หาทางออกปัญหา “ลิงอันธพาล” ทีสร้างความเดือดร้อนให้ผู้คน จนกระทบท่องเที่ยวไทยภาพรวม จับเท่าไหร่ก็ไม่ลด ไล่เท่าไหร่ก็ไม่ไป แนะให้ “ท้องถิ่น” เป็นเจ้าภาพ ไม่ต้องรออนุมัติจากส่วนกลางทั้งหมดอย่างที่ผ่านมา
เมื่อ “สัตว์” บนโลกนี้ ไม่ได้มีแค่ “มนุษย์”
พูดถึง “ลพบุรี” ต้องนึกถึง “ลิง” เป็นอันดับแรกแน่นอน แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็นว่า สัญลักษณ์ประจำจังหวัด 4 ขาเหล่านี้ ดันเป็นปัญหาและข้อพิพาทที่แก้ไม่ตกระหว่าง “คนกับสัตว์”
ล่าสุด “สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA)” ถึงขั้นต้องจัดการประชุม ถอดบทเรียน “การแก้ไข้ปัญหาความขัดแย้งของคนกับสัตว์ กรณีตัวอย่างลิงลพบุรีและเหตุเพลิงไหม้จตุจักร”
โดยหลักใหญ่ใจความของการประชุมครั้งนี้คือ หาทางออกปัญหาของ “คนเมืองลิง” ซึ่งมีการเชิญทั้งฝั่ง “ภาครัฐ” “เอกชน” และ “คนในพื้นที่” มาร่วมแก้
“เผด็จ ลายทอง” ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวเปิดได้น่าสนใจว่า ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องสัตว์ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้ผู้คน มีจำนวนมากขึ้นก็จริง แต่การจมอยู่กับคำถามว่า “ใครมาก่อน-มาหลัง จะทำให้การแก้ปัญหานี้ไม่เกิด”
ตอนนี้สิ่งทำได้ในฐานะมนุษย์คือ ร่วมมือกันหาทางออก ที่คนและสัตว์จะอยู่ร่วมกันได้ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเดียว ที่มีความรู้พอจะแก้ปัญหานี้
“เพราะมนุษย์ไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่อยู่บนโลก ซึ่งก็อยู่ไม่ได้ด้วย ฉะนั้น ถ้าเกิดมันจำเป็นต้องอยู่บนโลกใบเดียวกัน มันคงต้องมีการบริหารจัดการ”
{“เผด็จ ลายทอง” กรมอุทยานฯ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช}
จากที่เห็นในหน้าข่าวว่า มีการจับลิงในพื้นที่ลพบุรีที่มีปัญหาไปมากแล้ว จนล่าสุดจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่เรื่องที่ต้องมองต่อไป “รศ.น.สพ. ปานเทพ รัตนากร” อุปนายก TSPCA บอกว่า คือประเด็นเรื่อง “สวัสดิภาพสัตว์”และ “พื้นที่” ที่จะย้ายให้ลิงเข้าไปอยู่
“มันไม่มีทางหรอกครับ ที่ลิงจะหายไปจากลพบุรีได้ 100 เปอร์เซ็นต์แต่ความทุเลาเบาบาง การอยู่ร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เหมือนในอดีต เป็นไปได้ไหม ยังไง”
ปัญหา “พื้นที่”ที่จะย้ายให้ลิงเข้าไปอยู่ ต้องมองให้รอบด้านทั้งเรื่อง “การท่องเที่ยว” “สิ่งแวดล้อม” ที่จะไม่กระทบกับชุมชน จนทำให้เกิดโรคระบาดในลิง และนำมาสู่การระบาดในชุมชน
{“รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร” อุปนายก TSPCA}
ปัญหาวนเวียน “พื้นที่ไม่มี-อาหารไม่พอ”
“หมอเตย” พญ.จุฑามาศ สุพะนามสัตวแพทย์แห่งเมืองลพบุรี หมอผู้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง ระหว่างลิงกับคนในลพบุรี ได้ชี้ให้เห็นภาพปัญหาลึกๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่
ลงลึกในประเด็นเรื่องทำหมันลิง คือการทำหมันให้ลิงตัวผู้ จากการสังเกตพฤติกรรมพบว่า ความก้าวร้าวลดลง การเข้าไปแย่งชิงอาหารจากนักท่องเที่ยว หรือคนที่เดินผ่านไปมา ก็น้อยลงตาม แต่การทำหมันเป็นเพียงปลายเหตุ
“ปัญหาหลักใหญ่ใจความคือ ลิงไม่มีอาหารพอเพียง ในเขตเมืองเก่า”
ลานให้อาหารที่ทำไว้ ก็มีน้อย ไม่เพียงพอต่อกลุ่มลิงทั้งหมด เมื่อ “พื้นที่ไม่มี” “อาหารไม่พอ” ก็ทำให้ลิงบุกเข้าบ้านประชาชน หรือแย่งสิ่งของจากมือคน เพราะพวกเขาคิดว่ามันคืออาหาร
เสียงสะท้อนจากชาวบ้านคือ ทำหมันลิงแล้ว แต่ทำไมดูเหมือนว่า จำนวนยังเท่าเดิมหรือเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ “หมอเตย” สัตวแพทย์แห่งเมืองลพบุรี บอกก็เพราะว่า เมื่อทำหมันเสร็จ ทางกรมอุทยานฯ ก็ต้องเอาลิงกลับมาไว้ที่เดิม
{“หมอเตย” สัตวแพทย์แห่งเมืองลพบุรี}
“พอทำหมันแล้ว ก็ยังไม่มีสถานที่ย้ายออก” ตอนนี้ลิงจำนวนหนึ่ง ถูกนำไปฝากไว้ที่ “สวนลิงโพธิ์เก้าต้น”แต่ก็เป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น หากไม่มีการหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการย้ายลิงออกไป ปัญหานี้ก็จะวนกลับมาเหมือนเดิม
“ดังนั้น เลยต้องฝากความหวังไว้ที่กรมอุทยานฯค่ะ ว่าจะต้องมีพื้นตรงไหนสักที่หนึ่ง ที่เหมาะสมที่จะสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อจะย้ายลิงออกไป”
ปัญหานี้ตัวแทนจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ “เผด็จ ลายทอง”ก็เห็นไปในทางเดียวกันว่า สุดท้ายปลายคือ การย้ายลิงไปในพื้นที่เป็นธรรมชาติ ที่ที่ลิงจะมีอิสระ แต่ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้คนไม่ได้
ตอนนี้กำลังมอง“เขาสมโภชน์” ในลพบุรี ให้เป็นพื้นที่ดังกล่าว แต่ก็ต้องไปทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ก่อน เพราะถ้าคนในบริเวณนั้นไม่ยอม ก็ไม่สามารถทำได้
“สวนลิงท้องถิ่น” ทางแก้ตรงจุดจาก “คนในพื้นที่”
การให้ “คนในพื้นที่” ได้มีอำนาจในการจัดการ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะจะมีใครเห็นภาพ และเข้าใจปัญหานี้ได้ดีไปกว่า คนที่พบเจอมันอยู่ทุกวัน
ตอนนี้ “คณะกรรมการกระจายอำนาจ” จึงประกาศให้ “องค์กรท้องถิ่น” มีอำนาจและหน้าที่ ที่จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยตัวเองแล้ว
โดยหลักคร่าวๆ คือ ปัญหาที่เกิดจากสัตว์ในท้องถิ่น ถ้าต้องการจัดการ หากเรื่องไหนกฎหมายเขียนไว้ว่า ต้องมาข้ออนุญาตจากกรมอทุยานฯ ก็ทำเรื่องขอปกติ แต่ถ้าไม่ได้บอก เจ้าหน้าท้องถิ่นสามารถทำได้ทันที
เลยเป็นที่มาของการเสนอไอเดีย “สวนลิงท้องถิ่น” จาก “พิชัย เกียรตินิวัยสกุล” อดีต ส.ส. และนายกองค์การบริหารส่วน จ.ลพบุรี
“เราจะทำสวนลิง ทุกท้องถิ่นเลย ลพบุรีมี 114 ท้องถิ่น ตั้งแต่ อบจ., เทศบาลเมือง, เทศบาลตำบล และผมเช็กแล้วว่า ร้อยละ 99 มีพื้นที่สาธารณะทั้งนั้น”
{“พิชัย” อดีต ส.ส. และนายกองค์การบริหารส่วน จ.ลพบุรี}
ตอนนี้กำลังออกแบบและศึกษาอยู่ ซึ่งดูจากค่าใช้จ่ายแล้ว “งบของท้องถิ่นมีพอ” โดยไม่ต้องของบจากส่วนกลางเพิ่ม ซึ่งหลายคนในที่ประชุมก็ดูเหมือนจะเห็นด้วย
เพราะหากท้องถิ่นที่จะรับลิงไปเลี้ยง สามารถทำให้มันกลายเป็น “แหล่งท่องเที่ยวในชุมชน” และ “สร้างรายได้” จากสวนลิงท้องถิ่นได้ ก็จะมีเงินวนกลับมาใช้ดูแลลิงเหล่านั้น โดยที่ท้องถิ่นไม่ต้องเดือดร้อนเรื่อง งบประมาณ
แต่จำนวนท้องถิ่นที่มีหลายแห่ง “มาตรฐาน” เรื่อง สวัสดิการในการดูแลลิงเหล่านั้น เราจะทำให้ได้เท่ากันทุกทีไหม? นี่เป็นข้อที่ “รศ.น.สพ.ปานเทพ รัตนากร” อุปนายก TSPCA อยากให้วางแผนเอาไว้ด้วย
มาตรฐานของ “พื้นที่” “สภาพแวดล้อม” รวมทั้ง “อาหาร” ที่จะไม่ทำให้เกิดโรคในลิง องค์กรท้องถิ่นที่จะรับลิงไปดูแล ต้องเตรียมการและมองให้ครอบคลุมทุกประเด็นด้วย
“การจะแก้ปัญหาใด ต้องคิดปัญหาที่จะเกิดในอนาคตด้วย แต่ก็ไม่ใช่บอกว่ามีปัญหา แล้วจะไม่ทำเลย”
สกู๊ป : ทีมข่าว MGR Live
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **