xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามป่วย-ห้ามพัก-ห้ามรักตัวเอง!!? “กรุงเทพฯ” ชีวิตดีๆ ที่ติด Top5 “เมืองทำงานหนักที่สุดในโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถิติฟ้อง คนไทยป่วยจิตกว่า 10 ล้าน!! ห่วงคนทำงาน เพราะกรุงเทพฯ ติด “TOP 5” เมืองที่ขาด Work-Life Balance ที่สุดของโลก!! สะท้อนปัญหาวัฒนธรรมการทำงาน “ลา เหมือนไม่ได้ลา”

อยากเจริญ “ห้ามป่วย-ห้ามพัก”

คนไทยป่วยจิตกว่า 10 ล้านคน สถิติที่น่ากลัวนี้มาจาก “สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สคช.)” หรือ “สภาพัฒน์” ที่ได้ออกมาเผยสถานการณ์ของเมืองไทย ในประเด็นเรื่อง “Mental Health ปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง”

ข้อกังวลหนึ่งคือ “ปัญหาสุขภาพจิต” ของ “คนวัยทำงาน” โดยจากการจัดอันดับของ“Kisi” บริษัทด้านซอฟต์แวร์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง “Work-Life Balance” เมื่อปี 66 จัดให้ “กรุงเทพฯ” ติดอันดับ 5 “เมืองที่คนทำงานหนักสุดที่ในโลก” จากทั้งหมด 100 ประเทศ

สอดคล้องกับข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของ “กรมสุขภาพจิต” ปี 66 ซึ่งพบว่า “คนทำงาน” ขอรับคำปรึกษาเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน ถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย



แล้วทำไมการใช้ “ชีวิตดีๆ ในกรุงเทพฯ” ถึงมีคนทำงานหนักจนป่วยจิต กระทั่งติดอันดับโลกได้ มาวิเคราะห์กับ “ต้น-อภินันท์ ธรรมเสนา”ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)

บอกไว้ว่าถ้าอยากเข้าใจ ต้องมองเรื่องนี้ออกเป็น 2 มุม คือ 1.วัฒนธรรมการทำงาน ที่ต้องออกแรงถึงจะเรียกว่าทำงาน และ 2.ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ไม่เอื้อให้คนมีเวลาพักผ่อน

“เรื่องแรกก่อน วิธีคิดต่องานของคนไทย คือเป็นการทำงานแบบต้องลงแรง ถึงจะได้เงิน มันคือการที่เราให้ค่ากับการทำงานหนัก”

การประเมินผลงานต่างๆ เจ้านายต้องเห็นจริงๆ ว่า คุณกำลังนั่งทำงาน การที่เราทำงานอยู่บ้าน แม้จะส่งงานตรงเวลา เขาก็อาจไม่มองว่าคุณกำลังทำงานอยู่ “ถ้าอยากก้าวหน้า เขาต้องเห็นว่าคุณทำ”

“วิธีคิดแบบนี้ ทำให้คนไทยจำเป็นต้องอยู่ในออฟฟิศ ถึงจะเรียกว่าทำงาน ทำให้สังคมเราต้องactive ตลอดเวลา ต้องแสดงให้เห็นว่าเราทำงานตลอด เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพ”

                                                { “ต้น-อภินันท์” ผู้เชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยา }

มันก็ทำให้เกิด “วัฒนธรรมในองค์กร” อย่างการ “ลาพักร้อน” ที่เจ้านายก็ไม่ค่อยแฮปปี้เท่าไหร่ หากเราจะ “ลาไปเที่ยว” ถึงแม้เราจะมีกฎหมายเรื่องนี้ก็ตาม“ต้น” กูรูจากศูนย์มานุษยวิทยา ฉายภาพความจริงของ “มนุษย์เงินเดือน”

“ถึงแม้คุณจะไปพักผ่อน แต่เจ้านายคุณก็ยังโทรตามคุณได้เสมอ”

เราจึงอยู่ในโลกของ “งาน” คือสิ่งที่ต้องทำตลอดเวลา และความคิดนี้ไม่ได้มีแค่บ้านเรา แนวคิดที่ว่า ความสำเร็จนั้นต้องลงแรง ไต่เต้าเพื่อความก้าวหน้า มีอยู่ในทั้ง “จีน” และ “ญี่ปุ่น” หรือเรียกว่าทั้ง “เอเชีย” ใช้ระบบความคิดนี้

ดังนั้น “มนุษย์เงินเดือน” หรือ “แรงงานในระบบ” ถูกคาดหวังจากความเชื่อนี้ว่า การทำงานอย่างหนักเป็นเรื่องปกติ หากคุณคิดจะเติบโตในหน้าที่



อยากแก้ไข พึ่ง “ระบบ” ให้มากกว่า “คน”

เรื่องที่ 2 อย่าง “ปัญหาโครงสร้าง”คืออีกหนึ่งต้นตอที่น่าเป็นห่วง เพราะนอกจากทำให้คนต้องทำงานหนักแล้ว ยังสร้างแรงกดดันให้คนวัยทำงานอย่างมาก “ต้น” ผู้เชียวชาญด้านมานุษยวิทยาช่วยวิเคราะห์ไว้ว่า ทุกอย่างเริ่มจาก “ระบบการทำงานของคนไทย”

คนไทยให้ความสำคัญกับ “คน” มากกว่า “ระบบ”ถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว หากพึ่งพา “ระบบ” มากกว่า “คน” หมายความว่า ถ้าหากใครไม่อยู่ คนอื่นสามารถมารับผิดงานต่อได้ แต่บ้านเราไม่เป็นแบบนั้น
ยกตัวอย่าง ถ้า นาย ก. ลาพัก งานนี้ก็จะไปต่อไม่ได้ ทำให้สุดท้ายต้องถูกตามกลับมาทำงานอยู่ดี

“บ้านเรามีปัญหาอย่างหนึ่งคือ ระบบกลไกสวัสดิการมีไม่มากพอ เพื่อเอื้อให้คนทำงาน รู้สึกว่าชีวิตปลอดภัย”

ตอนนี้มีภาวะหนึ่งที่คนทำงานหลายคนเจอ เรียกว่า “แซนด์วิช” คือหนุ่ม-สาววัยแรงงานนั้น มีทั้ง “ลูก”และ “พ่อ-แม่”ที่ต้องดูแล และสวัสดิการที่จะช่วยตรงนี้ในไทย ถือว่ามี “น้อยมาก”

“ถ้าคุณอยู่ในบ้านที่มีมากว่า 3 Gen เนี่ย คุณเหนื่อยเลยนะ เราก็ทำงานหนักขึ้นไงครับ เพราะสวัสดิการรัฐมันไม่มี”

                                         { “ลูก” และ “พ่อ-แม่” ภาระที่คนวัยทำงานต้องแบกรับ }

อีกทั้งเรื่อง “ค่าแรง”ที่ไม่มากพอในการใช้ชีวิต ถึงแม้ว่าคุณจะมีเงินเดือนที่ดูสูง แต่ในสังคมเมืองอย่างกรุงเทพฯ ที่ “ค่าครองชีพสูง”ทั้งค่าเดินทาง ที่พัก ยังไงคนเหล่านี้ก็ต้องทำงานเสริมอีก 2-3 งานอยู่ดี

“ถ้าเราไปดู ประเทศที่มีค่าครองชีพสูง มันเป็นเหตุให้ต้องทำงานหนัก เพื่อจะหาเงินมาดำรงชีวิต”

“มันไม่หนักแค่การทำงานนะ มันหนักตั้งแต่การเดินทาง” นี่เป็นอีกเรื่องที่ นักมานุษยวิทยารายเดิมบอกว่า เป็นเหตุผลสำคัญที่ผลักให้คนเมืองเหนื่อย เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ใกล้แหล่งทำงาน หนำซ้ำค่าใช่จ่ายตรงนี้ก็ไม่ใช่ถูกๆ

“ออฟฟิศส่วนมากอยู่ใจกลางเมือง แต่เราไม่มีเงินจะซื้อบ้านอยู่กลางเมือง ก็ต้องมาอยู่ชานเมืองแทน”

ค่าขนส่งสาธารณะก็ไม่ได้ถูก และไม่ได้ถึงที่หมายในป้ายเดียว คนส่วนมากต้องนั่งรถ 3-4 ต่อ เพื่อไปทำงาน หรือจะขับรถไปเองก็มีค่าน้ำมัน ไหนยังต้องเจอกับรถติด ทำให้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในแต่ละวัน 1 ใน 3 ต้องอยู่บนถนน

                                                 {1 ใน 3 ชีวิตคนกรุง หมดไปกับการเดินทาง}

“คุณต้องตื่นไปทำงานแต่เช้า บวกภาวะการทำงานแบบนี้ มันก็กดดันชีวิตคน แม่ป่วย-ลูกป่วย คุณก็ลาไม่ได้ การทำงานที่เราต้องเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา”

นี่สะท้อนถึงโครงสร้างพื้นฐาน ที่ไม่เอื้อให้คนทำงานได้มีเวลาพักผ่อน ก็ไม่แปลกที่คนจะเกิด “ความเครียด” ซึ่งไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ จังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเยอะๆ ก็จะพบ “อัตราการฆ่าตัวตาย” สูงตาม

เทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว ระบบโครงสร้างพื้นฐาน มันช่วยให้คนทำงานใช้ชีวิตสะดวก และยังมีเรื่องสวัสดิการ คอยช่วยรองรับชีวิตและครอบครัวของพวกเขา “เขาเสียภาษี แล้วคุ้มกับสิ่งที่เขาได้รับ”

“สำหรับประเทศที่เจริญแล้ว คุณต้องเข้าใจว่า ระบบเรื่องค่าตอบแทน มันสูงพอที่ทำให้คนรู้สึกว่า เขาทำงานแล้วสบายได้”

นอกจากนี้ในบ้านเมืองเขา ยังมีกฎหมายแรงงานที่บังคับให้ต้องมีวันลา และเงินชดเชยในระหว่างนั้น เพื่อให้แรงงานออกไปพักผ่อนได้อย่างสบายใจ
ยกตัวอย่าง การทำงาน 5 ปี มีสิทธิลาพักได้ 1 ปี และยังมีเงินเดือนให้อยู่ 

“ก็ไม่ต้องแปลกใจว่า ทำไมฝรั่งถึงมาเที่ยวบ้านเรากันได้เป็นเดือนๆ”



สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
ขอบคุณข้อมูล : www.getkisi.com



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น