xs
xsm
sm
md
lg

อยากฝากลูกไป Speak English!! “ครูดอยอินเตอร์” ไวรัลเด็กพูดปร๋อ-สำเนียงเริ่ด [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นึกว่าเด็กอินเตอร์มาเอง เจาะไวรัลดัง “ครูวัตร” ผู้ที่จะมาแชร์ทริกที่ไม่เหมือนใคร สอนภาษาอังกฤษให้เก่งเร็ว จำไว และนำไปใช้จริง แถมพูดเก่งและชัด สำเนียงยังเริ่ด ราวกับเจ้าของภาษา จนหลายคนอยากฝากลูกไปเรียนด้วย





พาเด็ก Speak English จนไวรัล

“วิธีการสอนของผม ผมใช้การสอนแบบพูดภาษาอังกฤษ 100% ครับ คือผมพยายามนึกว่า พ่อแม่เราสอนเราพูดภาษายังไง ผมก็พยายามนึกแบบนั้น แล้วก็สอนเด็กในการพูดภาษาอังกฤษแบบ 100%”

“ครูวัตร-อนุวัตร ตรรกชนชูชัย” ครูดอยอินเตอร์ วัย 27 ปี ที่กำลังเป็นไวรัลใน TikTok หลังจากโพสต์คลิปเด็กอนุบาล Speak English กับคุณครูอย่างสบายปร๋อ แถมสำเนียงยังได้อีกด้วย

จนทำเอาชาวโซเชียลฯ ร้องว้าว และแห่คอมเมนต์ชื่นชมกันยกใหญ่ บางคนถึงขั้นบอกว่า อยากพาลูกไปเรียนบนดอยด้วยเลย เพราะหลายคนมองว่าบางที่ค่าเทอมแพง แต่ยังไม่ได้ครึ่งของเด็กที่นี่เลย

ซึ่งที่นี่ไม่ใช่โรงเรียนนานาชาติแต่อย่างใด ที่นี่คือโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยกุ๊ก ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
เป็นเพียงโรงเรียนเล็กๆ บนดอยสูง เหนือสุดติดขอบประเทศไทย ที่มีชุมชนชาวเขาเผ่าม้ง ที่ส่วนใหญ่ใช้ภาษาม้งเป็นหลัก แต่ไม่ใช่สำหรับเด็กอนุบาล และประถม เพราะเด็กที่นี่แทบจะทุกคนสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีราวกับเจ้าของภาษาเลยทีเดียว

 

และทั้งหมดนี้ เป็นเพราะมีครูวัตร ผู้ที่ค้นพบความสุขระหว่างสอน ในตอนที่ตัวเองเป็นนักเรียน ม.6 จนเกิดแรงบันดาลใจในการเรียนสายครูภาษาอังกฤษ เพื่อกลับมาสอนเด็กๆ แถวบ้านเกิด เพราะหวังว่า ภาษาอังกฤษจะเป็นเครื่องมือสื่อสาร ที่นำพาให้เด็กๆ ได้เปิดโลกกว้าง

รวมประสบการณ์แล้ว เขาสอนที่นี่ได้ 2 ปี กับอีก 1 เทอม และรู้สึกดีใจมาก ที่ทำอัปคลิปการเรียนของเด็กๆ ลง TikTok แล้วไวรัลจนผู้คนแห่มาชื่นชมมากขนาดนี้


“ตอนแรกๆ ผมไม่คิดนะว่าจะมีคนชอบนะ ที่ผมเล่น TikTok ผมต้องการที่จะเก็บคลิปของเด็กๆ เหล่านี้ เก็บไว้เป็นความทรงจำตัวเอง ผมคิดว่าถ้าวันนึง ผมไม่ได้สอนที่นี่แล้ว ผมไปที่อื่น อย่างน้อยเราก็ดูความทรงจำย้อนหลังได้เรื่อยๆ เราจะได้เออ..เด็กคนนี้เราเคยสอน มันเป็นยังไงบ้างนะ ตอนนั้นได้สอนเด็กเหล่านี้รู้สึกแฮปปี้จังเลย ยังมีโมเมนต์เก่าๆ อยู่

ครั้งแรกที่ผมโพสต์ไป ก็ตกใจมากเหมือนกัน คือแบบกลัวดราม่า ผมคิดว่ามันจะไปในทางที่ไม่ดี ผมก็เลยคิดว่าเอ๊ะ!! หรือว่าผมจะต้องปิด account ก็ค่อยเข้าไปทยอยอ่านคอมเมนต์ มันก็ไม่ได้มีใครมาด่าเรา มันก็เป็นคอมเมนต์ที่ดีนี่หว่า ก็เลยถามคุณครู แล้วก็ถามเพื่อนว่าแบบนี้มันจะดีไหม คือเขาก็บอกว่ามันไม่เป็นไรหรอก มันก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย ตอนนั้นก็เลยใจเย็นลงบ้าง

ก็รู้สึกดีใจนะครับ แต่ที่ผมทำ ไม่ได้ทำเพื่อให้คนอื่นเขาชื่นชมนะครับ ก็ขอบคุณทุกคนที่ชอบคำสอนที่ผมสอน ก็ขอบคุณที่ชอบเด็กๆ”
 



โรงเรียนแห่งนี้ เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ไปจนถึงชั้นป.6 เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนทั้งหมด 92 คน มีบุคลากรทั้งหมด 9 คน เป็นคุณครูที่ทำหน้าที่สอนจริงๆ อยู่ 7 คน ซึ่งเขารับหน้าที่สอนระดับชั้นอนุบาล 2 อนุบาล 3 แล้วก็ ป.1

เริ่มต้นจากศูนย์ เพราะเด็กๆ ที่นี่ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษเลย แม้เริ่มต้นเด็กๆ จะงงอยู่บ้าง แต่พอได้ลองพูดคุยจริงๆ เด็กที่นี่กลับสอนง่าย แถมเรียนรู้ไว ทำให้เด็กๆ ที่ครูวัตรได้รับหน้าที่สอน สามารถที่จะสื่อสารภาษาอังกฤษกันได้เก่ง

แต่ก็ยังมีเด็กบางส่วนในโรงเรียน ที่ยังไม่สามารถสื่อสารได้น้อย ซึ่งเป็นเด็กที่ครูดอยอินเตอร์คนนี้ ยังไม่มีโอกาสได้สอน เพราะไม่สามารถแยกร่างสอนได้ทุกระดับชั้น


“ภาษาที่เด็กพูดที่บ้าน เป็นภาษาม้ง ภาษาชนเผ่า ภาษาไทยได้บ้างครับ แต่ว่าถ้าพูดถึงภาษาอังกฤษไม่ได้เลย เรียนจบศูนย์เด็กเล็กมา ก็มาเข้าอนุบาลที่ผมสอน คือไม่ได้เลย คือมาเริ่มศูนย์จากที่ผมสอนครับ

เริ่มต้นเขาก็จะงงอยู่แล้วแหละ เพราะมันเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับเขา ถ้าพูดถึงว่าเด็กอายไหม ผมว่าเด็กตัวเล็ก ก็อาจจะไม่ถึงขั้นว่าอายนะครับ คาบแรกที่เราเจอเด็ก ยังไงเด็กก็ไม่กล้าพูดกับเราอยู่แล้ว เพราะเขาอาจจะรู้สึกว่า ยังไม่ชินกับเรามั้ง

แต่ว่าพอผ่านระยะไปเรื่อยๆ เด็กเขาเริ่มชิน เขาก็จะกล้าพูดกับเรามากขึ้น แต่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษนะครับ เป็นภาษาที่เขาถนัด เป็นภาษาม้ง เขาก็เริ่มพูดกับเรา เราก็จะค่อยๆ สอนเขาพูดภาษาอังกฤษในแบบที่เขาพูดภาษาม้งกับเรา

แต่ถ้าถามว่าตอนแรกเด็กๆ กล้าไหม เด็กๆ อายไหม ผมรู้สึกว่า ด้วยความที่เขาเป็นเด็ก เจอกันคาบแรก เขาก็ไม่ถึงขั้นจะไว้ใจเราขนาดนั้น เพราะฉะนั้นการที่เด็กไม่กล้าพูดกับเรา ผมว่ามันก็เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าพอผ่านไปสัก 2-3วัน สักอาทิตย์นึง เด็กก็รู้สึกโอเคกับเรามากขึ้น เด็กก็กล้าพูดกับเราครับ แต่ว่าไม่ได้พูดภาษาอังกฤษนะครับ”


แชร์ทริกสอนพูดซ้ำๆ ไม่ต้องแปล

แม้ครั้งแรกที่เข้ามาสอน เด็กจะมีสกิลภาษาอังกฤษเป็นศูนย์ แต่ยอมรับว่าเด็กที่นี่ ไวต่อการเรียนรู้มาก ทำให้เราได้เห็นพัฒนาการ สกิลการ Speak English ที่คล่องปร๋อ

ครูวัตรช่วยแชร์ทริกสอนภาษาอังกฤษให้เก่งเร็ว จำไว และนำไปใช้จริง โดยใช้วิธีสอนที่ไม่เหมือนใคร เริ่มจากของใช้ใกล้ตัว ให้พูดซ้ำๆ จนเริ่มชินไปเอง

“ครั้งแรกเลยตั้งแต่เข้ามา เอาเป็นว่าตีศูนย์เลย แต่เด็กเขาไวต่อการเรียนรู้เรื่องของภาษาอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าวิธีที่ผมใช้สอนเด็กๆ คือเราย้ำให้เด็กทำ เวลาเราออกคำสั่งอะไรไป เด็กไม่รู้เรื่องหรอกครับ

อย่างเช่นเปิดหน้าต่าง เปิดประตู เปิดพัดลม เปิดไฟ ผมจะไม่ทำเอง ผมจะบอกให้เด็กไปเปิดหน้าต่าง สมมติผมจะเรียกชัชชัย open the window เด็กมันไม่รู้หรอก แต่เราต้องจูงมือเด็กเนี่ยแหละครับ ไปเปิดหน้าต่าง

คือเราต้องออกคำสั่ง แล้วเราต้องพาเด็กทำ เด็กจะได้เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง โดยที่เราไม่ต้องแปล ก็ทำแบบนี้เรื่อยๆ จนเด็กรู้สึกว่าชิน พอเราออกคำสั่งครั้งหลังๆ เด็กมันก็ไปทำเองได้”

ใช้วิธีทำแบบนี้อยู่ซ้ำๆ อยู่ประมาณ 1-2 เดือน จนเด็กเริ่มเข้าใจ เริ่มซึมซับวิธีการสอน ในเรื่องการสื่อสารภาษาอังกฤษมากขึ้น
เขายังแนะอีกว่า การสอนภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอะไรก็ตาม ถ้าจะให้ดี ต้องเริ่มต้นจากเด็กอนุบาล หรือว่าเริ่มจากศูนย์เด็กเล็กได้ก็ยิ่งดี เพราะว่าเด็กยิ่งเล็ก เขาจะไวต่อเรื่องของการเรียนภาษา และแนะนำว่า สอนภาษาอังกฤษ โดยไม่ต้องแปล


“ถ้าสอนเรื่องของภาษาเนี่ย ผมแนะนำให้สอนภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาอังกฤษ เท่าที่เรามองไปประมาณสัก 20 ปีก่อน รุ่นตัวของผมเองเนี่ย คือเราสอนแบบแปลมาโดยตลอด ซึ่งเรารู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ผล ผมก็เลยอยากลองวิธีใหม่ๆ

อย่างเช่นผมบอกเด็ก สอน glass ให้เป็น glass คือแต่ก่อนเราบอกว่า glass แปลว่าแก้ว ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้น คือการสอนผมไม่อยากให้แปล ให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง”

ทริกอีกอย่างในการสอนภาษาอังกฤษที่ได้ผลดี นอกจากจะไม่ต้องแปลแล้ว ยังสอนภาษาอังกฤษทั้งในห้องเรียน และนอกห้องเรียนด้วย

“ถ้าเราสอนภาษาอังกฤษ ทั้งในห้อง และนอกห้อง มันจะยิ่งดีมาก เพราะว่าภาษา อย่างที่ผมบอกว่า ผมไม่ค่อยอยากจะให้มองว่าภาษาเป็นวิชา เพราะว่าถ้าเรามองเป็นวิชา ผมว่ามันค่อนข้างจะแคบ คือเราจะใช้แค่ในห้องเรียน ถ้าเรามองภาษาอังกฤษมันเป็นแค่อีกภาษานึง เราจะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ ที่ไหนก็ได้

อีกอย่างนึงที่ทำให้เด็กกล้าพูด กล้าเล่นกับเรา คือการให้ความรักกับเด็กๆ ครับ คือเด็กอนุบาลไม่รู้อยู่แล้วแหละ แต่ถ้าหากว่าเราให้ความรักเขา มันทำให้เขากล้าพูดกับเราก่อน เขากล้าเข้าหาเรา ถือว่าประสบความสำเร็จไปอีกขั้นนึงแล้ว ขอแค่เด็กกล้า โห..เราอยากจะป้อนข้อมูลอะไรให้เด็ก เราป้อนได้เลยมันจะง่าย”



ทริกสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เด็กกล้าสื่อสารภาษาอังกฤษ คือครูควรเป็น safe zone ที่ดีให้กับเด็ก ทำตัวเป็นเหมือนเพื่อนเล่นกับพวกเขา พยายามทำให้เด็กๆ รู้สึกว่า ครูไม่น่ากลัว หรือมีความอันตราย และพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์กับเด็กๆ ถึงจะเข้าใจเด็กมากขึ้น

“ขนาดตัวเราเรายังไม่ชอบความกดดันเลย เพราะฉะนั้นผมคิดว่าเด็กอนุบาลเป็นวัยที่ต้องเล่น มันไม่ต้องเป็นวัยที่มาฝึกระเบียบ ก็เลยให้ความรักเด็ก ให้ safe zone ทั้งตัวเด็กและตัวครูด้วยต้องมีความสุข อันนี้คือผมให้ความสำคัญ”


ไวยากรณ์ไม่ต้องเป๊ะ ขอแค่สื่อสารได้

การสอนที่ต้องคำนึงถึงไวยากรณ์แบบเป๊ะๆ จนตึงเกินไป นั่นไม่ใช่วิธีการสอนแบบฉบับครูวัตร เพราะมองว่า เรื่องความถูกต้องของไวยากรณ์ ยังไม่ได้ให้ความสำคัญมาก แต่สอนให้เขาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้แบบ 100% ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน แล้วค่อยไปแก้ไขในเรื่องไวยากรณ์ตอนโตอีกทีก็ได้

“อย่างเช่นเราชอบถามเด็กๆ ว่า Do you like chicken? ถ้าตามความถูกต้อง มันต้องตอบว่า Yes, I do. ถูกไหมครับ แต่ว่าผมอยากให้เด็กพูดยาวขึ้น ไม่อยากให้เด็กพูดแค่ว่า Yes, I do. เพราะว่ามันสั้นไป ผมก็เลยให้เด็กตอบว่า Yes I like chicken ผมอยากให้เด็กพูดยาวมากขึ้น

ถ้าถามว่าความถูกต้องของภาษาเราผิด แต่ว่าถ้าดูตรงเจตนาของเรา ก็คิดว่ามันคงไม่ได้ผิดอะไรมาก อย่างที่ผมบอกว่าความถูกต้อง มันแก้ได้ ถ้าสมมติว่าเด็กเก่งในระดับนึงแล้ว ผมมองว่าเจตนาของผู้สอนเอง เราไม่จำเป็นต้องไปอธิบายให้เขาเข้าใจทุกอย่าง เพราะว่ามันเสียเวลาครับ”


นอกจากนี้ ยังฝากไปบอกถึงใครที่ยังไม่กล้าพูดภาษาอังกฤษ ว่าไม่ต้องอาย เพราะเรื่องสำเนียงในการออกเสียง ไม่จำเป็นต้องเป๊ะแบบเจ้าของภาษาก็ได้

“จริงๆ ผมมองว่า เรื่องสำเนียงไม่มีใครซีเรียสนะ ขอแค่เราคุยกันรู้เรื่อง เพราะว่าในโลกนี้มีสำเนียงแบบว่าโอ้โห.. นับไม่ถ้วนเลยนะ ถ้าเป็นสำเนียงไทยอังกฤษที่คนไทยเราพูด ผมว่ามันก็เป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง

เราไม่จำเป็นต้องไปเป๊ะแบบ British accent หรือ American accent ถ้าพูดถึงเรื่องสำเนียงเนี่ย เราชอบแบบไหนเราแต่งเติมได้ เราอยากจะไปแบบสำเนียงอังกฤษเลย มันก็แต่งเติมได้ ขอแค่เราคุยกันรู้เรื่อง เพราะฉะนั้นผมไม่อยากให้ไปโฟกัสเรื่องของสำเนียงนะ ขอแค่เราคุยกันรู้เรื่องก็โอเคแล้ว”

และสิ่งที่เขาอยากแชร์ข้อมูลอีกเรื่อง ที่หลายคนอาจจะเข้าใจผิดว่า เด็กบนดอยเก่งภาษากันอยู่แล้ว เพราะมีศาสนาคริสต์เข้าถึงเด็กบนดอย ด้วยการสอนศาสนาเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเขายืนยันว่าไม่จริง อย่าว่าภาษาอังกฤษเลย แค่ภาษาไทยยังไม่พูดกันเลยครับ เพราะส่วนใหญ่พูดแต่ภาษาเผ่า

“วิชาหลักที่ผมต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษครับ แต่ว่ามันก็แล้วแต่วันด้วย บางวันตอนบ่ายผมสอน ป. 1 ถ้าวันไหนที่เด็กไม่อยากเรียนภาษาอังกฤษ เด็กบอกว่าอยากเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือว่าอยากเรียนศิลปะ ผมก็สอนวิชาเหล่านี้ได้ ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ

แต่เนื้อหามันอาจจะง่ายลงหน่อยครับ เพราะผมมองว่าวิชาเหล่านี้ มันเป็นความรู้พื้นฐาน ผมว่ามันไม่ยาก คิดว่าน่าจะสอนได้”


จากเด็กทุน คืนโอกาสให้เด็กด้อยโอกาส

เขาเกิดในครอบครัวชาติพันธุ์ม้ง ที่อาศัยอยู่ใน อ.อุ้มผาง จ.ตาก หรือเรียกได้ว่าเป็นเด็กชายขอบคนนึง ที่เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต

จากการได้โอกาสเรียนต่อ ด้วยทุนมูลนิธิพุทธรักษา ตั้งแต่ ป.6 มีโอกาสไปร่ำเรียนอยู่ที่ประเทศอินเดีย จนถึง ม.5 จากนั้นก็กลับมาจบม.6 ที่โรงเรียนวัดสระแก้ว จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เดิมเขาเคยเรียน ก่อนที่จะไปเรียนต่อที่อินเดีย

เดิมทีเขาตั้งใจว่าอยากเป็นนักเศรษฐศาสตร์ เพราะตัวเองชอบวิชาคณิตศาสตร์ ชอบการคำนวณ ชอบตัวเลข แต่พอได้ไปเรียนที่อินเดียจริงๆ กลับรู้สึกว่าเป็นวิชาที่ยากมาก ทั้งที่ตัวเองตั้งใจอดหลับอดนอน ในการอ่านหนังสือเพื่อจะเป็นให้ได้

เมื่อความฝันในการเป็นนักเศรษฐศาสตร์ไม่เป็นผล รู้สึกว่าไปต่อไม่ได้ ระหว่างที่กลับมาเรียนชั้น ม.6 ที่โรงเรียนเดิมที่ไทย ระหว่างนั้นคุณครูที่ทางโรงเรียนจ้างไม่มาสอน ผู้อำนวยการก็เลยบอกให้เขาผมไปลองสอนดู

เขาก็ได้ค้นพบความสุขในระหว่างที่สอน คือการเห็นเพื่อนๆ เข้าใจบทเรียนมากขึ้น ความสุขในครั้งนั้น จึงกลายเป็นเป้าหมายใหม่ในชีวิต ทำให้เขาตัดสินใจเลือกที่จะไปเรียนต่อด้านภาษา จนจบปริญญาตรี เอกครูภาษาอังกฤษ ราชภัฏพระนครศรีอยุธยา



 แม้ทุนที่เขาได้รับจนจบปริญญาตรี จะไม่มีข้อผูกมัด เป็นทุนให้เปล่า แต่พอเรียนจบ เขากลับมองว่า ถ้าไม่ได้โอกาสจากทุนตรงนี้ เขาก็คงไม่มีโอกาสได้เรียนจบ เพราะด้วยความฐานะที่บ้านยากจน บวกกับเขามีพี่น้องถึง 11 คน โดยเขาเป็นคนที่ 8

ทำให้พ่อกับแม่ต้องส่งเขากับน้องชายไปเรียนที่โรงเรียนวัดสระแก้ว จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้าและยากจน ซึ่งในบรรดาพี่น้องทั้งหมด มีแค่เขาที่มีโอกาสได้เรียนจบปริญญาตรี

“สมัยเด็ก เวลาแม่กับพ่อพาไปทำไร่ แม่กับผมจะตื่นสักประมาณตี 3 แล้วก็ทำกับข้าว ทุกคนกินข้าวอะไรให้เสร็จพร้อมออกเดินทางไม่เกินตี 5 เพราะเราต้องเดินประมาณ 2 ชั่วโมงครับ กว่าจะถึงที่ไร่ เราก็ใช้ชีวิตอย่างนี้มาโดยตลอด

ถ้าบางครั้งพ่อให้ไปเรียน เราก็จะได้ไปเรียน แต่ถ้าช่วงไหนเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรไม่ทันจริงๆ พ่อก็ไม่ได้ให้ไปเรียน พ่อก็ให้ทุกคนไปช่วย

คือช่วงเด็กทุกครั้งที่เราได้โรงเรียน เรารู้สึกแฮปปี้มาก คิดถึงโรงเรียน แต่ถ้าช่วงไหนที่ต้องได้ไปนอนที่ไร่เป็นอาทิตย์ ๆ ผมถามพ่อทุกวันว่าเมื่อไหร่จะกลับบ้าน อยากไปเรียน”


ส่วนเหตุผลที่ทำให้ครูดอยอินเตอร์ วัย 27 ปี คนนี้ ตัดสินใจเลือกที่จะไปสอนภาษาเด็กๆ บนดอย ทั้งที่มีโอกาสเลือกโรงเรียนที่สอนได้อยากมากมาย

เพราะเขาอยากหยิบยื่นโอกาสให้กับเด็กที่อยู่ชายขอบ ที่เหมือนกับตัวเองเมื่อ 20 ปีก่อน เพราะถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน เขาบอกว่า ไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่ามีวิชาภาษาอังกฤษอยู่ในโลกนี้

“ระหว่างเรียนมหาวิทยาลัย ก็มีความฝันว่าถ้าเรียนจบมาแล้ว ถ้ามีโอกาส เราอยากไปสอนโรงเรียนชายขอบจังเลย เราอยากไปสอนโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนชนบท ที่ไม่ใช่โรงเรียนที่มีพร้อมทุกอย่าง

ในความฝันผมก็อยากเห็นโรงเรียนที่อยู่ตามชนบท โรงเรียนแบบธรรมดา แต่อยากเห็นเด็กๆ ที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ในชีวิตประจำวัน

พอดีจบมาปุ๊บ เจ้าของทุนที่เขาให้ผมเรียน เขามีโครงการจ้างครูสอนภาษาอังกฤษ มาสอนที่โรงเรียนชายแดนแบบนี้ ผมก็เลยขอเข้าร่วมกับโครงการเขา เพราะว่ามันตรงกับ concept เราทุกอย่าง

ถ้าพูดถึงเด็กๆ ตามชายขอบ ถ้าจะให้เด็กส่งตัวเองเรียนในโรงเรียนที่ใหญ่ จะลงเรียนในหลักสูตร I.E.P (Intensive English Programme) มันเป็นไปไม่ได้ครับ พอเรามีความสามารถอยู่บ้าง เราได้รับโอกาส แล้วก็ส่งโอกาสต่อให้กับเด็กๆ แล้วกัน”


เชื่อว่าภาษา จะต่อยอดอาชีพให้เด็กชายขอบ

สิ่งที่ครูผู้นี้ ทุ่มเท ตั้งใจฝึกสอนเด็กๆ ให้มีทักษะด้านภาษา ก็เพราะเชื่อว่าภาษาอังกฤษ จะเป็นเครื่องมือสื่อสาร ที่นำพาให้เด็กๆ ได้ต่อยอดอาชีพในอนาคต

“ไม่ใช่ว่าภาษาไทยไม่สำคัญนะ สำคัญมากนะ แต่ว่าภาษาอังกฤษผมก็คิดว่ามันก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะว่าจากเท่าที่ผมเห็นเนี่ย คนที่เก่ง และคนที่ได้ภาษาอังกฤษกับคนที่ไม่ได้ ถ้าไปสมัครงานด้วยกัน คนที่ได้ภาษาอังกฤษอาจจะมีโอกาสมากกว่า
ถ้าเด็กได้ภาษาอังกฤษ ผมคิดว่าก็น่าจะเป็นตัวช่วยในภายภาคหน้า ไม่ว่าจะเรียนต่อ ในด้านของการทำงานในภายภาคหน้าครับ เปิดโอกาสให้กับเด็กๆ มากขึ้น”

นอกจากนี้ เขายังย้ำอีกว่า ถึงความฝันอันแน่วแน่ของตัวเองอีกว่า คืออยากพัฒนาภาษาอังกฤษ ให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่ขาดโอกาส

“ผมฝันอยากจะพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับเด็กที่ขาดโอกาสแบบนี้แหละครับ คิดว่าคงไม่มีอย่างอื่นที่ผมที่อยากทำไปมากกว่านี้แล้วครับ อย่างเช่น สอบบรรจุอะไรอย่างนี้ผมคงไม่ไปแล้วครับ คือผมอยากพัฒนาเด็กที่อยู่ชายขอบแบบนี้ ผมอยากพัฒนาแบบสุดความสามารถตัวเองนะ

พร้อมกับบอกถึงความหวัง และเป้าหมายสูงสุดที่อยากทำให้ได้ว่า อีก 6 ปี นับจากนี้ ทั้งโรงเรียนจะสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ทุกคน

“ถ้าพูดถึงประสบความสำเร็จเลยไหม ก็ผมว่ายังนะครับ เพราะว่าเด็กที่ผมสอนมานี้ รุ่นแรกเพิ่งจะอยู่ป.1 เอง ถ้าเอาแบบประสบความสำเร็จเลยนะ ผมว่าประมาณอีก 6 ปี ครับ รุ่น ป.1 ถึงจะไปขึ้นป.6

คือสามารถเห็นเด็กที่อยู่ในโรงเรียนทุกคน สามารถใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้ มันคือเป้าหมายสูงสุดที่ตัวเองอยากจะเห็น”




เงินเดือนครู พร้อมแบ่งปันให้ลูกศิษย์

นอกจากอยากหยิบยื่นโอกาสด้านภาษาให้กับเด็กๆ บนดอยแล้ว เขาเองก็อดไม่ได้เหมือนกัน ที่จะใช้เงินตัวเอง หยิบยื่นสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า หรือของกิน เพราะอย่างที่บอก ว่าเด็กที่นี่ เป็นเด็กที่มีฐานะยากจน

“อันนี้เป็นประจำครับ ด้วยความที่เราเป็นครูเราอดไม่ไหวหรอกที่จะแบบทำเรื่องพวกนี้ คือไม่ใช่แค่ผมนะ ครูที่อยู่ด้วยกันตามชายแดน บางทีเด็กมาโรงเรียน เด็กไม่มีรองเท้าใส่ คือยังไงเราก็ต้องซื้อให้ คือเราเห็นเขาไม่มีรองเท้ามันก็ไม่ได้ เงินเดือนครูก็นั่นแหละครับ ส่วนมากก็จะไปหมดกับแบบนี้

มันก็หลายๆ อย่างด้วย บางทีเราไปเยี่ยมบ้านเด็ก อยู่กับยาย 2 คน ก็ไปเห็นความเป็นอยู่ของเด็ก ครั้งหลังเราไปมันอดไม่ได้ที่เราจะซื้อมาม่า ซื้อปลากระป๋อง ซื้ออะไรที่มันติดไม้ติดมือ ที่มันดีกับเด็กๆ แล้วก็ครอบครัวที่สามารถช่วยเด็กๆ ได้บ้าง”

ทางคณะครู และทางโรงเรียน ก็พยายามหาทุนให้กับเด็กๆ อย่างเช่นทุน กกส. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ที่อาจจะพอต่อยอดอนาคต ในการเรียนให้กับเด็กๆ บนดอยได้

แม้อาจจะไม่ได้ลุยโคลนขึ้นไปสอนแบบที่เคยเห็นเป็นข่าวกัน แต่คุณครูก็ยังไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอน เพราะครูคนนึง ก็ยังรับสอนหลายวิชากันอยู่

และยังต้องการรับบริจาคสิ่งของให้กับเด็กๆ อยู่อีกมาก โดยเฉพาะของกินของใช้ และเสื้อผ้ากันหนาว เนื่องจากเด็กที่นี่ มีฐานะยากจน


“โรงเรียนที่ผมสอนจริงๆ ก็ถือว่าเจริญในระดับนึงครับ ไฟฟ้าเข้าถึงแล้ว สัญญาณก็พอมีบ้าง ไม่ถึงขั้นแบบว่าลุยโคลนขึ้นไป ถนนก็เป็นปูนแล้ว แต่ไม่ถึงเป็นลาดยาง

แต่ว่าถ้าพูดถึงว่าฐานะครอบครัวของเด็กๆ ก็ยากจนครับ คือถ้าไม่เกิดเหตุฝนตกหนัก ต้นไม้ล้มทับสายไฟ มันก็มีใช้ครับ
ถ้าเป็นของเด็กๆ เองเนี่ย ผมมองว่าจะเป็นพวกเสื้อผ้า แล้วก็ผ้าห่มครับ ผมว่าค่อนข้างที่จะจำเป็น เพราะว่าช่วงฤดูหนาว มันก็จะค่อนข้างเย็นมากๆ

ช่วงนี้ในฤดูฝนยังหนาวเลยกลางคืนเวลาผมนอนผมแทบไม่เปิดพัดลมเลยนะครับ ประมาณสักทุ่มนึงไป มันก็เย็นแล้ว กลางคืนต้องห่มผ้าห่มนอนด้วยซ้ำ

ก็มีพวกเสื้อผ้ามือสอง หรือว่าผ้าห่ม พวกข้าวสารอาหารแห้ง พอมีบ้างครับ ของที่ส่งมา ต้องบอกอย่างนี้คือ ขนส่งไปไม่ถึงโรงเรียน ถนนไปถึงนะ แต่ว่ามันค่อนข้างจะชัน แล้วก็ค่อนข้างจะโค้งหักศอก ขนส่งก็เลยไปไม่ค่อยถึงข้างบน

ส่วนมากของที่ส่งมา ผมก็จะให้ส่งไปที่คุณครูอีกท่านนึง ที่อยู่ในเมือง ของก็จะไปลงที่บ้านคุณครู พอคุณครูขึ้นมาสอน เขาก็จะเอาของขึ้นมาที่โรงเรียนครับ”



“ขนมขี้ดิน” ที่น่าประทับใจ



 

“เรื่องที่ผมประทับใจคือ เวลาที่เด็กๆ มีอะไรกินที่บ้าน ผมไม่รู้ว่าเขาแอบขโมยมาให้ หรือพ่อแม่เขาฝากมาให้ ผมดูแล้วไม่น่าใช่ ที่พ่อแม่เขาฝากมาให้ ถ้าเขาฝากมาให้น่าจะเป็นการใส่ถุง หรือว่าห่อมาให้เราดีหน่อย

มีอยู่วันนึงเขาจะทำคล้ายๆ เค้ก เป็นเค้กแบบของคนชนเผ่า เขาเอาข้าวเหนียวมาตำ แล้วมันก็จะเละๆ แล้วก็จะห่อเป็นก้อนๆ ซึ่งวันนั้นมีเด็กนักเรียนหญิงคนนึง สภาพคือเขากิน แล้วกินไม่หมด เขาก็ห่อใส่กระเป๋ากางเกงขายาว

ข้างในทรายเต็มเลย ขี้ดินเต็มเลย แล้วเด็กกว่าจะให้ ก็มองซ้ายมองขวา แล้วก็หยิบขึ้นมา แล้วก็บอกว่า I give to you มันก็คือความน่ารัก

มันไม่ใช่แค่ครั้งเดียว อย่างเช่นมะม่วง เด็ดมาลูกนึง ที่ยังไม่สุกเลยนะ เม็ดมันยังอ่อนอยู่ข้างในอยู่เลย กินเข้าไปแล้วยังรู้สึกขมอยู่เลย เด็กเด็ดแล้วก็ใส่กระเป๋ามา แล้วก็เอามาให้เรากิน อันนี้คือเห็นแล้วมันคือความน่ารัก ที่เรารู้สึกว่าเราประทับใจมาก เด็กชอบแบ่งปัน ไม่รู้ว่าเขากินแล้วเขาอยากให้เรากินด้วยหรือเปล่านะ เขาก็เลยตัดสินใจเอามาให้เราด้วย”




ภาระล้นมือ โปรดคืนครูสู่ห้องเรียน



 

“ถ้าพูดถึงเรื่องระบบ ผมเชื่อว่าคุณครูในประเทศไทยเราเก่งครับ เป็นครูที่เก่งมากเลย เท่าที่ผมไปสัมผัสหลายๆ คนมา แต่ว่าเนื่องด้วยภาระงานเอกสารมันเยอะมากๆ จนบางทีคุณครูไม่มีเวลาที่จะสอน ถ้าเป็นไปได้ ลดหรือเอาภาระงานเอกสารออกไป อะไรที่มันไม่เกี่ยวกับการสอน ไม่ต้องเอามาให้ครู ให้ครูได้สอนจริงๆ ผมว่าการศึกษามันจะก้าวกระโดด

อย่างของผมงานเอกสารผมไม่ได้แตะเลยสักชิ้นเดียว คือมูลนิธิเขาจ้างผม เขาไม่ได้ให้ผมทำงานเอกสารเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ให้ผมมุ่งเน้นเต็มที่กับการสอนเด็กนักเรียน เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ถ้าครูทั้งประเทศมีโอกาสได้ทำแบบผม เต็มที่กับการสอนจริงๆ โดยที่ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับงานเอกสาร ผมว่าการศึกษาเราจะพัฒนาไปไกลมากๆ

ผมมองว่า Gen ใหม่ ที่ต้องขึ้นมาพัฒนา ต้องขึ้นมาแทนรุ่นเราเนี่ย ผมมองว่ามันสำคัญมากๆ ถ้าเป็นไปได้งานเอกสารคืออะไรที่มันไม่เกี่ยวกับการสอน ก็ไม่ต้องเอามายุ่งเกี่ยวกับการสอน ถ้าเป็นการประเมินจริงๆ ก็ประเมินจากตัวเด็ก งานเอกสารที่ต้องมานั่งปั่นกัน อันนี้ไม่ต้องเอามาให้ครู

ปัจจุบันคุณครูทุกคนรู้อยู่แล้วว่า เวลาสอนแทบจะไม่ค่อยมี คือเอาเวลาไปทำงานเอกสาร เพราะเดี๋ยวก็จะประเมินโน่น ประเมินภายนอกภายใน หรือว่าประเมินอะไรเยอะแยะไปหมด เพราะฉะนั้นคุณครูแทบจะไม่ได้เข้าห้องเรียนเลยสอนเลย ก็คืนครูสู่ห้องเรียนจริงจังสักทีนึงครับ”







ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)






@livestyle.official ...เพราะไม่ได้มองว่า "ภาษาอังกฤษ" เป็นแค่ "วิชาเรียน" เลยสอนเด็กดอยได้ผลจนไวรัลขนาดนี้ @anuwat662... . #LIVEstyle #livestyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #ครูวัตร #ครูดอย #เด็กดอย #สอนภาษาอังกฤษ #สอนภาษาอังกฤษกับtiktok #บ้านห้วยกุ๊ก #TikToker #ดาวTikTok #มูลนิธิพุทธรักษา #โรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน ♬ original sound - LIVE Style


สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : พัชรินทร์ ชัยสิงห์
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “Anuwat Wat”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น