เพื่อจะจะได้เข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที

ยอมรับว่าตกใจ กับกระแสที่คนชื่นชมในโซเชียลฯ เพราะปกติตัวเองจะเล่นแค่เฟซบุ๊ก จนพอได้มาทำเพลง ก็สมัครยูทูบ เพื่อไปเผยแพร่ผลงาน หลังจากนั้น เพื่อนก็แนะนำว่า ให้ลองไปสมัคร TikTok เพื่อลงคลิปดู ก็ไม่คิดว่าคนจะเข้ามาดูเยอะขนาด เพราะลงไปแค่แป๊บเดียว ยอดวิวใน TikTok ขึ้นมาเป็น 5 แสนกว่าวิว


“ปกติช่องทางโซเชียลฯ ผมเล่นแต่เฟซบุ๊ก ก็เลยสมัครยูทูบ เพื่อจะปล่อยผลงานเพลงลงยูทูบ แล้วก็แชร์ไปทางของฝั่งสาธารณสุข ตอนนั้นฝั่งสาธารณสุขก็จะรู้กันเองของฝั่งสาธารณสุข พยาบาลในจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ก็จะเผยแพร่ให้ ก็จะฮือฮาในจังหวัดระดับหนึ่ง

คนทั่วไปก็อาจจะไม่ได้เข้าถึง แต่เราก็ใช้เพลงนั่นแหละ เข้ามาร้องให้คนไข้ฟัง ที่คลินิกเบาหวาน ที่ทำการตรวจอยู่เรื่อยๆ เวลาร้องเพลง เราก็ให้ความรู้อยู่เรื่อยๆ ร้องเสร็จก็ใช้เนื้อเพลง ให้ความรู้คนไข้ไป ก็เหมือนเป็นการให้สุขศึกษาเพิ่ม สร้างบรรยากาศให้สนุกสนานก่อนที่จะทำการตรวจ

เราแต่งชุดเพชร ใส่ชุดหมอลำเพลินเลย แล้วก็ฟ้อนต้องถึง ลำต้องถึง ท่าทางเราต้องถึง อาจมาด้วยพรสวรรค์มั้งครับ ท่าทางที่เราออกไป ส่วนใหญ่กระแสคนที่เขาตอบรับ เขาก็บอกว่า มันทำถึง พอเห็น mv ทีมงานก็หัวเราะ ตัวเองแสดงเอง ก็สนุกสนานกันไป”




เหตุผลที่เลือกแต่งเพลงเกี่ยวกับ “โรคสโตรก” ก็เพราะว่า อาการของโรคหลอดเลือดสมอง มีอาการหลายอย่าง ที่แตกต่างกันออกไป แต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน จึงอยากให้คนไข้เบาหวาน ความดัน สังเกตอาการตัวเอง เพราะปัญหาสำคัญส่วนใหญ่ ที่เข้ารับการรักษาช้า เพราะประชาชนไม่รู้ว่าอาการพวกนี้ คืออาการของโรคหลอดเลือดสมอง

ดังนั้นจึงเลือกใช้เพลง ที่เป็นรูปแบบหมอลำ ประยุกต์ให้ความรู้เรื่องสุขภาพ ซึ่งหมอลำ เรียกได้ว่า เป็นอีกหนึ่งสื่อวัฒนธรรมของคนอีสาน ที่สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มวัยได้ ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ จนถึงคนเฒ่าคนแก่

บวกกับตัวเอง ก็เป็นชอบฟัง ชอบร้องหมอลำอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นทำเป็นสไตล์หมอลำดีกว่าไหม อีกอย่างคือ ช่วงนี้กระแสฟีเวอร์หมอลำกำลังมาแรงไปทั่วประเทศ บวกกับคนภาคอีสาน ก็ฟังหมอลำอยู่แล้ว

“ผู้เฒ่าผู้แก่ก็ฟังหมอลำ แต่ผู้เฒ่าผู้แก่อาจจะไม่ได้ใช้โซเชียลฯ นะครับ เราก็จะไปให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เปิดเสียงตามสาย เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่แต่คนยุคใหม่ ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยทำงาน บางทีวัยเกษียณนิดๆ ก็ใช้โซเชียลฯ กันเยอะ

เราก็เลยคิดว่าหมอลำเข้าถึงทุกกลุ่มวัย เราก็เลยใช้รูปแบบเพลงหมอลำดีกว่า แล้วก็เราก็ยังมีสไตล์ของเรา เพลงแรกเบาหวานสะท้านใจ ก็มีเต้ย มีทำนองหมอลำ เพลงที่ 2 เราก็ใส่เป็นทำนองลำเพลิน ก็ยังเป็นทำนองใหม่ที่มันสนุก มันม่วนมากขึ้น มันจังหวะโจ๊ะๆ มากขึ้น เราก็เลยใช้ทำนองเป็นลำเพลิน”


สำหรับผู้อยู่เบื้องหลัง ในการทำดนตรีในครั้งนี้ ก็คือ “หนามเตย-ขวัญชนก กำนาดี” เจ้าของผลงานเพลง “ชอบแบบนี้” ที่ดังไวรัล 200 กว่าล้านวิว ที่ผอ.ตั้ม รู้จักกันเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ก็ได้ให้ทำดนตรีให้ในครั้งนี้ แต่ว่าเนื้อร้อง ทำนอง ผอ.ตั้ม เป็นคนแต่งเองทั้งหมด แถมยังเป็นคนกำกับ mv เองด้วย

ทีมงานใน mv ที่เราเห็นกัน ก็จะเป็นทีมงานในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นพยาบาล ทีมจ้าหน้าที่พัสดุ ทีมเจ้าหน้าที่ซักฟอกต่างๆ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล ส่วนแดนเซอร์ที่ฟ้อนคู่ผอ. เป็นนักเรียนวงโปรงลาง ของโรงเรียนชื่นชมพิทยาคาร

หมอตั้ม ย้ำถึงแรงบันดาลใจสำคัญ ในการแต่งเพลงนี้อีกว่า อยากจะแก้ปัญหางานที่ผู้ป่วยเข้ามารักษาไม่ทันเวลา ช่วงเวลา golden period ของผู้ป่วยสโตรก ในเวลาปกติจะอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งสถิติเดิมที่คนไข้ที่เป็นโรคสโตรก มาทันเวลาแค่ 20%

ดังนั้น จึงเกิดไอเดียวคิดนอกกรอบ พยายามเอาเรื่องที่มันใกล้ตัว หรือเรื่องสนุกเข้ามาบูรณาการ มาประยุกต์กับงานที่ทำเป็นประจำ ให้มีความสุขได้ ด้วยการปล่อยเป็นนวัตกรรมของโรงพยาบาล ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เปิดเสียงตามสาย เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ ภายใน 1 ปี เรามาดูหน่อยว่าผู้ป่วยสโตรกเรา เข้าถึงการรักษาเร็วขึ้นไหม

“เราปล่อยเพลงไปแล้ว เราอาจจะไปเก็บแบบสอบถามมาก่อน ว่าชาวบ้านมีความรู้มากขึ้นไหม แต่ตัวที่จะบอกว่ามันได้ผลจริง คือปลายปี เรามาดูกันเลยว่า ผู้ป่วยสโตรก สมมติว่าชื่นชมมีผู้ป่วยสโตรก 100 คน เขามาทันเวลา จากเดิม 20% ถ้ามา 50% มีนัยนะสำคัญนะ

แล้วถ้าในทางกลับกัน ชาวชื่นชมมาสโตรก 100 คน มาเร็วสัก 80% เรียกว่านวัตกรรมได้เลย เพราะมันได้ผล มันเป็นตัวพิสูจน์แล้วว่า มันเป็นนวัตกรรมที่น่าจะช่วยได้ดีที่สุด”


เตือนโรคคนไข้ ผ่านลูกคอหมอลำ

ทางโรงพยาบาลและตัว ผอ.เอง ก็พยายามเข้าถึงประชาชน ด้วยการประยุกต์ศิลปะหมอลำ เน้นความสนุกสนาน สอดแทรกความรู้ แนวทางการปฏิบัติตัวเพราะอยากให้ประชาชนตื่นตระหนักถึงภัยสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะ “โรคสโตรก”

เพราะโรคสโตรก ถึงแม้อาการจะแค่นิดเดียว อาจจะแค่ปากเบี้ยว ลิ้นรัว พูดไม่ชัด แต่ถ้าผู้ป่วยมาช้า อาจจะถึงขั้นนอนติดเตียงได้ ถ้าไม่รีบมาประเมินที่โรงพยาบาล

สำหรับสัญญาณเตือนสำคัญ ที่คุณหมอแนะนำมา สังเกตได้ง่ายๆ ให้จำคำว่า “BEFAST” ที่แสดงถึงอาการของโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่ง B = Balance ก็คือเดินเซ E = Eyes การมองเห็น ตาจะดับ ตาจะมืดบอดฉับพลัน F = Face ปากเบี้ยว A = Arm แขนอ่อนแรง ยกแขนไม่ได้ S = Speech ก็คือพูดลำบาก พูดไม่ชัด ลิ้นรัว และ T = Time ควรรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด

เรื่องเวลาถือว่าสำคัญมาก เพราะต้องจดจำเวลาให้ชัดเจน เพราะว่าเวลา จะเป็นตัวตัดสินในการรักษา ถ้ามาเกิน 4 ชั่วโมง 30 นาที จากสถิติส่วนใหญ่ผู้ป่วย จะพิการประมาณ 70% เสียชีวิตประมาณ 5% -10% โดยเนื้อเพลง ที่แต่ง ก็จะไปสอดคล้องกับหลักการ “BEFAST”

“สิมาเล่าเว้าถึงอาการ จะมาพูดถึงอาการ อ่อนแขนขาครึ่งด้าน เว้าลำบากลิ้นแข็ง บ่เห็นแสงตาดำฉับพลัน จะ 1 ข้าง หรือ 2 ข้างก็ได้ หน้าตานี้ก็มีปากเบี้ยว เพราะฉะนั้นก็คบเลยผมเอา BEFASTมาใส่ในตัวคำร้อง เนื้อร้องที่เป็นอาการ แล้วก็ให้หมู่เฮาฟ้าวเลี้ยวเทียวหาหมอ

เราก็บอกว่า คุณต้องมีอาการแบบนี้ปั๊บ คุณต้องรีบมา แล้วเราก็บอกอีกว่า ฟังเด้อเจ้า 1669 มีอาการหมอว่า ก็คือถ้ามีอาการแบบนี้ ให้โทร 1669 ถ้ามีรถ คุณก็มาทันเวลา

ส่วนท่อนเกริ่น ก็พยายามเน้นให้คนไข้รีบมาการรักษา เป็นแล้วอาการรุนแรงถึงขั้นตายก็มี แต่รักษาหายก็มี แต่ส่วนใหญ่นี้ มีแต่พิการ ปัญหาสำคัญคือมีแต่พิการ

 
 เราก็จะเน้นให้คนไข้ว่า ทำยังไงให้คุณรีบเข้ามาถึงเรื่องของการรักษา เพราะฉะนั้นก็คือเราจะใช้ตัวนี้เป็นนวัตกรรมของโรงพยาบาล เผยแพร่ไปให้ถึงประชาชนในพื้นที่ เพื่อเข้าถึงการรักษาของโรคสโตรก เพื่อมาให้ทันเวลา หรือ golden period ที่จะมีท่อนหนึ่งที่ผมบอกไว้ก็คือ มาก่อนเวลา 4 ชั่วโมง 30 นาที เราใส่ตัวทฤษฎีตรงนี้เข้าไปทั้งหมดเลย

เพลงนี้สิ่งที่คาดหวังคือ อยากให้เกิด health awareness โรคหลอดเลือดสมอง เป้าหมายของเพลงนี้คืออยากให้คนที่เข้าข่าย มีอาการต้องสงสัยของโรคหลอดเลือดสมอง มาให้ทันเวลา อันนี้ก็คือเป้าหมายที่ผมแต่งเพลงตัวนี้ขึ้นครับ

เราควรจะทำยังไงก็ได้ ให้ไปถึงประชาชน เพราะว่าเป้าหมายที่เราบอกไว้อยู่แล้ว ว่าเราจะเอาตัวนี้ไปเป็นนวัตกรรมที่ไปเก็บข้อมู เราจะไปทำในพื้นที่อยู่แล้ว แต่อีกอย่างนึง เราทำมาแล้ว เราอยากฟัง เราอยากให้มันแมส ให้มันกว้าง ให้ไปถึงประชาชน
อย่างน้อยผมไม่ได้คาดหวัง ว่าเขาจะต้องเข้าใจโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด เข้าใจในเนื้อหาเพลงทั้งหมด แต่ว่าผมอยากจะให้เขาตื่นตัวด้านสุขภาพ เพราะภาวะตื่นตัว หรือตระหนักรู้

หรือภาษาทางการแพทย์ เขาจะใช้คำว่า health awareness เราอยากให้คำว่า health awareness เกิดขึ้นในสังคมก่อน กับประเด็นโรคหลอดเลือดสมอง ไม่เคยมีใครหยิบยื่นมาเป็นประเด็นสังคมเลย เราอยากให้มันมีการพูดถึง”


ในฐานะผู้ทำงานด้านสาธารณสุข นอกจากคาดหวังให้ประชาชนตื่นตระหนกในโรคนี้แล้ว ยังคาดหวังว่า อยากให้เกิด health literacy ในประชาชน หรือที่เรียกว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพ จึงอยากให้เพลงนี้ เข้าไปเป็นส่วนนึง ในการช่วยสร้างเสริม ป้องกันโรค และทำให้ประชาชน รู้จัก จัดการตัวเองเมื่อเกิดภาวะเจ็บป่วย

“พอเรามีการ health awareness แล้วมันก็จะนำไปสู่ คนอยากรู้มากขึ้น คนมาฟังของเราเข้าใจมากขึ้น สุดท้ายมันจะเกิดภาวะที่เราต้องการที่สุด ในฐานะที่เราทำงานด้านสาธารณสุข ทางการแพทย์ เราอยากให้ประชาชนมี health literacy หรือเขาเรียกว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพ

เขาต้องรู้ก่อนว่า เขาจะต้องป้องกันตัวเองยังไง ไม่ให้เกิดโรค เขาจะเสริมสร้างสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง เขามียังไงก่อน อันนี้คือขั้นแรก ขั้นที่ 2 หลังจากที่เขาเป็นโรคแล้ว เขาก็ต้องรู้ว่าโรคที่เขาเป็น อย่างน้อยเขาต้องรู้ขั้นต้น ว่านี่คือโรคอะไรไว้ก่อน ให้รู้ว่า พอเป็นโรคแบบนี้แล้ว เขาจะต้องปฏิบัติตัว หรือปฐมพยาบาล หรือดูแลเบื้องต้น ที่จะจัดการตัวเองก่อน”




โรงพยาบาลน้องใหม่ ได้ใจคนพื้นที่

โรงพยาบาลชื่นชม เป็นโรงพยาบาลที่เพิ่งก่อตั้งมาได้ประมาณ 10 ปี เป็นโรงพยาบาลที่มีตึกผู้ป่วยในขนาด 30 เตียง ยังถือว่าเป็นอำเภอน้องใหม่ ท้ายสุดของ จ.มหาสารคาม ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 60 กม. แต่ว่าเป็นเขตรอยต่อ ห่างจากตัวเมืองขอนแก่นประมาณ 40 กม.

ถึงโรงพยาบาล จะก่อตั้งได้ไม่นาน และหลายคนอาจจะยังไม่รู้จักว่าอำเภอชื่นชม อยู่ที่จังหวัดไหน แต่ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้อำนวยการให้กับที่นี่ ก็บอกกับพนักงานที่นี่ไว้ว่า จะทำให้โรงพยาบาลเป็นที่รู้จักให้มากขึ้น

“หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักว่า อ.ชื่นชม อยู่ที่จังหวัดไหน ตอนที่มารับตำแหน่ง ผมก็คุยกับทีมงาน ผมบอกว่าเดี๋ยวผมจะทำให้เขารู้จักโรงพยาบาลเราเยอะขึ้น ผมจะทำให้โรงพยาบาลเรามีชื่อเสียง ชื่อเสียงไม่ใช่การฟ้องร้องนะ ไม่ใช่เป็นคดีทำผู้ป่วยเสียหายนะ ต้องทำชื่อเสียงให้กับโรงพยาบาลชื่นชม เพราะว่าเราอยู่ในเขตพื้นที่รอยต่อ เราก็อยากให้คนที่อยู่ในพื้นที่ของเรา เข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาลของเรา ให้มันเยอะมากขึ้น

เพราะว่าปัจจุบัน 30 บาทรักษาทุกที่ แล้วก็นโยบายเรื่องของ 30 บาท หลายโรงพยาบาลต้องมีการแก่งแย่งแข่งขันกันอยู่ระดับนึง ที่จะต้องดึงลูกค้า

ถ้าโรงพยาบาลไหน มีอัตราการครองเตียงที่สูง ผู้ป่วยมาใช้บริการเยอะ ผู้ป่วยนอกเยอะ ก็เปรียบเสมือนว่าคุณทำงานเยอะนะ คุณก็เอาเงินงบประมาณสนับสนุนจาก สปสช. ไปที่โรงพยาบาลของคุณเยอะ เพราะคุณทำงานเยอะ overload มันเยอะ ถ้าคุณไม่มีคนไข้ คุณก็เบิกเงินเคลมค่ารายหัวในการบริหารการจัดการงบประมาณ เงินบำรุงโรงพยาบาล ในปริมาณตามงานที่คุณทำ

เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่ในพื้นที่รอยต่อใกล้ทั้งโรงพยาบาลใหญ่ๆ รายเรียงล้อมรอบๆ อำเภอเรา ก็จะมีหลายคนที่เขาอยากไปพบหมอเฉพาะทาง อยากไปโรงพยาบาลข้างเคียง”


นอกจากนี้ เขายังพยายามสร้างวิสัยทัศน์ พร้อมทั้งพยายามสร้างบรรยากาศในโรงพยาบาล ให้เฟรนด์ลี่ เป็นกันเองกับทุกกลุ่มวัย เป็นโรงพยาบาลของคนในพื้นที่ ที่อุ่นใจกับประชาชน เพื่อหวังว่า ประชาชน จะเลือกมารับบริการเป็น first choice

“บรรยากาศการทำงาน ผมก็พยายามที่จะทำเป็นตัวอย่างให้กับน้องๆ น้องหมอ พยายามให้น้องหมอสื่อสารกับคนไข้ การพูดจา พฤติกรรมเรื่องของการบริการ Service Mind เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เราพยายามทำเต็มที่

ยกตัวอย่างอย่างการพยายามร้องเพลงสร้างบรรยากาศ relax ให้คนไข้ ให้เป็นกันเองถึงขั้นที่เขาแซว ให้เราร้องเพลงให้ฟัง ก็แสดงว่า เราต้องมีการสื่อสารที่เป็นกันเองกับคนไข้ ตามสโลแกนของโรงพยาบาลเรา โรงพยาบาลชื่นชม โรงพยาบาลที่ใครๆ ก็ชื่นชม

10 ปีที่ผ่านมา เราวางรากฐานว่าทำยังไงให้เขามาชื่นชมโรงพยาบาลเรา แล้วก็เลือกโรงพยาบาลเราเป็นโรงพยาบาลแรก มีผู้ป่วยมารับบริการเยอะมากขึ้น เพราะจริงๆ ตอนนี้อัตราครองเตียงเราอยู่ที่ประมาณ 40% ก็ถือว่ายังไม่เยอะ เราก็อยากจะให้เขารู้ว่า โรงพยาบาลเราตั้งใหม่ น้องใหม่เรามีศักยภาพที่จะให้การบริการผู้ป่วย ทัดเทียมที่อยู่ในพื้นที่แล้ว”

แม้จะมีตำหน่งถึง ผอ.โรงพยาบาล ก็ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่บริหารอย่างเดียว แต่คุณหมอท่านนี้ ยังคงตรวจคนไข้ ช่วยน้องๆ หมอ ที่โรงพยาบาลด้วย

“ตอนนี้ยังตรวจ เพราะว่าโรงพยาบาลเราเล็ก 30 เตียง มีประชากรประมาณ 2 หมื่นห้า มีน้องหมออยู่ประมาณ 3 คน แล้ว 3 คนนี้ เดือนนึงอยู่เวรผลัดกัน 3 คน ก็แสดงว่าเดือนนึงเขาต้องอยู่เวรกัน 10 วัน

ผมก็เลยมาช่วยลดภาระ เพราะว่าเราจะต้องมีบริการตึกผู้ป่วยใน ต้องตรวจผู้ป่วยใน มีตรวจห้องฉุกเฉิน แล้วก็มีตรวจผู้ป่วยนอก เนี่ย 3 คนเต็มแล้ว ถ้าเราไปแบ่งอีกทีนึง คลินิกโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน ใครจะลงตรวจ ไม่มี เพราะฉะนั้นผมก็เลยต้องทำหน้าที่ไปตรวจให้น้อง ไม่งั้นก็จะไม่มีคนลงไปตรวจคลินิก งาน Service ก็ต้องทำ งานบริหารก็ต้องทำ

โรงพยาบาลชื่นชม ตอนที่แต่งตั้งผู้อำนวยการ โรงพยาบาลยื่นข้อเสนอว่าใครที่จะต้องมาอยู่โรงพยาบาลชื่นชม จะต้องทำงานบริการทางการแพทย์ไปด้วย ไม่ได้เป็นแค่ผอ. อย่างเดียว ทำงานบริหารไปด้วย จะต้องช่วยซัพพอร์ตน้องๆ เพราะว่าปีที่แล้ว ก็มีปัญหาลาออก ก็มีขาดแคลนแพทย์อยู่ครับ”


แฮบปี้ตลอด “13 ปี เสื้อกาวน์”

สำหรับเส้นทางอาชีพเสื้อกาวน์ ของผอ.หมอลำ เขาเล่าว่า เรียนจบแพทย์เมื่อปี 2554 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น อยู่บนเส้นทางข้าราชการมาทั้งหมด 13 ปี ซึ่งแพทย์แทบทุกคน จะต้องเซ็นสัญญาเพื่อใช้ทุนให้กับรัฐบาลทั้งหมด 3 ปี

หลังจากเรียนจบ เขาเลือกที่จะประจำอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดมหาสารคาม จากนั้นก็ย้ายกลับไปประจำที่ภูมิลำเนาตัวเอง อำเภอแกดำ ทำงานที่โรงพยาบาลไปด้วย เปิดคลินิกส่วนตัวไปด้วย

“คุณพ่อคุณแม่อยู่ที่อำเภอแกดำ ก็ไปเปิดคลินิกส่วนตัวที่นู่น ก็อยู่เป็นแพทย์ทั่วไปยาวๆ เลย ก็ไม่ได้มีแพลน ที่จะไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางอะไร เพราะว่าเราแฮปปี้ที่จะเป็นแพทย์ชุมชน โรงพยาบาลชุมชน ทำงานกับชุมชน ตรวจผู้ป่วยทั่วไป แล้วก็ทำงานโรคทั่วไป

เรารู้สึกว่าเราเป็นคนชอบพูด เราแฮปปี้ที่จะได้ทำงานร่วมกับชุมชน มาทำงานตรงนี้ ก็อยู่ได้ค่อนข้างยาว ที่อยู่ได้ค่อนข้างยาว อาจจะเป็นเพราะว่าหนึ่งผมเปิดคลินิก เรื่องของรายได้ก็ช่วยบาลานซ์เราระดับนึง แล้วก็อยู่ในพื้นที่บ้าน ภูมิลำเนาตัวเอง ได้ดูแลคุณพ่อคุณแม่ ก็สบายใจ เพราะฉะนั้นมันก็ตอบโจทย์เราแล้ว เราก็เลยยังไม่ได้มีแพลนที่จะไปเรียนต่อเฉพาะทาง”




ทำงานไปได้สักพัก รู้สึกว่าตัวเอง มีศักยภาพ และความสามารถ ที่จะขึ้นเป็นผู้บริหารได้ เขาก็ได้ยื่น ความประสงค์ที่จะขึ้นตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้ออกจากกรอบของตัวเอง ย้ายขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการ เมื่อปีที่แล้ว

หลังจากได้ออกจากกรอบของตัวเอง ย้ายขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการ เมื่อปีที่แล้ว เขาก็เล่าพร้อมเสียงหัวเราะอีกว่า ปีนี้ก็มีโอกาสปรับเปลี่ยนเป็นหมอลำแทน

“ผมเพิ่งขึ้นตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล ได้ประมาณ 1 ปี จริงๆ ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีไอเดีย ว่าจะมาทำดนตรี หรือว่าทำเพลง เพราะว่าก่อนช่วงที่จะขึ้นผอ. เรายังเป็นหมอที่อยู่ในสายที่ให้บริการด้านทางการแพทย์อยู่ ยังจะต้องตรวจ ยังจะต้องเข้าเวรเยอะ

ผมเป็นแพทย์เวชกิจทั่วไปครับ ผมเป็นหมอที่จบแบบทั่วไป แต่ว่าเตรียมตัวขึ้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ก็ต้องเริ่มเทคคอร์ส แล้วก็เริ่มเรียนพวกเวชศาสตร์ป้องกัน จะเรียกว่าเป็นแพทย์เฉพาะทางก็ได้ เรียกว่าเป็นแพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน แขนงสุขภาพจิตชุมชน เป็นแพทย์เกี่ยวกับด้านป้องกันโรค ก็เหมือนที่เราใช้ผลงานเพลงนี้แหละมาช่วยสร้างเสริม โรคป้องกันโรคให้กับประชาชน ตามสายที่เราเรียนมา”




พรสวรรค์ บวกเลือดศิลปินจากพ่อ

นอกจากจะมีพรสวรรค์ในด้านการร้องหมอลำแล้ว ที่ฝึกมาด้วยตัวเองแทบจะทุกวัน ระหว่างขับรถมาทำงานนั้น เขายังถือว่า มีเลือดศิลปินอยู่ในตัวด้วย เพราะคุณพ่อเป็นนักดนตรี

“ก็คงได้สายเลือดศิลปินมา เราก็เลยคิดว่ามีพรสวรรค์ในเรื่องของการร้องเพลง สมัยเด็กๆ ผมก็ไม่ค่อยร้อง ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ก็ไม่ค่อยร้อง เพราะว่าหมอลำในสมัยช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย ก็ยังไม่ฮิตมากนะ ส่วนใหญ่เพื่อนๆ ก็จะร้องเพลงสตริง เราไปร้องหมอลำขึ้นเวร ก็ไม่ค่อยมีคนอินนะ

แต่เดี๋ยวนี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต้องหมอลำเท่านั้น ถ้าเป็นร้านหลังมหาวิทยาลัยร้านดนตรี ร้านเหล้านหลังมอ เดี๋ยวนี้เป็นร้านลูกทุ่งหมอลำกันเยอะนะ เพราะว่าเด็กๆ ชอบหมอลำกันเยอะขึ้น

ตอนสมัยมหา'ลัย ผมก็ไม่ค่อยได้ร้อง พอจบออกมาเป็นหมอก็เริ่มร้อง ร้องในวงญาติ ไปงานญาติ ญาติก็เชิญขึ้นร้องเพลงตลอด มีหมอลำซิ่งมาเวทีใหญ่ เราก็ขึ้น เพราะว่าเราร้องได้ค่อนข้างมั่นใจ งานของฝั่งสาธารณสุข ท่านผอ.พิณพาทย์ ถ้าไปงานไหน ต้องร้องหมอลำ ไม่งั้นก็จะไม่ได้ เขาก็จะรู้อยู่แล้วว่า ผอ.เนี่ยร้องหมอลำเก่งอยู่แล้ว

ฝึกเองเลยครับ ไม่ได้มีใครมาสอน หมอลำ เขาเรียกว่ามีเมโลดี้ หรือว่ามีทำนองที่มันแตกต่างไปจากลูกทุ่ง แล้วก็มีทำนองที่มันเฉพาะ ทำนองขอนแก่น อุบล สารคาม กาฬสินธุ์ มันจะมีลักษณะของมันไป ทำนองเต้ย ลำพื้น เขาจะมีสไตล์ของเขา

ผมชอบฟังวงโปงลางอยู่แล้ว ชอบฟังวงดนตรีหมอลำอยู่แล้ว บางทีขับรถไปก็ฟังดนตรีที่เป็นวงโปงลางเป็นหมอลำ เพราะว่า เราได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก มันคงซึมซับเรา พอโตมากขึ้น คือไปนั่งดูคุณพ่อซ้อมวงโปงลาง เราจะชอบดูโปงลางมาก ชอบมาตั้งแต่เด็ก

แต่ว่าเราก็ขาดหายไปในช่วงที่คุณพ่อเสีย 10 ขวบ แต่มันก็เป็นวัยที่เราเริ่มเข้าสู่วัยเรียน เราก็คงเรียนๆ จนจบมหาวิทยาลัย แล้วเราก็ค่อยมาฝึกร้องเพลงด้วยตนเอง อาศัยออกงานโดยทั่วไป เป็นแขกรับเชิญไป โดยธรรมชาติของผู้บริหาร ก็จะต้องถูกเชิญขึ้นร้องเพลง แต่ว่าถ้าหมอพิณพาทย์ขึ้น เขาก็ต้องขอหมอลำ ผู้บริหารท่านอื่นก็จะร้องลูกทุ่งไป แต่ผมก็จะเป็นหมอลำจ๋าๆ เลย”


ถ้าจะเรียกว่า ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น ก็ดูจะไม่ผิดอะไรมาก เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว คุณพ่อของเขามีวงดนตรี ที่เป็นทั้งอิเล็กโทน มีวงดนตรีที่เป็นทั้งหมอลำซิ่ง มีวงโปงลาง แถมมีโชว์เดี่ยวพิณ เวลาเปิดงาน ด้วยความชื่นชอบการเล่นพิณของคุณพ่อ จึงเป็นที่มา ของการตั้งชื่อเขาด้วย

“มีหลายคนบอกว่าลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น เพราะว่าจริงๆ ผมมีเชื้อศิลปิน ผมชื่อพิณพาทย์ หลายคนก็จะงงว่ามาจากอะไร หลายคนอาจจะไม่รู้จัก ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ความหมายของคำว่าพิณพาทย์ มันเป็นภาษาไทยที่แปลว่าเครื่องดนตรี เครื่องมโหรี ปี่พาทย์ทุกอย่าง ถ้าแปลเป็นภาษาอังกฤษเขาจะแปลว่า musical instruments ก็คือเครื่องดนตรีทุกชนิด เขาจะเรียกว่าเครื่องดนตรีพิณพาทย์

แต่ที่มาที่ไปก็คือ คุณพ่อรับราชการครู เป็นคณิตศาสตร์ สมัยที่เขาเรียน เขาอยู่ในชมรมวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน วงโปงลาง มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม เขาเป็นมือพิณของวง เป็นหัวหน้าวง เขาชอบเล่นพิณ เขาก็เลยคงอยากจะตั้งชื่อลูกว่าพิณ แต่จะใส่อะไรเข้าไปให้ เพราะเขาคงไปเปิดหนังสือ เปิดคลังศัพท์มา ก็คงไปเจอคำว่าพิณพาทย์ ความหมายแปลว่าเครื่องดนตรี แกก็เลยตั้งชื่อว่าพิณพาทย์ แต่คุณพ่อผมเสีย ตั้งแต่ผม 10 ขวบ นะครับ”

ด้วยความที่คุณพ่อเป็นนักดนตรี ทำให้ตอนเด็กๆ เขาชอบเล่นดนตรี เขาสามารถเล่นดนตรีไทยได้บางอัน ไม่ว่าจะเป็นระนาด ฆ้อง เป่าขลุ่ย ซึ่งตอนนั้น เขาอยากเล่นพิณมาก อยากเล่นตรีอีสาน แต่ยังไม่ได้มีโอกาสได้ฝึก เพราะคุณพ่อ เสียชีวิตไปตั้งแต่เขายังเด็ก”


ส่วนเรื่องการแต่งเพลง เขาก็บอกว่า น่าจะมาจากพรสวรรค์เช่นกัน เพราะเขาไม่เคยไปเรียนแต่งเพลงที่ไหนเลย แถมยังบอกอีกว่า ไม่เคยคิดเลยว่าตัวเองจะแต่งเพลงได้

“มันน่าจะเป็นพรสวรรค์ มันมาเอง คือเรื่องแต่งเพลงเนี่ย ไม่เคยเรียนครับ ร้องเพลงเราก็ไม่เคยเรียน แต่ว่าเราชอบเรื่องของการร้องเพลง ก็พยายามฝึกหัดร้องไปเรื่อยๆ เพลงหมอลำไหนที่เราชอบ เราก็พยายามร้อง เวลาเราขับรถมาทำงาน เราก็เปิดเพลงหมอลำไปด้วย แล้วก็ร้องไปด้วย

บางทีก็จะเปิดที่มันเป็น backing track แต่ว่าเราร้องเอง ก็ร้องมาในรถ ก็เหมือนร้องคาราโอเกะ ฝึกร้องมาเรื่อยๆ ขับรถไป ร้องเพลงไปเพลินๆ บางทีก็แต่งเพลงไปด้วยตอนขับรถนี่แหละ

เพลงเบาหวานสะท้านใจ อันนี้แต่งตอนขับรถเลยครับ อาจจะไม่ปลอดภัยหน่อย ตอนที่ต้องจอดติดไฟแดง นึกคำออก ก็พิมพ์ไว้ นั่งนึกได้เท่านี้ มันโอเคเราก็แต่งเลย

โรคหลอดเลือดสมองมีเวลาว่างก็แต่ง บางทีทำงานบริหาร ทำงานเอกสาร เคลียร์แฟ้ม เซ็นเอกสาร บ่ายๆ มีเวลาแล้วก็นั่งแต่ง แต่งในโทรศัพท์นี่แหละครับ ก็เอาโน้ตขึ้นหัวข้อไว้ ลำเพลินสโตรกกระโชกใจ เกริ่นไว้ ก็แต่งค้างไว้ มีเวลาว่างก็มาแต่งอีก แต่เบาหวานสะท้านใจ ใช้เวลาแต่ง 1-2 วัน สโตรกนี้ใช้เวลา 3-4 วัน ”


ยังไม่คิดจะเดินสายหมอลำเต็มตัว

เมื่อถามถึงว่า แฟนๆ หลายคนที่ชื่นชอบให้ตัวคุณหมอ จะมีโอกาสได้เห็นหมอตั้ม ไปเฉิดฉาย ในเส้นทางหารเป็นนักร้องหมอลำแบบเต็มตัว หรือทำควบคู่ไปกับอาชีพแพทย์หรือไม่ เขาก็ยืนยันว่า ถ้าให้ตอบตอนนี้ ก็คงไม่แน่นอน เพราะยังไม่สะดวกไปรับงาน นอกเวลาราชการ บวกกับเวลาว่างที่เหลือจากงานราชการ ก็ต้องแบ่งให้ครอบครัวด้วย

“ถ้าถามว่าจะให้ไปเป็นนักร้องเต็มตัวไหม ก็คงไม่นะครับ และยังยืนยันที่จะอยู่ในวิชาชีพแพทย์ แล้วก็ในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลนี้ต่อไป แต่ถ้าถามว่ามีอีเวนต์เรื่องของการรับงานต้องไปโชว์ตัวร้องหมอลำ ก็อาจจะต้องพิจารณาเป็นครั้งๆ ไป เท่าที่เราทำได้ครับ

อาจจะคงไม่สะดวกไปรับงานหมอลำนอกเวลาราชการ ขึ้นเวทีก็คงจะไม่ไหว แต่ว่าถ้าเป็นงานของทางรัฐ ที่ให้เราไปร่วมงานด้วย เราก็จะยินดีมากๆ เพราะว่าถ้าเรายิ่งได้มีโอกาสไปในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น เราก็ยิ่งมีโอกาสที่จะนำผลงานเพลง ที่เราอยากจะสื่อข้อมูลสุขภาพตรงนี้ไป มันยิ่งจะกระจายมากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ เขายังมองอีกว่า อาชีพเรื่องการเป็นศิลปิน หรือว่าหมอลำสมัยก่อน หลายคนอาจจะมองว่า เป็นอาชีพที่เต้นกินรำกิน ไม่มีความมั่นคง ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้ เพราะถ้าใครสามารถพาตัวเองไปอยู่ชั้นแนวหน้าของวงการ หรือประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพหมอลำได้ เชื่อว่า รวยแน่นอน เพราะค่าตอบแทนก็ค่อนข้างเยอะ

พร้อมพูดให้เห็นภาพชัดๆ อีกว่า ศิลปินหมอลำ เขาทำงานต่อชั่วโมง ค่าตอบแทนหลักแสนเลยก็ว่าได้ ส่วนค่าตอบแทนของแพทย์นั้น 8 ชั่วโมง อัตราตอนนี้อยู่ที่ 1,200 บาท ซึ่งแตกต่างกันเยอะ


“แต่ว่าการที่เราจะไปอยู่ในแวดวงอะไรก็แล้วแต่ กว่าเราจะไปถึงขั้นแนวหน้า หรือว่ามีชื่อเสียง แล้วคนชื่นชม กว่าจะไปประสบความสำเร็จนั้น มันไม่ใช่ส่วนใหญ่ มันคือส่วนน้อย แล้วแต่ละคนต้องทำงานหนักมาก กว่าที่คุณจะมาประสบผลสำเร็จ เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงขนาดนี้ ต้องอาศัยดวงอาศัยหลายอย่างไปด้วย ถ้าวันนึง ผมมีชื่อเสียงขนาดนั้น ผมจะพาตัวไปทำแบบนั้นไหม

ถ้าให้ตอบ ณ ตอนนี้ คงไม่ เพราะด้วยตอนนี้ตำแหน่งหน้าที่การงาน แล้วก็งานที่เราทำอยู่ทุกวัน ต้องยอมรับว่าอาชีพแพทย์ก็ยังมีคนนับหน้าถือตา แล้วก็ยังมีคนที่ให้เกียรติเราค่อนข้างเยอะ

แล้วยิ่งมาเป็นตำแหน่งผู้บริหาร จากที่เราเคยทำงานในฐานะที่เป็นผู้บริการ เรารู้ปัญหาของโรงพยาบาลว่าช่องโหว่เป็นอะไร ในฐานะที่เราไปเจอปัญหา ในฐานะที่เรามาเป็นบริหาร เราก็อยากที่จะขับเคลื่อนให้สาธารณสุขของเรา ไปในทิศทางที่มันดีขึ้น

เราอยากจะทำหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นบริหารโรงพยาบาลยังไง ให้เจ้าหน้าที่เราอยู่ในระบบแล้วมีความสุข บริหารโรงพยาบาลยังไง ให้คนมารับบริการ แล้วมีความปลอดภัย มีความประทับใจ ในการบริการของโรงพยาบาล

เราอยากพัฒนาโรงพยาบาล หรือองค์กรของเราให้มันมีสมรรถนะที่ดีมากขึ้นได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม อาคารสถานที่ พัฒนาด้านบริการ พัฒนาเรื่องบุคลากร ที่เราอยากจะพัฒนาให้มันรอบด้าน

พอเรามาอยู่ตรงนี้ ถามว่าเรามีความสุข กับอาชีพที่เราทำ ในช่วง 1 ปี ที่มาเป็นช่วงยุคเปลี่ยนผ่าน เพราะว่าผมมาเป็นผู้อำนวยการ ต้องเรียกว่าเป็นผู้บริหารใหม่ไฟแรง ตอนนี้แฮปปี้มาก มีความสุขกับตรงนี้มากครับ”


ถ่ายทอดตัวตน “ให้” ผ่านโซเชียลฯ

หลังจากเป็นไวรัล ยอมรับว่าตกใจ เพราะสื่อรุมให้ความสำคัญเยอะขึ้น แต่ก็ฝากขอบคุณคนในโซเชียลฯ อย่างมาก ที่ชื่นชอบผลงาน

พร้อมกับฝากทิ้งท้ายไว้ว่า แม้หลายคนจะดังได้จากสื่อโซเชียลฯ แต่ถึงยังไงแล้ว มันก็มีทั้งข้อดี ข้อเสีย เพราะฉะนั้นแล้ว ต้องเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือนำเสนอที่สิ่งดีให้กับสังคมมากที่สุด

“ช่องทางโซเชียลฯ มี 2 ด้าน มีทั้งบวกและลบ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะเลือกใช้ประโยชน์จากโซเชียลฯ เราต้องเลือกใช้ในด้านสร้างสรรค์ แล้วก็นำเสนอสิ่งที่เหมาะสม เล่าเรื่องแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

บางทีโซเชียลฯ ก็เป็นพิษเป็นภัยในการที่เราไปเลือก เพราะฉะนั้นเราต้องเลือกสิ่งที่ดี แล้วเราก็พยายามที่จะนำเสนอสิ่งที่ดีให้กับสังคม

แต่จริงๆ ผมต้องการมีชื่อเสียงที่จะโด่งดังจากโซเชียลไหม ในจุดเริ่มต้น ไม่ได้มี เพราะไม่ต้องการที่จะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ เห็นอินฟูลเซอร์หลายคน ต้องใช้เวลากับหน้าจออยู่ตลอด ทำช่องยูทูบก็ต้องถ่ายวิดีโอตลอด เราคิดว่าเวลางานเราก็เยอะแล้ว เวลาครอบครัวก็อยากจะมี

ผมก็เลยไม่คิดว่าที่จะทำเป็นช่องไลฟ์สด หรืออะไรแบบนั้น ผมก็เลยพยายามดึงศักยภาพของตัวเอง ในฐานะที่เราเป็นวิชาชีพแพทย์ หน้าที่ของชาวสาธารณสุข เราจะทำยังไงเรา ให้ข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพเป็นประโยชน์ทางสังคม ใช้ความรู้ความสามารถที่เรามีอยู่ ทำยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประกอบกับความสามารถพิเศษส่วนตัว ที่เรามีอยู่ ก็คือความสามารถในการร้องเพลง”


ส่วนใครที่อยากจะมีตัวตนในโซเชียล หมอตั้มเชื่อว่า ทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง ทุกคนมีความสามารถแตกต่างกันออกไป บางคนอาจจะเก่งด้านร้อง ด้านเต้น หรือบางคนอาจจะเก่งในด้านการวาดภาพ เก่งเรื่องของการพูด

สื่อโซเชียลฯ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่จะทำให้หลายคนนำเสนอตัวตน ทำให้มีโอกาสมีชื่อเสียง หรือมีความโด่งดังได้ เพราะฉะนั้นถ้าใครอยากจะมีเรื่องของชื่อเสียง ผอ.หมอลำ ก็บอกว่า พยายามสร้างตัวตนของตัวเอง แล้วก็พยายามดึงศักยภาพที่ตัวเองมีออกมาให้คนเห็นให้ได้

“สมัยก่อน บางทีทุกคนมีความสามารถ แต่ไม่รู้ว่าจะไปโชว์ความสามารถทางด้านไหน ตอนนี้ช่องทางโซเชียลฯ เปิดโอกาสให้คุณแล้วแล้วแต่คุณจะเลือกช่องทางไหน หรือว่าแพลตฟอร์มไหน ในการแสดงที่คุณจะนำเสนอตัวตน หรือนำเสนอความสามารถออกไป ให้ผู้โดยทั่วไปได้รับรู้

และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ เราสามารถเผยแพร่ความสามารถที่เรามี ให้กับสังคมได้เห็น และที่สำคัญที่มากกว่านั้นไปอีกก็คือ มันเป็นประโยชน์กับสังคม อันนี้คือสิ่งที่เราดีใจ แล้วก็อยากให้ทุกคนใช้ความสามารถทุกคนนะครับ ให้ความสามารถทั้งหมดที่มีดึงมาใช้ ดึงศักยภาพของตัวเองมาใช้ แล้วก็นำไปสู่สาธารณชน แล้วที่สำคัญเลือกสื่อที่จะนำเสนอ ในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม”


เครียดแค่ไหน ให้ดนตรีช่วย




 

 “ผมว่าน่าจะทุกคนนะ เสียงเพลงมันทำให้เราผ่อนคลายนะครับ สมมติว่าเราทำงานเหนื่อยๆ บางทีเป็นผู้บริหาร ปัญหามันเยอะ เราต้องจัดการปัญหาหลายๆ


ถามว่ามันมีภาวะความเครียด เนื่องจากการทำงานไหม มันก็มี เราจะต้องทำอะไรหลายอย่างมากเลยครับ บางทีตรวจคนไข้ ก็ต้องรับโทรศัพท์ ไลน์ อะไรหลายอย่าง บางทีต้องบอกคนไข้ว่า ตรวจกับผอ. เป็นจังซี่เด้อ รับโทรศัพท์ก่อนนะ


หลายอย่างเครียดนะครับ มีอยู่บ้างแหละถ้างานไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือว่าขึ้นมาเป็นตำแหน่งผู้บริหาร ภาระก็จะต้องรับมากขึ้น เสียงเพลงที่ผมได้ relax มากๆ คือผมจะมีเวลาอยู่กับตัวเอง ผมจะพยายามปล่อยวาง ไม่รับโทรศัพท์ พยายามไม่คุยงาน เพื่อความปลอดภัยในการขับรถ ก็เปิดเพลงหมอลำ ร้องเพลงหมอลำ ไม่มีเวลา จะมีเวลาวันนึง ก็คือ 2 ชั่วโมง ที่เราจะได้ relax กับตัวเอง


ช่วงรับตำแหน่งผอ. ใหม่ๆ พยายามคิดแต่งานตลอดอยู่ในหัว บางทีมันจะหนักเกินไป บางทีเราขับรถ เราก็พยายามคิด เราต้องพยายามปล่อย ตอนนี้ปรับตัวได้ดีขึ้น แต่ว่าถ้าถามว่าเรื่องเพลงช่วย relax ได้ไหมต้องบอกเลยว่า 100%”




ปัญหาเรื้อรัง “แพทย์ขาดแคลน-สมองไหล”


 

 “จริงๆ ถ้าถามว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนแพทย์ไหม ขาดแคลน แต่ปัญหาคือการกระจุกตัวของแพทย์ เป็นปัญหามากกว่า แพทย์จะไปกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมือง จะไปอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่ๆ แพทย์ลาออกไปทำเรื่องของคลินิกความงาม แพทย์ไปทำอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชน ทั้งที่จริงๆ แพทย์ผลิตมา ทุกคนต้องเซ็นสัญญาเป็นนักเรียนทุนของรัฐบาล


คุณจบออกมา คุณจะต้องทำงานเพื่อชดใช้ทุนให้กับรัฐบาล แต่ว่าค่าปรับมันก็ไม่เยอะครับ บางคนเขาก็ยอมที่จะเสียค่าปรับ ไม่ยอมชดใช้ทุน แล้วก็ไปทางเลือกที่เขาแฮปปี้มากกว่า บางคนตั้งใจเรียน เพื่อที่จะมาเป็นแพทย์ความงาม บางคนตั้งใจออกมาเพื่อที่จะไปเอกชน อาจจะมีน้อยคนที่ยังอยู่ในระบบราชการได้นาน


ปัญหาหลายอย่างก็คือเรื่องของการกระจุกตัวของแพทย์ ที่เราเสียแพทย์ออกจากระบบไปอยู่นอกระบบก็เยอะ มันก็เลยมีปัญหาเรื่องของการกระจุกตัวของแพทย์ การที่สมองไหลออกไป แล้วก็การที่แพทย์ที่อยู่ในระบบราชการของเราลดลง แพทย์ตามภูมิภาคก็เลยเป็นปัญหาว่า เกิดความขาดแคลน


แต่ถ้าในพื้นที่ จ.มหาสารคามถือว่าเป็นพื้นที่ ที่มีความโชคดีระดับนึง ที่อัตราการขาดแคลนแพทย์ของเรา ถือว่ายังไม่ได้มีปัญหา แต่ว่าจังหวัดข้างเคียงของเรา มีปัญหาเรื่องของการขาดแคลนแพทย์ค่อนข้างเยอะ


สำคัญที่สุด ทำยังไงให้น้องหมออยู่ในระบบราชการ อยู่ในโรงพยาบาลชุมชนให้ได้นาน นั่นหมายความว่าน้องเขาอยู่แล้วเขาต้องแฮปปี้ เขาจะต้อง balance ทั้ง work แล้วก็ life แล้วก็เรื่องของค่าตอบแทน แล้วก็ภาระงานที่จะต้องไม่หนัก แล้วก็รูปแบบการทำงานของเขา เวลางานต้องเหมาะสม แล้วก็เรื่องของสวัสดิการบ้านพัก แล้วก็เรื่องของพื้นที่ที่เขาอยู่ด้วยว่าห่างไกลจากภูมิลำเนาเขาหรือเปล่า ก็จะทำให้น้องเขาอยู่ในพื้นที่ไม่นาน


แต่ถ้าเขามีทางเลือกที่ชีวิตเขาจะแฮปปี้มากกว่า แล้วเขาบาลานซ์อยู่ได้ที่ดีกว่า เขาก็ยอมไปทางเลือกที่เขาแฮปปี้มากกว่า เพราะฉะนั้น ในระบบราชการ ก็เป็นโจทย์สำหรับผู้บริหารกระทรวงระดับสูงขึ้นไป เป็นจุดสำคัญแล้วว่า ทำยังไงที่จะดึงแพทย์ที่จะอยู่ในระบบ ให้อยู่ได้นานขึ้น


การส่งเสริมการผลิตแพทย์เพิ่ม ก็เป็นช่องทางนึง แต่อาจจะเป็นปัญหาที่จะช่วยได้ระดับนึง แต่ระดับที่สำคัญที่สุดก็คือ ทำยังไงให้แพทย์ที่อยู่ในระบบ เขาอยู่ได้แฮปปี้ทแล้วก็มีความสุข แล้วก็ต้องบาลานซ์ค่าตอบแทน แล้วก็ภาระงานเขาก็ต้องโอเค เขาถึงจะอยู่ในระบบได้ แล้วก็ลดความขาดแคลนตรงนี้ได้”



สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ขอบคุณภาพ : แฟนเพจ “โรงพยาบาลชื่นชม”, เฟซบุ๊ก “Pinpart Dat”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น