xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยคนแรก ถึงยอดใน 27 วัน!! หนุ่มแบงก์ผู้ไม่ได้ตั้งใจไปพิชิต "ผมต้องการพลังจากเอเวอเรสต์" [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดประสบการณ์ท้าตาย หนุ่มแบงก์ชาวไทยผู้พิชิตยอดเอเวอเรสต์ ขณะที่คนอื่นใช้เวลา 50-60 วัน แต่เขาออกนอกกรอบ ปีนขึ้นรวดเดียวโดยไม่ได้ขึ้น - ลงมาพักที่ Base Camp เพื่อปรับสภาพร่างกายให้คุ้นชินที่สูง กายพร้อม อุปกรณ์ครบ จนพิชิตได้ใน 27 วัน และเป็น “คนไทยคนแรก” ที่ทำสถิติได้ไวขนาดนี้!!



ทุ่ม 10 ปี เพื่อวันนี้ “เอเวอเรสต์”

กลายเป็นคลิปไวรัลที่ต้องอึ้ง ทึ่ง และร่วมลุ้นไปทุกย่างก้าวประหนึ่งได้ไปปีนด้วย เมื่อช่อง TikTok @cansmile ได้แชร์ประสบการณ์ การออกเดินทางไปพิชิตยอดที่สูงที่สุดในโลกอย่าง “เอเวอเรสต์” (Everest) เมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ก่อนที่เขาจะขาดการเคลื่อนไหวไปราว 20 กว่าวัน ชาว TikTok ที่ติดตามก็ได้ร่วมส่งกำลังใจและรอฟังข่าวดีอย่างล้นหลาม

และการรอคอยก็สิ้นสุดลง เมื่อเจ้าของช่องได้มาอัปเดตว่า ถึงยอดเอเวอเรสต์เป็นที่เรียบร้อย เมื่อวันที่ 23 พ.ค.67 เวลา 11.59 น. โดยใช้เวลาไป 27 วัน นับได้ว่าเป็นคนไทยคนที่ 6 ที่พิชิตยอดเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ

ชายสุดแกร่งคนนี้มีนามว่า “เมฆ - สิริพงศ์ สุพรรณพงศ์” พนักงานแบงค์และนักปีนเขา วัย 44 ปี


เขาต้องสะสมประสบการณ์การปีนยอดเขาสุดโหดลูกอื่นๆ กว่า 1 ทศวรรษ ก่อนที่จะมาถึงยอดเขาอันเป็นจุดสูงสุดของโลก เส้นทางกว่าจะมีวันนี้จะหฤโหดขนาดไหน จับกระเป๋าสัมภาระให้แน่น แล้วออกเดินทางไปพร้อมกัน ตามบรรทัดต่อจากนี้...

“ตอนนี้ทำงานอยู่ที่ธนาคารแห่งหนึ่งนะครับ ดูทางด้านพวก Digital Innovation Payment คือไม่เกี่ยวกับเรื่องปีนเขาเลย ชอบในด้านของการผจญภัย เป็นสาย Tracking เดินป่า ถ่ายรูป เราก็อาจจะเริ่มจากป่าเล็กๆ ภูเขาในเมืองไทย

ก็จะเป็นเขาหลวงสุโขทัย ภูสอยดาว ภูกระดึงอะไรพวกนี้ จริงๆ สวยทุกฤดูครับ เราไปหลากหลายฤดู มันสวยที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อนก็จะสวยอีกมุมนึง ที่ป่ามันเปลี่ยนตามธรรมชาติของมัน ฤดูฝนก็จะชุ่มฉ่ำเขียวขจีหน่อย

พอเราเดินป่า เรารู้สึกว่าเราได้อะไรกลับมาโดยเฉพาะเรื่องของพลัง เข้าป่าแต่ละทีเราเหนื่อยก็จริงนะ แต่เราได้พลัง ในการที่เปลี่ยนพลังงานเหล่านี้มาใช้ในชีวิตประจำวัน

เราก็เลยรู้สึกว่า นี่แค่ภูเขาเล็กๆ กิจกรรมเล็กๆ มันยังได้พลังใจ พลังกายให้มาต่อสู้ชีวิตได้ แล้วถ้ามันใหญ่กว่านี้ล่ะ มันจะมีพลังมหาศาลแค่ไหน ก็เลยเริ่มค้นหาว่า แล้วอะไรล่ะที่มันเป็นที่สุดของภูเขา ก็ไปจบที่เอเวอเรสต์ครับ”



จากพลังของธรรมชาติที่ได้รับมา เป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม เมื่อคิดได้ดังนั้น ก็ถึงเวลาที่ต้องสะสมทักษะประสบการณ์ เพื่อเดินทางไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้

“(เริ่มเดินป่า) ประมาณ 10 ปีที่แล้วครับ เราเริ่มเพิ่งเข้าวงการเดินป่า ก็เลยเริ่มรู้ว่าภูเขาที่สูงที่สุดนั้นคือเอเวอเรสต์ ก็เลยปักธงไว้ตั้งแต่ตอนนั้นว่า อีกประมาณ 9 - 10 ปี เราต้องขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของโลกนี้ให้ได้

ก็พยายามที่จะค่อยๆ วางแผนศึกษาหาข้อมูลก่อน ว่าเอเวอเรสต์ต้องการอะไรบ้างที่เราจะไปถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพละกำลัง ทักษะต้องใช้ในเรื่องไหนบ้าง เราไปเรียนรู้ทักษะที่มันไม่เกี่ยวกับเอเวอเรสต์ มันก็เสียเวลาฟรี เพราะฉะนั้น โฟกัสไปเลยว่าที่นี่มันต้องการทักษะประเภทไหน ต้องการเวลาเท่าไหร่ในการปีน เท่าที่รู้มาก็ประมาณ 50 - 60 วันนะครับ

เรื่องของทีมมันยิ่งสำคัญมาก เวลาเจอความลำบากมันต้องไว้ใจกัน ไม่งั้นวงแตก ทะเลาะกันกลางภูเขา และสำคัญที่สุดเลยคือเรื่องของเงิน หลายๆ ปัญหาของเอเวอเรสต์แก้ได้ด้วยเงิน

การสะสมความสูง เรียกว่าประสบการณ์ เพราะว่าการที่จะไปยืนอยู่บนภูเขา 8,000 เมตร มันต้องผ่านภูเขาอื่นมาก่อนเพื่อเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหายใจ เพราะว่ายิ่งสูง ออกซิเจนมันยิ่งต่ำมัน เราก็ต้องฝึกว่าบนที่สูงมันหายใจยังไง


เรื่องของการใช้ชีวิต เขาต้องกินอาหารประเภทไหน เรื่องของอุปกรณ์ความหนาวต่างๆ ที่เราเจอในเอเวอเรสต์ มันสามารถป้องกันได้ถ้าอุปกรณ์เราดีพอ ก็ค่อยๆ เริ่มศึกษาเรื่องเหล่านี้มา

ประสบการณ์อื่นๆ เช่น การปีน เราต้องไปปีนภูเขาลูกที่ต่ำกว่าก่อน เพื่อดูเทคนิคว่าเส้นทางเป็นยังไง ความชันเป็นยังไงบ้าง ความชันกี่องศา เป็นลักษณะของหิมะหรือเป็นภูเขาหิน เราจะเลือกอุปกรณ์หรือเลือกเทคนิคได้ถูกต้องกับภูเขาลูกนี้”


[ เตรียมร่างกายให้พร้อม ก่อนลุยเอเวอเรสต์ ]
หลังจากเดินป่าในเมืองไทยอยู่ 3 ปี เขาเริ่มปีนเขาในต่างแดนทุกปี เพื่อเรียนรู้การใช้ชีวิตบนที่สูง และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ โดยเริ่มที่ Fansipan ของเวียดนาม ก่อนจะไปเนปาล คือ EBC (Everest Base Camp) และขึ้นยอด Island Peak กับความสูง 6,189 เมตร

เขาลูกถัดมาก็จะเป็น Mera Peak กับความสูง 6,476 เมตร และ Chulu West Peak ฝึกเรื่องของการ Camping บนหิมะ ก่อนจะไปต่อที่ Lobuche East Peak ซึ่งเมฆเลือกไปในฤดูหนาว ฤดูกาลที่ปีนเขายากที่สุด

แต่สิ่งที่ฤดูนี้ให้มาก็คือความหนาวสุดโหด เพื่อทดสอบว่าชุดที่ใส่สามารถกันหนาวได้ดีหรือไม่ เพราะที่เอเวอเรสต์จะหนาวกว่านี้มาก และที่นี่เขาประสบอุบัติเหตุครั้งแรกของการปีนเขา หมุดที่ยึดเชือกไว้เกิดหลุดจนทำให้ตัวปลิวจนหลังกระแทก

และภูเขาลูกถัดไปเป็นอีกลูกที่มีความสำคัญมากของเนปาล นั่นคือ Ama Dablam ที่ต้องใช้ทักษะการปีนระดับสูงเลยก็ว่าได้ และอาจสูงกว่าเอเวอเรสต์ด้วยซ้ำ หากผ่านลูกนี้ไปได้ ก็การันตีว่าเรามีทักษะที่เพียงพอต่อการปีนเอเวอเรสต์แล้ว

แต่ด้วยเพราะความโหดและสภาพอากาศปิด เป็นเหตุให้เชอร์ปาหรือคนที่นำทางท้องถิ่น ตัดสินใจสั่งให้ลงแม้จะเหลือเพียง 10 เมตรสุดท้าย ทำให้เมฆไม่สามารถพิชิตยอดเขานี้ได้ในครั้งแรก

เขากลับมาฝึกฝนร่างกาย ฝึกการปีน และเปลี่ยนฤดูกาลไปช่วง ต.ค.ของปีถัดไป ก็สามารถขึ้นไปบนยอด Ama Dablam ได้สำเร็จ และจากยอดนี้ก็สามารถมองเห็นยอดเอเวอเรสต์ที่อยู่ตรงข้ามได้อีกด้วย



จากประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมา เขาพร้อมแล้วสำหรับการพิชิตยอดเอเวอเรสต์ ทว่าในครั้งนั้น เขาไปไม่ถึงฝั่งฝัน

“เมื่อปีที่แล้วก็เลยเล่นของใหญ่ เป็นครั้งแรกที่ไปเจอเอเวอเรสต์ครับ จะปีนอยู่ 2 ช่วง ก็คือ เม.ย.-พ.ค. กับ ต.ค. แต่เขาฮิต เม.ย.-พ.ค.กันมากกว่า เพราะว่าเป็นช่วงที่มรสุมน้อยที่สุด ฟ้าจะเปิด โอกาสที่จะเจอมรสุม พายุมันน้อยลง

ตอนขึ้นไปเราผ่านแคมป์ 1 Khumbu Icefall ตามปกติ ไปถึงแคมป์ 2 อากาศมันแย่มาก ไปเนปาลมา 7-8 ปี ปีนั้นคืออากาศแย่ที่สุดตั้งแต่เคยเจอมา มีคนเสียชีวิตทั้งหมด 18 คน ซึ่งสูงมาก ปกติเอเวอเรสต์จะเสียชีวิตประมาณ 5 - 8 คนต่อปี แล้วโดน Frostbite กันเยอะมาก

ตอนที่อยู่แคมป์ 2 เราก็คิดว่าเราพอแล้วแค่นี้ ความเสี่ยงเรารับได้แค่นี้ เราไปต่อได้ก็จริง แต่เราเลือกที่จะไม่ไป เพราะเราเห็นว่าไปแล้วโอกาสรอดน้อยมาก ก็เลยคิดว่าไปเก็บข้อมูลอย่างเดียวก่อน

กลับมาเมืองไทยเราก็ทำการบ้าน การเห็นเส้นทางข้อดีคือเรารู้ว่าเราจะเจออะไร เรารู้ว่าต้องฝึกฝนยังไง เรารู้จุดแข็ง-จุดอ่อนของเรา เพราะฉะนั้น กลับไปรอบนี้มั่นใจว่าขึ้น Summit ได้โดยปลอดภัย นั่นคือเป้าหมายของเรา”

ได้เชอร์ปาดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

แม้ความฝันจะไม่สำเร็จในครั้งแรก แต่หลังจากที่ได้ไปสัมผัสของจริงมาแล้ว ก็เป็นประโยชน์อย่างมากในการนำมาปิดจุดอ่อนของตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการพิชิตเอเวอเรสต์ในครั้งนี้

จุดอ่อนที่เราต้องการปิดหรือว่าลดความเสี่ยง อันดับแรกคือร่างกายของเรา สิ่งที่ผมทำคือเคลียร์ระบบเลือด เราศึกษาว่าออกซิเจนมันทำงานยังไง มันก็เกาะไปกับพวกเม็ดเลือดภายในร่างกายเรา

เส้นเลือดของเราถ้ามีอะไรมากีดขวาง มันก็จะทำให้เส้นเลือดไม่ Flow อันดับแรกเลยคือเคลียร์เรื่องไขมันต่างๆ ในเส้นเลือด ไม่ว่าจะเป็นค่า Trigleceride หรือค่า Cholesterol ต่างๆ ต้องให้อยู่ในระดับปกติ



บนที่สูง สำคัญที่สุดไม่ใช่ยารักษาโรค ยามันคือการที่ข้างหลังแล้ว เราป่วยแล้ว เราถึงจะรักษา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดบนภูเขาสูงคือออกซิเจน ออกซิเจนเปรียบเสมือนชีวิตของนักปีนเขายิ่งกว่ายา

อันดับที่ 2 ให้เรื่องของกล้ามเนื้อ ระหว่างกล้ามเนื้อที่มันเหลวๆ กับกล้ามเนื้อที่มันเป็นกล้ามเนื้อจริงๆ มันต่างกันเพราะฉะนั้น เราจะต้องเปลี่ยนไขมันพวกนี้ให้เป็นกล้ามเนื้อ ด้วยการเข้า Fitness ทั้ง Cardio อะไรพวกนี้ จัดเต็มที่เพื่อให้กล้ามเนื้อเราแกร่งทั้งส่วน นี่คือเรื่องของการเตรียมร่างกาย

ต่อมาก็คือเรื่องของอุปกรณ์ ก็เปลี่ยนชุดใหม่ทั้งหมด เพราะว่าเราคิดว่าชุดเก่าที่เคยใช้ ถ้ามันชำรุดนิดเดียวมันหมายถึงช่องโหว่ชีวิต ชุดเก่าที่เคยผ่านการใช้งานมาระดับนึงแล้วรู้สึกมันเสี่ยงไป ถุงมือพวกนี้เปลี่ยนหมด”


[ Lhakpa Gelbu Sherpa (ซ้าย) เชอร์ปาผู้พาพิชิต ]
และเป็นโชคดีของเขา ที่ได้เชอร์ปา คือคุณ Lhakpa Gelbu Sherpa ที่เป็นมากกว่าคนนำทาง

“มีการเพิ่มออกซิเจนมากขึ้น ปกติจะใช้ออกซิเจนประมาณ 3 - 5 ถัง ถังนึงประมาณ 2 - 3 กิโล ผมใช้ออกซิเจนทั้งหมด 10 ถัง แล้วก็ของเชอร์ปาด้วยอีก 10 ถัง รวมทั้งหมด 20 ถัง เพราะฉะนั้น เรามั่นใจว่าออกซิเจนของเรามันเหลือเฟือ ไม่มีบริษัทไหนที่เขาให้ออกซิเจนเยอะขนาดนี้ แต่การที่เราใช้ออกซิเจนเยอะขนาดนี้ เพราะว่าเป็นการช่วยเหลือของเชอร์ปา

เคยมีคนถามเหมือนกันว่าทำไมยู ถึงให้ออกซิเจนกับผมเยอะขนาดนี้ เขามองว่าผมไม่ใช่ Customer ผมเป็น Brother เขาไม่ได้มองว่าเป็นลูกค้า เขามองเป็นพี่น้อง เขาแบกขึ้นไปแต่ละแคมป์หลายรอบมาก เพื่อที่จะให้ผมมีออกซิเจน



ถ้าเป็นบริษัทปกติ เชอร์ปาที่จัดให้จะเป็นเชอร์ปาที่เจอหน้างานด้วย หมายความว่าอาจจะรู้ใจกันหรือรู้ใจกันก็ไม่รู้ ซึ่งเชอร์ปาหน้างาน บางคนรับงานครั้งเดียว แต่ถ้าเขามีลูกค้าเยอะกว่านั้น เขาก็จะทำรอบ หมายความว่าเขาต้องรีบขึ้นรีบลง

สมมติเราไป เราอาจจะไม่ได้ขึ้นเลย เพราะเขาต้องพาลูกค้าคนอื่นขึ้นแล้วลงมา เราต้องรอเขาที่ Base Camp การทำรอบมีข้อเสียมากครับ เขาจะเร่งเราขึ้น กำหนดการเป็นของเขาหมดเลย ถ้าเราช้ามี 2 ทางคือเขาไม่ไปต่อ เขาให้เราลงมาเลย หรือไม่เขาก็ต้องเร่งเราขึ้นให้เร็วที่สุด นั่นหมายความว่าเราก็ต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้น มีโอกาส Frostbite มีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น

ส่วนที่ผมไปจะไม่ใช่แบบนี้ เขามองเราเป็น Brother เราเคยปีนภูเขาด้วยกันมาหลายลูก แล้วก็เราทำความสนิทโดยการที่ผมเชิญเขามาเที่ยวที่เมืองไทย ก็พาไปเที่ยวไร่เลย์ พาไปเที่ยวทะเลอะไรพวกนี้ มันทำให้เราสนิทกัน”



และแล้ว การออกเดินทางครั้งสำคัญของชีวิตก็มาถึง การไปเยือนเอเวอเรสต์ครั้งที่ 2 นี้จะต้องสำเร็จให้ได้!!

“ระหว่างเดินทาง เอเวอเรสต์มีทั้งหมด 5 แคมป์ด้วยกัน แคมป์แรกเรียกว่า Base Camp อยู่ที่ตีนเขา ต่อไปคือแคมป์ 1 แคมป์ 2 แคมป์ 3 แคมป์ 4 แต่ละแคมป์มีความสูงห่างกันประมาณ 800 - 900 เมตร เริ่มจากแคมป์แรก ความสูงประมาณ 5,300 เมตร ไล่ไปเป็น 6,000 เมตร 6,400 เมตร 7,100 เมตร 8,000 เมตร แล้วก็ขึ้น Summit 8,800 นี่คือเส้นทางของเขา

จุดแรกที่อันตรายมากที่สุดอันดับต้นๆ ของเอเวอเรสต์ จาก Base Camp ไปที่แคมป์ 1 ต้องผ่านจุดที่เรียกว่า Khumbu Icefall มันคือธารน้ำแข็งขนาดมหึมา เป็นทางที่ยึกยือ อารมณ์เหมือนน้ำแข็งก้อนใหญ่ๆ วางกระจัดกระจายกัน อันตรายของมันคือพร้อมจะถล่มได้ทุกเมื่อ อัตราการเสียชีวิตที่สูงที่สุด 29 เปอร์เซ็นต์ของเอเวอเรสต์ เกิดจากหิมะถล่มนะครับ



ผ่านตัว Khumbu Icefall ไปแล้วก็จะเจอกับแคมป์ 1 เราจะพักแค่ 1 คืน จากแคมป์ 1 ไปแคมป์ 2 เป็นระยะทางสั้นๆ ความสูงประมาณ 300 กว่าเมตร เดินง่าย ถือว่าเป็นเส้นที่ง่ายที่สุดในเอเวอเรสต์แล้วครับ แทบจะไม่มีอันตราย ไม่มี Technical

แคมป์ 1 ไปแคมป์ 2 ห่างกันประมาณ 4 -5 ชั่วโมง เดินชิลๆ ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ แคมป์ 2 จะเป็นแคมป์ที่พักนะครับ แคมป์นี้สามารถที่จะมี ฮ. มารับได้ เช่น กรณีป่วย กรณีฉุกเฉินต่างๆ เฮลิคอปเตอร์สามารถที่จะ Drop ตรงนี้ได้

จากแคมป์ 2 ขึ้นไปจะเจอแคมป์ 3 จะเป็นลักษณะผาตั้งชัน สิ่งที่เจอจุดแรกเขาเรียกว่า Lhotse Face คือเหมือนเดินทางเรียบๆ แล้วอยู่ๆ เจอหน้าผาตั้งชัน หักขึ้นอย่างนี้เลย แคมป์ 3 จะเป็นแคมป์ที่ชันระดับนึง ประมาณ 50 - 60 องศา ความสูงประมาณ 7,100 เมตร ความอันตรายของแคมป์ 3 มีอยู่เรื่องเดียว ก็คือตอนปีนก็ระวังไถลตัวตก เพราะมันค่อนข้างชัน”

การเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ ทำให้เขาผ่านจุดไปไม่ถึงในครั้งที่แล้วมาได้อย่างราบรื่น ความสำเร็จนี้เหลือเพียงอีกแค่อึดใจเดียวเท่านั้น

“หลังจากผ่านแคมป์ 3 เสร็จปุ๊บก็จะเตรียมขึ้น Death Zone คือแคมป์ 4 นะครับ ทางก็คล้ายแคมป์ 3 เลยคือชันอย่างเดียว ชันๆๆ ไปจนถึง Death Zone จาก 7,100 เมตรขึ้น 8,000 เมตร ระยะทางความชัน 900 เมตรถือว่าก็หนักอยู่นะครับ จริงๆ จากแคมป์ 1 มาถึง Death Zone ไม่ค่อยอันตรายเท่าไหร่ แต่หลังจาก Death Zone นี่คือของจริง



ถามว่า Death Zone ทำไมถึงอันตราย ตรง Death Zone มันจะมีพื้นที่ 2 - 3 สนามฟุตบอล สามารถตั้งแคมป์ตรงนี้ได้ มันจะเป็นพื้นที่รับลม เพราะฉะนั้น ลมตรงนี้จะแรงมาก เต็นท์มีประมาณ 20 - 30 หลังที่มาอยู่ตรงนี้ครับ ถ้าเหนือจาก Death Zone คือขึ้นยอดแล้ว ผ่าน Balcony ผ่าน South Summit ผ่าน Hillary Step ก็ถึงยอดนะครับ

สิ่งที่เจอที่ Death Zone สมมติเราไปถึงเย็นของอีกวันนึง เราก็จะพักข้ามคืน ไม่ต้องรีบ นอนไปจนถึงหนึ่งทุ่มของอีกวัน เป็นช่วงที่เริ่ม Start ในการปีนเขา อุปกรณ์ก็ต้องเตรียมให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ของตัวเองและอุปกรณ์สำรองด้วย


สำคัญคืออุปกรณ์สำรอง เช่น แว่นตา มันต้องมีสำรอง เพราะถ้าตัวหลักพัง ถ้าไม่มีสำรองคือจบเลย ไม่รู้จะลงยังไง รวมถึงพวกอาหาร เราก็ต้องรู้ว่าตัว เราเองกินอาหารประเภทไหนได้ แล้วก็พลังงาน Calorieที่ใช้เท่าไหร่

ผมใช้เจลพลังงาน มันเป็นรสผลไม้ทำให้เรากินง่าย ฉีกซองมาปุ๊บกินเลยแล้ว มันหวาน พลังงาน 1 ซองได้ประมาณ 300 กิโลแคลฯ กิน 1 ซองจะอยู่ได้ 2 ชั่วโมง ผมกะไว้เลยว่าขึ้นลง 24 ชั่วโมง ผมต้องพกทั้งหมด 12 ซอง อุปกรณ์ Headlamp ก็ต้องเตรียม 2 อัน รวมถึงถ่านไฟฉายด้วย เพราะถ้าอันนึงพัง อีกอันนึงต้องใช้”

“ดาวประดับฟ้า” ที่มาพร้อม “ความว่างเปล่า” ...

เมฆ ถือฤกษ์ดีในวันวิสาขบูชา ในการขึ้นพิชิตยอดเขาสุดโหดนี้ ซึ่งระหว่างทางที่ต้องปีนนี้ ก็เจอเข้ากับนักปีนเขาคนอื่น ทว่า... เหลือแต่เพียงร่างไร้ลมหายใจแล้ว

วันที่เราเลือกปีนคือวันวิสาขบูชา เพราะว่าพระจันทร์มันเต็มดวง มันช่วยเราได้เยอะ มันจะส่องแสงทำให้วิสัยทัศน์ของเราจะมองเห็นกว้างไกล ก็พยายามปีนไปเรื่อยๆ จนถึง Hillary Step เท่าที่อ่านข้อมูลมามันต้องใกล้ถึงยอดแล้ว

ปรากฏว่าไปเจอศพขวางทางอยู่ แล้วเป็นบนสันเขาด้วย พื้นที่แคบมาก ลมมันค่อนข้างแรง แล้วศพนั้นขวางเชือกด้วย เราต้องอ้อมผ่านศพ คนเนปาลเขาจะไม่แตะศพเลย ถ้าเจอ Dead Body เขาจะเลี่ยง ไม่ต้องสำรวจอะไรทั้งสิ้น ปล่อยครับ


[ แสงจันทร์เป็นใจให้ขึ้นถึงยอด ]
จริงๆ ก็เตรียมใจไว้แล้วว่ามันต้องเจอแน่นอน นั่นก็คือการเห็นผู้เสียชีวิตต่างๆ การเสียชีวิตบนเอเวอเรสต์ สิ่งที่เขาทำกัน เขาปล่อยเลยนะครับ ที่เหลือไปต่อหรืออาจจะลงกลับก็แล้วแต่เขา กติกามันเป็นอย่างนั้น

เห็นเพื่อนเสียชีวิตจะไปแบบ… ต้องแบกเพื่อนลง ไม่ได้ครับ คนเสียชีวิต อุปกรณ์ต่างๆ รวมชุด มันไม่ง่ายที่คุณจะแบกอะไร 100 กิโลลงจากภูเขา ขนาดเชอร์ปาก็ต้องใช้คน 7 คนในการลากร่างลงมา ถ้าเราเป็นแค่นักปีนเขา ไม่มีทาง เสียก็คือต้องปล่อย สำคัญสุดคือเราต้องรู้ตัวเองว่าก่อนขึ้นไหวแค่ไหน ไม่ต้องฝืนไม่ต้องอะไร ปีหน้ามาใหม่ก็ได้ตราบใดที่เรายังมีชีวิต”

และแล้ววินาทีที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตก็มาถึง คนไทยคนที่ 6 ได้ขึ้นไปยืนบนจุดที่สูงที่สุดแห่งเทือกเขาหิลาลัยได้สำเร็จ พร้อมกับป้ายข้อความ “ดาวประดับฟ้า” ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเขาหลังจากนั้นคือ “ความว่างเปล่า”



“ตอนที่ผมถึง Balcony ตอนเช้า 4 โมงกว่า อยากเล่าตรงนี้มาก ด้านซ้ายคือพระจันทร์กำลังจะตกดวงใหญ่กลมโต ด้านขวาพระอาทิตย์จะขึ้น มันเป็นแสงที่ Amazing มาก เราไม่ได้ถ่ายรูปมาเพราะเรามองด้วยตาเปล่า

มันเป็นเหมือนอยู่อีกโลก สิ่งหนึ่งกำลังจะจบลงไป สิ่งใหม่ๆ มันกำลังจะเกิด ตามแผนที่เราวางไว้ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เราถึง Balcony โดยที่เราไม่โดน Frostbite นั่นหมายความว่า มั่นใจแล้วว่า 95 เปอร์เซ็นต์ Summit แน่นอน

ตอนที่ผ่าน Hillary ไปถึง Summit ไม่รู้สึกดีใจอะไรเลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรู้สึกว่างเปล่า สมองเราที่คิดมาตลอดว่า เราจะขึ้นยังไง จะเตรียมตัวยังไง จะทำยังไงบ้าง จะเจออะไรพวกนี้ มันหายไปหมด มันคือการเหมือนเคลียร์สมองหมดเลย สิ่งเดียวที่เราคิดก็คือเราจะลงยังไง จะลงไปถึงข้างล่างยังไง นั่นคือสิ่งที่เราต้องคิดต่อ



ตอนถึงยอด ผมนั่งลงที่ใกล้ยอด แล้วก็เชอร์ปาประจำตัวก็มาแท็กมือแสดงความยินดี สิ่งที่ผมทำคือ ผมไม่ตบด้วย ผมถอยมา 1 ก้าว ผมก้มลงกราบที่เท้าเชอร์ปา แล้วผมพูดว่า ‘I love you ถ้าไม่ได้คุณ ไอไม่ Summit หรอก’ กราบเขาแล้วก็ขอบคุณ จากนั้นก็กอดเขา นั่นคือสิ่งที่ทำ

อยู่ประมาณ 15 นาที ได้ถ่ายรูปไม่กี่รูปครับ วิดีโอก็แทบจะเอาไปใช้อะไรไม่ได้ พื้นที่สามารถยืนได้ประมาณ 15 คน กว้างอยู่ แต่ว่าทุกคนก็ต้องใส่ Safety เพราะว่าอาจจะโดนลมพัดปลิวไปได้ ปีนี้มีคนสมัครทั้งหมดที่ได้ Permit นะครับ ชาวต่างชาติคือ 414 คน เหมือนจะ Success ประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ ก็ 200 กว่าครับ”

และความเย็นยะเยือกของภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ ก็ไม่อาจแช่แข็งน้ำใจอันอบอุ่นที่เกิดขึ้นระหว่างทางได้



“การช่วยเหลือกัน อันนี้รู้สึกดี ตอนนั้นน้ำผมหมด แต่มีช็อกโกแลต (หัวเราะ) ขาลงแดดกำลังร้อน นั่งรอถ้ามีคนลงมา ขอแลก คุณมีน้ำเหลือไหม ฉันมีช็อกโกแลตเหลือนะ เขาก็บอกว่า ไอไม่ต้องการช็อกโกแลต แต่ไอจะแบ่งน้ำให้ยู ประมาณนี้

แล้วตอนที่ผมได้น้ำมา มันอุ่นๆ หน่อย แก้วมันจะใหญ่มาก แต่น้ำที่เราได้มันแค่นี้ (ประมาณ 1 นิ้วจากก้นแก้ว) มันน้อยนะแต่มันมีค่าสำหรับเรามาก เราก็เลยคิดว่า น้ำมันก็อุ่นถ้าเติมหิมะเข้าไปเราจะได้น้ำเยอะกว่าเดิมหรือเปล่า

ปรากฏว่าเติมหิมะเข้าไป น้ำที่มันน้อยอยู่แล้วมันไม่ออก มันจับกลุ่มกันเป็นน้ำแข็งไส ด้วยความที่ฉลาดน้อย (หัวเราะ) กลายเป็นแทบจะไม่ได้ดื่มน้ำเลย เราก็ต้องคลานต่อไปถึงแคมป์ 3 ไปขอตะเกียงเขาเอาน้ำมาต้ม แล้วก็มีชาวจีนมั้งเดินผ่านมา เขาเห็นเรานั่งเขย่าน้ำอยู่ เขาก็ชี้มาเลย ‘Water Water’ เขาต้องการน้ำจากเราด้วย ก็เห็นการแบ่งปันกันตลอดทาง ดีครับ”



หลังจากที่ทำความฝันได้สำเร็จแล้วก็ถึงเวลาที่ต้องลงมา และเป็นเรื่องดีที่เขาไม่มีปัญหาสุขภาพ แม้จะอยู่ท่ามกลางความหนาวเหน็บเป็นเวลานาน

“ผมไม่ได้กินข้าวเลย 13 วันที่ขึ้นไปตั้งแต่แคมป์ 1 ถึง Summit จนวันที่ลงมาแคมป์ 2 นั่นหมายความว่าร่างกายเราจะเป็นอะไรก็ไม่รู้ ออกซิเจนเราก็ไม่ได้เหมือนข้างล่าง เราก็ไม่รู้ว่าปอดเราจะติดเชื้อ จะขึ้นฝ้าหรือเปล่า

ผมจะกินคุกกี้ครับ มันกินง่าย แล้วก็จะเป็นพวกชา กาแฟอะไรพวกนี้ เติมแต่น้ำตาลกับแป้ง ส่วนโปรตีนแทบไม่ได้เติม น้ำหนักก็เลยลดเกือบ 10 กิโล แล้วกล้ามเนื้อมันก็สลาย พอกล้ามเนื้อสลาย แรงในการปีนเขามันก็น้อยลง นั่นคือความเสี่ยง

รวมถึงความเสี่ยงของการลง Khumbu Icefall โอกาสตายเปอร์เซ็นต์ต่อปีมันประมาณนี้ สภาพของเรามันไม่พร้อมเต็มร้อย สิ่งที่เราทำคือต้องยอมจ่าย 5,000 ดอลลาร์ เพื่อเรียก ฮ.ไปที่โรงพยาบาล ตรวจเลือดละเอียด เอ็กซเรย์หมดเลย

มีแค่หน้าโดนเผาครึ่งวันแต่ว่าเผาแบบไหม้เกรียมเลย ส่วนอย่างอื่นก็จะเป็นพวกกล้ามเนื้อสลาย แรงเราไม่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น เรายังไม่สามารถที่จะ Weight หนักๆ ได้ ก็ใช้เวลาเกือบอาทิตย์กว่าๆ ในการอัดโปรตีนกลับเข้าไป เพื่อให้ร่างกายมีกล้ามเนื้อ แล้วก็มีแรงในการที่จะทำกิจกรรมพวกนี้ต่อ ส่วน Frostbite ไม่มีเลย แล้วก็แทบจะไอน้อยมาก”



การปีนเอเวอเรสต์ของชายวัย 44 ปีคนนี้ ใช้เวลาไปเพียง 27 วัน เพราะเป็นการปีนโดยที่ไม่มีการทำ Rotation ก็คือ ก่อนที่จะปีนจริง นักปีนเขาจะต้องมีการปรับสภาพร่างกายให้คุ้นชินที่สูง ด้วยการปีนขึ้น - ลงตามแคมป์ต่างๆ ที่หากทำ Rotation ในการปีนเอเวอเรสต์ ก็จะใช้เวลาเกือบ 2 เดือนในการพิชิต

“เคยได้ยินใช่ไหมครับว่าการปีนเอเวอเรสต์เขาจะต้องมีการทำ Rotation จะต้องขึ้น Base Camp แคมป์ 1 แล้วลงมา Base Camp ขึ้นแคมป์ 1 แคมป์ 2 แล้วลงกลับมาที่ Base Camp บางคน Rotation 2 รอบ บางคน 3 รอบ เพื่อปรับสภาพร่างกาย ทำให้ใช้เวลานาน บางคนอยากจะปีน มีเงินมีอะไรครบ แต่ว่าไม่สามารถที่จะลางานได้ 50 - 60 วัน ก็จะเป็นข้อจำกัด

ก่อนไปผมคิดหนักมากว่าทำไมล่ะ มันมีขีดจำกัดในเรื่องของความสามารถมนุษย์หรือยังไง เราก็เลยทดลองโดยการที่ปีนเขาเอเวอเรสต์ครั้งนี้ ทำความเร็วโดยการที่ไม่ Rotation ขึ้น Base Camp ขึ้นแคมป์ 1 ขึ้นแคมป์ 2 ขึ้นแคมป์ 3 ขึ้น Summit แล้วลง 2 วันถึงข้างล่าง มันทำให้ใช้เวลาจาก 50 - 60 วัน เราสามารถพิชิตเอเวอเรสต์ได้ภายใน 27 วัน ซึ่งมันเร็วมาก

และผมมั่นใจว่าข้อมูลนี้ คนรุ่นหลังที่รับทราบข้อมูลว่าจริงๆ แล้วเอเวอเรสต์มันไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องเวลา คุณสามารถปีนได้ภายในระยะเวลาไม่ถึงเดือน และอนาคตผมมีความเชื่อว่า คนไทยสามารถพิชิตเอเวอเรสต์ได้ภายใน 2 สัปดาห์”


ขอเคียงข้าง “ดาวประดับฟ้า”

ส่วนหนึ่งของขุมพลังที่พกขึ้นไป ก็มาจากศิลปินที่ตนเองชื่นชอบ ตามที่เราได้เห็นกันว่า ป้ายที่ชายคนนี้ชูขึ้นบนยอดเอเวอเรสต์ มาจากเนื้อเพลง “ดาวประดับฟ้า” ของ “แมว - จิรศักดิ์ ปานพุ่ม” ส่วนเสื้อที่สวมด้านในก็เป็นของวง Indigo อีกด้วย

“Inbox ไปขอพี่แมว แล้วว่าขอใช้คำนี้หน่อย เพราะว่ามันมีความหมายมีพลัง ดาวประดับฟ้า ถ้ามองเผินๆ หลายคนอาจจะคิดว่าตัวฉัน อยากจะเป็นดาวประดับฟ้าที่ขึ้นไปส่องสว่างอยู่ข้างบน แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่

ถ้าตามเนื้อเพลงคือ การที่เรามีสิ่งที่เราต้องการ มีคนรักหรือมีอะไรก็ตาม เราวางไว้ว่านี่คือดาวของเรา แล้วดาวตรงนี้ก็รอความพยายามจากผู้ชายคนนี้ พยายามที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อไปถึงคุณให้ได้ นั่นคือสิ่งที่เราต้องสู้ ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ขึ้นไปยืนข้างดาวตรงนั้นให้ได้ ไปหาเขาให้ได้ มันเป็นความพยายามในรูปแบบหนึ่ง

ปกติจะชื่นชอบคนที่มีความเก่งอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรีหรือว่ากีฬา ไม่ได้สนว่าเขาจะสูงต่ำดำขาวยังไง สนใจแค่ว่าความสามารถคน เพราะว่าคนเก่งมี Inspiration มีแรงบันดาลใจให้เรามหาศาล แค่ 1 ประโยคหรือฟังเขาเล่นดนตรีครั้งนึง

Indigo
เป็นวงที่ประสบความสำเร็จระดับมาก แล้วความสามารถของมือเบสก็ค่อนข้างสูง นั่นก็คือ น้องขวัญ (ขวัญชนก พันธุระ) เรารู้สึกว่าสุดยอด เขาเล่นได้เก่ง Smooth แววตาของเขาเวลาเล่นมีความสุข มีพลังส่งมาถึงเรา ก็เลยติดตาม

ในทุกๆ ปีก็จะออก Collection เสื้อ เราก็บอกว่าเดี๋ยวจะเอาเสื้อตัวนี้ใส่ขึ้นไปบนยอดให้ได้ ก็พยายามทำอยู่ ปีแรกก็ไม่สำเร็จ มาสำเร็จปีนี้พอดี ล่าสุดเขามาเล่นใกล้บ้านก็เลยใส่เสื้อเขาไปฟัง น้องเขาคงจำได้ก็เลยมีโอกาสได้เจอกัน เขาพูดประมาณว่าเป็นความสามารถของตัวเรา เขาก็ขอแสดงความยินดีแล้วก็ชื่นชม อะไรประมาณนี้ครับ”



“ไม่ยึดติด” บทเรียนจากธรรมชาติ

การพิชิตภูเขาหิมะที่มีความสูงเสียดฟ้า เป็นความสำเร็จที่อาจแลกมาด้วยอาการ Frostbite หรือภาวะผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด โดยเฉพาะบริเวณนิ้วมือ นิ้วเท้า หากเนื้อเยื่อเสียหายหนักก็อาจจะต้องถูกตัดทิ้ง

และการทำความเร็วเพื่อแซงคนข้างหน้าในเชือกเส้นเดียวกัน ทั้งขาขึ้นและขาลง ก็ต้องถอดถุงมือหนาๆ ออก เพื่อถอด Safety และเปลี่ยนอุปกรณ์ จูม่า (Jumaring) แถมยังต้องใช้แรงมากขึ้นในการปีน ซึ่งมีหลายคนทำความเร็วในการปีน เพื่อขึ้นถึงยอดให้ได้ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และต้องรีบลงก่อนที่จะถูก Frostbite แต่วิธีนี้อาจเป็นความเสี่ยง Frostbite มากขึ้นก็เป็นได้

“เรื่องของ Frostbite หลายคนเห็นว่าขึ้นเอเวอเรสต์มาโดนตัดทั้งมือทั้งเท้า Frostbite มันสามารถป้องกันได้ด้วยความช้า ใครรีบไปก่อน เดินตาม Step ของเรา เราหยุดให้เขาเกาะตัวเพื่ออ้อมเราไป เพราะว่าเราเป็นมนุษย์ Sea Level พื้นที่ระดับที่ราบน้ำทะเล การที่เราจะหายใจได้เหมือนชาวบ้าน เหมือนคนที่อยู่บนภูเขา

นอกจากเรื่องของความช้า ข้อดีคือผมไม่ต้องเปลี่ยน Safety บ่อย เพราะฉะนั้น ถุงมือผมแทบไม่ถอด มันเป็นถุงมือนวมขนาดใหญ่เหมือนถุงมือต่อยมวย ใหญ่มาก มันไม่สามารถที่จะจับ Safety ได้ พอผมไม่ถอด ความเสี่ยงผมลด

ข้อเสียของการจับจูม่า คือต้องถอดถุงมือ ใส่ได้แค่ถุงมือบางๆ ผมเปลี่ยนวิธีการจับจูม่า โดยการที่ผมตบจูม่าด้วยถุงมือขึ้นข้างบน จับข้างบนที่เชือกแล้วก็ดันตัวเองขึ้นไป พอดันเสร็จผมเอาถุงมือตบ เพราะฉะนั้น การปีนตั้งแต่แคมป์ 4 จนถึง South Summit ผมไม่ต้องถอดถุงมือเลย นั่นหมายความว่าความเสี่ยงในการโดน Frostbite ต่ำมาก

อีกอย่างหนึ่งคือใส่ถุงทรายอุ่นไว้ด้วย มันแทบจะอุ่นตลอดเวลา และที่รองเท้าผมเป็นรองเท้า 3 ชั้น ผมเอาถุงอุ่นแปะรอบๆ ถุงอุ่นมันอยู่ได้ 10 ชั่วโมง เท้าผมก็เลยไม่เป็นอะไร แต่ต้องมีการขยับข้างในอยู่ตลอดเวลาด้วย”



การขึ้นไปยืนบนความสูงกว่า 8,848 เมตร นอกจากจะต้องมีพลังกาย พลังใจอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว อีกปัจจัยที่อาจเรียกได้ว่าสำคัญที่สุดนั่นก็คือ เงิน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เขาก็ใช้เงินกับกิจกรรมนี้ไปหลักหลายล้าน ซึ่งเป็นทุนของตัวเองล้วนๆ


“ซ้อมทั้งหมด 7 ปี ผมใช้ไป 2,000,000 เพราะภูเขาลูกเล็กๆ มันแค่ 100,000 - 400,000 แพงสุด Ama Dablam ไป 2 รอบ หมดไปเกือบล้าน ไปเอเวอเรสต์รอบล่าสุดก็เกือบๆ 2,000,000 รอบนี้อีก 2,000,000 ก็ทั้งหมด 6,000,000 กว่าครับ

ถามว่าคุ้มไหม เกินคุ้ม เพราะอย่างที่บอกว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรานับหนึ่งได้ เดี๋ยวครั้งที่ 2 มันจะตามมา เหมือนเอเวอเรสต์ปีที่แล้ว ผมไม่เสียดายเงิน 2,000,000 เลย เพราะผมเห็นเส้นทางแล้ว แค่ผมได้ข้อมูลมา ผมคิดว่ามันคุ้มสำหรับผมแล้ว

สิ่งที่ได้จากการขึ้นไปบนยอดสูงสุดของโลก อย่างที่บอกว่าไม่ใช่แค่เรื่องพิชิต แต่เรารู้วิธีการหาตังค์ เรารู้วิธีการดูแลตัวเอง เรารู้วิธีการดูแลคนอื่น เรามีพลังอีกเยอะแยะมากมาย เราจะปีนอีก 10 เอเวอเรสต์ก็ยังได้ เพราะเราวิธีเราทำมันได้แล้ว

เราคิดว่าความยากของเอเวอเรสต์อันดับ 1 คือเรื่องเงิน มีเงินปุ๊บแก้ปัญหา 108 อย่างได้ เหลืออย่างเดียวที่แก้ไม่ได้คือภัยธรรมชาติ หิมะถล่มยังไงก็ตาย แต่เรื่องของ Frostbite ทีม เรื่องของการรักษาตัว การป้องกัน เงินทั้งสิ้นครับ”



สิ่งที่ได้จากการทำภารกิจที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ ได้สร้างพลังใจที่ประเมินค่าไม่ได้แก่ชายผู้นี้ ในการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต

“โดยส่วนตัว เราไม่ได้เป็นคนพิชิตเอเวอเรสต์ เราต้องการพลังในการปีนเขาเอเวอเรสต์มาใช้ในชีวิตประจำวัน มันเกี่ยวกับเรื่องเงินยังไง ผมไม่ได้มองว่าผมไปใช้เงิน ผมไม่ได้มองว่าผมต้องหาเงินไปปีนเขาเอเวอเรสต์ ผมมองว่าผมต้องการพลังกับเอเวอเรสต์ เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมได้พลังอันมหาศาล ตื่นเช้าขึ้นมาทุกวันผมจะมีพลังในการที่จะออกไปทำงาน

ทุกวันผมรู้ว่าฉันต้องทำงานเพื่อฉันได้เงิน มันทำให้เราไม่ท้อแท้ ไม่รู้สึกที่จะเบื่อกับงาน เจออะไรที่ไม่ได้ดั่งใจ เราจะรับมันได้ทั้งหมด แล้วเราจะไม่รู้สึกหงุดหงิดกับสิ่งนี้ เราจะชอบในการแก้ปัญหา มันจะทำให้เรายิ่งเข้าไปสู้ เข้าไปแก้ เพราะอะไร ถ้าเราแก้ตรงนี้ไม่ได้ เรายอมแพ้มัน แล้วเอเวอเรสต์เราจะไปได้ยังไง

ทีนี้พอเรามีพลังมากขึ้นในการใช้ชีวิต นั่นหมายความว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลงานหรืออะไรของเรา ก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ พอดีขึ้นเรื่อยๆ ปุ๊บ เงินมันปฏิเสธเราไม่ได้ ถ้าโฟกัสเรื่องของเงินเมื่อไหร่จะเหนื่อยทันที แต่เราโฟกัสอย่างอื่น ก็คือฉันต้องการไปเอเวอเรสต์ ฉันทำงานเพราะฉันต้องการผลงานที่ดี เพื่อที่จะก้าวหน้าในชีวิต เดี๋ยวเงินมันจะตามมาเอง

เราต้องหามากกว่านั้นหลายเท่า เพื่อที่จะให้คนที่เรารักอยู่สบายก่อน ไม่ใช่หมายความว่า ฉันต้องขายรถ ขายบ้านเพื่อไปเอเวอเรสต์ มันกลายเป็นเห็นแก่ตัว ที่เอาตัวเองเป็นใหญ่แล้วก็ทิ้งทุกคนไว้ข้างหลัง

สิ่งที่ทำคือเราต้องสร้างมากกว่าเอเวอเรสต์ ปูพื้นฐานทั้งหมดให้มันดี โดยการใช้พลังจากเขามาสร้างทุกอย่าง พอทุกอย่างคิดว่า โอเค พร้อม มัน Run ต่อได้ต่อให้ไม่มีเราอยู่ เราถึงไปปีนเอเวอเรสต์ มันก็เลยเกิดสิ่งที่บอกว่าไม่ได้ใช้เงินจำนวนมากเพื่อไปเอเวอเรสต์ แต่พอรู้วิธีหาปุ๊บ เราจะไปเอเวอเรสต์กี่รอบก็ได้ นั่นคือที่มาของการไปเอเวอเรสต์”

เป้าหมายในการปีนเอเวอเรสต์ของเขาไม่ใช่การขึ้นถึงยอด แต่คือการลงกลับมาอย่างปลอดภัย และการจากลาที่เจอระหว่างเส้นทาง ก็ได้สอนให้ชายคนนี้มองโลกด้วยความเป็นจริง ว่าทุกสิ่งไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป



การเดินป่าสอนเราเรื่องนึงสำคัญมากเลย ก็คือเรื่องไม่ยึดติด ป่าที่ว่าสวยๆ เดี๋ยวมันก็โรยลา พอโรยลาปุ๊บเดี๋ยวมันก็โตใหม่ เพราะฉะนั้น การที่วนเวียน การพบ การลาจากพวกนี้ เป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่าการลาจากมันเกิดการเสียใจเกิดขึ้น แต่สิ่งที่เราต้องฝึกก็คือการยอมรับการสูญเสียอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของ

วิธีการสอนของเราคือ 1. สอนให้ดูแลตัวเองได้ 2. เป็นนักสู้ ไม่ว่าคุณจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม คุณต้องสู้ ต่อให้มีคนนี้อยู่หรือไม่มีคนนี้อยู่ เสียใจเป็นเรื่องปกติครับ แต่นั่นหมายความว่าคุณต้องสู้ เราถูกสอนมาอย่างนี้ เราก็ถ่ายทอดต่อว่านี่คือสิ่งที่ต้องต่อสู้ต่อในชีวิต เราจะไม่มา… ฉันจะต้องอยู่กับคุณไปตลอดชีวิต ไม่จากกันเลยในชีวิตนี้ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

การที่เราทำอย่างนี้ คนรอบข้างเราเขาต้องสบายก่อนเรา ดีกว่าเราอยู่ที่บ้านไม่ทำอะไรเลย แล้วนั่งจ่ายหนี้บัตรเครดิตไปวันๆ ไม่มีจะกิน ไม่มีพลังในการต่อสู้ชีวิต ถ้าผมเลือกระหว่าง 2 แบบนี้ ผมเลือกวิธีเดิมว่าผมขอสู้ อย่างน้อยผมได้สู้แล้วครับ

เราไม่ได้เตรียมใจ เราสู้ด้วยข้อมูล สู้ด้วยสถิติ เราสู้ด้วยกันเตรียมตัว เป้าหมายของเราคือลงกลับมา ระหว่างทางแค่ดูว่าเจออะไร สิ่งนี้คือสิ่งที่เราเตรียมรับมือไว้แล้วหรือยัง ถ้าเตรียมไว้แล้วก็แค่ใช้ Solution ที่เราเตรียมไว้

แต่ถ้าไม่มี ก็ต้องสู้กันหน้างานไม่ว่าจะเจออะไรก็ตาม เพราะเราจะต้องลงกลับให้ได้ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องทำใจอะไร เป้าหมายเราคือลงกลับครับ ถึงไม่ถึงไม่รู้ แค่ได้ไปก็ Success แล้ว ถึงคือกำไร สำคัญที่สุดคือลงกลับมาให้ได้ครับ

คนเสียชีวิต เราต้องเข้าใจว่าเขาเสียไปแล้ว สิ่งที่ต้องทำก็คือแจ้งทีม Rescue เดี๋ยวก็ว่าไปตามขั้นตอน เพราะฉะนั้น สิ่งนี้จะไม่กระทบจิตใจ นักปีนเขารุ่นก่อนหน้าที่เป็นข่าวโด่งดัง มีการเก็บร่างลงไปค่อนข้างเยอะแล้ว ก็คือไม่เห็นแล้ว”

เล่นของสูง ยอมเสี่ยงดีกว่าเสียดายทีหลัง

ท่ามกลางความยินดีที่การที่มนุษย์ตัวเล็กๆ สามารถพิชิตขุนเขาอันยิ่งใหญ่ได้ ก็ยังมีชาวเน็ตบางคน ที่ตั้งคำถามกับกิจกรรมนี้ ซึ่งหลายต่อหลายครั้งที่เขาตอบกลับไปอย่างไม่ตายไมค์

“คนมีหลายประเภทครับ มีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจ เพราะว่ากิจกรรมประเภทนี้ สิ่งที่คนเห็นอันดับแรกคือเรื่องของความเสี่ยง ทำไมมันเสี่ยงจะตาย เหมือนดิ้นรนไปหาความตาย แล้วการที่ไปพยายามให้คนทั้งโลกเข้าใจเรา มันเป็นไปได้ยาก

บางทีเราก็แซะกันเล่นๆ หยอกกันไปหยอกกันมา เอเวอเรสต์มันมีรายละเอียดหลายเรื่องมากครับ เราก็มีเวลาน้อยด้วย (คำถามที่เจอบ่อย) น่าจะเป็น ‘ไปทำไม?’ บางคนผมก็ตอบว่า ‘ก็ว่าง’ บางคนเราก็แซะแรงๆ เช่น ‘เงินเหลือ’ บางทีอยากอธิบายยาวแต่มันพิมพ์มันปวดตา โดนคำถามนี้เยอะก็เลยตอบเล่นๆ ไปก่อน เดี๋ยวค่อยทำคลิปอธิบายที่เป็นทางการทีเดียว

ไปทำไม อย่างที่บอกเบื้องต้นคือ 1. เขาเห็นความเสี่ยง 2. ไม่ใช่ทุกคนจะเห็นว่าไปแล้วได้อะไรเหมือนที่ผมอธิบายก่อนหน้า สาเหตุที่ผมไป 1. ผมรู้ความเสี่ยง ว่ามีโอกาสเสียชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์ จุดไหนบ้างที่มีความเสี่ยง เราทำการบ้านไป 2. สิ่งที่เรารู้คือไปเพื่ออะไร บางคนไปเพื่อพิชิต บางคนไปเพื่อพิสูจน์ตัวเอง บางคนไปเพื่อคนอื่น นู่นนั่นนี่ก็ว่าไป แต่สิ่งที่ผมทำคือเพื่อพลัง

ถ้าเราไปแค่ไปพิชิต เราก็จะทำทุกอย่างเพื่อให้มันถึง ไม่ว่าจะยอมแลกกับอะไรก็แล้วแต่ การที่บางคนเขาไม่เห็นว่าเราไปทำไม เขาอาจจะไม่เห็นว่ามันมีมุมนี้ด้วยเหรอ มุมที่ว่าตังค์ 2,000,000 มันเยอะสำหรับบางคนแต่อย่างที่ผมบอก พอเรารู้ว่า 2,000,000 มันเป็นแค่กรรมวิธีในการที่ให้เราหาเงินได้เยอะกว่านั้น มันไม่สามารถที่จะอธิบายทุกคนให้เข้าใจเราได้นะครับ”



อีกประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม ก็คือเรื่องของ “ขยะบนเอเวอเรสต์” ซึ่งเมฆก็ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน

“เรื่องขยะก็โดนเยอะเหมือนกัน ว่านักปีนเขาไปทำขยะข้างบน จริงๆ ทางเจ้าของพื้นที่เนปาลเขาออกกฎออกมานะครับ ว่าคนที่จะขึ้นไปจะต้องมีการวางมัดจำ 4,000 ดอลลาร์ ถ้าคุณอยากได้เงินคืน คุณเอาขยะมาแลก 8 กิโล

หลายคนเขาไม่รู้ว่าเอเวอเรสต์มันมีกฎนี้ นักปีนเขาส่วนใหญ่ทำกิจกรรมอะไรเสร็จ เวลาเกิดขยะขึ้นก็จะมีถุงดำขนาดใหญ่ใส่ไว้ รวบรวมเพื่อที่จะเอาตรงนี้ลงไปเคลมเอาเงินประกันกลับมา เพราะฉะนั้น บางคนก็ไม่ทราบแต่เราไม่ได้มานั่งอธิบาย

ถามว่าขยะมีไหม จริงๆ บนเอเวอเรสต์มีครับ มันเกิดได้หลายสาเหตุมาก ไม่ว่าจะเป็นเกิดจากลม ปีนอยู่แล้วบังเอิญน้ำมันตกลงไป ถุงมือนี่เกลื่อนเลย เป็นอะไรที่หลุดง่ายมาก ปีนๆ อยู่ถุงมือมันก็หลุด ก็มีโอกาสที่จะเกิดขยะเกิดขึ้นได้นะครับ

หรือบางเต็นท์ผู้ปีนไปเสียชีวิต เต็นท์ก็ถูกทิ้งไว้ตรงนั้น เพราะว่าคนเขาจะไม่ยุ่งกับ Dead Body ไม่ยุ่งกับของคนตายก็จะถูกทิ้งเอาไว้ ลมมันก็อาจจะพัดมาแล้วก็พังเต็นท์เหล่านั้นไป ก็ทำให้เกิดขยะเกิดขึ้นอะไรพวกนี้

มาตรการของเขามีตั้งแต่ 1. การมัดจำ 2. มีทีม Cleansing ขึ้นไปเก็บอยู่แล้ว เราจะไปบังคับไม่ให้นักปีนเขาไม่ปีนที่นั่น เป็นไปได้ยาก เพราะอะไร มันเป็นจุดขายของรัฐบาลเนปาล เขาสามารถทำเงินได้มหาศาลจากเอเวอเรสต์

มันเหมือนกับเมืองไทยห้ามนักท่องเที่ยวไปทะเลได้ไหม ในเมื่อทะเลคือจุดขายของเมืองไทย เพราะฉะนั้น เจ้าบ้านจะต้องเป็นคนวางกฎว่า ถ้าคุณทิ้งขยะคุณโดนปรับเท่านี้บาท นี่คือมาตรการ ไม่ว่าบนภูเขาหรือบนพื้นราบ เหมือนกันเลยครับ”



และเขาก็ได้ฝากคำแนะนำถึงใครก็ตามที่มีความฝันอยากพิชิตเอเวอเรสต์บ้าง แม้จะเป็นพนักงานออฟฟิศ ก็มีโอกาสไปยืนอยู่ในจุดเดียวกับเขาได้

“ตัวเองก็เป็นพนักงานออฟฟิศรับเงินเดือน เป็นลูกจ้างเขาเหมือนกัน เทคนิคการทำงาน ผมเน้นในเรื่องของการ Work Smart ช่วงเวลาการทำงานเราก็เต็มที่กับมัน วางแผนว่ายังไงก็ต้องเคลียร์ให้ได้ ที่เหลือก็คือแบ่งเวลาให้เหมาะสมในช่วง After Work ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกายหรือการทำสื่อคอนเทนต์ต่างๆ

ที่อยากจะสื่อคือบางทีเราอยากได้นู่นได้นี่ ฉันต้องไปที่นี่ให้ได้ สิ่งที่ Keep Passion นั้นไว้ก็คือ โฟกัส กับ วินัย ถ้าขาด 2 อย่างนี้ เรื่องอื่นไม่ต้องพูดถึง สมมติว่าฝันนั้นคุณต้องใช้เงินมหาศาล คุณคิดอันดับแรก เป็นไปไม่ได้ มันจะจบตั้งแต่ต้น

ฉันเป็นมนุษย์เงินเดือน 15,000 ทำยังไง สิ่งที่ควรจะทำคือปักไว้ไว้เลยว่ากี่ปีต้องไปให้ได้ ถ้าคุณจะไปเอเวอเรสต์ เงิน 2,000,000 ซ้อมอีก 1,000,000 เป็น 3,000,000 คาดว่า 5 ปีต้องไปให้ได้ นั่นหมายความว่าจะต้อง Achieve หลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการงานหรือทำธุรกิจเสริม เราก็ต้องสู้กับมัน และประเมินทุกๆ 3 เดือน ครึ่งปี ว่า Success หรือยัง

การเปลี่ยนงานก็ต้องยอม ถ้าเราไม่มีเป้าหมายเลย เราอาจจะไม่อยากเปลี่ยนงาน เราอาจจะอยู่ใน Comfort Zone แล้วสบายแต่เงินไม่เพิ่ม แต่การเปลี่ยนงานมันอาจจะขึ้นเงินเดือน 20 - 30 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณเปลี่ยนงาน 2 - 3 รอบ เผลอๆ 5 ปีเงินเดือนคุณหลักแสน พอหลักแสนเสร็จปุ๊บ คุณเก็บเงินได้ เอาเงินบางส่วนไปลงทุนอีก ยังไงก็ได้

บางทีความฝันของเราอาจจะแชร์กับเพื่อนๆ ยิ่งมีเพื่อนเยอะ ยิ่งได้ Connection เยอะ เดี๋ยวสิ่งเหล่านี้มันจะตามมา โดยที่เราไม่ต้องไปนั่งขอตังค์หน่อยฉันจะไปปีนเขา ไม่ต้องขอใครครับ สร้างเองทั้งหมดครับ

ทำงานออฟฟิศเงินเดือน 15,000 จะไปเอเวอเรสต์ ภายใน 5 ปี ถ้าตั้งใจจริงๆ สู้ทุกหนทาง ยังไงก็ไปได้ครับ เผลอๆ ได้เกินกว่านั้น แล้ววันนั้นคุณอาจจะไม่อยากจะไปเอเวอเรสต์ อาจจะเอาเงินไปทำอย่างอื่นก็ได้ครับ”

ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี ที่อุทิศตัวเพื่อไปถึงจุดสูงสุดของโลกได้สำเร็จ นั่นไม่ใช่ตอนจบ แต่เป็นเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาเป็นประสบการณ์ เพื่อไปสู่บทชีวิตบทใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต



“เราประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง เราจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เราชื่นชมได้แต่เราหยุดกับมันไม่ได้ เพราะโลกมันพัฒนาต่อไป ถ้าเราหยุดเมื่อไหร่ เอเวอเรสต์ฉันหยุดอยู่แค่นี้ ฉันไม่ไปต่อแล้ว เราจะเป็นคนที่ไม่พัฒนาในชีวิตนะครับ

เอเวอเรสต์มันเป็นแค่ประตู เป็นแค่บันไดก้าวแรก สิ่งที่เราต้องทำต่อคือ The Next Everest Project ต่างหาก ซึ่งมันไปได้หลายรูปแบบ อะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ล่ะ ที่ Challenge กว่านี้ ที่ได้รับพลังเยอะกว่านี้ครับ ก็มีอยู่หลาย Project ครับ

เอเวอเรสต์ของผม ถ้าเรามอง มันคือภูเขาลูกหนึ่งที่มีความเด่นตระหง่าน สูงที่สุดในโลก แต่เอเวอเรสต์จริงๆ มันคือคนที่เรารักหรือสิ่งที่เรารัก มันไปได้หลายรูปแบบ อะไรก็ได้ที่หัวใจเรารัก เอเวอเรสต์เป็นแค่การสร้างพลัง เพื่อที่จะเอาพลังนี้ไปดูแลหรือไปทำในสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นการดูแลคนรัก ดูแลคนรอบข้าง หรืองานที่เรารัก นี่คือความหมายเอเวอเรสต์ของผม

การใช้ชีวิตมันมีได้หลายรูปแบบนะ มันขึ้นอยู่กับว่าสิ่งที่เราต้องการได้ มันคืออะไร ถ้าเราพอใจชีวิตนี้แล้ว เราก็ไม่ต้องเสี่ยง แต่บางเหตุการณ์ เราอยากจะได้สิ่งนั้นมา แต่เราไม่กล้าที่จะเสี่ยงอะไรเลย จริงๆ แล้วสิ่งเหล่านี้มันคือความเสี่ยงที่สุด

วันนึงที่เราแก่ตัวไป เราอาจจะคิดว่าทำไม วันนั้นที่เรามีแรงอยู่เราไม่ทำนะ วันที่เรามีโอกาสที่จะผิดพลาดได้ เรามีโอกาสที่จะต่อสู้ได้ ทำไมเราไม่ทำมัน วันที่เราหมดแรงแล้ว หมดทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว วันที่เราเป็นโรคร้าย เราคงนั่งเสียดายชีวิต

เพราะฉะนั้น ทำมันตอนที่มีโอกาสดีกว่า ไม่ว่าผลมันจะดีหรือร้าย ต้องเสี่ยง สู้เพื่อให้ได้มันมา เหมือนเพลงเล่นของสูงเลย ‘อยากรักก็ต้องเสี่ยง’ นะครับ ดีกว่าอยู่เฉยๆ แล้วไม่ทำอะไร ปล่อยเวลาไปวันๆ

บางทีเรากลัวได้ การแก้ความกลัวก็คือการหาข้อมูลต่างๆ แล้วก็ค่อยๆ ลิสต์มาว่าปัญหาที่เรากลัวมีเรื่องไหนบ้าง เรื่องไหนจัดการได้ เรื่องไหนจัดการไม่ได้ มีวิธีการจัดการยังไง บางสิ่งต้องใช้ความกล้ามากกว่า เพื่อไปสู้ความกลัวในหัวใจครับ”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





@livestyle.official ...ขณะที่คนอื่นใช้เวลา 50-60 วัน แต่เขาออกนอกกรอบ ปีนขึ้นรวดเดียว โดยไม่ได้ขึ้น-ลงมาพักที่ Base Camp เพื่อปรับสภาพร่างกายให้คุ้นชินที่สูง ร่างกายพร้อม อุปกรณ์ครบ จนได้เป็น “คนไทยคนแรก” ที่ทำสถิติได้ไวขนาดนี้!! @cansmile... . #LIVEstyle #livestyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #คนไทยพิชิตเอเวอเรสต์ #เอเวอเรสต์ #Everest #EverestBaseCamp #DeathZone #ปีนเขา #Trekking ♬ original sound - LIVE Style


สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ขอบคุณภาพ : Facebook “Siripong Supanpong”, Instagram @natural_phenomenon_th และ TikTok @cansmile



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น