xs
xsm
sm
md
lg

เพราะความทรงจำมีค่าเกินจะทิ้ง… “ร้านซ่อมตุ๊กตาเน่า” ไวรัลช่างหน้าโหดโหมดละมุน [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดใจเจ้าของ “Teddy Bear Thailand” จากแบรนด์ผลิตและจำหน่ายตุ๊กตาหมี สู่ผู้ซ่อมแซมความทรงจำ เย็บปักถัก “ตุ๊กตาเน่า” ให้กลับมาสภาพดีดังเดิม “มันเป็นการยืดคุณค่าทางจิตใจ ให้มีอายุคู่กับเขาได้ยาวที่สุด”






ไวรัลตุ๊กตาเน่า “พี่ลูกหมู” สู่ร้านซ่อมตุ๊กตาสุดฮอตบน TikTok

เชื่อเลยว่าบรรดานักท่องโซเชียลฯ ทั้งหลาย น่าจะคงเคยเห็นคลิปไวรัลบน TikTok จากช่อง @teddybearthailand กับผลงานการรับซ่อมตุ๊กตาเน่า ที่สภาพแต่ละตัวเห็นแล้วต้องปาดเหงื่อ เพราะทั้งเก่า เปื่อยยุ่ยเป็นเศษผ้า

บางตัวถึงขั้นมองไม่ออกว่าเคยเป็นตุ๊กตามาก่อน แต่ทีมช่างฝีมือสุดจึ้ง ก็สามารถซ่อมจนกลับมาเป็นตุ๊กตาตัวใหม่ราวกับเสกได้ ที่หากใครนึกถึงการซ่อมตุ๊กตา ย่อมต้องนึกถึงร้านนี้ขึ้นมาเป็นชื่อแรก

ซึ่งเบื้องหลังผลงานที่ได้เห็น ก็มาจากฝีมือของทีมช่าง Teddy Bear Thailand ที่นอกจากจะรับซ่อมตุ๊กตาแล้ว ยังรับผลิตและจำหน่ายอีกด้วย โดยมี “เท็ดดี้ - ไตรสิทธิ์ ธีระปัญญารัตน์” เจ้าของวัย 63 ปี เป็นผู้ดูแล


[ “พี่เท็ดดี้” ผู้คร่ำหวาดในวงการตุ๊กตา มากว่า 30 ปี ]
แต่หากจะย้อนไปถึงจุดเริ่มต้น ที่ทำให้การซ่อมตุ๊กตาของร้านนี้กลายเป็นที่รู้จักจริงๆ ก็มาจากคลิปไวรัลของช่อง TikTok @toonandfamily ที่ติดต่อทางร้าน เพื่อให้ช่วยซ่อม “พี่ลูกหมู” ตุ๊กตาเน่าสุดรักของเธอให้ที

แต่สภาพของตุ๊กตาตัวนั้นเกินเยียวยาจนร้านไม่สามารถซ่อมให้ได้ เธอจึงนำบทสนทนาสุดฮา ระหว่างตัวเองกับร้านซ่อมตุ๊กตา ไปเล่าสู่กันฟังบน TikTok จนคลิปกลายเป็นไวรัล และในตอนนี้มีคนเข้าชมทะลุ 15.5 ล้านครั้งแล้ว

“เรื่องงานซ่อมจริงๆ มันเพิ่งเริ่มได้ปีเดียว เรื่องของเรื่องลูกค้ามีตุ๊กตาที่ชำรุด ก็มาให้ผมสอยเล็กๆ น้อยๆ แต่มาเริ่มแขนขาด รุ่ย ใยแฟบ ช่วยทำให้หน่อย หาที่ทำไม่ได้ ผมเห็นใจลูกค้า ซื้อมาหลายรอบแล้วผมก็ทำให้ พอทำให้ปั๊บลูกค้าก็เอาไปออกสื่อโซเชียลฯ กันไปโพสต์กัน ก็เลยกลายเป็นว่าลูกค้าส่งมาอีก

พอดีลูกชายทำเรื่อง Online Marketing บอกทำไมไม่ทำคอนเทนท์ ผมเห็นไม่ว่าใน Facebook หรืออะไรก็แล้วแต่ การยิง Ads รู้สึกตอนหลังๆ แพง คอนเทนท์เป็นเรื่องที่หาลูกค้าได้ง่าย พอทำคอนเทนท์ปั๊บ ก็เริ่มมีเข้ามาแล้ว

มีตัวนึงตุ๊กตาเน่ามาก ลูกน้องเห็นปั๊บเลยตอบแบบหยอกกันว่ามันตัวอะไร มองไม่ออก เหมือนห่อข้าวมันไก่ เสร็จแล้วเขาก็นอยด์ มาว่าน้องเขา น่ารักจะตาย อะไรอย่างนี้ เขาเอาไปโพสต์ใน TikTok ก็เลยเป็นไวรัล

ลูกน้องเลยบอกนี่ไง เกิดจากกระแสไวรัล จากลูกค้าคนนี้เอาไปโพสต์ เขามีคนติดตามเขาเยอะ พอเป็นกระแสแรงปั๊บ มันช่วงระยะแค่ไม่กี่วัน คนติดตามเป็นแสน เลยกลายเป็นกระแสในข่าวช่อง 3 ช่อง 5 ก็เลยยิ่งไปกันใหญ่

พอเป็นไวรัลปุ๊บ วันนั้นผมจำได้ว่ากระแสมันมาแรงมากใน TikTok ผมเห็นว่าคนตอบกันไม่ทัน มันขึ้นตึ๊งๆๆ ‘ตัวนี้ซ่อมได้ไหม’ ‘อยากจะซ่อมด้วย’ ทุกคนก็ช่วยกันตอบยันสว่างเลย”


[ “พี่ลูกหมู” ไวรัลตุ๊กตาเน่า ]
สำหรับค่าบริการของทางร้าน ก็เริ่มต้นอยู่ที่ 100 บาท เรื่อยไปจนถึงหลักพัน ตามความสาหัสของอาการที่ต้องรักษา

“เรารับทั่วไปตั้งแต่แรกเลย ส่วนใหญ่ที่ตอนนั้นซ่อมก็คือลูกค้าเรานั่นแหละ เขามีตุ๊กตาของแบรนด์อื่น ไม่รู้จะไปซ่อมที่ไหนก็เลยส่งมาให้เราซ่อม เท่านั้นเอง ตอนหลังก็ไม่ได้เป็นลูกค้าที่ซื้อ ก็โอเค ซ่อมให้ ไม่มีปัญหา

(ช่วงบูม) วันนึง 30-40 ตัว มีอยู่ช่วงนึงพอเราเปิดปั๊บ อีกวันนึงปิดเลยเพราะเราทำให้ไม่ทัน ตอนนี้วันนึง 3-4 ตัวมาก็โอเค บางตัวมันก็ไว มันไม่มีอะไรมาก พอซักเสร็จเรียบร้อยเราก็ยัดใย มันก็เร็วขึ้น ช่วงนี้ก็ซาลงไปนิดนึง เพราะตั้งแต่ทำมาคนก็หันเข้ามาทำกันเยอะ ก็ไม่เป็นไร แต่มีหลายคนที่เจอแล้วซ่อมไม่ดี ต้องมาที่นี่อีก

ตอนนี้ถ้าต่ำสุดก็พวงกุญแจก็ร้อยนึง ทำเชือกสอยเข้าไป เมื่อก่อนนี้ถ้ายัดใยก็เริ่มที่ 250 บาท เปลี่ยนใยขนาดตั้งแต่เล็กถึง 12 นิ้ว ถ้าถึง 20 นิ้วก็จะแพงขึ้น เพราะเวลาใส่ใยไม่เหมือนกับในไลน์ผลิตใช้เครื่องฉีด ใส่ยัดใยด้วยมือมันกินเวลากว่า

วันนึงก็ได้ไม่เยอะเพราะกำลังเราทำได้น้อย ถ้าเกิดว่ามีคนทำงานเยอะ มันก็จะรับงานได้เยอะขึ้น เราได้เปรียบวัตถุดิบเรามีอยู่แล้ว เราพร้อมที่จะเปลี่ยนหรือซ่อมให้เขา ถ้าเกิดว่ารับทั่วไป ไปเดินซื้อผ้าทีนึงก็หมดแล้ววันนึง ไม่คุ้ม”



อย่าง ลาบูบู้ (Labubu) Art Toy กระแสแรง ก็เป็นอีกชนิดตุ๊กตา ที่ถูกส่งมาให้ทางร้านช่วยดูแลความเรียบร้อยบ่อยเป็นพิเศษในช่วงนี้

“ลาบูบู้ ตอนนี้นิยม ตัวนี้ไม่ได้ยาก ส่วนใหญ่พอใช้ไปนานๆ มันเป็นปัญหาขนเป็นกะตัง ใช้จนเหงื่อไคลเขาเยอะ ทำความสะอาดนิดหน่อย แล้วก็สปาขนมันฟูก็นุ่มเหมือนเดิม ถ้าลูกค้าบางคนขยัน ผมก็บอกให้ซักแล้วทำยังไง รักษายังไง ให้เขาทำเองได้ จะได้เซฟค่าใช้จ่าย บางทีเคยออกคลิปสอนวิธีการสอยด้วยนะ เพื่อให้ทำเองได้

ลาบูบู้ บางทีทำไปไม่รู้มูลค่ามันหรอก หลานไปซื้อมาตัวละ 500 ตอนแรก ตอนหลังเล่นกัน เกกันเป็นพัน ก็มีตัวหน้าตาสวยๆ หน่อย ตัวเป็นพันกว่าบาท มันหาไม่ได้ด้วยบางที ก็เสียว ก็กลัวของหาย หายแล้วเราไม่รู้จะชดใช้เขายังไง

บางครั้งแต่ถ้าให้ดี ของแพงๆ เจ้าของมาเองดีที่สุด บางทีทำแป๊บเดียวก็เสร็จ ส่วนใหญ่พวกนี้ไม่ค่อยชำรุดอะไร บางตัวเล่นไปนานๆ ผอม เปลี่ยนเสริมใย อย่าง เหมียวเตนล์ เขามาลักษณะใบหน้ามันไม่ดี ต้องสอยเก็บแค่นั้น น้องๆ พวกนี้เขาสอยคล่องแล้ว สอยเก็บดึงแป๊บเดียวก็เก็บตะเข็บได้หมด”



การที่ร้านกลายเป็นที่รู้จักในฐานะร้านซ่อมตุ๊กตา ก็เป็นส่วนที่มาช่วยเสริมให้รู้จักกับธุรกิจหลักที่มีมายาวนานอีกทาง

“ผมไม่ได้คิดว่าจะเป็นโอกาส ช่องทางที่ควรจะเป็นรายได้ แต่มันเหมือนกระแสที่พาไป มันก็ช่วยหนุนให้มารู้จักแบรนด์ จริงๆ แบรนด์ของเราส่วนใหญ่รู้จักในเครือโรงแรมกับสายการบิน เขารู้จักกันอยู่แล้วในวงการตุ๊กตา

เดือนแรกขาดทุน ไม่มีระเบียบเลยตอนนั้น เรามองน่าจะราคาเท่านี้ มาถึง 3 วันยังซ่อมไม่เสร็จ ผ้ามันเปื่อยขาดมาก เราประเมินผิด เลยต้องมาตั้งหลักใหม่ ความยาก-ง่าย ต้องบอกลูกค้าเบื้องต้นเท่านี้ๆ แล้วมา Adjust กันอีกทีตามหน้างาน

ทีนี้ปัญหาก็ตามมา คนเราไม่พร้อม ผมประกาศรับคนมาหลายชุดแล้ว เทรนเสร็จเริ่มเป็นนิดๆ หน่อยๆ ก็ออก หาคนที่มีความอดทนและมีความใจเย็น น้อยมากปัจจุบันนี้ เพราะว่านี้ 1.ต้องมีความอดทน 2.ใจต้องเย็นพอที่จะต้องคุยกับลูกค้าได้

ยิ่งถ้าเป็นงานซ่อม เครียดนะไม่ใช่ไม่เครียด นานาจิตตังของคน เอาอันโน้นอย่างอันนี้อย่าง บางทีมันเป็นไปไม่ได้จะให้เป็นไปให้ได้ บางทีก็ต้องโทร.หาลูกค้าแล้วก็คุยด้วยความใจเย็น บางทีคุยจนเครียดกว่าจะได้สักตัว

ตั้งแต่ทำอันนี้มากับกำลังคนผลิตได้ ปีนี้น่าจะได้ซัก 7,000,000 บาท แต่เมื่อก่อนนี้ตอนที่อยู่สำเพ็ง ปีละหลายตังค์ เยอะกว่านี้เยอะ แต่นั่นก็ใช้คนเยอะด้วยและขายเป็น Volume คุณภาพเป็นเรื่องสำคัญ

ถามว่าคุ้มไหม จริงๆ ผมชอบทำงานออเดอร์ดีกว่า เราผลิตที 1,500 ตัว ออเดอร์มันทำเป็นล็อตนึง งานซ่อมมันก็เป็นส่วนเสริม อยู่ได้ แต่บางตัวเหมือนเบี้ยหัวแตก หมดเวลากับงาน เวลาโดนซื้อไปกับงานที่ต้องซ่อม ถามว่าคุ้มไหมล่ะ (หัวเราะ)

ผมว่ามันคุ้มค่าทางจิตใจของเจ้าของมากกว่า มีลูกค้าเขาเอาของมาซ่อม พอผมบอกราคาเขารีบควักเงินเลย ของน้องคนนั้นมัน 1,900 เปลี่ยนผ้า ทำอะไรด้วย ก็ใช้เวลา 2 วันกว่าจะเสร็จ ต้นทุนจริงๆ ปาไปแล้วพันกว่าบาท เขาบอกว่าเข้าใจ เขาเคยรับงานซ่อมเป็นโมเดล ทำมา 3 วันเสร็จแล้วไม่คุ้มเลย แต่เขามองออกถ้าประมาณนี้ ราคานี้ ก็พอเหมาะพอควร”

จากวิศวกร สู่คนขายตุ๊กตา

ตามที่ได้กล่าวไว้ในตอนแรกว่า Teddy Bear Thailand ไม่ใช่แค่เพียงร้านรับซ่อมตุ๊กตาทุกชนิดเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังเป็นธุรกิจรับผลิตและจำหน่ายตุ๊กตา ที่มีชื่อเสียงในบ้านเราและต่างแดน มายาวนานกว่า 30 ปี

ซึ่งเดิมที พี่เท็ดดี้ เป็นอดีตพนักงานรัฐวิสาหกิจ ก่อนที่เบนเข็มมาเข้าสู่วงการตุ๊กตาเต็มตัว

“จริงๆ แล้วครอบครัวเราเป็นครอบครัวอพยพมาจากทางใต้ ไม่มีทรัพย์สินอะไรหรอก ตอนอายุน้อยๆ พ่อแม่ก็มาเช่าบ้านอยู่แถวย่านสำเพ็ง ค้าขายอาหาร แล้วก็เติบโตมาเรื่อยๆ ผมเรียนจบก็ไปทำงาน เมื่อก่อนผมทำงานรัฐวิสาหกิจในกลุ่มปิโตรเคมี ในช่วงทำงานผมก็ได้ประสบการณ์ดีๆ จากเพื่อนร่วมงาน แล้วก็รู้จักกับชาวต่างชาติ ก็ได้ความรู้หลากหลายพอสมควร

แล้วออกมาทำธุรกิจส่วนตัวช่วงหนึ่ง ก็คือทำงานเกี่ยวกับติดตั้งเครื่องจักร ช่วงนั้นเราเปิดบริษัทกับน้าชาย มันว่าง เหตุที่ผมทำตัวให้ว่างไว้เพราะผมไปรับ Project นึง ต้องเข้าไปดูแลเอง ไปรับงานอื่นไม่ได้

ไม่รู้จะทำอะไร ก็เลยขับรถเที่ยวกับภรรยา เห็นงานที่เขาจำหน่ายตุ๊กตาแถวราชบุรี คนเยอะมาก เห็นว่าขายดีก็เลยว่าเข้าท่า ธุรกิจนี้น่าทำ เผอิญเป็นช่วงปลายปี 1993 ก็ทดลองดูเอาตุ๊กตามาลองขาย พ่อแม่ผมมีหน้าร้านอยู่แถวสำเพ็ง

เราขายไม่แพง ซื้อมาขายไป มันขายง่าย แล้วก็มองเห็นช่องทางที่สามารถจะขายได้ มี Profit ที่ดี แล้วเป็นรายได้ที่ค่อนข้างเป็นกอบเป็นกำพอสมควร อีกอย่างงานไม่เครียด เลยเริ่มต้นทำตั้งแต่นั้นมาเรื่อยๆ”



ถ้าจะพูดถึง ตุ๊กตา และ วิศวกรรม อาจจะฟังดูไกลกันคนละทิศละทาง แต่ชายคนนี้ก็พาให้ทั้ง 2 สิ่ง ไปด้วยกันได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“ส่วนตัวชอบตุ๊กตาหมีด้วย แล้วในตลาดก็นิยมกัน ผมเรียนจบมาทางช่าง ในการคิดแบบ คำนวณแบบมันง่าย เอาความรู้ทางด้าน Engineer มาประยุกต์ใช้ งานที่ทำอยู่ก็เลยยกเลิก ไม่ทำแล้ว เพราะว่างานที่ทำด้านสาย Engineer มันจะเครียด เราก็มองเรื่องสุขภาพ ทำธุรกิจนี้มันมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น ก็เลยทำตรงนี้ไปซักระยะหนึ่ง

จริงๆ การคำนวณตุ๊กตามันจะมี Pattern เป็นแผ่นเหมือนกับผ้าผืน ผมเรียนทางด้าน Metal Sheet โลหะแผ่น เวลาทำแบบก็คำนวณคล้ายๆ กัน พื้นฐานครอบครัวผมที่ต่างจังหวัด เขาเป็นร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ครูพักลักจำ ตอนเด็กๆ เห็นน้าทำงานเกี่ยวกับตัดเย็บ เราก็ผ่านชีวิตแบบนั้นมา ก็เลยมาประยุกต์ใช้กันได้ เราคำนวณต้นทุนได้ง่ายเพราะผ้าผืนกับโลหะ ไม่ต่างกัน

เผอิญว่ารู้จักกับ Partner ชาวต่างชาติก็ลองทำกันดู เขามีข้อเสนอ มีผ้าจากเกาหลีมา เราก็มอง Pattern ลองผลิต แล้วลองจำหน่าย มันโดนกับลูกค้าที่เอาไปขายงานรับปริญญาบ้าง อะไรอย่างนี้ มันก็เลยโตไว

ตอนนั้นรายได้พูดตรงๆ เดือนนึงเฉลี่ยแล้วเป็นแสน ก็สูงกว่าเงินเดือนประจำ เดือนนึงได้อย่างเก่งก็ 90,000 บาท สมัยนี้ก็หลายแสน ผมต้องทิ้งตรงนั้นแลกกับการที่มีเวลาให้กับครอบครัว เพราะทำงานทางด้านนั้น กลับมาลูกหลับ ตื่นเช้าลูกยังไม่ทันตื่นเราก็ไปแล้ว มันเป็นอย่างนี้ประจำ ไม่ไหว ก็เลยได้ Move งานมาทางนี้

ออกมาตอนนั้นอายุประมาณ 30 กว่า ตอนนี้ก็ 63 แล้ว ควรจะเกษียณแล้วเนอะ (หัวเราะ) เผอิญว่าลูกๆ เขามีธุรกิจส่วนตัวกัน ทุกคนมีภาระกัน ก็พยายามถ่ายทอดให้มารับผิดชอบกัน เพื่อจะเป็นธุรกิจให้เดินต่อไป ให้ อยู่ยั่งยืนที่สุด นานที่สุด”

สิ่งของไร้ชีวิต ที่มีความหมายต่อคนมีชีวิต

แม้การซื้อตุ๊กตาตัวใหม่อาจจะถูกกว่าการนำตัวเก่าซ่อมด้วยซ้ำ แต่ลูกค้าทุกคนก็เลือกที่จะหาทางคงสภาพตุ๊กตาตัวเดิมให้ได้นานที่สุด ด้วยเพราะสิ่งนี้ไม่ใช่เป็นแค่ผืนผ้าหุ้มก้อนใย หากแต่ยังบรรจุความทรงจำแสนวิเศษของเจ้าของเอาไว้

“ตุ๊กตาแต่ละตัวมันมี Story มีเรื่องราวประจำตัวของแต่ละเจ้าของ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความผูกพันกับตุ๊กตาที่ได้มา อย่างเช่น ตัวนี้มาค่อนข้างเปื่อยแล้ว ที่คุยกันอยู่คือต้องการอยู่สภาพเดิม ถ้าซื้อใหม่มันก็ถูกกว่าอยู่แล้ว เขามีความเป็นมา บางทีพ่อแม่ซื้อให้มา บางตัวพ่อแม่จากไปแล้วเป็นตัวแทนของพ่อแม่ ซึ่งมีคุณค่าความรู้สึกทางจิตใจเขา ว่านี่เป็นที่ระลึก

คนไม่ได้ต้องการของใหม่ ต้องการรูปแบบเก่าๆ มีประวัติความเป็นมา เด็กบางคนก็มีปัญหาเรื่องติดกลิ่น เราเปลี่ยนใหม่ทั้งหมดไม่ได้ ถ้าซื้อใหม่ก็คือของใหม่ ไม่จำเป็นต้องซ่อม แต่ความรู้สึกของแต่ละปัจเจกบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน

บางคนอยู่ไกล เขาไม่อยากเอาตุ๊กตาเขาใส่กล่องส่งทางไปรษณีย์มา เขากลัว มีความรู้สึกว่ากลัวน้องเขาจะหายใจไม่ออก นั่นคือเอาความรู้สึกของตัวเองไปไว้ที่ตุ๊กตา ยอมนั่งรถมาไกลๆ เพื่อเอามาส่งที่นี่แล้วซ่อมให้เขา

ที่เดินทางมาเองไกลสุดคือภูเก็ต นั่งรถทัวร์ตอนเย็นมาถึงนี่เช้า เสร็จรีบมาที่นี่แล้วซ่อมเสร็จเย็นกลับภูเก็ตเลย ที่คุยกับเขา ถ้าตั๋วเครื่องบินว่างเขาจะนั่งเครื่องบินมา แต่พอดีหาตั๋วเครื่องบินไม่ได้ เขายอมจ่ายเพื่อรักษาน้องไว้ให้ดูสภาพดีที่สุด นี่คือความรู้สึกทางจิตใจ มีคุณค่า แต่ละคนไม่เหมือนกัน

ลูกค้าที่เอาตุ๊กตามาซ่อม ส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะที่มีกำลังจ่าย มันมีความหมายต่อจิตใจเขา เขาก็อยากจะได้แค่นั้นเอง แต่ถ้าลูกค้ามานั่งคอยรับ บางคนก็แค่เปลี่ยนใยหรือซ่อมเล็กน้อย มานั่งรอก็เสร็จ หมีพวกนี้ (ตุ๊กตาในร้าน) มานั่งมองหน้ากันเดี๋ยวก็ซื้อไป มีเคยมาซื้อ นั่งๆ อยู่หมดไป 5,000-6,000 (หัวเราะ)”



ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ได้รับทำงานนี้ ทางร้านก็ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของโมเมนต์แสนประทับใจมากมาย ระหว่างเจ้าของและตุ๊กตาแต่ละตัว

“พอดีวันนั้นมีถ่ายทำรายการ เปิดกล่อง เอาตุ๊กตามาให้ซ่อม ตุ๊กตาไม่ได้แพงนะแต่มันมีความหมาย เพราะว่าเป็นตุ๊กตาของแฟนเขาซื้อให้เขา พอดีสามีเขาเสียชีวิตก่อนที่ลูกเขาจะคลอด เขาอยากจะซ่อมตุ๊กตานี้ให้ดูดีที่สุด

เป็นชิ้นเดียวที่สามีซื้อให้เขา เขาจะเก็บไว้ให้ลูกทำให้ดูดี เพื่อจะให้ลูกเขารู้ว่านี่ของพ่อเขา เขียนจดหมายมาแล้วอ่านจดหมายสดเลยตอนนั้น ทุกคนอึ้งไปหมดเลย ผมว่ามันเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มาก


มันเป็นการยืดคุณค่าทางจิตใจ ให้เขามีอายุยาวนานคู่กับเขาได้ยาวที่สุด มันก็มีความหมายต่อคนที่มีชีวิตอยู่กับคนที่สูญเสียไปแล้ว เป็นสื่อส่วนกลาง เราก็ดีใจที่ว่าทำให้เขาได้มีความสุขกับของที่ชำรุดไปให้ดูดีขึ้นมา แล้วก็ได้ส่งทอดต่อไป

บางตัวมีประวัติ บางตัวมีอายุถึง 50 ปี แล้วก็ส่งต่อให้ลูกให้หลาน มันก็เป็นคุณค่าทางจิตใจที่ประเมินยาก เวลาของมาส่งผมกลัวมาก กลัวหาย เพราะมันหาแทนไม่ได้ ของพวกนี้มีตัวเดียว”



การทำการตลาดออนไลน์นั้น เป็นสิ่งที่ทาง Teddy Bear Thailand ปรับตัวตามกระแสมาตลอด ซึ่งทางเจ้าของที่เป็นคนยุคเก่า ก็พร้อมเปิดใจและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่อย่างพนักงานในร้าน คอยสร้างสรรค์คอนเทนต์ลง TikTok เสมอ

“เราทำตามกระแสมาตลอด ช่วงแรกๆ เราก็มีการยิง Ads ใน Facebook เพื่อให้คนรู้จักร้านเรา เมื่อก่อนไม่แพง ตอนหลังเปลี่ยนกติกาทุกปี มันก็แพงขึ้น เราก็หาแพลตฟอร์มใหม่ อย่างเช่นใน LINE SHOPPING มันก็สามารถทำ Broadcast ได้

พอเรามาใน TikTok การทำคลิปสั้นๆ มันไม่ใช่ง่ายๆ ที่จะทำให้โดน เกิดไวรัลขึ้นมา มันก็มีเรื่องของสื่อภาษาต่างๆ ภาษาเด็กสมัยนี้ ผมต้องคุยกับพวกน้องๆ เขาจะรู้ดีว่า Trend ตอนนี้จะคุยยังไง ก็เลยให้เขาโพสต์ขึ้นทุกวัน จนเราหาตัวตนได้

บางทีมันก็ขัดกับเรา แต่เราต้องเปิดใจ เราอายุมากแล้ว ก็ให้เด็กรุ่นน้องๆ รู้จัก Create ก็เป็นโอกาสที่ทำการตลาดกับเด็กรุ่นใหม่ได้อีก Gen นึง Baby boomers ตอนนี้ชอบสไลด์มือถือน่าดูเลย เป็นช่วงของจังหวะและสังคมที่มันเปลี่ยนแปลง

ส่วนใหญ่คนดู TikTok ก็จะชอบดูอะไรที่มันตลกโปกฮา ไม่เครียด น่าสนใจ ของแปลก สังคมปัจจุบันชอบอะไรที่ดูง่ายและทันใจ ซึ่งจริงๆ มันก็มีผลเสียนะ ทำให้การตัดสินอะไรบางทีก็ผิด เพราะว่าดูช็อตสั้นๆ แต่คนต้องการรับรู้ไวแล้วก็ท้าทาย

เวลาทำไป ตัวไหนน่าสนใจก็จะถ่ายคลิป บางทีก็ต้องใช้เสียงในการอัดเสียง เสียงเขานุ่ม น่าฟัง ตลกโปกฮาก็อีกคนนึง เราก็ให้เขาได้แสดงออก ทำงานจะได้มีความสุข ไม่ใช่วันๆ เหมือนใช้แรงงาน

ที่นี่อยู่กันแบบ Family ทุกคนมีศักยภาพหมด อยู่ที่ว่าเราจะดึงขึ้นมาใช้ได้ยังไง ผมปล่อยอิสระในการคิด แค่ผมมา Screen ว่าบางครั้งอะไรเหมาะไม่เหมาะเท่านั้นเอง ถ้าเหมาะก็ทำไปเลย เปิดโอกาส ปัจจุบันนี้ผู้ใหญ่ทุกคนเปิดใจรับแล้ว

ผมว่าคนที่ไม่รู้อะไรเลยคือคนที่หายใจไม่เป็น ตราบใดที่ยังหายใจได้ ให้โอกาสตัวเองได้รู้จักเรียนรู้ได้ มันก็ก้าวหน้าได้ จังหวะโอกาสของสังคมปัจจุบัน ต้องใฝ่รู้และรู้จักการปรับตัวตลอดเวลา เด็กสมัยนี้โอกาสดีนะ เทคโนโลยีต่างๆ เอื้ออำนวยมากเลย สามารถเรียนรู้ได้หลายๆ อย่าง อยู่ที่ว่าขยันหรือเปล่าเท่านั้นเอง”



เมื่อมองไปภายในร้าน ก็จะได้เห็นช่างซ่อมตุ๊กตา ซึ่งแต่ละคนเป็นชายหนุ่มมาดเข้มผู้มีรอยสักมากมายทั่วร่าง กำลังลงมือทำงานด้วยความตั้งใจ ท่ามกลางกองทัพตุ๊กตาสุดน่ารักที่รายล้อมพวกเขาอยู่

“มันเป็นเรื่องบังเอิญนะ เพราะว่าคนที่มาทำงานตรงนี้ แต่ละคนมีรอยสักกันทั้งนั้น ข้อสังเกตผมนะ คนที่สักเขาก็รักในงานศิลปะพอสมควร และมีความเป็นตัวของตัวเอง เพราะงั้นเวลาทำงานตรงนี้ เขาก็มีความอดทนสูง

ถ้าไม่มีความอดทนก็คงทนรอยสักไม่ไหว ยิ่งสักมากยิ่งเจ็บมาก แล้วก็ความใจเย็นของเขา แต่อยู่ที่อุปนิสัยแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนมีรอยสักก็จริง แต่ความมุ่งมั่นอดทนต่ำ การเรียนรู้ก็ต่ำก็มี งานนี้ถือว่าเป็นงานศิลปะ มันไม่เกี่ยวกับเพศเลย แต่อยู่ที่แต่ละบุคคลมากกว่า

ตรงนี้ส่วนใหญ่ที่ทำงาน จะเริ่มมีครอบครัว เริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แล้วก็จะแยกเวลาได้ถูก ทำงานก็คือทำงาน ผมง่ายๆ อยู่แล้ว เวลาคุยกันให้อิสระกันอยู่แล้ว ถ้ามีกิจธุระอะไรก็ว่ากันไป ผมบอกเราว่ามาทำงาน เราต้องเป็นทีมงาน ต้องดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ว่าเป็นภาระของคนใดคนหนึ่ง”

ช่างซ่อมตุ๊กตา “หน้าโหด โหมดคิตตี้”

เพื่อให้เข้าถึงการซ่อมตุ๊กตามากยิ่งขึ้น อีกคนที่ต้องขอคว้าตัวมาพูดคุยด้วยก็คือ “ดอส - เดชฤทธิ์ สุขใส” เจ้าของฝีมือการเย็บขั้นเทพ แห่ง “Teddy Bear Thailand” มาเป็นผู้บอกเล่า

“แต่ละตัวมา 10 ตัว ปัญหาไม่เหมือนกัน วิธีซ่อม รูปร่าง พื้นผ้า ผิว ก็ไม่เหมือนกันซักตัวเลยครับ พอเป็นงานซ่อม ก็คือจะเริ่มคิดเยอะขึ้น ต้องติดต่อคุยประสานงานกับลูกค้า เราสามารถทำแบบไหน

บางทีลูกค้าระบุมาทำแบบนี้ๆ แต่ว่าพอมาถึงหน้างานจริงๆ เราไม่สามารถทำแบบที่ลูกค้าต้องการได้ ต้องประเมินจากเนื้อผ้า สภาพโดยรวม สภาพใย ความต้องการของลูกค้า แล้วก็การทำงานจริงว่าทำงานได้ขนาดไหน แค่ไหน

ถ้าเกิดว่าคุยกับลูกค้าจบ ซ่อมแล้วไม่ค่อยมีปัญหา แต่จะมีปัญหากับลูกค้าในเคสที่ไม่สามารถทำได้แล้วขอให้ทำให้ได้ อย่างที่ผมบอกคือชิ้นงานเดิม เนื้องานเริ่มต้นมามันไม่สมบูรณ์ การที่เราซ่อมกลับไปให้มันสมบูรณ์ มันเป็นอะไรที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว หลายๆ เคสก็ต้องแจ้งลูกค้าก่อนว่าสามารถซ่อมได้ตามหน้างานตามเท่าที่ทำได้ครับ ส่วนใหญ่จะเข้าใจ

อย่างบางงานก็ต้องคุยกันหลายรอบ ค่อยๆ อธิบาย เราจะซ่อมไปได้ซัก 10 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็ถ่ายอัพเดทให้ดู บางจุดที่เขาสงวนจริงๆ ตรงนี้ห้ามแตะ ห้ามยุ่ง ขอตรงนี้เหมือนเดิม เราก็ไม่ทำ

มีบางจุดอย่างปลายหู ลูกค้าเขาจะชอบบี้ตุ๊กตาเขาจะนอนหลับ เขาบอกขอจุดนี้เหมือนเดิม ทั้งตัวใหม่หมด จมูกเก่าจนผุเลย ไม่ให้เราทำ เราเป็นช่างเรามองงานที่เราซ่อมออกไป ในใจว่ามันขัดๆ กับความรู้สึกเรา มีจุดที่มันไม่สมบูรณ์ เราสามารถทำให้มันสมบูรณ์ได้แต่ลูกค้าไม่ทำ ก็โอเค ตามที่ลูกค้าต้องการ ก็ตามนั้นมากกว่า”

[ ช่างดอส เจ้าของฝีเข็มสุดเป๊ะประจำร้าน ]
เดิมทีนั้น ดอสทำหน้าที่คอยตรวจดูความเรียบร้อยของตุ๊กตาที่จำหน่าย ก่อนจะจับผลัดจับผลูมาเป็นช่างซ่อมตุ๊กตา แม้ก่อนหน้านี้จะเย็บผ้าไม่เป็น แต่ก็อาศัยฝึกและเรียนรู้ จนตอนนี้กลายเป็นช่างใหญ่ของที่ร้านแล้ว

“ก่อนหน้านี้ทำงานเป็นเซลล์ครับ แล้วก็ย้ายกลับมาอยู่กับแฟนที่กรุงเทพฯ ก็เลยมองหางานทำ ก็ทำจนมาถึงทุกวันนี้ มาทำงานก็เป็นคน QC แต่งหน้าตุ๊กตา ตัดขนตุ๊กตา มันก็จะตุ๊กตาบางตัวมีรอยปริ รอยขาด เราก็จะเริ่มเย็บเล็กๆ น้อยๆ ซ่อมตามอาการตัวที่ทางร้านเราขายอยู่แล้ว เริ่มต้นมาก็เย็บไม่เป็นครับ ที่ร้านก็สอน

ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะมาซ่อมตุ๊กตาหรอกครับ เริ่มจากลูกค้าส่งมาให้ซ่อมเล็กๆ น้อยๆ ก่อน ตอนนั้นก็ยังประเมินอาการแล้วก็ซ่อมก็ยังไม่ค่อยเก่ง ค่อยๆ เรียนรู้ งานซ่อมลูกค้าส่งมาเยอะมาก เราก็เริ่มรับจากตัวที่เราคิดว่าทำได้ แล้วก็มายากขึ้นๆ

คิวซ่อมตอนนี้ถ้าเป็นงานใหญ่ๆ อย่างงานที่สาหัสเยอะๆ ก็อีก 1 เดือน ก็จะนัดคิวลูกค้าไว้แล้วก็ส่งมา ลูกค้าจะได้ไม่ต้องส่งมาแล้วก็มารอคิวที่ร้าน เพราะบางตัวลูกค้าเขาติด แล้วเขาใช้ทุกวัน เขานอนกอดทุกวัน”


แม้จะเชี่ยวชาญแค่ไหน แต่เมื่อเจอน้องเน่าที่อาการสาหัส ก็ถือว่าเป็นการทำงานที่ยากเลยทีเดียว

“ถ้าเคสทำงานยากจะเป็นตุ๊กตาที่ผ้าบางๆ ที่เย็บยาก เพราะว่าผ้าค่อนข้างที่จะเปื่อย ตัวผ้าเดิมเขาเหลือน้อย เวลาเราเย็บ เราดึงไป มันก็จะยิ่งเย็บยิ่งขาดไปเรื่อยๆ เน่ามันมีเน่าแบบเน่าเหม็นก็มี หรือเน่าแบบว่าขาดเป็นรอยขาดจากการใช้งานจริง อายุผ่านไปเรื่อยๆ ลูกค้าก็ซ่อมเองกับมือ เย็บทับไปทับมาหลายๆ รอบจนบูดเบี้ยว ไม่เป็นตัวเป็นรูปร่างแล้ว แบบนั้นก็มี

เคสที่เหม็น ก็เหม็นแบบไม่สามารถที่จะแกะออกได้ แค่เปิดกล่องมากลิ่นคุ้งทั้งร้านเลย เราต้องรีบปิด ซีลกล่องกลับคืน แล้วก็ออกไปเก็บข้างนอก ใส่ถุงมือแกะข้างนอกเลย เพราะว่าเน่าสมชื่อจริงๆ ถึงเวลาก็ต้องรีบเอาไปเอาไปซัก แช่ไว้ก่อนก็มีครับ

เวลาลูกค้าส่งมา เราก็จะเช็กก่อนว่าประมาณไหน ถ้าเกิดว่าโอเค ไม่ได้สกปรกมากอะไรมาก เราก็แกะใยออก แยกซักเลย ถ้าเกิดสกปรกมาก เราก็จะทำแยกต่างหากจากตัวอื่นตุ๊กตา จะไม่ปนกัน ตัวที่อยู่อยู่บนโต๊ะก็คือพวกนี้ทำความสะอาดหมดแล้ว หลายตัวไม่ต้องทำความสะอาดอะไร ก็ทำเสร็จพร้อมส่งลูกค้าเลย”


นอกจากการเป็นช่างซ่อมตุ๊กตาแล้ว เขาและพนักงานในร้าน ยังมีอีกหน้าที่ นั่นคือการทำคอนเทนต์สนุกๆ ลงช่อง TikTok @teddybearthailand ทั้งผลงานการชุบชีวิตตุ๊กตาเน่า และ How to การยืดอายุตุ๊กตาสุดรัก

“เริ่มต้นที่ทำคอนเทนต์ที่ร้าน ก็เป็นเหมือนกันโฆษณาไปในตัวด้วย จังหวะข้ามคืน คนให้ความสนใจเยอะ เพราะว่าน่าจะตอนนั้นแทบจะไม่มีคนที่รับซ่อมตุ๊กตา เราเริ่มที่จะรับงานซ่อม คนก็ทักมา แล้วเราก็ตอบลูกค้าไป

ตอนนั้นเคสที่ดัง มาเป็นห่อเลยตุ๊กตาเน่าของเขา เย็บมาจนไม่มีเค้าเดิม ไม่รู้ว่าเป็นเป็นตัวอะไร เราก็ตอบลูกค้าไปว่าทำไม่ได้ ตัวนั้นซ่อมไม่ได้ครับ เป็นตุ๊กตาหมู แต่ว่าภาพที่เขาส่งมาให้เราเป็นเหมือนห่อข้าวมันไก่ เป็นตุ๊กตาที่มันขาด เขาก็เย็บสอยเก็บเข้าไปเรื่อยๆ จนมันเป็นมัดๆ มันเหลือแค่เศษผ้าที่ห่อใยเก่าเอาไว้ มันไม่เหลือ Pattern ไม่เหลือโครงสร้างให้เราทำครับ

หลังจากนั้นลูกค้าที่คุยกับผม เขาก็อัดคลิปไปแล้วก็โพสต์ลงใน TikTok เขาเหมือนเป็นอินฟลูฯ ท่องเที่ยว พาตุ๊กตาไปเที่ยว คนก็ไปดูคลิปเขาเยอะ เหมือนคลิปตลก คนก็ตามมา แล้วก็ส่งตุ๊กตามาให้ดูว่าซ่อมได้ไหม หลังจากนั้นก็ยาวเลย

คอนเทนท์คิดกันเองครับ ที่ร้านกลุ่มคอนเทนท์ก็คือเป็นงานซ่อมใช่ไหมครับ เราก็แทบไม่มีคนก็อปฯ หรือว่าเลียนแบบได้ เราถ่ายจากหน้างานจริง งานที่เราเสร็จแล้ว Before - After มันก็ของจริงที่มา แล้วก็ของจริงที่ซ่อมเสร็จออกไป

คนน่าจะชอบอะไรที่มันเรียลๆ ความคาดหวังของกลุ่มคนดูด้วย ว่าจะเจอเคสที่จะเละแค่ไหน จะยากขึ้นแค่ไหน แล้วเราซ่อมกลับมาได้ดีแค่ไหน ความคาดหวังจากลูกค้าจากคนดูอย่างนี้ครับ ทำให้เขาติดตามมาเรื่อยๆ

(คลิปเปิดเบื้องหลังคนซ่อมตุ๊กตา) ตอนนั้นก็ถ่ายกันตลกๆ เรื่องของเรื่องจะพยายามอัปคลิปประจำ แล้วตอนนั้นงานซ่อมมันเป็นงานที่ต้องใช้เวลาทำตัวนึง 2-3วัน ไม่มีคลิปต่อเนื่อง ไม่รู้จะถ่ายอะไรดี ก็เลยถ่ายช่างลงไปครับตอนนั้น ส่วนใหญ่ก็แซวกันแบบว่า หน้าโหดโหมดมุ้งมิ้ง เห็นหน้าช่างแล้วคิดว่าเป็นเหมือนช่างซ่อมรถ ไม่น่ามาเป็นคนซ่อมตุ๊กตา อะไรประมาณนี้”



คำขอบคุณมากมายหลั่งไหลมายังผู้ที่ทำหน้าที่ซ่อมตุ๊กตา ทันทีที่ผลงานกลับไปถึงมือลูกค้า เพราะไม่เพียงแค่เป็นการรักษาของที่ชำรุดให้กลับมามีสภาพที่ดูดีขึ้น แต่ยังเป็นการพาความทรงจำอันมีค่ากลับมาหาเจ้าของอีกด้วย

“ลูกค้าแต่ละเคสก็ค่อนข้างที่จะพอใจ Feedback ที่ประทับใจ เหมือนตัวเดิมที่เขาได้เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว เพราะว่าของเขาขาด แล้วเขาเย็บทับเข้าไป ผ้ามันก็ย่นเข้าหากัน จนมันไม่เหลือตัวแล้วเป็นโครงสร้าง พอมาถึงเรา เราก็รื้อออกทั้งหมด

บางตัวที่ขาด เขากลัวมันจะพังมากกว่านี้ เขาไปให้ร้านเย็บผ้าเย็บ แปะห่อทับข้าไปเรื่อยๆ 4-5 ชั้น จนตัวตุ๊กตาไม่เป็นตัวเดิม แล้วเขาส่งมาให้เราซ่อม เรารื้อออกทั้งหมดเลย แล้วก็เก็บรายละเอียดให้เขาใหม่ถูกวิธี มันก็ออกมาเป็นตัวเดิมของเขา

บางทีเขาแทบจะจำไม่ได้แล้วว่าตัวเดิมเป็นแบบไหน พอเรารื้อออกมาแล้วทำให้เขาใหม่ก็ดีใจ บางตัวก็คุณยายซื้อให้ คุณแม่ซื้อให้ ของคนสำคัญของเขาที่ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ว่ายังมีของต่างหน้า เป็นตุ๊กตาเน่าที่เขาใช้ตั้งแต่เด็กๆ มีเคสที่เขาอุ้มตุ๊กตาแล้วก็ถ่ายรูปคู่กับครอบครัว คนในภาพบางคนก็ไม่อยู่แล้ว เราก็ซ่อมกลับให้เขาเป็นเหมือนเดิมได้ เขาก็ดีใจครับ

มีเคสล่าสุดเป็นของครูพาลูกไปทานข้าวที่ร้านอาหาร ลูกก็อุ้มตุ๊กตาตัวนี้ไป แล้วเขาติดมาก ถ้าเกิดว่าไม่มีเขาก็นอนไม่หลับ เด็กก็จะงอแง กลับไปถึงบ้านตุ๊กตาหาย เขาก็ไปตามหาร้านเปิดกล้องวงจรปิด ตุ๊กตาโดนหมาคาบไปแล้วหมาก็กัดไม่เหลือซาก เป็นเศษผ้า แต่ว่าเขามีรูปที่ถ่ายคู่กับตุ๊กตาไว้ เป็นตุ๊กตาตัวสีเขียวๆ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าว่าเป็นตัวอะไร แต่มีภาพมา

ก็พยายามเก็บสร้างโครงสร้างเดิมให้เยอะที่สุด แล้วก็ซ่อมกลับไป เขาก็บอกว่าเหมือนตัวเดิมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์เลย ก็พยายามทำให้เขา เพราะเขาเขียนมาอธิบายมายาวมาก เลื่อนไถข้อความเขาดู ก็เห็นใจเขาด้วย สงสารเด็กด้วย

หลายๆ คนก็ขอบคุณเยอะมากเลย เขาไม่คิดว่าจะมีคนรับซ่อม บางคนก็หามานานแล้ว ไม่มีคนรับทำ บางทีส่งไปซ่อมก็ผิดหวังเพราะว่าซ่อมไม่ถูกวิธี ก็ดีใจนะครับ ดีใจที่เราเหมือนได้เป็นส่วนหนึ่งในการซ่อม อาจจะส่วนเล็กๆ ซ่อมความทรงจำ ความรู้สึกของเขา ที่เขามีต่อตุ๊กตาของที่เขารัก”

“โลกมันเปลี่ยนแปลงตลอด เราต้องจับกระแสให้ได้”

กลับมาที่เรื่องราวของเจ้าของอย่าง คุณพี่เท็ดดี้ เขาก็ได้ช่วยสะท้อนถึง “ตุ๊กตาหมี” ของเล่นยอดฮิตของผู้คนทั่วโลกมานานนับร้อยปี ว่าอะไรทำให้มันยังคงได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย ท่ามกลางของเล่นมากมายที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามยุคสมัย

“ศิลปะของตัวตุ๊กตามันอยู่นาน Teddy Bear เป็นอะไรที่นิยมทั่วโลกเป็น 100 ปีแล้ว อะไรที่อยู่นาน 100 ปี เราต้องจับว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงมันยังไง ตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ เมื่อก่อนทำจากถุงเท้า เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ

แล้วก็เริ่มเป็นผ้าคล้ายๆ ผ้าขนสัตว์จริง ตัวนี้จะทนแต่ต้นทุนสูง คนก็พยายามลดต้นทุน ก็เปลี่ยนเทคโนโลยีผ้าผ้าบางขึ้น เทคโนโลยีของเกาหลีจะผลิตผ้าได้เยอะมาก มีความหลากหลาย พอผ้ามาปั๊บ เราต้องออกแบบว่าควรจะทำตุ๊กตาอะไรบ้าง

สไตล์ของเท็ดดี้ ทางด้านยุโรปทางตะวันตกก็จะนิยมหมีที่เป็นของเล่นง่ายๆ เซอร์ๆ แต่บ้านเราทางด้านตะวันออกจะชอบเป็นตุ๊กตาเรียบๆ สวยๆ นุ่มๆ เราก็ต้องแบ่งตลาดให้ถูกเวลานำเสนอลูกค้า ถ้าเราแบ่งไม่ถูกเราก็จะเจอทางตัน

ตุ๊กตาเท็ดดี้ที่ผมทำให้เป็นอัตลักษณ์ของบริษัท ลักษณะเด่นของเราก็คือตุ๊กตาทุกตัวจะผ่านน้องๆ ที่คอยตรวจเช็ก QC การแต่งขนหรืออะไร การที่เราอยู่ได้ต้องใส่ใจสินค้า เรื่องคุณภาพและลักษณะของสินค้า ความรับผิดชอบเป็นเรื่องสำคัญ

คือเราเรียนรู้ว่า เราต้องพยายามสร้างแบรนด์ให้อยู่ได้ สร้าง Brand value ขึ้นมา เราก็สามารถที่จะจำหน่ายได้ในราคาที่เราตั้งได้ เพราะแบรนด์เป็นตัวการันตีลูกค้าว่าต้องซื้อแบบนี้”



สิ่งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของเขายังดำเนินไปได้อย่างมั่นคง นั่นคือ ‘การปรับตัว’ ให้ทันกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

“ในความคิดผม ตั้งแต่เกิดมาคุณเคยเห็นว่าเศรษฐกิจดีหรือเปล่า ไม่มีเลย เขาบอกเศรษฐกิจแย่ทุกปี คือ Timeline ของชีวิตของเรามันก็เกิดดับๆ ตลอด ถ้าเกิดเราเจอวิกฤต เราต้องวิเคราะห์ว่ามันเกิดจากอะไร อย่าไปตกใจ ตั้งสติก่อน

จุดสำคัญเราต้องตั้งสติว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น เราควรจะเดินไปทางไหน คนที่ทำงานด้วยชาวญี่ปุ่นเคยสอนว่า ‘เราต้องปรับตัวเองตลอด แล้วหาความรู้ตลอดเวลา’

ผมเป็นคนที่ชอบศึกษาอยู่ตลอดเวลา ถ้าหยุดปั๊บเราก็จะเป็นคนที่เหมือนไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย ผมคิดว่าตั้งแต่เกิดมาจนถึงป่านนี้ ทุกสังคมที่ราบรื่นไม่มี วิกฤตทุกสังคมมี จะมากจะน้อยเท่านั้นเอง

ไม่จำเป็นต้องตุ๊กตาหรอก ผมว่าทุกอย่างมันอยู่ที่จังหวะ สมัยก่อนบ้านเราก็มีตุ๊กตาที่ผลิตมาเหมือนกัน เป็นตุ๊กตาผู้หญิง เป็นลูกเทพ อย่างตุ๊กตาตอนนี้ Art Toy กำลังมา ทุกอย่างมันจะมี Trend ของจังหวะเวลา เราจะจับจุดไหนเท่านั้นเอง

ถ้าเรามัวแต่ตื่นมาเป็น Routine เหมือนกับรอวันเวลาให้มันหมดไป วันใหม่ปั๊บเราก็ต้องคิดแล้วอะไรเกิดขึ้น ถ้ายังนิ่งก็คือรอความตายอย่างเดียว เพราะว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงตลอด เราก็ต้องจับกระแสให้ได้ ว่าเราควรจะทำอะไรในจังหวะนั้น

จริงๆ บ้านเราก็ผลิตตุ๊กตาหมีมานานแล้วนะ ส่วนใหญ่ผลิตแบบง่ายๆ ฉาบฉวย ไม่เน้นเรื่องของงานศิลปะ ถ้าดูในห้างฯ ก็จะมีของไทยหลายเจ้าในยุคที่ผมกำลังเริ่มต้น ก็ล้มหายตายจากไปเยอะแล้ว เหตุที่ล้มหายตายจากก็คือไม่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง แล้วก็ไม่รู้วิธีการที่จะเดินต่อไปกับการเปลี่ยนแปลงข้างหน้า อย่างเช่น การตลาด เทคโนโลยีต่างๆ มันเปลี่ยนแปลงเร็ว”



เขายังฝากคำแนะนำถึงใครก็ตามที่อยากเริ่มต้นสร้างธุรกิจ โดยย้ำถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การวางแผนการใช้เงิน

“จริงๆ ตอนที่ผมทำงานกินเงินเดือน ผมเป็นคนไม่ค่อยสะสมเงิน ตอนยังไม่แต่งงานก็ให้ที่บ้าน ที่เหลือผมขลุกกิจกรรม นักศึกษา มูลนิธิเด็ก ส่วนใหญ่เงินก็บริจาคบ้างอะไรบ้าง กลายเป็นคนไม่ค่อยสะสมทุน

แต่ถ้าเรารู้จักดำเนินการชีวิตตัวเอง วางแผนตัวเอง เราก็จะไปค่อยๆ ได้เริ่มต้นจากเล็กๆ น้อยๆ เป็นขั้นบันไดไป เหมือนทุนต่อทุน ผมไม่นิยมกู้เงิน ผมกลัวการเป็นหนี้เพราะผมเห็นคนเป็นหนี้แล้วมีปัญหา แล้วสมัยนั้นดอกเบี้ยแพงด้วยนะ

ผมตั้งต้นเท่าที่มีอยู่ประมาณน่าจะไม่เกินแสน ไล่มาเรื่อยๆ เราพยายามรักษาเครดิตตัวเองให้ดี ซื้อน้อยแล้วก็พอขายได้ก็รีบไปซื้อ ต้อง Active ตัวเอง ไปรับมาแล้วขายต่อ แล้วเงินมันก็จะใหญ่ขึ้น

เรื่องของการวางแผนค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญ ผมเจอมากที่สุดคือหาได้ 100 กิน 150 แปะไว้ก่อน เราหาได้ 100 เรากินแค่ 80 เหลือเก็บไว้ซัก 20 สะสมไว้นิดนึง ต้องวางแผนการใช้เงินด้วย”



สำหรับก้าวต่อไปที่วาดไว้ของ Teddy Bear Thailand ก็มีความตั้งใจที่อยากจะมี โรงพยาบาลตุ๊กตา เพื่อรักษาตุ๊กตาที่ชำรุด เป็นพื้นที่เจ้าของได้มาเฝ้าไข้ และรอรับของที่มีคุณค่าทางจิตใจนี้กลับบ้านไปพร้อมกัน

“ถ้าเรามีกำลังคน ค่อยขยายเป็นโรงพยาบาลตุ๊กตา อยากจะทำนะ แต่ตอนนี้ไม่มีคนบอกตรงๆ เราทำธุรกิจปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก แต่ทุกวันนี้ที่คิดจะขยายพื้นที่เพราะว่า Walk-in เริ่มมาเยอะขึ้น ผมก็ต้องหาสถานที่แล้ว ก็เลยคิดโครงการอยู่ว่าจะเป็นคาเฟ่นั่งรอ กินกาแฟ กินขนม แล้วก็สามารถที่จะมาชมผลงานเราได้

ก็ขอฝากร้านและบริษัทเรา Teddy Bear Thailand ไม่ได้ซ่อมอย่างเดียว ผลิตตุ๊กตาให้กับหลายแบรนด์แล้วและขององค์กรใหญ่ๆ หลายแห่ง ถ้าสนใจก็ติดต่อมาได้นะครับ ในเพจ Teddy Bear Thailand”





ดูโพสต์นี้บน Instagram

โพสต์ที่แชร์โดย LIVE Style (@livestyle.official)





@livestyle.official ...“ตุ๊กตาแต่ละตัวมันมี Story การซ่อมเป็นการยืดคุณค่าทางจิตใจ ให้มีอายุคู่กับเขาได้ยาวที่สุด” @teddybearthailand... . “ถามว่าคุ้มไหม จริงๆ ผมชอบทำงานออเดอร์ดีกว่า เราผลิตที 1,500 ตัว ปีนี้น่าจะได้สัก 7 ล้าน . ส่วนงานซ่อม มันเป็นส่วนเสริม เวลาโดนซื้อไปกับงานที่ต้องซ่อม ถามว่าคุ้มไหมล่ะ (หัวเราะ) มันคุ้มค่าทางจิตใจของเจ้าของมากกว่า . บางคน พ่อแม่จากไปแล้ว เป็นตัวแทนของพ่อแม่ คนไม่ได้ต้องการของใหม่” . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #teddybear #teddybearthailand #ร้านตุ๊กตา #ตุ๊กตา #ซ่อมตุ๊กตา #ตุ๊กตาเน่า #ซ่อมความทรงจํา #ทำความสะอาดตุ๊กตา #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #ดาวtiktok #tiktoker #contentcreator #youtuber #ธุรกิจ #sme #อายุน้อยร้อยล้าน😍🤟 #ชี้ช่องรวย #เถ้าแก่น้อย ♬ original sound - LIVE Style


สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
คลิป : ชยพัทธ์ พวงพันธ์บุตร
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ
ขอบคุณภาพเพิ่มเติม : Facebook “Teddy Bear Thailand”, Instagram @teddybearthailand และ TikTok @teddybearthailand



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น