xs
xsm
sm
md
lg

“ค่าไฟขึ้น” เพราะ “แอบเหมาซื้อ” จนไฟสำรองเกิน!! ปลายปีประชาชนเตรียมรับกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คาดการณ์ ค่าไฟจะขึ้น “4-6 บาท/หน่วย” นักเคลื่อนไหวชี้คนไทยจะได้ใช้ไฟ “7 บาท/หน่วย” ไม่ใช่อนาคตอันไกลอีกต่อไป กับปัญหา “ไฟเกิน” ที่รัฐยังคง “แอบซื้อ”!!

ราคาผันผวน เพราะพึ่ง “ก๊าซธรรมชาติ”

อุตส่าห์หลุดจากหน้าร้อน ที่ต้องจ่าย “ค่าไฟ” หนักๆ มาได้ แต่สุดท้ายปลายปีนี้ พี่น้องชาวไทยอาจต้องช็อกกับ “ค่าไฟฟ้า” อีกครั้ง
เมื่อ “พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาเผยว่า แนวโน้มค่าไฟฟ้าเดือน “ก.ย.-ธ.ค.2567” จะมีการปรับ “เพิ่มขึ้น” จากเดิม “4.18 บาท/หน่วย” เป็น “4.65-6.01 บาท/หน่วย”

เหตุผลมาจากต้นทุนทางพลังงานที่สูงขึ้น บวกกับความต้องการ “ก๊าซธรรมชาติ” ที่เพิ่มขึ้น ในช่วงหน้าหนาวของตลาดโลก และอีกเหตุผลสำคัญเลขาธิการ กกพ. บอกคือ...
 “นอกจากนี้ ต้องทยอยคืนหนี้ค่าเชื้อเพลิง ค้างชำระของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วงเงิน 98,000 ล้านบาท และมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซ ที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซ”



นั่นคือ “การอุ้ม”ในรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ที่ “มติคณะรัฐมนตรี” มีมติให้ “ตรึง” ค่าไฟฟ้าไว้ที่ “3.99 บาท/หน่วย”ส่วนค่าไฟ 4.18 บาท/หน่วย ที่เราจ่ายกันอยู่ตอนนี้ คือการตรึงราคาจากรัฐเหมือนกัน ซึ่งกำลังจะสิ้นสุดในเดือน ส.ค.นี้

“จอม”-วีรภัทร ฤทธาภิรมย์ นักรณรงค์ด้านพลังงานหมุนเวียน จาก “Greenpeace“องค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด บอกกับทีมข่าวว่า “4-6 บาท” ที่จะปรับขึ้นเป็น “การคาดการณ์”
อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้าก็ “ขึ้นแน่ๆ” เพราะว่าความจริงแล้ว เขามีแผนที่จะปรับขึ้นตั้งแต่ “ต้นปี”แต่ได้รับเสียงวิจารณ์จากประชาชน ทำให้ยังคง “ตรึงค่าไฟ”อยู่

มันคือ “การตรึงราคา” หรือ “อุ้มค่าไฟฟ้า” แต่ส่วนต่างของ “ต้นทุน”และ “ราคาค่าไฟ”ที่แท้จริงก็ไม่ได้หายไปไหน มันก็กลายเป็น “หนี้” ที่ การไฟฟ้าต้องแบกอยู่
และการที่จะแบกหนี้ก้อนนี้ต่อไปเรื่อยๆ ยังไงก็ไม่ไหว สุดท้ายมันกลับมาหาคนใช้ไฟอย่าง “พวกเรา” อยู่ดี ในรูปแบบของ “การปรับขึ้นค่าไฟ”



                                                   {“จอม” นักรณรงค์ด้านพลังงานหมุนเวียน}

ดังนั้น “ค่าไฟขึ้น” จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ “จอม” จาก “GreenpeaceThailand” มองว่า การปรับขึ้นคงจะไม่ดีดจาก 4 บาท ไปเป็น 5-6 บาททันที่ แต่จะเป็นการค่อยปรับขึ้นแบบขั้นบันได “ขึ้นเป็นหน่วยสตางค์”

“ผมคิดว่าถ้าเขาขึ้น มันคงขึ้นไม่เยอะในช่วงแรก มันต้องเป็นอัตราแบบขั้นบันได แต่ถ้าเขาขึ้นไปอาจจะเป็นจาก 4.18 เป็น 4.2 ครับ ขึ้นราคาระดับสตางค์”

แต่หากจำกันได้ “จอม”เคยวิเคราะห์ว่า อนาคตค่าไฟบ้านเรา อาจไปแตะที่ “7 บาท/หน่วย” ซึ่งภาพการที่ค่าไฟ จะขึ้นในปลายปีนี้ ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดไปอีกว่า 7 บาท/หน่วย อาจเป็น “อนาคตอันใกล้” แล้วก็ได้

หาก “แผนพัฒนาพลังไฟฟ้า (PDP)” เรายังพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจาก ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ต้นทุนพวกนี้ราคามัน “ผันผวนตามตลาดโลก” ทั้งจากภาพเศรษฐกิจ ภัยธรรม และภาวะสงคราม ซึ่งเราไม่สามารถควบคุมมันได้

“แล้วแผนพัฒนาPDPที่ออกมาปี 2024 นี้นะครับ ก็ยังคงพึ่งก๊าซธรรม หรือเชื้อเพลิงฟอสซิลเนี่ย ประมาณเกือบ 40-50% ก็เหมือนเดิม ก็เหมือนไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”



ต่อให้ “ใช้น้อย” ก็ต้อง “จ่ายเกิน” เพราะสัญญา

เรื่อง “พลังงาน” มันคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกแล้ว หากอนาคตเรายังต้องจ่ายค่าไฟ “7 บาท/หน่วย” ปัญหาหนึ่งที่ ค่าไฟบ้านยังคงอยู่และแพงต่อคือ “รัฐยังคงเพิ่มต้นทุนการผลิตไฟ” เข้าไปในระบบโครงสร้างค่าไฟอยู่เรื่อยๆ

นักเคลือนไหวด้านพลังงานรายเดิมบอกว่า ปัญหามาจาก “การพึ่งก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก” และอีกเรื่องที่ สำคัญแต่ดูจะเงียบๆ ไปแล้วคือ ตอนนี้ “กำลังไฟฟ้าสำรอง” บ้านเรา มันจะมี “เกิน 35%” ไปแล้ว เกือบๆแตะ 40% ด้วยซ้ำ

แต่ก็ยังมีการเซ็นสัญญา “ซื้อ-ขาย” ไฟฟ้าจากเพิ่ม “โรงไฟฟ้าเอกชน” อยู่ ซึ่งปีนี้ก็เซ็นสัญญาเพิ่มไปแล้ว “3 โรง” และสัญญาพวกนี้เป็นแบบ “เหมาจ่าย” อายุสัญญาประมาน 20-25 ปี

ถ้าให้สรุปง่ายๆ ก็เหมือนกับว่า เราต้องจ่ายเงินทุกเดือน แม้เราจะมี “ไฟฟ้าที่มากเกินพอ” แล้วก็ตาม แต่เราก็ต้องจ่าย ตามสัญญาที่เราทำไว้ ปัญหานี้มาจากการที่ “รัฐ” ยังพึ่งการ “ซื้อ-ขาย ไฟจากเอกชนมากเกินไป”

“ถ้าสมมติในตัวเลขกลมๆ นะครับ ถ้า 100 ส่วนก็ยังเป็นเหมือนเดิม ก็คือว่ารัฐเนี่ย การไฟฟ้านครหลวงผลิตเองในเครือข่ายแค่ 30% แล้วเราซื้อไฟจากเอกชน 70% ก็ยังเป็นสัดส่วนเดิมครับ”



หากไม่หยุด หรือปรับเปลี่ยนเรื่องนี้ เราก็จะเห็นการออกมา “อุ้มค่าไฟ” กันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพราะ การตรึงราคาค่าไฟ ก็เป็นการช่วยประชาชนลด “ค่าครองชีพ” เบื้องต้นได้
 แต่พอแบกต่อไม่ไหว ค่าไฟก็ต้องเพิ่มอยู่ดี มันจึงกลายเป็น “งูกินหาง” ซึ่งหนี้ที่เกิดจากการ “อุ้ม” ก็จะทำให้ค่าไฟดีดตัวไปเรื่อยๆ

และตอนนี้ นักเคลื่อนไหวด้านพลังงานอย่าง “จอม” ก็ยังไม่เห็นแนวทางว่า “ค่าไฟ” มันจะลงได้ยังไง เพราะถึงแม้รัฐจะมีแผนลงทุน ในพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หรือเทคโนโลยีดักจับคาร์บอน แต่สุดท้ายมันก็ยังเป็นการ “ซื้อ-ขายไฟ จากเอกชนขนาดใหญ่อยู่ดี”

“เราเห็นแต่โครงการลงทุน ลงทุน จัดซื้อไฟจากเอกชน ทีนี้มันก็เลยมองเห็นว่า เฮ่ย...แล้วค่าไฟมันจะถูกลงยังไงในอนาคต”

กำลังไฟฟ้าสำรองที่มากเกิน 35% มันก็เป็นสัญญาเตือนแล้วว่า “เราควรหยุดแค่นี้” แล้วหันไปลงทุนเรื่องอื่น อย่างการสนับสนุนเรื่องอย่าง “โซลาร์เซลล์ภาคประชาชน” หรือพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ในภาคประชาชน

แนะว่าไฟสำรองที่เกินมา เราอาจจะ “หยุด” หรือ “ลดการซื้อ” ไฟไปได้ถึง 5 ปี และเอาช่วงเวลาตรงนี้มาพัฒนาการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนในครัวเรือนได้มากขึ้น

ก็จะทำให้การใช้เชื้อเพลิงอย่าง “ก๊าซธรรมชาติ” หรือ “ถ่านหิน” ค่อยๆ ลดลงไป และถ้ารัฐรับซื้อไฟจากประชาชนได้มากขึ้น ก็จะสามารถคำนวณได้ว่า เราต้องไฟฟ้าเพิ่มจริงๆ เท่าไหร่ จากค่อยไปรับซื้อจากเอกชน มาเป็นกำลังเสริม



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น