ถุงกระดาษแห่งความลับ!! เมื่อประวัติส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคล ที่ควรถูกจัดเก็บอย่างรัดกุม กลับกลายมาเป็นส่วนประกอบของเมนูข้างทางซ้ำๆ ซากๆ คำถามเรื่อง“การเอาผิดหน่วยงาน” จึงเกิดขึ้น
ชั่งกิโลขาย!! “ข้อมูลที่ไม่ควรรั่วไหล”
เอาเข้าจริงๆ ประเทศไทย ถ้าแฮกเกอร์ต้องการล้วงความลับ บางทีอาจจะไม่ต้องใช้เทคนิค หรือเทคโนโลยีอะไรมากมายก็ได้ เพราะแค่เดินไปชื้อ “กล้วยแขก” ก็แทบจะได้ข้อมูลทุกอย่างของพี่น้องชาวไทยไปแล้ว
ไม่ได้พูดเกินจริง เพราะล่าสุดแฟนเพจชื่อดังอย่าง “หมอแล็บแพนด้า”เพิ่งโพสต์ถึงเคส “เอกสารหลุด” อีกแล้ว ครั้งนี้เป็นข้อมูลของผู้ป่วยโรงพยาบาลดัง ที่มาในรูปแบบ "ถุงขนมโตเกียว”
“แฟนเพจแจ้งว่า เจอขนมโตเกียวใส่ถุงพับจากเอกสารOPD (Out-Patient-Department :ผู้ป่วยนอก)รพ.แห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี รายละเอียดครบเลย เป็นเพศชายติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะกินต่อหรือพอแค่นี้”
ล่าสุด “กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)”ได้สั่งตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวแล้ว หากพบว่า “ผิดจริง”เรื่องการทำเอกสารหลุด จะ “ลงโทษตามกฎหมาย”แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะแค่ดำเนินการ “ตักเตือน”
หลังเรื่องนี้เป็นประเด็นร้อนได้ไม่นาน อีกเคสสะท้อนความไม่ปลอดภัยระบบข้อมูลส่วนตัวในบ้านเรา ก็ผุดขึ้นมาเพิ่มอีก รอบนี้มาในรูปแบบ “ขนมเบื้อง”หลังแฟนเพจวิเคราะห์สังคมชื่อดังอย่าง“Drama-addict”ออกมาโพสต์ภาพจากลูกเพจ ซึ่งได้ของแถมเป็น “ถุงขนมลายบัตรประชาชน”
“วันก่อนไปซื้อขนมเบื้องตามรถเข็นทั่วไป แล้วใส่ถุงกระดาษ และพบว่าถุงกระดาษที่ใส่มา คือเอกสารที่ถูกปรินท์สี มีข้อมูล บัตรประชาชน หน้าสมุดบุ๊กแบงก์ ลายเซ็น ครบเลย”
“ข้อมูลส่วนตัว” กับ “ถุงกระดาษ” เหมือนจะเป็นของคู่กัน เพราะเมื่อปีที่แล้วก็มีบางคน ได้ถุงขนมลาย “สำเนาทะเบียนบ้าน”เหมือนกัน จึงขอร้องเรียนผ่านแฟนเพจ“Drama-addict” เช่นเคย
“ก่อนหน้านี้ได้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ที่มีลายเซ็นกำกับ บางครั้งก็เป็นข้อมูลบางส่วนที่กรอกให้กับบริษัทประกัน ที่เป็นมหาชนบริษัทหนึ่ง
อาทิตย์ที่แล้วได้ bank details ของใครไม่รู้ ล่าสุดอาทิตย์นี้ได้สำเนาทะเบียนมาคะ”
และถ้าย้อนไปเมื่อปี 64 สาวรายหนึ่งแค่อยากกิน “กล้วยแขก”แต่กับได้ “สำเนาบัตรประชาชน”พร้อมลายเซ็นของใครไม่รู้มาเป็นของแถม
“สวัสดีค่ะ วันนี้ไปซื้อกล้วยทอดมา แล้วได้ห่อกล้วยทอดมาแบบนี้ ถามป้าที่ขายว่าบัตรประชาชนคนที่บ้านป้ารึเปล่า ต้องไปทำลายทิ้งนะ
ป้าบอกไม่ใช่ของบ้านป้า สบายใจได้ กระดาษนี่ ป้าไปรับชั่งกิโลมาจากสำนักงาน...”
“เอาผิดได้” ถ้าเจ้าตัวรู้
เหตุการณ์เอกสารสำคัญหลุด ข้อมูลส่วนตัวถูกเปิดเผยแบบนี้ ทำไมมันยังเกิดขึ้นซ้ำๆ ซากๆ ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัยก็ตาม ส่งให้เกิดข้อสงสัยว่า ประชาชนสามารถเอาผิดหน่วยงานที่รับผิดชอบได้หรือเปล่า?
“ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร”ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีบีซี กรุ๊ป จำกัด และPDPA Thailand กูรูด้านความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคล จึงช่วยตอบคำถามนี้ของทีมข่าวเอาไวให้
“เอาผิดได้ครับ” ซึ่งโทษมี 2 แบบคือ “โทษทางปกครอง”กับ “โทษทางอาญา” เริ่มกันที่แบบแรก อย่าง “โทษทางปกครอง”คือทุกคนสามารถไปร้องเรียนที่ “สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPC)”โดยที่ “ไม่จำเป็นต้องเป็น เจ้าทุกข์”
พูดง่ายๆ ถ้าใครเจอว่า “ข้อมูลส่วนตัว”ของคนอื่นรั่วไหล ก็สามารถเข้าแจ้งความได้ และทางสำนักงานก็มีหน่วยงานอย่าง “ศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล(PDPC Eagle Eye)” ที่คอยตรวจสอบและสอบสวนอยู่ว่า ทำข้อมูลหลุดจริงหรือไม่ และถ้าทำหลุดจริง โทษอาจเป็นการ “ตักเตือน”หรือ “ปรับ”
อีกแบบคือ “โทษทางอาญา” ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับ สูงสุด “1 ปี” หรือ “ปรับ 1 ล้านบาท” แต่แบบนี้ต้องมีเจ้าทุกข์ และผู้เสียหายต้องไปฟ้องด้วยตัวเอง “แต่เราไม่รู้ว่า ผู้เสียหายเขารู้ตัวหรือเปล่า”
ทุกวันนี้เรามี “พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)” ที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติ และโดยกฎหมายบังคับว่า “หน่วยงานรัฐ”, “องค์ที่มีข้อมูลจำนวนมากเพื่อใช่ในกิจการ” และ “องค์มีข้อมูลอ่อนไหว” ต้องมี “เจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO)” อยู่ในองค์กร
เกี่ยวกับเรื่องนี้กูรูด้านความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลรายเดิม อย่าง “ดร.อุดมธิปก” บอกว่า ในเคสเอกสารทางการแพทย์หลุด จริงๆ โรงพยาบาลอยู่ในข่าย “องค์กรที่มีข้อมูลอ่อนไหว” ทุกโรงพยาบาลต้องมี “เจ้าหน้าDPO”
“ปัญหาส่วนใหญ่ของโรงพยาบาล ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน คือไม่มีเจ้าหน้าที่ DPO ประเด็นแรก ประเด็นที่ 2 คือ ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล”
ปัญหาหลักๆ คือ “ไม่ลบ-ทำลาย”
กูรูจากPDPA Thailand ยังได้วิเคราะห์ต่อว่า ทำไมเรามักเห็น “เอกสารราชการ” หรือ “ข้อมูลส่วนตัว” มาอยู่เป็นลายบนถุงกล้วยแขก ก็เพราะ “การจัดการข้อมูล” และการเปลี่ยนถ่าย “จากกระดาษ ไปสู่ระบบดิจิทัล”
กฎหมายPDPAไม่ได้พูดแค่เรื่องการจัดเก็บข้อมูลส่วนตัวที่ปลอดภัยเท่านั้น มันยังรวมไปถึงการประมวลผลเพื่อนำไปใช้ โอนถ่าย และ “การลบทำลาย” ด้วย
“ประเด็นคือ ส่วนใหญ่ในเมืองไทย เราคิดแต่เรื่องการเก็บ เก็บให้ดี ประมวลผลใช้ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เราลืมไปว่า การลบทำลายเนี่ย มันต้องทำยังไง”
บ้านเราไม่ได้เป็น “ดิจิทัล” ตั้งแต่แรก หลายหน่วยงานยังเก็บข้อมูลต่างๆ ใน “ระบบกระดาษ” เมื่อมีการถ่ายโอนเข้าระบบดิจิทัล “มันก็เหลือกระดาษ แต่ก็ไม่ได้มีการวางแผนลบทำลาย อันนี้แหละปัญหา”
ตามระบบของ“PDPA”ข้อหนึ่งที่ต้องคำนึกคือ “ผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูล” เมื่อเอาข้อมูลส่วนบุคคลไปลบทำลายแล้ว ต้องคิดว่าแล้วมันยังมีผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลอยู่หรือเปล่า นี่คือจุดที่หลายองค์กรมองข้าม
“นี่เป็นปัญหาใหญ่ขององค์กร ที่มีระบบกระดาษอยู่เยอะ แล้วก็ไม่ได้มีการวางแผนในเรื่องการลบทำลาย พอเอาข้อมูลขึ้นระบบดิจิทัลแล้ว กระดาษก็เอาไปชั่งกิโลขาย จริงๆ แล้วนั้นนี่เป็นโทษหนักมากครับ”
ทั้งนี้มีอีกหลายองค์กรที่ยังไม่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิทัล แต่ก็ถือว่าองค์กรที่ใช้ “ระบบกระดาษ 100%” เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ แล้วทุกวันนี้
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ยังทำให้มีถุงกล้วยแขกลายบัตรประชาชน คือ“ช่องโหว่ของกฎหมาย” ในกฎหมายบังคับใหม่ “นิติบุคล” ต้องทำPDPAอย่างเคส “โรงพยาบาล” ถ้าเป็นเอกชน แน่นอนนี่คือความรับผิดชอบของนิติบุคคล
“แต่โรงพยาบาลรัฐ ส่วนใหญ่ไม่เป็นนิติบุคคล พอไม่เป็นนิติบุคคล ประเด็นสำคัญ ใครเป็นคนรับผิดชอบ”
ปัญหานี้รวมถึงหน่วยงานรัฐด้วย พอไม่รู้ว่าใครจะรับผิดชอบ แนวทางปฏิบัติก็ไม่ชัดเจน ทำให้เจ้าหน้าที่หลายคน ไม่รู้ต้องจัดการกับข้อมูลในมือยังไง
“สุดท้ายคือ ความตระหนักเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล อันนี้เป็นปัญหาในองค์กรต่างๆ ”
ถ้าองค์กรไม่มองว่า ข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้ทั้งของ “ประชาชน” หรือ “ลูกค้า” เป็นทรัพย์สินที่ต้องปกป้อง เขาก็จะไม่ลงทุนกับความปลอดภัยส่วนนี้ และปัญหาก็จะ “เกิดขึ้นอีก” ไม่ว่าจะอยู่ในระบบกระดาษ หรือขึ้นมาเป็นดิจิทัลแล้วก็ตาม
สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : Facebook“หมอแล็บแพนด้า” และ “Drama-addict”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **