xs
xsm
sm
md
lg

ลบภาพ "หมอนวดไทย" แถมเรื่องอย่างว่า คว้า "แชมป์นวดเอเชีย" จับเส้นคิวทองในญี่ปุ่น!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่ใช่แค่ทำให้ "ลูกค้า" ผ่อนคลาย แต่ลายเซ็นของเธอคือ บำบัดความเมื่อยให้ตัวเองไปด้วย เพื่อให้ "การรับ-ส่งพลังงาน" เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จนกลายเป็น "หมอนวดมือทองในญี่ปุ่น" ที่จัดการมาแล้วทุกแนว ลูกค้าตัวเล็ก-ตัวใหญ่-ตัวอ่อน-ตัวแข็ง เอาอยู่หมด!!






ฝันสำเร็จ!! แชมป์นวดไทยแห่งเอเชีย

“ความจริงเราก็ต้องหวังเป็นธรรมดาว่าเราจะได้ใช่ไหมคะ สุดท้ายก็แล้วแต่กรรมการท่านจะพิจารณา แต่ว่าทำสมาธิมาก่อน โฟกัสคนที่มาเป็นหุ่นเรา อยากทำให้เขามีความผ่อนคลาย เราก็ต้องทำให้ดีที่สุด คิดแค่นี้ค่ะ แล้วก็ส่งสมาธิไปให้เขา

รู้สึกดีใจมากค่ะ รู้สึกช็อก เพื่อนๆ ที่มาเชียร์ก็ร้องไห้ทุกคน เพราะว่าปีที่แล้วที่ไปแข่งโตเกียว เราก็ไม่ได้ เขาก็อกหักกันเนอะ ก็ดีใจมาก หนูก็คิดว่าเป็นตัวแทนของคนไทย ที่สามารถเหมือนเอา Soft Power มาโชว์ หนูคิดว่าการแข่งขันคือการมาโชว์ศักยภาพนวดไทยสู่สายตาคนญี่ปุ่น สายตาทั่วโลกให้รับรู้ค่ะ”

“แหวน - ชนากานต์ โคโมริดะ” กล่าวพร้อมใบหน้าเปื้อนรอยยิ้ม



เธอคือครูสอนนวด และเจ้าของ “Chana spa” ร้านนวดไทยใน จ.คุมาโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น พ่วงตำแหน่ง แชมป์นวดไทย อันดับที่ 1 ของเอเชีย จากรายการ “Asia Massage Championship 2024” ที่แข่งขันไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

สำหรับ “Asia Massage Championship 2024” คือการแข่งนวดชิงแชมป์เอเชีย ในครั้งนี้จัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น Oil Department, Body Care Department, Facial Department, Traditional Thai Department, Freestyle Massage Department และ Stretch Department

แหวน ได้ลงแข่งขันในประเภท “นวดไทย” ด้วยท่วงท่าที่ละมุนอ้อนช้อยราวกับกำลังร่ายรำ แต่ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และยังถูกต้องตามหลักการนวดไทย ทำให้หมอนวดชาวไทยคนนี้ คว้าเหรียญทองมาครองได้สำเร็จ

“Asia Massage Championship 2024 เป็นรายการของเอเชียค่ะ ที่จะจัดที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะรวม therapist มาแข่งขัน จะมีเกาหลี จีน ไทย เวียดนาม อะไรอย่างนี้ มีประเทศที่อยู่ไกลๆ อินเดีย เนปาล เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ก็มานะคะ

(เทียบกับการแข่งขันกีฬา) น่าจะ Asian Games ค่ะ เพราะมีหลากหลายประเทศ เป็นสนามใหญ่เลย เท่าที่รู้ประมาณ 300 กว่าคนค่ะ แต่ว่าแต่ละประเภทก็จะไม่เท่ากัน

เป็นความต้องการที่เราอยากจะ challenge ตัวเอง เพราะว่ามีโอกาสได้มาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ก็เห็นคนญี่ปุ่นเขารักและเคารพวัฒนธรรมไทย แล้วก็รักการนวดไทยมาก



เรารู้สึกว่าเราเป็นคนไทย เราก็อยากจะสืบสาน อยากจะพัฒนาตัวเองให้เทียบเท่ากับคนญี่ปุ่น เพราะว่าสนามแรกที่หนูลงแข่ง หนูก็ไม่เข้ารอบอะไรเลย คนที่ได้รางวัลก็เป็นคนญี่ปุ่น มาครั้งที่ 2 หนูก็ได้แค่รอบ 10 คนสุดท้าย

ก็เลยมีความตั้งใจว่าหนูอยากจะฝึกฝนตัวเอง มีความฝันว่าอยากจะได้ที่ 1 เราทำงานอยู่ที่ญี่ปุ่น แล้วเราเป็นคนต่างชาติ เขาไม่ได้ยอมรับเราอะไรเยอะ เพราะฉะนั้น เราต้องชนะเขาให้ได้

คนญี่ปุ่นนวดไทยบอกตรงๆ เก่งมากๆ จากที่หนูดูมา คนที่นวดไทยเก่งรองจากไทยก็คือคนญี่ปุ่นค่ะ บางท่านเรียน 20 ปี 30 ปี 40 ปี เรียนย่ำขาง เรียนตอกเส้น เรียนอยู่ไฟ บางคนไปทุกเดือน ไปเรียน anatomyไปดูผ่าอาจารย์ใหญ่ใน มช.

เขาฝังอยู่ที่ประเทศไทยเลยค่ะ เขาจริงจังหนักมาก ซึ่งหนูความรู้เป็นศูนย์เลยค่ะ หนูก็อยากจะอัพเดทให้เทียบเท่ากับเขา ทุกคนเป็นแรงบันดาลใจ เป็นครูให้หนูได้เรียนรู้ค่ะ หนูก็เลยต้องพัฒนาตัวเองค่ะ”



เธอเล่าว่า การแข่งขันนวด มีการเตรียมตัวไม่ต่างจากการแข่งขันกีฬา ที่ต้องสร้างร่างกายให้แข็งแรง ฝึกฝนทักษะให้เชี่ยวชาญ ไปพร้อมๆ กับการมีสมาธิที่ตั้งมั่น

“ต้องขับรถจากเมืองคุมาโมโตะ ไปโตเกียว ประมาณ 1,300 กิโลเมตร ไป 2 วัน กลับ 2 วันก็ 4 วันค่ะ ทำสมาธิตอนที่เราขับรถไป คิดท่านวดในสมองว่าเราจะทำยังไง ใช้ท่าไหนต่อท่าไหน สำคัญมากเวลาทำสมาธิ

การเตรียมตัวก็คือ ทักษะเราต้องฝึกฝน เราต้องใช้ให้เกิดความชำนาญในการเคลื่อนไหวร่างกาย สิ่งที่สำคัญไปไม่น้อยกว่าการนวด ก็คือการออกกำลังกายค่ะ ยกเวท squat ก็เป็นการฝึกกล้ามเนื้อ เวลาเรานวด การที่จะทำให้ movement มัน smooth มันจะต้องอาศัยกล้ามเนื้อที่แข็งแรง แล้วเราจะใช้พลังในการนวด เพราะฉะนั้น เราต้องแข็งแรงด้วยค่ะ

มีฝึกสมาธิด้วยค่ะ การนวดไม่ได้ทำให้แค่ลูกค้าผ่อนคลายอย่างเดียว เราก็ต้องผ่อนคลายด้วยค่ะ การนวดมันเป็นการรับ-ส่งพลังงาน จากผู้นวดสู่ผู้ถูกนวดใช่ไหมคะ ถ้าเรารู้สึกปวดหลัง ปวดเอว ปวดคอ พลังงานที่เราถ่ายออกไป ลูกค้าก็จะไม่สบาย แต่ถ้าเรามีความ relax เราจะสามารถถ่ายทอดพลังงานนั้นไปให้ลูกค้าได้

แหวนจะเป็นคนที่ทำสมาธิตอนนวดด้วย เพราะเราจะสามารถสัมผัสได้ถึงมัดกล้ามเนื้อ อันนี้ตึงนะ เขามีปัญหาตรงจุดไหน ถ้าเกิดเราทำสมาธิไปด้วย เราก็จะสามารถสัมผัสถึงอาการของลูกค้าได้ค่ะ จุดนี้ก็เป็นจุดสำคัญค่ะ”



และกว่าที่จะได้คะแนนจากรรมการ ก็ทำเอาผู้เข้าแข่งขันเหงื่อตก เพราะแต่ละท่านเข้มงวดและเป๊ะทุกจุด

“จะแข่งแค่รอบเดียว แต่ว่าจะแบ่งการแข่งออกมาแต่ละรอบๆ ว่าเราจะได้รอบไหน (จำนวนผู้เข้าแข่งขันประเภทนวดไทย) ประมาณ 45 คนค่ะ กฎกติกาก็คือ ข้อแรกคุณต้องนวดตามหลักของนวดไทย ก็จะมีการเดินเส้น คุณเดินเส้นถูกหรือเปล่า energy lines คุณทำถูกต้องหรือเปล่า ในเรื่องของสรีระวิทยาของลูกค้า คุณมีการยืดแล้วมันตรงตามหลักองศาได้หรือเปล่า

วิธีการดูแลลูกค้า เวลาเรานวดเรามีความใส่ใจไหม เราแต่งกายให้เหมาะสมกับเวลาให้บริการหรือเปล่า เขาก็จะตรวจดูความเรียบร้อย ดูเล็บ ดูผม ดูอะไรอย่างนี้ทั้งหมดเลย

แล้วก็ท่านวดมันเป็นท่าที่ล่อแหลมหรือเปล่า เป็นท่าที่ต้องห้ามหรือเปล่า ท่าที่เรานวดสามารถใช้ได้จริงหรือเปล่า นวดไปแล้วแล้วมันโดนจุดไหม หรือว่าแค่สวยอย่างเดียว ท่าสวยอย่างเดียวก็โดนตัดคะแนน ท่ามันไม่โดนจุดก็โดนตัดคะแนน กรรมการที่ญี่ปุ่นค่อนข้างที่จะเข้มงวดมาก เดินมาดูแต่ละจุด คุณทำถูกต้องหรือเปล่า”



และแล้ว ความพยายามทั้งหมดที่ทำมาก็สัมฤทธิ์ผล ชัยชนะตกเป็นของสาวไทยคนนี้ในที่สุด นอกจากเหรียญรางวัลที่ได้ แหวนยังได้รับคำชมจากรรมการผู้เห็นพัฒนาการของเธอมาตั้งแต่ต้น

“กรรมการก็บอกว่าท่านี้ตัดคะแนนนะ ท่านี้ทำไม่ได้ แล้วกรรมการอีกท่านหนึ่งที่รู้จักกันมาตั้งแต่หนูเริ่มเรียนนวดไทย ท่านเป็นคนญี่ปุ่น ท่านก็เดินมาบอกว่า ‘เธอไปเก่งจากไหนมา ทำไมฉันไม่รู้’ (หัวเราะ) ก็มีชมบ้าง แต่ละคนก็จะบอกว่าฝีมือของปีนี้กับปีที่แล้วช่างแตกต่างกันนะ ท่านที่เคยเห็นเรามา เขาก็จะมาพูดแบบนี้ค่ะ

ปีที่แล้วที่ไปแข่ง ก็จะมีความรู้สึกว่าเวลานวด เราโฟกัสแต่ตัวเอง โฟกัสแต่ว่าท่าที่เรานวดจะสวยไหม เราไม่ได้แคร์ลูกค้าเลยว่าลูกค้าเจ็บหรือเปล่า เราทำท่านี้แล้วเขารับไหวหรือเปล่า เราโฟกัสที่เราซ้อมมาแบบนี้ แล้วจะต้องทำแบบนี้ๆ เท่านั้น

แต่ความจริงแล้ว เวลาที่ไปถึงสนามจริง เราไม่สามารถเลือกหุ่นได้ เราไม่รู้เลยว่าใครจะมาเป็นหุ่นให้เรา เพราะฉะนั้น เราต้องฝึกซ้อม หุ่นตัวเล็ก ตัวใหญ่ ตัวอ่อน ตัวแข็ง เราต้องทำได้หมด แล้วก็ apply ท่าที่เราจะสามารถใช้ได้ ณ ตอนนั้นด้วยค่ะ บางคนแขนตึง เราอยากจะโชว์ท่านี้แต่มันก็ไปไม่ได้ เราก็ต้องหาท่าอื่นสำรองไว้ค่ะ”



นอกจากการคว้าชัยในสนามเอเชียแล้ว อีกความฝันที่หมอนวดสาวไทยคนนี้อยากจะสัมผัส ก็คือการได้ลงแข่งขันนวดไทยในสนามระดับโลก

“ประสบการณ์อย่างแรกเลย การไปแข่งขันมันได้พัฒนาตัวเอง เป็นสิ่งที่เราหาซื้อไม่ได้ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ถ้าสมมติว่าเราไม่ได้ลงแข่ง เราก็จะโฟกัสที่ลูกค้า ก็จะทำงานของเราในทุกๆ วันใช่ไหมคะ แต่พอเราได้แข่งปุ๊บ เราก็จะคิดต่อไปว่าท่านี้เราใช้แบบนี้ แล้วเราจะต่อไปยังไง ต่อท่าไปท่าไหนได้อีกให้ smooth เราจะสามารถคิดค้นขึ้นมา

สิ่งที่ได้จากการแข่งขันก็คือได้เพื่อนเพิ่ม อย่างหนูย้ายมาอยู่ญี่ปุ่น คนรู้จักแทบจะไม่มีเลย แต่พอไปแข่งก็จะได้เพื่อนคนญี่ปุ่น ได้เพื่อนต่างชาติเพิ่มเข้ามาเยอะแยะเลยค่ะ คนที่มาแข่งเขามีหัวใจมารวมตัวกัน ได้เจอสังคมที่ดีๆ ดีใจมากๆ ค่ะ

อยากไปสนาม World Championship จะเป็นสนามของ International Massage Association ที่ Copenhagen แต่ว่าอาจจะยังพักไว้ก่อนสักปีสองปีค่ะ เพราะว่าแข่งที่ญี่ปุ่นก็ใช้เงินหนักมาก หยุดงาน 3 อาทิตย์ เพื่อเก็บตัวแล้วก็ไปแข่งค่ะ เราไม่ได้มีสปอนเซอร์หรือว่าใครซัพพอร์ต ขอเก็บเงินก่อน (ยิ้ม) ครั้งหนึ่งในชีวิตค่ะ”

เสียน้ำตานับไม่ถ้วนจนเกือบเลิกนวด

ย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นก่อนที่แหวนจะมาเป็นมือนวดระดับแชมป์ เธอทำงานเป็นพนักงานบริษัท ซึ่งสมาชิกในครอบครัวก็ไม่มีใครทำงานเกี่ยวกับการนวดสักคน มิหนำซ้ำ ตัวเธอเองก็ยังไม่เชื่อในพลังแห่งศาสตร์นี้อีกด้วย

“เป็นคน จ.ลำพูนค่ะ เรียนจบที่มหา’ลัยแม่โจ้ คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ จบมาก็คือเป็นพนักงานบริษัททั่วไปค่ะ ไม่ได้มีความรู้เกี่ยวกับการนวดเลย ความรู้คือเป็นศูนย์ ติดลบดีกว่าค่ะ

จุดเริ่มต้นก็คือว่าแม่อยากนวดหน้า ก็เลยส่งให้เราไปเรียนนวดหน้า เพื่อจะมานวดหน้าให้แม่ เพราะว่ามีพี่ที่ทำงานเขานวดยกกระชับหน้า แม่ก็อยากสวย ถ้าให้แม่นวดเองแม่ก็ไม่รู้จะนวดยังไง อยากให้ลูกมีอาชีพเสริมด้วย แม่น่าจะคิดแบบนี้

ความจริงการนวดหน้าเราแอนตี้ด้วยซ้ำ การนวดหน้ามันจะยกกระชับได้จริงหรือเปล่า คือเราตั้งป้อมไว้เลย แต่แม่บอกว่าไปเรียนเถอะ ขอร้อง กราบให้ไปเรียน ก็เลยโอเค ไปก็ไป พอนวดเสร็จมันยกจริง เราก็เลยเริ่มเปิดใจเกี่ยวกับการนวด

แม่แฮปปี้มากค่ะ ‘ลูกฝึกน้ำหนักมืออีกนิดนึงนะ อันนี้มันยังไม่ได้นะ’ อะไรอย่างนี้ ก็จะคอมเมนต์ แล้วก็นวดให้ป้า นวดให้เพื่อนแถวๆ บ้าน ก็เป็นอาชีพเสริมวันหยุดของเราเล็กๆ น้อยๆ ค่ะ”


[ ชิมลางงานนวดหน้าครั้งแรก ]

จากการนวดหน้าให้แม่ ก็มาสู่การเปิดร้านนวดหน้าเป็นของตัวเองใน จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับ feedback ในทิศทางดี โดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ก่อนที่เธอจะขยับมาเรียนรู้การนวดไทย

“เริ่มเรียนเรียนนวดหน้าตอนอายุ 29 ค่ะ แล้วก็เรียนนวดไทยเริ่มตอนอายุ 30 ค่ะ ตอนแรกเราก็ไม่ได้อยากจริงจัง อยากจะทำงานหรืออะไรอย่างนี้นะคะ ไม่ได้คิดว่าเราจะไปทำงานนวดด้วย ก็คือฝึกนวดให้ป้า นวดให้พี่ นวดให้น้อง

เรียนที่โรงเรียนวัดโพธิ์ค่ะ แต่เป็นสาขาเชียงใหม่ แล้วก็เรียนอีกโรงเรียนนึงเป็นโรงเรียน ITM (International Training Massage School) เป็น English class นวดไทยเหมือนกัน แต่ว่าส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่งมาเรียนค่ะ ที่วัดโพธิ์ก็จะเน้นการกดจุด กดเส้น เดินเส้นใช่ไหมคะ ที่ ITM จะเน้นการยืดเหยียด stretching แบบล้านนา ก็จะมีความแตกต่างกันในแต่ละโรงเรียนค่ะ

พอเราเรียนเสร็จปุ๊บ จะบอกว่าพื้นฐานของการนวดเป็นสิ่งสำคัญมากที่เราควรจะต้องรู้ เราควรจะต้องรู้เส้น เราควรจะต้องรู้สรีระของลูกค้า แล้วพอเรารู้ปุ๊บ เราสามารถมาปรับใช้กับสรีระของเรา แล้วก็สรีระของลูกค้าได้ด้วย

ตอนแรกเปิดร้านนวดหน้าอยู่ที่เชียงใหม่ ก็เลยเริ่มมีลูกค้า เปิดประมาณปีนึง ตอนนั้นเป็นนวดหน้าค่ะ ก็มีลูกค้าต่างชาติ หนูไม่แน่ใจว่าหนูไปเจอเพื่อนที่โรงเรียนนวดไทย เขาน่าจะเป็นคนบราซิล แล้วเขาก็ไปโพสต์ในเพจว่าหนูนวดหน้า แล้วลูกค้าก็มาจากนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเชียงใหม่

ฝรั่งทักมาตอนแรกพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ลืมไปหมดแล้ว แล้วพอได้เริ่มใช้ก็ snake snake fish fish ประมาณนี้ค่ะ (หัวเราะ) หนูคิดว่าหนูได้มีการซ้อมมือ ซ้อมนวด ราคาเราก็ไม่ได้คิดราคาลูกค้าแพง เหมือนเราได้ฝึกฝนตัวเอง อย่างนี้ค่ะ”


[ คุณแม่ผู้ชี้ทางสู่วงการนวด ]

สำหรับจุดเปลี่ยนที่ทำให้สาวออฟฟิศ เบนเข็มมาสู่การนวดเป็นอาชีพ เริ่มขึ้นหลังจากที่แหวนแต่งงานและย้ายไปใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่น ด้วยเพราะมีวิชานวดติดตัวมา เธอจึงทำงานเป็นลูกจ้างในร้านนวดไทยของที่นั่น

“อาจจะเพราะเราแต่งงานกับคนญี่ปุ่นด้วย เราได้ย้ายมาอยู่ที่ญี่ปุ่น แล้วอาชีพที่เราสามารถทำได้ก็คืออาชีพนวด เพราะว่าแฟนหนูจะเป็นครูสอนนวดไทยอยู่แล้ว ก็เลยคิดว่าโอเค เราไปเปิดร้านที่ญี่ปุ่นกัน

แต่ว่าตอนแรกมาก็คือไม่ได้มีเงินทุนนะคะ แล้วเราก็ฝีมือนวดก็คือแทบจะไม่ได้เลย ภาษาญี่ปุ่นเราก็คือเป็นศูนย์ เราฝึกนวดมาอย่างเดียว แต่เราลืมคิดไปว่าเราต้องฝึกภาษาด้วย ไปเป็นลูกจ้างก่อนเลยค่ะ เพราะว่าไม่ได้มีเงินทุนในการเปิดร้านเลย เรามาคือศูนย์ แฟนเรามีแต่ความรู้แต่ไม่ได้เป็นคนร่ำรวยมีเงินอะไร

มาปีแรกยังไม่ได้ทำงานนะคะ ยังไม่ได้ทำอะไรเลย ก็อยู่เป็นแม่บ้าน ฉันจะทำอะไรดี ถักผ้าพันคอไหม หรือฉันหาอะไรจุ๊กๆ จิ๊กๆ ทำ ปีที่ 2 เริ่มจะทำร้านนวด ปีที่ 3 ก็มาเปิดร้านเป็นของตัวเองค่ะ”



นอกจากจะต้องพัฒนาฝีมือการนวด ก็ต้องมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องต่อสู้ ทั้งการใช้ชีวิตในต่างแดน ทั้งกำแพงภาษา ทั้งเพื่อนร่วมงาน และอื่นๆ อีกมากมาย ราวกับพายุลูกใหญ่ที่ซัดเข้ามาพร้อมกัน แหวนเคยท้อจนถึงเกือบขั้นไม่อยากเป็นหมอนวดแล้ว

“พอไปทำงานปุ๊บ อยากจะร้องไห้ ฉันพูดไม่ได้เลย ให้ลูกค้านอนคว่ำ ให้ลูกค้านั่งยังบอกไม่ได้เลย เราก็ต้องมาเรียนภาษาญี่ปุ่น เรียนเองใหม่หมดเลย เป็นคำศัพท์ที่เราใช้ในชีวิตประจำวันค่ะ

ญี่ปุ่นนี่คือตอนมาแรกๆ เราไม่ได้มีใบขับขี่ เพราะฉะนั้น พาหนะที่เราใช้คือจักรยาน ต้องปั่นจักรยานไปทำงานไป 6 กิโล กลับ 6 กิโล แล้วก็เราก็ต้องนวด เป็นอะไรที่มันหนักมากในชีวิตเลย ปั่นจักรยานกลับบ้านมาแล้วแวะร้องไห้ก็มีค่ะ

มันเหนื่อยมากค่ะ เหนื่อยมากๆ ฉันมาทำอะไรที่นี่ เราอยู่ไทยแล้วขับแต่รถยนต์ เราขับแต่มอเตอร์ไซค์ เราไม่เคยเดิน เราไม่เคยออกกำลังกาย เราไม่เคยปั่นจักรยาน มันมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ถ้าเราขับรถมาก็ต้องมีที่จอดรถ แล้วมันไม่คุ้มค่ากับที่เราทำงานในแต่ละวัน ขึ้นรถบัสก็ได้ แต่ว่าเราก็เสียดายเงิน เราก็เก็บเงิน เราก็ยอมปั่นจักรยานดีกว่า



ช่วงนั้นมันจะมีเพื่อนร่วมงานคนญี่ปุ่น เขานวดมา 10 ปีได้ เราเพิ่งเข้ามา เขาอาจจะมองเราเป็นเด็ก แล้วเขาค่อนข้างที่จะดูถูกเรา เขาก็จะบอกเธอเป็นคนไทยเหรอ วิธีการทำงานของเธอก็เป็นวิธีการของคนไทยใช่หรือเปล่า

เราก็นวดไม่เป็น เราก็ใหม่ ภาษาเราก็ยังไม่ได้ ร้องไห้หนักมาก แล้วเราก็เลยมีความรู้สึกว่าเรากดดัน ก็เลยไม่อยากจะอยู่ตรงจุดนั้นแล้ว ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เราลาออกมา ไม่ได้ว่าเจ้าของร้านไม่ดีนะคะ ก็คือเพื่อนร่วมงาน

ปัญหาคือครอบครัวก็ไม่มี ไปพึ่งใครก็ไม่ได้ แล้วมันก็มีอาการปวดเมื่อยด้วยใช่ไหมคะ หนูก็บอกกับแฟนว่า ‘เธอ ฉันไม่อยากจะทำงานนวดแล้ว ฉันไปทำงานอย่างอื่นได้ไหม’ แบบนี้ก็มีค่ะ เขาก็ ‘เธอ ไม่เป็นไรหรอก ไม่เป็นไร’ คือภาษาที่เราสื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ เขาพูดอะไรเยอะก็ไม่ค่อยเข้าใจค่ะ ‘ไดโจบุๆ’ อะไรอย่างนี้ เขาก็จะปลอบเป็นแบบนี้มากกว่า

ร้านที่หนูไปทำ หนูคิดว่าหนูได้ประสบการณ์จากตรงนั้นเยอะ เป็นเหมือนโรงเรียนที่เราไปเรียนรู้ เหมือนเราได้เงิน แล้วก็ทำงานด้วย หนูคิดแบบนี้มากกว่าค่ะ พอมาญี่ปุ่นนี่คือแบบว่า… (ส่ายหน้า) ใครจะบอกว่ามาทำงานต่างประเทศแล้วสบาย ดูตัวอย่างไว้ก่อนค่ะ (หัวเราะ) คุณต้องฝ่าฟันอุปสรรค”

หมอนวดเล็กพริกขี้หนู ลูกค้าตัวใหญ่แค่ไหนก็เอาอยู่

บทชีวิตของแหวน ได้พลิกสู่หน้ากระดาษถัดไป กับหน้าที่ความรับผิดชอบที่มากขึ้นตามมา ในฐานะเจ้าของ “Chana spa” ร้านนวดไทยใน จ.คุมาโมโตะ ร่วมกับ “โกว โคโมริดะ” สามีที่เชี่ยวชาญด้านการนวดไทยเช่นกัน

“เจ้าของกิจการนี่คือข้อดี เรามีเวลา เราสามารถ manage งานของเราได้ว่าอยากทำวันไหน อยากหยุดวันไหน แต่ว่าข้อเสียก็คือค่าใช้จ่าย ค่าชีพของที่ญี่ปุ่นจะสูงมาก ค่าเช่าร้าน ค่าที่จอดรถ ต้องจ่ายให้เขาเบ็ดเสร็จแล้ว 50,000 - 60,000 นี่คือค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน เป็นค่าใช้จ่ายคงที่นะคะ เราต้องหามา support ในจุดนี้

จะมีนวดไทย นวดหน้า แต่ส่วนใหญ่จะโฟกัสที่นวดไทย เพราะว่าโกวซังเขาก็นวดไทยได้ เป็นครูนวดไทย (ทีมงาน) มี 2 คนค่ะ เพราะว่า therapist ที่ญี่ปุ่นหายากมาก เมืองนี้คนไทยแทบจะไม่มีค่ะ มีประมาณ 10 กว่าร้าน มีหนูเป็นคนไทยที่นวดไทยคนเดียวในจังหวัดนี้ ในย่านนี้ค่ะ แต่ว่าถ้าโตเกียว โอซาก้า จะเยอะมาก เป็นชุมชนคนไทยเลยค่ะ

เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม (ยิ้ม) ลูกค้าเขาชอบแบบไหน เราก็ต้องทำสไตล์ให้ตอบโจทย์กับลูกค้าค่ะ เราก็ต้องนวด แล้วก็ต้องใช้เทคนิคของคนญี่ปุ่นมาผสมผสานด้วย อย่างเช่น การทัชลูกค้า มันจะมีการ เรกิ (Reiki) เข้ามาผสม

จะมี ชิอัตสึ (Shiatsu) จะเป็นนวดกดจุด จะมีการรักษาแบบ เรกิ ใช้พลังงานในการบำบัด แล้วก็จะมีการใช้คลื่นเสียง ใช้ ขันทิเบต (Tibetan Singing Bowls) ใช้ Crystal Bowl ในการบำบัดให้ลูกค้าด้วย

แล้วก็ข้อจำกัดของการมาทำงานที่ญี่ปุ่น คือเราไม่สามารถทำวีซ่าให้คนไทยมาทำงานได้ อันนี้คือเป็นข้อที่น่าเสียดาย ถ้าสมมติแต่งงานมาก็สามารถทำงานได้ทุกประเภทเลย แต่ว่าวีซ่าทำงานคุณต้องมากับกรมแรงงาน หรือว่ามากับบริษัทใหญ่ๆ ที่เขารับรอง แต่อาชีพนวดเขาจะไม่ให้วีซ่า มันไม่มีวีซ่านวดค่ะที่ญี่ปุ่น น่าจะเป็นในเรื่องของกฎหมายค่ะ”


[ ครูแหวนและโกวซัง สามีชาวญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญนวดไทย ]

และดูเหมือนว่าเธอไปได้สวยในเส้นทางนี้ เพราะทุกวันนี้มีลูกค้าจองคิว เพื่อมารอรับความผ่อนคลาย จากหมอนวดชาวไทยผู้นี้อย่างไม่ขาดสาย

“ตอนนี้ลูกค้าเยอะมาก นวดแทบจะไม่ไหว (ยิ้ม) แต่ว่าตอนนี้ก็จะมีเปิดคลาสสอนด้วย ก็จะยุ่งคูณสองไปเลยค่ะ วันหยุดก็คือแทบจะไม่ได้หยุด แต่เราก็ใช้ช่วงที่นวดลูกค้า เราก็ relax ของเราไปค่ะ เป็นการผ่อนคลายด้วย

ตอนนี้รายได้ก็จะมีรับนวดแล้วก็สอนค่ะ ถามว่าโอเคไหม ก็โอเคนะคะ หลักแสนอยู่ค่ะ หลักแสนขึ้นไป 1 ชั่วโมงก็จะประมาณ 7,000 เยน แต่ว่าลูกค้าส่วนใหญ่จะมานวด 90 นาที 120 นาที ส่วนใหญ่จะเป็นจะเป็นคอร์สยาวค่ะ

คนญี่ปุ่นถ้าเกิดว่าเป็นลูกค้า เขาจะให้ความสำคัญ เขาเหมือนกับ ‘เธอเป็นคนไทยที่นวดไทยเหรอ’ เขาจะยอมเรามากกว่าคนญี่ปุ่นนวดไทย

ถ้าสอนที่ญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นคนญี่ปุ่นมาเรียน แต่ว่าคลาสหน้าก็จะมีคนอเมริกัน บินมาจาก Okinawa มาเรียนก็มีค่ะ แล้วก็ถ้าเป็นคลาสสอนที่เมืองไทย ก็จะมีต่างชาติ เยอรมัน ฟิลิปปินส์ก็บินมาเรียนเหมือนกัน ส่วนใหญ่ที่มาก็คือเป็นหมอนวดอยู่แล้วก็มี แล้วบางส่วนอาจจะเป็นนวดให้แฟน นวดให้ครอบครัว แบบนี้ก็มีค่ะ

มีผลิตภัณฑ์จากประเทศไทยมาขาย มีเยอะค่ะ มีกางเกงช้าง มียาดม ซึ่งคนญี่ปุ่นบอกเลยว่าชอบมาก เพราะช่วงนี้เป็นหน้าร้อนใช่ไหมคะ ยอดขายของการขายกางเกงจะดีมากเลยค่ะ แล้วก็มีเสื้อล้านนาสไตล์แบบนี้ค่ะ ลูกค้าก็จะ ‘อุ๊ยสวยดี ฉันอยากได้ เธอสั่งให้หน่อย’ อะไรแบบนี้ค่ะ”



ครูแหวน ยังได้แชร์ประสบการณ์ดีๆ ของการทำร้านนวดไทยที่ญี่ปุ่น ด้วยความที่เธอเป็นคนรูปร่างเล็ก จึงทำให้ลูกค้าหลายค่อนข้างตกใจกับพละกำลังที่ถูกถ่ายทอดมา

“ตอนแรกมาส่วนใหญ่ที่จอง ลูกค้าจะมีความคาดหวังว่าอยากนวดหนัก อยากนวดกับคนไทย แต่พอมาถึง หนูก็คือตัวเล็กนิดเดียว ‘เธอจะนวดให้ฉันได้เหรอ’ เขาจะตั้งป้อมประหม่าเราไว้ก่อน

แต่พอเราทำการนวดเสร็จแล้วเขามาจับมือเรา ‘อันนี้เธอใช้มือ ทำไมมือเธอเล็ก แล้วเธอเอาแรงมาจากไหน’ เขาจะมาจับมือ แล้วหนูก็ ‘ค่ะ’ (ยิ้ม) แต่ว่าเราใช้น้ำหนักน้ำหนักตัวของเรานวด เราไม่ได้บอกว่าเราใช้ส่วนอื่นนวด ก็ทำให้เขาเซอร์ไพรส์ว่าฉันก็มีแรงนวดเธอนะ แล้วก็ทำให้ลูกค้ามีความสุข

ลูกค้าประจำเป็นผู้หญิงนะคะ บอกว่า ‘ถ้าไม่มีเธอ ฉันคงไม่มีชีวิตอยู่’ มีเหมือนกันค่ะ ‘ถ้าไม่มี Chana spa ฉันก็คงไม่มีมีชีวิตอยู่ ฉันไม่สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้เลย’ อะไรแบบนี้ค่ะ

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีความเครียดสูงมาก เวลามาจะขมวดคิ้วมาเลย เราพูดอะไรก็จะ ‘อืม’ ประมาณว่ารีบๆ นวด พอนวดเสร็จเขาก็จะเปลี่ยนเป็นจากหน้ามือเป็นหลังมือ ‘ฉันผ่อนคลาย ขอบคุณมากเลย’ แล้วก็จะยิ้ม นี่ก็คือความสุขของเราค่ะ”



แน่นอนว่าเมื่อทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง ตัวหมอนวดเองก็ปวดเมื่อยไปด้วยเช่นกัน ซึ่งครูแหวนก็คิดวิธีที่จะช่วยไม่ให้ตัวเองล้าจนเกินไป ลูกค้าตัวใหญ่แค่ไหนก็เอาอยู่

“เป็นหมอนวดก็ปวดเหมือนกัน เวลาเรานวดออยล์ นวดเท้า เราก็จะปวดแขน ปวดมือ เราก็ต้องหาวิธีการบำบัดตัวเอง ยืดเหยียด ไม่งั้นก็ใช้ลูกบอล ลูกเทนนิสก็ได้ นอนทับไปบริเวณที่เราปวด ไม่งั้นก็นั่งตรงเสา อะไรอย่างนี้ก็ได้ค่ะ ถ้าเรารู้จุดแล้วเราก็สามารถนวดตัวเองได้ด้วย

ของแหวนจะเน้นในส่วนของการใช้ body ในการ movement การถ่ายทอดพลัง ถ่ายทอดน้ำหนัก ไม่ได้ใช้เน้นนิ้วหรือว่าใช้ข้อศอกอย่างเดียว เพราะว่าตอนที่ทำงานมา รู้สึกว่าเวลาเรานวดไปแล้ว ลูกค้าหาย แล้วทำไมเรากลับมาเจ็บปวด

ปวดเอว ปวดหลัง ปวดเอง ปวดมาก อีกวันนึงเป็นวันหยุดของเรา เราแทบจะไปไหนไม่ได้เลย เราแทบจะต้องนอนทั้งวัน มันก็เลยไม่ได้ตอบโจทย์ว่าเราจะทำงานนี้ไปจนถึงอายุ 60 หรือเปล่า

ก็เลยคิดค้นวิธีว่าทำไมไม่ค้นหาท่านวดที่เราสามารถผ่อนคลายได้ แล้วลูกค้าก็สบายด้วย เราก็เลยคิดค้นท่านวด เราคิดเอง แต่ว่าก็ต้องมีการไปเรียนรู้ด้วย ครูที่มาสอนท่านมาจากฝรั่งเศส ก็เรียนรู้จากท่านแล้วก็เอามาประยุกต์ใช้ในสไตล์ของเรา

ช่วยได้มากค่ะ จากที่เราต้องนวดลูกค้า 100 กิโล เรานวดเสร็จเราแทบจะเป็นลม คือลูกค้าคนต่อไปเรานวดไม่ได้แล้ว แต่ว่าตอนนี้เราสามารถ 4 คนเราก็ยังไหว แรงเราก็ยังไม่ตก เราใช้นิ้วเป็นบางจุด ส่วนใหญ่เราประยุกต์ใช้ในท่าที่เราสามารถใช้น้ำหนักตัวได้ค่ะ ลูกค้าตัวใหญ่เราก็เอาอยู่ ลูกค้าก็สบายด้วย อย่างนี้ค่ะ”

สุดภูมิใจ “นวดไทย” มรดกโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนไม่น้อย ที่ยังคงยึดติดและมองอาชีพหมอนวดในแง่ลบ ซึ่งผู้ที่อยู่ในเส้นทางนี้มาเกือบ 10 ปี ก็ได้ช่วยสะท้อนสิ่งที่เคยเจอมาให้เห็นภาพชัดเจน

“จากที่ประสบการณ์ส่วนตัวนะคะที่เคยเจอมา ก็คืออย่างเราเป็นคนไทยมาทำงานญี่ปุ่น ไม่ใช่ต่างชาติมองเรา คนบ้านเราก็จะมองเราแล้วว่า เธอไปทำอย่างนั้นหรือเปล่า’ มันเป็นภาพติดมา แต่ว่าเราไม่ได้ไปโทษใครนะคะ

มาอยู่นี่ก็มีเหมือนกัน มีลูกค้าประเภทนั้นเหมือนกัน เราก็จะหลีกเลี่ยงไม่รับ แต่สิ่งที่สำคัญคือถ้าสมมติเรามี skill เราสามารถรับลูกค้าได้ทุกรูปแบบ ถ้าเรานวดโดนจุด เขาจะไม่คิดอย่างอื่นค่ะ ‘เธอไม่ได้นวดแบบนั้นใช่ไหม เธอเป็น professional นะ’ ลูกค้าก็จะเปลี่ยนกลุ่มไปเป็นอีกกลุ่มนึงเลยโดยอัตโนมัติค่ะ



อีกอย่างหนึ่ง ที่อยากประกวดและอยากได้เหรียญ ก็คือเรื่องนี้เลย เรื่องที่อยากลบภาพที่ไม่ดีไปนิดนึงก็ยังดีค่ะ
แล้วก็อยากจะเป็นตัวแทนว่าเราก็ยังทำได้ คนไทยเรามีอยู่แล้วก็คือการนวดไทย อยากให้ทุกคนหันมาสนใจ แล้วก็ศึกษานวดไทยของเราค่ะ หนูอยากให้เป็นแบบนั้น แล้วหนูก็อยากจะทำให้เห็นว่าหนูทำได้นะ ทุกคนก็ทำได้เหมือนกันค่ะ”

ขณะเดียวกัน ก็มีชาวต่างชาติให้ความสนใจและเคารพในศาสตร์การนวดของบ้านเราอย่างจริงจัง ซึ่งครูแหวนมองว่านี่คือ soft power ที่จะช่วยเชื่อมสัมพันธ์และอนุรักษ์การนวดไทยให้คงอยู่สืบไป

“คนญี่ปุ่นทุกคนที่มาร้านเขาบอกจะว่า ‘ฉันเคยไปเที่ยวเมืองไทยมานะ ฉันเคยไปร้านนวดไทยมา มันสบายมากๆ เลย’ คนญี่ปุ่นจะชอบนวดไทยมากๆ นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่เราเป็น friendship กัน ประเทศไทยกับกับประเทศญี่ปุ่น คือเป็น good relationship น่าจะมีนวดไทยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนี่แหละค่ะ



ในฐานะที่เรามีโอกาสได้รู้จักเพื่อนที่เป็นคนญี่ปุ่น แลกเปลี่ยนสังคม อันนี้เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เป็นสิ่งที่สามารถ connect ให้คนญี่ปุ่นมาเป็นเพื่อนกับเราได้ หมายถึงว่าเป็น therapist กัน เป็นหมอนวดด้วยกันเนี่ยค่ะ จูนแต่ละคนที่มีหัวใจรักนวดไทย ที่มีหัวใจรักเมืองไทย เขาก็จะมีเรื่องคุย มีเรื่องสานสัมพันธ์ มีเรื่องเม้าท์มอยกับเรา บางทีอยากมานวด แล้วก็อยากมาคุย

ก็รู้สึกดีที่นวดไทยได้มาเป็น soft power ให้เราได้มี connection กับคนญี่ปุ่น ก็ดีใจ เป็นความสุขเล็กๆ อย่างนึงด้วยค่ะ ความจริงแล้วนวดไทยนะคะ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจาก UNESCO แล้ว เป็นมรดกไทยที่เป็นมรดกโลกไปแล้วค่ะ จริงๆ ต่างชาติเขาให้ความสนใจมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นทางโซนยุโรปแล้วก็ญี่ปุ่น

ก็รู้สึกดีใจค่ะ และรู้สึกว่าอยากจะเผยแพร่นวดไทยไปวงกว้างๆ อยากจะสืบสานให้คนรุ่นหลังได้รู้ บางทีเรารู้อาจจะเป็นวงแคบๆ แต่ว่าหนูตั้งใจอยากทำคลิป อยากทำอะไรเพื่อเผยแพร่ อันนี้เป็นความตั้งใจ อย่างน้อยพี่ๆ ที่เห็น อาจจะเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน นวดให้คนใกล้ชิด นวดให้แฟน นวดให้แม่ นวดให้พ่อ นวดให้เพื่อน ก็สามารถทำตามได้ค่ะ”



หมอนวดคนเก่งดีกรีแชมป์เอเชีย ยังแนะนำถึงคนที่กำลังมองหาทักษะใหม่ๆ เพื่อเรียนรู้ เธอก็ฝากการนวดไทยเข้าไปเป็นอีกตัวเลือก เพราะไม่เพียงเป็นมรดกที่อยู่คู่บ้านเรามายาวนานแล้ว ยังสามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่ลงทุนโดยใช้แค่แรงกาย

“อาชีพนวด ถ้าทุกคนมี skill ในการนวดติดตัว ถ้าเกิดว่าอยากมาทำงานต่างประเทศ ไม่ว่าจะไปประเทศไหนก็สามารถทำงานได้หมดเลย เพราะว่าเราใช้แค่มือ ใช้แค่แรงในการทำงานค่ะ ไม่ต้องมีอะไรลงทุนเพิ่มเติม

อย่างร้านอาหารเราต้อง stock ต้องไปซื้อของ ต้องอะไรอย่างนี้ แต่อาชีพนวด เปิดร้านทำความสะอาด แล้วก็สามารถเปิดรับลูกค้าได้เลย เป็นข้อดีตรงนี้

หนูคิดว่าคนที่อยู่เมืองไทย เป็นคนที่มีโอกาสดีและโชคดีมากๆ เพราะว่าที่ประเทศไทยเรามีสถาบันเกี่ยวกับการสอนนวดเยอะแยะ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงานก็จะมีหลักสูตรนวดไทยพื้นฐาน 150 ชั่วโมง แนะนำให้ทุกคนไปเรียนถ้ามีโอกาส เพราะว่าค่าเรียนคือถูกมาก อาจจะใช้เวลานิดนึง แต่ว่าเราสามารถดูแลคนรอบข้างของเราได้ ถ้าเรามีพื้นฐานในการนวดค่ะ”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)






@livestyle.official ..."หมอนวดมือทองในญี่ปุ่น" ที่จัดการมาแล้วทุกแนว ลูกค้าตัวเล็ก-ตัวใหญ่-ตัวอ่อน-ตัวแข็ง เอาอยู่หมด!! @waen_chana... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #นวดไทย #ยืดเหยียด #นวดผ้าขาวม้า #หมอนวด #คนไทยในญี่ปุ่น🇯🇵🇹🇭タイ #chanaspa #thaimassage #streching #massagetherapist #asiamassagechampion ♬ original sound - LIVE Style


สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพ : Asia Massage Championship 2024 และ Facebook "Chanakarn Komorida"



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น