xs
xsm
sm
md
lg

“Soft Power ไทย” ไม่เน้นบุกนำ แต่โหนตาม!? แนะเลือกกลยุทธ์เกาะ “ROCKSTAR” ขายวัฒนธรรม [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิเคราะห์วิถี “Soft Power ไทย” เทียบโมเดล “เกาหลี” ที่เน้น “รัฐนำ” เป็นที่พึ่งให้เอกชน ต่างจาก “ไทย” ที่ส่วนใหญ่ “รัฐตามโหน” ได้ผลแค่ไหน นอกจากได้สปอตไลท์ชั่วครู่ชั่วยาม





ไม่ได้เน้นนำ แต่ช่วยประคอง

“ลิซ่า” (ลลิษา มโนบาล) สร้างปรากฏการณ์อีกแล้ว หลังจากออกมาทำค่ายเอง ก็ปล่อยเพลงอย่าง“ROCKSTAR” ซึ่งหนึ่งในฉากสุด Iconic คือ “ย่านเยาวราช”
และด้วยกระแสของเพลงตอนนี้ที่ยอดวิวทะลุกว่า 62 ล้านวิวแล้ว ก็ผลักให้ “เยาวราช” ที่จากเดิมก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทั้งไทยและเทศเดินกันคึกคักอยู่แล้ว ได้กลายเป็นที่จับตามองของโลกมากขึ้นไปอีก

เมื่อกระแสเพลงมันดังขนาดนี้ “รัฐบาลไทย” มีหรือจะนั่งเฉยๆ แน่นอนว่าต้องขอโดดเกาะขบวนความดังนี้ไปด้วย โดย “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” วางแผนโปรโมทต่อยอดจากMVด้วยการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์Walking Bangkokย่านเยาวราช-ทรงวาด-ตลาดน้อย 



หลายก็ตั้งคำถามว่านี้มันเป็นการ “โหนลิซ่า”หรือเปล่า ซึ่งทาง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อย่าง “ชัย วัชรงค์” ก็ตอบผ่านการทวิตบน Xแบบตรงๆว่า...
“ใครจะว่าโหนลิซ่า ก็ยอมรับครับ โหนเพื่อIgnite Tourism Thailandลิซ่าเป็นสาวไทยที่น่าภาคภูมิใจ ทำไมคนไทยจะโหนไม่ได้ครับ”

ส่งให้เกิดความเอ๊ะ? ขึ้นมาว่า การดันSoft Powerของบ้านเรา มันกลับด้านกันหรือเปล่า คือแทนที่จะเป็น “รัฐนำ-เอกชนตาม”แต่กลายเป็นเหมือนว่าตอนนี้ “เอกชนดัง-รัฐเกาะกระแสตาม” เสียมากกว่า
เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.ไพบูลย์ ปีตะเสน”ประธานศูนย์เกาหลีศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ กูรูด้านSoft Power ช่วยวิเคราะห์ให้คลายสงสัย

โดยการจะผลักดันอะไรก็ตาม ทั้งเรื่อง “การค้า” “ความนิยมของประเทศ”หรือ“การท่องเที่ยว” เปรียบไปแล้ว ต้องมีพลังงานในการขับเคลื่อน คล้ายแบตเตอรี่รถยนต์

“การจะสร้างpowerหรือพลังงานตรงนี้เนี่ย มันมีหลายลักษณะครับ ในยุคแรกๆ อย่างเคสของเกาหลี รัฐเป็นคนนำก่อน”

                                      {“ดร.ไพบูลย์”สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ม.ธรรมศาสตร์}

ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่ชัดเจนคือK-PopและK-Seriesที่จุดเริ่มคือ “รัฐบาลเกาหลี” มีนโยบาย “ฮันรยู(Hallyu)” หรือ “Korean Wave” ตั้งแต่ ค.ศ 1993 เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมเกาหลีสมัยใหม่ ผ่านอุตสาหกรรม เพลง หนัง แฟชั่น และอาหาร

และเมื่อรัฐจุดกระแสติดแล้ว เอกชนก็โดดเข้ามา เมื่อเห็นว่ามันสามารถทำเงินได้ จากนั้น “รัฐ” ก็เปลี่ยนจาก “ผู้นำ” กลายเป็นแค่ “คนคอยดูแล” และสนับสนุนด้านต่างๆ แทน ทั้งเงินทุน หรือนโยบาย แต่ของไทยอาจไม่เป็นแบบนั้น

“รัฐ ผมว่าก็ดูเหมือนปัจจุบันนี้ เขารอให้เอกชนทำเองมากกว่า แล้วถ้าอะไรดี ก็ค่อยขยับตัวเข้าไป เป็นคนประคอง”



โหนได้ แต่วางกลยุทธ์ด้วย

“ตรงนี้เป็นปรากฏการณ์ ที่เราทำตัวเป็นเหล็ก ไปอยู่ใกล้ๆ แม่เหล็ก แต่เราไม่ได้เป็นแม่เหล็กที่ดูดเหล็กไง ฉะนั้น ถ้าจะให้ดี ผมคิดว่ารัฐคงต้องวิเคราะห์ก่อนว่า อะไรเหมาะจะเป็นแม่เหล็กของประเทศไทย”

“ดังแล้วเกาะ” เป็นสิ่งที่ภาคประชาชน เห็นกันจนชินตาในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากสิ่งที่กำลังเป็นกระแส ตรงกับนโยบายแล้ว “รัฐเข้าไปส่งเสริมต่อ”

“ดร.ไพบูลย์”จาก ศูนย์เกาหลีศึกษา ยกตัวอย่าง “หนังไทย” ที่ได้ทำการวิจัยมาแล้วว่า“หนังผีไทย” และ “ซีรีส์วาย”เป็นแนวที่มีโอกาสโตได้ใน “ตลาดโลก” ซึ่งหนังไทยเป็นหนึ่งในSoft Powerที่รัฐต้องการดัน
เมื่อตลาดต้องการ เราก็ควรสนับสนุนทั้งเรื่องเงินทุน หรือออกนโยบายต่างๆ เพื่อให้เอกชนที่มีศักยภาพ สามารถผลิตสินค้าที่ตลาดโลกต้องการได้ แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นการ“โหน” เสียมากว่า

และต่อให้จะเป็นการ “ผลักจนดัง”ด้วยฝีมือรัฐ หรือ “ดังแล้วรัฐเกาะกระแส”สุดท้ายแล้ว ก็ต้องกลับมาตอบคำถามให้ได้ว่า การดันสิ่งต่างๆ ให้เป็น Soft Power นั้นเป็นไปเพื่ออะไร

ในเคสเกาหลีคือ “การขายของ” ในยุคหนึ่ง สินค้าต่างๆ ไม่ว่าจะเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ โทรศัพท์ ของเกาหลี ต้องลดราคาลงให้ต่ำกว่าคู่แข่งอย่าง “ญี่ปุ่น” 30% ถึงจะขายได้ ทั้งที่ “คุณภาพเท่ากัน”

ดังนั้น เกาหลีจึงตั้งเป้าว่า ต้องสร้างแบรนด์เกาหลีให้เป็นที่ “นิยม” ในใจผู้บริโภคให้ได้ เพื่อเวลาขายของจะได้ไม่ต้องลดราคา ให้ต่ำกว่าคู่แข่งถึงจะขายได้

เมื่อเป้าหมายชัดแบบนี้ เขาก็มานั่งดูว่า กลุ่มลูกค้าเขาคือใคร สินค้าที่ต้องการจะขายมีอะไรบ้าง และจะต้องใช้วิธีอะไรในการสร้างความนิยม



“แต่เราเนี่ย เวลาพูดถึง Soft Power เรากลายเป็นพูดเล่นๆ กัน นานๆ ก็พูดขึ้นมาคำหนึ่ง”

การทำ Soft power รัฐต้องบอกว่า ตัวชี้วัดคืออะไร ทำแล้วหวังผลอะไร เช่น ภายใน 3 ปี ธุรกิจคอนเทนต์เราจะเป็นอันดับ 1 หรือหนังไทยต้องไป Hollywood หรือถ้าไปไม่ถึงเป้า ต้องตอบให้ได้ว่าเป็นเพราะอะไร

นี่เป็นสิ่งที่เราขาดคือ “เป้าหมาย” และ “วิธีที่จะไปถึง” ดังนั้น จึงควรเริ่มคิดสิ่งเหล่านี้ก่อน นอกจากประเด็นเรื่องต่อยอดเพียงแค่ “การท่องเที่ยว จากกระแส MV”

“ฉะนั้นเนี่ย ถ้าจะให้ดี ความจริงรัฐต้อง active มากกว่านี้นะครับ ต้องช่วยส่งเสริมชุมชน อย่างเยาวราช เขาจะทำอะไรขึ้นมา รัฐก็ต้องให้การสนับสนุนเลย”

เมื่อส่วนใหญ่ Soft Power มักนำมาสู่การท่องเที่ยว และการจะผลักดันเรื่องนี้ได้ดี ส่วนมากต้องมาจาก “ชุมชน” ถ้าท้องถิ่นอยากโปรโมตอะไร รัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ
เพราะรัฐมีเครื่องมือที่ครบกว่า ที่จะทำให้มันกลายเป็น Globalization ที่สามารถขายไปในระดับสากลได้







ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)



@livestyle.official ...“ใครจะว่าโหนลิซ่า ก็ยอมรับครับ” ทำไมการผลักดัน Soft Power ของบ้านเรา มันมีกลยุทธ์กลับหัวแบบแปลกๆ จากปกติแล้ว ควรจะเป็นภาครัฐนำ แล้วเอกชนตามหรือเปล่า กูรูมีคำตอบเทียบโมเดลแดนกิมจิ... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #SoftPower #ซอฟต์พาวเวอร์ #LISAROCKSTAR #ROCKSTAR #LISA #ลิซ่า #ลิซ่าblackPink #ลลิษามโนบาล #ไทยเที่ยวไทย #เยาวราช ♬ original sound - LIVE Style


เรื่อง : ทีมข่าว MGR Live
คลิป : นลธวัช กาญจนสุวรรณ์
ขอบคุณภาพ : YouTube “LLOUD Official”, Facebook “BLACKPINK”



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น