xs
xsm
sm
md
lg

“เอเลี่ยนร้าย” เขมือบรายได้ชาวไทย!! บทเรียน “ปลาหมอคางดำ” ระบาดมานาน เพิ่งเป็นข่าวตอนวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปลาหมอคางดำ”เอเลี่ยนสปีชีส์ ที่ “กินทุกอย่างโผล่ทุกที่” ภาพการรุกรานขนาดใหญ่ แต่ไม่ใช่เคสแรก ข้อมูลชี้ยังมีเอเลี่ยนอีกหลายตัวที่เป็น “ภัยเงียบ” ในระบบนิเวศไทย

กินได้ทุกอย่าง แม้แต่ GDP ประเทศ!!

ถูกพูดถึงหนักมาก สำหรับ “ปลาหมอคางดำ”เอเลี่ยนสปีชีส์ที่กำลังขยายพันธุ์ และแพร่ระบาดในแหล่งน้ำไทย ถึง “16 จังหวัด” แล้ว

ณ ตอนนี้ลามไปแล้วในพื้นที่กรุงเทพฯ, สมุทรปราการ, สมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, เพชรบุรี, จันทบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, สงขลา, นครปฐม และนนทบุรี

ปัญหาของ “ปลาหมอคางดำ”คือ “ขยายพันธุ่ได้เยอะ” และ “เร็วมาก”ในทุก ๆ 22 วัน ตัวนึงวางไข่ครั้งละ 300-600 ฟองแถมโดยธรรมชาติมันยังเป็นปลาที่ “กินทุกอย่าง” ปลาเล็ก-ปลาน้อย-ลูกปลา รวมถึงซากปลามันก็กินและอีกปัญหาคือ มันสามารถอยู่ได้ทุกน้ำคือ “น้ำจืด” “น้ำเค็ม” และ “น้ำกร่อย”ล่าสุด พบว่าไประบาดอยู่แถว “อ่าวไทย” เรียบร้อยแล้ว

“ปลาหมอคางดำ” หรือ “Blackchin Tilapia”มีต้นกำเนิดใน “ทวีปแอฟริกา”แล้วมันเข้ามาได้ยังไง? ในปี 2549 “คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC)”อนุญาตให้ “บริษัทแห่งนึง” นำเข้าปลาหมอคางดำจากแอฟริกา “เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล”




                                        {“ปลาหมอคางดำ” เอเลี่ยนสปีชีส์ อยู่ทุกที่-กินทุกอย่าง}

พอปี 2553 บริษัทดังกล่าวก็ได้นำเข้า ปลาหมอคางดำจำนวน 2,000ตัว แต่ทั้งหมดก็ทยอยตายภายใน 3 อาทิตย์ บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลาทั้งหมดไป

แต่กลายเป็นว่า 2 ปีต่อมา ปี 2555 เกษตรกรในจังหวัดสมุทรสงคราม พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็น “ครั้งแรก” ในบ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อปลา กินพื้นที่ไปกว่า “1,000ไร่”แถมยังแพร่กระจายไปในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

แล้วการระบาดของปลานี้สำคัญกับเรายังไง? “ดร.ชวลิต วิทยานนท์” นักวิชาการอิสระ ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยสะท้อนปัญหาเอาไว้แล้วว่า มันใกล้ตัวกว่าที่คิด

คนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตผูกติดกับแหล่งน้ำ หรือการประมงอาจไม่เข้าใจ แต่จากการคุยกับคนที่ทำประมงพื้นบ้าน ในพื้นระบาด พบว่าจำนวนปลาหรือกุ้งที่จับได้นั้นน้อยลง สาเหตุก็มาจาก “ปลาหมอคางดำ”

คนที่เดือดร้อนแน่ๆ ตอนนี้คือ “ชาวบ้าน” ที่จับปลาขาย หลายคน “ลงทุนหลายแสนบาท”ในการทำบ่อกุ้ง-บ่อปลา แต่สุดท้าย “ปลาหมอคางดำ”ก็เข้าไปกิน “กุ้ง-ปลา” ที่เลี้ยงไว้จนหมดบ่อ


                          {“ดร.ชวลิต” นักวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ}

ตอนนี้ผลกระทบภาพใหญ่ อาจจะยัง “ไม่ชัดเจน” หรือ “ยังมาไม่ถึง” แต่รู้หรือเปล่าว่า “ไทย” เป็นประเทศที่ “ส่งออก-เพาะเลี้ยง” สัตว์น้ำชายฝั่ง “อันดับต้นๆ ของโลก“

“แต่ถ้าวันนึง เราไม่สามารถส่งออกได้ เพราะมีแต่ปลาหมอคางดำเนี่ย หมายถึงว่า GDP ส่วนนึงของเราก็จะลดลงไป จะน้อยกี่ลงจุด กี่เปอร์เซ็นต์ หรือ 1% ผมก็ว่าเป็นเรื่องเดือดร้อนในระดับทั้งประเทศนะครับ”

การแพร่กระจ่ายแบบไม่จำกัดวงแบบนี้ ที่มีการพบในหลายจังหวัด ทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย แถมยังไปโผล่อ่าวไทยอีก ทำให้หลายคนบอกว่า การกำจัดให้หมดไปคงเป็นเรื่องยาก เกี่ยวกับเรื่องนี้กูรูรายเดิมช่วยวิเคราะห์ว่า...

“เป้าหมายเราตั้งไว้ 0 ตัวครับ คือ 100% ครับ แต่ว่าทางปฏิบัติค่อยว่ากัน เหลือเท่าไหร่ค่อยแก้ไป”

เพราะถ้าเรากำจัดมันไม่เด็ดขาด ในอนาคต “ปลาหมอคางดำ” ก็จะกลับมาระบาดอีกครั้ง ซึ่งอาจจะหนักกว่าเดิม และงบประมาณที่ลงทุนกันไปตอนนี้ ทั้งหมดก็จะศูนย์เปล่า



ภัยเงียบ “เอเลี่ยน” ไม่ได้มีแค่พันธุ์เดียว

“เอเลี่ยนสปีชีส์” หรือ “สัตว์ต่างถิ่น” อย่าง “ปลาหมอคางดำ” ที่กำลังรุกรานแหล่งน้ำไทย นักวิชาการอิสระอย่าง “ดร.ชวลิต” มองว่า เคสนี้เป็นเหตุการณ์ที่มี “ผลกระทบหนักสุด” แต่ไม่ใช่เคสแรก

“เรามีเอเลี่ยนสปีชีส์ระบาดหลายครั้ง แต่ว่าอาจจะไม่เป็นข่าวโด่งดังมาก ถ้าแรกสุดในยุคประวัติศาสตร์ คือรัชกาลที่ ๕ จนถึงปัจจุบันเนี่ย มันคือผักตบชวาครับ”

“ผักตบชวา” เอเลี่ยนสปีชีส์ที่อยู่มานาน จนหลายคนอาจคิดว่าเป็นพืชพื้นเมืองของบ้านเราไปแล้ว ปัญหาที่มันก่อก็คือ การไปอุดตันตามแหล่งน้ำ ทำน้ำเน่าเสีย ซึ่งเป็นปัญหาที่แก้กันมาหลาย 10 ปี หรืออาจเกือบ 100 ปีแล้วก็ได้



หรืออีกตัวที่หลายคนคุ้นชื่อกันอย่าง “หอยเชอรี่” ศัตรูตัวร้ายของ “นาข้าว” ที่ตอนนี้ระบาดหนัก จนกลายเป็นเรื่อง “ปกติ” ของชาวนาไทยไปแล้ว แต่ “ดร.ชวลิต” บอกว่า ปัญหาหอยเชอรี่ตอนนี้ เบาบางลงไปมากแล้วเพราะ...
“มันก็ถูกนกปากห่างมาคุมส่วนนึง คนก็เอาไปใช้ประโยชน์ส่วนนึง ปัญหามันก็เพลาๆ ไป”หรือกรณีที่คล้ายกันก็



คือ “ปลาซักเกอร์” ที่เมื่อหลายปีก่อน ก็มีการระบาดในแหล่งน้ำจืด บุกเข้าไปกิน ไข่ปลา-ลูกปลา ทั้งในแม่ธรรมชาติและบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้าน จนต้องมีการไล่ล่า กำจัดกันขนานใหญ่



กูรูบอกถึงการรุกรานของเอเลี่ยนสปีชีส์ว่า ยังมีอีกที่เป็นเคสน่ากังวล แต่ตอนนี้ไม่ค่อยเป็นข่าวเท่าไหร่คือ “ไมยราบยักษ์” และ “จอกหูหนูยักษ์” ที่กำลังระบาดตามแหล่งน้ำจืดในชนบท

                                                                       {จอกหูหนูยักษ์}


                                                                  {ไมยราบยักษย์}

จะเห็นว่า “เอเลี่ยนสปีชีส์” ที่กำลังสร้างปัญหาในไทย อย่างเงียบๆ มีหลายชนิดไม่ใช่แค่ “ปลาหมอคางดำ” ซึ่งข้อมูลจาก “สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)” บอกว่า “เอเลี่ยนสปีชีส์” ในไทยมีอยู่มากกว่า “3,500 ชนิด” และมี “138 ชนิด” ที่กำลังเป็น “ปัญหา” ในระบบนิเวศไทย ส่วนใหญ่เป็นสัตว์น้ำ

คำถามคือ การนำเข้าพืช หรือสัตว์ต่างถิ่นเหล่านี้ มันสร้างปัญหาให้ระบบนิเวศหรือเศรษฐกิจขนาดนี้ แล้วจะนำเข้าทำไม เหตุผลใหญ่ๆ มี 2 ข้อ “การเกษตร” เลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร กับ “ความสวยงาม”

ซึ่งในความเป็นจริง “ปลา” ที่เรากินในท้องตลาด หลายตัวก็เป็น “เอเลี่ยนสปีชีส์” ทั้งปลานิล ปลาไน ปลาดุกบิ๊กอุย และปลาเหล่านี้หลายชนิดมีการระบาดในแหล่งน้ำจืด



“ดร.ชวลิต” บอกว่า มันก็กระทบต่อระบบนิเวศในธรรมชาติ แต่ “ไม่รุนแรง” เพราะมี “การจับมาเพื่อเป็นอาหาร” แต่ถ้ามันหลุดไประบาดตามแหล่งที่มีปลาชนิดเปราะบาง อย่างในอุทยาน ตรงนี้อาจจะเป็นปัญหาใหญ่

หากสรุปปัญหาของ “เอเลี่ยนสปีชีส์” ที่เข้ามารุกรานระบบนิเวศไทย ตัวต้นเหตุคงหนี้ไม่พ้น“คน”ที่พามันเข้ามา ทั้งจากการนำมาเพาะพันธุ์วิจัยด้านเกษตร หรือเอาเลี้ยงเพื่อความสวยงาน แต่เมื่อเบื่อก็ปล่อยมันออกไปตามแหล่งธรรมชาติ

เราคงต้องหันมันตั้งคำถามแล้วว่า ยังมีเอเลี่ยนตัวไหนอีกไหม ที่กำลังระบาดในไทยแต่ยังไม่เป็นข่าว เพราะเคสของ “ปลาหมอคางดำ” ที่พบการระบาดครั้งแรกมากว่า 10 ปี แต่ทุกอย่างเงียบหายไป

 จนวันนี้ระบาดถึงขึ้นวิกฤต สังคมถึงหันมามองปัญหานี้อีกครั้ง“ปลาหมอคาง” อาจเป็นบทเรียนราคาแพงที่จะทำไทย ต้องหันมาสนใจเรื่อง “เอเลี่ยนสปีชีส์” กันอย่างจริงจัง

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณข้อมูล : ngthai.com
ขอบคุณภาพ : kas.siamkubota.co.th,th.wikipedia.org, เพจเฟซบุ๊ก “ธรรมธุรกิจ”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น