ตัวเลือกใหม่สายมู!! “บนบาน ของแก้บนรักษ์โลก” จากไก่ปูน สู่ไก่กระดาษรีไซเคิล ย่อยสลายหมดเกลี้ยงหลังแก้บน กลายเป็นดอกไม้จากเมล็ดพันธุ์ด้านใน แถมข้างตัวไก่ขูดเลขได้ให้คอหวยลุ้นต่อ หวังลดปัญหาขยะล้นวัด ผลักดันสู่หนึ่งในของดีเมืองคอน
“ไก่แก้บน” ย่อยสลายได้ 100 %
ถ้าจะพูดถึง จ.นครศรีธรรมราช เชื่อเลยว่าหลายคนน่าจะนึกถึงจุดเช็กอินดังอย่าง วัดเจดีย์ (ไอ้ไข่) ใน อ.สิชล ขึ้นมาเป็นอันดับแรกๆ ด้วยเพราะศรัทธาที่เชื่อกันว่า ‘ขอได้-ไหว้รับ’ จึงทำให้ที่นี่ กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ทั้งคนคอนและสายมูจากทั่วทุกสารทิศ หลั่งไหลกันมากราบไหว้ขอพรกันไม่ขาดสาย
ส่วนใครที่ขอพรจากไอ้ไข่ตามที่ปรารถนาไปแล้ว ก็มักจะกลับมาแก้บนตามความเชื่อ ด้วยชุดทหารของเด็ก ขนม น้ำแดง ไข่ต้ม การจุดประทัดจำนวนมหาศาล และ รูปปั้นไก่ ก็เป็นอีกสิ่งที่ผู้คนนิยมนำมาแก้บนกัน ซึ่งก็มีหลากหลายขนาด ตั้งแต่ไก่ตัวเล็ก ไปจนถึงไก่ยักษ์สูงหลายเมตรก็มี
จากความศักดิ์สิทธิ์และแรงศรัทธา ทำให้ของแก้บนเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนทางวัดเจดีย์ ต้องขยายพื้นที่เพื่อรองรับ และนานวันเข้า จากรูปปั้นไก่ที่สมบูรณ์ บางส่วนก็ถูกทับถมจนกลายเป็นเศษซากไก่ปูน ไม่สวยงามดังเดิมก็มี
นี่จึงทำให้ “หมู - ถากูร เชาว์ภาษี” หนุ่มเมืองคอน นักออกแบบวัย 27 ปี คิดหาทางแก้ปัญหานี้ จากการที่เขามองเห็นปลายทางของ “ปูนปั้นรูปไก่”ที่กลายเป็นซากปรักหักพัง เข้ามาแทนที่ความสวยงาม
หมูจึงคิดหาทาง ทำอย่างไรให้ยังแก้บนได้ดังเดิม แต่ขณะเดียวกันต้องไม่เพิ่มขยะให้วัดด้วย จนตกผนึกมาเป็น “BonBan บนบาน ของแก้บนรักษ์โลก” ในรูปแบบของไก่แก้บน ที่ตัวไก่สามารถย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์
“การแก้บนไอ้ไข่ก็จะมีหลายแบบ จะมีประทัด จะมีไก่ แล้วก็จะมีของเล่น ชุดทหารอะไรอย่างนี้ แต่ที่ได้รับความนิยมมากๆ ก็จะเป็นประทัดกับไก่ ซึ่งผมคิดว่าไก่เหมือนเป็นของเล่นของเด็กสมัยก่อน จะเล่นไก่ชน เลี้ยงไก่ อะไรประมาณนี้ครับ
เมื่อก่อนที่วัดไอ้ไข่ เขาก็จะถวายเป็นไก่จริงกันครับ พอสักพักนึงไก่มันล้นวัด เขาก็เลยเหมือนเปลี่ยนเป็นไก่ปูนแทน ตอนนั้นกองประทัดหรือกองไก่ยังไม่เยอะเท่าไหร่ แต่พอผ่านไปสัก 2-3 ปี โห… ใหญ่มากๆ เลยครับ แล้วก็พื้นที่วัดกว้างขึ้นมากๆ ตอนแรกเราก็เห็นว่ามันน่าจะแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของวัดเจดีย์(ไอ้ไข่) ที่มีกองประทัดเยอะๆ มีไก่เยอะๆ
เขาก็จะมีพื้นที่ที่จะวางไก่อันนี้เรียกว่า ‘อุทยานไก่แห่งความสำเร็จ’ เขาก็จะซื้อที่ขึ้นมาแล้วก็เอาไก่พวกนี้ไปวาง เป็นวิธีการจัดการของที่วัดครับ ตอนแรกก็ค่อนข้างสวยงามครับ ไก่เยอะแยะมากมาย
แต่หลังๆ ปริมาณมันเพิ่มขึ้น มันก็เลยเหมือนแตกหักนู่นนี่นั่น มันเริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ จนความสวยงามมันก็เริ่มเปลี่ยนไป แล้วก็กองเป็นภูเขาเลยครับ เราก็เลยมองว่ามันน่าจะเป็นปัญหา ก็เลยคิดวิธีการแก้ปัญหา
จริงๆ แล้วไก่ปูนมันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อแก้บน มันออกแบบมาเพื่อประดับ แต่ว่าเราอาจจะใช้ผิดวิธีเนื่องจากเราไม่ได้มีตัวเลือกเยอะแยะมากมาย เราก็คิดว่าเราอยากจะสร้างตัวเลือกใหม่ๆ ให้กับเขา เราก็เลยออกแบบสิ่งนี้ขึ้นมา”
แม้กระแสบนหน้าสื่อของไอ้ไข่ในตอนนี้จะบางเบาลงไปบ้างแล้ว แต่ผู้คนที่เดินทางไปสักการะที่วัดเจดีย์ ก็ยังมีไม่ขาดสาย จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้หนุ่มนักออกแบบคนนี้ เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่แก้บนได้แถมยังรักษ์โลกไปด้วย
[ แทนที่ไก่ปูนปั้น ด้วยไก่กระดาษรีไซเคิล ]
“จริงๆ เรามีไอเดียนี้มาตั้งแต่ช่วงสมัยใกล้จะเรียนจบครับ เราไปวัดไอ้ไข่บ่อยมาก เราก็เหมือนเริ่มเห็นปัญหาจากที่วัด กองไก่ปูนหรือว่ากองประทัด เราก็เริ่มตั้งคำถามกัน ก็ไป Search หาข้อมูลว่ามีการคิดจะแก้ปัญหา หรือว่ามีการออกแบบ พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะมาแก้ปัญหาจะตรงนี้ไหม
สรุปว่าก็มีคนคิดอย่างนี้เหมือนกันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มีคนออกแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นมา เราก็คิดว่าเดี๋ยวเขาคงจัดการเองแหละ แต่ผ่านไปสัก 2-3 ปี เราก็มาเห็นว่าเขายังไม่แก้ปัญหาในเชิงพาณิชย์จริงๆ สุดท้ายผลิตภัณฑ์ที่อยู่ที่วัดก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เราก็เลยคิดว่าเราต้องทำแล้วแหละ ถ้าเราจะทำธุรกิจ มันมีแนวโน้ม ปริมาณ มูลค่าทางการตลาดเยอะขนาดไหน
เราก็เห็นว่ายังมีมูลค่าทางการตลาดเยอะอยู่ จะเห็นว่าวัดเจดีย์(ไอ้ไข่) กระแสก็จะเงียบลง แต่ว่าถ้าไปดูที่วัด คนมาอย่างน้อยถ้าวันธรรมดาประมาณสัก 5,000 คนแน่ๆ ถ้าวันหยุดหลักหมื่นขึ้นอยู่แล้ว ทั้งที่กระแสในโซเชียลฯ ดรอปลง แต่ว่าคนศรัทธาก็ยังมีอยู่ แปลว่ายังมีฐานแฟนคลับของไอ้ไข่ยังเหนียวแน่น ก็ยังมีการแก้บนเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละวัน
ตอนนั้นเราไปวัดก็มานั่งตั้งคำถาม เราก็คิดว่าเราอยากไปเป็นสักส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้ อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่อยากให้เราได้เริ่มต้น เราก็เลยมานั่งคุยกันว่าถ้าเราจะแก้ปัญหานี้ เราจะทำยังไงดี
เราก็เลยตั้งโจทย์ไว้ว่า ผลิตภัณฑ์ของเรามันต้องย่อยสลายได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขยะขึ้นมาอีก เราก็ไปดูว่าวัสดุไหนเหมาะกับการผลิต เราก็มองว่ากระดาษรีไซเคิลตอบโจทย์ที่สุด ก็เลยทำการออกแบบ ทำต้นแบบขึ้นมา ทดลองวัสดุ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์เริ่มต้นในการที่จะเอาไปขอทุน หรือว่าหาแนวร่วมที่จะพัฒนาต่อไปให้มันเป็นเชิงพาณิชย์ได้”
สำหรับความพิเศษของ “ไก่แก้บนรักษ์โลก” ไม่เพียงแค่ทำมาจากวัสดุที่ย่อยสลายได้เท่านั้น แต่ยังซ่อนเมล็ดพันธุ์ดอกไม้มงคลไว้ด้านใน ส่วนใครที่เป็นสายเสี่ยงโชคทุกวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือน ก็มีสิทธิรับทรัพย์จากไก่ตัวนี้ได้อีกด้วย
[ ไก่ Original, ไก่ 7 วัน 7 สี และ ไก่เงินไก่ทอง เลือกได้ตามใจสายมู ]
“ไก่ของเราสามารถย่อยสลายได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ข้างนอกก็จะเป็นวัสดุกระดาษรีไซเคิล ด้านในก็จะใส่เมล็ดพันธุ์ดอกไม้มงคลพร้อมวัสดุปลูก เมล็ดพันธุ์ของเราจะมีเมล็ดดอกดาวเรือง ดอกกระดุมทอง แล้วก็ดอกดาวกระจายครับ
เราใส่ทั้ง 3 เมล็ดนี้อยู่ในตัวเดียวกัน ก็จะช่วยในเรื่องการงาน สุขภาพ แล้วก็ความรัก ได้ทั้ง 3 อย่างเลย ถ้าฝนตกปุ๊บ ไก่ย่อยสลาย ก็มีเมล็ดพันธุ์งอกขึ้นมา คนที่แก้บนก็จะได้ประโยชน์จากการแก้บนด้วย ก็คือเพิ่มพื้นที่สีเขียวขึ้นมาได้
ของเราจะมี 3 แบบ จะมี ไก่ Original เป็นสีกระดาษรีไซเคิล จะเริ่มต้นที่ 159 บาท แล้วก็จะมี ไก่ 7 วัน 7 สี ก็จะเป็นไก่ลักษณะเดียวกัน แต่ว่าจะเพิ่มสีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ามา เพื่อเป็นกิมมิกของสายมูเตลู ราคาอยู่ที่ตัวละ 169 บาท
แบบที่ 3 ก็จะเป็น ไก่ Premium เป็นไก่เงินไก่ทอง ใช้เทคนิคการลงทองคำเปลว จะเป็นงานฝีมือนิดนึง ราคา 259 บาทครับ ตัวข้างนอกจะเป็นเหมือนกันหมดเลย ต่างกันแค่สี แล้วทองคำเปลวปกติก็ย่อยสลายได้อยู่แล้ว เป็นวัสดุที่เป็นธรรมชาติ
แล้วก็ยังมีกิมมิกก็คือ เป็นแถบคาร์บอนสำหรับไว้ขูด เมื่อลองขอพรเสร็จแล้วปุ๊บ เราก็สามารถขูดเลขได้ แล้วก็เอาเลขนี้ไปซื้อลอตเตอรี่ได้ครับ (ยิ้ม) แก้บนแล้วก็ยังได้บุญเพิ่มขึ้นอีกด้วย อาจจะได้โชคด้วยครับ
ปกติแล้วกระดาษรีไซเคิลจะมีอัตราการย่อยสลายอยู่ที่ 2-5 เดือน เวลาจัดการปกติเขาจะเอาไปไว้ในกลางแจ้งอยู่แล้ว แต่ว่าด้วยผลิตภัณฑ์ของเราก็จะย่อยสลายได้เร็วขึ้น เนื่องจากฝนภาคใต้หรือว่าฝนประเทศไทยก็ค่อนข้างเยอะ พอโดนฝนไม่นาน ไม่เกินเดือนก็จะย่อยสลายได้ พวกสัตว์ แมลงนู่นนี่นั่นก็จะช่วยย่อยสลายด้วย”
ปั้นแบรนด์ แก้ขยะสายมูฯ
ด้วยความที่ หมู และ นิว (นันทิยา จำปาจันทร์) แฟนสาว เรียนจบมาด้านการออกแบบมา และมีความผูกพันกับเรื่องราวของการมูเตลู ใน จ.นครศรีธรรมราช ทำให้ทั้งคู่มองเห็นปัญหาของแก้บนในวัดดัง จึงเก็บข้อมูลเรื่องนี้เรื่อยมา
“ผมเป็นคนนครศรีธรรมราชครับ เราเห็นวิถีชีวิตการเป็นสายมูเตลูของนครศรีธรรมราชมาทุกยุคทุกสมัย เวลาเราไปวัดหรือไปโรงเรียน เกจิดังๆ สายภาคใต้ พ่อท่านคล้ายที่ดังๆ หลวงปู่ทวดอะไรอย่างนี้ ก็จะมีเพื่อนๆ มาอวดกัน
ผมว่าน่าจะเป็นเด็กนครฯ ส่วนนึงเลยครับ ที่ได้เข้าไปคลุกคลีกับอะไรแบบนี้ เราก็จะได้เห็นความเชื่อต่างๆ ของคนนครฯ ที่เกี่ยวกับเรื่องมูเตลูมาตั้งแต่เด็กเลยครับ ก็จะเป็นวิถีชีวิต
พอโตมาอีกสเตปนึงก็คือในยุคของจตุคามรามเทพ ช่วงนั้นบูมมาก มีกันเกือบทุกวัด เราก็ได้เข้าไปปลุกเสกจตุคาม ไปไหว้พระกัน พอช่วง ม.ปลาย จนถึงมหา’ลัย ก็จะมีเหมือนกระแสของไอ้ไข่ วัดเจดีย์เนี่ยครับที่บูมมากๆ ช่วงนั้นผมเรียนมหา‘ลัย แถวใกล้ๆ กับวัดเจดีย์ด้วย ผมก็ไปกับแฟน ก็ไปไหว้เฉยๆ อยากไปเห็นวัดดังเป็นยังไง
[ “หมู” และ “นิว” ผู้อยู่เบื้องหลังของแก้บนสายกรีน ]
ผมจบ Industrial Design อยู่ในคณะสถาปัตย์ฯ ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เกี่ยวกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หรือว่าเป็นการออกแบบที่ผลิตทีละเยอะๆ แฟนก็จบ Multimedia Animation ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เหมือนกัน ก็จะเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบ Character ต่างๆ Character สัตว์ Character การ์ตูน ประมาณนี้
ตอนผมจบ เราก็เริ่มเข้ากรุงเทพฯ ตอนนั้นผมทำงานเกี่ยวกับออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่สักระยะนึง ได้ไปทำ Freelance แล้วก็ทำงานประจำไปด้วย ก็ออกแบบผลิตภัณฑ์ทั่วไปเลยครับ ทำมาได้ประมาณสัก 2-3 ปี เราก็ต้องกลับมาอยู่บ้านที่นครศรีธรรมราช ส่วนแฟนผมเป็นคนยะลาก็กลับไปที่บ้านแฟน ช่วงนั้นก็ว่างก็เลยคิดว่าอยากจะทำอะไรร่วมกัน
จริงๆ ผมเก็บเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงที่เรียนจบใหม่ๆ แต่ว่าไม่ได้ทำตลอดครับ ผ่านมาประมาณ 5 ปีครับ (ยิ้ม) ผมเก็บมาเรื่อยๆ ก็ยังมีคนมาวัดนะ ผลิตภัณฑ์นี้น่าจะใช้วัสดุนี้นะ ทำมาเรื่อยๆ เวลาว่างกับแฟนนี่แหละครับ”
ในที่สุดไอเดียที่อยู่ในหัว ถูกสร้างขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ของแก้บนรักษ์โลกต้นแบบ จนได้มีโอกาสมาแสดงฝีมือในงาน Bangkok Design Week 2023 ที่ผ่านมา
[ เปิดตัวครั้งแรก ในงาน Bangkok Design Week 2023 ]
“แต่ว่าในเชิงพาณิชย์เพิ่งมาเริ่มต้นทำจริงจัง เมื่อช่วง Bangkok Design Week 2023 ช่วงนั้นเหมือนเราอยู่ในกลุ่ม Disign Plant ก็จะเป็นกลุ่มรวมนักออกแบบที่เอาผลิตภัณฑ์มาโชว์กัน จากโจทย์ที่ Bangkok Design Week เขาตั้งไว้ปีนั้น
เขาตั้งโจทย์ไว้เกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาภายในเมือง เพราะฉะนั้น เราก็คิดว่าภายในเมืองของเรา จ.นครศรีธรรมราช ก็มีปัญหาเรื่องไก่แก้บนนี่แหละครับที่เยอะมากๆ
เราก็เลยเอาปัญหานี้ มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบขึ้นมา ถ้าแค่ไอเดียจริงๆ มันก็มีมาตั้งนานแล้ว ก็มีผลิตภัณฑ์ที่เขาทำกันมาอยู่แล้ว แค่ไม่ได้มาทำในเชิงพาณิชย์
ผลิตภัณฑ์นี้แฟนผมจะเป็นคนออกแบบ Character ด้วยเขาเรียนมาทางด้าน Character Design เลยก็จะสามารถออกแบบ Character แบบนี้ได้ โดยที่ว่าผมก็จะบอกข้อจำกัดในการผลิต ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ ส่วนผมจะมาออกแบบเป็นเรื่องของการทำเป็นผลิตภัณฑ์ แล้วก็เหมือนการเอามาประกอบนู่นนี่นั่น มาทดลองช่วยกัน”
[ โชว์ไอเดีย ในรายการ Win Win WAR Thailand ]
หลังจากที่ไอเดียรักษ์โลกนี้เป็นที่รู้จักในวงกว้างแล้ว ก็นำมาซึ่งการตอบรับที่เป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งตัวเจ้าของผลงานก็ได้ขอทุนสนับสนุน จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และธนาคารออมสิน จนได้ทุนมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างที่เราได้เห็นกันในตอนนี้
“เมื่อปี 2023 ได้ไปโชว์ที่งาน Bangkok Design Week ตอนนั้นเราก็ได้รับ Feedback ที่ดีมาก เหมือนคนก็แชร์รูปของเรา แล้วก็ตั้งคำถามว่า เห็นด้วยหรือว่ามันจะทำได้จริงหรือเปล่า นู่นนี่นั่น เราก็รวบรวม Feedback นี้มาทำเป็นแผนธุรกิจ เพื่อหาลูกค้าที่แท้จริง เพื่อจะไปเสนอต่อแหล่งทุน เพื่อจะ Support ทุนในการผลิต
หลังจากนั้น เราก็เขียนแผนธุรกิจ แล้วไปขอทุนมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จนได้ทุนมาก้อนหนึ่ง ก็ได้ที่ปรึกษามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สามารถผลิตได้จริงได้ในระบบอุตสาหกรรม แล้วก็ได้ทุนมาจากธนาคารออมสินช่วย Support ด้วยครับ
จริงๆ ทางภาครัฐและภาคเอกชน ก็ตั้งคำถามเรื่องนี้กันมาตั้งนานแล้วครับ แต่ว่าก็ไม่มีใครมาทำจริงๆ จังๆ ในเชิงพาณิชย์ เหมือนเขาก็เห็นด้วย ในเชิงพาณิชย์มันเป็นไปได้ เขาก็สนับสนุน
แล้วก็ได้ไปออกรายการ Win Win War Thailand (สุดยอดนักธุรกิจแบ่งปัน) Season 5 ของช่องอมรินทร์ทีวี ตอนนั้นก็ไม่ได้เข้าไปถึงรอบที่ได้ทุน ได้แชมป์อะไรอย่างนี้หรอกครับ แต่ว่าผมได้ออกทีวี คนได้เห็นเรามากขึ้น
ทีนี้เราก็พัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงช่วงปลายปี 2023 เราก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นชิ้นนี้ขึ้นมา เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเอามาขายได้จริงๆ จากการ Test การทดลองมาทั้งหมด เราก็มาเริ่มทำแบรนด์ แล้วก็วางขายจริงๆ ช่วงกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา"
“ศรัทธาสายกรีน” ไก่ย่อยสลาย ได้ดอกไม้แทนที่
ระยะเวลาเพียงไม่ถึง 4 เดือน หลังจากที่ “บนบาน ของแก้บนรักษ์โลก” กลายเป็นที่รู้จักในตลาดสินค้าสายมู ผลตอบรับที่ตามมาก็เป็นที่น่าพอใจ และมีบางคนได้โชคใหญ่ จากเลขบนตัวไก่ไปแล้วอีกด้วย
“เหมือนตอนแรกๆ ก็จะเกิดการตั้งคำถามว่าคืออะไร เราก็เลยต้องอธิบายให้เขาฟัง พออธิบายให้เขาฟังปุ๊บ เขาก็เก็ท ส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยเข้าใจก็จะเป็นวัยผู้ใหญ่นิดนึง แต่ว่าเมื่อเขามาฟังเราแล้วเขาจะชอบเลย แล้วก็รีบซื้อของเราเลย แต่ถ้าเด็กรุ่นใหม่เขาก็จะเก็ทอยู่แล้ว มันย่อยสลายได้ ก็จะอธิบายไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่
ด้วยเขาศรัทธาไอ้ไข่ด้วย คือคนนครศรีธรรมราชเกือบทุกหลัง ส่วนใหญ่เลยจะมีหิ้งไอ้ไข่อยู่ โดยเฉพาะร้านค้าจะมีหิ้งไอ้ไข่อยู่แล้ว เขาก็จะวางไก่กัน ส่วนใหญ่ที่เขาไปตั้งที่บ้าน ก็จะเป็นไก่ Premium เป็นไก่เงินไก่ทองเอาไปตั้งไว้บ้าน ส่วนไก่ Original กับไก่สีประจำวันเกิด เขาก็จะเอาไปแก้บนกันที่วัด
บางคนซื้อของไปก็ขูดเลขนี่แหละครับ แล้วก็ได้โชคกลับมา ล่าสุดก็เกือบแสนเลยครับ เลขหน้าสามตัว (ยิ้ม) ผมใส่เลขไป 3 ตัว แบบ 3 ตัวตรงเลยครับ เป็น ผอ.การท่องเที่ยวของนครศรีธรรมราช เขาซื้อของเราไปช่วงสงกรานต์นี่แหละครับ แล้วก็เหมือนว่าซื้อไปแล้วแล้วก็เขาก็ไม่ได้ขูดเลยนะครับ เขาก็เพิ่งขอแล้วเพิ่งขูดมาตอนต้นเดือน”
แม้ราคาของ ‘ไก่แก้บนปูน’ กับ ‘ไก่แก้บนรักษ์โลก’ จะต่างกันถึงหลักร้อย แต่หมูเชื่อว่า สิ่งที่เขามอบให้กับคนที่ซื้อผลิตภัณฑ์ไป ไม่ใช่แค่ประสบการณ์ใหม่ๆ ในการแก้บน แต่ยังมอบพื้นที่สีเขียวให้กับโลกนี้อีกด้วย
“ถ้าเทียบกับ Size ที่เท่ากัน ใน Size 16 cm. หน้าวัดเขาจะขายกันตัวละ 59 บาท แต่ของเราก็จะขาย 159 บาท ผมก็เชื่อว่าศรัทธาราคาแพงครับ เราไม่ได้ให้แค่ Product ที่แก้บน แต่เรายังมอบประสบการณ์ มอบคุณค่าให้กับเขาครับ
ถ้าเราไปดู เขาซื้อประทัดกันล้านนัด ซื้อไก่ตัวใหญ่ๆ ราคาก็ค่อนข้างสูง เขาก็ไม่ได้กังวลเรื่องราคาเท่าไหร่ แต่ถ้าเขาซื้อไก่ของเรา สมมติซื้อไก่ 1,000 ตัว ก็อาจจะได้ทุ่งดอกไม้ 1,000 ต้น เราก็อยากมอบคุณค่าแบบนี้ให้กับเขา คนที่ศรัทธาไอ้ไข่ ถ้าเขาเห็นผลิตภัณฑ์ของเรา ที่ผมอ่าน ส่วนใหญ่ก็จะแบบ… อันนี้แหละเป็นตัวเลือกที่ดี
เราก็ยังมี Project อื่นๆ ที่จะทำกับผลิตภัณฑ์ของเราให้เพิ่มคุณค่ามากขึ้น เช่น ‘ไอ้ไข่ชวนคนไทยปลูกป่า’ เราอาจเปลี่ยนจากเมล็ดพันธุ์ดอกไม้มงคล เป็นไม้ยืนต้นที่เหมาะกับป่าบริเวณแถววัดก็ได้ ก็อยากจะไปในสายกรีนไปเลย
จริงๆ ตั้งแต่เริ่มต้นเราก็ออกแบบไว้เป็นชุด Set เลยครับ จะมีไก่ มีไข่ มีน้ำแดง หลังจากนั้นแล้วออกแบบเป็นตุ๊กตาสัตว์แก้บน ก็จะมีม้าลาย มีช้าง มีเสือที่ออกแบบไว้ แต่ว่าเราเอาไก่ออกมาก่อนเพื่อมาทดลองตลาดครับ แล้วถ้ากระแสดีผลตอบรับดี ในอนาคตเราก็จะสั่งผลิตรูปแบบอื่นๆ ไก่เราก็จะเพิ่ม Size ขึ้นมา ก็อยาก Test ตลาดก่อนครับ”
นอกจากขายผ่านทาง Facebook “BonBan บนบาน ของแก้บนรักษ์โลก” แล้ว ก็มีตัวแทนจำหน่ายให้ความสนใจ แต่ความตั้งใจในตอนนี้ คือการเจาะกลุ่มลูกค้าจากหน้าวัดโดยตรงให้ได้ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่เริ่มจำหน่ายจนถึงตอนนี้ ไก่แก้บนรักษ์โลกได้ตีปีกไปแล้วราว 1,000 ตัว หากจะคิดเป็นเงินก็ตกอยู่ที่อย่างน้อยๆ 150,000 บาท
“ตอนนี้มีตัวแทนจำหน่ายที่ติดต่อมาไปวางขายแล้ว ก็จะมี ครัวตังเก ที่ อ.ขนอม จะเป็นร้านร้านอาหารชื่อดังของนครศรีธรรมราช แล้วก็มี ร้านบุญยรัตน์ ที่อยู่ในสนามบินนครศรีธรรมราชครับ ลงเครื่องมาปุ๊บจากกรุงเทพฯ ก็สามารถซื้อไก่แก้บนไปวัดไอ้ไข่ได้เลยครับ
แล้วก็มี บ้านธรรมดา ก็จะเป็นคาเฟ่อยู่ในเมืองครับ ตอนนี้โรงแรมที่เขาหลักก็ติดต่อมาเหมือนกัน แล้วก็มีหลายๆ ร้าน มีทั้งที่เสาชิงช้า ที่กรุงเทพฯ ก็ติดต่อมาเหมือนกัน ตอนนี้ก็กำลังดำเนินการส่งของอยู่ครับ
ส่วนใหญ่ที่ซื้อของเราก็จะเป็นให้เราส่งไปให้ แล้วเขาก็รอรับที่บ้าน แต่ว่าเราก็อยากการตลาดเจาะให้ถึงกลุ่มลูกค้า เราก็คิดว่าพฤติกรรมของลูกค้าจริงๆ น่าจะไปซื้อบริเวณหน้าวัด เราก็อยากเจาะที่หน้าวัดให้ได้
แต่ว่าบริเวณหน้าวัดตอนนี้ยังไม่มี ก็อยากให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ด้วยครับ ว่าเรามีไก่นี้นะ เพื่อเป็นตัวเลือกให้กับสายมูที่สนใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม แล้วก็แก้บนไปด้วย
ด้วยเราเพิ่งเริ่มครับ แล้วก็คนยังไม่ค่อยรู้จักเยอะ จริงๆ ผมอยากได้ลูกค้าเป็นตัวแทนจำหน่ายที่อยู่บริเวณหน้าวัด เราก็ยังประชาสัมพันธ์ไม่ค่อยถึง เราก็ทำการตลาดไปเรื่อยๆ ให้เขาเห็น ตอนนี้ยอดขายเราได้ประมาณ 1,000 ตัว อันนี้ก็จะมาจากตัวแทนจำหน่ายนิดหนึ่ง แล้วก็มีสั่ง Online ค่อนข้างเยอะอยู่ ก็ได้ประมาณนี้”
ความเครียดผลัก "คนรุ่นใหม่" มูเตลู
ด้วยความที่ครอบครัวของหมูเอง มีความศรัทธาในไอ้ไข่วัดเจดีย์มายาวนาน ก็ทำให้เขาซึมซับกับการมูเตลูไปโดยปริยาย และแน่นอนว่าตนเองก็เคยมีประสบการณ์ในการบนบานด้วยเช่นกัน
“จริงๆ เราศรัทธากันค่อนข้างเยอะครับ ศรัทธาทั้งพ่อท่านคล้าย ทั้งพระธาตุนครศรีฯ ไอ้ไข่ หลังๆ มีที่เข้ามาใหม่ก็คือเป็นตาพรานบุญ ก็จะอยู่บริเวณบริเวณนั้นแหละครับ ก็สายมูเต็มที่เลยครับ ศรัทธาทุกอย่างที่เป็นเกี่ยวกับมูเตลู (ยิ้ม)
เมื่อก่อนบ้านผมขายข้าวแกง ก็จะมีหิ้งไอ้ไข่ไว้บูชาอยู่แล้ว เหมือนบางทีคนที่บ้านเจอกันบ่อย มีเด็กอยู่ในบ้านนู่นนี่นั่น แต่ผมไม่เคยเจอนะ เขาก็ช่วยให้ธุรกิจดีขึ้นเหมือนกัน (ยิ้ม)
ผมก็เด็กรุ่นใหม่ ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเชื่ออะไรแบบนี้เท่าไหร่ แต่ด้วยที่บ้านเราเขาก็ให้แหวนมา แหวนไอ้ไข่นี่แหละครับ ตอนแรกผมก็ไม่ค่อยใส่ แต่พอเหมือนช่วงที่ผมเรียนสถาปัตย์ฯ ทุกเทอมมันก็จะมีการส่งงาน แล้วก็มีการ Presentงาน ซึ่งผมเป็นคนที่พูดไม่ค่อยเก่งแล้วก็กลัวจะทำไม่ได้ ก็ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ ก็เลยขอพร ขอไอ้ไข่ให้ผมลุล่วง นู่นนี่นั่น
แต่ละ Project ก็ผ่านมาได้ทุก Project ผมก็ไปแก้บน ถ้าผลมันออกมาดี ไม่โดนด่า ทั้งที่บางทีมันน่าจะโดนด่าจากอาจารย์ (หัวเราะ) เราก็รอดมาได้ เราก็เหมือนไปแก้บนตอนนั้น ผมแก้บนด้วยประทัด
ในสมัยที่ผมแก้บน ด้วยผมเรียนสถาปัตย์ฯ ผมไม่ค่อยกล้าซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นปูนเท่าไหร่ เรารู้อยู่แล้วว่ามันก็เป็นขยะอยู่ดี กระบวนการทำซีเมนต์ก็ค่อนข้างที่จะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เราก็ใช้ประทัดแล้วกัน
ตอนนั้นเรื่องมลพิษผมก็ยังไม่ค่อยกังวลถึงขนาดนั้นเพราะคิดว่ามันน่าจะไม่เยอะ แต่ว่าพอหลังๆ มันก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยไม่กล้าแก้บนอะไรแบบนี้แล้วครับ”
นอกจากการบนบานในสมัยเรียนแล้ว ก่อนที่จะมาเป็น “บนบาน ของแก้บนรักษ์โลก” ก็เป็นอีกครั้งที่เขาพึ่งพาการบนบาน ให้ทุกอย่างผ่านไปอย่างราบรื่นเช่นกัน
“ก็บนทำธุรกิจนี้แหละครับ ตอนนั้นเหมือนผมทำต้นแบบมาแล้ว แล้วผมก็ต้องไป Pitching เพื่อขอทุน เหมือนตอนนั้นซ้อมมาค่อนข้างเยอะ ยังไม่มั่นใจ Present ไม่ได้ วันที่ Present งานผมบนเลยครับ ขอให้ได้ขอให้มีความมั่นใจ มันก็เสริมเรื่องความมั่นใจให้กับเราด้วย
ขอเสร็จปุ๊บผมคิดว่าธุรกิจนี้เขา (แหล่งทุน) อาจจะไม่สนใจก็ได้ ผมอาจจะคิดไปเอง พอ Present เสร็จปุ๊บ คนชอบเฉยเลย แล้วก็ให้ทุนเรามาทำจนประสบความสำเร็จในการผลิต แล้วก็สามารถขายจริงได้ ผมก็ขอมาตลอดเลยครับ ตอนนี้ก็ทยอยแก้บนกันอยู่ครับ (หัวเราะ)”
และในฐานะของคนรุ่นใหม่ เขายังช่วยสะท้อนถึง “การมูเตลู” ที่ไม่เพียงแค่คนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ในตอนนี้ดูเหมือนจะได้รับความสนใจและขยายวงกว้างมากขึ้น
“ด้วยผมก็โตมาแบบเด็กวัยรุ่น เราก็อยู่กับเพื่อนที่เป็นคนรุ่นใหม่ ก็ไม่ค่อยเชื่ออะไรแบบนี้ แต่เราโตมาเห็นพ่อแม่พี่น้องเป็นอย่างนี้กันหมด ด้วยสภาพแวดล้อมมันทำให้เราเชื่อไปโดยปริยาย
ถ้าสังเกตนะครับ เหมือนโควิดที่ผ่านมา กระแสเรื่องมูเตลูก็บูมขึ้นเฉยเลย เหมือนงานศิลปะตอนนี้สายมูก็เพิ่มขึ้นเยอะเลย ผมว่าคนรุ่นใหม่อาจจะมีความเครียดหรือว่าการแข่งขันสูงนู่นนี่นั่น มูเตลูอาจเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจที่ดี ให้กับสายมูรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยนี้
เหมือนของศักดิ์สิทธิ์ก็จะเปลี่ยนไปตามกาลเวลา สมัยนี้คนบูชาสายมู อาจจะมาแนวมินิมอลมากขึ้น กำไลข้อมือสายมูแบบมินิมอล คนก็เลยเห็นเยอะขึ้น หรือว่าเป็นฟิกเกอร์พระพุทธเจ้าที่เป็นตัวการ์ตูน เด็กวัยรุ่นก็ซื้อกันไปเยอะ ของผมก็อาจจะไม่ได้ไก่เหมือนจริง เป็นไก่มินิมอล ก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลา
เราไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของสายมูเตลูที่ทำกันมาตั้งนานแล้วได้ แต่เราสามารถที่จะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์สำหรับการแก้บนได้ อันนี้คือสิ่งที่ผมทำมา ผมก็ยังเชื่อไอ้ไข่อยู่ ผมก็ยังศรัทธาไอ้ไข่อยู่ แต่แค่เปลี่ยนจากไก่ปูนมาเป็นไก่กระดาษแทน รู้สึกดีมากขึ้น”
ลองสักตั้ง!! Support Soft Power
กว่าที่จะออกมาเป็นสินค้าที่วางขายได้อย่างทุกวันนี้ บอกเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกขั้นตอนต้องผ่านการคิดวิเคราะห์มาอย่างถี่ถ้วน ยิ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของคน ก็ต้องยิ่งระมัดระวังเป็นพิเศษ
“จริงๆ ส่วนของบนบาน ก็จะทำเกี่ยวกับเรื่องผลิตภัณฑ์ ของไหว้และแก้บนรักษ์โลกอย่างเดียวครับ แต่ถ้าส่วนตัวผมก็จะรับงานออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบ Branding ก็จะยังมีลูกค้าที่ทำกับเราอยู่ครับ
การออกแบบผลิตภัณฑ์มันต้องละเอียดครับ เราคิดแบบคร่าวๆ ไม่ได้ ต้องคิดทั้งกระบวนการตั้งแต่เริ่มจนจบ ตั้งแต่เรื่องวัสดุ กระบวนการผลิต การตลาด ลูกค้าเอาของเราไปใช้จนผลิตภัณฑ์จบ ใช้เสร็จปุ๊บจะยังไงต่อ มันค่อนข้างหลายขั้นตอน ก็เลยต้องคิดใช้เวลาคิดเยอะเหมือนกันครับ ผมว่ายากครับ
พอของเราออกแบบเกี่ยวกับความเชื่อ ตอนแรกก็กังวลครับ มันจะดีเหรอ แต่เรา Research เกี่ยวกับพฤติกรรม ความเป็นมาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ค่อนข้างเยอะพอสมควร ก็เลยกล้าที่จะทำ เชื่อว่าของเราโอเค ก็ไม่มีความกังวลขนาดนั้น
มันขึ้นอยู่กับความเข้าใจในแต่ละผลิตภัณฑ์ ถ้าสมมติผมออกแบบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องสำอาง ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ถ้าผมออกแบบรถยนต์ ผมก็ต้องออกแบบให้มันมีความเร็วเท่าไหร่และความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมว่าการออกแบบผลิตภัณฑ์มันก็ยากพอๆ กันครับ แต่ละอย่างมีข้อจำกัดเหมือนกันหมด”
และในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ ย่อมมีช่วงหมดไฟเป็นธรรมดา วิธีการเติมไฟให้ตัวเองสำหรับหมูก็คือการออกไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ คุยกับผู้คนใหม่ๆ เพื่อให้ได้มุมมองที่แตกต่าง
และเขายังย้ำถึงเรื่องของการจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างก็ตาม สิ่งสำคัญคือ ความกล้า ลองทำให้เต็มที่ก่อน จะได้ไม่ต้องค้างคาใจทีหลัง
“ผมคิดว่าสิ่งที่ผมหรือว่านักออกแบบส่วนใหญ่ทำกัน มันเกิดมาจากประสบการณ์ หัดสังเกต แล้วก็มาวิเคราะห์ เอาความรู้ที่เรามีมาบวกกัน ก็จะเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเกิดมาจากการแก้ปัญหาครับ
ช่วงหมดไฟ อันนี้ก็เป็นกันทุกคนแหละครับ ผมก็มีประสบการณ์แบบนี้เหมือนกัน ช่วงนั้นก็เหมือนจะเอายังไงต่อกับชีวิต จะไปในทางไหนดี ผมใช้วิธีการออกไปข้างนอกครับ ผมก็ไม่ค่อยอยู่บ้านเท่าไหร่ ล่าสุดก็เพิ่งไปดูงานศิลปะ งาน Mango Art Festival ที่กรุงเทพฯ ก็ได้อะไรหลายๆ อย่างเหมือนกัน ก็เป็นวิธีการที่ดีอีกอย่างครับ
แล้วก็ไปคุยกับคนโน้นคนนี้ เพื่อได้รับมุมมองใหม่ๆ หรือว่าดู Life Coach ดูมุมมองความคิดของแต่ละคนกับประสบการณ์ชีวิตเขา ทำไมเขาถึงผ่านมาได้ พอเราฟังอะไรแบบนี้เยอะๆ เราก็มาวิเคราะห์ในตัวเรา แล้วทำไมเราถึงยังอยู่แบบนี้ล่ะ เราน่าจะออกจากตรงนี้ได้แล้วนะ ก็เริ่มจุดไฟในตัวเองขึ้นมา ผมก็เลือกใช้วิธีการประมาณนี้ครับ
ผมเชื่อว่าทุกคนมีไอเดีย ทุกคนก็คิดได้ว่าอยากจะแก้ปัญหา อยากจะทำนู่นทำนี่ให้ชีวิตของเราดีขึ้น แต่ผมว่าคนขาดความกล้า กล้าที่จะทำ ผมว่าลองดูสักตั้ง ถ้ามันไม่สำเร็จก็ทำอย่างอื่นไป จะได้ไม่ต้องค้างคาใจ ผมคิดอย่างนี้นะครับ
ผมก็ไม่ได้ถนัดทุกเรื่อง แต่ว่าก็เริ่มจากอะไรที่เราทำได้ก่อน ผมถนัดออกแบบ ผมก็ออกแบบไปก่อน เดี๋ยวเรื่องการทำแบรนด์ เรื่องการตลาด ผลิตจริง เราไปเรียนรู้เพิ่มเติมได้”
หนุ่มนักออกแบบวัย 27 ปี วาดอนาคตของ “บนบาน ของแก้บนรักษ์โลก” ไว้ว่า จะพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ ทั้งเมล็ดพันธุ์ในตัวไก่ที่หลากหลายและขนาดที่มีให้เลือกมากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสักวันไก่แก้บนของเขา จะถูกพูดถึงในฐานะหนึ่งในของดีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราชต่อไป
“ตอนนี้สิ่งที่เราใส่ไปก็จะเป็นไม้ดอก แต่ในอนาคตเราก็ใช้เป็นไม้ยืนต้น เป็นแคมเปญ ‘ไอ้ไข่ช่วยคนไทยปลูกป่า’ เพิ่มขนาด Size ให้ใหญ่ขึ้น ประชาสัมพันธ์ให้คนเข้าใจในผลิตภัณฑ์ของเรามากขึ้น แล้วก็รณรงค์ให้เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา
แต่เราก็ไม่ได้บอกว่าต้องเปลี่ยนทันทีนะ ค่อยๆ เปลี่ยนก็ได้ ค่อยๆ ทำไปครับ หาแหล่งตลาดอื่นนอกจากไอ้ไข่วัดเจดีย์ อย่างเช่น พระนเรศวรมหาราชหรือว่าพระเจ้าตากสินฯ ก็จะขยายตลาดเพิ่มขึ้นในอนาคต ก็มีที่ไหว้ไก่เหมือนกัน เราก็พยายามทำที่ไอ้ไข่วัดเจดีย์ให้โอเค แล้วก็ขยายตลาดไปยังตุ๊กตาสัตว์เทพตัวอื่น ประมาณนี้ครับ
เราคิดว่ามูเตลูเป็น Soft Power ของประเทศไทย ซึ่งเราคิดว่าผลิตภัณฑ์ของเราไม่ได้เป็น Soft Power หรอก แต่ผลิตภัณฑ์ของเราจะไป Support Soft Power ให้มันดีขึ้น ภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น
2-3 เดือนที่ผ่านมา ผมว่ามันก็เกินที่เราคิดไปมาก มีสื่อต่างๆ เข้ามาให้ความสนใจ แฟนคลับของไก่แก้บนรักษ์โลกเข้ามาซื้อ มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นผ่านสื่อ มาเป็นตัวแทนจำหน่ายด้วย ก็ดีใจมากเลยครับ
ทางจังหวัดเอง มีความสนใจในผลิตภัณฑ์ของเรา ทางการท่องเที่ยวของนครศรีธรรมราชก็ติดต่อเรามาเหมือนกัน อยากให้ผลิตภัณฑ์ของเราเหมือนเป็นของดีประจำจังหวัด เราก็อยากให้ผลิตภัณฑ์ของเราไปถึงจุดนั้นได้”
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : กีรติ เอี่ยมโสภณ
ขอบคุณภาพ : Facebook “BonBan บนบาน ของแก้บนรักษ์โลก”, “Soray Deng” และรายการ Win Win WAR Thailand
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **