คาดการณ์ “ฝนตกหนัก” ถึง “สิ้นเดือน” เหนือท่วมหนัก คนมองภาพคล้ายๆ ปี 54 ชวนกูรูวิเคราะห์ “กรุงเทพฯ” จะรอดจากมวลน้ำนี้หรือเปล่า? กับ “ร่องมรสุม” ที่กำลังจะพาดผ่านเข้ามา
ยัง “เอาอยู่” ไม่ท่วม-ไม่ล้นตลิ่ง
กลายเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองแล้ว กับปัญหา “น้ำท่วม” เพราะล่าสุด “กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)” คาดการณ์ว่า ระดับน้ำในเจ้าพระยา มีแนวโน้มจะ “เพิ่มสูง” ขึ้นอีก
“ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์” อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยกับสื่อว่า ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ในวันที่ 24-30 ส.ค. นี้ ไทยยังคงมี “ฝนตกอย่างต่อเนื่อง”
และได้ประสาน 10 จังหวัดได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึง “กทม.” เฝ้าระวังสถาการณ์ระดับน้ำในแม่เจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด
เหตุการณ์แบบนี้ ทำให้หลายคนนึกถึง “น้ำท่วมใหญ่ ปี 54” และกังวลว่ากรุงเทพฯ จะท่วมหนักซ้ำรอยหรือเปล่า? ทีมข่าวจึงต่อสายหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำอย่าง “ชวลิต จันทรรัตน์”กรรมการบริษัท คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน)หรือ “TEAM GROUP” เพื่อตอบข้อกังวลนี้
“อันที่ 1 ก่อนนะครับ เดือนสิงหาคมนี้ ยังไม่ถึงกรุงเทพฯ กันยายนก็ปลายๆ เดือนนะ เพราะว่าปริมาณน้ำ มันไม่ได้มากน่ะครับ”
ปัญหาน้ำท่วมที่หนักจริงๆ ตอนนี้ คือ “ภาคเหนือ”ทั้งใน จ.น่าน, แพร่, สุโขทัย แต่ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงมายัง “เขื่อนสิริกิติ์” ก็ยังเป็นปริมาณน้ำที่บริหารจัดการได้ เพราะพื้นที่เก็บน้ำของเขื่อนยังเหลืออีก 60%
{สถานการณ์น้ำในภาคเหนือ}
และเรายังมี “เขื่อนเจ้าพระยา” ที่ชัยนาท ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ สามารถ “ผันน้ำ”ออกไปทางระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันนออก และฝั่งตะวันตกได้ ทำให้เรายังจัดการกับมวลน้ำก้อนนี้ได้
“เพราะฉะนั้น ก็จัดการได้ ตั้งแต่ชัยนาทลงมา จะมีน้ำเพิ่มเติมบ้าง อย่างเมื่อวานนี้ (26 ส.ค.) ก็ยังปล่อยน้ำ 650 (ลบ.ม./วินาที)ลงมาทางโผงเผ, บางบาล, เสนา ก็ยังไม่ท่วม ยังไม่ล้นตลิ่ง”
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำรายเดิมบอกว่า พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง “น้ำท่วม” คือบริเวณตามคลองโผงเผง จ.อ่างทอง และ พื้นที่ อ.เสนา และ อ.บางบาล จ.อยุธยา เท่านั้น ซึ่งคาดว่า 31 ส.ค.- 2 ก.ย. 67 น้ำก็น่าจะลดลง
สรุปคือน้ำที่มานี้ จะ “ท่วมไม่ถึง” พื้นที่กรุงเทพฯ,นนทบุรี และปทุมธานี แต่นี่เป็นแค่มวลน้ำจากภาคเหนือก้อนเดียว “ชวลิต” วิเคราะห์ว่า ยังต้องจับตาดู “ร่องมรสุม” ในเดือน ก.ย. และ ต.ค. อีกที
{“ชวลิต จันทรรัตน์” ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำจาก “TEAM GROUP”}
“รอด-ไม่รอด” ดูเดือนหน้า
แม้ตอนนี้จะมั่นใจว่า “น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ” แน่ๆ แต่มันก็แค่ระยะนี้เท่านั้น “ธารา บัวคำศรี” ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย บอกกับทีมข่าวว่า...
“มวลน้ำมันอาจจะไม่ได้ใหญ่ เทียบเท่าปี 54 น่ะครับ ถ้าพูดถึงมวลน้ำที่มันลงมา แต่มันต้องดูเดือนหน้า (ก.ย.) จะเป็นเดือนที่ร่องมรสุมพาดผ่าน”
“ร่องมรสุม” ที่ทำให้ฝนตกหนักนี้ มันจะค่อยๆ ขยับลงมาจากทางภาคเหนือ ในเดือน “ก.ย.” ไปจนถึงภาคใต้ ในเดือน “พ.ย.”
ถ้าฝนไปตกหนักบริเวณเหนือเขื่อนอย่าง “เขื่อนสิริกิติ์” กับ “เขื่อนภูมิพล” ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะทั้ง 2 ที่ยังมีพื้นที่เก็บน้ำอยู่ แต่มันปัญหามันจะเกิด เมื่อร่องมรสุมพัดให้ฝนไปตกใต้เขื่อน
อีกเรื่องที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนคือ “พายุหมุนเขตร้อน” ผอ.กรีนพีซประเทศไทยบอกกับเราว่า จากการพยากรณ์พบว่า ปีนี้เอเชียจะเจอกับ “ไต้ฝุ่น” ถึง “12-15 ลูก” ซึ่งมันอาจวิ่งเข้ามาบ้านเรา 1-2 ลูก
“เราก็ต้องจับตาดูว่า เดือนกันยาฯ เนี่ย มันจะวิ่งเข้ามาที่ไหนยังไง แล้วมันจะส่งผลต่อปริมาณน้ำท่า ที่อยู่ในลุ่มน้ำ ที่จะวิ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ เข้ามาในภาคกลางเนี่ย มากน้อยแค่ไหน”
และตัวแปรที่ระวังยากที่สุดคือ “Rain Bomb” เป็นฝนที่ตกมาสั้นๆ แต่ “ตกหนัก-ปริมาณน้ำฝนเยอะ” ซึ่งปรากฎการณ์นี้ ทำให้เกิดน้ำท่วมที่ ภูเก็ต กับ ตราด ที่ผ่านมา และเป็นฝนแบบเดียวกับที่ตกใน เชียงราย กับ น่าน ตอนนี้
ปัญหาของ Rain Bomb คาดการณ์ได้ยากว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน-เมื่อไหร่ ปรากฎการณ์นี้มาจาก “น้ำทะเล” ที่ “ร้อนขึ้น” กลายเป็นไอไปสะสมในอากาศ ซึ่งไทยเองก็โดนขนาบด้วยทะเล 2 ฝั่งทั้ง “มหาสมุทรอินเดีย” และ “แปซิฟิก”
“ถ้าไปเจอร่องฝน มันก็จะเป็นเงื่อนไขให้เกิด Rain Bomb ซึ่งเวลาเขาดูว่า จะมี Rain Bomb มั้ยเนี่ย มันดูล่วงหน้าอย่างน้อยนะ ผมคิดว่าไม่เกิน 3-5 วัน พอมันคาดการณ์ได้ยากเนี่ย การเตรียมรับมือ ก็มีความท้าทายด้วย”
ไม่หมดแค่นั้น ถ้า กทม. เคราะห์ร้ายจริงๆ อาจจะเจอกับ “ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุน”เพราะต่อให้ปริมาณน้ำที่เข้ากรุงเทพฯ มีไม่มาก แต่ถ้าไม่สามารถระบายได้ทัน จากการที่น้ำทะเลหนุนสูง มันก็จะเกิดการท่วมของน้ำที่รอระบายได้
“อันนี้อย่างที่ผมบอกว่า 1 เดือนกันยาฯ จะเป็นตัวตัดสินว่า กรุงเทพฯ จะเหมือนกับ ปี 54 หรือปี 65”
{“ธารา บัวคำศรี” ผอ.กรีนพีซประเทศไทย}
“ธารา” ผอ. กรีนพีซประเทศไทยบอกว่า สถานการณ์น้ำตอนนี้ “เรายังไปปลอดภัย” ต้องจับตาตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงช่วงปลายเดือน พ.ย. หรือสิ้นปี แต่ปัญหาคือตอนนี้ข้อมูลเรื่องน้ำ ที่มีหลายแหล่งมากเกินไป
มันสะท้อนถึงปัญหาของหน่วยงาน ที่บริหารจัดการเรื่องน้ำ “ทับซ้อน” กันไปมา ทำให้การแจ้งเตือนน้ำท่วมไปไม่ถึงพี่-น้อง ตามต่างจังหวัดด้วย รัฐต้องหาเจ้าภาพในการจัดการเรื่อง “อุทกภัย” ให้ได้ให้จบในองค์กรเดียว
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก “North Now”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **