xs
xsm
sm
md
lg

เจาะวิถีฝรั่งทำฟาร์ม เป็น “สาวเมืองนอก” ไม่อิน เลือก “สาวบ้านนอก” ฟินกว่า!! [มีคลิป]

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทิ้งความเจริญไว้เบื้องหลัง กลับมาตากแดด แบกฟาง เดินเข้าสวนดีกว่า นี่แหละคือวิถีที่หัวใจตามหา เจาะแรงผลักเบื้องหลังให้หายค้างคา จากเจ้าของคลิปไวรัล “สาวเมืองนอก vs สาวบ้านนอก” ว่าอะไรทำให้ลูกครึ่งดีกรี “วิศวการแพทย์” มุ่งหน้าพัฒนา “ฟาร์มออร์แกนิก”



“ขาดฟาร์มไม่ได้” เพราะหัวใจมันโหยหา


ภาพสาวสวยที่ชีวิตแสนดูดี เดินเฉิดฉายในเมืองศิวิไลซ์ในยุโรป มันช่างขัดกับการที่ต้องมาถางหญ้า แบกฟาง ทำงานในไร่ในสวน ณ แดนอีสานเสียเหลือเกิน แต่กลับเป็นเส้นทางที่เธอเลือกให้ตัวเอง

เรากำลังพูดถึงคลิปไวรัล “สาวเมืองนอกผันตัวมาเป็นสาวบ้านนอก”ทั้งๆ ที่ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถเลือกอนาคตแสนสดใสได้ หากเลือกอยู่ต่อที่เมืองนอก
แต่อะไรกันที่ทำให้ "เจน-เจนนิเฟอร์ อินเนส-เทเลอร์" ทิ้งความสุขสบายในเมืองนอก แล้วเลือกใช้ชีวิตที่ต้องตากแดดตากลม แบบชาวสวน ณ บ้านเกิดที่ “อุดรธานี”แทน นี่คือคำตอบจากเจ้าของไร่ “Udon Organic Farm”

“เราไปอยู่ในเมือง ไปใช้ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง เรากลับคิดถึงมันทุกวันเลย ถ้ามีแมวสักตัวก็คงจะดี หรือว่าได้ไปให้หญ้าวัวเล็กๆน้อยๆ ก็คงจะดี เราโหยหามันตลอด”

จากที่เคยตื่นนอนออกไปให้อาหารสัตว์ในไร่ เก็บไข่ เก็บผัก มาให้แม่ทำกับข้าวตอนเช้าตั้งแต่เล็กๆ เลยหล่อหลอมให้กลายเป็นตัวตนของเจนไปโดยปริยาย ทำให้ถึงจะไปใช้ชีวิตที่ไหน ความโหยหาธรรมชาติก็จะติดตามเธอไปทุกที่
                                                     {ชีวิตสวยหรู แต่เหมือนขาดอะไรบางอย่าง}

“คนก็สงสัยว่าทำไมไม่ไปอยู่จุดที่ชีวิตมันดูดีกว่านี้ เฮ้ย..ทำไมชีวิตเป็นแบบนั้น ดูดีอยู่ที่ต่างประเทศ คนส่วนใหญ่สนใจว่า ทำไมถึงกลับมาอยู่กับหมา อยู่กับวัว กลับมาอยู่ประเทศแดดร้อนๆ กับงานการเกษตร
ตอนเราอยู่ที่นั่นนะคะ หรือตอนเราอยู่กรุงเทพฯ แป๊ปๆ เราก็อยากจะไปดูสวนสัตว์ เราอยากจะไปอยู่กับธรรมชาติเหมือนเดิม ทำยังไงก็หนีไม่พ้นสิ่งที่เราเติบโตมา”

ความคาใจของผู้คนที่ถามว่า “ทำไมถึงเลือกชีวิตแบบนั้น”กลับกลายมาเป็นจุดที่ทำให้เธอโด่งดังจนกลายเป็นกระแสใน TikTok ชั่วข้ามคืน และตอนนี้คลิปนั้นก็มีคนเข้าไปดูแล้วกว่า 2.8 ล้านครั้ง เอาเข้าจริงๆ เจ้าตัวยังตกใจอยู่เลย

“ก็ตื่นเต้นค่ะ ว่าเฮ้ย..มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนเห็นเยอะจัง”ความน่ารักและใบหน้าที่เปื้อนยิ้มตลอดช่วงเวลาที่ได้พูดคุยกัน ทำให้เข้าใจแล้วว่า เพราะอะไรผู้คนถึงเข้ามาติดตาม “สาวลูกครึ่งไทย-อังกฤษ” คนนี้
 


ไม่

ได้มีแค่คอนเทนต์แนวไลฟ์สไตล์ ที่ใช้ชีวิตเฮฮาประสาชาวสวนกับสิงสาราสัตว์ภายในไร่ “ออร์แกนิก”ของเธอเท่านั้น แต่อีกเรื่องที่ทำให้หลายคนสนใจคือ วิธีทำฟาร์มแบบ "เกษตรฟื้นฟู” ที่สาวลูกครึ่งคนนี้ รู้จักมันมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก นั่นยิ่งทำให้ตัวตนของเธอน่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก

การเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ ใน “มหาวิทยาลัยมหิดล” สาขาวิศวกรรมชีวการแพทย์ เป็นเวลา 2 ปี ยังไม่ทำให้เธอรู้ว่า “ชีวิตขาดฟาร์มไม่ได้” เพราะระหว่างนั้น เจนยังกลับไปช่วยพ่อ-แม่ทำไร่ที่อุดรฯ เป็นประจำ แต่เมื่อไปเรียนต่อที่ “สกอตแลนด์”ถึงรู้ตัวว่า มีอะไรบางอย่างขาดหายไปจากชีวิต

                                                       {กลับมาใช้ชีวิตในแบบที่เป็นตัวเอง}

2 ปีในเมืองนอก ที่ตัดขาดจากกลิ่นดิน-กลิ่นหญ้าต้องใช้เวลาไปจดจ่อกับเรื่องเรียน และยังทำงานเลี้ยงตัวเองอีก เธอเล่าให้ฟังพร้อมรอยยิ้มเช่นเคยว่า แม้ที่บ้านจะมีกำลังในการส่งเสีย แต่การโตมาในฟาร์มกับคำสอนของคุณพ่อที่ว่า หากอยากได้อะไรก็ต้องทำงาน และการทำงานในไร่ตั้งแต่เด็ก ทำให้สาวลูกครึ่งคนนี้มองว่า “การทำงาน = ความสนุก”

“ทำหลายอย่างค่ะ ไม่ว่าจะเป็นพวกรับทำเว็บไซต์ ทำร้านอาหาร ออกแบบ เลขาฯ ไปทาสีบ้านก็ไปทาค่ะ ติดวอลเปเปอร์ก็ทำ คือมีงานอะไร เราทำหมดเลย”

 
แม้สกอตแลนด์จะเป็นดินแดนที่เธอคุ้นเคย เพราะต้องบินไปเยี่ยมคุณย่าทุกปี แต่การไปเที่ยวกับการไปใช้ชีวิตนั้นต่างกันมาก สิ่งเดียวที่พอจะเติมเต็มความคิดถึงบ้านของสาวน้อยวัย 21 ได้ ก็มีเพียงการออกไปนอกเมือง ออกไปสัมผัสกลิ่นอายของไร่นา ที่เธอทำได้แค่คิดถึงเท่านั้น

“พอช่วงวันหยุดเราจะออกนอกเมืองตลอดเลย ไปดูวัวสกอตแลนด์ ดูแกะ แค่นั้นก็สนุกแล้วสำหรับหนูนะคะ แต่ด้วยที่เราต้องโฟกัส ทั้งเรียนทั้งทำงานเลี้ยงตัวเองไปด้วย ก็เลยไม่ค่อยมีเวลาค่ะ”
                                                   {ความคิดถึง-กลิ่นอายที่สกอตแลนด์ให้ไม่ได้}

ประสบการณ์จากเมืองนอกนี่เอง ทำให้สาวน้อยขี้อายมีความกล้ามากขึ้น รวมถึงปมในวัยเด็กที่ถูกล้อว่า“ฝรั่ง”ก็จางหายไป เพราะความเข้าใจของกาลเวลา

“ตอนเด็กๆ เราไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องโดนล้อว่าเป็นฝรั่งตลอดเวลา เราไม่รู้สึกว่าเป็นคำที่น่ารัก บางทีเค้าก็มาเรียกฝรั่งๆ เหมือนเรามีอะไรบางอย่างติดหน้า หรือผิดอะไรสักอย่าง ไม่เข้าใจค่ะ

ไม่อยากจะมีจมูกโด่งเลย คนชอบล้อกันว่า จมูกโด่ง เรารู้สึกไม่มั่นใจ คุณครูก็จะบอกอยู่เสมอว่า เนี่ยสวยแล้ว แต่เราไม่เคยเชื่อเลยว่าตัวเองสวย สับสนค่ะ

ตอนเด็กเราไม่เข้าใจเลยว่า คำนี้มันแปลว่าอะไร(คำว่า “ฝรั่ง”) แล้วทำไมต้องป้ายเราด้วยคำนี้ แต่ตอนนี้มันก็เป็นคำคำหนึ่ง ที่เขาอยากจะเรียกตัวตนเราให้เข้าใจง่ายมากขึ้น จะเรียก น้องเจน ฝรั่งน้อย หนูไม่ซีเรียสเลยค่ะ เราชินเราเข้าใจแล้ว มันกลับเป็นคำที่ดูน่ารัก น่าเอ็นดู เสียอีก”



ลืมตามาก็เห็น “ความยากจน"

การเติบโตมากับฟาร์มตั้งแต่เด็กเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ทำให้เจนกลายเป็นเป็นสาวลูกครึ่ง “หัวใจเกษตรกร” แต่สิ่งที่มีอิทธิพลและหล่อหลอมให้เจนเป็นแบบทุกวันนี้มากที่สุดคือต้นแบบอย่าง “คุณพ่อนิค-นิโคลัส อินเนส-เทเลอร์”

เพราะสมัยเด็กคุณพ่อก็จะกระเตงเธอไปตามสถานที่ทำงานต่างๆ ในฐานะที่ปรึกษาของ “องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ” หรือ “FAO : Food and Agriculture Organization of the United Nations”

งานของคุณพ่อคือ การเข้าช่วยชาวบ้านในพื้นที่ที่จนมากๆ ทั้งในลาว, ไทย หรือประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยไม่ได้เข้าไปแจกของ แต่เป็นการสอนวิธีการทำเกษตรแบบยั่งยืน

“พ่อไปช่วยเหลือทำโครงการปลาในนาข้าว ให้ชาวบ้านได้มีโปรตีนกินและปลูกข้าวได้ ถ้าเหลือก็เอาไปขายในตลาด มีเงินเก็บเผื่อฉุกเฉิน คือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง แทนที่จะเอาเงินไปช่วยเหลืออย่างเดียว”

                                             {‘ฝรั่งติดดิน’ ตัวตนที่ถูกหล่อหลอมตั้งแต่วัยเด็ก}

ย้อนเวลากลับถึงชีวิตของเด็กหญิงเจนวัย 14 ที่ตามพ่อไปทำงานในที่กันดาร เต็มไปด้วยความลำบากสารพัด กว่าจะนั่งรถไปถึงก็เล่นเอาหัวส่าย เมารถกันไปหลายตลบ ภาพความแร้นแค้นอดอยากของชาวบ้าน ที่เธอเห็นตั้งแต่วัยเยาว์ จึงค่อยๆ ฉายซ้ำในหัวอีกครั้ง

“ท้องเขาโต เพราะว่าขาดสารอาหาร เหมือมในสารคดีที่แอฟริกาเลยค่ะ เราก็เห็นของจริงว่า มันเกิดขึ้นไม่ไกลบ้านเราเลยนะ”

ด้วยความที่พ่อต้องทำงานที่นั่น ทำให้ลาวเป็นประเทศแรกที่หนูน้อยเจนลืมตามาดูโลก เด็กฝรั่งจอมแก่นวิ่งเล่นเป็นลิงทโมน หาปีนต้นไม้ขโมยมะม่วงข้างบ้าน คือความทรงจำวัยเด็กและความสนุกสนาน แต่มันก็ไม่ใช่สิ่งเดียวที่เจนจำได้

“พ่อจะปลูกฝังตลอดว่า บางอย่างเราไม่จำเป็นต้องขวนขวาย ไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ ดูคนข้างบ้านเราก่อน เสื้อผ้าเขายังไม่มีใส่เลย คือเราอยู่กับสิ่งนี้มาตั้งแต่เด็กค่ะ



เพื่อนบ้านเราสมัยนั้น ไม่มีใครมีสบู่ ไม่มีใครมีแชมพูเลยด้วยซ้ำ” การโตมาพร้อมเห็นความขาดแคลน ทำให้เธอเข้าใจวิถีชีวิตในอีกมุมมอง เจนยังเล่าด้วยรอยยิ้มว่า แม้ชีวิตพวกเขาอาจจะไม่ดีพร้อม แต่ก็มีความสุข และอาชีพเดียวที่พวกเขาพึ่งพาได้คือ “การเกษตร”

“เพื่อนหลายคนที่ลาว พอช่วงปิดเทอมก็ไปดำนา ไปเกี่ยวข้าว เราก็อยู่กับสิ่งนี้มาตลอด แล้วเราก็เข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา”

เมื่อลืมตาดูโลกก็เห็นความลำบากของเพื่อนมนุษย์ บวกคำสอนของพ่อที่ว่า “นึกถึงคนอื่นๆ ที่เขาไม่มี”ของเล่นหรือของฟุ่มเฟือยนี่ก็ตัดออกไปได้เลย เธอยังพูดไปพลางอมยิ้มไป “รถที่ขับอยู่ทุกวันนี้ก็อายุเท่าเจนเลย”

จู่ๆ แววตาเธอก็เป็นประกายอีกครั้ง เมื่อนึกถึงสมบัติล้ำค่าที่พ่อกับแม่มอบให้ซึ่งก็คือ “การศึกษา” ครอบครัวเธอสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ และการเดินตาะแตะตามคุณพ่อไปในที่ต่างๆ มันก็เหมือนได้ไปทัศนศึกษานอกโรงเรียน

“พ่อไม่จำกัดเรื่องการศึกษา การเดินทางก็เป็นส่วนหนึ่งของเรียนรู้มาโดยตลอด เขาก็จะพาไปเปิดโลกหลายที่ ไปเที่ยวก็จะเป็นการเรียนรู้อยู่เสมอ ไปทุกครั้งเขาก็จะพาไปดูฟาร์ม ไปดูการเกษตรตลอดเลยค่ะ”

                                           {สมบัติล้ำค่า คือ ‘การศึกษา’ ที่ครอบครัวหนุนให้}

ไม่ทิ้ง “วิศวะ-ชีวการแพทย์” หยิบมาปรับโฉมฟาร์ม

สังเกตได้เวลาเธอพูดถึงการเกษตร หรือเล่าประสบการณ์การทำงานในไร่ ตาคู่นั้นของสาวลูกครึ่งคนนี้ก็จะส่องแสงเป็นประกายทุกครั้งไป สะท้อนตัวตนชัดเจนว่า เธอหลงใหลชีวิตแบบนี้มากขนาดไหน

เรื่องนี้ก็คงต้องขอบคุณ “คุณพ่อนิค” ที่นอกจากจะจบมาด้านเกษตรมาโดยตรงแล้ว ยังเป็นคนเริ่มสร้างฟาร์มขึ้นมากับมือตัวเอง จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่แค่อยากเก็บผลผลิตไว้กินเองในครัวเท่านั้น

“นั่นคือความตั้งใจเรา และเราก็ทำมาโดยตลอด พอมาถึงจุดจุดหนึ่ง สิ่งที่เราปลูกมันออกมาเยอะมากๆ อย่างมะม่วงทีแรกออกแค่ต้น 2 ต้น ไปๆ มาๆ ได้เป็นตันเลย”

‘ทำไมมาอยู่อุดรฯ?’ คงต้องเท้าความไปตอน “คุณพ่อนิค” และ “แม่ติ๊ก” พบรักกัน ด้วยความที่หนุ่มอังกฤษต้องเดินทางบ่อย ทำให้ได้ไปพบรักกับสาวสิงห์บุรี ความรักจึงก่อเกิด ณ สนามบิน

“พ่อมาเป็นครูอยู่ที่ศรีสะเกษ มาเป็นครูอยู่สักพักหนึ่ง รู้สึกชอบประเทศไทย จากนั้นก็กลับไปเรียนปริญญาโท แล้วก็กลับมาอีก คือมาอยู่ประเทศไทยนาน แล้วรู้สึกผูกพันเหมือนว่าที่นี่เป็นบ้านเขา ก็เลยตัดสินใจซื้อที่ดินกับแม่แล้วอาศัยอยู่ด้วยกันค่ะ”

                                         { คุณพ่อนิค, เจน, แม่ติ๊ก และสตีเวน(พี่ชาย) }

และที่เลือก จ.อุดรธานี เพราะว่าที่นี่มีสนามบินทำให้สะดวกเรื่องการเดินทาง เพื่อไปทำงานใน “เวียงจันทร์” หรือ “สะหวันนะเขต” พื้นที่ที่คุณพ่อต้องเข้าไปช่วยเหลือเป็นหลักในเวลานั้น

ส่วนโชคชะตาของเธอเอง กลับเป็นอีกเรื่องที่แตกต่างออกไป คือไม่ได้กะจะจริงจังกับการทำเกษตรตั้งแต่แรก แค่อยากมาพักใจด้วยการกลับมาช่วยแป๊ปๆ แต่สุดท้ายกลายเป็นได้อยู่ยาว

                                                     {คุณพ่อชาวอังกฤษ ผู้จุดไฟให้ลูกสาว}

“ตอนนั้นแค่อยากมาพักผ่อน เหมือนต่อไปจะไปทำงานที่ไหนต่อดี พยายามทำ resume ทำงาน part-time ยังรับทำเว็บไซต์ รับทำงานเล็กๆ น้อยๆอยู่ค่ะ แต่ว่าขณะเดียวกัน ก็มาช่วยคุณแม่เรื่องระบบการเงินในฟาร์มด้วย”

แต่ดันกลายเป็นเส้นทางที่ทำให้เธอได้รู้ใจตัวเองว่า “เนี่ยแหละ สิ่งที่เราอยากได้มานานแล้ว”ช่วงชีวิตที่ขาดไปถูกเติมเต็มอีกครั้ง เมื่อพ่อแม่ลูกได้อยู่กันพร้อมหน้า การทำไร่-ทำสวนไม่ใช่งานอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนกิจกรรมเข้าจังหวะของชีวิต

“เขาสนุกกับมัน พ่ออยากจะไปเลี้ยงวัวนม ขยายคอกวัว อยากทำชีสทำเนยในอนาคต หนูก็ผลักดัน ทำเลย ทำสิ เขาก็มีความกล้ามากขึ้น”



ตอนนี้ฟันเฟืองหลักผู้ขับเคลื่อนฟาร์ม ไม่ใช่คุณพ่อนิคและคุณแม่ติ๊กอีกต่อไป แต่เป็นสาวน้อยที่เต็มไปไฟในใจ มุ่งมั่นพัฒนาฟาร์มให้ดีขึ้น โดยการเอาความรู้จากครอบครัว และประสบการณ์ที่ได้ไปเปิดโลกในต่างแดนมาควบรวม พูดได้ว่าเจนกลายเป็นเจ้าของ “Udon Organic Farm” อย่างเต็มตัวแล้ว

“เราก็ดูแลทั้งหมดค่ะ ดูแลทั้ง Marketing-Branding ทำเองหมด บริหาร และเป็นคนตัดสินใจทุกอย่างเอง มีอะไรพ่อก็จะเข้ามาปรึกษา แล้วก็เวลาจะคุยอะไรก็จะส่งเจนไปคุย เป็นตัวแทนเป็นเจ้าของฟาร์มไปเลยค่ะ พ่อ-แม่ก็ให้โอกาสเต็มที่ค่ะ ว่าจะหยิบจับบริหารอะไรยังไง”

 
จบวิศวกรรมชีวการแพทย์ ทำตั้งแต่ทาสีบ้าน ยันเป็นเลขาฯ “สุดท้ายก็กลับมาทำสวน” เจนตอบพร้อมแววตาอิ่มสุขว่า ไม่จำเป็นเสมอไปที่จะต้องทำงานตรงสาย ขอให้เป็นสิ่งที่เรารัก นั่นก็เพียงพอแล้ว

“ไม่รู้สึกเสียดาย ที่เราเลือกสาขาอาชีพนั้นเลย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ไกลตัวอยู่แล้วนะคะ มีทั้งเรื่องการแพทย์ วิศวะ และวิทยาศาสตร์ที่ลึกมากขึ้น เราก็เอามาใช้ได้หมดเลยค่ะ”

ทุกวันนี้วิญญาณนักประดิษฐ์ ที่ได้มาจากการเรียนวิศวะสมัยปี 2 ก็ยังคงอยู่ ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเห็นประตูหน้าบ้านในใจก็คือ “อยากทำให้มันเป็นประตูเปิด-ปิดอัตโนมัติจังเลย” ความอยู่ไม่สุขและอยากเรียนรู้อะไรใหม่ตลอดเวลา คืออีกหนึ่งตัวตนของเจน

                            {ปรับใช่ทุกอย่างเพื่อพัฒนาฟาร์ม สิ่งที่เรียนมานั้นไม่สูญเปล่า}

“เราได้เรียนรู้แล้วว่า การที่ได้เราตัวเองไปอยู่จุดที่เราไม่รู้เนี่ย มันจะเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะเราพยายามขวนขวาย เราจะอยากเก่งเหมือนเพื่อน เราจะพยายามมากขึ้นค่ะ”

นอกความรู้เรื่องเครื่องกล-เครื่องมือช่างจากวิศวะ ความรู้พื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ถูกเอามาปรับใช้กับงานในฟาร์มอีกด้วย เธอมีความเข้าใจเรื่องจุลินทรีย์ในดิน และความเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่จะส่งผลต่อการทำเกษตร

“คุณพ่อก็เข้าใจเป็นอย่างดีเรื่องการเกษตร พอแลกเปลี่ยนกันมันทำให้ความรู้ผนวกกัน และสามารถคิดค้นอะไรใหม่ๆ ได้มากขึ้น เวลาเราทำฟาร์ม เราก็จะวางแผนรวมกัน คิดไปในทิศทางเดียวกัน หรือเอาข้อมูลมาแย้งกัน มันทำให้การทำงานราบรื่นขึ้นค่ะ”



ทริคไวรัล = ตัวตน + ความสม่ำเสมอ

‘TikTok ทำเล่นๆ กลับดัง แต่พอจริงจรังดันไม่ปังเท่าไหร่’ คือปรากฏการณ์ที่เจอมากับตัว เพราะก่อนหน้านี้ Content Creator คนนี้เคยตั้งแฟนเพจบน Facebook มาก่อน ตอนนั้นตั้งใจมาก ตั้งมาตรฐานไว้เลยว่าภาพ-แสง ทุกอย่างต้องออกมาดูดี แต่กลายเป็นว่าคนเข้าไม่ถึง

พวกเขารู้สึกเหมือนนั่งดูสารคดี แต่พักหลังๆ ด้วยความที่เจนชอบดู TikTok ทำให้จับกระแสได้ว่า ผู้คนชอบความ real การนำเสนอที่ความ “เป็นตัวเอง”และ “จริง”มากที่สุด จึงกลายมาเป็น “ทริค” ที่ทำให้ช่อง TikTok “น้องเจนทำฟาร์ม”มีคนติดตามกว่า 3 แสนคน กับคนกดถูกใจถึง 4 ล้าน แล้วตอนนี้

 
“พยายามเป็นตัวเอง แล้วมันทำไปได้เรื่อยๆ หาสิ่งที่จับต้องได้ง่ายในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เราชอบฟาร์ม เราก็นำเสนอฟาร์ม หรือเราชอบทำกับข้าว เราก็นำเสนอการทำกับข้าว มันต้องเริ่มจากความชอบส่วนตัว แล้วคนจะรู้สึกได้ว่าเราชอบจริงๆ เขาก็อยากจะดู อยากสนใจเรามากขึ้น”

อีกเรื่องเล็กๆ ที่ Influencer หลายคนหลงลืมคือ “การตอบ comment” การสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดู นี่เป็นจุดที่หลายคนมองข้าม “เราพยายามที่จะตอบ พยายามจะมีส่วนรวม พยายามจะขอบคุณเขาให้ได้มากที่สุด” 

                                            {สร้างแบรนด์เข้าถึงคน ใช้โซเชียลฯ ลุยจนไวรัล}

เจนบอกแบบเขินๆ ว่า ตอนแรกที่เริ่มถ่าย TikTok ไม่ค่อยกล้าคุยกับกล้อง และความมั่นใจมันมักจะหายไปทุกครั้งเวลาได้ยินเสียงตัวเองในคลิป ทำให้เอาเข้าจริงก่อนจะมีคนรู้จักเธอ เจนอัดคลิปลงช่องไม่ถึง 10 คลิปด้วยซ้ำ

“ก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่า ไม่รู้จะพูดอะไรกับกล้อง ไม่รู้จะเอาอะไรมานำเสนอ คิดเยอะค่ะ แต่ก็คือไม่ลงมือทำสักที แต่พอได้แรงบันดาลใจจาก ‘พี่อูน'- Diamond Grains (ชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ TikToker @thechanisara) เขาก็แนะนำว่าทำสิ คนอื่นก็บอกว่าทำเลย

ญาติเราที่เป็น Influencer เขาบอกว่าทำๆ ไปเลย TikTok เขาต้องการความ real เราก็ลองทำดู แล้วมันได้ผลดี ต้องขอบคุณพวกพี่ๆ ที่เป็น Influencer ตั้งแต่วันนั้นเลย เราลองทำแล้วมันเห็นผลลัพธ์จริงๆ ค่ะ”

 

สาวนักการตลาดคนนี้มองเห็นแล้วว่า ถ้าปล่อยให้ฟาร์มของเธอเน้นเพียงแค่การขายผลผลิตอย่างเดียว อย่างมากก็คงขายได้แค่เพียงละแวกบ้าน หรือภายในจังหวัดเท่านั้น เจนเลยโดดเข้ามาช่วยทำเพจ “Udon Organic Farm” ตั้งแต่ตอนเรียนมหิดลช่วงปี 1 ปี 2 “เพื่อขยายฐานลูกค้า”

“ขายในเฟซบุ๊กของตัวเอง มากสุดมันก็ได้เพื่อนของเพื่อน แต่พอเรามาทำเป็นเพจ เรามี branding มีความน่าสนใจมากขึ้น ทำให้ร้านอาหารอื่นๆ เขาสนใจเรา แล้วก็อยากได้ของจากฟาร์มนี้ ทำให้การสร้าง branding สร้างตัวตนมันมีความหมายมากขึ้น

ตอนแรกที่เรายังไม่ดังนะคะ เราก็มี selling point ของเราอยู่แล้ว เรามีจุดที่เราขายอยู่แล้ว คือตามร้านอาหาร แต่การที่มีชื่อเสียงมากขึ้น ลูกค้าที่มาเป็นลูกค้าบ้านมากขึ้นค่ะตอนแรกมันก็จะอยู่แค่ในอุดรฯ แต่พอเรามีชื่อเสียง มันจะมีลูกค้าจากภูเก็ต ลูกค้าจากหลายจังหวัด คือมันกระจายฐานมากขึ้น”


ความโด่งดังที่ทำให้ช่องน้องเจนทำฟาร์ม มีผู้ติดตามหลายแสนคน พาให้แบรนด์ “Udon Organic Farm” กลายเป็นรู้จักของคนมากขึ้น ส่วนสำคัญหลักๆ เกิดจากการเรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต นั่นก็คือประเด็นเรื่อง “ความสม่ำเสมอ”

เพราะก่อนหน้านี้ แม้จะทำการตลาดออนไลน์ให้ฟาร์มมานานแล้ว แต่เมื่อตัวตั้งตัวตีหลักอย่างเจนไม่มีเวลา ด้วยภาระการเรียน ความต่อเนื่องในการทำเลยหายไป แต่ตอนนี้ไม่ใช่อีกต่อไปแล้ว เมื่อเจนกลับมาให้เวลาตรงนี้ได้อย่างเต็มตัว ทุกอย่างฟาร์มก็เปลี่ยนไป

จากเดิมที่จดทุกอย่างลงในกระดาษ ไม่ว่าจะเรื่องบัญชีหรือระบบการสั่งสินค้า เจนก็เปลี่ยนให้มันง่ายขึ้นโดยทำให้เป็น digital มากขึ้น และเธอยังเอาประสบการณ์จากสกอตแลนด์อย่าง“ฟาร์มทัวร์” มาปรับใช้กับบ้านเธออีกด้วย

ความดังในโซเชียลฯ นั้น นอกจากจะทำให้คนไทยอยากมาดูด้วยตาตัวเองว่า ฟาร์มของเธอเป็นยังไง เจนเล่าด้วยสีหน้าตื่นเต้นว่า ยังมีชาวต่างชาติ ทั้งอเมริกา, นิวซีแลนด์ และต่างชาติมาเยี่ยมชม จะพูดก็ได้ว่าฟาร์มทัวร์ของเจน ประสบความสำเร็จอย่างไม่น่าเชื่อ

“ช่วงหน้าหนาวปีที่แล้ว ยุ่งวุ่นวายมากเลย รถจอดหน้าบ้านหลังบ้านเต็มไปหมดเลยค่ะ”


                                                     {‘ฟาร์มทัวร์’ ที่ทั้งไทยและเทศแห่มา}

หิ่งห้อย” ผลลัพท์ที่พิสูจน์การฟื้นฟู

จุดขายที่ทำให้ฟาร์มของเจนและคุณพ่อนิค แตกต่างกับที่อื่นคือการทำสวนด้วยแนวคิดเรื่อง“เกษตรฟื้นฟู”ตาคู่นั้นเป็นประกายอีกครั้ง เมื่อถูกถามว่า “เกษตรฟื้นฟูคืออะไร?”

“แนวคิดมันก็ไม่ได้ตายตัว แต่มันเป็นการเข้าใจธรรมชาติเวลาเราจะทำการเกษตร ถ้าเราสามารถทำให้มันกลับมาฟื้นฟู มีไส้เดือน มีหนอน มีแมลง มีผึ้งมาช่วยผสมเกสร ทำให้ทุกอย่างมันเอื้ออำนวยกันให้ได้มากที่สุด ‘การทำการเกษตรมันจะง่ายมากขึ้น’มันจะนำความอุดมสมบูรณ์กลับมา แล้วผลผลิตที่ได้มันจะมีแต่เพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้นทุกปี”

‘สิ่งนี้เกิดจากการลองผิดลองถูกมาหลายสิบปี’เพราะตอนแรกบ้านของเธอทำการเกษตรแบบทั่วๆ ไป เพียงแค่ไม่ใช้สารเคมีเท่านั้น แต่จากการสังเกตก็พบว่า ดินที่ผ่านการปลูกข้าวหลายๆ รอบ มันแน่นมากจนอากาศเข้าไปไม่ได้และจุลินทรีย์ก็ไม่เติบโต

“ปรากฏว่าทำมาหลายปี มันก็ได้ผลผลิตค่ะ แต่ว่ามันก็ไม่ได้เยอะมาก สุดท้ายก็เจอปัญหาแมลงมีเพลี้ย เหมือนเราไม่เข้าจะธรรมชาติสักที แต่พอเรามาเรียนรู้ว่าเราต้องฟื้นฟูธรรมชาติไปด้วย ในขณะที่เราทำการเกษตร ต้องฟื้นฟูดินก่อนที่เราจะปลูกค่ะ”


                                                {10 ปีแห่งการลองผิดลองถูก}

การกลับมาให้ความสำคัญเรื่อง “ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ” มันทำให้การทำเกษตรแบบ‘ออร์แกนิก’ ส่งผลดีขึ้น บทสนทนาเริ่มสนุกสนานขึ้น เมื่อเจนเริ่มเล่าถึงสิงสาราสัตว์ต่างๆ ที่กลับมา หลังจากการทำเกษตรฟื้นฟู ทั้งกบ เขียด หรือแม้แต่หิ่งห้อยที่ไม่เห็นมานาน

“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงเลยค่ะ เป็นชั้นๆ เลยค่ะว่าอากาศมันเข้าไปได้ มีสิ่งมีชีวิตในนั้น มีจุลินทรีย์เติบโตขึ้นในนั้นนะ ก็มีนก-หนอน-แมลง มาเต็มไปหมด แล้วมันทำให้ธรรมชาติเราดีขึ้น
 เราเลี้ยงไก่ในนาข้าว เกิดการขี้ทับทม เวลาเราปลูกข้าวเราเห็นเลยว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ รวงข้าวตรงนั้น ยิ่งเลี้ยงไก่ตรงนั้นเยอะๆ ข้าวยิ่งโตเต็มที่ เราเห็นด้วยตัวของเราเอง”




จุดเล็กๆ ที่ทุกคนทำได้

“ฟาร์มออร์แกนิก” “เกษตรฟื้นฟู” มันสามารถทำได้ทุกที่ และเอาไปใช้ได้ทุกคนหรือเปล่า? เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่า งานเกษตรมันมีต้นทุน และไม่ใช่เกษตรกรทุกคนจะมีทุนชีวิตที่ดี คำตอบของเจนทำให้เห็นว่า เธอมองอยากเข้าใจและเป็นผู้ใหญ่ ต่างกับลุคสาวน้อยสดใสจริงๆ

 “ด้วยหลักการเนี่ยทำได้ทุกที่ค่ะ แต่ว่าในเรื่องของต้นทุนชีวิตที่ต่างกัน แน่นอนเราปฏิเสธไม่ได้ว่า แต่ละคนมีไม่เท่ากันค่ะ แต่ว่าเราไม่ได้แนะนำคนให้แบบว่า...
เฮ้ยทำหมดเลย คุณมี 40 ไร่ 30 ไร่ 20 ไร่ ทำเป็นออร์แกนิกทั้งหมดเลย ไม่ใช่ค่ะ เราแค่นำเสนอในจุดเล็กๆ เอง สมมติคนทำไร่ยาง หรือทำไร่มันอยู่ แค่แบ่งส่วนนึง ไม่ต้องถึงไร่หรอกค่ะ แค่ปลูกผักไว้กินเอง”

 “เกษตรอินทรีย์” เจนยืนยันแนวคิดนี้ว่า “ทุกคนสามารถทำได้” ไม่ว่าจะเป็นชาวสวนหรือคนเมือง การที่คุณมีสวนหลังบ้าน แทนที่จะปลูกดอกไม้ ลองเปลี่ยนเป็นแปลงผักสักแปลง เอาไว้กินเอง “เริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อนลองผิดลองถูก”


 “เพราะแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน แค่อุดรฯ กับขอนแก่น ก็ไม่เหมือนกันแล้ว สภาพดิน สภาพน้ำ คุณเรียนรู้หลักการไปเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น ลองปลูกดอกไม้กินได้ ส่งให้ร้านคาเฟ่แถวบ้านดูไหม เริ่มจากอะไรง่ายๆ จากจุดเล็กๆ ค่ะ”
   



สีหน้าของเจนกลับมาครุ่นคิดอีกครั้ง เมื่อเจอกับคำถามว่า “ไทยยังเป็น อู่ข้าว-อู่น้ำ อยู่หรือเปล่า?” ซึ่งคำตอบของสาวลูกครึ่งหัวใจชาวไร่นั้น ตรงไปตรงมาจนน่าสนใจ

“บริเวณที่เราอยู่เรียกได้ว่าแห้งแล้งเลยค่ะ ฝนไม่ตก สภาพอาการแปรปรวน จะบอกว่าอุดมสมบูรณ์เหมือนแต่ก่อนที่เขาตั้งว่า อู่ข้าว-อู่น้ำ มันไม่ใช่แล้วค่ะสมัยนี้”

มนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติไปมากแล้ว ความท้าทายคือเราจะรับมือมันยังไง คำยืนยันจากเจนคือ “เกษตรแบบฟื้นฟู” เป็นแนวทางและกลยุทธ์ทางการเกษตรที่ควรเดินตาม

“ในอนาคตประเทศไทยก็ต้องเดินไปตามทางนี้แหละค่ะ เราต้องนำธรรมชาติกลับมาฟื้นฟูให้ได้มากที่สุด เราถึงจะเอาความอุดมสมบูรณ์กลับมาได้”











@livestyle.official ...เจาะแรงผลักเบื้องหลังให้หายค้างคา จากเจ้าของคลิปไวรัล “สาวเมืองนอก vs สาวบ้านนอก” ว่าอะไรทำให้ลูกครึ่งดีกรี “วิศวการแพทย์” หันมามุ่งหน้าพัฒนา “ฟาร์มออร์แกนิก” @j_nniferr @udonorganicfarm... . #LIVEstyle #LIVEstyleofficial #น้องเจนทำฟาร์ม #อุดรออร์แกนิคฟาร์ม #ชีวิตในฟาร์ม #ปลูกข้าวกินเอง #สาวอีสานในต่างแดน #บ้านนอกคอกนา #เกษตรอินทรีย์ . #ข่าวTikTok #longervideos #tiktokวีดีโอยาว #มากกว่า60วิ #ดาวtiktok #tiktoker #contentcreator #ธุรกิจ #sme #อายุน้อยร้อยล้าน #ชี้ช่องรวย #เถ้าแก่น้อย ♬ เสียงต้นฉบับ - LIVE Style


สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง : นนทัช สุขชื่น
คลิป : นลธวัช กาญจนสุวรรณ์
ขอบคุณภาพ : Facebook “น้องเจนทำฟาร์ม”, “Udon Organic Farm” และ Instagram @j_nnifer, @udonorganicfarm



** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **




กำลังโหลดความคิดเห็น